หลายประเทศทั่วโลกเริ่มใช้ ‘สมาร์ตการ์ด’ หรือ ‘บัตรร่วม’ สำหรับระบบขนส่งสาธารณะมานานแล้ว ผู้คนสามารถเดินทางโดยระบบขนส่งมวลชนประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ รถไฟใต้ดิน รถบัส และเรือ ได้เพียงแค่มีบัตรใบเดียว ทำให้คุณภาพชีวิตของคนง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น
แต่การใช้งานสมาร์ตการ์ดไม่ได้หยุดอยู่แค่ขนส่งมวลชนเท่านั้น เพราะในหลายประเทศได้ขยายขอบเขตบริการเพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานของผู้คนมากยิ่งขึ้น นอกจากจะใช้จ่ายค่าเดินทางแล้ว บัตรใบเดียวกันยังสามารถใช้ซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ไปจนถึงจ่ายค่าจอดรถ ค่ายา และค่าบิลต่างๆ ได้ด้วย และประเทศต่างๆ ยังมีแนวโน้มที่จะครอบคลุมวิถีชีวิตของคนเมืองมากยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น สมาร์ตการ์ดในต่างแดนยังล้ำหน้าไปอีกขั้น เพราะในหลายประเทศอย่างฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์ ได้พัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับสมาร์ตการ์ดเพื่อตอบโจทย์ชีวิตของคนยุคดิจิทัล ผู้คนสามารถชำระค่าบริการโดยใช้สมาร์ตโฟนแทนบัตรจริงๆ ได้เลย ไม่ต้องพกบัตรให้ยุ่งยากและล้นกระเป๋าอีกต่อไป
แต่สำหรับประเทศไทย เคยนับไหมว่าแต่ละวันคุณใช้บัตรกี่ใบและใช้ไปกับอะไรบ้าง? กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดตัวบัตรร่วมอย่าง ‘บัตรแมงมุม’ มาตั้งแต่ปี 2008 แต่จนถึงปัจจุบันปี 2021 บัตรใบนี้ก็ยังไม่สามารถเชื่อมโยงการเดินทางทั้งหมดได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้ชาวไทยต้องรอบัตรร่วมในฝันกันต่อไป
Urban Creature จึงอยากพาทุกคนไปดูว่าสมาร์ตการ์ดในแต่ละประเทศเขาขยายขอบเขตการบริการไปถึงไหน และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คนอย่างไรบ้าง
01 | Suica ญี่ปุ่น
สำหรับญี่ปุ่น แต่ละภูมิภาคใช้สมาร์ตการ์ดแตกต่างกัน รวมๆ แล้วญี่ปุ่นมีสมาร์ตการ์ดมากกว่า 40 ประเภททั่วประเทศ แต่บัตรที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายก็คือ ‘Suica’ บัตรเติมเงินที่เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2001 ซึ่งครอบคลุมการใช้งานในพื้นที่ของกรุงโตเกียวและปริมณฑล เมืองเซนได จังหวัดนีงาตะ จังหวัดฮอกไกโด และเกาะคิวชู โดยบัตรใบนี้สามารถใช้จ่ายค่าโดยสารสำหรับรถไฟสาย JR East รถบัส ร้านค้า ตู้ขายของอัตโนมัติ และบริการตู้ล็อกเกอร์รับฝากสัมภาระ
Suica เป็นบัตรที่ได้รับความนิยมในหมู่ชาวญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยว ในปี 2018 บริษัท JR East เปิดเผยว่า มีการออกบัตร Suica แล้วเกือบ 70 ล้านใบ มีธุรกรรมรายวันถึง 6.6 ล้านรายการ และบัตรใบนี้ยังสามารถใช้ได้กับร้านค้ากว่า 476,300 แห่ง
