“ถ้าจังหวะมันไม่ได้ก็แค่พักไว้ก่อนและฝึกฝนไปด้วย ชีวิตต้องมีรายได้ และค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องจัดการ แต่ถ้าเวลาผ่านไปแล้วเราไม่ทำสิ่งที่รัก แน่นอนว่ามันย้อนกลับไปไม่ได้ ทุกวันคือต้องทำ ยิ่งทำก็ยิ่งก่อตัว
“เราอยากให้เพลงที่ทำช่วยเยียวยาคนอื่น เป็นส่วนหนึ่งในความสร้างสรรค์ที่ให้แรงบันดาลใจ และส่งเสริมสังคมให้ดีขึ้น”
‘ราม-เอกศักดิ์ ชานาง’ ครองตนเป็นศิลปินมาจนถึงปัจจุบันในวัย 39 ปี เริ่มตั้งแต่เขาเติบโตเล่าเรียนในบ้านเกิดที่จังหวัดราชบุรี พอย่างเข้าวัยรุ่นก็เรียนที่ช่างศิลปสุพรรณ และไปเป็นเด็กวิจิตรศิลป์ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในช่วงมหาวิทยาลัย
ช่วงเวลานี้เองที่เขาได้พบรักกับสองสิ่ง หนึ่งคือ Selina (เซลิน่า) แบ็กแพ็กเกอร์สาวชาวอเมริกันที่มาเที่ยวที่ไทย สองคือ วงดนตรีที่ร่วมสร้างขึ้นมากับเพื่อนซี้สุดซัดมาด ‘เอ๊ะ-นที ศรีดอกไม้’ ในนาม Selina and Sirinya
จากการพบรักก่อตัวเป็นสิ่งที่รัก ชีวิตศิลปินของรามได้ออกเดินทางครั้งใหญ่ เขาโยกย้ายไปอยู่กับครอบครัวที่มีภรรยาและลูกอีกสองคนที่ประเทศอเมริกาเป็นเวลาสิบกว่าปี เดือนไหนที่อาชีพคนสวนในฟาร์มกัญชาของเขาสามารถหยุดงานได้ รามจะพาครอบครัวบินกลับมาที่ไทย และใช้ชีวิตออกทัวร์เล่นดนตรีกับเพื่อน
เรานึกถึงบทสนทนาข้ามทวีปในช่วงสิ้นปีที่ได้คุยกับราม ถึงจุดเริ่มต้นของการไปใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกา เรื่องราวเหล่านั้นประกอบด้วยงานเพลง ความฝัน ความนึกคิด ความเป็นศิลปิน รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของเมืองที่เขาอาศัยอยู่
เนื่องในเดือนกุมภาพันธ์นี้ วง Selina and Sirinya กำลังมีทัวร์เปิดอัลบั้มสามที่กรุงเทพฯ คอลัมน์ Think Thought Thought ขอใช้โอกาสนี้พาทุกคนไปรู้จักกับอีกหนึ่งศิลปินผู้ยังคงตั้งใจสร้างฝันที่มี และดำเนินชีวิตควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์งานเพลงและศิลปะ ตัวอักษรต่อจากนี้คือบางส่วนในบางช่วงชีวิตที่เขาเล่าให้ฟัง
อยากย้อนถามว่าตอนนั้นวางแผนชีวิตยังไง พอรู้ว่าต้องไปอยู่ต่างประเทศ
