‘วุ้นเป็ดธนัน’ ของฝากในตำนานแห่งสมุทรสงคราม - Urban Creature

ใครรู้จัก ‘วุ้นเป็ด’ บ้าง? 

คนไม่รู้จักอาจนึกภาพไม่ออกว่าหน้าตาของวุ้นเป็ดเป็นยังไง ทำมาจากเนื้อเป็ดหรือเปล่า ส่วนใครเคยกินก็ต้องร้องอ๋อ เพราะมันคือวุ้นกะทิมะพร้าวอ่อนทรงเป็ดน้อยอวบอ้วน ของฝากยอดฮิตที่หาซื้อได้ทั่วประเทศไทย 

แม้ว่าวุ้นเป็ดจะมีขายตามร้านอาหารและสถานที่ท่องเที่ยวทั่วไป แต่รู้หรือไม่ว่า ออริจินัลของขนมไทยเนื้อหอมนี้มาจาก ‘สมุทรสงคราม’ ใช่แล้ว เรากำลังพูดถึง ‘วุ้นเป็ดธนัน’ ต้นตำรับวุ้นเป็ดที่มีความโดดเด่นเรื่องรสชาติ ความสดใหม่ และราคาที่จับต้องได้ วุ้นเป็ดธนันจึงกลายเป็นหนึ่งในแบรนด์ไทยที่ยืนหนึ่งเรื่องวุ้นกะทิมะพร้าวหอมมากว่า 10 ปี

ทีม Urban Creature จะพาทุกคนมุ่งหน้าไปที่อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อพูดคุยกับ ‘คุณธนภร เล็กเครือสุวรรณ’ หรือ ‘แม่จิ๋ม’ ผู้ให้กำเนิดวุ้นเป็ดธนัน จากการทำวุ้นขายเพื่อหาเลี้ยงปากท้อง จนตอนนี้กลายเป็นแบรนด์วุ้นเป็ดที่ติดตลาดไปแล้ว 

เคล็ดลับความสำเร็จคืออะไร สไตล์การทำธุรกิจเป็นแบบไหน และทำไมวุ้นต้องเป็น ‘เป็ด’ เราจะพาทุกคนไปฟังคำตอบจากแม่จิ๋ม ณ บัดนี้!

วุ้นเป็ดธนัน

เราออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ประมาณ 8 โมงเช้า ใช้เวลาไม่นานราวหนึ่งชั่วโมงครึ่ง รถก็ไปจอดอยู่ที่หน้าอาคารพาณิชย์สองคูหาติดถนนสมุทรสงคราม-บางแพ อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ข้างหน้าร้านมีเป็ดยักษ์ตัวหนึ่งยืนอยู่ ส่วนกระจกร้านมีโลโก้อักษรสีชมพูเขียนว่า ‘วุ้นเป็ดธนัน’ ทำให้รู้ทันทีว่า เรามาถึงจุดหมายปลายทางแล้ว

วุ้นเป็ดธนัน

เมื่อลงจากรถ แม่จิ๋มธนภร เล็กเครือสุวรรณ ก็ทักทายพวกเราอย่างเป็นกันเองและพาเดินทัวร์ร้านทันที!

หน้าร้านคือจุดขายวุ้นเป็ดและของฝากอื่นๆ แต่เมื่อเดินไปหลังร้านเราก็ได้กลิ่นกะทิและมะพร้าวหอมอบอวลไปทั่ว เพราะข้างในคือสถานที่สำหรับทำวุ้นเป็ดโดยเฉพาะ พื้นที่ขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ถูกแบ่งออกเป็นโซนต่างๆ เราเริ่มตื่นเต้นและอยากรู้ว่าแต่ละขั้นตอนต้องทำอะไรบ้าง…

เริ่มสำรวจกันที่หลังบ้าน บริเวณสำหรับปอกและแกะมะพร้าว พี่ๆ ทีมงานกำลังขูดมะพร้าวอย่างขะมักเขม้นและทักทายเราอย่างอารมณ์ดี และยังใจดีให้เราชิมเนื้อมะพร้าวหอมที่แกะกันสดๆ ด้วย 

ถัดมาคือโซนสำหรับต้มวุ้น ทีมงานกำลังผสมกะทิ มะพร้าว และน้ำตาลเข้าด้วยกัน ก่อนจะนำไปต้มรวมกับใบเตย หลังจากนั้นต้องคอยคนวุ้นและควบคุมอุณหภูมิไปพร้อมๆ กัน 