บัตร Suica หาซื้อได้ที่ตู้ขายบัตรในสถานีรถไฟของ JR East หรือที่สถานีรถไฟของสนามบินนาริตะและสนามบินฮาเนดะ ส่วนการเติมเงินก็สามารถเลือกจำนวนเงินได้ มีตั้งแต่ 1,000 – 10,000 เยน (ราว 290 – 2,900 บาท) และมีค่ามัดจำบัตร 500 เยน (ราว 145 บาท) หลังจากนั้นก็จะได้บัตรสีเขียวลายเพนกวินที่พร้อมใช้งานทันที
Suica เป็นบัตรที่ใช้งานง่ายและสะดวกสำหรับคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว เพราะไม่ต้องเสียเวลาซื้อตั๋วใบใหม่เมื่อเปลี่ยนสายรถไฟที่ซับซ้อนของญี่ปุ่น ผู้โดยสารสามารถแตะบัตรเข้า-ออกประตูอัตโนมัติได้เลย เมื่อถึงสถานีปลายทางเครื่องสแกนบัตรจะคำนวณค่าตั๋วรถไฟของเที่ยวนั้นๆ ให้เอง Suica จึงเป็นบัตรที่ช่วยนักเดินทางประหยัดเงินและเวลา อีกทั้งยังช่วยให้การท่องเที่ยวในญี่ปุ่นง่ายขึ้นเยอะ
02 | Tmoney เกาหลีใต้
เกาหลีใต้มี ‘Tmoney’ บัตรเติมเงินลายน่ารักๆ ที่ทำให้การเดินทางของชาวเกาหลีใต้และนักท่องเที่ยวสะดวกแบบไม่สะดุด โดยเกาหลีใต้เปิดตัวบัตร Tmoney ให้ผู้คนใช้งานมาตั้งแต่ปี 2004 แล้ว
Tmoney สามารถใช้จ่ายค่าเดินทางรถไฟใต้ดินเกือบทุกสถานี ใช้แตะขึ้นรถบัสและแท็กซี่ที่รับ Tmoney หรือจะใช้บัตรแทนเงินสดซื้อของตามร้านสะดวกซื้อก็ได้เช่นกัน (ร้านสะดวกซื้อที่รับชำระด้วยบัตร Tmoney ได้แก่ GS25, CU, 7-Eleven, Ministop และ Buy the Way) โดยส่วนใหญ่ร้านที่รับชำระเงินด้วย Tmoney จะมีป้ายติดไว้ รับรองหาง่ายแน่นอน
บัตร Tmoney ครอบคลุมการใช้งานในทั่วกรุงโซลและเมืองอื่นๆ ของเกาหลีใต้ อย่างเช่น เมืองปูซาน เมืองแดกู เมืองอุลซาน เมืองกวางจู เกาะเชจู และอื่นๆ ส่วนราคาต่อใบอยู่ที่ 2,500 – 4,000 วอน (ราว 70 – 110 บาท) มีจำหน่ายทั่วไปตามสถานีรถไฟฟ้าและร้านสะดวกซื้อต่างๆ โดยจะเติมเงินได้ครั้งละ 10,000 วอนขึ้นไป (ราว 280 บาท) เมื่อเติมเงินเสร็จก็สามารถใช้บัตรได้ทันที
บัตร Tmoney จึงเป็นบัตรที่คนเกาหลีใต้และนักท่องเที่ยวนิยมใช้กัน เพราะการใช้งานนั้นง่ายแสนง่าย และยังทำให้การเดินทางและท่องเที่ยวสะดวกมากกว่าเดิมด้วย
03 | Opal ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย
สำหรับจุดหมายปลายทางของคนไทยหลายๆ คนในการไปทำงานและเรียนต่ออย่างเมืองซิดนีย์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ก็มีบัตรชื่อว่า ‘Opal’ สมาร์ตการ์ดสำหรับการเดินทางขนส่งสาธารณะทั่วซิดนีย์และเขตเมืองอื่นๆ ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ หากคุณมีบัตร Opal คุณจะขึ้นได้ทั้งรถไฟ รถไฟฟ้าใต้ดิน รถบัส และเรือข้ามฟากในเขตซิดนีย์ บลูเมาเทนส์ เซ็นทรัลโคสต์ ฮันเตอร์วัลเลย์ อิลลาวาร์รา และเซาเทิร์นไฮแลนด์ส