เราเป็นคนไม่มีแผนในชีวิต แต่เป็นคนที่เตรียมความพร้อมอยู่ตลอด เราไม่รู้ว่าจะวางแผนไปทำไมเพราะไม่รู้ว่าจะทำได้หรือเปล่า แต่เราเชื่อในตัวเองว่าเราทำได้ ไปอยู่ไหนก็ได้ เป็นแบบนั้นมาทุกช่วงชีวิต อยู่ตรงนั้นมีความสุขกับชั่วขณะ ไม่ได้คิดถึงอนาคตหรืออะไร อยู่กับตัวเอง ค้นหาตัวเอง และเห็นคุณค่าของตัวเอง
ตอนอยู่เมืองไทยเราใช้เวลาอยู่กับตัวเอง พอมาอยู่อเมริกาก็เป็นคนละแบบ คนละเรื่อง ไม่ได้เป็นเหมือนที่เราคิดไว้ เป็นอีกฉากหนึ่งของชีวิต ต้องมีความรับผิดชอบเยอะขึ้นมาก กดดันตัวเองสุดๆ ทั้งวัฒนธรรม ภาษา คิดอยู่เหมือนกันว่าจะไปรอดมั้ย
แล้วรอดมาได้ยังไง
รอดด้วยความรู้สึกว่าการได้มาอยู่ที่นี่เป็นโชคดี อยากให้โอกาสแบบนี้เกิดขึ้นกับทุกคน เพราะมันทำให้ได้เห็นอีกฝั่งหนึ่งของโลก เป็นอีกฝั่งที่เราไม่เคยรู้เรื่องมาก่อน ได้เห็นวัฒนธรรม ได้เห็นความคิดความอ่าน มันช่วยเปิดมิติมุมมอง ทำให้เราคิดไปอีกแบบ
ช่วงที่ย้ายไปอยู่อเมริกาใหม่ๆ แต่ละวันใช้ชีวิตทำอะไรบ้าง
ช่วงแรกเราเลี้ยงลูกอยู่บ้าน แฟนเราออกไปทำงาน เราชอบพาลูกไปเดินเล่น เพราะทุกหมู่บ้านมีสวนสาธารณะ มีสนามเด็กเล่น และตรงแถวบ้านที่เราอยู่มีตลาดขายอุปกรณ์ในบ้านที่คนไม่ใช้แล้ว เช่น ไม้ เฟรม เหล็ก ประตู อะไหล่ทุกอย่าง เราชอบพาลูกไปเดินมองหาของเหลือใช้ นำไปสร้างอะไรใหม่ๆ อย่างทำจักรยานหรือรถเด็กเล่นให้ลูก และช่วงว่างๆ ก็แต่งเพลง
แล้วคุณเริ่มต้นทำงานเมื่อไหร่
พอลูกโตใกล้เข้าโรงเรียน เราย้ายจากมิสซิสซิปปี (Mississippi) มาอยู่ทางใต้ของพอร์ตแลนด์ (Portland) แถววูดสต็อก (Woodstock) เป็นหมู่บ้านหลังเล็กๆ พอส่งลูกเข้าเรียนได้ก็เริ่มหางาน ที่นี่มีร้านอาหารไทยเพียบ คนไทยเยอะ ไปสมัครงานในร้านอาหารใกล้ๆ หมู่บ้าน เป็นพนักงานเสิร์ฟบ้าง ล้างจานบ้าง ได้ค่าแรงประมาณ 8 – 9 ดอลลาร์ฯ ต่อชั่วโมง และได้ทิปดี
พอทางที่ทำงานรู้ว่าเราทำงานศิลปะ เขาก็ให้เข้าไปช่วยตกแต่งร้านอาหาร เราก็เริ่มซื้อไม้ไปตกแต่งร้าน ทำให้มีงานเพิ่มเข้ามาคือ ได้ทำเฟอร์นิเจอร์ ทำงานไม้ เรียนรู้สิ่งที่ไม่เคยทำ
และพอทางร้านรู้ว่าเราทำเพลง ก็ชวนไปเล่นดนตรี คนไทยที่มาอยู่ที่นี่เป็นนักดนตรีเยอะ พอรวมๆ ก็นัดจัดงานพบปะ เล่นคัฟเวอร์เพลงไทยกัน เราไปเล่นเป็นวงเปิดให้เขา ก็ได้เล่นเพลงตัวเองด้วย
จากทำงานที่ร้านอาหารไปทำงานเป็นคนสวนดูแลฟาร์มกัญชาได้ยังไง
