ผจญไพรในวันที่ป่าไร้ผู้คนกับ ‘อาเฌอ’ ช่างภาพผู้พิทักษ์ป่าแห่งทุ่งกะมัง ซาฟารีเมืองไทยถิ่นชัยภูมิ - Urban Creature


Urban Creature ของอาสาพาทุกคนเข้าป่า ผจญไพรผ่านตัวหนังสือไปพร้อมกับ ‘พี่วุธ-ประสิทธิ์ คำอุด’ ช่างภาพและผู้พิทักษ์ป่าแห่งทุ่งกะมัง จังหวัดชัยภูมิ เจ้าของเพจ ‘อาเฌอ’ ที่จะขอเป็นเจ้าถิ่นบอกเล่าเรื่องราวในวันที่ป่าไร้ผู้คน พร้อมฝากภาพถ่ายแทนความห่วงใย จากเหล่าสรรพสัตว์ให้คนเมืองได้หายคิดถึง

Photo Credit : Facebook | อาเฌอ

| เมื่อชีวิตโหยหาธรรมชาติการเดินทางจึงเริ่มต้นอีกครั้ง


บ่ายวันหนึ่งกลางเดือนเมษายนที่แสนจะร้อนอบอ้าว แต่ก็เทียบไม่ได้กับความร้อนรุ่มที่มันสุมอยู่ในใจ เมื่อคนที่หลงใหลการเดินทางอย่างเราต้องติดเเหง็กออกไปไหนไม่ได้ ใช้ชีวิตอยู่แต่ในพื้นที่สี่เหลี่ยมเล็กๆ กับกิจวัตรประจำวันเพียงไม่กี่อย่าง ไม่ว่าจะ กิน นอน ทำงาน เป็นอย่างนี้มาตลอดทั้งเดือน ทำให้เราเบื่อหน่าย จนชีวิตแทบหมดไฟ…


เมื่อออกไปไหนไม่ได้ทางเดียวที่เราสามารถเข้าใกล้ธรรมชาติได้มากที่สุด คือการท่องเที่ยวผ่านโลกออนไลน์  ขับเคลื่อนด้วยเมาส์ เลี้ยวซ้ายแลขวาดูธรรมชาติผ่านภาพถ่ายของคนโน้นที คนนี้ที จนวันหนึ่งเราไปสะดุดตากับโพสต์ของช่างภาพคนหนึ่ง ที่ถ่ายทอดเรื่องราวการโดนกักตัวอยู่ในป่า พร้อมกับเหล่าสิงสาราสัตว์ผ่านเพจเฟซบุ๊กชื่อว่า ‘อาเฌอ’  

Photo Credit : Facebook | อาเฌอ

| ‘อาเฌอ’ ผู้ใช้ภาพถ่ายเชื่อมโยงคนกับธรรมชาติ

ทันทีที่ปลายสายกดรับโทรศัพท์ สิ่งแรกที่เราได้ยินกลับมาไม่ใช่เสียงของพี่เขา แต่เป็นเสียงของนกน้อยใหญ่นานาชนิดเซ็งแซ่ทักทายเข้ามาก่อนที่เราจะเริ่มต้นบทสนทนาเสียอีก


ในที่สุดก็ได้คุยกับ ‘พี่วุธ –  ประสิทธิ์ คำอุด’ นักสื่อความหมายธรรมชาติ ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ และยังเป็นช่างภาพผู้หลงใหลการถ่ายภาพสัตว์ป่าเป็นชีวิตจิตใจ อีกทั้งยังเป็นเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก ‘อาเฌอ’ ที่คอยถ่ายทอดเรื่องราวของสัตว์ป่าผ่านภาพถ่ายมากว่า 15 ปี


ก่อนเริ่มสนทนา สิ่งหนึ่งที่เราอยากรู้คือ คำว่า ‘อาเฌอ’ มีความหมายและที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมฟังดูช่างไพเราะ แต่เรากลับไม่คุ้นหูนัก พี่วุธจึงเล่าให้ฟังว่า ‘อาเฌอ’ เกิดจากการรวมกันของภาษาถิ่น 2 คำ คือคำว่า ‘อา’ ซึ่งจะใช้เรียกนำหน้าคนที่สนิทสนม กับคำว่า ‘เฌอ’ แปลว่าต้นไม้ เมื่อรวมกันแล้วจึงนิยามความหมายได้ว่า คนที่มีความคุ้นเคยกับธรรมชาติ ซึ่งจะสอดคล้องไปกับอาชีพและความหลงใหลส่วนตัวที่เขาทำอยู่ในทุ่งกะมังแห่งนี้