บัตร Opal มี 4 ประเภทหลักๆ ได้แก่ ‘Adults Opal Card’ สำหรับบุคคลทั่วไปและนักท่องเที่ยว ‘Child/Youth Opal Card’ สำหรับนักเรียนประถมฯ และมัธยมฯ ‘Concession Opal Card’ สำหรับนักเรียนนักศึกษาในเขตภูมิภาค และ ‘Senior/Pensioner Opal Card’ สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่ได้รับบำนาญ (บัตรสำหรับนักเรียน นักศึกษา และผู้สูงอายุ จะมีสิทธิ์ลดหย่อนค่าโดยสาร)
นักเดินทางสามารถซื้อบัตรใบนี้ได้ที่สนามบิน สถานีรถไฟ ร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ และซูเปอร์มาร์เก็ต แต่การออกบัตร Opal นั้นไม่มีค่าธรรมเนียมหรือค่าบัตร แต่กำหนดจำนวนเงินขั้นต่ำที่ต้องเติมในบัตร บัตรผู้ใหญ่ต้องเติมอย่างน้อย 10 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 250 บาท) ส่วนบัตรเด็ก 5 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 125 บาท)
ผู้ถือบัตร Opal ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียน แต่ถ้าลงทะเบียนจะได้สิทธิประโยชน์ต่างๆ อย่างเช่น สามารถอายัดบัตรได้ในกรณีบัตรหาย พร้อมออกบัตรใหม่โดยโอนเงินจากบัตรเดิมมาเติมให้ด้วย ส่วนกรณีที่บัตรเหลือเงินน้อยกว่า 2 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 50 บาท) ระบบจะเติมเงินให้อัตโนมัติโดยหักเงินจากบัญชีที่ผูกไว้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ถือบัตรพร้อมเดินทางตลอดเวลา ไม่ต้องคอยกังวลว่าเงินเหลือเท่าไหร่ นอกจากนั้น บัตรที่ลงทะเบียนยังมีบันทึกการเดินทางอย่างละเอียด ทำให้คุณตรวจสอบประวัติการเดินทางและค่าโดยสารได้ด้วย
04 | Octopus ฮ่องกง
ฮ่องกงมีสมาร์ตการ์ดชื่อว่า ‘Octopus’ บัตรอิเล็กทรอนิกส์ใบเดียวที่ชาวฮ่องกงสามารถใช้เดินทางและซื้อของ โดยไม่ต้องพกเงินสดให้ยุ่งยาก
บัตร Octopus ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ปี 1997 แรกเริ่มชาวฮ่องกงสามารถใช้บัตรใบนี้จ่ายค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะเกือบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ MRT รถราง รถบัสสายต่างๆ เรือเฟอร์รี่ และแท็กซี่ที่รองรับการจ่ายเงินด้วยบัตรใบนี้
ฮ่องกงพัฒนาสมาร์ตการ์ดอย่างต่อเนื่อง จนตอนนี้สามารถใช้ซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด ร้านกาแฟ และตู้ขายของอัตโนมัติ หรือจะใช้จ่ายค่าจอดรถและซื้อตั๋วเข้าสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ (อย่างเช่น โรงหนัง ศูนย์กีฬา ลานสเก็ตน้ำแข็ง และสวนสนุก) ก็ได้ ที่น่าสนใจก็คือ บัตรใบนี้สามารถใช้จ่ายค่ายาในโรงพยาบาลรัฐได้ด้วยนะ
