อยากรวยให้แทงหวย กำลังตามหาคนรักต้องไปไหว้ขอพร จะขึ้นบ้านใหม่ต้องมีฤกษ์งามยามดี ลองเปลี่ยนเบอร์ด้วยเลขมงคล งานและเงินจะไหลมาเทมา ฯลฯ
จะว่าไปแล้วเรื่องไสยศาสตร์ ความเร้นลับ เครื่องรางของขลัง ความศรัทธา หรือเรื่องเหนือธรรมชาติ ล้วนอยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทยมาทุกยุคสมัย ตั้งแต่เกิดจนตายเรามีอันต้องสัมพันธ์อยู่กับความเชื่อที่ส่งต่อกันมาจากโบราณจนถึงทุกวันนี้
ความเชื่อนั้นมีหลายแบบ โดยเฉพาะหลังจากผ่านยุคโรคระบาดมา สถานการณ์ความไม่แน่นอน การคาดเดาที่แปรผกผัน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย เศรษฐกิจตกต่ำ ปัญหาสังคมบ้านเมือง หรือเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็พากันโหมกระหน่ำเข้ามาให้ร้อนจิตร้อนใจอย่างไม่ขาดสาย
ด้วยเหตุปัจจัยเช่นนี้ ทำให้ความเชื่อแบบที่เรียกว่า ‘มูเตลู’ กลายเป็นความนิยมที่ถูกพูดถึงมากกว่าเดิม นอกจากจะเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ มูเตลูยังเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการขับเคลื่อนชีวิตและเป็นส่วนหนึ่งในไลฟ์สไตล์ของกลุ่มคนที่นิยามว่าตัวเองเป็น ‘สายมูฯ’ อีกทั้งยังเป็นแฟชั่น เป็นธุรกิจ และเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศอย่างมหาศาลด้วย
คอลัมน์ Overview ประจำเดือนมีนาคม ขอพาทุกคนแหวกอากาศร้อนๆ ของเมืองไทย เพื่อไปสำรวจความเป็นไปของธุรกิจ การท่องเที่ยว และสิ่งต่างๆ ที่เกิดจากศาสตร์ของมูเตลูในประเทศนี้
คำเตือน : โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน
สายใยสายมูฯ
‘มูเตลู’ กล่าวโดยย่อคือส่วนผสมของไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ ศาสนาพุทธ-พราหมณ์ ผี สิ่งเร้นลับเหนือธรรมชาติ ฯลฯ รวมกันแล้วกลายเป็นความเชื่อที่นำไปสู่การนับถือ บูชา บนบาน ขอพร ต่อสรรพสิ่งทั้งหลาย ซึ่งกลายเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของใครหลายๆ คนในที่สุด
มีการสันนิษฐานว่า คำว่ามูเตลูมาจากภาพยนตร์สยองขวัญของอินโดนีเซียชื่อว่า ‘Penangkal Ilmu Teluh’ หรือในชื่อภาษาไทยว่า ‘มูเตลู ศึกไสยศาสตร์’ เป็นหนังเก่าเมื่อสี่สิบปีที่แล้ว ฉายเรื่องราวของสองหญิงสาวที่เปิดศึกชิงชายอันเป็นที่รัก ทั้งสองห้ำหั่นกันด้วยมนตร์คาถาที่มีคำว่า มูเตลูมูเตลู เป็นส่วนประกอบ
ปัจจุบันมูเตลูหรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘สายมูฯ’ ไม่ใช่เรื่องของมนตร์ดำ คุณไสย หรือความลี้ลับอย่างเช่นในภาพยนตร์ เพราะมูเตลูในความหมายปัจจุบันเป็นไปในเชิงบวก เพื่อช่วยส่งเสริมให้ชีวิตด้านต่างๆ อาทิ เรื่องเรียน การงาน การเงิน ความรัก สุขภาพ ครอบครัว ฯลฯ ให้เกิดความเป็นสิริมงคลและเป็นไปในทางที่ดีขึ้น รวมถึงการมีวัตถุเช่น พระเครื่อง ปลัดขิก ตะกรุด ฯลฯ พกติดตัวไว้เพื่อคุ้มครองป้องกันภัยให้แคล้วคลาดจากอันตราย หรือใช้เป็นพลังเมตตามหานิยมก็ได้
