ไม่รู้ตั้งแต่เมื่อไหร่นะครับที่ความเป็นเกาหลี ทั้งซีรีส์ อาหาร ศิลปิน เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า จะเป็นอะไรก็ตามแต่ก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตพวกเราอย่างไม่รู้สึกแปลกแยกไปแล้ว ตอนนี้ทั้งคนใกล้ตัว หรือไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็ดูจะผูกพันกับวัฒนธรรมเกาหลีมากขึ้นไปทุกที
ชาวเกาหลีที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทยก็มีไม่น้อยโดยเฉพาะช่วงสุขุมวิทตอนต้น และที่ข้ามไปไม่ได้เด็ดขาดก็คือแถวอโศกนี่แหละ โดยมีโคเรียนทาวน์ยืนหนึ่งเรื่องเกาหลีมาร่วมสามสิบปี แถมในช่วงราวสิบปีนี้ก็มีศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีมาเปิดอีกต่างหาก
คอลัมน์ Neighboroot ขอพาทุกคนไปคุยกับเจ้าของร้านอาหารเกาหลีร้านแรกๆ ในโคเรียนทาวน์ พร้อมพาตะลุยย่านสัมผัสวัฒนธรรมแดนโสมใจกลางกรุงเทพฯ กันดีกว่า ว่าจะมีอะไรให้พวกเราค้นหาอีกบ้าง!
ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว ประเทศไทยยังไม่ได้คุ้นเคยกับวัฒนธรรมเกาหลีมากเท่าไหร่ ไม่ต้องพูดถึงโคเรียนทาวน์ ที่ถ้าพูดชื่อไปก็รับรองได้เลยว่าไม่มีใครร้องอ๋อเหมือนสมัยนี้แน่ๆ
ประวัติโดยย่อคือ ย้อนกลับไปเมื่อปี 2532 โคเรียนทาวน์มีชื่อว่า สุขุมวิทพลาซ่า เพราะตั้งอยู่บริเวณตอนต้นของถนนสุขุมวิท แล้วก็ยังไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับคำว่าเกาหลีเลยแม้แต่น้อย จนกระทั่งชาวเกาหลีที่ย้ายถิ่นฐานมายังประเทศไทยเริ่มเข้ามาเปิดร้านอาหารกันมากหน้าหลายตา และได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนภาครัฐขนานนามให้ว่า โคเรียนทาวน์ เพราะถือว่าที่นี่เป็นแหล่งรวมร้านอาหารเกาหลีที่มากที่สุดของไทย
ว่าแต่เรื่องราวของโคเรียนทาวน์เป็นมายังไง ชาวเกาหลีเข้ามาทำอะไรที่สุขุมวิทตอนต้น เราชวนขับ Swap & Go จาก PTT Station นานาใต้ ที่อยู่ห่างออกไปไม่กี่ร้อยเมตร มาฟังจากปาก Jang Won BBQ ร้านอาหารเกาหลีสูตรต้นตำรับ ซึ่งเป็นร้านแรกๆ ของโคเรียนทาวน์กันดีกว่าครับ
เวลาประมาณสิบโมงเช้า ณ โคเรียนทาวน์ แดดเมืองไทยกำลังทแยงมุมเล่นเป็นแสงเงากับหน้าร้านของ Jang Won BBQ ร้านอาหารเกาหลีที่กินพื้นที่ครบทั้ง 4 ชั้น ของโคเรียนทาวน์ ร้านเดียวกับที่อยู่ในใจของชาวเกาหลี ชาวไทย และผู้คนมากมายมาตลอดเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา
