การพัฒนาเมือง ฟังแล้วเป็นเรื่องแสนยิ่งใหญ่
การเสกโครงสร้างพื้นฐานสุดอลังการ การขุดลอกคูคลอง เอาสายไฟลงใต้ดิน ปรับระดับพื้นทางเดินให้เรียบเกลี้ยง การวางวิสัยทัศน์เมือง ตั้งเป้าหมายมุ่งไปข้างหน้าอีกหลายสิบปี
แต่จะเป็นไปได้ไหม ถ้าเราจะพัฒนาเมืองด้วยการจัดงานเตะบอลหรือการสร้างเกมขึ้นมาสักอัน
ฟังดูแปลก เหนือความคาดหมาย แต่นี่คือสิ่งที่ ‘ยังธน’ ทำมาแล้วจริงๆ
ยังธน เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่ผูกพันกับย่านธนบุรี บ้างก็เกิดและเติบโตในพื้นที่นี้จนเรียกธนบุรีว่าบ้าน แม้สมาชิกแต่ละคนในกลุ่มจะมีพื้นเพแตกต่างกัน บางคนเป็นสถาปนิก บางคนเป็นอาจารย์ แต่ทุกคนมีจุดร่วมเดียวกันคือ อยากเห็นธนบุรีเป็นย่านที่น่าอยู่มากขึ้นกว่าเดิม
แทนที่การพัฒนาเมืองจะเป็นแค่เรื่องของผู้มีอำนาจหรือผู้เชี่ยวชาญ ระดมพลทำโครงการพลิกเมืองจากหน้ามือเป็นหลังมือ ต้องวางแบบแผนให้เป๊ะทุกกระเบียดนิ้ว ต้องจริงจัง ขึงขัง ยังธนแสดงให้เห็นว่า กลุ่มคนธรรมดาก็สามารถรวมตัวกันเพื่อขับเคลื่อนย่านให้ดีขึ้นได้
และมี ‘ความสนุก’ เป็นสารตั้งต้นของการพัฒนาเมืองได้เหมือนกัน
ในตึกแถวสีเทาปูนเปลือยริมถนนอิสรภาพ เราได้เจอกับ ‘บลู-รวิพล เส็นยีหีม’, ‘จั่น-จิรทิพย์ เทวกุล’, ‘ฮิน-ฐากูร ลีลาวาปะ’ และ ‘เมฆ สายะเสวี’ สี่สมาชิกกลุ่มยังธนที่รอคอยต้อนรับด้วยความยินดี
หลังจัดแจงห้องและเก้าอี้ให้เรียบร้อย เตรียมพร้อมกับการสัมภาษณ์ ทั้งหมดก็นั่งประจำที่ แล้วบอกเล่าถึงความฝันของคนตัวเล็กๆ อย่างพวกเขาที่อยากเห็นเมืองที่ดี การขับเคลื่อนย่านธนบุรีเกือบสิบกว่าปีที่ผ่านมา รวมถึงจุดเริ่มต้นของคำว่า ‘ยังธน’ ที่เริ่มต้นในห้องสี่เหลี่ยมสีเทาที่เรานั่งพูดคุยกันอยู่ห้องนี้
กลุ่ม ‘ยังธน’ มารวมตัวกันได้อย่างไร
ฐากูร : เริ่มต้นตอนนั้นผมเรียนปีห้า ปีสุดท้ายในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง แล้วผมต้องทำวิทยานิพนธ์ออกแบบอาคาร ผมเลือกออกแบบ ‘พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นตลาดพลู’ เพราะผมใช้ชีวิตในย่านฝั่งธนฯ มาตั้งแต่เด็กและผูกพันกับย่านตลาดพลู เลยอยากพัฒนาย่านนี้ให้ดีขึ้น
ทีนี้ผมอยากชวนเพื่อนสถาปัตย์ที่ทำธีสิสในพื้นที่นี้มารวมตัวกันเพื่อแชร์ข้อมูล เราเลยประกาศชวนเพื่อนว่าใครทำเรื่องเกี่ยวกับฝั่งธนฯ บ้าง แล้วก็ตั้งกลุ่มเฟซบุ๊กว่า ‘ไซต์อยู่ฝั่งธนท่าพระ’ เอาไว้เวลาใครหาข้อมูลอะไรได้ก็มาแชร์กันตรงกลาง มานำเสนอว่าเห็นอะไรกันบ้าง
