“อนาคตที่อยากเห็น…” ส่งเสียงแห่งความหลากหลายทางเพศให้ดังยิ่งขึ้น ฟังอนาคตที่ LGBTQIA+ อยากเห็นในหัวข้อ ‘Your Pride, Your Future’ ครอบคลุมตั้งแต่อนาคตเมือง กฎหมาย ครอบครัว ความรัก การเหยียดกัน ไปจนถึงการเปิดกว้างทางความคิดที่อยากให้เป็น
เจี๊ยบ-มัจฉา พรอินทร์
ครอบครัวไม่จำเป็นต้องมีพ่อ-แม่-ลูก
มิติครอบครัวในสังคมไทย ถูกปลูกฝังว่าต้องมี พ่อ-แม่-ลูก ซึ่งกรอบที่เชื่อกันว่าถูกกลับสร้างบาดแผลให้กับชีวิตของใครหลายคน รวมถึง เจี๊ยบ-มัจฉา พรอินทร์ ผู้นิยามตัวตนว่าเลสเบี้ยน (Lesbian) เจี๊ยบคือผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ องค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน, ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการหลักสูตร The School Of Feminists : Feminist Theory and Practice, Co-President, International Family Equality Day – IFED, กรรมการ สมาคมผู้หญิง กฎหมายและการพัฒนาแห่งเอเชียแปซิฟิก – APWLD, ผู้ประสานงานประจำประเทศไทย องค์กร V-Day และผู้ที่มีครอบครัวแบบ แม่-แม่-ลูก
“เวลาบอกว่าครอบครัวที่สมบูรณ์ต้องประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูก นี่คืออุดมคติที่ไม่ได้สะท้อนภาพของครอบครัวจริงๆ ในปัจจุบัน เพราะบางครอบครัวอาจมีพ่อ มีแม่เพียงหนึ่งคน หรือมีพ่อสองคน แม่สองคน ไปจนถึงมากกว่านั้น และยังหลงลืมไปว่ามีเด็กจำนวนหนึ่งที่ถูกทอดทิ้งให้เติบโตในสถานสงเคราะห์ ถูกรับไปอุปการะ หรือเติบโตกับญาติพี่น้อง
“อย่างเจี๊ยบเป็นครอบครัวแบบแม่-แม่-ลูก ก็จะถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ได้รับการยอมรับทั้งแง่กฎหมาย และการใช้ชีวิตในสังคม ทำให้ต้องเผชิญกับอันตราย เช่น ประมาณห้าถึงหกปีก่อน มีผู้ชายคนหนึ่งในชุมชนมาเผาทุ่งรอบบ้านถึงหกครั้ง เจี๊ยบเชื่อว่าเพราะเขาเกลียดกลัวที่เรามีความหลากหลายทางเพศ พอไปแจ้งความก็ไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย เจ้าหน้าที่พูดเพียงว่าไม่ได้ส่งผลถึงชีวิต และทรัพย์สิน แต่ว่าจริงๆ มันส่งผลต่อความรู้สึกปลอดภัย จนถึงตอนนี้ก็ไม่สามารถกลับไปอยู่บ้านของตัวเองได้ ต้องออกมาเช่าบ้านอยู่เชียงใหม่ เพียงเพราะว่าเราเป็นครอบครัวที่ไม่ได้อยู่ในกรอบที่สังคมวางไว้”
เจี๊ยบเล่าต่อว่า หากสังคมยังคงไม่ยอมรับในครอบครัวที่มีความหลากหลาย กฎหมายต่างๆ ก็จะไม่ถูกพัฒนา ซึ่งครอบครัวเกี่ยวข้องกับกฎหมายในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นไม่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม จึงถือครองทรัพย์สินร่วมกันไม่ได้ ไม่ได้รับสวัสดิการจากรัฐ เอกชน ไปจนถึงสวัสดิการสังคม ไม่มีความปลอดภัยในการใช้ชีวิต ทั้งแง่ของการรักษาพยาบาล ที่เวลาเกิดอุบัติเหตุหรือต้องได้รับการรักษาเร่งด่วน คู่รักต่างเพศหมออนุโลมให้สามารถเซ็นเอกสารเพื่อรับการรักษาอย่างเร่งด่วนได้ แต่คู่รักหลากหลายทางเพศทำไม่ได้
“ความไม่ปลอดภัยในชีวิตอีกแง่หนึ่งยังหมายถึงความรู้สึกด้วย อย่างลูกสาวเจี๊ยบ จริงๆ แล้วเป็นลูกของน้องชาย คนจะคิดว่าเจี๊ยบรับอุปการะได้ แต่เมื่อสังคมไม่ยอมรับ ครอบครัวเราเลยไม่ยอมรับ ก็อยู่เหมือนเป็นป้า ในทางกฎหมายยังเป็นคนอื่นต่อลูก ก็จะกังวลว่าถ้าลูกเกิดอุบัติเหตุ จะเซ็นเอกสารให้ได้ไหม ลูกอยากกู้เงิน กยศ. เราก็เซ็นให้ไม่ได้ ลูกไม่สามารถทำพาสปอร์ตเพื่อเดินทางไปต่างประเทศได้ เพราะว่าเราไม่ใช่พ่อแม่หรือผู้ปกครอง”
เมื่อถามถึงการตีกรอบของคำว่าผู้ปกครอง และการเลี้ยงลูกที่ดี เจี๊ยบมองว่าต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจว่า หน้าที่ของครอบครัวคืออะไร