“จะเห็นคุณพ่อของผมนั่งอยู่ข้างล่างใช่ไหมครับ (ยิ้ม) ร้านอาหารของผมเปิดมาตั้งแต่ปี 1992 ครับ จังวอน มาจากภาษาจีนแปลว่า ‘ที่หนึ่ง’ คุณพ่อของผมตอนแรกก็ไม่รู้ว่าจะตั้งชื่อว่าอะไร แต่อยากเป็นที่หนึ่ง ทำธุรกิจอะไรที่เกาหลีก็อยากเป็นที่หนึ่ง ก็เลยมาเลือกชื่อนี้นี่แหละครับ”
คิม ทายาทรุ่นที่สองของร้านจังวอน เริ่มต้นด้วยการทักทายอย่างเป็นกันเอง ก่อนจะเริ่มเล่าประวัติความเป็นมาของร้าน
“ช่วงปีนั้นเศรษฐกิจที่เกาหลีไม่ดีเลย ร้านอาหารและธุรกิจปิดตัวกันเต็มไปหมด ก็เลยต้องหาทางออกด้วยการเดินทางออกไปนอกประเทศ บางคนก็เลือกมาทั้งไทย ลาว หรือเขมร เพราะคิดว่าจะมีโอกาสสำหรับการเริ่มใหม่ เช่นเดียวกับคุณพ่อของผม ที่เดินทางมาเป็นไกด์ทัวร์ที่เมืองไทย
“พอทำได้สักพักก็อยากหารายได้ให้มากกว่าเดิม ก็เลยเปิดร้านอาหาร ก็เลยตัดสินใจพาครอบครัวแล้วก็อาม่ามาด้วย เพราะมั่นใจในฝีมือการทำอาหารของอาม่าที่โด่งดังมากสมัยอยู่ที่เกาหลี เพราะทำอร่อยชนิดที่ว่าญาติหรือใครได้ลองมาชิมก็ชอบฝีมือกันหมด”
ชาวเกาหลีที่เติบโตมาพร้อมกับร้านจังวอนอย่างคิมเล่าให้ฟังว่า ที่เลือกมาเปิดร้านที่สุขุมวิทพลาซ่า ก็เพราะคุณพ่อได้ยินมาว่าแถวนี้มีประชากรเกาหลีเยอะ มีร้านขายเสื้อผ้า ร้านตัดผม ร้านคาราโอเกะ ที่เป็นสไตล์เกาหลี แต่แทบจะไม่มีร้านอาหารเลย
“คุณพ่ออยากขายลูกค้าเกาหลี เพราะอย่างที่ผมบอกว่าช่วงเวลานั้นคนเกาหลีเริ่มเข้ามาในไทยเยอะขึ้นแล้ว ไม่ได้มองลูกค้าคนไทยเป็นหลักเพราะไม่รู้เรื่องคนไทยเลย พูดภาษาไทยก็ไม่เก่ง คนไทยชอบรสชาติแบบไหนก็ไม่รู้ ลูกค้าตอนเปิดร้านช่วงแรก แปดสิบถึงเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ก็เลยเป็นคนเกาหลี”
จอมนางแห่งวังหลวง หรือไอดอลวงไหนบ้างครับที่ช่วยทำให้เรารู้จักเกาหลีมากขึ้น สำหรับผมคงต้องเริ่มจากแดจังกึมนี่แหละที่เข้ามาจุดประกายให้เรารู้จักวัฒนธรรมเอเชียที่นอกเหนือจากญี่ปุ่น จีน หรือไต้หวัน ซึ่งเป็นเต้ยในสมัยนั้น ยิ่งเวลาผ่านมา พอได้ชมซีรีส์ที่เข้ายุคเข้าสมัยมากขึ้น หรือได้รู้จักกับความดีงามและความทรงพลังของวงการเคป็อป วัฒนธรรมหรือจะเรียกง่ายๆ ว่าความเป็นเกาหลี ก็เหมือนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต โดยไม่รู้สึกแปลกอะไรอีกแล้ว