หลังจากเรียนจบได้หนึ่งปี ผมก็มาทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองร่วมกับพี่เมฆ แล้วเราก็รวมกลุ่มกันทำโปรเจกต์เข้าร่วมโครงการ ‘iCARE Awards 2016 : เสกไอเดียเปลี่ยนโลก’ ชวนกลุ่มที่ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับตลาดพลู ฝั่งธนฯ มาคุยกันในห้องนี้แหละ เกือบยี่สิบคน ทุกคนเอางานของตัวเองมาพรีเซนต์ แล้วจากงานตรงนั้นก็เกิดเป็นเครือข่ายเล็กๆ รวมผู้คนหลากหลายวัยที่อยากเห็นฝั่งธนฯ พัฒนามากกว่านี้
ระหว่างพรีเซนต์คุยงานกินเลี้ยงกัน เราก็พยายามคิดชื่อกลุ่มเราว่าจะเป็นชื่ออะไรดี โดยเป็นชื่อที่สะท้อนความเป็นวัยรุ่น ความเป็นฝั่งธนฯ ตอนแรกมีหลายชื่อนะ ธนยัง ยังยังธน ต่อคำไปเรื่อยๆ แล้วได้คำว่ายังธนมา ยังก็มาจาก Young วัยรุ่น ธนก็คือธนบุรี ความหมายจริงก็คือกลุ่มคนที่ยังทนทำอะไรสักอย่างอยู่ ซึ่งทำนี่คือทำงานด้านสังคม โดยเน้นพื้นที่ฝั่งธนฯ โดยเฉพาะ
ช่วงเริ่มต้นเราล้มลุกคลุกคลานกันมาก แต่เราก็ผลักดันกันมาได้ โดยพลังสำคัญในการสื่อสารและบอกเล่าเรื่องราวการพัฒนาพื้นที่ฝั่งธนฯ ได้แก่ ชัช-ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์ (ผู้ก่อตั้ง Everyday Architect & Design Studio) ตอนนั้นชัชทำโครงการเกี่ยวกับการบอกเล่าสิ่งต่างๆ ที่ตัวเองสนใจ ในชื่อ naนา โคตรจะมีสาระ ร่วมหัวจมท้ายกับเรามา จากนั้นก็มีคนมาเข้าร่วมเรื่อยๆ เช่น พี่จั่น น้องบลู
จิรทิพย์ : ช่วงนั้นจั่นเองเป็นนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ก็อินเรื่อง Active Citizen และทำเรื่องการขับเคลื่อนเมืองเหมือนกัน
ทีนี้มีงบจากผู้ใหญ่ใจดี อยากให้ Active Citizen มาคุยกัน จัดกิจกรรมบางอย่าง เราเลยทำเวิร์กช็อปที่เรียกว่า ‘จุด.รวม.ธน’ รวมคนที่ทำงานขับเคลื่อนด้านต่างๆ ในฝั่งธนฯ เข้าด้วยกัน งานนั้นทำให้เราได้รู้จักกับยังธน รู้จักกับเพื่อนฮิน เครือข่ายของฮิน แล้วก็เกิดโปรเจกต์ต่างๆ ตามมา
รวิพล : ก่อนหน้านี้ผมไม่ได้อยู่ในกลุ่มยังธน ผมเป็นนักเรียนมัธยมปลาย และเป็นคนในชุมชนมัสยิดสุวรรณภูมิ พอดีมาเจอพี่ๆ เขาตอนจัดงาน ‘เดินดูหนัง นั่งดูน้ำ มัสยิดสุวรรณภูมิ’ ผมเดินไปหาพี่ๆ ที่เขาจัดงานกันอยู่ บอกว่า พี่ครับ ผมทำหนังเรื่องหนึ่ง อยากเอามาฉายในงานได้ไหม มีรูปเซตหนึ่งที่ถ่ายในบ้านตัวเอง ขอทำ Exhibition เล็กๆ ได้ไหม พี่เขาก็โอเค
หลังจากงานนั้นก็บอกพี่ๆ ว่าอยากทำให้บ้านตัวเองดีขึ้น อยากทำเรื่อง Community Branding พี่ๆ ก็เลยชวนเราประชุมยังธน มีประชุมกันทุกวันพฤหัสบดี ก็แบกสไลด์ 40 หน้ามาเล่าให้พี่ๆ ฟัง จากนั้นก็ยาวเลย
ทำไมถึงอยากมาทำงานพัฒนาย่าน
