ZILLUSTATION ศิลปินวาดผังเมือง - Urban Creature

หากพูดถึง ‘ผังเมือง’ หลายคนอาจมองเป็นเรื่องจริงจังเข้าถึงยาก เราจึงพาไปท่องโลกศิลปะผังเมืองพร้อมการพูดคุยกับ ‘ชิว-การุญ เจียมวิริยะเสถียร’ ศิลปินเจ้าของเพจ ZILLUSTATION ที่ขีดเขียนจินตนาการวาดเส้นประวัติศาสตร์ผังเมืองจนกลายเป็นผลงาน ด้วยความเชื่อว่าทุกครั้งที่เขาจรดปากกาลงไปบนกระดาษ นั่นจะกลายเป็นการเดินทางครั้งใหม่เสมอ

สถานีที่ชื่อว่า…จุดเริ่มต้น


“ตอนเด็กเรามีความฝันว่าอยากไปเที่ยวหลายๆ ที่ แต่ก็ไม่ค่อยมีโอกาสได้ไป แล้วความรู้สึกอยากเที่ยวมันก็ยังไม่หายไปไหน เลยเปลี่ยนความรู้สึกตรงนั้นออกมาเป็นการวาดภาพแทน แล้วก็เติมแต่งใส่จินตนาการของเราเข้าไปด้วย ให้ภาพวาดที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนเพื่อนสนิทในวัยเด็กที่เราเข้าไปเดินเล่นได้” พี่ชิวเล่าจุดเริ่มต้นของการจรดปากกวาวาดเส้นผังเมืองให้เราฟัง ก่อนบรรยายต่อถึงความสนุกที่มีทุกครั้งเมื่อได้วาดท่ามกลางชิ้นงานมากมายในแกลเลอรีส่วนตัว


“เรามีความสุข สนุกกับมันมาเรื่อยๆ จากการวาดแค่รถไฟก็เริ่มวาดเป็นอะไรที่ใหญ่ขึ้น อย่างการวาดเมืองเล็กๆ บ้านเกิดเราเองที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นแรกเลยก็ว่าได้ ทำให้เราอยากพัฒนาฝีมืต่อก็เลยเลือกเรียนคณะมัณฑนศิลป์ สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร  แต่ตอนเเรกอยากเข้าคณะสถาปัตย์นะ อยากเรียนพวกผังเมือง พอมาลองนั่งคิดดูอีกที เรามั่นใจว่าวาดภาพ perspective ได้แล้ว แต่เราขาดอย่างเดียวคือการสื่อสาร เลยอยากเรียนนิเทศศิลป์เพื่อเสริมตรงนี้ ซึ่งมันก็ได้ผล คืองานที่เราสร้างขึ้นมามีจุดแตกต่างออกไป หมายถึงว่าผังเมืองที่เราวาด ไม่ได้หนักที่ความรู้ทางสถาปัตย์อย่างเดียว แต่เป็นการสร้างภาพที่สื่อออกมาเป็นเรื่องราวให้คนเข้าใจได้ง่ายขึ้น และที่สำคัญยังทำให้ลายเส้นของเราต่างออกไปอีกด้วย”

บันทึกเมืองแบบฉบับ Zillustation


เมื่อรู้ก้าวแรกของการขีดเขียน เรื่องราวต่อไปคือช่วงที่พี่ชิวคิดเปิดเพจเฟซบุ๊ก ‘Zillustation’ เพื่อโชว์ของสะสมฝีมือเขา “จริงๆ ที่เริ่มเปิดเพจนี้ก็อยากเป็นเหมือนพื้นที่เก็บสะสมผลงานของเราเองมากกว่า ซึ่งชื่อ ‘Zillustation’ มันมาจากการรวมคำ 3 คำเข้าด้วยกัน คือชื่อเรา ‘Zil’ แล้วก็ ‘Illustration’ ที่แปลว่าวาดภาพประกอบ กับคำว่า ‘Station’ ที่แปลว่าสถานี ซึ่งก็มาจากความชื่นชอบรถไฟเลยกลายเป็นคำว่า Zillustation (ยิ้ม) ซึ่งเราวางให้ที่นี่เป็นเหมือนสถานี เพราะตั้งแต่เด็ก เราอยากมีสถานีเป็นของตัวเอง ซึ่งเป็นสถานีที่พาคนไปเที่ยวได้ผ่านภาพวาดของเรา หรือบางทีในอนาคตมันอาจจะเป็นบันทึกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์เมืองเลยก็ว่าได้”

จากเมืองใหญ่สู่ผืนกระดาษ


หลังจากพูดคุยกับพี่ชิวไปสักพัก เรามองไปยังบรรยากาศรอบๆ แกลเลอรี Zillustation ที่เพิ่งสร้างเสร็จแบบสดๆ ร้อนๆ และมีผลงานการวาดผังเมืองในหลากหลายสถานที่จัดโชว์อยู่ ขณะเดินดูไปเรื่อยๆ พี่ชิวก็เล่าเรื่องของเมืองนั้น เมืองนี้ให้ฟังแบบเพลินๆ เหมือนเราได้ออกไปเที่ยวด้วยเลยล่ะ ซึ่งแต่ละภาพมีรายละเอียดยิบย่อยที่เรียกได้ว่าต้องใช้แว่นขยายส่องดู จึงนึกสงสัยว่า ‘ต้องวาดกี่วันกี่คืนกันถึงจะได้ขนาดนี้’