เพื่อนของแฟนเราเป็นแฟนเจ้าของฟาร์มกัญชา พอเขารู้ว่าเรามาจากเมืองไทย รู้ว่าเราสูบกัญชาและมีความเข้าใจเรื่องพวกนี้ ทางฟาร์มที่อยากขยายผลผลิต อยากทำให้เป็นฟาร์มที่จริงจัง ก็เลยชวนเราเข้ามาลองดู
เราได้เข้าไปดูงานตั้งแต่ช่วงเริ่มสร้างฟาร์ม ไปเป็นคนเซตอัป ทำห้อง ตีฝ้าเพดาน เดินไฟ ทำห้องผสมปุ๋ย ระบบท่อ อ๊อกเหล็ก ฯลฯ เหมือนเป็นคนก่อสร้าง
ช่วงที่เริ่มไปเซตอัป เราได้เงินเป็นรายชั่วโมง ตอนไหนไปช่วยได้ก็ไป เพราะบางครั้งเราต้องทำงานเสิร์ฟและรับงานตกแต่งร้านด้วย ถ้าร้านอาหารไทยเปิดตอนกลางวัน เราก็จะไปทำงานที่ฟาร์มกัญชาได้ตอนกลางคืน เพราะงานเราไม่มีเวลากำหนด เหมือนเป็นฟรีแลนซ์ ตอนเริ่มเข้าไปทำงานในฟาร์มกัญชาก็ยังมีร้านอาหารเป็นงานที่ทำประจำอยู่ด้วย
ธุรกิจฟาร์มกัญชาที่นั่นเป็นยังไงบ้าง
ธุรกิจกัญชาเป็นธุรกิจใหม่ที่บูมมากของที่นี่ อย่างฟาร์มที่เราทำงานเริ่มจากฟาร์มเล็กๆ ที่ยังไม่ถูกกฎหมาย พอถูกกฎหมายก็ทำเป็นบริษัทที่แบ่งหลายแผนก ทั้งคนขาย บัญชี ส่วนเราอยู่ในส่วนคนสวน รวมๆ แล้วคนทำงานทั้งหมดมีราว 15 คน พอฟาร์มเริ่มเข้าที่เข้าทางเราก็ออกจากร้านอาหารย้ายไปทำเป็นงานประจำ เพราะงานฟาร์มกัญชาต้องเข้าทุกวันจันทร์-ศุกร์ วันละ 8 ชั่วโมง เดือนหนึ่งจะจ่ายเงินสองครั้ง
เราเริ่มทำตั้งแต่ชั่วโมงละ 15 ดอลลาร์ฯ พอเริ่มเป็นธุรกิจจริงจังก็ขยับมาเป็น 20 ดอลลาร์ฯ ต่อชั่วโมง และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนทุกวันนี้ได้ 25 ดอลลาร์ฯ ต่อชั่วโมง ถือเป็นธุรกิจใหม่ในชุมชน ผู้เริ่มก่อตั้งทุกคนก็อยากให้ธุรกิจนี้อยู่อย่างถาวร อยากยกระดับให้มันเป็นงานที่ซัปพอร์ตทุกคนได้
เล่าให้ฟังหน่อยว่า คนสวนในฟาร์มกัญชาต้องทำอะไรบ้าง
งานนี้เป็นงานในฝันมากๆ เป็นงานที่สร้างกันขึ้นมาใหม่ เพราะการปลูกกัญชาเพิ่งถูกกฎหมาย แต่ละคนก็ไม่รู้ว่าต้องทำยังไง เรียกว่าใครทำอะไรได้ก็ทำ อย่างเราเป็นพวก Technical คอยดูแลเวลาปั๊มน้ำเสีย และงานหลักคือการเซตอัประบบต่างๆ ในฟาร์ม ส่วนเพื่อนอีกคนที่มีประสบการณ์การปลูกก็จะไปอยู่กับต้นไม้
