ผู้ใหญ่ขอโทษเด็กได้ ยอมรับผิดไม่ได้วัดจากช่วงวัย - Urban Creature

ตั้งแต่เล็ก ฉันและคุณอีกจำนวนไม่ถ้วนถูกพร่ำสอนให้รู้จักขอโทษเสมอเมื่อทำผิด แต่ยิ่งเติบโต ยิ่งได้มองเห็นโลกที่กว้างใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และพบพานกับคนหลายช่วงวัย ฉันกลับพบบางแง่มุมที่บอกเป็นนัยว่า เมื่อโตเข้าวัยผู้ใหญ่แล้ว การขอโทษกลายเป็นเรื่องไม่จำเป็น โดยเฉพาะเมื่อต้องพูดกับเด็ก ผู้ใหญ่บางคนเลือกที่จะไม่เอ่ยคำนี้ออกไปเพียงเพราะความคิดว่า ‘ฉันอายุมากกว่าเธอ’

การที่ผู้ใหญ่ขอโทษเด็ก มันเป็นเรื่องน่าอับอายมากเลยเหรอครับ” 
เด็กต้องขอโทษผู้ใหญ่เสมอ ทั้งๆ ที่คนผิดไม่ใช่เด็กเหรอครับ
ทำไมคนไทยที่แก่กว่า ขอโทษคนที่อายุน้อยกว่ามากๆ ไม่เป็น

นี่เป็นเพียงกระทู้ส่วนหนึ่งจาก pantip.com ที่ตั้งคำถามถึงการขอโทษไม่เป็นของผู้ใหญ่ ซึ่งหลายคำตอบไหลเข้ามาในหลากแง่มุม บ้างถกประเด็น บ้างเห็นด้วย และบ้างก็สงสัยเช่นกันว่าทำไมผู้ใหญ่ถึงขอโทษเด็กไม่ได้

แหม่ม วีรพร
ภาพ : Veeraporn Nitiprapha

เป็นผู้ใหญ่ขอโทษเด็กได้ไหม – ชวนฟังทัศนะของ แหม่ม-วีรพร นิติประภา นักเขียนดับเบิลซีไรต์จากสองวรรณกรรมเรื่อง ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ ตามด้วยหนังสือเรื่อง โปรดโอบกอดมนุษย์ลูก และ ทะเลสาบน้ำตา เธอยังเป็นคุณแม่แห่งยุคสมัยที่ขึ้นชื่อเรื่องความเข้าใจระบบความสัมพันธ์ของแม่-ลูกซึ่งเต็มไปด้วยความต่างของช่วงวัย

ชนชั้นผู้ใหญ่ ชนชั้นเด็ก

“ประเทศไทยก็เหมือนประเทศเอเชียอื่นๆ คือให้ความสำคัญกับวัยวุฒิ เช่นเดียวกับการมีลำดับขั้นชนชั้น” คำตอบของคำถามถึงต้นตอของความคิดที่ว่า เมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้ว ทำไมการขอโทษเด็กเป็นเรื่องที่ไม่ต้องทำก็ได้จากแหม่ม ก่อนเธออธิบายต่อว่า เมื่อวัยวุฒิและลำดับขั้นรวมตัวกัน มันก่อให้เกิดชนชั้นผู้ใหญ่ และชนชั้นเด็กที่มีเส้นกั้นไม่ให้เด็กเทียบเท่าผู้ใหญ่ได้

“เมื่อมีชนชั้น เด็กก็ล่วงละเมิดผู้ใหญ่ไม่ได้ และเพื่อดำรงชนชั้นนั้นไว้ ผู้ใหญ่จะไม่ถูกสอนให้ขอโทษเด็ก เพราะการขอโทษคือการยอมรับว่าผิด และเมื่อผู้ใหญ่ทำผิดบ้าง ก็จะรู้สึกว่าเราไม่ได้เหนือกว่า ไม่สามารถเอาผิดเด็กได้ วัยวุฒิก็จะหมดความหมาย ผู้ใหญ่กับเด็กก็จะเท่ากันทันที

