ส่อง 5 บริษัททำงานจากบ้าน แล้วประสบความสำเร็จ ! - Urban Creature

ถึงแม้ว่าก่อนหน้าสถานการณ์ไวรัสโคโรนาจะปะทุขึ้น ระบบการทำงานที่เรียกว่า ‘Work From Home’ หรือการทำงานจากที่บ้านในประเทศไทย ยังไม่ได้เป็นที่นิยมมากนัก บางองค์กรเลือกที่จะปฏิเสธระบบทำงานจากบ้าน เพราะความไม่พร้อมหลายๆ อย่าง แล้วเลือกใช้การทำงานที่ออฟฟิศแบบที่เราคุ้นเคย แต่ด้วยสถานการณ์ที่บีบบังคับ จึงทำให้หลายๆ องค์กรต้องยอมหันหน้าพึ่ง ‘Work From Home’ เพราะดูเหมือนว่าจะเป็นทางออกที่ได้ผลมากที่สุด

หารู้ไม่ว่า ? บริษัทสตาร์ทอัพในต่างประเทศมีการใช้ระบบ ‘การทำงานจากบ้าน (Work From Home)’ หรือ ‘การทำงานทางไกล (Remote working)’ มาตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวนคนที่ทำงานอยู่บ้านอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์เพิ่มขึ้น 400% นับจากปี ค.ศ. 2010 เพราะหลายบริษัทมองว่าการทำงานจากบ้านจะช่วยให้เหล่าพนักงานเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ และเพิ่มขีดความสามารถได้มากกว่าการอยู่ออฟฟิศ โดยรายงานของ ‘Owl Labs’ ทำวิจัยร่วมกับ ‘Global Workplace Analytics’ เพื่อเก็บผลวิเคราะห์การทำงานจากบ้านในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า พนักงานกว่า 4.7 ล้านคน (คิดเป็น 3.4% ของแรงงาน) ทำงานที่บ้านอย่างน้อย 3-4 วันต่อสัปดาห์ 

โดยกลุ่มที่ทำงานจากบ้านบ่อยมากที่สุดคือกลุ่มต่อไปนี้

  • กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเซิร์ฟเวอร์ 55%
  • กลุ่ม C-suite 46%
  • กลุ่มทำงานอยู่ไกลออฟฟิศ 30%

อีกทั้งยังมีสถิติที่น่าสนใจคือ กว่า 74% ของแบบสำรวจมองว่าถ้าบริษัทมีการ Work From Home จะมีโอกาสออกจากงานน้อยลง ถัดมาคือ 77% มองว่าการทำงานจากบ้าน จะช่วยให้มีประสิทธิภาพของงานเพิ่มขึ้น ทั้งยังโฟกัสกับงานได้ดีกว่า และอีก 53% ระบุว่ามีโอกาสการหยุดงานน้อยกว่า

นอกจากนี้ผลสำรวจยังบอกว่า การทำงานที่บ้านต้องแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์บางอย่างที่ขาดหายไป เช่น บริษัทการลดค่าจ้าง 5-10% หรือไม่มีการชดเชยค่าอินเทอร์เน็ตให้

| DELL

คงไม่มีใครไม่คุ้นเคยกับชื่อของ ‘Dell (เดลล์)’ บริษัทผลิตฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ จากรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่วางขายสินค้าของตัวเองไปทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันพนักงานของเดลล์มีจำนวนมากกว่า 145,000 คน และมีพนักงานทำงานที่บ้าน 26,100 คน (คิดเป็น 18%) โดย ‘Mohammed Chahdi’ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ ระบุว่า เดลล์มีแพลนที่จะให้พนักงานทำงานที่บ้านเพิ่มขึ้น 50% ภายในปี ค.ศ. 2020 ให้ได้

โดย ‘Work From Home’ มีมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2009 ซึ่งมาพร้อมกับโปรแกรมที่มีช่ือว่า ‘Connected Workplace’ ที่เดลล์ตั้งใจผลิตขึ้นมา เพื่อให้พนักงานของเดลล์จากทุกที่ทั่วโลกได้ทดลองทำงานทางไกล หรือทำงานจากบ้านผ่านโปรแกรมนี้โดยเฉพาะ สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือพูดคุยแบบเป็นกันเอง ระหว่างพนักงานกับผู้จัดการทีมที่ไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไรมาก เสมือนเพื่อนร่วมงานมาแชร์เรื่องราวกันมากกว่า ซึ่งหลังจากที่ได้ใช้งานมานานร่วมกว่า 11 ปี ผลลัพธ์กลับดีกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ โดยเดลล์มีเคล็ดลับเล็กๆ นั่นคือ “การที่ทีมผู้บริหารไว้วางใจพนักงานของตัวเองในการจัดระเบียบการทำงาน”