สุดท้ายคือห้องสำหรับเทวุ้นและแกะวุ้น เป็นห้องอุณหภูมิเย็นเพื่อให้วุ้นเซตตัวและคงรูป ทีมงานกำลังหยอดวุ้นที่ต้มสุกแล้วลงแม่พิมพ์รูปเป็ดทีละช่องๆ และยังคอยเกลี่ยเนื้อมะพร้าวให้เป็ดแต่ละตัวอย่างประณีต

แม้จะเป็นการทัวร์สั้นๆ แต่ก็ทำให้เห็นว่า กว่าจะมาเป็นวุ้นเป็ดหนึ่งตัวต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งการทำขนมง่ายๆ อย่างวุ้น ก็กลายเป็นธุรกิจที่ยิ่งใหญ่และจริงจังได้เหมือนกัน

วุ้นเป็ดธนัน

จุดเริ่มต้นจากสูตรวุ้นของพี่ชาย

เรานั่งลงคุยกับแม่จิ๋มเกี่ยวกับวุ้นเป็ดธนันอย่างจริงจัง ในห้องปฏิบัติการที่กลิ่นกะทิยังฟุ้ง

ผู้ให้กำเนิดวุ้นเป็ดแห่งบางคนทีเล่าว่า ไม่ได้ตั้งใจทำธุรกิจขายวุ้นเป็ดมาตั้งแต่แรก แรกเริ่มคือการทำกินกันในครอบครัว โดยพี่ชายของแม่จิ๋มคือคนทำวุ้นให้หลานๆ กิน แต่เด็กๆ ไม่ค่อยชอบกินขนมแบบนี้ ทางครอบครัวจึงเอาวุ้นไปแจกคนอื่นบ้าง เอาไปช่วยงานต่างๆ บ้าง พี่ชายเอาพิมพ์ทรงเป็ดมาใช้ตั้งแต่แรกเลย คนจึงติดปากเรียกวุ้นของครอบครัวนี้ว่า ‘วุ้นเป็ด’ 

หลังจากพี่ชายย้ายไปกรุงเทพฯ น้องสาวก็ยังคงทำขนมแจกคนอื่นเป็นงานอดิเรกและดัดแปลงสูตรเรื่อยมา แต่จุดเริ่มต้นของธุรกิจวุ้นเป็ดธนันเกิดขึ้นจริงๆ จังๆ เมื่อประมาณ 15 ปีก่อน ในตอนนั้นแม่จิ๋มต้องหยุดงานเย็บผ้าที่ทำอยู่ประจำ เพื่อมาดูแลลูกๆ ที่ยังเล็ก และคุณยายที่ล้มป่วยด้วย จึงใช้เวลาว่างทำวุ้นเป็ด โดยนำไปฝากร้านต่างๆ ขาย และได้เพื่อนมาช่วยกระจายขนมอีกแรง ประจวบกับช่วงที่ตลาดน้ำอัมพวาเปิด วุ้นเป็ดก็เลยเริ่มขยายวงกว้างขึ้น

“ทีแรกมันก็ยังเลี้ยงตัวเองไม่ได้ แต่ทำวุ้นก็ดีกว่าไม่มีอะไรทำเลย ก็ทำไปเรื่อยๆ จนมันเริ่มติดตลาด เริ่มดีขึ้น แม่ก็เลยไปจดสิทธิบัตร แล้วก็ตั้งชื่อ มันก็เลยติดปากขึ้นมา”

สรุปได้ว่า จุดเริ่มต้นของวุ้นเป็ดธนันเกิดขึ้นจากการค้าขายเพื่อเลี้ยงปากท้อง หลังจากนั้นก็จับพลัดจับผลูจนเป็นธุรกิจแบบเต็มตัว

ทำไมต้อง ‘เป็ด’?

“ทำไมถึงเป็นเป็ดคะ?” เราถามคำถามที่สงสัยมานาน 

คำตอบไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่คิดไว้ แม่จิ๋มอธิบายว่า พิมพ์วุ้นเป็ดคือพิมพ์ที่พี่ชายใช้ตั้งแต่แรกและทิ้งเอาไว้ ทางร้านก็เลยใช้ต่อเรื่อยมา อีกเหตุผลก็คือมันน่ารัก เห็นเป็นตัว และแกะออกจากพิมพ์ง่าย ร้านเคยลองใช้พิมพ์อื่นๆ อย่างเช่นเต่า แต่ก็ไม่เวิร์ก

วุ้นเป็ดธนัน

ปกติแล้วร้านอื่นๆ จะเอาชื่อตระกูลหรือชื่อเจ้าของมาตั้งเป็นชื่อร้าน แต่ที่นี่ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะคำว่า ‘ธนัน’ ไม่ใช่ชื่อของใคร แต่เป็นคำที่มีผู้รู้ตั้งให้ ซึ่งธนันมีความหมายว่าทรัพย์สินที่เพิ่มพูน วุ้นเป็ดธนันจึงหมายถึงวุ้นเป็ดที่ทำให้เพิ่มพูนนั่นเอง

