21 มีนาคม 2565 แวดวงวรรณกรรมไทยสูญเสีย ‘วัฒน์ วรรลยางกูร’ กวีและนักเขียนเจ้าของรางวัลศรีบูรพา ที่ป่วยหนักและเสียชีวิตอย่างสงบขณะลี้ภัยทางการเมืองในประเทศฝรั่งเศส หนึ่งเดือนผ่านไป เครือข่ายคนเดือนตุลาคมและครอบครัววรรลยางกูรได้จัดงานรำลึกและไว้อาลัยต่อการจากไปของนักเขียนผู้ยืนหยัดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต
งานรำลึกวัฒน์ วรรลยางกูร จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2565 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราษฎร์ดำเนิน กรุงเทพฯ โดยกิจกรรมจัดขึ้นตลอดทั้งวันตั้งแต่เวลา 8.30 – 19.00 น.
ในช่วงเช้า มีการเดินขบวนถือรูปภาพของวัฒน์จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา หลังจากนั้นคือพิธีการกล่าวไว้อาลัยและการวางช่อดอกไม้จากครอบครัว มิตรร่วมรบ เครือข่ายคนเดือนตุลา และองค์กรต่างๆ
สำหรับช่วงบ่าย มีกิจกรรมฉายสารคดี ‘ไกลบ้าน’ ภาพยนตร์ที่สะท้อนความรู้สึกและช่วงชีวิตสุดท้ายของวัฒน์ ในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ประเทศลาวและฝรั่งเศส จากนั้นเป็นการเสวนาในหัวข้อ ‘กึ่งศตวรรษ วัฒน์ วรรลยางกูร ในสายธารวรรณกรรมไทย’ ที่สะท้อนถึงผลงานและช่วงชีวิตของวัฒน์ รวมไปถึงความเปลี่ยนแปลงแวดวงวรรณกรรมของไทยด้วย
ปิดท้ายด้วยกิจกรรมช่วงเย็น ‘รำลึกสหาย ร่ายกวี รำร้อง กับผองเพื่อน’ ที่มีทั้งการแสดงดนตรี การแสดงละคร การอ่านบทกวี และการกล่าวไว้อาลัยจากมิตรสหายและเยาวชนคนรุ่นใหม่
นอกจากงานจะเป็นพิธีรำลึกและไว้อาลัยแก่การจากไปของวัฒน์แล้ว กิจกรรมที่เกิดขึ้นยังเป็นการแสดงออกถึงการสานต่ออุดมการณ์ทางการเมืองของนักเขียนผู้ล่วงลับ ที่เคยต่อต้านอำนาจเผด็จการและต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างไม่ย่อท้อ
วัฒน์ วรรลยางกูร โลดแล่นบนเส้นทางนักเขียนและนักกวีมานานกว่า 50 ปี มีผลงานการตีพิมพ์หลากหลายรูปแบบ ทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย บทกวี ความเรียง บทเพลง และสารคดี วัฒน์มีงานเขียนสร้างชื่อตั้งแต่อายุ 20 ปี จากเรื่อง ‘ตำบลช่อมะกอก’ (พ.ศ. 2519) เรื่องราวการต่อสู้ของชาวนาไทย ที่โดนรังแกจากเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งสะท้อนเหตุการณ์จริงที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยสมัยนั้น
ผลงานของเขาเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงวัยและสภาพสังคมการเมือง โดยเฉพาะจากการซึมซับบรรยากาศของสังคมไทยช่วง ‘เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ’ ขณะที่เขาอยู่วัยมัธยมฯ และการเข้าร่วมชุมนุม ‘เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ’ จนเขาต้องหนีภัยการเมืองเข้าไปอยู่ในป่า ซึ่งช่วงนั้นเขามีโอกาสได้เขียนเรื่องสั้น บทกวี และนวนิยายมากมาย และมีผลงานรวมเล่มออกมา 3 เล่ม แบ่งออกเป็น รวมเรื่องสั้นและบทกวี 2 เล่ม ได้แก่ ‘ข้าวแค้น’ (พ.ศ. 2522) ‘น้ำผึ้งไพร’ (พ.ศ. 2523) ส่วนเล่มที่ 3 เป็นนวนิยายชื่อ ‘ด้วยรักแห่งอุดมการณ์’ (พ.ศ. 2524)