เมฆ : เพราะเรามองเห็นปัญหาของเมือง แล้วมันสนุกตอนที่เราคิดว่าจะทำอย่างไรให้ดีขึ้น ได้คิดว่าวิธีการไหนที่จะทำให้ปัญหาถูกแก้ไปได้ แล้วเราก็ได้เจอเพื่อนที่อินเรื่องนี้ด้วยกัน มาพูดคุยกัน ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมกลุ่มตรงนี้
ตอนที่เริ่มต้นยังธน ได้ตั้งเป้าหมายไว้ไหมว่าจะทำอะไรบ้าง
เมฆ : มันไม่ได้ตั้งใจคุยเรื่องนั้นกันเลย เพราะเวลาเจอกันทุกวันพฤหัสบดี อารมณ์เหมือนมากินข้าว มีอะไรมาอัปเดต แบบเพื่อนชวนเพื่อนมา น้องบลูทำงานของตัวเองในชุมชนตัวเอง แล้วมาเล่าให้ทุกคนฟัง ถ้าเราอินก็อยากช่วยทำอะไรต่อ มันส่งต่อแบบนั้น
จิรทิพย์ : มันเป็นแนวที่เรามองว่าอยากทำอะไร ไม่ต้องมี Mission มี Strategy อะไร
ฐากูร : พอมองกลับไปช่วงนั้นคือเรามีบอร์ดใหญ่ๆ แล้วเอาไอเดียมาแปะๆ ไว้ว่าใครอยากทำอะไรบ้าง อันไหนมีโอกาสทำได้ก่อน บางอย่างน่าสนใจจริงๆ นะ แต่อาจจะไม่ใช่วันนี้ที่จะทำ เราก็ทดไว้ก่อน
ไม่กลัวหลงทางเหรอ ถ้าไม่ได้วางเป้าหมายอะไรไว้
รวิพล : ยังธนไม่ได้เป็นบริษัท ไม่ได้เป็นออฟฟิศที่ต้องทำเงิน มีรายได้ มีเป้าหมาย ยังธนเกิดจากความสนุกส่วนหนึ่ง แล้วการทำงานขับเคลื่อนเมืองมันมีหลายมิติ เล่าเรื่องอะไรก็ได้ อยู่ที่ตอนนั้นเราอินอะไร เราเจอใคร ถ้าจะทำโปรเจกต์ แล้วเราเห็นความเป็นไปได้ของมัน เห็นความสนุก โปรเจกต์ก็จะเกิดขึ้น มันไม่ได้มีเป้าหมายว่าปีนี้จะมีโปรเจกต์อย่างนี้ๆ
มีโปรเจกต์อะไรของยังธนที่ภูมิใจนำเสนอบ้าง
เมฆ : อย่างแรกคือ ‘ยังธนคัพ #คับที่เตะได้’ ตัวตั้งตัวตีคนสำคัญเลยคือ พี่อ๊อฟ-ศกวรรณ์ สุขสบาย ตัวแทนชุมชนปากคลองสาน วันที่ทำเวิร์กช็อป จุด.รวม.ธน พี่อ๊อฟเล่าว่า เขาชอบเตะบอล แล้วเขาเตะที่ป้อมป้องปัจจามิตรตั้งแต่เด็กๆ พอดีเราเป็นคนชอบเตะบอล ก็อินด้วย เรามองตาปิ๊งๆ ที่พี่เขา ชวนพี่เขาว่ามาจัดงานเตะบอลไหม ตอนเด็กๆ มีความฝันว่าอยากมีผู้ใหญ่จัดงานบอลให้ คราวนี้เรามาจัดให้เด็กๆ ดีไหม เราก็ลุยเลย
งานนี้เป็นการรวมพลังกันของทุกคนในยังธน ใครนึกอะไรออกก็โยนไอเดียมา ชัชเก่งเรื่องคอนเทนต์ เป็นคนตั้งสโลแกน คิดชื่อ ‘ยังธนคัพ คับที่เตะได้’ ออกแบบโลโก้ เราก็ระดมไอเดียกันว่าจะจัด Street Football ในสนามเล็กๆ ในชุมชนต่างๆ
หลังจากสำรวจข้อมูลเพิ่มเติม ลงพื้นที่คุยกับชุมชน สรุปได้ว่าจัดกันที่ 5 สนาม ได้แก่ สนามชุมชนกุฎีจีน สนามริมทางรถไฟชุมชนมัสยิดสวนพลู สนามริมน้ำชุมชนมัสยิดสุวรรณภูมิ สนามใต้สะพานริมคลองวัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร และสนามใต้สะพานตลาดพลู
พี่อ๊อฟเสนอไอเดียจัดงานดีมากเลย บอกว่าไม่ต้องใช้เงินเยอะหรอก สนามหนึ่งไม่ถึงพัน กะว่าแค่ไปขอสปอนเซอร์จากคุณป้าขายหมูแดง เอาคนที่แกรู้จัก จะจัดเอามัน ไม่มีระเบียบแบบแผน แต่มันก็ค่อยๆ ขยาย เริ่มมีนักพัฒนาเมือง นักการเมือง คนตรงนู้นตรงนี้ติดต่อมา
