ตามไปส่องเบื้องหลัง ‘วาโก้บราเดย์ บราเก่าเราขอ’ - Urban Creature

ปกติแล้วเราจัดการกับชุดชั้นในที่ไม่ใส่แล้วอย่างไรกันบ้าง

เพราะชุดชั้นในเหล่านี้อาจยากที่จะนำไปรีไซเคิลใหม่ ดังนั้นหากสภาพยังดีอยู่ บางคนคงเลือกส่งต่อให้ผู้ที่ต้องการ แต่ถ้ามันเยินจนใช้งานไม่ได้แล้ว ก็แค่แยกใส่ถุงเอาไว้ แล้วทิ้งขยะเพื่อเข้าสู่กระบวนการจัดการขยะต่อไป

แต่มันจะง่ายอย่างนั้นเชียวหรือ

เพราะหลังจากนั้นเราแทบไม่รู้เลยว่า อดีตชุดชั้นในตัวโปรดของเราจะไปอยู่ในกระบวนการไหน และโดยส่วนใหญ่แล้วของใช้ในหมวดหมู่เสื้อผ้ามักจะถูกนำไปฝังกลบ ซึ่งนอกจากจะไม่ได้เป็นการกำจัดอย่างถูกวิธีแล้ว ยังเป็นการเพิ่มขยะให้โลกอีกทางหนึ่งด้วย

เพื่อช่วยลดขยะและลดการสร้างมลพิษให้โลก ‘Wacoal’ แบรนด์ชุดชั้นในของไทยได้มองหาวิธีการแก้ปัญหาส่วนนี้ ด้วยการร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยกำจัดชุดชั้นในไปพร้อมๆ ลดโลกร้อนกับโครงการ ‘วาโก้บราเดย์ บราเก่าเราขอ’ ที่เปิดรับชุดชั้นในที่ไม่ใช้แล้วมาเข้าสู่กระบวนการกำจัดที่ถูกต้อง ลดมลพิษ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

คอลัมน์ Sgreen จึงขอพาไปพูดคุยกับทางวาโก้ถึงโครงการนี้ และการร่วมมือกับ ‘ไปรษณีย์ไทย’ ในการอำนวยความสะดวกให้ทุกคนโบกมือลาชุดชั้นในเก่าของตัวเองอย่างสบายใจและสบายโลก

วาโก้ขออาสากำจัดบราเก่า

‘นงลักษณ์ เตชะบุญเอนก’ กรรมการบริหารสายงานสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นเล่าให้เราฟังว่า ชุดชั้นในแต่ละตัวนั้นประกอบไปด้วยหลากหลายวัสดุ ไม่ว่าจะเป็นฟองน้ำ ผ้าที่มีทั้งเส้นใยหลายชนิด ลวด ตะขอโลหะทั้งหลาย และการทิ้งขยะประเภทนี้มักใช้วิธีการฝังกลบ ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่า 400 ปีกว่าจะย่อยสลาย

Wacoal Braday

ทางวาโก้เองคำนึงถึงปลายทางหลังจากที่ลูกค้าซื้อสินค้าไปแล้วว่า ชุดชั้นในเหล่านั้นจะต้องกลายเป็นขยะในท้ายที่สุด ดังนั้นเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางในการลดขยะบนโลกลง ในปี 2555 วาโก้จึงมองหาวิธีการกำจัดขยะเหล่านี้ให้เร็วขึ้น พร้อมกับเปิดตัวโครงการ วาโก้บราเดย์ บราเก่าเราขอ เปิดรับบริจาคบราที่ใช้งานไม่ได้แล้วหรือเสื่อมสภาพจากกลุ่มลูกค้า เพื่อนำมาเข้าสู่กระบวนการเผา ช่วยกำจัดและลดขยะชุดชั้นใน

Wacoal Braday

โครงการนี้ดำเนินการต่อมาเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 2564 ทางวาโก้ได้ตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมอีกครั้งว่า แม้จะช่วยลดขยะลง แต่หากยังใช้วิธีการเผาที่ไม่ถูกวิธี ก็จะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในอีกต่อหนึ่งด้วยเช่นกัน ทางบริษัทจึงร่วมมือกับ ‘TPI Polene’ บริษัทผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในการส่งต่อชุดชั้นในไปเผาในระบบปิด