“อีกอย่างเราเป็นประเทศที่มีรัฐประหารบ่อยครั้งที่สุด นั่นคือเราถูกปลูกฝังทัศนคติไม่เพียงเด็กผู้ใหญ่ แต่ยังมียศถาบรรดาศักดิ์มาอีก มีเรื่องพุทธที่ถูกใช้ด้วย เช่น เถียงพ่อแม่ปากเท่ารูเข็ม ไปจนถึงพิธีกรรมล้างเท้าวันแม่ เราฟูมฟักลำดับขั้นชนชั้นในทุกองคาพยพของสังคมก็ว่าได้”

ฉันคิดตามแล้วค้นพบว่าคำตอบนี้ไม่เกินจริงไปสักนิดเดียว ยิ่งในสังคมไทยที่มีลำดับขั้นชัดเจน และค่อนข้างใช้ชีวิตภายใต้ภาวะ Loss Aversion หรือหลีกเลี่ยงการสูญเสีย ทั้งเสียใจ เสียชื่อเสียง ไปจนถึงเสียหน้า ประกอบกับบรรทัดฐานทางสังคมที่หล่อหลอมเรื่องการเคารพและเชื่อฟังผู้อาวุโสกว่า ยิ่งทำให้การขอโทษเด็กของผู้ใหญ่ดูเป็นเรื่องไม่จำเป็นไปโดยปริยาย

บ่มเพาะอำนาจนิยม

การขอโทษไม่เป็นของผู้ใหญ่ หากมองแคบๆ คงเป็นชนวนรอยร้าวกับคนอายุน้อยกว่า แต่หากมองกันอย่างกว้างๆ แค่การไม่รู้จักขอโทษ แหม่มมองว่ามันคืออาหารโอชะที่ช่วยบ่มเพาะ ‘อำนาจนิยม’ ให้แข็งแกร่ง 

“แค่รักษาเนื้อรักษาตัวให้ดี มีชีวิตอยู่ คุณก็มีคนกราบไหว้ ไม่เถียง ไม่ต้องขอโทษทั้งที่ตัวเองผิด นี่คืออำนาจนิยมขั้นสูงสุดละ

“มิหนำซ้ำเรายังเอาเรื่องความอายุมากอายุน้อยไปผูกกับจริยธรรมอื่นๆ เช่น เป็นลูกต้องเชื่อฟังพ่อแม่ถึงจะเป็นคนดี ลักษณะพ่อแม่ลูกยังลามไปถึงสังคมทำงาน เช่น เราเป็นบริษัทที่อยู่กันเหมือนครอบครัว แปลว่านาย หัวหน้า เจ้าของเป็นผู้ปกครอง และลูกน้องเป็นลูก

“รัฐบาลตอนนี้ก็ครอบงำประชาชนเช่นเดียวกัน พยายามให้คุณทำนั่นนี่ และไม่ต้องคิด อย่าคิด มีปัญหาอะไรห้ามไว้ก่อน การศึกษา ทุกอย่าง โครงสร้างของเราเป็นครอบครัวโบราณอย่างใหญ่มาก”

นั่นทำให้ปัญหาที่ตามมาคือ ความล้าหลัง เธอยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าท่ามกลางความทันสมัยที่เกิดขึ้นมากมาย มีสมาร์ตโฟนรุ่นล่าสุดใช้ ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันล้ำๆ ติดเครื่อง ได้สวมใส่เสื้อผ้าจากดีไซเนอร์ตัวท็อปทุกซีซัน ทุกอย่างดูโกลบอลไม่ต่างอะไรจากเมืองนอก แต่ถ้าลองได้เริ่มคุย จะรู้ว่าความคิดของใครหลายคน ยังถูกจัดอยู่ในประเภทล้าหลัง

“มันย้อนกลับไปเรื่องชายเป็นใหญ่แบบสมัยกึ่งพุทธกาล เรื่องการไม่สามารถนำเสนอสิ่งที่ตัวเองคิดว่าเหมาะกับยุคสมัยได้ พ่อแม่เลือกคณะเรียนให้ลูก มีหลายอย่างที่มันควรหายไปตั้งนานแล้วแต่ยังอยู่ ทำไม มันเป็นไปได้อย่างไร นั่นเพราะระบบผู้ใหญ่เป็นใหญ่ ถูกเสมอนี่แหละค่ะ