“ทั่วไปแล้วครอบครัวมักจะผลิตซ้ำบทบาททางเพศระหว่างหญิง ชาย แล้วทำให้เด็กที่เกิดในครอบครัวไม่ได้รับโอกาสเท่ากัน เช่น ส่งเสริมลูกผู้ชายให้กล้าหาญ เข้มแข็ง ในขณะที่ครอบครัวจำนวนมากเลี้ยงดูลูกสาวให้รับภาระในการดูแลบ้าน ทำความสะอาดบ้าน โตมาต้องแต่งงาน จะเห็นว่าโอกาสของผู้หญิงและผู้ชายไม่เท่ากัน แล้ววิธีคิดแบบนี้ไม่ได้ส่งเสริมลูกที่อาจจะมีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเมื่อลูกไม่ได้อยู่ในกรอบเพศที่สังคมวางไว้ ไม่ว่าด้วยอัตลักษณ์หรือรสนิยม ครอบครัวจำนวนมากมักจะมีการทารุณกรรม หรือละเมิดสิทธิลูกที่เป็น LGBTQIA+
“ดังนั้นสำหรับเจี๊ยบ ครอบครัวต้องเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย สนับสนุน และเลี้ยงดูลูกให้เติบโตไปเป็นคนที่เข้าใจสิทธิตัวเอง และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมในอนาคตสำหรับตัวเขาเอง แต่หน้าที่ครอบครัวทุกวันนี้กลับทำตามแนวคิดของรัฐ แนวคิดทางศาสนา หรือแนวคิดทางเพศ ซึ่งเราจะเห็นว่ามันกดขี่คนที่มีความหลากหลายทางเพศในครอบครัว และผู้ปกครองที่ดี สำหรับเจี๊ยบคือการเคารพและฟังเสียงลูก และต้องเข้าใจเรื่องสิทธิเด็กด้วย”
ในวันข้างหน้า เจี๊ยบจึงอยากเห็นการให้ความหมายและการมองภาพครอบครัวในสังคมไทยเปิดกว้างขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งในแง่การใช้ชีวิต และข้อกฎหมาย
“เจี๊ยบอยากเห็น ภาพของครอบครัวหลากหลายทางเพศในการขับเคลื่อนสังคมไทย เช่น มีสมาคมครอบครัว มีการขับเคลื่อนเครือข่ายครอบครัวเพื่อสร้างความเข้มแข็งในแง่สิทธิมนุษยชน เพื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศเสียที เพราะฉะนั้น เรื่องแรกเลยที่อยากเห็นสังคมไทยเปลี่ยนไปคือ เมื่อพูดถึงครอบครัว ต้องไม่ลืมว่าไม่ได้มีแต่ครอบครัวที่มีพ่อคนเดียวหรือแม่คนเดียวเท่านั้น ยังมีครอบครัวที่อาจจะมีพ่อสองคน สามคน แม่สองคนก็ได้ เจี๊ยบอยากเห็นภาพเหล่านี้เป็นตัวแทนออกมาในสังคม เพื่อที่จะผลักดันให้มิติทางครอบครัวเป็นธรรม
“เจี๊ยบอยากเห็นสื่อให้พื้นที่เราในการส่งเสียงเพื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจมากขึ้น เจี๊ยบจะไม่ถูกเผาหรือคุกคามเลยถ้าสังคมเข้าใจ ลูกไปโรงเรียนก็จะไม่ถูกรังแกเพียงเพราะมีพ่อแม่เป็น LGBTQIA+ และกฎหมายมันก็จะผ่านง่ายๆ ถ้านักการเมือง คนออกกฎหมาย และสังคมเข้าใจ เพราะฉะนั้นการให้พื้นที่สำหรับส่งเสียงก็จะนำไปสู่ความเข้าใจ และความเข้าใจก็จะขับเคลื่อนไปสู่ความเปลี่ยนแปลง เรื่องของการยอมรับและกฎหมายได้ด้วย
“เรื่องสุดท้าย ที่เจี๊ยบอยากเห็นและขอเห็นเร็วๆ นี้ เหมือนที่ไต้หวันและประเทศที่พัฒนาด้านสิทธิมนุษยชนและพัฒนาสังคมแล้วเขาทำกัน คือการอนุญาตให้ LGBTQIA+ สมรสได้อย่างเท่าเทียม โดยใช้กฎหมายเดียวกันกับคู่รักต่างเพศ หรือเราเรียกว่าสมรสเท่าเทียม ไม่ใช่ พ.ร.บ.คู่ชีวิตนะคะ สมรสเท่าเทียมคือการแก้ ป.พ.พ. มาตรา 1448 ที่ระบุไว้ว่า เฉพาะชายหญิงเท่านั้นที่สมรสกันได้ เราต้องการให้แก้ตรงนั้นเป็น ‘บุคคลสามารถสมรสกันได้เพื่อการเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการ และการได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกับคู่รักต่างเพศ’
“และเนื่องในโอกาส Pride Month เจี๊ยบอยากบอกให้สังคมรู้ว่า สังคมไทยไม่ใช่สวรรค์ของ LGBTQIA+ ค่ะ คำคำนี้ไม่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ ไม่มีในกฎหมายใดๆ เพราะฉะนั้น เราจึงถูกรังแกในโรงเรียน ไม่สามารถสมรสเท่าเทียมได้ ไม่สามารถเข้าถึงงานอย่างเท่าเทียม กฎหมายก็ไม่ปกป้องเราอย่างเท่าเทียม เพราะฉะนั้นที่นี่ไม่ใช่สวรรค์ แต่ในทางตรงกันข้าม มันคือพื้นที่ที่เต็มไปด้วยการถูกเลือกปฏิบัติ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนของ LGBTQIA+ อย่างเป็นระบบ เพราะฉะนั้นเราอยากให้สนับสนุนคนในครอบครัวหรือใครก็ตามที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่บังคับเปลี่ยนแปลงรสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ เพื่อพัฒนาสังคมไทยให้น่าอยู่ และอยู่ได้จริงๆ สำหรับ LGBTQIA+ ทุกคน ไม่ใช่แต่ LGBTQIA+ ที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เท่านั้นถึงจะอยู่ในสังคมไทยได้”
