อาศรมศิลป์ร่วมสร้าง ‘ลานกีฬาวัฒนธรรมชุมชน’ - Urban Creature

การจะประกอบสร้างสังคมให้น่าอยู่นั้น สิ่งสำคัญคือต้องวางรากฐานให้ ‘คนและชุมชน’ มีความมั่นคงและแข็งแรง ผ่านการพัฒนาชุมชนและกระบวนการส่งเสริมความเป็นอยู่ของผู้คนให้ดีขึ้น โดยคนในชุมชนเป็นผู้ริเริ่มหรือให้ความร่วมมือในการดำเนินงาน

และนี่คือจุดเริ่มต้นของ ​‘โครงการลานกีฬาวัฒนธรรมชุมชน’ ที่มุ่งมั่นพัฒนาพื้นที่สาธารณะอย่างให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการออกแบบ ไปจนถึงการบริหารจัดการพื้นที่ด้วยตนเอง

ทีมสถาปนิกชุมชนและทีมภูมิสถาปนิก โครงการลานกีฬาวัฒนธรรมชุมชน

ก่อนหน้านี้สถาบันอาศรมศิลป์ ได้ร่วมกับสำนักราชเลขาธิการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  และบริษัทฉมาโซเอ็น ก่อร่างสร้างลานกีฬาพัฒน์ 1 และ 2 ขึ้น เพื่อเป็นสถานที่พัฒนาคนในชุมชนให้มีสุขภาพกายสุขภาพใจที่ดี รวมถึงต้องการให้พื้นที่ทั้งสองแห่งเป็นโครงการต้นแบบของพื้นที่สาธารณะ ที่ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการหรือดูแลพื้นที่ร่วมกัน 

ซึ่งมันคงน่าเสียดายหากโครงการนี้จะหยุดอยู่แค่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น จึงทำให้ทีมสถาปนิกชุมชน จากสถาบันอาศรมศิลป์ ตัดสินใจนำเสนอไอเดียต่อยอดโครงการนี้กับ สสส. จนในที่สุดโครงการลานกีฬาพัฒน์ก็ได้ไปอยู่ใน 8 ชุมชน 4 จังหวัด และกลายเป็น ‘โครงการลานกีฬาวัฒนธรรมชุมชน’ ในที่สุด 

| 8 ชุมชน 4 จังหวัด ลานกีฬาวัฒนธรรมชุมชน


หากเข้าไปค้นดูผลงานของอาศรมศิลป์ เราจะเห็นว่ากลุ่มสถาปนิกเหล่านี้มีความสนใจที่จะทำงานร่วมกับชุมชนมาโดยตลอด ตั้งแต่โครงการหลักสูตรการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะชุมชน โครงการลานกีฬาพัฒน์ หรือจะเป็นการออกแบบและก่อสร้างศูนย์เรียนรู้ชุมชนบางประทุนก็ตาม

‘อิสริยา ปุณโณปถัมภ์’ หรือ ‘พี่แอน’ ผู้จัดการโครงการ บอกกับเราว่า การจะเกิดเป็นสังคมได้ แน่นอนว่ามันมีองค์ประกอบหลายส่วน แต่หนึ่งในนั้นก็คือ ‘ชุมชน’ และถ้าจะทำให้สังคมมั่นคงได้ คนในชุมชนจะต้องเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตัวเองได้ก่อน

ในเมื่อจุดมุ่งหมายของทีมสถาปนิก คือการให้ลานกีฬาวัฒนธรรมชุมชนเป็นต้นแบบพื้นที่สาธารณะที่ชุมชนร่วมกันเป็นเจ้าของ ดังนั้นการคัดเลือกพื้นที่นำร่องจึงต้องเข้มข้น โดยมีเกณฑ์การคัดเลือกชุมชนอยู่ 3 ข้อ ด้วยกันคือ 1.มีพื้นที่สาธารณะที่ต้องการจะพัฒนา 2.หน่วยงานมีความสนใจเรื่องสุขภาวะชุมชน และ 3. ความพร้อมของคนในชุมชน

ลานกีฬาวัฒนธรรมชุมชนท่าฉลอม จ.สมุทรสาคร

“หน่วยงานท้องถิ่นต้องเห็นความสำคัญของกระบวนการมีส่วนร่วม ต้องมีความเชื่อว่าการออกแบบที่มาจากคนในชุมชนมันยั่งยืนกว่า รวมถึงต้องเชื่อว่าการทำพื้นที่แบบนี้เป็นการส่งเสริมเรื่องสุขภาวะชุมชน ทำแล้วได้ประโยชน์จริงๆ และในขณะเดียวกันคนในชุมชนต้องมีความพร้อม มีเป้าหมายอยากพัฒนาพื้นที่ของตัวเองร่วมกัน”