ข้อมูลที่น่าสนใจจาก ‘Marketing in the Uncertain World การตลาดของคนอยู่เป็น’ เมื่อปี 2563 โดยวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า คนไทยกว่า 52 ล้านคน หรือประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งประเทศในปัจจุบันมีความเชื่อเรื่อง ‘โชคลาง’
มากไปกว่านั้น ทางวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้สำรวจความเชื่อเรื่องโชคลางยอดนิยมของคนไทย โดยสรุป 5 อันดับแรกได้ ดังนี้
1) การพยากรณ์รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน/การดูลายมือ/การดูไพ่ยิปซี
2) พระเครื่องและวัตถุมงคล
3) สีมงคล
4) ตัวเลขมงคล
5) เรื่องเหนือธรรมชาติ
ส่วนการสำรวจข้อมูลการเข้าถึงเนื้อหาเกี่ยวกับมูเตลูและเรื่องโชคลางของคนไทย ยัง แบ่งเป็น 5 ช่องทางหลัก ดังนี้
1) โซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ 73.8 เปอร์เซ็นต์
2) บุคคลรอบข้าง 59.6 เปอร์เซ็นต์
3) ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์นั้นๆ 29.7 เปอร์เซ็นต์
4) หนังสือพิมพ์และนิตยสาร 20.1 เปอร์เซ็นต์
5) สื่อโทรทัศน์และวิทยุ 19.6 เปอร์เซ็นต์
เมื่อดูข้อมูลของผลสำรวจแล้วลองหันกลับมามองผู้คนรอบๆ จะพบว่า มูเตลูได้กลายเป็นมากกว่าแค่ความเชื่ออย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้จากแฟชั่นเสื้อผ้าสีประจำวันที่ช่วยทำให้ดวงการงานหรืออุปสรรคต่างๆ ในวันนั้นราบรื่น รวมไปถึงเครื่องประดับทั่วร่างกายทั้งสร้อย แหวน กำไลข้อมือ ฯลฯ
หรือแม้แต่ภาพวอลล์เปเปอร์บนหน้าจอมือถือที่มีส่วนช่วยเสริมเรื่องมากมายในชีวิตให้เป็นไปได้อย่างที่ใจคิด เท่านั้นยังไม่พอ ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งนี้ พรรคการเมืองต่างๆ ยังนำเรื่องมูเตลูมาสร้างสรรค์คอนเทนต์เพื่อประชาสัมพันธ์เรียกคะแนน
นอกจากนี้ยังมีแพลตฟอร์มและคอมมูนิตี้อีกเพียบที่สร้างขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์สำหรับสายมูฯ โดยเฉพาะ เช่น ‘บอกบุญ เดลิเวอรี่ (BokBoon Delivery)’ แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ให้บริการทำบุญ ไหว้พระ เสริมดวงแบบครบวงจร, ‘ดราก้อนแรร์ (Dragon Rare)’ แพลตฟอร์มที่ช่วยในการซื้อขายเครื่องรางของขลัง, ‘ศรัทธา.online’ เว็บไซต์ที่ช่วยให้ลูกค้าขอพร แก้บน หรือเช็กดวง ได้ง่ายๆ เพียงปลายนิ้ว หรืออย่าง ‘มูเตเวิร์ล (Mootae World)’ แพลตฟอร์มที่จะมีแม่หมอมาดูดวงให้ผ่านศาสตร์ต่างๆ ทั้งฮวงจุ้ย ไพ่ยิปซี ไพ่ทาโรต์ และเป็นผู้นำเทรนด์วอลล์เปเปอร์ขวัญใจสายมูฯ เป็นต้น
รายได้แบบมูมู