ตอนแรกเราจะจัดให้ชิงเงินรางวัลกัน แต่พอไปคุยกับนักเตะเด็กในชุมชนว่าเขาอยากได้อะไร ก็ได้ข้อมูลเชิงลึกคือเขาไม่ได้อยากได้เงิน แต่อยากได้รองเท้าดีๆ อยากไปดูฟุตบอลของจริงสักแมตช์ เราก็เอาตรงนี้ไปปรึกษากับคนที่ติดต่อมาว่าสนับสนุนเงินรางวัลได้ไหม ซึ่งเขาก็ยินดีมาก
นอกจากเตะบอล เราก็เชิญคนที่สนับสนุนเรา กับตัวแทนโค้ช นักเตะ มานั่งล้อมวงคุยกัน แล้วตั้งคำถามว่าพื้นที่สาธารณะที่ดีในฝั่งธนฯ ควรเป็นอย่างไร ทำให้เห็นว่าสิ่งที่ทำมันมากกว่าการเตะบอลกันเฉยๆ แต่เป็นการทำให้เข้าใจความสำคัญของการมีพื้นที่สาธารณะในเมือง มีพื้นที่ที่ชวนคนหลายคนมาเจอกันได้ เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเด็กๆ ในชุมชน
ผลลัพธ์ที่ได้ของงานนี้ยังมีมากกว่านั้นด้วย มีน้องคนหนึ่งเป็นน้องวัยมัธยมฯ กำลังเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย น้องเขาอยากเรียนพละ อยากเป็นกรรมการอาชีพ เขา Inbox เข้ามาในกรุ๊ปว่าตามโปรเจกต์ยังธนคัพมา อยากมีผลงานไปยื่นสมัครเรียนต่อ เราก็ใช้การประชุมทุกวันพฤหัสบดีนัดน้องมา น้องมาพร้อมใบเหลือง ใบแดง เตรียมอุปกรณ์พร้อม เหมือนจะมาสมัครงาน (หัวเราะ) เราเห็นความตั้งใจเลยให้น้องมาทำ จนตอนนี้น้องเขาก็เป็นอาจารย์พละ ไปรับตัดสินกีฬาตามที่ต่างๆ แล้ว มันทำให้เห็นว่าโปรเจกต์ของเราเป็นพื้นที่ให้คนไปต่อยอดทำอะไรต่างๆ ได้เหมือนกัน
ฐากูร : หลังจากโปรเจกต์ยังธนคัพ ชุมชนและผู้ใหญ่ก็เริ่มเห็นว่าเราทำอะไรได้ ก็มีติดต่อมาให้ช่วยทำเวิร์กช็อป ทำคอนเทนต์ จนมาถึงอีกโปรเจกต์ใหญ่ที่เราภูมิใจคือ ‘เกมท่องธน’ หรือ ‘Game of Thon’
เล่าที่มาของ ‘เกมท่องธน’ ให้ฟังหน่อย
เมฆ : เริ่มจากที่ล้อมวงคุยเหมือนกัน ตอนนั้นช่วงไล่ๆ กับการทำยังธนคัพ ก็คุยกันว่าทำอะไรต่อดี มีพี่คนหนึ่งพูดขึ้นมาว่าเรารวมทุกอย่างให้เป็นเกมดีไหม
ก่อนหน้านี้เราเคยมีสต๊อกคำชื่อ Game of Thon ต้องให้เครดิตชัช เขาชอบคิดคำล่วงหน้า แต่ยังนึกไม่ออกหรอกนะว่าจะใช้ทำอะไร เราก็คิดกันว่าทำ Game of Thon มั้ย ตอนนั้นคนยังนึกภาพไม่ออกว่าจะต้องเป็นเกมแบบไหน เราเลยตั้งสมมติฐานว่าให้เป็นเกมที่พาไปรู้จักกับพื้นที่หนึ่ง
เรารู้ว่าคนไม่ค่อยรู้จักเขตบางกอกใหญ่ของฝั่งธนฯ คนจะรู้จักวัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร เพราะวัดเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของประเทศ แต่จะไม่รู้ว่าวัดอยู่ในเขตนี้ ซึ่งเป็นเขตเมืองหลวงเก่าในสมัยก่อน เราสนใจเรื่องนี้ก็เลยหาข้อมูลต่อ เจอว่าเคยมีสายลับพม่ามาสเก็ตช์ภาพแผนที่กรุงธนบุรี น่าสนใจดี เลยต่อยอดว่าจะทำเกมแนะนำพื้นที่แล้วเล่นเรื่องลายแทงด้วย ประกอบกับสมัยนั้นมีน้องๆ รุ่นใหม่กำลังเรียนจบ บางคนจบกราฟิก บางคนกำลังเป็น Developer เกม ทำซอฟต์แวร์ เขาก็ชงไอเดียมาว่าอยากทำเกม เราเลยเอาไอเดียมายำกัน
พอมีประกาศของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เปิดรับโครงการ เราก็เขียนโครงการทำเกมส่งไป ปรากฏว่าได้รับการคัดเลือก โครงการนี้เลยเกิดขึ้นมาจริงๆ
รวิพล : เราคิดว่าจะทำเกมนี้อย่างไรให้คนมาเที่ยวในชุมชนแล้วเกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในพื้นที่ได้ แต่การให้คนมาเดินในชุมชนเฉยๆ คงไม่พอ ต้องมีคอนเทนต์บางอย่างค่อยๆ พาเขาไป
เมฆ : กลไกของเกมที่พัฒนากันออกมา เป็นเกมออนไลน์ที่โหลดเล่นได้ในแพลตฟอร์ม iOS และ Android เนื้อเรื่องของเกมคือ มีกลุ่มภราดรที่แอบเอาสมบัติไปซ่อนไว้ตามที่ต่างๆ ในย่านบางกอกใหญ่ก่อนที่กรุงธนบุรีจะล่มสลาย คนเล่นจะต้องตามหาสมบัติเหล่านี้ให้เจอ
ในเกมนี้จะมีมินิเกมย่อยให้เราลงสำรวจย่านเพื่อทำเควสให้สำเร็จ เช่น ต้องสแกน QR Code ที่ซ่อนอยู่ในพื้นที่ และเราออกแบบเส้นทางการเดินให้ผ่านร้านค้าในย่าน แล้วออกแบบกลไกเกมให้ผู้เล่นเก็บคะแนนทำภารกิจ ถ้าผ่านจะได้ส่วนลดร้านค้าในชุมชน
จิรทิพย์ : มันทำให้เกมนำรายได้เข้ามาสู่ชุมชนด้วย จริงๆ คือส่วนลดร้านค้าในเกมไม่ได้มากเท่าไหร่ แต่เราอยากให้เกมช่วยกระตุ้นคนให้รู้จักร้านค้าและเข้าไปซื้อของในชุมชนมากขึ้น
ทั้งจัดงานเตะบอล ทำเกม เหมือนยังธนจะไม่ได้จำกัดรูปแบบการทำโปรเจกต์เลยใช่ไหม
เมฆ : เราเห็นอันไหนน่าสนุก น่าทำ เราก็ลองทำดู แต่จริงๆ เราไม่เก่งนะ
จิรทิพย์ : เราพยายามขวนขวายหาความรู้ เชิญผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มาช่วย มาพูดคุยกัน เพราะจริงๆ เรามองว่าการทำเรื่องเมือง เรื่องพัฒนาย่าน มันทำคนเดียวไม่ได้หรอก มันมีหลายมิติให้ได้คิด ต้องใช้คนหลายคนมาช่วยกันทำ
ถ้าอย่างนั้นแล้ว กว่าจะลงมือทำสักโปรเจกต์หนึ่ง ต้องคิดถึงเรื่องอะไรบ้าง
จิรทิพย์ : หลักสำคัญคือการทำเรื่องเมือง เราทำกับคน คนในที่นี้หมายถึงคนในชุมชน เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจเขา ต้องคิดว่าทำแล้วได้ประโยชน์อะไร พี่ๆ ในชุมชนเห็นด้วยไหม หรืออยากทำด้วยไหม
เมฆ : ใช่ ยกตัวอย่างเกมท่องธน พวกเราเองก็ต้องไปรู้จักชุมชนก่อน ต้องไปหาประธานชุมชนเกือบทุกคนเลย อันที่สองคือร้านค้าที่จะให้คูปองส่วนลด ต้องไปคุยกับเขาให้เชื่อใจเรา เชื่อว่าไม่ได้สร้างภาระให้เขาเพิ่ม