“เวลาเหรอ ไม่ได้กำหนดเวลาอะไรนะ งานส่วนใหญ่เราทำไปเรื่อยๆ ตามอารมณ์นอกจากงานลูกค้า (ยิ้ม) ส่วนขนาดของผลงานก็มีหลากหลาย เพราะจะทำแค่ 1:1 ก็ดูไม่ได้ใหญ่มาก เอาลงกระดาษยังไงก็ไม่พอ เลยเลือกที่จะลดทอนออกบ้างแล้วเลือกขยายจุดสำคัญๆ ให้มันชัดเจนขึ้น แต่ที่สำคัญคือพอดูภาพรวมแล้วมันต้องไม่หลอกตาคน และเป็นสเกลที่ไม่ผิดเพี้ยนจากความจริงจนเกินไป


“ซึ่งไอ้เจ้าความละเอียดนี่แหละ ที่เราต้องเอาตัวช่วยอย่างแว่นขยายมาใช้ตอนเก็บพวกรายละเอียด เพื่อไม่ให้เส้นดำกับส่วนที่เราเว้นขาวไว้ทับซ้อนกัน ซึ่งเราเว้นเส้นขาวไว้เล็กมากๆ แต่เป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งในภาพเลยก็ว่าได้ แถมมันจะช่วยเบรกความแน่นของภาพด้วย เพราะว่าถ้าทับกันทุกส่วน จะทำให้ของหรือสถานที่บางอย่างเชื่อมกันไปเลย พอดูแล้วจะรู้สึกอึดอัดไปหน่อย”


แล้วเอกลักษณ์แบบฉบับ Zillustation คืออะไร ?


“ถ้าให้พูดถึงเอกลักษณ์ในการสร้างงานของเรา คงเป็นการบันทึกแผนที่เมืองที่ละเอียดมากๆ ด้วยเทคนิควาดลายเส้น เพราะเป็นเทคนิคที่เก็บรายละเอียดได้ค่อนข้างเยอะ ซึ่งนี่คือความตั้งใจแรกของเราที่อยากจะเก็บข้อมูล พวกบ้านเรือน ตึก สถาปัตยกรรม ถนน ทุกอย่างที่อยู่ในเมือง ณ ตอนนี้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผ่านการศึกษาจาก Google Map ลงไปเดินในพื้นที่จริง ถ่ายรูปสถานที่ต่างๆ เพื่อเก็บไว้ลองดูว่ามันมีรายละเอียดอะไรบ้างที่น่าสนใจ คล้ายกับเราสะสมองค์ประกอบพวกนี้เข้าไปในผลงาน


“หลังจากนั้นค่อยๆ เริ่มร่างเส้นทางถนนแต่ละเส้น ตามด้วยจัดองค์ประกอบต่างๆ ลงไป แปลงภาพตึกให้มันคล้ายๆ รูปไอโซเมตริกมุมสูงหรือ bird eye view จินตนาการเหมือนว่าเราอยู่บนเครื่องบินแล้วมองลงมาเห็นเมือง ซึ่งเราจะร่างดินสอแค่คร่าวๆ ไม่ลงเข้มมากนัก เพราะว่าดินสอจะทำให้กระดาษดำ ดูไม่สะอาด แต่ส่วนใหญ่เราวาดเส้นหมึกซึมสดๆ ไปเลย ซึ่งเป็นส่วนผสมของภาพที่ดูแล้วสวย แล้วก็มีข้อมูลจริงอยู่ด้วย” 


เมืองไหนคือตัวตนที่ใช่ของ Zillustation มากที่สุด เราถามคำถามต่อไปให้พี่ชิวลองคิด เขานิ่งไปสักครู่ก่อนตอบว่า


“อืมมม… ยากเหมือนกันนะ (ยิ้ม) ขอเป็นสุราษฎร์ธานีแล้วกัน เพราะเป็นบ้านเกิด แถมยังเป็นที่ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเรามาตั้งแต่เกิดเลย หรือจะเรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นของตัวตนเราก็ได้ ซึ่งพอนึกย้อนกลับไป โมเมนต์ที่ชอบที่สุดและยังจำมาจนทุกวันนี้คือเวลาที่ได้ขึ้นไปบนดาดฟ้านั่งมองวิวเมืองแล้วนั่งวาดภาพจากตรงนั้นมันดีมากจริงๆ


“ซึ่งความคล้ายกันของตัวเรากับสุราษฎร์ฯ ก็คงเป็นความเรียบง่ายมั้ง มันอาจจะไม่ใช่เมืองตรงๆ หรอก แต่มันคงเป็นสถานีรถไฟมากกว่า เพราะว่าถ้าได้ลองไปเห็นสถานีรถไฟที่สุราษฎร์ฯ จะเห็นเลยว่ามันมีเสน่ห์ของรายละเอียดการตกแต่ง ซึ่งพอดูแล้วให้ความรู้สึกถึงวิถีชีวิตผู้คนที่เรียบง่ายมากๆ”

เราถามเขาต่อว่าถ้าเป็นภาพของกรุงเทพมหานคร เมื่อได้ลองวาดภาพผังเมืองแล้วเห็นเสน่ห์อะไร ?