“เราอยู่ในสังคมที่รังแต่จะบิดเบี้ยวขึ้นทุกที จากความที่สิ่งต่างๆ ดำรงอยู่โดยปราศจากความสอดคล้องกัน มันเลยไม่เชื่อมต่อ เชื่อมโยงกันสักอย่าง เห็นเด็กหญิงเด็กชายแอบใช้ทินเดอร์ เต้นวาบหวิวในติ๊กต็อก ควบคู่ไปกับการทำทุกอย่างตามพ่อแม่บอก มันสร้างสภาพโกลาหลข้างในมาก

“กลายเป็นว่าคุณอยู่กับแอปฯ ใหม่ล่าสุด คุยกับใครในโลกก็ได้ แต่คุยกับพ่อแม่ตัวเองไม่ได้ เพราะเขาไม่ฟัง แค่ไม่ฟังเพราะเขาไม่ต้องฟัง เพราะเขาเป็นพ่อแม่ที่วัยวุฒิมากกว่า จากสภาพภายในเละๆ เทะๆ เราก็ค่อยๆ ฟอร์มโครงสร้างของสังคมที่ปกปิด หน้าไหว้หลังหลอก เอาตัวรอดไปวันๆ เพื่อจะเอาชีวิตรอด”

ทุกการบ่มเพาะจนเกิดอำนาจนิยม ทำให้ประเทศไทยมีคนเก่งจำนวนมาก แต่กลับไม่เป็นที่หนึ่ง และรังแต่จะถอยห่างจากระดับโลกไปเรื่อยๆ เหมือนที่แหม่มบอกว่า “เราเป็นได้แค่ประเทศผู้ตามที่ดีมากเป็นครึ่งค่อนศตวรรษแล้ว”

ยอมรับซะ…ผู้ใหญ่ก็ผิดเป็น

มีหลายครั้งที่ฉัน และคาดว่าคุณด้วยเช่นกันเจอเหตุการณ์ในทำนองที่ว่าผู้ใหญ่ไม่รู้ตัวว่าตัวเองผิด คิดว่าตัวเองไม่ผิด และสร้างกำแพงหนาเตอะว่าอย่างไรตัวเขาก็ไม่ผิด ซึ่งแหม่มสรุปว่ามีสองทางแก้ไขสิ่งนี้ได้คือ หนึ่งรอมชอมยอมเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ปล่อยให้ผู้ใหญ่ถูกไปตลอดกาล กับสองคือแตกเป็นแตก แบกเอาไว้ก็หนัก (ลองอ่านแบบไม่ใส่ทำนองสิ) ขุดคุ้ยความผิดมาปาใส่หน้ากัน บอกให้รู้ว่าผู้ใหญ่ก็เป็นปุถุชนคนหนึ่ง 

“ประเทศบ้าๆ นี่ทำให้เราเหลือแค่ทางเลือกสุดโต่งสองทาง ไม่มีตรงกลาง เมื่อแม่เป็นเด็กเขาฟังแม่ของเขา นายของเขา และแก่ตัวเป็นคนไม่มีฝีมือมากนัก สิ่งเดียวที่มีเหลือคือความแก่ ความแม่ คุณเอาสิ่งนี้ไปจากเขา…เขาก็ไม่เหลืออะไร

“ข้อเสนอของวีรพรคือส่งไปเรียนเต้นรำ ทำขนม มัดเชือกชิบาริ พากินเหล้า เที่ยวบาร์ เรียนเขียนนิยายกับวีรพร ทำสวน ให้เขาเรียนรู้ที่จะสร้างคุณค่าให้ตัวเอง และเข้าใจว่าอายุไม่ใช่ทั้งข้อดีและข้อเสีย และคุณค่าของเขาไม่ใช่อำนาจความเป็นพ่อแม่ หรือคนแก่ แต่คุณค่าของเขาในชีวิตของลูกหลานคือความน่ารัก มีเมตตา มีความสามารถในการเข้าใจวิถีสมัยใหม่ เข้าถึงเทคโนโลยีที่เป็นหัวใจของยุคสมัยได้” ข้อเสนอแนะฉบับวีรพรนี้ทำให้ฉันอมยิ้มตามขึ้นมาทันที