บัตร Octopus ยังเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวด้วย ใครที่อยากไปเยือนฮ่องกงสามารถหาซื้อบัตรใบนี้ได้ไม่ยาก เพราะเมื่อเครื่องบินลงจอดที่สนามบินฮ่องกงก็สามารถซื้อบัตรได้ที่เคาน์เตอร์ Airport Express หรือจะไปซื้อที่ Customer Service Centre ของสถานีรถไฟ MRT สถานีไหนก็ได้ ส่วนบริการขายบัตรที่ร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-Eleven ก็มีเช่นกัน อยากได้บัตรตอนไหนก็สามารถหาซื้อได้ทันทีเลย
บัตร Octopus แบ่งออกเป็นสองประเภทหลักๆ ประเภทแรกคือบัตร ‘แบบเช่า’ (On-loan Octopus) ซึ่งมีค่ามัดจำใบละ 50 ดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 210 บาท) หากใช้เสร็จและนำบัตรมาคืนจะได้เงินมัดจำกลับมา อีกประเภทก็คือบัตร ‘แบบซื้อ’ (Sold Tourist Octopus) ที่มีราคา 39 ดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 165 บาท) ไม่มีค่ามัดจำ
เมื่อได้บัตรก็สามารถเติมเงินได้ที่ตู้ ‘Add Value Machine’ ที่ตั้งอยู่ตามสถานีรถไฟต่างๆ หรือร้านค้านับพันสาขาทั่วฮ่องกง หลังจากนั้นก็เริ่มเที่ยวและช้อปทั่วฮ่องกงได้เลย
05 | EasyCard ไต้หวัน
ส่วนที่เกาะไต้หวันก็มีบัตร ‘EasyCard’ มาตั้งแต่ปี 2002 ชาวไต้หวันและนักท่องเที่ยวสามารถซื้อบัตรเติมเงินใบนี้ได้ที่ตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติที่สถานีรถไฟ MRT และร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-Eleven และ Family Mart ในราคาใบละ 100 ดอลลาร์ไต้หวันใหม่ (ราว 120 บาท) บัตรใบนี้ครอบคลุมการใช้งานหลากหลาย โดยเฉพาะการเดินทางต่างๆ ทั่วเกาะไต้หวัน อย่างเช่น รถไฟใต้ดิน รถไฟความเร็วสูง รถบัส รถประจำทาง และเรือเฟอร์รี่
และตั้งแต่ปี 2010 ไต้หวันได้ขยายขอบเขตการใช้งานของบัตรใบนี้ สำหรับซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ และชำระค่าบริการต่างๆ อย่าง ค่าจอดรถ ค่ารักษาพยาบาล ค่ายืมหนังสือ ค่าบิลต่างๆ ค่าเช่าจักรยาน และค่าตั๋วเข้าสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ (อย่างเช่น สวนสัตว์ สวนสนุก และพิพิธภัณฑ์) โดยตอนนี้มีสถานที่ที่รับชำระเงินด้วยบัตร EasyCard ทั่วเกาะไต้หวันมากกว่า 68,000 แห่งแล้ว
ที่สำคัญบัตร EasyCard สามารถใช้แทนบัตรพนักงาน บัตรนักเรียน และบัตรประชาชนได้ และผู้ใช้งานยังสามารถผูกบัตร EasyCard กับบัตรเดบิตและบัตรเครดิตได้ด้วย แค่มีบัตร EasyCard ใบเดียวก็ไม่ต้องพกบัตรทีละหลายๆ ใบอีกต่อไป
นอกจาก EasyCard จะเป็นบัตรที่เอื้อให้นักท่องเที่ยวทัวร์และช้อปในไต้หวันได้อย่างสะดวกสบายแล้ว ชาวไต้หวันเองยังได้ประโยชน์จากบัตรใบนี้ เพราะ EasyCard ตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวัน และยังช่วยให้ไต้หวันก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดไปอีกขั้นด้วย