แม้ว่าวุ้นเป็ดธนันจะขึ้นทะเบียน อย. และจดสิทธิบัตรแล้ว แต่เราก็ยังเห็นว่ามันเป็นขนมที่ถูกก๊อบปี้เยอะมากเหมือนกัน

“แรกๆ ก็เครียดนะว่าเขาทำแบบเรา แต่ก็มีผู้ใหญ่ให้กำลังใจว่า ทำมาก่อนใช่มั้ย ถ้ามีคนเลียนแบบ ลูกค้าจะมีที่เปรียบเทียบ เพราะฉะนั้นเราต้องคงคุณภาพไว้ ดังนั้นไม่ว่ามะพร้าวจะถูกหรือจะแพง แม่ไม่เคยปรับเปลี่ยนสูตร ไม่เคยลดมะพร้าว ไม่เคยลดกะทิ ช่วงหน้ามะพร้าวถูก แม่ก็ไม่ได้เพิ่มเนื้อมะพร้าว แม่ก็คงไว้ตามสูตร ใช้วิธีเฉลี่ยต้นทุนกันไป”

วุ้นเป็ดธนัน

หัวใจสำคัญของวุ้นเป็ดธนัน

“สินค้าของเราแข่งขันกับร้านในท้องตลาดได้ เพราะคุณภาพ” คุณภาพจึงเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้วุ้นเป็ดธนันต่างจากวุ้นเจ้าอื่นๆ ซึ่งคุณภาพที่ดีนั้นต้องมาจากวัตถุดิบที่ดีด้วย

วุ้นเป็ดธนันได้เลือกใช้วัตถุดิบที่หาได้ในสมุทรสงคราม เพราะที่นี่เป็นเมืองแห่งมะพร้าว และยังเพียบพร้อมไปด้วยวัตถุดิบธรรมชาติอื่นๆ ด้วย

ข้อดีของการใช้วัตถุดิบใกล้ตัวก็คือหาง่ายและยังได้คุณภาพตามที่ต้องการ แม่จิ๋มย้ำว่า วุ้นเป็ดธนันต้องใช้วัตถุดิบจากสมุทรสงครามเท่านั้น เพราะถ้าใช้วัตถุดิบที่ใกล้เคียงหรือมาจากที่อื่นๆ ยังไงก็ไม่ได้รสชาติแบบต้นตำรับ

วุ้นเป็ดธนัน

“มะพร้าวน้ำหอมมันก็มีเอกลักษณ์ของมัน คือยิ่งเราเอามาปรุงมาต้มให้สุก มันจะหอม จะเป็นกลิ่นธรรมชาติของมัน เป็นอะไรที่เราไม่สามารถเลียนแบบกลิ่นของมันได้”

อีกเคล็ดลับคือ มะพร้าวน้ำหอมที่เลือกใช้ก็ต้องเป็นมะพร้าวอ่อนแบบชั้นครึ่งถึงสองชั้น ซึ่งเป็นเนื้อที่ไม่แข็งไม่นุ่มเกินไป ที่เลือกใช้มะพร้าวแบบนี้ก็เพราะความคุ้นลิ้นของคนคิดสูตร ตั้งแต่เด็กต้องกินเนื้อแบบนี้ถึงจะอร่อยละมุนลิ้น

วุ้นเป็ดธนัน

ถือเป็นข้อดีของสมุทรสงครามที่มีแหล่งธรรมชาติที่พร้อมและมีผลผลิตคุณภาพดี ทำให้วุ้นเป็ดธนันไม่ต้องตะเกียกตะกายสั่งวัตถุดิบมาจากที่อื่นๆ 

ตอนนี้วุ้นเป็ดธนันมีโรงมะพร้าว ร้านคั้นกะทิ และร้านตัดใบเตยเจ้าประจำ ที่คอยคัดสรรและส่งวัตถุดิบให้ ทางร้านจึงได้วัตถุดิบที่มีมาตรฐานและยังได้อุดหนุนเกษตรกรในพื้นที่อีกด้วย

ในความคิดเห็นของแม่จิ๋ม การทำขนม โดยเฉพาะขนมไทยโบราณ เป็นเหมือนศาสตร์ชนิดหนึ่ง ขนมที่อร่อยมาจากสัญชาตญาณของคนทำ ที่เกิดจากการเรียนรู้และการลองผิดลองถูกโดยไม่มีทฤษฎีตายตัว 