“ทาง TPI จะนำชุดชั้นในจากเราไปเข้าเครื่องแยกส่วนโลหะ โครงลวด ตะขอ แล้วส่วนที่เหลือก็เอาไปเผาในระบบปิด เพื่อป้องกันไม่ให้มีคาร์บอนไดออกไซด์หรือฝุ่น PM ออกมาภายนอก หลังจากเผาแล้วจะได้พลังงานความร้อนที่เปลี่ยนไปเป็นพลังงานไฟฟ้าได้

Wacoal Braday

“โดยปกติแล้วถ้าไม่เอาขยะเหล่านี้มาเปลี่ยนให้เป็นพลังงานไฟฟ้า เราต้องใช้ถ่านหินในการทำให้เกิดพลังงาน ซึ่งก็จะเป็นการสร้างมลภาวะมากกว่าเดิม ดังนั้นชุดชั้นในที่เรารับบริจาคมาถือว่าได้สร้างประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการลดคาร์บอนในส่วนที่ไม่เป็นการเผาเปิด ไม่ทำให้เกิดฝุ่น PM ในขณะเดียวกันก็ไม่เกิดคาร์บอนจากการเผาถ่านหินด้วย เท่ากับว่าเราได้ประโยชน์หลายต่อเลย” คุณนงลักษณ์เล่า

เพิ่มความสะดวกสบายด้วยการส่งฟรีที่ไปรษณีย์ไทย

แรกเริ่มนั้น วาโก้ใช้วิธีการนำกล่องบริจาคไปตั้งไว้ที่ช็อปและเคาน์เตอร์ของวาโก้ เพื่อให้ลูกค้าได้รวบรวมชุดชั้นในของตัวเองมาหย่อนทิ้งเอาไว้รอไปกำจัด แต่ทางวาโก้เข้าใจดีว่า การเข้าช็อปหรือเคาน์เตอร์ตามห้างสรรพสินค้าอาจไม่ได้สะดวกกับทุกคนมากนัก ในปี 2566 ทางแบรนด์จึงเพิ่มวิธีการบริจาคด้วยการจับมือกับ ‘ไปรษณีย์ไทย’ อำนวยความสะดวกให้ทุกคนส่งต่อชุดชั้นในได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้นโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

Wacoal Braday

“ก่อนจะทำงานกับไปรษณีย์ เราเชื่อว่ามีคนมุ่งมั่นที่จะนำชุดชั้นในไปทิ้งอยู่มาก แต่บางคนไม่ได้ไปห้างฯ ไม่ได้เข้าช็อป ไม่สะดวกที่จะมาหย่อนไว้ในกล่องรับบริจาค และใช้การขอที่อยู่เพื่อส่งมาหาเราก็มี ทีมก็เลยหาทางที่สะดวกที่สุดให้ลูกค้า นั่นคือ การส่งไปรษณีย์ เพราะไปรษณีย์มีอยู่ทั่วทุกที่ แต่ร้านค้าของวาโก้อาจไม่ได้มีเยอะขนาดนั้น รวมถึงร้านค้าย่อยๆ ก็ไม่ได้มีพื้นที่ให้เราตั้งกล่องด้วย ดังนั้นไปรษณีย์ตอบโจทย์ทุกอย่าง ประกอบกับทางเขาเองก็อยากช่วยเรื่องการลดโลกร้อน”

Wacoal Braday

หลังจากร่วมมือกับทางไปรษณีย์ไทยและมีการประชาสัมพันธ์ออกไป ก็ทำให้จำนวนการบริจาคเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เป็นสัญญาณที่ดีว่าคนไทยเองก็ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่น้อยเลยทีเดียว