เราทำงานนี้มาราวๆ 7 – 8 ปี หลังๆ ก็เริ่มเรียนรู้และคลุกคลีกับการดูแลต้นมากขึ้น มันจะมีตารางงานและกำหนดเวลาของแต่ละห้องว่าต้องทำอะไรบ้าง เป็นงานที่ต้องมีพื้นฐานความรู้เรื่องการปลูกกัญชา เพราะแต่ละห้องปลูกจะไม่เหมือนกัน เช่น การเปิด-ปิดไฟ หรือแค่การรดน้ำห้องหนึ่งก็ใช้เวลา 2 – 3 ชั่วโมงแล้ว เพราะห้องหนึ่งมีราว 120 – 200 ต้น แล้วแต่ขนาดต้นอีก
นอกจากนี้ยังต้องดูแลห้องแม่พันธุ์ ห้องปฐม ห้องเพาะต้นกล้าลงกระถางเล็กและเปลี่ยนมาเป็นกระถางใหญ่เรื่อยๆ และมีห้องดอกที่ต้องดูแล ต้องเช็กทุกห้องตลอดว่าต้นไม้มีอาการยังไง บางครั้งเจอแมลงก็ต้องพ่นยาออร์แกนิก เป็นต้น
คนที่ทำงานตรงนั้นหลักๆ เรียกได้ว่าเป็นตัวแก้ปัญหา คล้ายๆ การทำเกษตร บางช่วงไม่มีอะไรทำเลย บางช่วงนั่งดูต้นไม้มันโต บางช่วงที่เก็บเกี่ยวก็ทำงานหนัก ต้องเตรียมตัวปรับเปลี่ยนไปตามฤดูกาล
ในสายตาของคุณ เมืองที่อาศัยอยู่เป็นยังไงบ้าง น่าอยู่แค่ไหน
เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน ป็อปปูลาร์ตั้งแต่เรามาอยู่ใหม่ๆ ในนิตยสารมักลงข่าวว่าเป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุด ที่นี่เป็นเมืองท่าเรือค้าไม้ ก็จะมีบ้านอารมณ์แบบร็อกเกอร์เป็นบ้านของคนส่วนใหญ่ที่มีอาชีพค้าไม้ และบ้านที่หน้าตาดูดีเป็นบ้านของเจ้านาย
การสร้างบ้านของเมืองนี้มีรายละเอียดดีมาก มีบ้านอายุร้อยกว่าปีเป็นแหล่งท่องเที่ยวศึกษาประวัติศาสตร์ เพราะสมัยก่อนยังใช้ไม้ได้เยอะอยู่ เราจะเห็นความสวยงามของบ้านเรือน ธรรมชาติ ขับรถออกไปไม่ถึงชั่วโมงก็มีน้ำตก มีลำธารใกล้ๆ และแต่ละหมู่บ้านก็มีสวนสาธารณะที่เป็นเหมือนป่า มีต้นไม้ใหญ่ ด้วยความที่เมืองนี้เป็นภูเขามาก่อน แต่ละหมู่บ้านจึงมีสวนที่กำหนดไว้ว่าห้ามตัดต้นไม้ ผู้คนที่นี่เห็นคุณค่าของธรรมชาติมาก ทุกคนเข้าใจว่าธรรมชาติมีผลต่อการดำรงชีวิต
ตอนเราย้ายมาราวปี 2009 – 2010 นอกจากเมืองนี้จะป็อปมากแล้ว ก็ยังเป็นเมืองที่ชิลมากด้วย แต่เดี๋ยวนี้เริ่มมีรถติดให้เห็นบ้าง มาอยู่แรกๆ ค่าเช่าบ้านราว 800 เหรียญ (ประมาณ 20,000 – 30,000 บาท) ได้บ้านทั้งหลัง มีพื้นที่ข้างหลังไว้ทำสวน แผนผังของหมู่บ้านที่นี่เป็นล็อกสี่เหลี่ยม บ้านมีสองห้องนอน สองห้องน้ำ มีห้องใต้ดินที่เราใช้ทำเป็นสตูดิโอทำงานได้ แต่เดี๋ยวนี้ราคาแบบนั้นหาไม่ได้แล้ว ราคาพุ่งไปที่ 2,000 – 3,000 ดอลลาร์ฯ แถมคนย้ายมาเพิ่มมากขึ้น ช่วงหลังเริ่มมีคนไร้บ้านและคนที่แคมป์ปิงตามท้องถนน