สำหรับโคเรียนทาวน์ แน่นอนว่าได้ประโยชน์จากการเฟื่องฟูของวัฒนธรรมเกาหลีที่เข้ามาเติบโตในบ้านเราไปเต็มๆ
“ผมคิดว่าที่โคเรียนทาวน์ได้รับความนิยมมากขึ้นมาจากเคป็อป พอศิลปินดังคนไทยก็เริ่มสนใจเรื่องเกาหลีมากขึ้น อยากรู้ว่าศิลปินกินอะไร มีไลฟ์สไตล์แบบไหน อยากรู้ว่าไอดอลชอบอะไร พอได้ตามไปดูก็เลยอยากลองทานอาหารดูบ้าง ทุกวันนี้ลูกค้าเทียบสัดส่วนเป็นคนไทยเยอะขึ้นมาก มีสูงถึงห้าสิบเปอร์เซ็นต์แล้ว ยิ่งเป็นช่วงโควิดคนเกาหลีกลับบ้านหมด ก็ขึ้นมาเป็นคนไทยเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์แล้ว”
หรือในช่วงที่ศิลปินเกาหลีมีทัวร์ที่ประเทศไทย คนห่างบ้านห่างเมืองอย่างไรก็ต้องคิดถึงอาหารที่บ้านบ้าง ก็เลยจะมาที่นี่กันเพราะรู้ว่ามีร้านอาหารเกาหลีเยอะ แล้วก็มีชื่อเสียงด้วย อย่างร้านจังวอนก็จะมีเอเจนซีโทรมาจอง ซึ่งมีเหล่าไอดอลมาเยือนแล้วเยอะเหมือนกัน ซึ่งพอศิลปินมาแล้วแฟนคลับก็จะตามมาด้วย
เวลาผมมีโอกาสได้ดูรายการวาไรตี้ของเกาหลีที่เอาบุคคลที่มีชื่อเสียงทั้งนักแสดงหรือศิลปินมานั่งทานข้าว ร่วมวงสังสรรค์กัน ขี่มอเตอร์ไซค์ท่องเที่ยว หรือพามาลองใช้ชีวิตร่วมกัน หนึ่งในนิสัยที่มักจะพบเห็นบ่อยๆ นอกจากความตลกและการยิงมุกกันแบบไม่ค่อยยั้งแล้ว ก็คือความเคารพที่มีให้กันและกัน พอดูแล้วก็รู้สึกว่าพวกเขามีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันจริงๆ
และหากผู้ผลิตคนไหนได้มีโอกาสมาผลิตซีรีส์เรื่อง โคเรียนทาวน์ ชะชะช่า ก็อาจจะพบว่าที่นี่มีความสัมพันธ์กันไม่น้อยกว่าที่เราเห็นในโทรทัศน์เลยแม้แต่น้อย
“ตอนนั้นผมเด็กจำอะไรมากไม่ค่อยได้ แต่คุณพ่อจะเล่าให้ฟังว่า เจ้าของร้านที่สุขุมวิทพลาซ่าเป็นคนไทย คนอินเดีย แต่ตอนนี้เจ้าของร้านในโคเรียนทาวน์แทบจะเป็นคนเกาหลีร้อยเปอร์เซ็นต์เลย แล้วเราก็รู้จักกันหมด ผมเองก็โตมาที่นี่ มีความรู้สึกเหมือนเป็นญาติกัน”
คิมเล่าให้ฟังว่า ตอนที่เศรษฐกิจไม่ดีจนทุกคนต้องย้ายออกมาจากประเทศ คนเกาหลีทุกคนก็เข้าใจกันดีว่าลำบากแค่ไหน ทีนี้พอจังวอนขายดี ก็มีชาวเกาหลีมาปรึกษาคุณพ่อว่าอยากเปิดร้านบ้างก็แนะนำแล้วก็เชียร์เต็มที่ ไม่ได้มีการกีดกันไม่ให้มาเปิดแข่ง