ปันปัน-ณัฐดนัย เกิดกรุง
อนาคตเมืองที่อยากให้เป็น
เมืองที่ดีคือเมืองที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของทุกคนในสังคม ทว่าสำหรับเมืองไทย ปันปัน-ณัฐดนัย เกิดกรุง ผู้นิยามตัวตนว่าเกย์ (Gay) กลับมองว่าไม่ได้ตอบโจทย์ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเท่าที่ควร ทั้งเรื่องการใช้ชีวิต การศึกษา ไปจนถึงโอกาสเข้าถึงงาน
“การใช้ชีวิตของ LGBTQIA+ มีองค์ประกอบอื่นๆ ที่จะทำให้เราใช้ชีวิตยากหรือง่ายน้อยเพียงใดด้วย เช่น ชนชั้น ฐานะทางเศรษฐกิจ ฐานะทางสังคม ศาสนา ฯลฯ ซึ่งระดับของการเลือกปฏิบัติก็จะแตกต่างกันไป หรืออย่างการศึกษา มันไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้คนที่เรียนอยู่เข้าใจว่า ในสังคมมันมีความหลากหลาย กลับสอนให้เราพยายามอยู่ในกล่องใดกล่องหนึ่งเท่านั้น นั่นคือกล่องผู้ชายกับกล่องผู้หญิง บุคลากรในสถานศึกษายังพูดเสียดสี ถากถาง หรือด้อยค่านักเรียนที่เป็น LGBT+ ให้เขารู้สึกว่าสิ่งที่เขาเป็นอยู่เป็นสิ่งที่แย่
“ส่วนด้านการทำงาน มันชัดเจนมากๆ ว่าเมืองมันไม่เหมาะกับคนที่เป็น LGBTQIA+ เพราะเขาไม่มีแม้แต่โอกาสที่จะเข้าถึงตำแหน่งงานนั้นๆ ด้วย หรือการจะเข้าสมัครงานก็อาจจะต้องไปฟ้องร้องบริษัทก่อน ส่วนในสังคม เราโดนจำกัดพื้นที่ให้มีตัวตนอยู่ได้แค่บางพื้นที่ เมื่อเขาย้ายไปพื้นที่อื่นๆ ที่คนในสังคมมองว่า LGBTQIA+ ไม่ควรจะมาอยู่ตรงนี้ก็จะถูกกีดกันหรือไม่ได้รับการยอมรับ ซึ่งเรามองว่าที่เมืองมันไม่ตอบโจทย์ เพราะว่ามันขาดการมีส่วนร่วมของทุกคนในสังคมที่จะออกแบบเมืองของตัวเองกลายเป็นแค่คนบางกลุ่มคิดแทนคนกลุ่มอื่นๆ ว่า เมืองจะต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น”
เมื่อฟังคำตอบเราจึงอยากรู้ว่าปันปันคิดอย่างไรกับประโยคที่ว่า ‘เมืองไทยเป็นเมืองสวรรค์ของ LGBTQIA+’ ปันปันตอบกลับมาว่า “พอเห็นประโยคนี้แล้ว เราขอไม่ขึ้นสวรรค์ดีกว่า” เพราะปันปันมองว่า ประเทศไทยไม่มีอะไรที่เป็นมิตรกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศเลย ทั้งในแง่ของกฎหมายหรือสังคม ทั้งยังต้องตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการถูกตีตราจากสังคมว่าเป็นพวกผิดปกติ ต้องได้รับการบำบัด หรือการมีอยู่ของคนหลากหลายทางเพศจะทำให้สังคมต่ำลงเพราะวันๆ คิดแต่เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ ไปจนถึงยังถูกตีตราว่าเป็นผู้แพร่โรคติดต่อ เช่น เชื้อ HIV อีกด้วย มากไปทางกฎหมายที่ไม่สามารถเลือกคำนำหน้าได้ ไม่รองรับการสมรส และไม่ได้รับสวัสดิการสำหรับการใช้ชีวิตอีกหลายด้าน
“ถ้าจะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นอยู่ สิ่งแรกที่ควรจะเปลี่ยนคือรัฐบาล เพราะว่ารัฐบาลชุดนี้แสดงให้เห็นแล้วว่าถ้ายังคงอยู่ต่อไป ปัญหาหลายๆ อย่างจะไม่ถูกแก้ ทั้งยังจะมีเพิ่มขึ้นอีก เพราะวิธีคิดในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของรัฐบาลชุดนี้มองเห็นคนแค่ 2 เพศสภาพ เช่น การออกแบบพื้นที่สาธารณะ และกฎหมายหลายๆ ฉบับที่กำลังจะออกมา แต่ไม่ได้ผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งที่เขาต้องรับผลกระทบจากกฎหมายเหล่านี้
“เราเลยอยากเห็นเมืองที่โอบรับความหลากหลายได้ ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกับความแตกต่างได้โดยไม่ไปจัดลำดับว่าความแตกต่างไหนควรจะได้รับอภิสิทธิ์มากกว่าหรือน้อยกว่า ทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขภายใต้ข้อจำกัดของตัวเอง แล้วก็มีพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนสามารถใช้ร่วมกันได้โดยไม่กีดกันใครออกไปจากพื้นที่นี้