06 | EZ-Link สิงคโปร์
เดินทางในสิงคโปร์ได้อย่างอุ่นใจต้องมี ‘EZ-Link’ บัตรสารพัดประโยชน์ที่ใช้ขึ้นรถไฟฟ้า MRT รถบัส แท็กซี่ และใช้แทนเงินสดซื้อของตามร้านค้าและร้านสะดวกซื้อต่างๆ หรือใช้ซื้ออาหารตามศูนย์อาหาร (Hawker Center) ก็ย่อมได้
บัตร EZ-Link มีจำหน่ายตามสถานี MRT ร้านสะดวกซื้อ และตู้ขายของอัตโนมัติทั่วสิงคโปร์ ราคาจะอยู่ที่ใบละ 12 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 295 บาท) ในราคานี้เป็นค่าบัตร 5 ดอลลาร์สิงคโปร์ ส่วนที่เหลือคือเงินให้ใช้อีก 7 ดอลลาร์สิงคโปร์ หากไม่พอก็สามารถเติมเงินทีหลังได้เรื่อยๆ เติมได้มากสุดถึง 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 24,000 บาท) ผู้ถือบัตรสามารถเดินทางและใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องพกเงินสด ตัวบัตรมีอายุ 5 ปี ซื้อครั้งเดียวสามารถใช้งานได้นานเลย
สิงคโปร์ใช้บัตร EZ-Link มานาน 19 ปีแล้ว (ตั้งแต่ปี 2002) ทำให้สิงคโปร์เป็นประเทศแรกๆ ของเอเชียที่ขับเคลื่อนให้ประเทศมุ่งสู่เศรษฐกิจไร้เงินสด ซึ่งบัตรใบนี้ช่วยให้ชาวสิงคโปร์ทุกเพศทุกวัย รวมไปถึงนักท่องเที่ยว สามารถเดินทางและเข้าถึงบริการต่างๆ ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยตั้งแต่ปี 2002 จนถึงปัจจุบัน สิงคโปร์ออกบัตร EZ-Link มามากกว่า 40 ล้านใบแล้ว
และล่าสุดสิงคโปร์ยังได้พัฒนา ‘EZ-Link App’ แอปพลิเคชันในสมาร์ตโฟนที่คุณสามารถใช้แทนบัตรจริงๆ ได้ หมายความว่าคุณจะสามารถทำธุรกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงิน เติมเงิน เช็กยอดคงเหลือ และตรวจสอบการใช้งานของบัตรผ่านสมาร์ตโฟนของคุณได้เลยโดยไม่ต้องพกบัตรอีกต่อไป นับเป็นเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวสิงคโปร์เข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง
07 | SL Access สตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน
‘SL Access’ คือบัตรสำหรับใช้เดินทางในกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ที่เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2008 เป็นบัตรที่สามารถใช้เดินทางในระบบขนส่งสาธารณะทั่วเมือง ได้แก่ รถไฟใต้ดิน รถไฟฟ้า รถไฟชานเมือง รถบัส และเรือเฟอร์รี่ ซึ่งชาวสตอกโฮล์มสามารถใช้บัตรใบนี้เดินทางไปทำงานได้อย่างสะดวกสบาย ส่วนนักท่องเที่ยวก็สามารถทัวร์เมืองได้โดยไม่ต้องวุ่นวาย แค่มี SL Access ใบเดียว ก็สามารถไปถึงจุดหมายปลายทางได้มากกว่า 7,000 แห่ง