“ถ้าสมมติว่าร้านจังวอนเต็ม หรือลูกค้าอยากทานเมนูที่จังวอนไม่มี ผมก็แนะนำได้เลยว่าร้านไหนอร่อย แล้วไม่ใช่แค่ร้านจังวอนที่ทำ แต่ทุกคนก็ทำแบบนี้เหมือนกันหมด ถ้ามาทานร้านผมแล้วอยากทานเมนูจากร้านอื่นด้วยก็ซื้อมาได้เลย การแข่งขันมีอยู่แล้วนะครับ แต่การแข่งขันทางธุรกิจกับความผูกพันไม่เหมือนกัน เราแยกออกจากกัน
“ตอนนี้เจ้าของร้านทุกคนก็พยายามสู้ สู้ พยายามที่จะไม่ปิดร้าน เพราะเชื่อและรู้ว่าถ้าโควิดหายไปเศรษฐกิจก็จะดีขึ้น และโคเรียนทาวน์ก็จะดีขึ้นอยู่แล้ว ตอนนี้ก็เลยสู้ๆ กันอยู่”
ก่อนหน้าที่ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำจะมีสินค้าที่นำเข้าจากประเทศเกาหลี หรือมีชั้นวางสำหรับสินค้า Made in Korea ก่อนที่ร้านสะดวกซื้อทุกหัวมุมถนนจะมีโคชูจัง กิมจิแพ็กเล็กๆ หรือรามยอนรสเผ็ดวางขาย ต้องบอกว่าการหาซื้อเครื่องปรุง เครื่องใช้ มาประกอบอาหารเกาหลีนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และถ้าย้อนกลับไปสักพักใหญ่ๆ ถ้ามีคนมาถามว่าจะซื้อสินค้าเกาหลีจากที่ไหนได้บ้างในกรุงเทพฯ แน่นอนว่าคำตอบก็คือโคเรียนทาวน์นี่แหละครับ
ซังกิ ซิกพุม เป็นร้านซูเปอร์มาร์เก็ตของสองสามีภรรยาชาวเกาหลีที่เปิดร้านนี้มาพร้อมๆ กับยุคที่แดจังกึมกำลังโด่งดัง และเป็นที่พึ่งยามของชุมชนเกาหลีที่อาศัยอยู่บริเวณสุขุมวิทตอนต้น ที่พอมีโอกาสได้มาทานอาหารที่โคเรียนทาวน์ก็มักจะแวะซื้อเครื่องปรุงกลับไปประกอบอาหารกินเอง หรือถ้าเป็นนักท่องเที่ยว ก่อนจะกลับบ้านอย่างไรก็ต้องแวะมาเดินเล่นกันอยู่เสมอ
บรรยากาศภายในร้านมีความใกล้เคียงกับร้านชำที่พวกเราคุ้นเคยกันมาก มีการแยกโซนชัดเจน มีโซนรามยอน โซนขนมขบเคี้ยว โซนโซจู โซนของสดก็มีอยู่เหมือนกัน มีกลิ่นอายความเป็นเกาหลีแบบดั้งเดิมปนกับร้านขายของชำแบบไทย สินค้าที่ขายภายในร้านก็ไม่ได้มีราคาสูง และถึงร้านจะไม่ได้ใหญ่มากมาย มีพื้นที่ประมาณหนึ่งคูหา แต่ก็มีของให้ช้อปปิงอยู่ไม่น้อย
ในฐานะร้านชำเกาหลีประจำโคเรียนทาวน์ มีสินค้าอยู่ประเภทหนึ่งที่น่าจะถูกใจพ่อครัวมือสมัครเล่นหรือผู้ที่พึ่งหัดทำอาหารไม่น้อย ซังกิ ซิกพุมจะนำซอสเกาหลีหลายประเภทมาแบ่งขายในขวดเล็กๆ พี่พนักงานที่ร้านบอกว่า บางคนไม่อยากซื้อขวดใหญ่ มันเยอะเกินไป พอเอามาแบ่งใส่ขวดก็ขายออกง่ายดีอยู่เหมือนกัน
อีกอย่างหนึ่งที่เป็นไอเทมยอดฮิตก็คือกิมจิที่อยู่ในแพ็กเกจจิ้งสไตล์เอเชียแท้ๆ โดยใช้สูตรของทางร้าน ที่หมักโดยฝีมือคนเกาหลีแท้ๆ ซึ่งผลิตกันอยู่ข้างบนร้านชำนี่แหละ แล้วก็แพ็กลงมาขายข้างล่างเลย