กระจายข้อมูล ส่งต่อความรู้ด้วยกิจกรรมออนทัวร์

นอกเหนือจากการเปิดรับบริจาคอยู่กับที่แล้ว วาโก้เองยังมีการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์โครงการ และส่งต่อชุดข้อมูลความรู้เกี่ยวกับขยะชุดชั้นในในพื้นที่ต่างๆ อย่าง ‘บราเดย์ออนทัวร์’ 

Wacoal Braday

ที่บอกว่าออนทัวร์ก็เพราะเป็นกิจกรรมที่นำรถบัสไปยังองค์กรต่างๆ เพื่อจัดกิจกรรมสนุกๆ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกม แจกของรางวัล เพื่อกระตุ้นให้คนทำความเข้าใจเรื่องการกำจัดชุดชั้นในที่จัดแสดงไว้บนรถ รวมไปถึงการแจ้งข่าวให้องค์กรหรือสถานที่ที่รถวาโก้ไปเยือนนั้นประชาสัมพันธ์ภายในล่วงหน้าถึงการบริจาคชุดชั้นใน บุคลากรจะได้รวบรวมมาหย่อนได้ง่ายๆ ซึ่งการเข้าไปยังองค์กรต่างๆ แบบนี้ก็ยิ่งเพิ่มความสะดวกสบายในการบริจาค อีกทั้งยังทำให้คนเข้าถึงความรู้การกำจัดขยะเสื้อผ้าที่ส่งผลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น สอดคล้องกับความตั้งใจของวาโก้

“กิจกรรมนี้ช่วยให้คนและหน่วยงานต่างๆ ตระหนักเรื่องภาวะโลกร้อนมากขึ้น พอเรามีการประชาสัมพันธ์ตัวกิจกรรมและโครงการนี้ออกไป ก็มีหน่วยงานราชการ เอกชน สถาบันการศึกษา และกลุ่มคนอื่นๆ อีกมากมายติดต่อขอกล่องเพื่อนำไปตั้งให้คนในองค์กรมาบริจาคชุดชั้นใน บางแห่งก็ติดต่อมาว่าอยากให้เราไปจัดกิจกรรมด้วย สิ่งนี้ยิ่งทำให้ตัวโครงการอิมแพกต์มากขึ้น

Wacoal Braday

ตอนนี้หน่วยงานราชการ กระทรวงต่างๆ อย่างกระทรวงสาธารณสุขก็นำกล่องบริจาคไปตั้งเอาไว้ใน 17 กรมภายใต้การดูแลของกระทรวง และในอนาคตทางวาโก้จะร่วมมือกับกรุงเทพฯ ในการกระจายกล่องบริจาคไปในทุกเขตด้วย โดยอาจจะเริ่มต้นในปีหน้า” คุณนงลักษณ์เล่าพร้อมรอยยิ้ม

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่การตั้งสมมุติฐานเท่านั้น เพราะจากการเก็บข้อมูลในช่วงตลอดระยะเวลาของโครงการ ล้วนมีข้อมูลตัวเลขที่จับต้องได้ อย่างในปี 2567 ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีผู้ร่วมบริจาคชุดชั้นในกับวาโก้กว่า 250,000 ตัว แต่หากนับตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน มีคนบริจาคชุดชั้นในเข้าร่วมโครงการนับล้านตัว และช่วยลดคาร์บอนไปได้ประมาณ 729 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ถึง 60,000 กว่าต้น

มากไปกว่านั้น ทางโครงการเองไม่ได้รับเพียงแค่ชุดชั้นในของแบรนด์วาโก้เท่านั้น แต่ไม่ว่าใครก็ส่งชุดชั้นในแบรนด์อะไรก็ได้ทั้งของผู้หญิงและผู้ชายมาให้ทางโครงการ วาโก้บราเดย์ บราเก่าเราขอ เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีได้ โดยนำไปฝากไว้ในกล่องรับบริจาคที่ตั้งบริเวณช็อปและเคาน์เตอร์วาโก้ หรือส่งผ่านไปรษณีย์ทั่วประเทศโดยไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมจ่าหน้าซองถึง ‘โครงการวาโก้บราเดย์ บราเก่าเราขอ’ บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) 132 ซอยเจริญราษฎร์ 7 แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กรุงเทพฯ 10120

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.