รวิพล : สำหรับเรา การทำงานพัฒนาเมืองไม่ใช่จิตอาสา ฉันอยากให้เมืองฉันดีขึ้น แล้วฉันเป็นจิตอาสา ไม่มีค่าตัว ก็ไม่ใช่ ทุกคนต้องใช้ความสามารถ ใช้พลัง ใช้เวลาของตัวเอง เราว่ามันสำคัญที่ต้องคิดว่าจะมีอะไรสนับสนุนคนแต่ละฝ่ายที่ทำงานร่วมกัน
เมฆ : อย่างตอนที่เขียนงบขอทุนต่างๆ เราก็รวมค่าเสียเวลาให้พี่ๆ ในชุมชนที่ช่วยกรอกแบบสอบถามอยู่ในทุนที่เราได้มาด้วย
ตั้งแต่เริ่มทำงานมาจนถึงตอนนี้ เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในย่านธนบุรี และในกลุ่มยังธนเอง
ฐากูร : เราทำกลุ่มยังธนมาเกือบสิบปีแล้ว ความเปลี่ยนแปลงของยังธนที่เห็นหลักๆ เป็นเรื่องการมองโปรเจกต์ แรกๆ จะมองว่าเราเป็นคนทำโปรเจกต์ของตัวเอง แต่ตอนนี้เราเป็นคนสนับสนุนคนรุ่นใหม่ หรือคนที่อยู่อาศัยในชุมชนแล้วอยากลุกมาขับเคลื่อนเมือง
ยกตัวอย่างโครงการย่านสร้างสรรค์ บางกอกใหญ่-วังเดิม ช่วงที่เราอยู่ที่นี่ ไปเรียน ใช้ชีวิตมาเกินสิบปี เราไม่เคยได้ยินชื่อย่านวังเดิมมาก่อน เพิ่งมาได้ยินว่ามีชื่อย่านนี้ พอทางชุมชนย่านวังเดิมเขาอยากขับเคลื่อนเรื่องย่านสร้างสรรค์และผลักตัวตนของย่านให้คนรับรู้ เราก็ช่วยไปสนับสนุนพี่ๆ ในชุมชน
เมฆ : ตอนนี้รู้สึกเหมือนเราเป็นสะพานเชื่อม พอเราเห็นโครงการนี้น่าจะเจอกับอีกโครงการก็เชื่อมกันไปหมดเลย อีกอย่างเรารู้สึกว่าคุยกับคนในย่านง่ายขึ้น ชวนคนคุยง่ายขึ้น เวลาเดินไปกินข้าวมีคนทักตลอดเวลา เดินไปไหนก็มั่นใจ สบายใจ รู้สึกเป็นเพื่อนกับคนได้เยอะขึ้น
หรือบางทีเราเดินเข้าออฟฟิศ เขาก็เดินดุ่มๆ เข้ามาเลย เด็กที่เคยเตะบอลเขาเดินตามหลังเข้ามา น้องจำได้ว่าเราเป็นทีมที่เคยช่วยเขาจัดงาน ก็แอบเดินตามมาเรื่อยๆ ถามว่าพี่บ้านอยู่ตรงนี้เหรอ มันเป็นมุมที่ไม่เคยเห็นกับการใช้ชีวิตในเมืองเลย
แล้วถ้ามีคนอยากลุกมาทำงานขับเคลื่อนเมือง อยากบอกอะไรกับพวกเขาบ้าง
ฐากูร : สำหรับผมคือเรื่องของการเปิดเผย เปิดให้เรารู้ว่าเราได้รับเงินมาเท่าไหร่ ชุมชนได้เท่าไหร่ ทีมงานเราได้เท่าไหร่ แสดงความจริงใจให้ดู เปิดแผนทั้งหมด คุยกันต่อหน้าด้วยว่าความคาดหวังแต่ละคนเป็นอย่างไร เซตให้ชัดๆ และโปร่งใส
เพราะเราอาจเข้าใจว่าโครงการที่เราทำมันดีแล้ว แต่บางทีความหวังดีของเราอาจทำร้ายคนอื่นโดยไม่รู้ตัวก็ได้ มันอาจมีแง่มุมอะไรซุกซ่อนอยู่ ไม่อยากให้การทำงานของเรา เหมือนกำลังโกงอยู่ในนามของความดี ไม่อยากทำอย่างนั้น
จิรทิพย์ : ถ้าอยากจะเริ่มทำอะไร เราต้องสำรวจความคิดเห็นก่อนว่า มันเกิดประโยชน์จริงๆ กับคนในพื้นที่หรือกลุ่มคนที่เราทำงานด้วยไหม จะต้องเช็กตรงนี้ก่อน เพราะนอกจากจะหาคนอินด้วยแล้ว เราต้องรู้ว่าสิ่งที่เราทำมันส่งผลประโยชน์หรือผลเสียต่อใครบ้างหรือเปล่า