เดินมาข้างๆ กันก็จะถึง ฮันปงอีแอนด์ซี ร้านขายของชำเกาหลีอีกแห่งที่อยู่ติดกัน สินค้าที่วางขายในร้านนี้ก็นำเข้ามาจากเกาหลีเช่นเดียวกัน ให้อารมณ์เหมือนเข้าไปซื้อของฝากตอนไปเที่ยวต่างประเทศ แต่รอบนี้เราเลือกกลับไปฝากท้องมื้อถัดๆ ไปแทน
ฮันปง อีแอนด์ซี มีผู้คนแวะเวียนมาเยี่ยมเยียนตลอดเวลา ยิ่งช่วงเที่ยงของวันธรรมดาหรือวันเสาร์อาทิตย์ก็ยิ่งคึกคักเป็นพิเศษ ทีเด็ดของที่นี่นอกจากมีของให้เลือกเยอะแล้ว ก็ยังมีโซนเนื้อที่นำเข้าจากออสเตรเลีย ใครเป็นสายปิ้งย่างก็ซื้อกลับบ้านไปพร้อมกับกิมจิ ซอสโคชูจัง หรือสาหร่ายไปไว้กินคู่กันได้เลย
เหมือนไปร้านชำที่เกาหลี
ถึงเวลาบอกลาโคเรียนทาวน์แต่เราก็ไม่ได้ไปไหนไกล อยู่ตรงย่านอโศกนี่แหละ ก่อนจะเดินทางไปถึงจุดหมายถัดไปขอแวะกันนิดหนึ่งครับ ต้องบอกว่าถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ชอบใช้งานมอเตอร์ไซค์ และอยากได้ความคล่องตัวในยุคน้ำมันแพงแบบนี้ Swap & Go ก็เป็นทางเลือกที่เข้าท่าไม่น้อย
อย่างแรกคือ น้ำหนักเบาแล้วก็มีขนาดกะทัดรัด สมมติว่าบังเอิญไปเจอคนที่นิสัยไม่น่ารักมาจอดปิดทางเราก็ยกหลบได้ง่ายๆ ไม่เปลืองแรงอะไร อีกอย่างหนึ่งก็คือ ถึงจะคันเล็กแต่ถ้าว่ากันตามกฎหมายแล้ว Swap & Go ก็คือมอเตอร์ไซค์ทั่วไปที่สามารถใช้ขับขี่บนถนนได้ ถ้าพกเอกสาร แล้วใส่หมวกกันน็อกเรียบร้อยก็ไปได้ทุกที่ ยิ่งในย่านอโศกที่อยู่ใจกลางเมืองแบบนี้ลัดเลาะไปได้ง่ายๆ เลย
อีกอย่างหนึ่งที่เรามองว่าสะดวกมากๆ ก็ตรงกับชื่อของเจ้าตัวเลยคือ Swap & Go ได้ทันที ตอนนี้หลายคนที่ไม่กล้าใช้รถไฟฟ้าอาจจะเป็นเพราะกลัวว่าจะเสียเวลาในการชาร์จนานทำให้เดินทางได้ไม่ต่อเนื่อง หรืออาจจะอยู่ที่คอนโดฯ ก็กลัวว่าจะไม่มีที่ชาร์จใช่ไหม
แต่ทั้งสองปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาเลย เพราะ Swap & Go มีสถานีชาร์จทั่วกรุงเทพฯ มากถึง 21 จุด ถ้าว่ากันตามระยะการใช้งานแล้วจะเรียกว่าครอบคลุมทั่วเมืองเลยก็ได้ และเห็นว่าจะมีขยายสถานีเพิ่มเติมอีก ถ้ามอเตอร์ไซค์แบตฯ หมดเมื่อไหร่ก็แค่แวะเข้าไปสถานีชาร์จ สแกน QR Code แล้วก็หยิบแบตฯ ก้อนใหม่เพื่อเดินทางต่อได้เลย สลับแบตฯ ไว ไปได้เร็ว ภายใน 3 นาทีเอง ใช้เวลาน้อยกว่าการจอดรถชาร์จมาก และอาจจะเร็วกว่าการเติมน้ำมันด้วย