นอกจากความหอมและความสดใหม่ของวัตถุดิบแล้ว พิมพ์ที่ใช้ก็เป็นพิมพ์ที่ทางร้านสั่งทำโดยเฉพาะ และมีการจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงมั่นใจว่า ทรงเป็ดของร้านไม่เหมือนวุ้นเป็ดที่ขายตามท้องตลาดแน่นอน

การค้าสไตล์ ‘แม่’ ที่แคร์คนรอบข้าง

จากที่ไม่ได้คิดทำแบรนด์หรือทำร้านอย่างจริงจัง คิดแค่ว่าให้อยู่รอด มีเงินซื้อข้าว มีเงินส่งลูกเรียน แต่ผ่านไป 10 กว่าปี วุ้นเป็ดธนันเติบโตขึ้นหลายเท่าตัว 

ในตอนแรกแม่จิ๋มทำทุกขั้นตอนเพียงคนเดียว ตั้งแต่ปอกมะพร้าว แกะเนื้อมะพร้าว คั้นกะทิ ต้มวุ้น ไปจนถึงหยอดวุ้น หลังจากนั้นก็มีคนทยอยมาช่วยทำงานเรื่อยๆ จนตอนนี้ทีมงานวุ้นเป็ดธนันมีสมาชิกมากกว่า 10 คนแล้ว

ปัจจุบันทางร้านมีลูกค้าประจำที่รับวุ้นเป็ดไปขายต่อ การทำวุ้นเป็ดจึงเป็นระบบทำตามจำนวนออเดอร์ และจะทำเผื่อไว้บางส่วนสำหรับขายปลีกหน้าร้าน ซึ่งขณะที่แม่จิ๋มเล่าให้ฟัง เราก็เห็นลูกค้าแวะมาซื้อวุ้นเป็ดที่หน้าร้านอย่างไม่ขาดสาย

วุ้นเป็ดธนัน

‘ราคา’ เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้วุ้นเป็ดธนันเป็นที่รู้จักและติดตลาดอย่างรวดเร็ว วุ้นหนึ่งกล่องมีราคาอยู่ที่ 25 – 80 บาท เป็นราคาที่จับต้องได้ จะซื้อเป็นขนมกินเล่นก็ดี หรือจะซื้อเป็นของฝากก็ได้ 

แม่จิ๋มย้ำว่าถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ทางร้านจะไม่ปรับราคาสินค้าเลย ยกตัวอย่างช่วงที่มะพร้าวราคาขึ้นถึงลูกละ 30 กว่าบาท (ตอนนี้ลูกละประมาณ 12 บาท) ทางร้านก็ไม่ได้ปรับราคา เพราะมองว่าเอามาเฉลี่ยกับกำไรในช่วงที่ราคาวัตถุดิบถูก 

อีกเหตุผลก็คือสงสารและนึกถึงใจของลูกค้า อยากให้ทุกคนได้กิน เพราะตัวเองก็เคยผ่านช่วงลำบากมาเหมือนกัน

“(แต่ก่อน) เราอยากกินของที่มันราคาแพงๆ เราไม่กล้าซื้อให้ลูกกิน เรานึกถึงตรงนี้ เราเคยผ่านมาแล้ว” 

วุ้นเป็ดธนัน

สำหรับการทำธุรกิจในยุคใหม่ที่เครื่องยนต์สามารถทำงานแทนมนุษย์ได้แล้ว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิต วุ้นเป็ดธนันเองก็เคยมีคนแนะนำให้ใช้เครื่องยนต์ทำวุ้นเหมือนกัน แต่แม่จิ๋มยังคิดว่าการทำวุ้นยังคงต้องพึ่งฝีมือมนุษย์ เพราะต้องต้มกะทิให้ได้อุณหภูมิที่พอเหมาะ หากต้มไม่ดี หัวกะทิและความมันจะหลุด ทำให้วุ้นใส ขาดความเข้มข้น 

ส่วนเวลาหยอดวุ้นลงพิมพ์ก็ต้องเกลี่ยเนื้อมะพร้าวให้วุ้นแต่ละชิ้นเท่าๆ กัน วุ้นเป็ดธนันจึงเชื่อมั่นว่า การทำขนมด้วยมือมนุษย์คือวิธีที่ดีที่สุด เพราะขนมก็ไม่ต่างจากงานประดิษฐ์ ที่ต้องการความเอาใจใส่และความประณีต

อีกเหตุผลที่ทางร้านยังไม่มองหาเครื่องยนต์มาทำงานแทนมนุษย์ นั่นก็เพราะนึกถึงคนงานที่อยู่ด้วยกันมาตลอด