“และในเดือน Pride อยากจะบอกว่า LGBTQIA+ ก็คือคนปกติ เราไม่ได้อยากได้สิทธิพิเศษอะไรไปมากกว่าคนอื่นเลย แค่อยากได้สิทธิที่พื้นฐานมากๆ ที่คนทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มไหนก็แล้วแต่ควรได้รับตั้งแต่แรกอยู่แล้วด้วยซ้ำ แต่ว่าพวกเรากลับถูกละเลยไม่เคยที่จะถูกมองเห็น แล้วก็ได้ยินเสียงของพวกเรา ในโอกาสนี้ก็อยากจะให้คนในสังคมมองเห็นถึงความแตกต่าง และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและไม่มีใครจะต้องถูกเลือกปฏิบัติ หรือได้รับสิ่งแย่ๆ เพียงเพราะแค่เขาเป็น LGBT+ อีกต่อไป”
หงส์–ศิริวรรณ พรอินทร์
ความรักไร้กรอบ
รักคืออะไร คือความเข้าใจ คือความหวังดี คือความเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน แต่ยังคงมีการให้ความหมายว่า รัก คือความรักของชายกับหญิง กรอบแห่งเพศที่จำกัดความรัก และผลักดันให้ความรักรูปแบบอื่นนอกจากรักต่างเพศเป็นเรื่องผิด วันนี้ถึงเวลาแล้วที่กรอบที่สังคมสร้างจะค่อยๆ จางหายเพื่อเปิดพื้นที่ความรักให้กับทุกคน ชวนคุยกับ หงส์-ศิริวรรณ พรอินทร์ อาสาสมัครองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน เด็กหญิงยุวทูตระดับเอเชีย ผู้รับรางวัล Asian Girl Award สาขาสิทธิมนุษยชน โดยองค์กร The Garden of Hope Foundation, Taiwan สมาชิกกลุ่ม เยาวชน ชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Indigenous Youth For Sustainable Development – IY4SD) ซึ่งได้รับรางวัลจากโครงการ Youth Co-Lab/ UNDP ในการประกวดโครงการต้นแบบธุรกิจ ที่เป็นนวัตกรรมทางสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด 19 เกี่ยวกับ ความรักไร้กรอบ ที่หงส์อยากเห็นและอยากให้เป็น
สำหรับหงส์ กรอบรักที่ชายต้องคู่กับหญิงเท่านั้นส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตมากทีเดียว เมื่อหงส์นิยามตัวตนว่าไบเซ็กชวล (Bisexual) มักได้รับคำพูดที่ว่า รักได้สองเพศก็จริง แต่สุดท้ายก็ต้องแต่งงานกับเพศตรงข้ามอยู่ดี
“ในความคิดของหนู ถ้าเราจะแต่งงานกับใครสักคน มันไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเพศตรงข้ามเสมอไป เพราะเรารู้สึกว่าความรักมันไม่จำกัดเพศ และเราไม่ได้คิดว่าเราจะต้องไปทำตามกรอบของสังคมที่ว่าเราเป็นผู้หญิงแล้วต้องแต่งงานกับผู้ชายเพื่อจะมีลูก เพราะถ้าเราเป็นผู้หญิงแล้วรักกับผู้หญิง เราก็สามารถมีลูกได้ถ้ามันมีกฎหมายที่อนุญาตให้เราสมรสเท่าเทียมกันได้ อีกเรื่องด้วยความที่หนูอยู่ในครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ แม่ของหนูเป็นหญิงรักหญิง แล้วการที่แม่ของหนูไม่สามารถสมรสกันได้มันส่งผลกระทบกับหนูที่เป็นลูก คือเราถูกตั้งคำถามจากสังคมและโรงเรียนว่า LGBTQIA+ สามารถมีลูกกันได้จริงเหรอ ไม่ขาดความอบอุ่นเหรอ หนูต้องเผชิญกับคำถามแบบนี้ที่รู้สึกว่าบางทีเราก็สร้างความเข้าใจให้เขาได้ถ้าเขายังไม่รู้ แต่ก็มีหลายครั้งมากที่เป็นคำถามที่ทำให้เรารู้สึกไม่ดีกับตัวเอง
“แล้วในกฎหมายก็ไม่ได้รองรับการเป็นบุตรของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ทำให้เราในฐานะที่เป็นลูกของคนที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ได้รับสิทธิเหมือนลูกคนทั่วไป อย่างเรื่องของการเดินทาง หนูไม่สามารถทำพาสปอร์ตได้ เพราะเจ้าหน้าที่บอกว่าต้องใช้ผู้ปกครองที่ให้กำเนิด ซึ่งผู้ปกครองที่ให้กำเนิดทั้งพ่อและแม่เขาแยกทางกันแล้ว แล้วก็การที่แม่สามารถรับหนูเป็นลูกบุญธรรมได้เพียงคนเดียวทำให้แม่อีกคนหนึ่งไม่ใช่แม่ในทางกฎหมาย เพราะฉะนั้นสิทธิ์ในการเป็นผู้ปกครองร่วมมันไม่มีสำหรับคนที่เป็นเพศเดียวกัน ไปจนถึงการรักษาพยาบาล การเซ็นเอกสารรับรองเกี่ยวกับทางการแพทย์หรือว่าเกี่ยวกับทางราชการ
