5 สถานที่จากพื้นที่เก่าสู่พื้นที่สาธารณะ - Urban Creature

ห้องสมุดจากโรงอาบน้ำ มิวเซียมและแกลเลอรีจากโรงงาน เหล่านี้คือตัวอย่างการแปรเปลี่ยนสถานที่และฟังก์ชันการใช้งานให้กลับมาสร้างสีสันให้เมืองมากขึ้น

เพราะนอกจากเรื่องความปลอดภัย การปล่อยสถานที่ทิ้งร้างเอาไว้ยังเป็นการเสียพื้นที่ใช้งานไปโดยเปล่าประโยชน์ หลายๆ ประเทศจึงรีโนเวตพื้นที่เดิมให้กลับมาใช้งานใหม่อีกครั้ง เพื่อดึงดูดความสนใจให้ผู้คนมาเยี่ยมชม และสร้างเรื่องราวใหม่ๆ ให้ย่าน

คอลัมน์ Urban’s Pick ขอพาไปดูการฟื้นฟู 5 สถานที่เก่าจาก 5 ประเทศให้เป็นพื้นที่สาธารณะ เพื่อเติมแรงบันดาลใจ สร้างการพบปะ และเป็นแนวทางการขับเคลื่อนเมืองด้วยศิลปวัฒนธรรม

GMBB
Creative Mall จากห้างฯ แฟชั่นค้าส่ง
Kuala Lumpur, Malaysia

พื้นที่เก่า โรงงานเก่า โรงอาบน้ำเก่า พื้นที่สาธารณะ พิพิธภัณฑ์ งานสร้างสรรค์ ศิลปะ Creative Mall กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย

ความสร้างสรรค์และงานศิลปะ เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่มีส่วนช่วยพัฒนาประเทศ ด้วยเหตุนี้ ประเทศมาเลเซียจึงสร้างพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อให้ศิลปินทำกิจกรรมและแบ่งปันไอเดียงานศิลปะกันในย่าน Bukit Bintang ด้วยการเปลี่ยนอาคารเก่าที่เดิมทีคือแหล่งขายส่งสินค้าแฟชั่นให้เป็น Creative Mall

‘GMBB’ ถือได้ว่าเป็นชุมชนสร้างสรรค์ขนาดใหญ่ที่อยากเป็นพื้นที่ทางกายภาพให้เหล่าศิลปินและผู้ที่ชื่นชอบงานสร้างสรรค์ โดยได้แรงบันดาลใจจากพื้นที่ศิลปะที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศอย่าง 798 Art Zone ในปักกิ่ง หรือ PMQ ในฮ่องกง เพื่อให้ GMBB แห่งนี้ได้เป็นส่วนหนึ่งในการปลูกฝังความสามารถของศิลปินท้องถิ่น พัฒนาวัฒนธรรมของมาเลเซีย และพร้อมผลักดันทุกความคิดสร้างสรรค์ให้ไปไกลถึงระดับโลก

ภายในประกอบด้วยพื้นที่จัดแสดง แกลเลอรี ร้านหนังสือ สตูดิโอศิลปะ และร้านอาหารมากมาย ใครที่ชื่นชอบศิลปะและไลฟ์สไตล์ ที่นี่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งจุดที่ไม่ควรพลาดหากมีโอกาสเดินทางไปเมืองกัวลาลัมเปอร์

Not Just Library
ห้องสมุดจากโรงอาบน้ำเก่า
Taipei, Taiwan

พื้นที่เก่า โรงงานเก่า โรงอาบน้ำเก่า พื้นที่สาธารณะ พิพิธภัณฑ์ งานสร้างสรรค์ ศิลปะ ห้องสมุด หนังสือ ไทเป ไต้หวัน

หากใครแวะเวียนไปยัง Songshan Cultural and Creative Park ในไทเป อาจจะเคยสังเกตเห็น ‘Not Just Library’ ห้องสมุดที่ซ่อนตัวอยู่ภายในพื้นที่แห่งนี้ แม้ว่าจะเต็มไปด้วยหนังสือตามแบบที่ห้องสมุดควรจะเป็น แต่องค์ประกอบโดยรวมของพื้นที่ภายในกลับทำให้เรานึกถึง ‘ห้องน้ำ’ ขึ้นมาเสียอย่างนั้น

นั่นเป็นเพราะว่าห้องสมุดแห่งนี้ในอดีตเคยเป็นโรงอาบน้ำอายุกว่า 83 ปี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโรงงานยาสูบที่เป็นพื้นที่ของ Creative Park แห่งนี้ และห้องนี้ก็ใช้เป็นห้องน้ำส่วนกลางสำหรับนายจ้างหญิง