Photo Credit : Facebook | อาเฌอ

| ความสมบูรณ์แบบทางธรรมชาติที่ทุ่งกะมัง

นับมาจนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว ที่พี่วุธทำงานอยู่บนทุ่งหญ้าสีเขียวใจกลางป่าดงดิบผืนใหญ่ ที่กลายเป็นแหล่งชุมนุมของสัตว์ป่าจำนวนมาก เมื่อนึกภาพแล้วลองกวาดสายตาไปรอบๆ พื้นที่แห่งนี้ช่างสมบูรณ์ตามที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมา ยากจะหาที่ใดมาเปรียบได้


…พี่วุธเล่าให้เราฟังด้วยน้ำเสียงที่ตื่นเต้นว่า ทุ่งกะมังแห่งนี้เป็นสถานที่ที่เหล่าช่างภาพสัตว์ป่าหลายๆ คนปรารถนาที่จะมา เพราะด้วยความสวยงามของทุ่งที่มีลักษณะพิเศษคล้ายแอ่งกะละมัง จึงทำให้เมื่อเข้าช่วงฤดูฝน และฤดูหนาว มักจะมีหมอกลอยมาปกคลุมเกือบตลอดฤดู รวมทั้งมีสัตว์ป่าที่มักออกมาหาแหล่งน้ำกิน แทะเล็มหญ้าบริเวณทุ่งเสมอ

Photo Credit : Facebook | อาเฌอ

เมื่อส่วนผสมทุกอย่างลงตัว มีสัตว์ป่าเป็น Subject มีทุ่งหญ้าเป็น Foreground มีหมอกจางๆ เป็น Background  มันจึงทำให้ภาพถ่ายที่ได้ออกมานั้นสมบูรณ์แบบในฉบับที่ไม่ต้องแต่งเติมใดๆ

Photo Credit : Facebook | อาเฌอ

| ในวันที่ป่าไร้ผู้คน

พี่วุธเล่าต่ออีกว่าปัจจุบันทุ่งกะมังแห่งนี้ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาได้เลยแม้แต่คนเดียว สืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ประเทศไทยสถานการณ์ไม่สู้ดีนัก จึงทำให้ทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ ประกาศปิดอุทยานฯ และสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติทั่วประเทศชั่วคราว

เพียงไม่กี่วันก็ทำให้พื้นป่าไร้ผู้คน จะมีก็แต่เจ้าหน้าที่เท่านั้น ทำให้บรรยากาศของสำนักงานเขตฯ และบ้านพักเจ้าหน้าที่ปลอดโปร่ง ถูกล้อมรอบด้วยเกราะกำบังอย่างธรรมชาติ จึงทำให้พี่วุธแทบจะไม่มีความกลัวโรคระบาดอยู่ในหัวเลย เพราะรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในที่ที่ปลอดภัย

“พี่ไม่ค่อยเป็นห่วงคนที่อยู่ข้างในป่าเท่าไรหรอก
ห่วงคนที่อยู่ข้างนอกมากกว่า” 

Photo Credit : Facebook | อาเฌอ


มาดูการกินอยู่ของเจ้าหน้าที่กันบ้าง พี่วุธบอกว่า บ้านพักของเจ้าหน้าที่ทุกหลังจะมีแปลงผักเล็กๆ ปลูกพืชผักสวนครัวไว้กินเอง แต่หากอยากซื้ออะไรเพิ่มเติมจะขับรถออกจากป่า ไปตลาดเล็กๆ ใกล้หมู่บ้าน เพื่อหลีกเลี่ยงสถานที่คนพลุกพล่าน ขณะเดียวกันจะป้องกันตัวเองโดยใส่หน้ากากอนามัย และพกเจลล้างมือ 


เมื่อบ้านไหนอยากลงจากเขตรักษาฯ มาซื้อของจะเข้าไปถามไถ่บ้านข้างๆ หรือคนอื่นๆ ว่าฝากซื้ออะไรหรือเปล่า เพื่อจะซื้อมาทีเดียวไม่ต้องออกไปเสี่ยงกันเยอะๆ “เพียงเท่านี้พวกพี่ก็ไม่อดตาย” แถมปลอดภัยจากโรคระบาดแล้ว เพราะเจ้าหน้าที่ทุกคนไม่มีใครอยากติดโรคร้าย เพราะมันอาจส่งผลไปถึงสัตว์ได้อีกด้วย 

“พวกเราไม่อยากให้เชื้อโรคร้ายมาติดใครในป่า ซึ่งอาจส่งผลกระทบไปถึงสัตว์ป่าที่อยู่ใกล้ชิดกับพวกเราด้วย”

Photo Credit : Facebook | อาเฌอ

| เจ้า (ของ) ป่าที่แท้จริง

มาเที่ยวป่าทั้งทีจะถามไม่ไถ่ถามถึงสัตว์ป่าคงเป็นไปไม่ได้ พี่วุธเล่าด้วยน้ำเสียงที่ดูตื่นเต้นว่า