สถานที่จำหน่ายบัตร SL Access ก็หาง่ายตามสถานีรถไฟ ร้านสะดวกซื้อที่มีธงสีฟ้าและเครื่องหมาย SL และ SL Customer Service Center ที่สถานีกลางสตอกโฮล์ม บัตรมีราคาใบละ 20 โครนาสวีเดน (ราว 77 บาท) เจ้าของบัตรสามารถเลือกเติมเงินได้ตามการใช้งาน และบัตรใบนี้สามารถใช้งานได้นานถึง 6 ปี หากบัตรหมดอายุก็สามารถต่ออายุได้ทุกเมื่อที่ศูนย์บริการของ SL ในสตอกโฮล์ม
นอกจากนั้น บัตร SL Access ยังมีบัตรประเภท ‘Travel Card’ ที่เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยว และตัวบัตรยังมีระยะเวลาบัตรให้เลือก ตั้งแต่ 24 ชั่วโมงถึง 30 วัน นักเดินทางสามารถซื้อบัตรได้ตามการใช้งานได้เลย (บัตร Travel Card แต่ละประเภทมีราคาไม่เท่ากัน ผู้โดยสารสามารถเดินทางได้ไม่จำกัดภายในระยะเวลาที่ซื้อ)
สำหรับคนยุคดิจิทัลที่ไม่อยากพกบัตรก็สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ‘SL-Journey Planner and Tickets’ หลังจากนั้นคุณก็สามารถซื้อบัตรและเติมเงินผ่านสมาร์ตโฟนได้เลย ซึ่งช่วยให้การเดินทางในสตอกโฮล์มเร็วและง่ายกว่าเดิมไปอีกระดับ ต่อให้ลืมบัตรไว้บ้านก็ยังเดินทางได้
08 | VBB-fahrCard เบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี
กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี คือหนึ่งในเมืองที่มีระบบขนส่งสาธารณะดีที่สุดในโลก เพราะการขนส่งสาธารณะมีประสิทธิภาพ น่าเชื่อถือ คนทั่วไปเข้าถึงได้ และยังสะอาดอีกด้วย นอกจากนั้น ระบบยังถูกออกแบบให้เชื่อมโยงการเดินทางโดยรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน รถราง และรถบัสทั่วเมือง ผู้คนสามารถขึ้นลงหรือเปลี่ยนการเดินทางได้อย่างง่ายดาย
แต่การเดินทางในเบอร์ลินจะสะดวกและง่ายกว่าขึ้นหากมีบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ‘VBB-fahrCard’ แต่บัตรใบนี้ไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไปนะ ผู้ที่ต้องการบัตรต้องสมัครสมาชิกออนไลน์ (ค่าบัตรฟรี ไม่มีค่ามัดจำ) หลังจากนั้นบัตรจะถูกส่งมาทางไปรษณีย์หรือสามารถไปรับบัตรด้วยตัวเองที่ศูนย์บริการลูกค้า เมื่อได้บัตรมาครอบครองก็สามารถเติมเงินและแตะบัตรขึ้นระบบขนส่งมวลชนในเบอร์ลินได้เลย
เบอร์ลินเปิดตัว VBB-fahrCard มาตั้งแต่ปี 2012 ข้อดีของการใช้บัตร VBB-fahrCard ก็คือการใช้งานที่ง่าย สะดวก และปลอดภัย เพราะในกรณีที่ทำบัตรหาย บัตรได้รับความเสียหายหรือถูกขโมย เจ้าของบัตรสามารถแจ้งอายัดบัตรได้ทันที หลังจากนั้นจะได้รับบัตรใบใหม่แทน ยิ่งไปกว่านั้น บัตรอิเล็กทรอนิกส์ตัวนี้ยังมีความคงทนกว่าตั๋วกระดาษทั่วไป โดยบัตรชนิดนี้มีอายุการใช้งานนานถึง 4 ปี
สำหรับคนที่อยากทัวร์เบอร์ลินแบบใกล้ชิด บัตร VBB-fahrCard ยังสามารถใช้เช่าจักรยานที่จุดให้เช่าจักรยานของ ‘DEEZER nextbike’ ทั่วเบอร์ลิน ส่วนคนที่เดินทางด้วยจักรยานส่วนตัวก็สามารถใช้บัตรใบนี้จ่ายค่าจอดจักรยานที่ตู้เก็บจักรยานของ ‘Bike and Ride Box’ ที่สถานีกลางเบอร์ลินได้ด้วย
