Writer’s Taste คัมภีร์สำราญรสเบียร์ - Urban Creature

ย้อนกลับไปในวัยของนักดื่มผู้ไร้เดียงสา วันนั้นเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่เพื่อนพ้องน้องพี่ทุกคนจะจับกลุ่มรวมกันเพื่อสังสรรค์และกระทำการรื่นเริง อาหารและกับแกล้มคือสิ่งที่ต้องมี ส่วนที่ขาดไปไม่ได้เลยในปาร์ตี้ก็คือ ‘เบียร์’ (จำนวนหลายลัง) และวันนั้นไม่ว่าจะดื่มไปเท่าไหร่ก็ไม่มีวันหมดสิ้น

ยิ่งกินยิ่งสนุก บางคนเสียงดังขึ้น บ้างเริ่มหยอกล้อเพื่อนด้วยการตบหัว กระแทกไหล่ หรือบางคนก็เริ่มพูดความจริงในใจออกมา ส่วนใครบางคนเช่นเรา เมื่อดื่มด้วย กินด้วย เวลาผ่านไปทุกอย่างก็พวยพุ่งออกมาเป็นเศษซากเนื้อย่างจำนวนมหาศาล ทุกครั้งที่ร่างกระตุกเกร็งเพื่อขย้อนของที่กินออก การนอนเล่นอ้วกแบบนั้นเป็นความรู้สึกที่แสนทรมาน และเมื่อตื่นเช้าขึ้นมาความแฮงก็ตามมาราวีจวบจนครึ่งค่อนวันก็ยังไม่หายดี 

เมื่อเติบโตมีการงานและทำเงินได้มากขึ้น เราจึงได้รู้ว่าเบียร์ที่มีขายตามร้านสะดวกซื้อหรือร้านขายของชำในหมู่บ้านที่เคยดื่มด่ำเมื่อวันวานเป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆ ของประเภทเบียร์บนดาวดวงนี้ และคำกล่าวที่บอกว่า ‘กินอะไรก็เมาเหมือนกัน’ เป็นความจริงแบบหนึ่ง ทว่าเราสามารถออกแบบความเมาและรับรู้ความเมาได้ เมื่อเราพบประเภทและรสชาติเบียร์ที่ต่างออกไปจากสองสามยี่ห้อที่พบเจอเป็นปกติของระบบทุนผูกขาด

‘เบียร์เป็นมากกว่าความมึนเมา’ อ่าน Writer’s Taste คัมภีร์ดื่มประวัติศาสตร์ จิบวิวัฒนาการ สำราญรสเบียร์

ปัจจุบันเสรีภาพในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยขยายขอบเขตกว้างขวางมากขึ้น มีผู้ผลิตรายย่อยเพิ่ม มีการต่อสู้เรียกร้อง มีเทศกาลงานเบียร์และสุราให้เลือกดื่มด่ำกับรสชาติแปลกใหม่ รวมถึงการส่งต่อองค์ความรู้ให้กับผู้ชื่นชอบการดื่มได้สัมผัสประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป 

คอลัมน์ อ่านอะไร ขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับหนังสือ ‘Writer’s Taste ดื่มประวัติศาสตร์ จิบวิวัฒนาการ สำราญรสเบียร์’ ฉบับพิมพ์ครั้งที่สองในรอบสิบปีของ ‘อุทิศ เหมะมูล’ นักเขียนผู้ลุ่มหลงในรสชาติเบียร์ที่ตระเวนชิมไปทุกสารทิศทั่วโลก ซึ่งเราคิดว่านี่คือคัมภีร์หรือคู่มือที่เหมาะยิ่งแก่การเปิดอ่านประกอบการดื่มด่ำนานารสชาติ 

“ทุกครั้งที่ดมกลิ่น จิบรส และดื่ม เราเอาวิวัฒนาการและประวัติศาสตร์ของเบียร์เข้าไปในกระแสเลือดด้วย” คือสิ่งที่ผู้เขียนคิดและเราเองก็คิดเห็นเช่นนั้นไม่ต่างกัน ขอชวนพลิกหน้ากระดาษพร้อมจิบเบาๆ ท่องไปในความสุนทรีย์แห่งเบียร์กับหนังสือเล่มนี้กัน

Writer’s Taste
ดื่มประวัติศาสตร์ จิบวิวัฒนาการ สำราญรสเบียร์ (New Edition)