ในยุคสมัยที่ต้องเผชิญกับโรคระบาด ความเหลื่อมล้ำทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่ทำให้ผู้คนหลากหลายช่วงวัยรู้สึกกังวลและไม่มั่นคง เราจึงได้พบเห็น ‘ธุรกิจมูเตลู (Muketing)’ ซึ่งเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความเชื่อ ความศรัทธา เกิดขึ้นมารองรับความต้องการของผู้คนเป็นจำนวนมาก
กระทรวงพาณิชย์ได้สำรวจและเปิดรายได้ของธุรกิจสายมูฯ ในปี 2565 พบว่า ธุรกิจนี้กลายเป็นดาวรุ่งที่พุ่งทะยานขึ้นมาจนติดอันดับที่ 10 มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 113 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่สินทรัพย์ธุรกิจเพิ่มขึ้นกว่า 50 เปอร์เซ็นต์
ศาสตร์แห่งความเชื่อถูกนำมาเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ หลายแบรนด์นำความมูเตลูมาพัฒนาสินค้าและบริการ รวมถึงจัดแคมเปญต่างๆ และสร้างคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับสายมูฯ ดึงเอาเหล่าดารา อินฟลูเอนเซอร์มาเป็นพรีเซนเตอร์ ทำให้กระแสมูเตลูกลายมาเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ฮิตในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจนี้มีอัตราการเติบโตที่เพิ่มสูงขึ้นตลอด 3 ปีที่ผ่านมา
– ปี 2563 จดทะเบียนจัดตั้ง 11 ราย ใช้ทุน 7.59 ล้านบาท
– ปี 2564 จดทะเบียนจัดตั้ง 20 ราย ใช้ทุน 13.41 ล้านบาท
– ปี 2565 จดทะเบียนจัดตั้ง 24 ราย ใช้ทุน 27.45 ล้านบาท
ปัจจุบัน ธุรกิจมูเตลูที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทย มีจำนวน 93 ราย มูลค่าการลงทุนกว่า 101.98 ล้านบาท และธุรกิจสายมูฯ นี้มีรายได้รวมนับตั้งแต่ปี 2562 – 2564 อยู่ที่ราว 114 ล้านบาท มีสินทรัพย์อยู่ที่ 168 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2566) โดยส่วนมากจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กซึ่งแบ่งตามภูมิภาคได้ ดังนี้
1) กรุงเทพมหานคร 46 ราย (49.46%) ทุนจดทะเบียน 60.33 ล้านบาท (59.16%)
2) ภาคกลาง 22 ราย (23.66%) ทุนจดทะเบียน 17.41 ล้านบาท (17.07%)
3) ภาคตะวันออก 6 ราย (6.45%) ทุนจดทะเบียน 5.9 ล้านบาท (5.79%)
4) ภาคอีสาน 6 ราย (6.45%) ทุนจดทะเบียน 5.55 ล้านบาท (5.44%)
5) ภาคเหนือ 5 ราย (5.38%) ทุนจดทะเบียน 1.29 ล้านบาท (1.26%)
6) ภาคใต้ 5 ราย (5.38%) ทุนจดทะเบียน 9.4 ล้านบาท (9.22%)
7) ภาคตะวันตก 3 ราย (3.22%) ทุนจดทะเบียน 2.10 ล้านบาท (2.06%)
ผู้ลงทุนในธุรกิจนี้ส่วนใหญ่เป็นคนไทย มีมูลค่าการลงทุนราว 98.55 ล้านบาท คิดเป็น 96.64 เปอร์เซ็นต์ของการลงทุนในธุรกิจทั้งหมด และมีการลงทุนจากต่างชาติอยู่ 2 ประเทศ ได้แก่ จีน ที่มีมูลค่า 2.45 ล้านบาท หรือราว 2.4 เปอร์เซ็นต์ และฝรั่งเศส ที่มีมูลค่า 0.98 ล้านบาท หรือราว 0.96 เปอร์เซ็นต์