และสุดท้ายโครงการได้คัดเลือกพื้นที่นำร่องในการดำเนินโครงการที่ มหาชัยและท่าฉลอม จ.สมุทรสาคร / บางสะแกและอนุสรณ์สถานแฝดอิน-จัน จ.สมุทรสงคราม / บ้านแหลมและหาดเจ้าสำราญ จ.เพชรบุรี / หัวหินและหนองตาแต้ม จ.ประจวบคีรีขันธ์

โดยในแต่ละชุมชนก็มีพื้นที่สาธารณะในบริบทที่แตกต่างกันไป เช่น ที่ท่าฉลอม จะอยู่ในพื้นที่ของศูนย์บริการสาธารณสุข ตำบลท่าฉลอม  ที่สมุทรสงคราม อยู่ในพื้นที่ลานอนุสรณ์สถานแฝดสยามอิน-จัน หรือที่บ้านแหลม อยู่ในพื้นที่ของที่ทำการเทศบาลตำบลบ้านแหลม ด้านหลังที่ทำการฯ เป็นที่ดินติดป่าชายเลนเดิม ซึ่งการเลือกพื้นที่ตัวอย่างก็เพื่อจะแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่รูปแบบไหนก็สามารถนำไปพัฒนาต่อได้

กิจกรรม ‘Paint Floor Play’
สนามเด็กเล่น หาดเจ้าสำราญ จ.เพชรบุรี

| ให้ ‘ชุมชน’ เป็นหัวใจในการออกแบบ

“ใครกำหนดว่าพื้นที่สาธารณะ ต้องออกแบบเหมือนกัน”

ความน่าสนใจของโครงการลานกีฬาวัฒนธรรมชุมชน นอกจากมีความหลากหลายของพื้นที่แล้ว โครงการนี้ยังให้คน ชุมชน และหน่วยงานท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการออกแบบ 

ซึ่งโครงการเริ่มระยะแรกที่บ้านแหลม คือการทำพื้นที่ออกกำลังกายและลู่วิ่งให้กับคนในชุมชน ในขณะที่หาดเจ้าสำราญนำร่องด้วยกิจกรรม ‘Paint Floor Play’ ซึ่งเป็นการดีไซน์พื้นที่เพื่อใช้เป็นฐานการเล่นและเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชนนั่นเอง

“ในการออกแบบแต่ละที่จะขึ้นอยู่กับบริบทและอัตลักษณ์ของพื้นที่นั้นๆ รวมถึงต้องมาจากความต้องการของคนในชุมชนด้วยกัน เช่น ที่หาดเจ้าสำราญเราออกแบบโดยให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่มากที่สุด โดยใช้เอกลักษณ์ของท้องถิ่นอย่างสัตว์ทะเล เช่น วาฬบรูด้า หมึก แมงกะพรุน ปูเสฉวน และสีสันที่สดใส มาดึงดูดความสนใจจากเด็กๆ และผู้ที่พบเห็น หรือตรงบ้านแหลมพื้นที่ด้านหลังเป็นป่าชายเลนเก่าที่เสื่อมโทรมแล้ว เราก็เสนอให้มีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมกลับคืนมาควบคู่ไปด้วย”

ลานกีฬาวัฒนธรรมชุมชนบ้านแหลม จ.เพชรบุรี

ลาน = พื้นที่ 
กีฬา = กิจกรรมต่างๆ
วัฒนธรรม = อัตลักษณ์ของชุมชน

นอกจากอยากให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว พี่แอนยังบอกอีกว่า เป้าหมายอีกอย่างหนึ่งของโครงการ คือชุมชนและท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการหรือดูแลพื้นที่ร่วมกันได้ รวมถึงอยากให้โครงการนี้เป็นเครื่องมือที่ทำให้ชุมชนเห็นศักยภาพของตัวเอง ว่าเขาสามารถทำอะไรได้มากกว่าที่คิด ถ้าทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน โดยเริ่มต้นง่ายๆ ได้จากการพูดคุยและแสดงความคิดเห็นต่อกัน

| เมื่อผู้ให้ได้มากกว่าผู้รับ


“เราเติบโตมาในชุมชนต่างจังหวัด เรามองชุมชนเป็นเรื่องบวกเสมอ ความรู้สึกและบรรยากาศที่ได้เห็นการแบ่งปัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันของคนต่างจังหวัด มันยังติดอยู่ในความรู้สึกเราเรื่อยมา นี่จึงเป็นความตั้งใจหนึ่งว่าถ้ามีโอกาสก็อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชุมชนเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือสามารถสร้างความยึดโยงระหว่างคนและชุมชนให้อยู่ด้วยกันได้” พี่แอน – อิสริยา ปุณโณปถัมภ์ ผู้จัดการโครงการ