หลังจากถูกปล่อยทิ้งไว้ก็ได้มีการปรับปรุงผ่านการออกแบบโดยสตูดิโอ JC. Architecture & Design ที่ทำให้โรงอาบน้ำเก่ากลายเป็นห้องสมุดที่ยังคงโครงสร้างเดิมแต่อยู่ในรูปลักษณ์ที่เก๋ขึ้น อย่างพื้นกระเบื้องสีขาวที่ยังคงมีร่องรอยการใช้งานเดิม แต่บริเวณโดยรอบกลับเป็นชั้นไม้วางหนังสือและมุมอ่านที่ทันสมัย

หรือแม้แต่อ่างอาบน้ำรูปครึ่งวงกลมก็ยังคงตั้งตระหง่านอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ เพื่อเป็นการรักษาสิ่งที่มีอยู่แต่เดิมในอดีต เพียงแต่เปลี่ยนการใช้งานจากล้างเนื้อล้างตัวมาเป็นพื้นที่วางหนังสือแทน

ไม่เพียงแต่เป็นห้องสมุดเท่านั้น แต่ Not Just Library ยังเป็นพื้นที่พบปะสังสรรค์ จัดงานแสดงขนาดกลาง รวมถึงเวทีเสวนาได้ด้วย

ABC Museum
พิพิธภัณฑ์ศิลปะจากโรงงานเก่า
Madrid, Spain

พื้นที่เก่า โรงงานเก่า โรงอาบน้ำเก่า พื้นที่สาธารณะ พิพิธภัณฑ์ งานสร้างสรรค์ ศิลปะ มาดริด สเปน งานศิลปะ ศูนย์ศิลปะ วัฒนธรรม

ท่ามกลางอาคารเก่าโดยรอบบนถนน Amaniel ในเมืองมาดริด เราจะได้พบกับอาคารที่โดดเด่นออกมาจากบริเวณโดยรอบ ซึ่งเป็นการออกแบบของสถาปนิก Aranguren + Gallegos ในการปรับปรุงสถานที่แห่งนี้ให้เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของเมืองมาดริดและศูนย์ศิลปะระดับนานาชาติอย่าง ‘พิพิธภัณฑ์ ABC’ ศูนย์รวมภาพวาดและภาพประกอบในพื้นที่กว่า 3,000 ตารางเมตร ที่มีผลงานมากกว่า 200,000 ชิ้น

ในอดีตบริเวณนี้เคยเป็นโรงงานเก่ามาก่อน เมื่อไม่ได้ใช้งานจึงมีการปรับปรุงและเปลี่ยนเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง โดยจุดประสงค์ของการปรับปรุงพื้นที่คือ ต้องการทำให้พิพิธภัณฑ์มีชีวิตชีวา เติมพลังสร้างสรรค์ให้ผู้คนผ่านกิจกรรมทางศิลปะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการชั่วคราว การประชุม งานเสวนา รวมไปถึงห้องกระจกไว้จัดกิจกรรมทางเลือก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะปรับปรุงจนได้ภาพลักษณ์ที่ดูมีความทันสมัยมากขึ้นแล้ว แต่การออกแบบก็ยังคงพยายามรักษาลักษณะของอาคารเก่าเอาไว้ ยกตัวอย่าง พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการที่มีการผสมผสานขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมร่วมสมัยกับองค์ประกอบเดิมจากอาคารในอดีต หรือแม้แต่ซุ้มอิฐเก่าที่ยังคงอยู่ตรงอาคารด้านนอก เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเก่าแก่ของประวัติศาสตร์อาคารหลังนี้

การออกแบบนี้ไม่เพียงแต่เป็นการปรับปรุงตัวพื้นที่เท่านั้น แต่ยังสร้างความสวยงามผ่านการให้ความเคารพต่อสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของเมืองที่มีมาก่อนหน้านี้ด้วย

The Nikola Tesla Museum
พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์จากโรงงานกระดาษเก่า
Belgrade, Serbia

พื้นที่เก่า โรงงานเก่า โรงอาบน้ำเก่า พื้นที่สาธารณะ พิพิธภัณฑ์ งานสร้างสรรค์ ศิลปะ วิทยาศาสตร์ โรงงานกระดาษ เบลเกรด เซอร์เบีย

ในปี 2467 ประเทศเซอร์เบียได้เปิดโรงงานกระดาษ Milan Vapa ซึ่งเป็นโรงงานที่ทันสมัยแห่งแรกของประเทศ และหลังจากที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว โรงงานแห่งนี้ก็ถูกทิ้งร้างเอาไว้กว่าหลายสิบปี แต่เนื่องจากเป็นดั่งคุณค่าทางวัฒนธรรมของประเทศ ตัวอาคารจึงได้รับความคุ้มครองด้านอนุสรณ์สถานทางวัฒนธรรม และได้รับทุนสนับสนุนเพื่อฟื้นฟูและปรับปรุงโรงงานแห่งนี้