ฉันใคร่รู้ต่อว่าแล้วควรทำอย่างไร ให้ผู้ใหญ่เริ่มรู้จักขอโทษเด็กบ้างเสียที เธอมองว่า การขอโทษไม่ใช่แก่นสารใหญ่ เพราะสิ่งที่ยิ่งใหญ่จริงๆ คือผู้ใหญ่ทุกคนควรมองเห็นว่าตัวเองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งสิ่งนี้เด็กก็ต้องร่วมด้วยช่วยกัน

“เมื่อผู้ใหญ่มองตัวเองเป็นมนุษย์ เขาจะผิดได้พลาดได้ สังคมไม่สอนให้พ่อแม่เป็นมนุษย์มานะคะ เขาโดนกราบปีละครั้งด้วยพวงมาลัยดอกมะลิ สิ่งที่เราต้องทำคือให้เขายอมรับความเปราะบางของตัวเอง

“ซึ่งสิ่งนี้อาจจะเริ่มจากลูกชิงขอโทษก่อนเลยค่ะ ขอโทษที่จะทำให้แม่พ่อเสียใจ แต่ลูกขอบอกว่าความคิดนี้มันไม่สอดคล้องกับลูกและสังคมยุคใหม่อีกต่อไป ลูกรักพ่อแม่แหละ รักมากด้วย แต่…ยอมรับบ้างเถิดว่าเรื่องนี้พ่อแม่ผิด แล้วใครๆ ก็ผิด คือต้องอธิบายให้เขาเข้าใจ เหมือนที่เขาใช้หลายต่อหลายปีของชีวิตหมดไปกับการอธิบายสิ่งต่างๆ ให้ลูกเข้าใจ เพื่อจะได้ไม่เป็นบ้าตายเมื่อเริ่มออกมาเผชิญโลก ทำเหมือนที่เขาเคยทำ อดทนให้มาก สอนให้เขาอยู่ เหมือนที่เขาสอนให้คุณอยู่มา”

เมื่อถึงวันที่ผู้ใหญ่ขอโทษเด็กเป็นแล้ว ในทัศนะของแหม่ม สิ่งนี้จะนำไปสู่ชีวิตที่เป็นสุขขึ้นกว่าเดิม เพราะการตั้งตัวเป็นใหญ่ คิดว่าตัวเองอาวุโสกว่าเลยไม่ต้องรับผิดก็ได้ จะทำให้เกิดความเครียด การจ้องจะครอบงำ ไปจนถึงการวางอำนาจตลอดเวลา 

แต่พอเปลี่ยนจากมุมเดิมแล้วมองว่าผู้ใหญ่เป็นเพียงมนุษย์ที่ถูกได้และผิดเป็น พวกเขาจะกล้าขอโทษเมื่อผิด เริ่มปล่อยวาง ปล่อยให้คนรุ่นใหม่ได้เติบโต และมองว่าความผิดพลาดไม่ใช่เรื่องใหญ่ กลับกันเหล่าเด็กทั้งหลายเอง ก็ต้องเรียนรู้ความเปราะบางและโอบกอดความผิดพลาดเช่นกัน

“เพราะการขอโทษคือสิ่งที่บอกว่าเราไม่ได้ถูกทั้งหมด ถูกที่สุด ถูกตลอด แต่การขอโทษคือสิ่งที่บอกว่าเราเป็นมนุษย์ มนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์แบบหรอก และการขอโทษยังหมายถึงการยอมรับความเป็นมนุษย์ของตัวเอง และผู้ที่ยอมรับความเป็นมนุษย์ของตัวเองได้แล้ว ก็ย่อมยอมรับความเป็นมนุษย์ของคนอื่นได้เช่นกัน” 


ไม่ว่าคุณในวัยไหนก็ตามอาจเผลอทำเรื่องผิด ฉันหวังว่าวันนี้คุณจะตั้งใจยอมรับและกล่าวคำว่า ‘ขอโทษ’ ด้วยใจจริงอย่างไม่ต้องกังวลถึงความเป็นผู้ใหญ่และความเป็นเด็กอีกต่อไป

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.