“เราว่ากรุงเทพฯ มีเสน่ห์ของพวกสถาปัตยกรรม ผู้คน และประวัติศาสตร์ผสมผสานอยู่ด้วยกัน คือทุกอย่างที่พูดถึงถูกรวมอยู่ในเกาะรัตนโกสินทร์หมดเลย ซึ่งพอทั้งหมดมารวมกันแล้ว ทำให้สถานที่หรือเมืองมีเสน่ห์ที่ไม่เหมือนใคร


นั่นก็เป็นที่มาของภาพผังเมืองแรกที่เราเริ่มวาด ถ้าย้อนกลับไปสมัยก่อน เกาะรัตนโกสินทร์เป็นการวางผังเมืองตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เลยนะ แต่พอหลังจากยุคสมัยเปลี่ยน เมืองโตขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีการวางแผน ก็เลยทำให้เส้นถนนต่างๆ แตกกระจายออกไปทุกทิศทุกทางอย่างที่เห็นกัน


“ซึ่งจะต่างกับต่างประเทศสิ้นเชิงเลย เช่น ฝั่งญี่ปุ่นเขาจะตีมาเป็นบล็อกๆ เป็นแพทเทิร์นเหมือนกันหมด ซึ่งบางคนมองว่านี่แหละเสน่ห์ แต่กับบ้านเราก็มีเสน่ห์ไปอีกแบบนะเราว่า เพราะว่าทุกที่ในเมืองไม่มีตรงไหนซ้ำกันเลย (ยิ้ม) คงคล้ายกับหน้าตาของคนแหละ แต่ละคนก็มีเอกลักษณ์ มีตัวตนที่ต่างกันออกไป”


พี่ชิวเริ่มหยิบผลงานออกมาให้ดูทีละชิ้น แล้วอธิบายเรื่องราวรายละเอียดของเมืองไปเรื่อยๆ อย่างอยุธยา อุดรธานี เยาวราช อัมพวา เกาะรัตนโกสินทร์ จากที่เมื่อก่อนอยากรู้แผนที่ก็แค่เปิด Google map แต่ตอนนี้จากภาพจริงถูกจรดปากกาวาดลงบนกระดาษผ่านความคิดสร้างสรรค์ ทำให้การดูแผนที่ของเราครั้งนี้เปลี่ยนไป ด้วยความสงสัยปนอยากรู้ว่าถ้าคนวาดเมืองจะมีเมืองในฝันที่อยากให้เป็นบ้างไหม หลังจากถามคำถามนั้นยังไม่ทันจบดีไปพี่ชิวก็หันไปหยิบภาพเมืองที่คิดขึ้นเองออกมาให้ดูเป็นคำตอบ

วาดภาพสร้างเมืองในฝัน 


อันนี้เป็นเมืองที่เราจินตนาการขึ้นมาเอง มีการขนส่งทางการเกษตร มีโรงงาน โรงสี แล้วก็มีจุดที่ทำผลิตภัณฑ์เพื่อส่งออกไปยังจังหวัดต่างๆ ผ่านทางรถไฟ มีชุมชนคนอยู่อาศัย มันมีทั้งความเป็นเมืองทันสมัย แต่เราก็ยังสามารถปลูกผักทำการเกษตรได้เหมือนกัน คือทุกอย่างอยู่รวมกันได้หมดโดยที่ไม่ยกน้ำหนักไปฝั่งใดฝั่งหนึ่ง เราวางผังเมืองอย่างบาลานซ์ได้


“อีกอย่างเราว่าเรื่องระบบคมนาคมก็สำคัญนะ เช่น ในหลายๆ ที่สถานีรถไฟมีทั้งห้างฯ จุดขนส่งสินค้า ทุกอย่างไปรวมอยู่ใจกลางเมือง ไม่ว่าคนจะเดินทาง หรือขนของไปไหนก็พร้อมที่สถานีได้เลย เพราะเราคิดว่าถ้าทุกคนได้เข้าถึงการเดินทางที่ดี ก็จะส่งต่อคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยเหมือนกัน รถก็จะติดน้อยลง แถมมลพิษก็น้อยลงด้วย นี่แหละเมืองในฝันที่อยากเห็น (ยิ้ม)”


จบการพูดคุยกับพี่ชิว ศิลปินผู้วาดผังเมืองด้วยสองมือ ทำให้เราลองนึกถึงผังเมืองในฝันบ้าง แล้วทุกคนที่อ่านมาถึงตรงนี้ล่ะ

“ถ้าคุณสามารถสร้างเมืองได้ เมืองนั้นจะเป็นแบบไหน อย่าลืมมากระซิบบอกเราบ้างนะ”


Facebook : Zillustation

Writer

Graphic Designer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.