ซึ่งวิธีการที่เวิร์คและชิลได้ในเวลาเดียวกันนี้ แน่นอนว่ามันต้องมาพร้อมกับข้อตกลงบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือจากพนักงานให้มีวินัย และกระตือรือร้นต่อการทำงาน หรือจะเป็นการสื่อสารที่ขอให้พนักงานใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียถ่ายรูปกิจกรรมจากที่บ้าน เพื่ออัปเดตชีวิตในแต่ละวัน

| Hotjar

ถัดมาเป็นบริษัท ‘Hotjar’ ผู้ผลิตเครื่องมือสำหรับวิเคราะห์เว็บไซต์ หรือเรียกว่า ‘Web Analytic Tool’ เพื่อวัดตัวเลขของผู้เข้าชม และวิเคราะห์ความสำเร็จให้กับเจ้าของเว็บไซต์ ซึ่งการทำงานภายในองค์กรของ Hotjar เรียกได้ว่าเป็นการทำงานจากที่บ้าน 100% นับตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้ง โดยทีมผู้บริหารได้วางระบบการทำงานที่บ้านเอาไว้ เพื่อวัดคุณภาพการทำงานของเหล่าพนักงาน ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องทำให้เข้าใจง่ายที่สุด

โดย Hotjar มีข้อตกลงเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างพนักงาน 6 ข้อ คือ

  • ทุกคนในทีมสามารถตรวจสอบได้ว่าแต่ละคนทำงานอะไรบ้างในแต่ละวัน 
  • ไม่มีการนับเวลาทำงาน แต่งานต้องเสร็จตามที่ตั้งเป้าไว้
  • มีการวางโครงสร้างการประชุมการทำงานในแต่ละสัปดาห์
  • ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพร่างกาย และจิตใจเป็นอันดับแรก
  • พบปะสังสรรค์กับทีมจากทั่วโลกปีละ 2 ครั้ง
  • ทุกวันพุธ ห้ามพนักงานคุยเรื่องงาน เน้นเรื่องสัพเพเหระ แบ่งปันความรู้ และทำความรู้จักกับสมาชิกใหม่

.

หลังจากมีการใช้มานานหลายปี เหล่าพนักงานได้ตอบรับไปในแนวทางที่ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอิสระของการทำงาน ไม่ต้องเดินทางทุกวัน อยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ และการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้น Hotjar ก็ยังมีอุปสรรคเล็กๆ ที่เข้ามาท้าทายองค์กรอยู่เสมอ นั่นคือการเชื่อมมิตรภาพระหว่างทีมเป็นไปได้ยาก ทำให้ต้องมีการคิดค้นกิจกรรมฮาเฮขึ้นมา เพื่อนัดเจอกันโดยเฉพาะ หรือการเยี่ยมเยียนพบปะลูกทีมด้วยตัวเองถึงบ้าน

| Buffer

อยากท่องเที่ยวสัก 2-3 สัปดาห์ หรือจะไปปักหลักอยู่ต่างแดนก็ทำได้เลย ! เพราะบริษัท ‘Buffer (บัฟเฟอร์)’ ให้อิสระไม่อั้น แม้หลายคนอาจไม่คุ้นหู แต่บัฟเฟอร์ คือองค์กรที่เชี่ยวชาญการทำงานเรื่อง ‘Social Marketing’ ช่วยสร้างช่องทางโซเชียลมีเดีย และทำการตลาดทางออนไลน์ให้กับแบรนด์ดังหลายๆ แห่ง ไม่ว่าจะเป็น Spotify, Bussiness Insider, The Seattle Times หรือ Microsoft นั่นเอง

บริษัท Buffer ไม่มีออฟฟิศมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 ซึ่งมีพนักงานทั้งหมด 85 คน จาก 15 ประเทศทั่วโลก แต่ระยะการทำงานกว่า 5 ปี บัฟเฟอร์สามารถรวบรวมผู้ใช้งาน (User) ได้มากกว่า 77,000 ราย และทำรายได้เฉลี่ย 20 ล้านเหรียญต่อปี โดยองค์กรได้สร้างข้อตกลงร่วมกัน เพื่อให้โครงสร้างการทำงานที่บ้านแม่นยำมากขึ้น 