หมุดหมายสายมูฯ
นอกจากเรื่องของธุรกิจมูเตลูซึ่งเป็นกระแสที่มาแรงแบบฉุดไม่อยู่ ทางด้านของการท่องเที่ยวในประเทศไทยก็มีหลากหลายสถานที่ให้ได้ไปมูฯ กันปังๆ เฮงๆ รวยๆ ทั้งกลางวันกลางคืน เพราะจักรวาลของมูเตลูนั้นมีองค์เทพให้เลือกบูชาอยู่หลากหลายศาสนา ทั้งพุทธ พราหมณ์ ฮินดู จีน หรือกระทั่งเหล่าภูตผี ปีศาจ ก็มีให้เลือกแบบไม่หวาดไม่ไหว
ยกตัวอย่างที่กรุงเทพฯ ‘ย่านราชประสงค์’ ถือเป็นหมุดหมายยอดนิยมที่สายมูฯ ทั้งไทยและต่างชาติ มักเดินทางมาทำการสักการบูชาเหล่าเทพสำคัญทั้ง 8 องค์ที่ประจำอยู่ในแต่ละเทวสถาน เช่น เทพแห่งการศึกษา, เทพแห่งโอกาส, เทพเจ้าผู้บันดาลทุกสรรพสิ่ง, เทพแห่งการงาน ความรัก และโชคลาภ, เทพีแห่งความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์, เทพีแห่งครอบครัว ฯลฯ และยังมีย่านยอดฮิตอย่างสีลม ห้วยขวาง หรือพระนคร ตลอดจนวัดหรือศาลเจ้าอีกมากนับไม่ถ้วน สามารถเที่ยวไปมูฯ ไปได้ มีให้เลือกเยอะถึงขั้นที่ว่าต่อให้ใช้เวลาหลายวันก็อาจจะเก็บไม่ครบทุกสถานที่ก็เป็นได้
นอกจากเมืองหลวงของไทย ภูมิภาคอื่นๆ ก็มีสถานที่ท่องเที่ยวสายมูฯ ให้เลือกสรรกันอีกจำนวนไม่น้อย อย่างเช่นปีที่ผ่านมา ‘การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)’ ได้ปลุกกระแสสายมูฯ ด้วยกิจกรรม ‘มูให้เฮง มูให้ปัง รับพลังแบบรักษ์โลก’ ซึ่งเป็นแคมเปญท่องเที่ยวเสริมสิริมงคลไปตามเส้นทางพญานาค พาไปเที่ยววัดชื่อดังของ 3 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ และมีกิจกรรมอย่าง ‘มูกลางคืนก็ปัง มูกลางวันก็เฮง’ นอกจากนี้ ททท. ยังจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวเพื่อแก้ปีชง และการท่องเที่ยวเชิงศาสนา-สายมูเตลู ที่จะพาไปวัดและสถานที่ขึ้นชื่อเรื่องมูเตลูตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วไทยตั้งแต่เหนือจรดใต้ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในพื้นที่เหล่านั้น
อย่างที่บอกว่าความมูเตลูอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนมาตั้งแต่สมัยโบราณ ตั้งแต่เกิดจนตายเราต่างสัมพันธ์อยู่กับความเชื่อที่ส่งต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้ นั่นแสดงให้เห็นว่า แม้ยุคสมัยเปลี่ยน เทคโนโลยีจะก้าวล้ำหน้าไปไกล มูเตลูก็ยังคงเป็นสิ่งหนึ่งที่ส่งผลต่อความเชื่อ ความศรัทธา และเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนอยู่เสมอ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปแค่ไหนก็ตาม
Sources :
Bangkok Biz News | bit.ly/3K1kCp1
Brand Buffet | bit.ly/3Zpa6MN
MarketingOops | bit.ly/3ngI60s
MGR Online | bit.ly/3Z9P18S
Prachachat | bit.ly/3JFaMaI
Thairath | bit.ly/3JXcYvK