ระยะทางห่างกันไม่ไกล ไม่ต้องขับไปเปิดแมปไป เพราะเห็นมาแต่ไกลไม่น่าจะขับเลยไปได้แน่ๆ ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี คืออาคารที่ไม่ต้องบอกก็รู้ได้ด้วยตัวเองเลยว่าต้องมีอะไรเกี่ยวข้องกับเกาหลีเป็นแน่แท้ แถมยังมีชายหนุ่มในชุดทหารเกาหลีโบราณยืนต้อนรับและดูแลรักษาความปลอดภัยให้เรียบร้อย
หลังจากลงทะเบียนแล้วเดินเข้ามาภายในก็จะเจอกับนิทรรศการชุดฮันบกที่กำลังจัดแสดงอยู่ สารภาพตามตรงครับว่าพอเห็นแบบนี้แล้วก็แอบคิดถึงบรรยากาศตอนไปเที่ยวต่างประเทศอยู่เหมือนกัน
พอขึ้นชื่อว่าเป็นศูนย์วัฒนธรรมฯ หลายคนอาจจะคิดว่านอกจากห้องจัดแสดงนิทรรศการที่นี่ก็อาจจะไม่ได้มีอะไรทำเท่าไหร่ใช่ไหมครับ แต่ที่จริงไม่ใช่เลย เพราะแต่ละกิจกรรมของที่นี่ถือว่าดีมากๆ จนเราอยากพาทุกคนมาเยี่ยมชมให้รู้จักกันสักครั้ง
คุณน้ำตาลชาวไทย และคุณเจียชาวเกาหลี สองตัวแทนจาก KCC เล่าย้อนความให้ฟังว่า ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีประจำประเทศไทยอยู่ภายใต้กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวเกาหลี ซึ่งเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2013 และเป็นศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีลำดับที่ 28 ของโลก ซึ่งปัจจุบันมีถึง 33 ที่แล้ว
“กิจกรรมของที่นี่ก็จะเป็นนิทรรศการซึ่งมีการสับเปลี่ยนทุกสองเดือน มีหลายรูปแบบ ทั้งดั้งเดิมหรือร่วมสมัย แล้วก็มีคลาสเรียนที่เต็มเร็วมาก ซึ่งเราไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วม มีทั้งการเรียนภาษาเกาหลี คลาสเรียนเต้นเคป็อป หรือคลาสดนตรีพื้นบ้านเกาหลีก็มีเหมือนกัน”
นอกจากไม่เสียค่าใช้จ่าย การเรียนของที่นี่ก็สอนกันจริงจังนะครับ ทั้งการเต้นหรือการสอนทำอาหารก็เอามืออาชีพเอาเชฟมาสอนกันเลย ยิ่งคลาสเรียนภาษาเกาหลีนี่เราเชื่อว่าได้ประโยชน์จริงๆ แน่ เพราะมีพี่ชายในออฟฟิศ Urban Creature ของเราไปลงเรียนพิสูจน์มาแล้วว่าดีจริง! เพราะเริ่มจากศูนย์จนทุกวันนี้สามารถอ่านภาษาเกาหลีและใช้สนทนาได้แล้ว
สองตัวแทนจาก KCC เล่าให้ฟังว่า ความนิยมในวัฒนธรรมเกาหลีสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซีรีส์ที่มีให้รับชมกันบนสตรีมมิงก็มีส่วนสำคัญให้พวกเราหันมาสนใจความเป็นเกาหลีมากกว่าเดิม
