ใครเคยผ่านเส้นวิทยุ-พระราม 4 หรือเคยแวะเวียนไป ‘One Bangkok’ อาจเคยพบการก่อสร้างขนานใหญ่ที่วันนี้เสร็จสมบูรณ์พร้อมให้ทุกคนได้เข้าไปเยี่ยมชม กับ ‘โครงการอนุรักษ์อาคารสถานีวิทยุโทรเลขศาลาแดง’ ซึ่งจัดแสดงอยู่ในอาคารสีเขียวขาว จำลองสถานีวิทยุโทรเลขแห่งประเทศไทยที่ครั้งหนึ่งเคยถูกเปิดใช้งานเมื่อ 111 ปีก่อน
นิทรรศการนี้เป็นนิทรรศการถาวรจากการร่วมงานของทีม One Bangkok กรมศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม และนักโบราณคดี เพื่อย้อนชีวิตและลมหายใจของสถานีวิทยุที่เป็นจุดส่งสัญญาณจากกรุงเทพฯ ไปยังสงขลาและเยอรมนีได้สำเร็จ
นอกจากนี้ ภายใต้อาคารสีเขียวขาวดูสวยงามยังเก็บฐานอาคารและตอม่อของอาคารจริง รวมถึงยังมีเสาส่งสัญญาณวิทยุความสูงจริง 60 เมตรเอาไว้ด้วย โดยที่เราจะเห็นความสูงของเสาได้เพียง 20 เมตรจากยอดเท่านั้น เพราะอีก 40 เมตรที่เหลือถูกฝังไว้ใต้ดินนั่นเอง
นิทรรศการนี้เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และเรื่องราวของการเปลี่ยนผ่านพื้นที่จากครั้งหนึ่งที่เคยเป็นสถานีวิทยุ ก่อนกลายเป็นพื้นที่ของทหารเรือ โรงเรียนเตรียมทหาร สนามมวยเวทีลุมพินี และกลายเป็นที่ตั้งของ One Bangkok ในปัจจุบัน
จากการเก็บรวบรวมข้าวของและหลักฐานเชิงประวัติศาสตร์ที่จัดแสดงไว้ให้เราได้เห็นถึงรากเหง้าของพื้นที่ อย่างชุดเครื่องชามจากหลากหลายประเทศ ทั้งจีน ญี่ปุ่น หรือขวดเหล้าที่คาดว่าเป็นของใช้ของทหารในอดีต รวมถึงชุดฉนวนแก้วที่อยู่ด้านล่างของเสาวิทยุด้วยเช่นกัน
นิทรรศการนี้ประกอบด้วย 4 โซนที่น่าสนใจ โดยมีโซนที่ 1 นำเสนอเรื่องยุควิทยุโทรเลข เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการสื่อสารไร้สายของประเทศ และนำพาความทันสมัยมาสู่ย่านแห่งนี้ โดยมีข้อมูลเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมของอาคารสถานีฯ เทคโนโลยีวิทยุโทรเลข และการเชื่อมต่อกับยุโรปโดยตรงเป็นครั้งแรก รวมถึงความแตกต่างระหว่างโทรเลขและวิทยุโทรเลข
โซนที่ 2 เกี่ยวกับยุควิทยุกระจายเสียง พูดถึงพัฒนาการของการกระจายเสียง บรรยากาศ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการกระจายเสียงในยุคนั้น ซึ่งผู้ชมนิทรรศการจะได้ลองฟังเสียงประเภทต่างๆ ที่ออกอากาศในสมัยนั้น รวมถึงได้เรียนรู้เกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างวิทยุแร่และวิทยุหลอด
ก่อนมาสู่โซนที่ 3 ช่วงของการขุดค้น อนุรักษ์ และปฏิสังขรณ์ เน้นย้ำถึงความสำคัญของการอนุรักษ์อาคารโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบในพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งมีคุณค่าในการสะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนในช่วงเวลานั้น การสร้างอาคารที่สูญหายไปแล้วกลับขึ้นมาใหม่
และโซนสุดท้าย โซนที่ 4 เป็นเรื่องราวของย่านวิทยุ-พระราม 4 ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต เล่าถึงพัฒนาการของย่านตั้งแต่ยุคทุ่งศาลาแดง ความเป็นสมัยใหม่ในแง่มุมต่างๆ ตั้งแต่นวัตกรรม สถาปัตยกรรม วิธีคิด และวิถีชีวิตของผู้คน
ในโซนเดียวกันนี้ยังมีผลงานศิลปะ ‘PintONE’ จาก ‘วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์’ เจ้าของรางวัลศิลปาธร สาขาการออกแบบ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งที่ขุดเจอในพื้นที่ เช่น ไหน้ำปลาและเศษกระเบื้องต่าง ๆ และผลงาน ‘Greeting of Times’ ของ ‘นักรบ มูลมานัส’ ที่นำภาพผู้คน สิ่งของ สถาปัตยกรรม และกิจกรรมที่สะท้อนความเป็นสมัยใหม่ต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นในย่านวิทยุ-พระราม 4 มาเรียบเรียงขึ้นใหม่ด้วยเทคนิคการตัดแปะหรือคอลลาจลงบนแม่พิมพ์ทองแดงโลหะที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการสื่อสารด้วยวิทยุโทรเลข
ใครสนใจและอยากเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของสถานีวิทยุโทรเลขที่ถูกลืมเลือน ก็แวะเวียนไปชมนิทรรศการดีๆ กันได้ที่ The Wireless House One Bangkok ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.00 – 20.00 น. ไม่มีค่าเข้าชม