“เมื่อลงไปทำงานกับชุมชน นอกจากความคิดความอ่านบางอย่างที่เปลี่ยนไปแล้ว เรายังได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของผู้คน จากคนที่ไม่มีความมั่นใจก็กล้าแสดงออกมากขึ้น หรือบางคนไม่ค่อยคบหาสมาคมกับผู้อื่นก็กลายเป็นว่ามาได้เพื่อนจากการทำงานตรงนี้ ซึ่งเราชอบที่ได้เห็นสิ่งเหล่านี้มากๆ” ปุ๊ก – นฤมล พลดงนอก ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ

“ชอบความสัมพันธ์ที่มันเกิดขึ้นระหว่างคนทำงานกับชุมชน จากคนที่ไม่รู้จักกันกลายเป็นมิตรที่ดีต่อกัน ทีมไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นสถาปนิกแล้วจะมีหน้าที่ไปสั่งให้ชุมชนต้องฟังเราเท่านั้น แต่เราทั้งสองต่างมาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน อีกทั้งคุณลุงคุณป้าก็ต้อนรับเราเหมือนลูกเหมือนหลาน ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้เขาก็ยังเป็นห่วงเป็นใยถามไถ่ตลอด ซึ่งสิ่งนี้มันหาได้ยากมากจากสังคมปัจจุบัน” อุ้ย – ตุลารัตน์ กันหา ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ

“การได้ลงพื้นที่ไปทำงานกับชุมชน แม้จะเป็นหน่วยเล็กๆ ของสังคมแต่สำหรับเรามันคือกำลังใจมหาศาล ที่ทำให้เรามีแรงขับเคลื่อนที่จะไปทำงานที่อื่นต่อ” บลู – ศิญาภัค นุ่มไทย   สถาปนิกเเละเจ้าหน้าที่โครงการ

“นอกจากทำงานแล้ว เรายังได้เรียนรู้วิถีชีวิตและภูมิปัญญาของชุมชนนั้นๆ กลับมาอีกด้วย อย่างตอนออกแบบห้องสมุดให้ท่าฉลองที่ได้แรงบันดาลใจจากเก๋งเรือ คุณลุงก็พาเราไปเรียนรู้วิถีชีวิตบนเรือจริงๆ หรือที่บางสะแกที่โดดเด่นเรื่องการทำสวนส้มโอ ชาวบ้านก็พาพวกเราไปเรียนรู้วิถีชีวิตชาวสวน ตั้งแต่วิธีการปลูก การขุดท้องร่อง” มอส – นายธีรภัทร กรุดเงิน สถาปนิกและเจ้าหน้าที่โครงการ

| จะทำอย่างไรไม่ให้ ‘ชุมชน’ หายไป


ต้องยอมรับว่าปัจจุบันเมืองขยายตัวเร็วมาก และบางครั้งมันก็กลืนกินวิถีชีวิตของชุมชนโดยรอบให้หายไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นในมุมของกลุ่มคนที่ตั้งใจพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งจึงมองว่า

“จริงๆ แล้วเมืองต้องพัฒนาควบคู่ไปกับชุมชน ส่วนที่ว่ามันจะอยู่กันได้ด้วยอะไรก็ขึ้นอยู่กับการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับบริบทการพัฒนาที่เขาจะสามารถรักษารากของตัวเองไว้เพื่อให้อยู่ร่วมกับเมืองได้ เช่น ที่สมุทรสงคราม เขามีเครือข่ายที่เข้มแข็งสามารถดูแลหรือพูดคุยกันได้เพื่อกำหนดผังเมืองของจังหวัดเขาเอง ชุมชนร่วมกันระบุว่าต้องการหรือไม่ต้องการอะไร มากกว่าพื้นที่อื่นๆ”

สุดท้ายนี้เราหวังว่า โครงการลานกีฬาวัฒนธรรมชุมชนจะเป็นต้นแบบที่พื้นที่อื่นๆ สามารถหยิบไปทำต่อได้ ไม่ว่าจะมีทีมจากสถาบันอาศรมศิลป์เป็นพี่เลี้ยงหรือไม่ก็ตาม

Writer

Graphic Designer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.