‘ดังนั้นถ้าผมจำจะต้องบอกเล่า ผมจะขอรวบรัดเริ่มว่า กาลครั้งหนึ่ง…เบียร์แบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ เอล (Ale) กับ ลาเกอร์ (Lager) ไม้หนึ่งต้นแบ่งออกเป็นสองกิ่งใหญ่ ก่อนแตกแขนงออกไปเป็นกิ่งก้านย่อยและแตกยอดออกพุ่มใบอีกหลากหลาย จักรวาลของเบียร์แผ่ร่มเงาอยู่เบื้องหน้า

ถ้าผู้อ่านอยากนั่งพักจากสาระและการงานอันเหนื่อยหนัก หย่อนใจสักหน่อยด้วยเบียร์เย็นๆ ช่วยเทใส่แก้ว อย่าใส่น้ำแข็ง มองดูน้ำสีอำพันอันแตกต่าง ยกดมสักเล็กน้อยก่อนดื่ม สร้างสุนทรีย์ให้ชีวิตอย่างง่ายๆ เบียร์เย็นๆ ช่วยดับกระหายคลายร้อน แต่แอลกอฮอล์ทำให้กระเพาะร้อน เลือดกายอุ่นสูบฉีด ภาวะเย็นจากปากและลิ้น กับภาวะอุ่นร้อนภายในกายขัดแย้งกัน เป็นเช่นนี้เอง รสที่ขัดแย้งเป็นส่วนหนึ่งของความสุนทรีย์แห่งชีวิต’ ประโยคที่โปรยอยู่บนปกหลังหนังสือเล่มนี้ ชวนเปิดต่อมรับรู้ได้เป็นอย่างดี

ย้อนหลังกลับไปราวสิบปี ‘Writer’s Taste’ เคยเป็นคอลัมน์ประจำในนิตยสาร Writer Magazine จำนวน 12 ตอนเมื่อช่วงปี 2556 (นำทีมบรรณาธิการโดย บินหลา สันกาลาคีรี) และจากคอลัมน์ก็ถูกรวมเล่มกลายเป็นหนังสือในปี 2557

ย้อนหลังไปกว่านั้น ผู้เขียนเล่าในหนังสือว่า ราวปี 2552 มีชุมชนคนรักเบียร์ตามเว็บบอร์ด มีกลุ่มสมาชิกสนทนาแบ่งปันข้อมูลและให้ความรู้เกี่ยวกับการดื่มเบียร์ เกิดการทำเบียร์ การบอกเล่าประวัติศาสตร์ของเบียร์ การจัดกิจกรรมเบียร์เทสติ้งจากกลุ่มสมาชิกที่หิ้วเบียร์หลากหลายชนิดมาจากต่างประเทศแล้วมาแบ่งกันชิม และเกิดร้านจำหน่ายเบียร์นอกในร้านอาหารต่างๆ ที่กลายเป็นจุดนัดพบสังสรรค์และแบ่งปันเรื่องราวตามประสาคนคอเดียวกัน ซึ่งต่อมาพวกเขาเหล่านั้นก็กลายเป็นผู้เล่นหลักในสนามคราฟต์เบียร์ไทย ที่ทั้งเปิดร้าน ทดลองต้ม ขายวัสดุอุปกรณ์ และนำเข้าเบียร์จากต่างประเทศ พร้อมส่งต่อความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับศิลปะการดื่มและทำเบียร์สืบต่อมาจนปัจจุบัน

‘เบียร์เป็นมากกว่าความมึนเมา’ อ่าน Writer’s Taste คัมภีร์ดื่มประวัติศาสตร์ จิบวิวัฒนาการ สำราญรสเบียร์

เวลาพบเจอพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ นักเขียนด้วยกัน เมื่อมีโอกาสกินดื่มสังสรรค์ ผมเอาแต่พูดเรื่องของเบียร์ การสืบหาเบียร์ใหม่ๆ มาดื่มกลายเป็นงานอดิเรกของผม เมื่อบรรณาธิการนิตยสารไรเตอร์ทั้งสองท่าน (พี่ต้อ-บินหลา สันกาลาคีรี กับพี่หนึ่ง-วรพจน์ พันธุ์พงศ์) ฟังผมเล่า บรรณาธิการทั้งสองก็อยากให้ผมเขียน บอกว่าเครื่องดื่มมึนเมาถูกทำให้เป็นวายร้ายมาตลอด ถูกกีดกันออกไป โดยไม่มองถึงในแง่สุนทรียะ และมองกระบวนการผลิตเบียร์เป็นงานสร้างสรรค์ เป็นงานศิลปะอย่างหนึ่งของมนุษย์ 