เรื่องภาวะโลกร้อนก็มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างการเกิดฤดูไฟป่า เวลาร้อนจะร้อนแห้งๆ พอลมมาไฟติดนิดเดียวก็ลุกลามได้ง่าย คล้ายๆ เชียงใหม่ตอนฤดูควันมา แต่ถ้าพูดถึงภาพรวมก็ยังโอเค ถือว่าเป็นเมืองที่น่าอยู่
ความเป็นอยู่ของคุณเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน จากวันแรกที่มาถึงประเทศนี้
ถ้าในอุดมคติของการมีชีวิตแบบที่เราอยากอยู่ ถือว่ายากขึ้น ด้วยค่าครองชีพและค่าน้ำมัน ที่นี่ทุกอย่างไม่ได้ดีไซน์มาเพื่อให้เกิดความยั่งยืน คุณต้องมูฟอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่มูฟก็จะกลายเป็นคนไร้บ้าน ซึ่งมันก็อยู่ได้นะ แต่คุณจะไม่มีทางเลือกเลย ถ้าคุณอยากอยู่แบบโอเคๆ คุณก็ต้องมีงาน ลงสนามแข่งขันเหมือนกับทุกๆ ที่ เพราะเมืองมันมีคนเข้ามาเยอะ เด็กรุ่นใหม่ๆ ก็มีโอกาสยากขึ้น เราเห็นเพื่อนๆ ที่โตมาที่นี่บางคนยังไม่มีงานทำเลย
ตอนมาที่นี่ในวัย 26 ตอนนั้นเราอาจรู้สึกสดชื่น ตื่นเต้น แต่ตอนนี้ที่อยู่มาได้สักพัก เรามองไม่เห็นความยั่งยืนหรือความเรียบง่ายที่จะทำให้ใช้ชีวิตอยู่ได้แบบระยะยาว ถ้าคุณไม่ได้มีงานที่มั่นคงจริงๆ ก็ต้องมีธุรกิจ เพราะส่วนมากงานที่มั่นคงสำหรับที่นี่คืองานราชการที่มีสวัสดิการดีมาก แต่ก็สมัครและเข้ายาก เพราะบางคนเข้าไปแล้วไม่ยอมออก เนื่องจากเป็นงานที่ต้องทำตลอดชีวิตเพื่อให้ได้เงินบำนาญ
ฟาร์มกัญชาที่เราทำก็เจอปัญหา เพราะอย่างที่บอกว่ามันเป็นเทรนด์ธุรกิจใหม่ โรงงานเราถือว่าเป็นธุรกิจแบบโลคอลที่สร้างกันเอง แต่ตอนนี้มีบริษัทที่เป็นนายทุนมาทำเป็นร้อยๆ ห้อง ของเราทำแค่สี่ห้อง ก็มีการกดราคากัน ราคาเริ่มตก และกัญชาล้นตลาด ถ้าวันข้างหน้าทุนไม่หนาเราก็ไปต่อไม่ได้
คุณมองหางานอื่นๆ หรือมีงานที่อยากทำอีกมั้ย
เราอยากทำอย่างอื่นที่อาจจะได้เงินน้อยกว่า แต่เราได้รู้คุณค่าสิ่งที่ทำ หรือเป็นสิ่งที่เราสนใจ มันอาจมีความสุขมากกว่าก็ได้ บางอย่างที่เราทำแล้วไม่เกิดการพัฒนา มันทำให้เรารู้สึกเบื่อ แล้วเราก็อยากมูฟออนไปหาสิ่งอื่นมากกว่า จะดูแลแต่ร่างกายอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องห่วงใยจิตวิญญาณของตัวเองด้วย
แล้วที่ผ่านมา คุณดูแลจิตวิญญาณตัวเองยังไงบ้าง