สำหรับใครที่ดูซีรีส์จนหมดทุกสตรีมมิงแล้ว เราอยากชวนมาย้อนอดีตอยู่เหมือนกันครับ ห้องสมุดที่ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีเป็นแหล่งรวบรวมภาพยนตร์ที่เราโตมาด้วยกันไว้ให้ดูแบบถูกลิขสิทธิ์ ใครจำความแสบในเรื่องยัยตัวร้ายกับนายเจี๋ยมเจี้ยม (My Sassy Girl) ได้บ้างครับว่าทำให้ทั้งคนไทยและคนเกาหลีฟินกันขนาดไหน
“ตอนนี้เราวางแผนที่จะพัฒนาห้องสมุดให้มีบริการยืมคืน ใครที่อยากมาใช้งานก็ไม่ได้มีขั้นตอนอะไรมากมาย เพียงแค่เข้ามาแล้วก็ลงทะเบียนด้านหน้าก็เข้ามาใช้งานได้เลย”
อีกสิ่งหนึ่งที่เราชอบเกี่ยวกับศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีคือ พวกเขาไม่ได้แค่เอาของเก่าเอาวัฒนธรรมมาจัดแสดง แต่จัดกิจกรรมแบบที่ช่วยคอนเนกต์คนเข้าหากันได้จริงๆ มีการพาโค้ชเชตำนานโค้ชเทควันโดขวัญใจคนไทยมาร่วมพูดคุย มีการนำเจ้าของร้านอาหารเกาหลีในไทยมาจัดกิจกรรมร่วมกัน หรือในยุค Squid Game ก็จัดการละเล่นพื้นบ้านเกาหลีให้ได้ลองกันอีกต่างหาก
คุณเจียเล่าให้ฟังว่า ชุมชนเกาหลีที่เมืองไทยมีความแข็งแรง หากย้อนกลับไปไม่นานมานี้ เรื่องการท่องเที่ยวก็กำลังเติบโตมาก แค่พอเข้าสู่ยุคโควิดก็หายไปอยู่เหมือนกัน แต่ก็น่าจะกลับมาอีกครั้งในเร็ววันนี้
เดินทางกันมาพักใหญ่ แบตเตอรี่ Swap & Go ยังเหลือเกือบเต็มเทียบๆดูแล้วก็เหมือนมีน้ำมันเกือบเต็มถัง ถือว่าประหยัดพลังงานมากๆ ขับกลับบ้านได้สบายๆ แดดยังไม่ร่มลมยังไม่ตก ก็เท่ากับเวลานี้ยังไม่หมดวัน ข้อดีของการใช้งานมอเตอร์ไซค์ในกรุงเทพฯ คือมีทั้งความสะดวกและความเป็นอิสระนี่แหละครับ
พอเสร็จงานแล้วเราอยากไปแวะที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องซีเรียสกับแผนการเดินทางมากมายนัก เพราะไปที่ไหนก็คล่องตัว แถมจะจอดจะแวะที่ไหนก็ง่ายด้วย แถมแบตเตอรี่ยังวิ่งได้ไกล 50 – 70 กิโลเมตรต่อการสวอพหนึ่งครั้ง ถ้าใช้เดินทางแค่ในเมืองยังไงก็เหลือๆ
สำหรับใครที่อยากลองใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในยุคน้ำมันแพงแบบนี้ ขอชวนไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่เลย www.swapandgo.co/ หรือติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ Facebook page : swapandgo หรือสามารถสอบถามข้อมูลและสิทธิพิเศษได้ที่ Line @ swapandgo