  • ต้องใช้ระบบการทำงานผ่าน Slack เป็นหลัก
  • มีการประชุมร่วมกันผ่านแอปพลิเคชั่น Zoom ทุกสัปดาห์
  • พนักงานต้องลิสต์ว่าจะทำอะไรบ้างในแต่ละวัน
  • จัดตารางการทำงาน และวันหยุดได้ตามใจชอบ
  • ยืดหยุ่นเวลาทำงานให้กับพ่อแม่ที่ต้อง Work From Home กับเด็กๆ
  • สร้างปฏิทินรวม เพื่อให้ทีมสามารถดูได้ว่าเวลาไหน ใครทำงานอะไรอยู่

ซึ่งตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ผลลัพธ์ด้านการทำงานจากพนักงานบัฟเฟอร์ ต่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ในเรื่องของการสื่อสารบัฟเฟอร์สารภาพว่ายังสอบตกอยู่ เพราะเมื่อพนักงานขาดการเชื่อมต่อแบบเรียลไทม์ หรือการไม่ได้พูดคุยนอกเหนือจากเรื่องงาน ทำให้ความสนิทชิดเชื้อของคนในทีมลดลง ซึ่งบัฟเฟอร์ยอมรับว่ายังเป็นเรื่องท้าทายขององค์กรอยู่เหมือนกัน

| Automattic

‘Automattic’ เจ้าของ WordPress.com ที่ขึ้นชื่อในเรื่องสนับสนุนการทำงานแบบ Work From Home จนกลายเป็นบริษัทในฝันของใครหลายๆ คน โดยองค์กรเริ่มให้พนักงานทำงานที่บ้าน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 และมีพนักงานเพียง 190 คน กระจายอยู่ 141 เมือง จาก 28 ประเทศทั่วโลก ซึ่งช่วงนั้นพนักงานของบริษัทกว่า 95% เลือกทำงานที่บ้าน และพนักงานอีก 5% เลือกเข้าไปทำงานที่สำนักงานใหญ่ในซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา

ปัจจุบัน Automattic มีพนักงาน 1,800 คน จาก 45 ประเทศ และใช้ระบบการทำงานที่บ้านแบบเต็มรูปแบบ โดยที่บริษัทให้พนักงานเลือกได้เองว่าจะทำงานที่ไหนก็ได้บนโลก ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละคน อีกทั้งยังไม่มีกำหนดเวลาการทำงาน เพราะมีสมาชิกอยู่ทั่วทุกมุมโลก ทำให้เขตเวลาแตกต่างกันออกไป

และองค์กรยังมองว่าการทำงานที่บ้านยังช่วยเฟ้นหาพนักงานเก่งๆ ได้จากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับ Automattic อีกด้วยแถมยังมีสวัสดิการเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการแจกจ่ายเงินที่เหลือจากค่าเช่าออฟฟิศให้กับเหล่าพนักงาน เพื่อปรับปรุงบ้านพักให้พร้อมเป็นที่ทำงาน หรือจะเอาไปเช่า Co-working space รวมไปถึงเป็นค่ากาแฟ เวลาที่เราออกไปนั่งทำงานที่ร้านก็ได้

| Elastic

แน่นอนว่าการทำงานแบบ Work From Home เป็นรูปแบบที่หลายบริษัทไม่กล้าเสี่ยง เพราะยังมีความเชื่อมั่นว่าการทำงานออฟฟิศได้ผลลัพธ์การทำงานที่ดียิ่งกว่า แต่ไม่ใช่กับ ‘Elastic’ ธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการพัฒนาเครื่องมือสำหรับการค้นหา สัญชาติดัตช์ ที่มีพนักงานในเครือมากกว่า 1,600 คน จาก 37 ประเทศ คิดเป็น 40% ของพนักงานทั้งหมด ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำงานจากระยะไกล

โดยระบบการทำงานของ Elastic จะแตกต่างจากธุรกิจอื่นๆ ตรงที่มีการกระจาย ‘Hub’ ไปทั่วทุกมุมโลก ตามโครงสร้างที่ ‘Leah Sutton’ รองประธานฝ่ายทรัพยากรบุคคลขององค์กรได้วางเอาไว้ ซึ่งให้สมาชิกดั้งเดิมที่อยู่มาตั้งแต่รุ่นแรกๆ เป็นผู้ดูแล โดย Leah มองว่าวิธีการนี้จะทำให้องค์กรจ้างบุคลากรที่มีความสามารถได้จากทั่วมุมโลก โดยจะมีการประชุมสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ส่วนแผนก R&D จะประชุมมากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่ออัปเดตงาน

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.