เดี๋ยวนี้อะไรๆ ก็เปลี่ยนเร็ว เห็นความไม่แน่นอนที่เร็วขึ้น อุปสรรคมันมีทั้งนั้น เป็นเรื่องธรรมดา แต่มาอยู่ที่นี่เราไม่ได้โฟกัสตรงความแย่ เราจะโฟกัสตรงที่มันสอนเรา เก็บเอาเรื่องดีมาปรับใช้มากกว่า มันต้องมีประสบการณ์ก่อนถึงจะได้เจออีกฝั่งหนึ่งที่ชีวิตไม่เคยเจอ เราพยายามคิดตลอดเวลาว่าสุดท้ายแล้ว Everyting alright and ervrything ok. เรามองว่าดีแล้วที่ได้เจออุปสรรค ได้แก้ปัญหา เพราะมันทำให้เราโตขึ้น จะยึดติดกับการนิ่งอยู่กับที่คงเป็นไปไม่ได้
ความเป็นไปของสังคมที่รวดเร็วและไม่แน่นอนแบบนี้ ทำให้คุณเป็นห่วงลูกมั้ย
เดี๋ยวนี้มันก็ Capitalism หมด อยู่เมืองไทยก็คงพอๆ กัน เราเลยอยากมีโอกาสพาลูกไปอยู่เมืองไทย เหมือนที่เราได้มาอยู่ที่นี่ ได้เปิดโลก ได้เห็นสิ่งอื่นๆ อยากให้ลูกได้เห็นอีกคุณค่า อีกความหมาย อีกรสชาติ อีกวัฒนธรรม อีกภูมิอากาศ หรืออะไรต่างๆ ที่เขาไม่เคยรู้มาก่อน ถ้าโตแค่ที่นี่มันจะมีภูมิแค่ตรงนี้ ไม่ได้มีภูมิต้านทานอื่น ถ้าไปเจออะไรอีกแบบหนึ่งพวกเขาจะได้อยู่ได้
อยากให้พวกเขาได้มีวัฒนธรรมแบบเราบ้าง จะได้เปิดกว้างทั้งสองอย่าง ไม่อยากให้แค่ฝั่งเดียว เพราะเราก็เห็นสิ่งที่เราประสบรับรู้โตมาในฝั่งเอเชีย ซึ่งเป็นคนละวัฒนธรรม โทนเสียง การละเล่น มันจะทำให้พวกเขาได้ออกไปเรียนรู้และเจอวัฒนธรรมต่างๆ มากขึ้น
รัฐบาลน่าจะส่งเสริมให้คนได้ลองไปอยู่ที่อื่น เราเชื่อว่ายังไงคนก็ยังอยากกลับไปในที่ที่เขาจากมา และนำสิ่งที่ได้จากการไปอยู่ที่อื่นมาแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด พัฒนาอะไรต่างๆ ได้ ทั้งยังทำให้โลกกว้างขึ้น คนเข้าถึงกันมากขึ้น ยอมรับความแตกต่างได้
ความเป็นอยู่ของการเลี้ยงลูกที่อเมริกาเป็นยังไงบ้าง
ถือว่าเลี้ยงได้ เราว่ารัฐบาลเขาช่วยเยอะ สมมติถ้าลูกของคุณเป็นดาวน์ซินโดรม คุณจะได้เงินช่วยเหลือจากรัฐบาล มีโรงเรียน มีคนซัปพอร์ตดูแล มีสวัสดิการอย่างดี ขนาดคนพิเศษเขายังดูแลได้เต็มที่ แค่นี้ก็วัดได้แล้วว่าโอเค