บรรณาธิการทั้งสองท่านเชื่อว่าข้อเขียนของผมจักยังประโยชน์ในแง่การทำความเข้าใจ ‘ศิลปะงานฝีมืออีกแขนงหนึ่ง’ มากกว่าชักชวนคนอ่านให้ไปก่อการเบียดเบียนผู้อื่นอันเกิดจากความมึนเมา (นั่นเป็นเรื่องที่ผู้ดื่มจะต้องรับผิดชอบต่อตัวเองใช่ไหมล่ะ) – หน้า 14

พิมพ์ครั้งแรกหมดเกลี้ยงไปตามระเบียบ และในวันนี้หนังสือ Writer’s Taste ก็กลับมาพิมพ์ครั้งที่สอง โดย ‘สำนักพิมพ์จุติ’ เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ตามคำเรียกร้องของนักดื่มมากหน้า ซึ่งฉบับนี้เป็น New Edition ที่มีการแก้ไขข้อมูลให้อัปเดต มีบทใหม่เพิ่มเติม พร้อมรูปภาพสวยงามช่วยเสริมสร้างจินตนาการให้ผู้อ่าน รวมถึงยังพิมพ์สี่สีทั้งเล่ม และสำหรับใครที่พรีออเดอร์ทันจะได้ลายเซ็นนักเขียนกับ Beer Chart ขนาด A3 ให้ได้เชยชมความหลากหลายของแผนผังตระกูลเบียร์ด้วย

อย่างที่บอกไปในตอนต้นว่า หนังสือเล่มนี้เหมาะจะเป็นคัมภีร์หรือคู่มือสำหรับนักดื่มผู้อยากดื่มด่ำกับรสชาติประวัติศาสตร์เบียร์มากๆ เพราะเล่าด้วยวิธีการง่ายๆ สไตล์นักเขียนมือรางวัลผู้มีหนังสือกว่ายี่สิบเล่ม อ่านได้เพลิดเพลินลื่นไหล ช่วยรวบยอดข้อมูลกระจัดกระจายให้ได้เห็นภาพรวมที่ปะติดปะต่อสิ่งต่างๆ ในจักรวาลของเบียร์ได้อย่างสนุกสนานมากขึ้น

‘เบียร์เป็นมากกว่าความมึนเมา’ อ่าน Writer’s Taste คัมภีร์ดื่มประวัติศาสตร์ จิบวิวัฒนาการ สำราญรสเบียร์
Writer’s Taste คัมภีร์ดื่มประวัติศาสตร์ จิบวิวัฒนาการ สำราญรสเบียร์

Worldwide’s Taste
ส่งต่อความรู้ ไขข้อข้องใจสารพันปัญหาเมรัยจากทั่วมุมโลก

หนังสือเล่มนี้พาเราไปทำความรู้จักกับการแบ่งประเภทของเบียร์ และพาเดินทางท่องโลกย้อนกลับสู่จุดตั้งต้นในอดีตกาล สำรวจเรื่องเล่าเมรัยของประเทศต่างๆ ที่ก่อเกิดเป็นประเภทของเบียร์ ตั้งแต่ลาเกอร์ (Lager) กับเอล (Ale) ว่าต่างกันยังไง และนำไปสู่วงศาคณาญาติเบียร์ที่แยกย่อยออกมาอีกมากมายหลายประเภท อีกทั้งยังชวนมองสีสัน ค่าความขม หรือระดับแอลกอฮอล์ที่ทำให้เห็นว่าเบียร์แต่ละตัวมีคาแรกเตอร์แตกต่างกัน สไตล์ไหนเหมาะกับช่วงเวลาไหน เพื่อทำให้เราละเอียดลออระหว่างละเลียดดื่มในครั้งต่อๆ ไปได้อย่างสุนทรีย์

ภายในเล่มยังมีรูปถ่ายของประเภทเบียร์ต่างๆ ที่นักเขียนคนนี้ได้ไปลิ้มรสและแชะภาพมาอวดโฉมเพื่อให้ผู้อ่านสัมผัสรูป รส กลิ่น สี อย่างเต็มอิ่ม รวมถึงยังรวบรวมรสชาติของสายพันธุ์ฮอปส์หลายร้อยชนิดจากหลากประเทศ และประเภทมอลต์อันเป็นส่วนประกอบในการปรุงเบียร์ให้เราได้เรียนรู้เอกลักษณ์ สีสันของน้ำเบียร์ และสไตล์รสชาติ ผ่านงานเขียนที่บรรยายจนแทบจะได้กลิ่นและจินตนาการภาพตามได้ไม่ยาก