กระบวนการมีส่วนร่วมคือเรื่องสำคัญ เราอยากให้ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ มันไม่ได้เป็นโปรเจกต์ของยังธนอย่างเดียว ตรงนี้สำคัญ คนที่เข้าร่วมเขาต้องเห็นตัวเองในนั้น
อีกอย่างคือเรื่องการสื่อสาร มันช่วยในการหาแนวร่วมเพิ่มขึ้น ใครที่เห็นด้วย คิดเห็นว่าอย่างไร เราคิดว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ยังธนเป็นที่รู้จักจากหลายๆ คนคือเพจสาธารณะ ที่เป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้คนรู้ว่าเราทำโครงการอะไรบ้างกับชุมชน และเป็นที่พิสูจน์ด้วยว่าสิ่งที่เราทำมันดีจริงไหม ชุมชนได้ประโยชน์หรือเปล่า หรือไม่ได้เลย
รวิพล : คิดว่าอาจจะต้องมีคนที่อินคล้ายเรา คิดอะไรเหมือนๆ กัน ในขณะเดียวกันก็ต้องหาแก่นของตัวเองให้ชัดว่าชอบอะไร สนใจอะไร แล้วถ้าจะลงมือทำ ก็อยากให้คิดว่าถ้าวันหนึ่งเราไม่ทำแล้วจะทำอย่างไรต่อด้วย เพราะบางทีเราไปทำงานกับชุมชนแล้วไม่ได้คิดท่าลง ถ้าไม่สื่อสารกันตั้งแต่แรกว่าจะจบงานยังไงก็จะกระอักกระอ่วนนิดหนึ่ง ถ้าสื่อสารกันให้ชัด คิดท่าจบเรียบร้อย จะได้ทำงานอย่างเต็มที่มากขึ้น
เมฆ : เห็นด้วยกับที่พี่จั่นพูดไว้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่ามันไม่มีทางทำได้ด้วยตัวเอง ฉะนั้นแล้วหาเพื่อนหรือเจ้าของปัญหาก็ได้ แล้วพูดคุยกัน ฟังกันเยอะๆ ต้องเปิดใจมากขึ้น พอเราทำงานกลุ่ม ต้องยอมรับว่าความเห็นต่างมันเยอะ แต่มันเห็นต่างกันเพื่อพัฒนาไปข้างหน้า
ยังธนวางแพลนจะทำอะไรต่อบ้างในอนาคต
รวิพล : ตอนนี้มีแผนจะพัฒนาเกมต่อไปเป็นเฟสที่สอง แล้วจะทำโปรเจกต์ Bangkok Design Week กับพี่ๆ ในชุมชน
คลุกคลีกับย่านธนบุรีกันมานาน ถ้าให้แต่ละคนนิยามย่านธนบุรีในรูปแบบของตัวเอง จะนิยามว่าอย่างไร
จิรทิพย์ : สำหรับพี่คือเสน่ห์ของผู้คนที่รักท้องถิ่น ถ้าบอกว่าเป็นคนฝั่งธนฯ เหมือนกัน ถึงจะอยู่กันคนละเขต อยู่บางพลัด บางอ้อ เราจะรู้สึกว่าเป็นคนบ้านเดียวกัน มันคือเสน่ห์ที่มากกว่าแม่น้ำลำคลอง มากกว่าสถาปัตยกรรม แต่คือคนที่เชื่อมต่อกันได้ง่ายเมื่อรู้ว่าอยู่บ้านเดียวกัน
ฐากูร : สำหรับผม ธนบุรีคือกรุงเทพฯ ที่อยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เวลาที่เราใช้ชีวิต เหมือนเราใช้ชีวิตตามตะวัน เวลาขับรถไปทำงาน เราก็ออกจากฝั่งธนฯ ไปกรุงเทพฯ เห็นพระอาทิตย์ขึ้น ขากลับก็เห็นพระอาทิตย์ตกดิน
รวิพล : ฝั่งธนฯ จะมีเซนส์บรรยากาศหรือบทสนทนาบางอย่างของตัวเองที่ทำให้เราสัมผัสได้ว่ากำลังอยู่ฝั่งธนฯ มันทำให้เรารู้สึกเชื่อมต่อกันได้โดยธรรมชาติ