อีกหนึ่งผลงานที่มีชื่อเสียงของวัฒน์ วรรลยางกูร คือนวนิยาย ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ (พ.ศ. 2524) ที่ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี 2544 โดยผู้กำกับ เป็นเอก รัตนเรือง เรื่องราวเกี่ยวกับพระเอกชื่อ ‘แผน’ หนุ่มบ้านนอกที่เป็นคนขยันขันแข็ง แต่เนื่องจากเขาเป็นคนชั้นล่าง ชีวิตจึงไม่ประสบความสำเร็จและยังต้องเจอกับความพลิกผันตลอดเวลา มนต์รักทรานซิสเตอร์จึงเป็นวรรณกรรมที่ตีแผ่ สะท้อน และเสียดสีสังคมไทยที่ผู้คนชั้นล่างมักไม่สมหวังและขาดโอกาสทางสังคมได้อย่างคมคาย
โดยใน พ.ศ. 2550 วัฒน์ วรรลยางกูร ได้รับรางวัลศรีบูรพา รางวัลที่มอบให้แก่ศิลปิน นักคิด นักเขียน และนักหนังสือพิมพ์ ผู้มีผลงานอันทรงคุณค่าและเป็นแบบอย่างของสังคม
ทั้งนี้ หลังเกิดการก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 วัฒน์ได้เข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านรัฐประหารกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ทำให้หลายคนเรียกเขาว่า ‘นักเขียนเสื้อแดง’ และหลังรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 วัฒน์ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่เขาปฏิเสธอำนาจของ คสช. ด้วยการไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง และตัดสินใจลี้ภัยออกนอกประเทศในที่สุด
วัฒน์ใช้วาระสุดท้ายของชีวิตอยู่ที่ต่างแดนนานหลายปี ก่อนจะป่วยด้วยโรคเนื้องอกในตับและเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2565 ด้วยวัย 67 ปี
วัฒน์ วรรลยางกูร จึงเป็นหนึ่งในนักเขียนไทยที่ยืนหยัดเพื่อประชาธิปไตยจนลมหายใจสุดท้าย แม้เขาได้จากโลกนี้ไปแล้ว แต่เราเชื่อว่าอุดมการณ์และจิตวิญญาณของเขานั้นอยู่เหนือกายหยาบ และการประพันธ์ รวมไปถึงเรื่องราวของกวีไกลบ้านรายนี้จะโบยบินอยู่ในใจของบรรดานักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยตราบนานเท่านาน
ผลงานชิ้นสุดท้ายที่วัฒน์ทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังก็คือ ‘ต้องเนรเทศ’ หนังสือที่เล่าถึงเส้นทางการลี้ภัยทางการเมือง ที่วัฒน์ใช้เวลาเขียนนานถึง 7 ปี
ผู้ที่สนใจ สามารถจองหนังสือ ‘ต้องเนรเทศ’ ได้ที่นี่ t.ly/vl5s ระหว่างวันที่ 5 เมษายน – 5 พฤษภาคม 2565
Photo Credit : ธีร์ อันมัย, ธีรภัทร อรุณรัตน์
Sources :
BBC | t.ly/gd5d, t.ly/V8cF
Facebook : ธีร์ อันมัย | t.ly/1orY
Facebook : สำนักพิมพ์ลูกสมุน | t.ly/JYtk
Matichon Online | t.ly/f0TJ, t.ly/EpTz
Thairath | t.ly/6Wvv
The Standard | t.ly/RP-7
Wikipedia | t.ly/y7zg