“กรอบเพศของสังคมเรามันยังสะท้อนว่า ผู้หญิงกับผู้ชายไม่เท่ากันเลย แล้วด้วยผู้หญิงกับผู้ชายไม่เท่ากันอยู่แล้วLGBTQIA+ ที่ไม่ได้อยู่ในกรอบหญิงชาย ก็โดนกดกันเป็นชั้นๆ ผู้ชายอยู่บนสุด ผู้หญิงรองลงมา แล้ว LGBTQIA+ อยู่ใต้สุด”
การจะทลายกรอบความรักในแบบที่สังคมอยากให้เป็นให้ค่อยๆ จางหาย หงส์มองว่า มีอยู่สามส่วนที่ต้องเริ่มทำ หนึ่งคือสถาบันครอบครัว แทนที่จะสอนลูกว่าผู้ชายควรแต่งงานกับผู้หญิง ให้เปลี่ยนเป็นสอนว่า ลูกจะรักใครก็ได้ พ่อแม่ยินดีที่จะโอบรับลูก และลูกจะเป็นอะไรก็ได้ตามใจคิด อย่างไม่ต้องอิงกับประโยคที่ว่า ‘เป็นอะไรก็ได้ แต่ขอให้เป็นคนดี’
สอง สถาบันการศึกษา หงส์มองว่าครูคือส่วนสำคัญ ต้องมีความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน และเรื่องของเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ นอกจากนี้ยังมีนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ และกฎโรงเรียนที่ควรเข้มข้นเรื่องความหลากหลายทางเพศ และสิทธิมนุษยชน เพื่อส่งต่อให้นักเรียนได้ตระหนัก เข้าใจ และไม่กลั่นแกล้ง หรือกดขี่กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ
สาม สถาบันสื่อ หงส์อยากให้การผลิตซ้ำภาพเหมารวมของคนที่มีความหลากหลายทางเพศว่าเป็นอาชญากรบ้าง เป็นตัวตลกบ้างหมดไป เพราะความจริงแล้ว LGBTQIA+ ก็คือคนธรรมดาคนหนึ่ง นอกจากนี้ ยังอยากให้สื่อนำเสนอความหลากหลายทางเพศให้หลากหลายกว่านี้ ที่มีมากกว่าแค่เรื่องสวยงาม ประกวดนางงาม หรือชีวิตรักที่ไม่สมหวัง เพราะสำหรับหงส์ เหล่านั้นคือการสร้างบาดแผลซ้ำๆ ว่าแค่รักก็ทำไม่ได้หรอก ทั้งที่ความจริงเราก็รักกันได้ไม่ต่างจากความรักของคนอื่นๆ
“หนูอยากเห็นความรักที่หลากหลาย ไม่ได้มีแค่รักที่เป็นรักต่างเพศอย่างเดียว รักเพศเดียวกันก็ได้ รักสองเพศก็ได้ หรือว่าจะรักกันสามคนก็ได้ หนูคิดว่ามันเป็นสิทธิ์ที่เราจะเลือกความรักของเราได้ ไม่ได้อยู่ในกรอบว่าคุณจะต้องรักแค่คนนี้ หรือว่าจะต้องรักแค่เพศนี้เท่านั้น
“เรื่องที่สอง หนูอยากเห็นกฎหมายที่คุ้มครองพ่อแม่ที่มีความหลากหลายทางเพศ แล้วอยากเห็นกฎหมายสมรสเท่าเทียม มันสำคัญกับเรามาก เพราะต่อให้เราพยายามทำให้สังคมเห็นแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีกฎหมายเราก็ไม่สามารถมีความสุขได้เหมือนคู่รักต่างเพศ และหนูยังอยากเห็นความรักที่เคารพซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำร้าย หรือกดขี่อีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าจะในฐานะคู่รัก คนในครอบครัว หรือคนในสังคม
“และในโอกาส Pride Month หนูอยากบอกกับสังคมว่า ยังมีเยาวชนที่อยู่ในครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศซึ่งยังไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครองใดๆ จากทางกฎหมาย ทั้งในพื้นที่ของสังคมออนไลน์และออฟไลน์ ยังถูกกลั่นแกล้ง รวมถึงพ่อแม่ที่มีความหลากหลายทางเพศเองก็ยังเข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ เช่น การสมรส การเข้าถึงการรักษาพยาบาล การเข้าถึงเทคโนโลยีการตั้งครรภ์ อีกอย่างที่อยากบอกคือ หนูอยากให้สังคมไทยตอนนี้ยอมรับ LGBTQIA+ เหมือนเป็นคนธรรมดาได้ไหม เพราะเราก็เจ็บปวดที่สังคมไม่ยอมรับเรา แล้วยังสร้างข้อจำกัดให้กับเราว่า จะได้รับการยอมรับก็ต่อเมื่อเป็นคนดี มันทำให้เรารู้สึกว่าไม่ได้รับการยอมรับอย่างแท้จริง”
กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์
กฎหมายแห่งความหลากหลาย
เพราะกฎหมายที่มีไม่ได้คุ้มครองทุกคน ซึ่งบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศคือหนึ่งในกลุ่มคนที่ไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียม การยื่นข้อเสนอ ไปจนถึงการเรียกร้องให้ได้มาซึ่งกฎหมายต่างๆ จึงเกิดขึ้นเรื่อยมา หลายข้อเสนอผ่าน แต่น้อยข้อนักจะถูกอนุมัติ สำหรับ กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้นิยามตัวตนว่าทรานส์เจนเดอร์ (Transgender) คิดเห็นว่า ปัจจัยที่ทำให้หลายข้อเรียกร้องถูกปัดตก เป็นเพราะการมองไม่เห็นประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ
“ปัจจัยสำคัญในความเห็นของกอล์ฟ คือรัฐบาล และข้าราชการระดับสูง ไม่ได้เห็นประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ไม่มีความเข้าใจในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของผู้มีความหลากหลายทางเพศว่าเป็น สิทธิอันพึงมีพึงได้ของมนุษย์คนหนึ่ง และยังคงคิดว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นบุคคลชั้นสอง ชั้นสาม ชั้นสี่ ซึ่งนี่คือผลผลิตของระบบสังคมการศึกษาแบบไทยๆ ที่ยังไม่ยอมเปิดกว้าง ไม่ยอมเปิดใจ ไม่ยอมรับความจริงว่า โลกใบนี้ไม่ควรเอาอวัยวะเพศมาเป็นตัวกำหนดคุณค่าความเป็นมนุษย์เหมือนอย่างที่เป็นอยู่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
“เราเห็นได้ชัดเจนมากในยุคสมัยนี้ที่จะออกกฎหมายอะไรก็มีส่วนเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนผูกขาดเพื่อมีผลประโยชน์ร่วมกัน ดังนั้นวิธีคิดแบบอำนาจนิยม อำนาจรวมศูนย์ไว้กับตัวเองแบบนี้ ย่อมเห็นว่าถ้าอำนาจเป็นของประชาชนโดยสมบูรณ์ อำนาจและผลประโยชน์ของตัวเองย่อมสั่นคลอน จึงไม่แปลกใจถ้ากฎหมายที่เรามองว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนจริงๆ จะไม่ผ่าน
“ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของผู้มีความหลากหลายทางเพศนับตั้งแต่มีรัฐบาลชุดนี้มายังไม่มีกฎหมายผ่านนะคะ ไม่ว่าจะเป็นร่าง พ.ร.บ.เกณฑ์ทหารเพื่อการปฏิรูปกองทัพ ร่าง พ.ร.บ.สวัสดิการสังคมต่างๆ เช่น พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ร.บ.บำนาญถ้วนหน้า และส่วนที่กอล์ฟและพรรคก้าวไกลผลักดัน คือ ร่างแก้ไขกฎหมาย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 1448 สมรสเท่าเทียมค่ะ ซึ่งผ่านขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนแล้ว กำลังเข้าคิวรอพิจารณาประชุมสภาผู้แทนราษฎรอยู่ค่ะ แต่ถ้านับจากปี 2558 ก็มี พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ ซึ่งนั่นก็ตั้งแต่สมัย สนช.”
ไม่มีอะไรผ่าน และเป็นไปได้จริง แต่หากเป็นไปได้ กฎหมายแรกที่กอล์ฟอยากให้เกิดขึ้น คือ สมรสเท่าเทียม เพราะนี่คือใบเบิกทางที่จะส่งเสริมการใช้ชีวิตของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีมากยิ่งขึ้น
“เพราะการใช้ชีวิตของผู้มีความหลากหลายทางเพศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันต่างถูกกดทับด้วยอคติทางเพศจากระบบการปกครองที่นิยมชายเป็นใหญ่ อนุรักษ์อำนาจนิยม ความรู้การแพทย์ ระบบการศึกษา ความเชื่อทางศาสนา และกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่เลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันและส่งผลกับกฎหมายอื่นๆ มากมาย คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 1448 ระบุให้ผู้ที่มีสิทธิในการจดทะเบียนสมรสและได้สิทธิต่างๆ ในฐานะคู่สมรสต้องเป็น ชาย-หญิง เท่านั้น
“นั่นเท่ากับฆ่าตัดตอนความฝันและโกงความเป็นมนุษย์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศมาอย่างยาวนาน ถ้าเราแก้ได้ เป็น บุคคลไม่ว่าจะเพศกำเนิดอะไร รสนิยมทางเพศแบบไหนก็สามารถจดทะเบียนสมรสและได้สิทธิทุกอย่างตามกฎหมายในฐานะคู่สมรสได้ ก็จะทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศใช้ชีวิตได้อย่างดี มีความสุข และสามารถใช้ศักยภาพของตนเองในการมีอาชีพที่หลากหลาย มีการเติบโตในหน้าที่ตามสายงานอาชีพ และกล้าที่จะมีความฝัน ย่อมส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยเพิ่มมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอนค่ะ”