ทั้งนี้ นอกจากบัตร VBB-fahrCard นักท่องเที่ยวยังมีทางเลือกอื่นๆ สำหรับการเดินทางในเบอร์ลิน ไม่ว่าจะเป็นตั๋วรายวัน รายสัปดาห์ หรือรายปี ยิ่งไปกว่านั้น เบอร์ลินยังมีบัตร ‘WelcomeCard’ ที่มีระยะเวลาให้เลือกตั้งแต่ 48 ชั่วโมงไปจนถึง 6 วัน โดยนักท่องเที่ยวสามารถใช้บัตร WelcomeCard เดินทางในระบบขนส่งสาธารณะกี่ครั้งก็ได้ภายในระยะเวลาของบัตร และใช้เป็นส่วนลดในการเข้าสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในเบอร์ลินได้ด้วย
09 | Oyster ลอนดอน ประเทศอังกฤษ
กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นจุดหมายปลายทางในฝันของบรรดานักท่องเที่ยว ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกเดินทางไปเยือนลอนดอนราว 30 ล้านคน ซึ่งลอนดอนนับเป็นเมืองที่ตอบโจทย์นักเดินทางทั้งหลาย เพราะที่นั่นมีบัตร ‘Oyster’ บัตรโดยสารที่ขอบเขตการใช้งานกว้างมาก ใช้ขึ้นได้ทั้งรถไฟ รถไฟใต้ดิน รถบัส รถราง และเรือ (จริงๆ แล้วนักเดินทางทุกคนควรมีบัตร Oyster เพราะรถบัสในลอนดอนไม่รับเงินสด ผู้โดยสารต้องชำระเงินด้วยบัตร Oyster หรือบัตรแบบไร้สัมผัสที่มีระบบ Contactless Payment เท่านั้น)
Oyster เป็นบัตรที่ครอบคลุมการเดินทางในระบบขนส่งที่กว้างใหญ่ของลอนดอน เฉพาะรถไฟใต้ดิน หรือ ‘Underground’ ก็มีมากถึง 11 สาย ส่วนสถานีรถไฟใต้ดินมีมากถึง 272 สถานี สำหรับจุดเด่นของลอนดอนอย่างเครือข่ายรถบัสสีแดงก็มีกำหนดการให้บริการกว่า 6,800 เที่ยวต่อวัน และมีเส้นทางบริการมากกว่า 700 เส้นทาง ลอนดอนจึงเป็นเมืองที่มีระบบรถโดยสารประจำทางที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป
บัตร Oyster สามารถหาซื้อได้ที่สนามบินทุกแห่งในลอนดอน สถานีรถไฟ สถานีรถไฟใต้ดิน ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว และร้านสะดวกซื้อทั่วเมืองที่มีเครื่องหมาย ‘Oyster Ticket Stop’ โดยบัตร Oyster แบบทั่วไปมีราคาใบละ 5 ปอนด์ (ราว 230 บาท) ซึ่งเป็นค่ามัดจำที่สามารถเอาบัตรไปแลกเงินคืนได้
ชาวลอนดอนและนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เลือกใช้บัตรใบนี้ เพราะราคาต่อเที่ยวถูกกว่าบัตรเที่ยวเดียว (Single Ticket) ส่วนนักเรียนและนักศึกษาก็สามารถทำบัตร ‘18+ Student Oyster Photocard’ ได้ ซึ่งราคาต่อเที่ยวจะถูกลงไปอีก นอกจากนั้น บัตร Oyster ยังมีประเภท ‘แบบเติมเงิน’ (Pay as you go) และ ‘แบบเติมเที่ยว’ (Travelcard) ให้ทุกคนได้เลือกตามการใช้งานด้วย
Oyster จึงเป็นบัตรที่ถูกออกแบบให้ตอบโจทย์การใช้งานของคนทุกกลุ่ม กลายเป็นบัตรคู่ใจของชาวลอนดอนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยนับตั้งแต่ที่กรุงลอนดอนเริ่มใช้บัตร Oyster ในปี 2003 จนถึงปัจจุบัน มีการใช้งานบัตรชนิดนี้ไปแล้วกว่า 86 ล้านใบ