“ถ้าเราเอาเครื่องยนต์มาแล้ว จะเอาคนไปไว้ที่ไหน เพราะคนที่มาอยู่คือแม่บ้านทั้งนั้น กับเด็กนักเรียน ลูกที่อยู่บ้าน อย่างบ้านไหนมีลูกผู้หญิง ตอนโรงเรียนปิดเทอมสมัยก่อน เราบอกให้พาเด็กๆ มาช่วยแกะวุ้น ช่วยงานอื่นๆ ก็จะได้กินขนม กินอะไรกันไป”

วุ้นเป็ดธนัน

“ตอนที่โควิดระบาด เราไม่ได้นึกอะไร เรามีกิน เราอยู่ได้ เราอยู่เฉยๆ เป็นเดือนเราก็มีกิน เพราะว่าเราก็ไม่ได้กินอะไรมากมาย แล้วคนงานล่ะ ลูกต้องส่งเรียน บ้านต้องเช่า ข้าวต้องซื้อ เขาจะเอาเงินที่ไหนจ่าย เขาก็ต้องดิ้นรนไปหางานกับคนอื่น ถ้ามีงานอื่นทำแล้ว เวลาที่เรากลับมาขายได้ปกติ เราจะเรียกเขากลับมาเหรอ มันไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถึงจะเหนื่อย เราก็เดินไปด้วยกัน ยามไหนที่สบาย เราก็สบายด้วยกัน แม่คิดอย่างนี้นะ ไม่ได้คิดอะไรมาก”

คำตอบที่จริงใจทำให้เราเห็นว่า วุ้นเป็ดธนันคือการทำธุรกิจด้วยอินเนอร์ของคนเป็นแม่ ที่นึกถึงใจของลูกค้าและคนทำงานมากจริงๆ 

ธุรกิจที่ไม่หวือหวาแต่มั่นคง

วุ้นเป็ดธนันคือธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ จนพูดได้เต็มปากว่า นี่คือหนึ่งในต้นตำรับของฝากแห่งสมุทรสงคราม

ตอนนี้วุ้นเป็ดธนันจึงมีทั้งหมด 3 สาขา สาขาแรกอยู่สมุทรสงคราม อีก 2 สาขาอยู่ในกรุงเทพฯ ที่ลาดกระบังและประชาอุทิศ 54 ที่มีพี่ชายของแม่จิ๋มเป็นคนดูแล สินค้าของทั้ง 3 สาขามีคุณภาพเดียวกัน วัตถุดิบจากที่เดียวกัน แต่ใช้โลโก้คนละสี ได้แก่ ชมพู เขียว และฟ้า เห็นแล้วจะได้รู้ทันทีว่าเป็นสินค้าจากสาขาไหน 

วุ้นเป็ดธนัน

เมื่อถามถึงแพลนขยายธุรกิจหรือทำสินค้าใหม่ๆ แม่จิ๋มตอบว่ายังไม่มี ขอมุ่งทำวุ้นเป็ดแบบเดิมไปก่อน ส่วนแพลนขายแฟรนไชส์ก็ยังไม่มีเช่นกัน ไม่ใช่เพราะหวงสูตร แต่มองว่าขั้นตอนการทำ การสร้างแบรนด์ การเปิดตลาด การหาวัตถุดิบ นั้นลำบาก จึงแนะนำว่ารับไปขายต่อง่ายกว่า

แม่จิ๋มทิ้งท้ายว่า จะประคองธุรกิจนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะทำไม่ไหว โดยในอนาคตก็เตรียมส่งไม้ต่อให้ลูกสาวดูแล 

วุ้นเป็ดธนัน

หลังจากได้นั่งคุยกับผู้บุกเบิกวุ้นเป็ดเจ้าดังของประเทศไทย เราก็สัมผัสได้ว่า นี่คือการทำธุรกิจที่เน้นความเรียบง่ายและความเอาใจใส่ จนกลายเป็นขนมไทยที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ แต่ก็มีความโฮมเมดอยู่ในตัว 

ก่อนกลับแม่จิ๋มก็บอกลาพวกเราอย่างอบอุ่น แถมยังเอาวุ้นเป็ดให้เราเป็นของฝากอีกหลายกล่องด้วย ซึ่งก็อร่อยและกินเพลินสมคำร่ำลือ และหลังจากนี้เราคงไม่สามารถมองวุ้นเป็ดเป็นขนมธรรมดาๆ แบบเดิมอีกต่อไป เพราะวุ้นแต่ละชิ้นอัดแน่นด้วยทั้งอินเนอร์และรสชาติของบางคนทีแบบเต็มคำ

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.