หากเจาะไปด้านสวัสดิการของ Transgender ที่บางประเทศจัดให้เป็นสวัสดิการ ‘ฟรี’ ทั้งการผ่าตัด ฉีดฮอร์โมน รวมไปถึงการให้สิทธิ์เด็กเลือกคำนำหน้าได้เองตั้งแต่อายุ 18 ซึ่งสำหรับประเทศไทย กอล์ฟมองว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคตอันใกล้ ถ้าทุกคนในสังคมไทยช่วยเป็นกระบอกเสียงตะโกนให้ผู้มีอำนาจได้ยิน
“ถ้าพวกเราทุกคนทั้งสังคมไทย ไม่ใช่เฉพาะผู้มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้นนะคะ พวกเราต้องช่วยกันเป็นกระบอกเสียงตะโกนให้สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา คณะรัฐมนตรี รัฐบาลได้ยินเสียงของประชาชนคนไทยว่าต้องการผ่านร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 1448 สมรสเท่าเทียม เพื่อให้สิทธิตามกฎหมายต่างๆ ตามมาค่ะ กอล์ฟเข้ามาทำงานการเมืองเพราะมีความหวังค่ะ หวังว่าเมื่อเข้าไปยืนในสภาเพื่อเป็นตัวแทนของผู้มีความหลากหลายทางเพศแล้ว จะต้องเกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ถึงแม้ว่าตอนนี้จะหลุดออกมาจากสภาแล้ว แต่กอล์ฟเชื่อว่า ประตูแห่งความเท่าเทียมมันเปิดขึ้นแล้วจะไม่มีวันปิดค่ะ
“และแน่นอนว่ากลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศต้องมีส่วนร่วมในการอนุมัติกฎหมายต่างๆ เพราะเราคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับกฎหมาย ซึ่งปกติตามขั้นตอนต่างๆ จะมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอยู่แล้ว และในการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมในครั้งนี้ เรายังมี ส.ส. ผู้มีความหลากหลายทางเพศอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรที่พร้อมจะลุกขึ้นอภิปรายประเด็นรายละเอียดต่างๆ ของร่างแก้ไขกฎหมาย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่ยังไม่พอค่ะ ภาคประชาชนทั่วไปก็ต้องร่วมด้วยช่วยกันรณรงค์ด้วยเพื่อให้ทุกคนในประเทศได้ยินเสียง ได้รับรู้ถึงความสำคัญของกฎหมายนี้ที่จะกระทบถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของทุกคนด้วย แต่อย่างไรก็ตามกอล์ฟมองว่า ผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วยกันเองนี่แหละค่ะที่สำคัญ ยังมีคนติดกรอบอคติทางเพศที่กดทับตัวเองมานานเกินไป จนไม่เชื่อว่าตัวเองมีสิทธิ์ที่จะลุกขึ้นมาถามหาสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ตัวเองควรได้
“กะเทยที่คิดว่า “ได้แค่นี้ก็ดีแล้ว” ต้องหยุดคิดแบบนี้นะคะ ท่องเอาไว้ค่ะ เราเป็นคนเท่ากับคนอื่น เราต้องมีสิทธิขั้นพื้นฐานเท่ากับคนอื่นเช่นเดียวกันค่ะ
“สุดท้ายเนื่องใน Pride Month จริงๆ กอล์ฟไม่อยากให้มี Pride Month ไม่อยากให้มีความเป็น หญิง ชาย ไม่อยากให้มีผู้มีความหลากหลายทางเพศ อยากให้โลกนี้มีแต่ มนุษย์ ที่ไม่เอาอวัยวะเพศมาเป็นตัวกำหนดบทบาท และคุณค่าของมนุษย์ค่ะ”
Summerfolk
เมื่อไหร่จะเลิกเหยียดในเหยียด
มากกว่าเหยียดจากคนอื่น ภายในกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศยังมีมุมของการแบ่งชนชั้น หรือมี Privilege กันภายใน ซึ่งคุณ Summerfolk ผู้นิยามตัวตนว่าเควียร์ (Queer) ให้เหตุผลว่า ที่ยังมีการเหยียดกันเองอยู่ คงเพราะคนคนนั้นอยากสร้างคุณค่าให้ตัวเองมากขึ้น
“เขาอาจจะอยากให้สังคมยอมรับมากขึ้นโดยการเหยียดกลุ่มเพศทางเลือกด้วยกันเอง ทำให้ตัวเองรู้สึกมีคุณค่ามากขึ้นภายในสังคมที่ไม่ยอมรับแห่งนี้ ซึ่งสิ่งที่เหยียดกัน มีตั้งแต่การใช้คำว่า ‘ตลาดล่าง’ ‘บ้านนอก’ ‘ดำจัง’ ‘อ้วนขึ้น’ เพื่อยกระดับคุณค่าตัวเองโดยที่ไม่แคร์ความรู้สึกคนอื่น”
เมื่อถามว่าหากอยากแก้ไขให้การเหยียดและการแบ่งชนชั้นกันเองหมดไป Summerfolk มองว่าน่าจะต้องแก้ไขที่ระบบการศึกษาไทย ซึ่งต้องสอนให้เรียนรู้ถึงความแตกต่าง ทั้งเพศ ฐานะ ความชื่นชอบ เพื่อเข้าใจความเป็นมนุษย์มากขึ้น