เมฆ : เสน่ห์ฝั่งธนฯ ของผมคือมุมเล็กๆ ตามซุ้มหมากรุก ซุ้มต้นไทรเล็กๆ ที่อยู่ในซอยอย่างนี้ แค่ลองเปิดใจเข้าสักซอยหนึ่ง จะเจอมุมเล็กๆ หน้าวัด สนามเล็กๆ ตรงใต้สะพาน บางทีเห็นคุณลุงคุณป้านั่งหน้าบ้าน มันมีเสน่ห์ดี ไปสักช่วงเช้าหรือเย็นจะได้เห็นภาพผู้คนใช้ชีวิตแบบเดิม
แล้วย่านที่ดีที่แต่ละคนอยากเห็นเป็นอย่างไร
ฐากูร : ย่านที่ดีควรเป็นย่านที่ปลอดภัยและอยู่ได้โดยไม่กังวลว่าถ้าไฟไหม้ นักดับเพลิงจะเข้ามาอย่างไร ต้องหนีไฟอย่างไร เป็นย่านที่อยู่ได้โดยไม่ต้องกังวลว่าเย็นนี้กลับบ้านไปจะโดนโจรขึ้นบ้านหรือเปล่า แต่ว่าในส่วนกลไก วิธีการ คนในย่านก็ต้องรู้จักกัน ช่วยกันระแวดระวัง
รวิพล : สำหรับเรา ย่านที่ดีคือย่านที่คนอยู่ในนั้นเขาแนะนำตัวว่าบ้านอยู่ที่นี่ เล่าเรื่องบ้านตัวเองให้คนอื่นฟังได้
จิรทิพย์ : ย่านที่ดีของเราคือย่านที่ทุกคนรู้จักกัน มีความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดี เห็นหน้ากัน รู้จักกัน ถ้าพูดด้วยมุมมอง Active Citizen เราจะรู้สึกว่าย่านที่ดีคือย่านที่เปิดโอกาสให้เรามีส่วนร่วมกำหนดทิศทางพัฒนาย่านตัวเองได้
เมฆ : ย่านที่ดีของผมเป็นย่านที่ผมรู้จักทุกคนเลย สบายใจกับเกือบทุกคน ไม่ต้องทุกคนก็ได้ และแต่ละคนในย่านรู้จักกันเอง จะด้วยกิจกรรมที่ทำด้วยกันในย่านหรืออะไรบางอย่างของเมืองที่ช่วยให้เขามีปฏิสัมพันธ์กัน
มีของดีของเด็ด Hidden Gems อะไรที่อยากแนะนำบ้าง
รวิพล : อย่างแรกคือ ‘Priscilla Ice Cream’ ร้านไอศกรีมของพี่ๆ ในชุมชนวัดนาคกลาง ที่บางรสชาติผสมผสานวัตถุดิบท้องถิ่น และที่สำคัญคือราคาย่อมเยา เด็กๆ และพวกเรามาฝากท้องเสมอๆ แวะมากินไอติมแล้วก็แวะมาไหว้พระ เดินเล่นภายในชุมชนวัดนาคกลางได้ มีมุมน่ารักๆ ให้ถ่ายภาพมากมาย
จิรทิพย์ : อีกที่คือ ‘ร้านอาหารบ้านเพลินดี’ ร้านอาหารไทยริมคลองมอญ ที่ส่วนมากเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวและทหารเรือแถวนี้ แต่คนไทยทั่วไปไม่ค่อยรู้จัก ร้านนี้โดดเด่นที่บรรยากาศสบาย เมนูแนะนำคือ กะเพราปลาสลิด ทอดมันกุ้ง ไก่ผัดเม็ดมะม่วง
ฐากูร : วัดอรุณฯ วันที่ 15 ของทุกเดือน พิเศษตรงที่ทางวัดจะเปิดรับอาสาสมัครคนทั่วไปให้มาช่วยทำความสะอาดรอบพระปรางค์ และชื่นชมวิวพระปรางค์ได้ตอนเย็นและยามค่ำคืนหลังเวลา 18.00 น. เพราะปกติวัดปิดเวลานี้
เมฆ : ที่นึกถึงคือ แกลเลอรีศิลปิน เช่น ที่บ้านอุปอินทร์ ของอาจารย์ลาวัณย์ อุปอินทร์ หรือที่วิหารศิลปะ ของ อ.สุชาติ วงษ์ทอง เป็นแกลเลอรีที่เราสามารถพบเจอศิลปินรุ่นเก๋าเจ้าของผลงานตัวเป็นๆ ที่ต้อนรับผู้มาเยี่ยมชมในบรรยากาศเป็นกันเอง