พ้นไปจากความรู้ด้านวัตถุดิบสำหรับสายดื่ม ในหนังสือเล่มนี้ก็มีเกร็ดความรู้เชิงประวัติศาสตร์ที่ถูกย่นย่อมาให้อ่าน เพื่อเป็นประตูเปิดออกไปสู่การเรียนรู้ที่เพิ่มมากขึ้น เช่น ในอดีตเบียร์เป็นส่วนหนึ่งในพิธีกรรมและการกินดื่มในชีวิตประจำวันของกษัตริย์ฟาโรห์ เบียร์เป็นเครื่องดื่มรักษาอาการป่วยไข้ เบียร์เคยใช้เป็นค่าแรงงานของคนสร้างพีระมิด เบียร์สามารถบริโภคได้ทั้งครัวเรือนแม้กระทั่งเด็ก หรือเบียร์พระทำที่หมักกันในอารามสงฆ์ เป็นต้น

Writer’s Taste คัมภีร์ดื่มประวัติศาสตร์ จิบวิวัฒนาการ สำราญรสเบียร์

สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความอยู่ยั้งยืนยงของเบียร์เบลเยียมคือพระนักบวช (ช่วง ค.ศ. 500) กล่าวได้ว่า พระท่านดื่มของมึนเมามาก่อน และทุกวันนี้ก็ยังทั้งปรุงทั้งดื่มอยู่

ในโลกยุคเก่า พระคือผู้รู้ ผู้ครอบครองความรู้และผู้เผยแผ่ระบบระเบียบต่างๆ ทั้งเรื่องที่เป็นวิทยาศาสตร์และจิตวิญญาณ การทำเบียร์เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ และในยุคกลางการดื่มเบียร์ปลอดเชื้อโรคมากกว่าดื่มน้ำเปล่า อารามสงฆ์จึงเป็นสถานแหล่งผลิตของมีประโยชน์ต่อชุมชน ที่ที่ผู้คนในชุมชนและนักแสวงบุญมาชุมนุมกัน… – บางส่วนจากบท ‘พระผู้รู้ ผู้ดื่ม ผู้เบิกบาน’

หรืออย่างเรื่องของ Portter ที่เป็นเบียร์ของคนใช้แรงงานโดยแท้ เพราะชื่อของสไตล์นี้ถูกกำหนดด้วยลักษณะของผู้บริโภคตั้งแต่แรกเริ่ม คือเหล่าคนใช้แรงงานในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ (ค.ศ. 1750 – 1850)

และอะไรที่เคยเป็นของชนชั้นแรงงาน กระทั่งอะไรที่เคยเป็นของบ้านนอก ชนบท เมื่อกาลเวลาผ่านเข้าสู่ยุคทุนนิยม การพัฒนาประเมินคุณค่า และมุมมองทัศนคติเกี่ยวกับอดีตก็จะเปลี่ยนผ่านไป ผู้คนชนชั้นกลางใหม่ หันมาให้ความสนใจและบริโภคของท้องไร่ท้องนาแบบปลอดสารพิษ ผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน สิ่งต่างๆ ที่เป็นของทำมือ จนเบียร์สไตล์นี้ชนใช้แรงงานปัจจุบันอาจไม่มีกำลังซื้อหาหรือเข้าถึงแล้วเพราะราคาเกินเอื้อม… – บางส่วนจากบท ‘เบียร์ของคนใช้แรงงาน (ยาใจคนยาก)’

โดยรวมแล้วหนังสือเล่มนี้ทำหน้าที่บันทึกเรื่องราววิวัฒนาการของเบียร์ไว้ตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์ ผ่านมาตามกาลเวลา จนถึงยุคใหม่ของเบียร์ ซึ่งทำให้เราเห็นถึงบริบททางสังคมในยุคต่างๆ ผ่านเครื่องดื่มชนิดนี้ไปด้วย

People’s Taste
เสรีภาพในการทำและดื่มเบียร์ของประชาชนไทย

ในหน้า 199 ของหนังสือ Writer’s Taste ผู้เขียนได้เล่าว่า 

หากนับตั้งแต่หนังสือ Writer’s Taste ดื่มประวัติศาสตร์ จิบวิวัฒนาการ สำราญรสเบียร์ จัดพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่ม เมื่อตุลาคม ปี 2014 คงจะนับได้ว่าเป็นหนังสือเกี่ยวกับเบียร์ในภาคภาษาไทยแรกๆ ได้กระมัง ที่มีการวางจำหน่ายตามร้านหนังสือ…