“ในอนาคต เราอยากเห็นสังคมที่ทุกคนเข้าใจกัน ปฏิบัติต่อกันเหมือนคนคนหนึ่ง ไม่ใช่คนผิดเพศ คนป่วย ซึ่งเราโชคดีที่สังคมรอบข้างปฏิบัติต่อเราดีมาก เลยอยากให้ทุกคนที่ประสบปัญหาอยู่ในตอนนี้เจอสังคมใหม่ที่ดี ซึ่งในปัจจุบันหลายองค์กร หลายครอบครัวเริ่มเปิดใจกันมากขึ้นกว่าเดิมแล้ว
“และเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลอง Pride Month อยากบอกกับสังคมว่า จงเป็นตัวของตัวเอง แล้วจะพบความสุขค่ะ :)”
Parkers
ความคิดของผู้คนที่เปิดกว้าง
เรื่องการยอมรับความหลากหลายทางเพศถูกถามถึงกันหลายต่อหลายครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จวบจนปี 2021 ในมุมมองของ Parkers ผู้นิยามตัวตนว่า Aromantic Asexual Trans Masculine คิดว่าการยอมรับมีมากขึ้น แต่ลึกๆ เป็นการยอมรับแบบจำใจมากกว่าจริงใจ
“จริงๆ ต้องบอกว่าเรื่องการยอมรับความหลากหลายทางเพศในไทยนั้นยอมรับกันมากขึ้น และได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็หวังว่ามันจะมากขึ้นต่อๆ ไป แต่เราคิดว่ามันเป็นการยอมรับที่ค่อนข้างจำใจยอมรับมากกว่า อาจจะเป็นเพราะความหลากหลายทางเพศเริ่มไม่ใช่เรื่องใหม่มากขนาดนั้นแล้ว เรามีโอกาสเดินเจอคนที่มีความหลากหลายทางเพศได้ง่ายขึ้น อย่างบางทีไปโรงเรียน ไปมหาวิทยาลัยก็เจอตั้งไม่รู้กี่คน พอมีคนแสดงออกว่าตัวเองเป็นอะไรได้อย่างเปิดเผยมากขึ้น สังคมก็เริ่มเห็นว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาตามไปด้วย เหมือนเป็นการยอมรับไปโดยปริยายเพราะเกิดมาก็เจอคนที่มีความหลากหลายทางเพศในสังคม แล้วตัวเองก็ไปเปลี่ยนอะไรเขาไม่ได้ ก็เลยยอมรับได้ ยอมทนได้ แต่ก็ไม่ได้เข้าใจถึงความหลากหลายทางเพศจริงๆ”
เพราะไม่ได้เข้าใจอย่างจริงใจ สำหรับ Parkers สิ่งที่ตามมาและยังคงหลงเหลือคือประโยคที่ว่า “เป็นอะไรก็ได้ขอให้เป็นคนดี” หรือ “จะเป็นก็เป็นไปแต่อย่าแสดงออกให้มันมาก” ซึ่งเป็นประโยคที่แสดงให้เห็นว่า คนพูดไม่ได้ยอมรับความหลากหลายทางเพศด้วยความเข้าใจ แต่ยอมรับในรูปแบบที่เขาคาดหวังให้เป็น เช่น ต้องเป็นคนดี คนเก่ง ประสบความสำเร็จ มีหน้าตาดี รูปร่างดี มีความสามารถ ราวกับว่าบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศต้องมีข้อดีมาทดแทน ถึงจะได้รับการยอมรับในสังคม
“สิ่งที่เราอยากเห็นในอนาคต คือการเปิดกว้างให้กับความหลากหลายทุกรูปแบบเลย ไม่ใช่แค่เรื่องเพศอย่างเดียว เราอยากให้คนทุกคนยอมรับในความแตกต่างหลากหลายของกันและกัน เพราะมนุษย์ทุกคนก็มีความแตกต่างกันอยู่แล้ว และความแตกต่างหลากหลายก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาต่อยอดไปได้เรื่อยๆ เราคิดว่าการยอมรับความหลากหลายทางเพศไม่ได้ต่างอะไรจากการยอมรับความหลากหลายในด้านอื่น ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา ศาสนา ความเชื่อ หรือแม้กระทั่งรสนิยมส่วนตัวของแต่ละคน ซึ่งควรได้รับการยอมรับเช่นกัน
“และสิ่งที่อยากบอกกับสังคมคือ เราเห็นคนพูดบ่อยๆ ว่าอัตลักษณ์ในกลุ่ม LGBTQIA+ มันมีเยอะเหลือเกิน ทำไมต้องแยกยิบย่อยขนาดนี้ ใครจะมานั่งเสียเวลาจำ จะท่องกันให้ถึง A-Z เลยรึเปล่า ฯลฯ ซึ่งถ้าถามเราจริงๆ เราคิดว่าไม่จำเป็นต้องมานั่งท่องกันทุกอัตลักษณ์ ไม่จำเป็นต้องไล่ได้ทั้งหมดว่ามีอัตลักษณ์อะไรบ้าง แต่เราอยากให้คนเข้าใจ และเคารพในความแตกต่างของกันและกัน คุณไม่ต้องเข้าใจก็ได้ว่าอัตลักษณ์ที่เราเป็น คำนิยามที่เราเลือกใช้มันแปลว่าอะไร ไม่ต้องท่องได้ทั้งหมดก็ได้ แต่อย่างน้อยขอให้เคารพกันในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่อาจจะมีบางอย่างแตกต่างไปจากคุณก็พอแล้ว ขอแค่เคารพกันได้ว่าคนเราไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เราไม่จำเป็นต้องนิยามเพศตัวเองแบบเดียวกับคุณ เราไม่จำเป็นต้องมีรสนิยมแบบเดียวกับคุณ และการที่เราแตกต่างจากคุณก็ไม่ได้แปลว่าเรามีความผิดปกติอะไร แค่นี้ก็ถือว่าดีมากแล้ว”