10 | OMNY นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
นครนิวยอร์กขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่มีระบบขนส่งสาธารณะที่ดีที่สุดในสหรัฐอเมริกา และยังเป็นหนึ่งในเมืองที่มีระบบขนส่งมวลชนที่ใหญ่ที่สุดของโลกด้วย ระบบดังกล่าวเป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับในหมู่ชาวนิวยอร์กอย่างมาก เพราะสัดส่วนของชาวนิวยอร์กที่ใช้การขนส่งสาธารณะมีมากกว่า 56% และนิวยอร์กยังมีผู้ใช้งานระบบขนส่งสาธารณะมากกว่า 5 ล้านคนต่อวัน (จำนวนชาวนิวยอร์กและนักท่องเที่ยวในช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด)
ในปี 2019 เมืองนิวยอร์กจึงได้ออกบัตรชื่อว่า ‘OMNY’ เพื่อทำให้การเดินทางในนิวยอร์กทันสมัยและสะดวกยิ่งขึ้น บัตรใบนี้คือสมาร์ตการ์ดที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถชำระเงินแบบไร้สัมผัส (Contactless Payment) ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาในการเดินทางได้มากขึ้น โดยผู้เดินทางสามารถใช้บัตร OMNY เดินทางขึ้นรถไฟใต้ดินและรถบัสทั่วนิวยอร์กได้
ผู้ที่สนใจสามารถซื้อบัตร OMNY ได้ตามสถานีรถไฟและร้านค้าทั่วนิวยอร์ก บัตรมีราคาใบละ 5 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 165 บาท) โดยค่าบัตรแลกคืนเป็นเงินสดไม่ได้ เมื่อได้บัตร ผู้ใช้งานสามารถเติมเงินในบัตรได้เอง และบัตร OMNY จะมีอายุการใช้งานประมาณ 7 ปี นับจากวันที่ซื้อบัตร
นอกจากผู้ใช้งานจะสามารถสแกนบัตร OMNY ที่เครื่องสแกนบัตรของ OMNY (OMNY Readers) ได้แล้ว เครื่องสแกนบัตรยังรองรับการชำระเงินด้วยบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิตแบบไร้สัมผัส และอุปกรณ์อัจฉริยะ อย่างเช่น สมาร์ตโฟนและนาฬิกาอัจฉริยะ ด้วย โดยตอนนี้ทางการได้ติดตั้ง OMNY Readers ไว้ที่สถานีรถไฟใต้ดินทุกสถานีทั่วนิวยอร์กทั้งหมด 472 สถานี และรถบัสทุกคันทั้งหมด 5,800 คันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
มีรายงานระบุว่า บัตร OMNY จะมาแทนที่บัตรรุ่นเก่าอย่าง ‘MetroCard’ ภายในปี 2023 นี้ เพื่อเปลี่ยนการจ่ายค่าเดินทางในนครนิวยอร์กให้เป็นแบบไร้สัมผัสทั้งหมด (บัตร MetroCard เป็นบัตรแถบแม่เหล็กที่ผู้ใช้งานต้องรูดบัตรก่อนผ่านประตู)
Sources :
Daily News | t.ly/Wd33
EasyCard | t.ly/Qg6g
EZ-Link | t.ly/eMVv
JR East | t.ly/qPLk
Octopus | t.ly/OIzD
OMNY | t.ly/3st5
S-Bahn Berlin | t.ly/wHpr
SL | t.ly/A1mD
Tmoney | t.ly/HHma
Transport for London | t.ly/stCI
Transport for NSW | t.ly/twNk
VBB | t.ly/hwUP