“เจ้าหน้าที่ทุกคนจะพบเห็นสัตว์ได้ง่าย และใกล้ตัวมากขึ้นกว่าที่เคย  ใกล้สุดคือมาเดินวนเวียนอยู่รอบๆ บ้านพัก”

Photo Credit : Facebook | อาเฌอ

กลายเป็นสัตว์ทั้งหลายคุ้นเคยกับพื้นที่ของตัวเองเป็นอย่างดี มันจะเดินไปทางไหนก็รู้สึกปลอดภัยเสมอ แม้จะอยู่ใกล้กับมนุษย์ก็ตาม โดยปกติแล้วหากมีกลุ่มนักท่องเที่ยวเข้ามา สัตว์เหล่านั้นจะซ่อนตัวอยู่หลังต้นไม้ห่างออกไป แต่เมื่อมีเพียงแค่เจ้าหน้าที่ มันก็อยากออกมาอวดโฉม แทะเล็มหญ้าที่อยู่ละแวกบ้านพักและสำนักงานเขตของเจ้าหน้าที่ เหมือนกำลังจะมาประกาศให้รู้ว่าที่นี่ถิ่นใคร !

Photo Credit : Facebook | อาเฌอ

| เมื่อธรรมชาติจัดการตัวเอง


เมื่อ 10  ปีก่อน ชุดลาดตระเวนออกไปเจอกับซากหมูป่าที่ตายเกลื่อนหลายต่อหลายตัวกระจายอยู่ทั่วป่า โดยที่ซากเหล่านั้นไม่มีร่องรอยการกัดกินจากสัตว์นักล่าใดๆ 


เหตุการณ์ครั้งนั้นถูกสันนิษฐานว่า มาจากโรคระบาดที่เกิดกับหมูป่า เพราะช่วงนั้นจำนวนหมูป่ามีจำนวนมากเกินไปที่ป่าจะรับไหว จึงสร้างโรคระบาดออกมาเพื่อลดจำนวน ซึ่งเป็นกลไกของธรรมชาติที่ใช้ควบคุมตัวเอง

Photo Credit : Facebook | อาเฌอ


คุยกับพี่วุธไปก็รู้สึกร้อนทั้งกายร้อนทั้งใจ เพราะลึกๆ ชีพจรก็เริ่มลงเท้าอยากจะออกไปเที่ยวกอดป่าเต็มแก่ แต่ที่ร้อนกว่านั้น คงจะเป็นอุณหภูมิของกรุงเทพฯ ที่แทบจะทะลุ 40 องศา จนไม่อยากกระดิกตัวไปไหน เราจึงถามพี่วุธว่าอากาศที่โน่นเป็นอย่างไรบ้าง พี่วุธเล่าเจือด้วยเสียงหัวเราะว่า  

“ที่นี่ฝนเพิ่งจะหยุดไปเอง หมอกลงหนาตา อากาศเย็นสบายมากเลย”

Photo Credit : Facebook | อาเฌอ

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เราเชื่อว่าคนเมืองกำลังคิดถึงป่าไม่น้อยไปกว่าเราเลย ช่วงเวลานี้เพจ ‘อาเฌอ’ โพสต์ภาพอะไรออกไป คนมักจะเข้ามาแสดงความคิดเห็นอย่างล้นหลาม ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือเราเอง ที่คงมีความรู้สึกเหมือนใครหลายๆ คนที่คิดถึง และโหยหาธรรมชาติ เราจึงดูภาพถ่ายของอาเฌอเป็นตัวช่วยผ่อนคลายในแต่ละวัน ลดความคิดถึงป่าลงไปได้เปลาะหนึ่ง พี่วุธทิ้งท้ายก่อนวางสายว่า

“จริงๆ แล้วช่วงนี้พี่ถ่ายภาพสัตว์ป่าไว้เยอะมาก แต่เลือกที่จะโพสต์เพียงแค่สองอาทิตย์ต่อหนึ่งอัลบั้ม เพื่อไม่ให้คนเห็นภาพถ่ายแล้วคิดถึงธรรมชาติมากเกินไป จนอดใจไม่ไหว ไม่อยากกักตัวอยู่ที่บ้าน” 

Photo Credit : Facebook | อาเฌอ


พี่วุธย้ำอีกว่า อยากให้อดทนรอวันที่โรคร้ายนี้หมดไปจากประเทศไทย เพราะเชื่อว่าฟ้าหลังฝนย่อมสวยงามเสมอ แล้วคุณจะได้สัมผัสกับธรรมชาติในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน


แล้วพบกันในวันที่ป่าเปิด…

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.