ตอนนี้ผ่านมาราวสิบปี หากมองกันในปัจจุบันปี 2023 องค์ความรู้เรื่องการกินดื่มในประเทศไทยนั้นขยายเพดานที่เคยมีออกไปอย่างกว้างขวางขึ้น ไม่ว่าจะในแง่ขององค์ความรู้ที่ถูกส่งต่อผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทั้งในรูปแบบงานวิจัย คอลัมน์งานเขียน หรือภาคสนามอย่างการจัดงานตลาดนัดเบียร์-สุราชุมชน รวมถึงเทศกาลงานหนังสือที่ขายเบียร์ก็ยังมี!

การต่อสู้เรียกร้องของประชาชนนำไปสู่วิวัฒนาการที่ส่งผลให้นักต้มเบียร์ผู้ผลิตรายย่อยได้โชว์ฝีมือแสดงงานศิลปะผ่านการบ่มหมักและถ่ายทอดรสชาติที่มุ่งมั่นพัฒนา เพื่อให้เกิดเบียร์ที่หลากหลายทั้งรสชาติและสไตล์ให้นักดื่มนักชิมได้มีทางเลือกมากกว่าที่ผ่านมา

กล่าวได้ว่าประเด็นที่วงการเบียร์พูดคุยกันในช่วงปี 2009 – 2014 นั้นคือการพูดเรื่องข้อมูลความรู้ ประวัติศาสตร์ ข้อเท็จจริง ศิลปะและสุนทรียะของการทำและดื่มเบียร์ การนำประเด็นนี้ขึ้นมาเป็น ‘ประเด็นนำ’ ก็เพราะตอนนั้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังคงมีภาพเป็น ‘วายร้าย’ ในสังคมไทย มีมาตรการทางกฎหมาย นโยบายของหน่วยงานส่งเสริมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และองค์กรทางศีลธรรมต่างร่วมมือกันสกัดยับยั้ง ออกข้อบังคับ ข้อห้าม ความผิดบาป และให้ร้ายเกินจริง กดเพดานเสรีภาพทางเลือกในการดื่มให้ต่ำเตี้ย มีการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายเกินกว่าเหตุ อาศัยช่องว่างของกฎหมายทั้งเรียกเก็บสินบน รางวัลนำจับอย่างเกินขอบเขตในทุกๆ เรื่อง… – บางส่วนจากบท ‘เสรีภาพในการทำและดื่มเบียร์ของประชาชนไทย’

นับได้ว่าหนังสือ Writer’s Taste พิมพ์ครั้งที่สองของ ‘อุทิศ เหมะมูล’ ในวาระครบรอบ สิบปีเล่มนี้ นอกจากจะเป็นการเล่าเรื่องเบียร์และประวัติศาสตร์ต่างๆ ของเครื่องดื่มสุดฮิตจากทั่วมุมโลกแล้ว ยังเป็นอีกบันทึกหนึ่งที่ทำให้เราได้รับรู้ รับรส และรับฟังการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยในแวดวงการคราฟต์เบียร์ไทยว่าเกิดสิ่งสำคัญใดบ้างตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาด้วย

ในหน้าที่ 217 นักเขียนได้สรุปวิวัฒนาการเบียร์ในประเทศไทยไว้ด้วยถ้อยคำไม่กี่บรรทัดหากแต่ครบถ้วน

“หนึ่งทศวรรษที่ผ่านมาของวงการคราฟต์เบียร์ไทยพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นมากกว่าของมึนเมา ผิดศีลธรรม และก่อปัญหาทางอาชญากรรม แต่มันคือสิ่งที่สะท้อนถึงอารยธรรม ศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ที่รุ่มรวย มีเสรี และรู้คิดของผู้คนในประเทศ เพราะเบียร์ดีๆ สักแก้วจะทำให้เราใคร่ครวญ ปรารถนาสิ่งดีๆ ให้กับตัวเอง และตระหนักว่าเราต้องลุกขึ้นคว้าไขว่ เพื่อชีวิตที่ดีกว่า และแบ่งปันสิ่งดีๆ ให้กับมิตรสหายร่วมดื่ม

“ดื่มแด่มิตรภาพ!”

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.