จากสถานที่ผลิตกระดาษสู่การเป็นพิพิธภัณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการออกแบบจากทีม Zaha Hadid Architects โดยได้แรงบันดาลใจจากงานวิจัยเกี่ยวกับสนามแม่เหล็กและการถ่ายโอนพลังงานไร้สายของนักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบไฟฟ้ากระแสสลับ Nikola Tesla จนได้ออกมาเป็นหลังคาเส้นโค้งรูปไข่ที่แผ่ออกมาจากปล่องไฟเก่าของโรงงาน

พิพิธภัณฑ์นี้จะทำหน้าที่เป็นพิพิธภัณฑ์ Nikola Tesla แห่งใหม่ของเมือง เนื่องจากทำเลปัจจุบันมีขนาดเล็กจนทำให้มีพื้นที่จัดแสดงน้อยเกินไป ซึ่งโครงการนี้จะครอบคลุมพื้นที่กว่า 13,400 ตารางเมตรเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ทีมสถาปนิกยังคงเก็บรักษาองค์ประกอบเดิมของโรงงานบางส่วนเอาไว้ เพื่อรักษาประวัติศาสตร์ของโรงงานเก่าแก่แห่งนี้ เช่น ส่วนหน้าของอาคาร เพดานโค้ง รวมไปถึงปล่องไฟอิฐอันโดดเด่น ส่วนด้านนอกอาคารจะเป็นพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ของเมืองที่ต่อกับริมน้ำเบลเกรด และเชื่อมต่อเครือข่ายขนส่งของเมืองด้วย

Cau Dat Tea Museum
พิพิธภัณฑ์ชาจากโรงงานชาเก่า
Da Lat, Vietnam

พื้นที่เก่า โรงงานเก่า โรงอาบน้ำเก่า พื้นที่สาธารณะ พิพิธภัณฑ์ งานสร้างสรรค์ ศิลปะ โรงงานชา ไร่ชา ชา เวียดนาม ดาลัต

ปิดท้ายกันที่โรงงานชาเก่าแก่ในไร่บนที่ราบสูงของประเทศเวียดนาม ใกล้กับเมืองดาลัต มีชื่อว่า ‘Cầu Đất’ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2472

แม้ไร่ชายังคงดำเนินอยู่ แต่ในส่วนโรงงานนั้นหยุดใช้งานไปแล้ว และถูกปล่อยทิ้งให้ทรุดโทรม ทางสตูดิโอสถาปนิก Bo Design & Construction (BODC) จึงได้เข้ามาออกแบบและฟื้นฟูโครงสร้างเก่าของโรงงานเพื่อนำมาใช้งานใหม่อีกครั้ง ผ่านการปรับพื้นที่ให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เกี่ยวกับชา

สถาปนิกได้ปรับเปลี่ยนโกดังสินค้าให้เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม โดยมีการจัดเรียงฟังก์ชันใหม่ให้เหมาะสม และนำโครงสร้างเก่ากลับมาใช้ซ้ำ นอกจากจะช่วยประหยัดงบประมาณแล้ว ยังถือว่าเป็นการรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เพื่อให้ผู้คนที่เข้ามาเยี่ยมชมได้สัมผัสผ่านตัวโครงสร้างที่ใช้งานมาอย่างยาวนาน

.ภายในพิพิธภัณฑ์ประกอบไปด้วยพื้นที่จัดนิทรรศการ ที่เชื้อเชิญผู้มาเยือนเข้าสู่โลกของชาผ่านเนื้อหาของวัฒนธรรมชา ประวัติของโรงงาน และกระบวนการผลิตชา อีกทั้งยังมีพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะ บาร์ชา คาเฟ่ และร้านอาหารกลางแจ้งอีกด้วย

Sources :
Aranguren + Gallegos | tinyurl.com/5n7j4j4r
ArchDaily | tinyurl.com/3amj6a88, tinyurl.com/4dyvdy53
Arquitectura Viva | tinyurl.com/tz7srjxc
BODC | tinyurl.com/5cj7s64w
DestinAsian | tinyurl.com/39fp9swb
Dezeen | tinyurl.com/2a2664n3
Home Journal | tinyurl.com/y2mpa7jw
ICON | tinyurl.com/5n6fsxyp
JC. Architecture & Design | tinyurl.com/vmpuvtcy
Museo ABC | tinyurl.com/4kaudkkf
Parametric Architecture | tinyurl.com/2tw6dfd9
The Rakyat Post | tinyurl.com/mrxnsh87
The Star | tinyurl.com/2ajays32
World-Architects | tinyurl.com/mvbjux4n
Zaha Hadid Architects | tinyurl.com/sn5bkncs

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.