โรงเรียนที่นี่ถ้าเป็นโรงเรียนของรัฐบาลที่เรียนฟรีจะเป็นอีกระบบหนึ่ง แต่ของลูกสาวเราเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีแนวการสอนแบบมอนเตสซอรี่ พูดง่ายๆ คือมีระบบการสอนที่ไม่ใช่นั่งอ่านหนังสือแล้วท่องจำ คล้ายๆ กับ Charter School ที่ลูกชายโชคดีจับฉลากได้เข้าไปเรียน ที่นั่นเป็นโรงเรียนเกี่ยวกับศิลปะการแสดงระดับมัธยมฯ ทั้งโรงเรียนมีประมาณ 300 คน มีเรียน 4 วัน เขาจะให้เรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ ให้รู้จักรับผิดชอบ เก็บกวาดเอง ส่วนวิชาทั่วไปก็ยังมีสอน แต่สอนด้วยวิธีการนำเอาศิลปะมาปรับใช้
ในฐานะพ่อ คุณมองอนาคตลูกไว้เป็นแบบไหน
เคยอยากให้เขาเป็นนักดนตรี ก็พยายามมีเครื่องดนตรีไว้ในบ้าน ด้วยความที่เราทำเพลงและเป็นศิลปิน ก็อยากสร้างบรรยากาศให้ลูกได้ฟังเสียงเพลงและอยากเล่นดนตรี แต่เอาจริงๆ เราไม่มีทางรู้เลยว่าเขาชอบอะไร และส่วนมากเด็กก็คงชอบไม่เหมือนกับครอบครัว
ลูกเคยตั้งคำถามถึงการเป็นศิลปินของคุณบ้างไหม
ไม่เคยถาม เพราะเป็นเรื่องธรรมดาของพ่อ ก็เห็นกันมาตั้งแต่เด็ก เราเล่นกีตาร์กับพวกเขามาตั้งแต่เกิด มันอาจดูเป็นสิ่งปกติของเรา ลูกเลยไม่เคยคิดถามว่าเราทำไปทำไม
ตอนนี้คุณนิยามความเป็นศิลปินของตัวเองยังไง
ทุกคนเป็นศิลปิน ศิลปินคือความหมายของคน การเป็นศิลปินทำให้เขามีความสุข ถ้าคุณทำกับข้าว ได้ออกแบบอาหารและสื่อสารรสชาติให้ผู้คน มันก็มาจากการสั่งสมประสบการณ์ ฝึกหัด และทำบ่อยๆ โดยมีเหตุผลหลักคือการชอบทำสิ่งนั้นๆ เราว่าทุกคนมีความแตกต่าง ไม่มีใครชอบเหมือนกันทั้งหมด และต่างคนก็กำลังตามหาความหมายของชีวิตตัวเองว่าเกิดมาเพื่ออะไร
ถ้าทุกคนได้ทำสิ่งที่ตัวเองรักแล้วอยู่ร่วมกันได้จะดีมาก แต่ความจริงเป็นไปได้ยาก เพราะเราต้องอยู่ในระบบที่ต้องฝ่าฟันไป
แล้วศิลปินอย่างคุณคาดหวังอะไร
ถ้าเราคาดหวัง มันจะมีคำว่าประสบความสำเร็จ บางครั้งความสำเร็จกับคำว่าความสุขไม่เหมือนกัน มันอาจเป็นเพราะเรามีความสุขจากการได้ทำ ดังนั้นเราคิดว่ามันประสบความสำเร็จมาตั้งแต่ในเนื้อตัวเราแล้ว
แต่ถ้าถามว่าความคาดหวังของเราคืออะไร เราอยากให้งานเพลงที่ทำเป็นส่วนหนึ่งในแรงบันดาลใจให้สังคม อยากสร้างสรรค์ผลงานให้มีสีสันหรือสร้างอีกมิติหนึ่งให้คนได้เจอแนวคิดใหม่ๆ ทำให้ผู้คนได้ผ่อนคลาย หรือฮีลลิ่งบางอย่างได้ อยากส่งเสริมสังคมให้ดีขึ้น เพราะเราเกิดมาเป็นส่วนหนึ่งในสังคม มันก็ควรต้องจุนเจือกัน รายได้ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่เพราะเราไม่ได้เริ่มทำเพลงจากการมองธุรกิจ เราทำเพราะมันเป็นสิ่งที่ชอบมานานแล้ว ไม่ได้หวังให้ดังหรือมีรายได้มากมายจากตรงนี้
ถ้าการทำงานเพลงของเราทำให้เรารู้สึกดีและคนอื่นรู้สึกดีด้วย มันตอบโจทย์ในสิ่งที่เราอยากทำแล้ว และถ้าสิ่งที่ได้ทำเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลดีต่อสังคม เราว่ามันก็ประสบความสำเร็จแล้ว
พูดได้มั้ยว่า ชีวิตของคุณกับการทำงานเพลงเป็นเรื่องเดียวกัน
งานเพลงที่ทำอาจมีส่วนช่วยซัปพอร์ตในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต และตอนนี้เราก็ซัปพอร์ตงานเพลงของเราด้วยการทำงานประจำที่สนใจ แม้ไม่ใช่งานที่ทำแล้วมีความสุขที่สุด แต่ช่วยให้เรามีชีวิตอยู่ เลี้ยงลูกได้ ขณะเดียวกันเราก็พยายามฝึกฝน ทำในสิ่งที่เราชอบไปด้วย เชื่อว่าวันหนึ่งสิ่งที่เรารักจะตอบโจทย์เรา
เราเชื่อว่ามันจะมาในช่วงที่พร้อม ถ้าทำไม่ได้ก็แค่พักไว้ก่อน และฝึกฝนไป ชีวิตต้องมีรายได้ เพราะค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องจัดการ แต่สำหรับสิ่งที่เรารัก เมื่อเวลาผ่านไปจะเห็นเลยว่า ถ้าเราไม่ทำ แน่นอนว่ามันย้อนกลับไปไม่ได้ ทุกวันคือการต้องทำ ยิ่งทำก็ยิ่งก่อตัว ทุกอย่างมีเวลาของมัน บางอย่างที่ต้องรอ ถ้าไปเร่งมันก็เป็นทุกข์ พยายามประคับประคองให้มันไปถึงช่วงหนึ่ง ถ้าผ่านมันไปได้ ตรงนั้นมันก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งแล้ว ขอให้เชื่อในปรีชาของตัวเองเอาไว้
คุณเคยบอกว่าตัวเองเป็นคนไม่มีเป้าหมายในชีวิต แล้วรามในวัย 39 ปี มีเป้าหมายหรือยัง
ตอนนี้เป้าหมายเริ่มมาแล้ว จากที่ไม่ได้คิดอะไร มันเริ่มกลั่นกรอง ตกตะกอน เป็นรูปเป็นร่าง เป้าหมายของเราคืออยากมีชีวิตที่เรียบง่าย และเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยจุนเจือและเกื้อหนุนให้สังคมและโลกนี้ดีขึ้น เราจะเป็นอะไรมันก็แล้วแต่ปัจจัย แต่เจตนาเราเป็นแบบไหนมันจะพาไปแบบนั้น
ชีวิตเหมือนความท้าทาย เราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เมื่อวันก่อนอยู่ดีๆ ขับรถแล้วรถหมุน เกือบตาย แต่รอดมาได้หวุดหวิด เลยทำให้คิดอะไรได้เยอะเลย ยิ่งตอกย้ำเข้าไปอีกว่า เราควรทำอะไรที่ตัวเองคิดว่าต้องทำแล้ว เพราะอยู่ดีๆ เราอาจตายได้ ชีวิตมันนิดเดียว