‘Urban Studies Lab’ เปิดห้องวิจัยเมืองสัมผัส ‘ชุมชนนางเลิ้ง’ เพื่อร่วมออกแบบชีวิตที่ดีขึ้น - Urban Creature

“หลายหัวย่อมดีกว่าหัวเดียว”

ประโยคข้างบนนี้เป็นสิ่งที่นึกขึ้นมาในหัวขณะพูดคุยกับ ‘คุณปั้น พงษ์พิศิษฐ์ หุยากรณ์’ ผู้ก่อตั้ง Urban Studies Lab ศูนย์วิจัยอิสระเกี่ยวกับชุมชนและเมือง ผ่านโปรเจกต์ต่างๆ อย่าง ‘ชุมชนนางเลิ้ง’ และ ‘COVID Relief Bangkok’ ซึ่งเบื้องหลังสำคัญกว่าจะออกมาเป็นรูปเป็นร่างจนได้ใช้จริง ต้องอาศัยเครื่องมือที่เรียกว่า ‘การมีส่วนร่วม’ ที่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งคนในพื้นที่ ผู้ได้รับผลกระทบ องค์กรรัฐบาล เอกชน และมูลนิธิต่างๆ ที่นำความถนัดของแต่ละฝ่ายมาร่วมใจสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ทุกคน

หลังจากฟังอาจารย์ปั้นพูดแล้วคงต้องมองคำว่า ‘การพัฒนา’ กันเสียใหม่ เพราะคงไม่ใช่แค่คนๆ เดียวที่เข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ทุกอย่าง แต่เป็น ‘การร่วมมือกัน’ จากทุกฝ่ายที่ผลักดันที่ให้เกิดการสร้างพื้นที่ในฝันไปพร้อมๆ กัน

| ‘นักวิจัย’ ที่อยากให้ผลงานวิจัยใช้ได้จริง

ก่อนจะเริ่มติดตามการทำงานของอาจารย์ปั้น ก็ต้องรู้จักที่มาของ Urban Studies Lab ที่เป็นจุดเริ่มต้นทำวิจัยต่างๆ โดยเกิดขึ้นมาจากประสบการณ์ของตัวเอง สมัยตอนเรียนที่ต่างประเทศต้องทำงานในห้องวิจัย ซึ่งหลักสูตรที่เรียนจะมีทั้งวิจัยในห้องและออกไปลงพื้นที่ชุมชน ทำให้เขารู้สึกว่าการเรียนเเบบนี้มันตอบโจทย์การทำงานได้จริง

ทั้งการศึกษาข้อมูลพื้นฐานต่างๆ เเละการออกไปสำรวจจริงเพื่ออัปเดตให้แม่นยำ ซึ่งมันเป็นจุดตรงกลางของภาคทฤษฎีและภาคปฎิบัติที่ดี แต่ว่าสิ่งที่เป็นแรงผลักดันจริงๆ ของเขา คือการได้ทำงานร่วมกับชุมชนมากยิ่งขึ้น มันยิ่งทำให้เห็นมุมมองหลายอย่างของนักวิจัยในสายตาชุมชนว่าพวกเขาคิดอย่างไรกับอาชีพนี้

“นักวิจัยหน้าใหม่มาอีกแล้ว หลายคนก็เบื่อ
เพราะไม่เคยเห็นผลงานจากนักวิจัยเลย”

อาจารย์ปั้นกล่าวว่า การได้รับคำแนะนำจากชาวบ้านในชุมชน ก็ทำให้เขามีความคิดริเริ่มสร้าง Urban Studies Lab ศูนย์วิจัยอิสระเกิดขึ้นมา เพื่อศึกษาประเด็นต่างๆ ของเมือง เช่น ผังเมือง นโยบายสิ่งแวดล้อม สถาปัตยกรรมพัฒนาชุมชน และสังคมศาสตร์ เพื่อเป็นแหล่งเก็บข้อมูลวิจัยและช่วยแก้ปัญหาเมืองได้สะดวก รวมทั้งสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดความรู้ และประยุกต์ใช้จริงในการส่งเสริมชุมชนให้ดีขึ้นได้

“เพราะถ้ามองที่ปัญหาหลายๆ อย่างทุกวันนี้ มันมีข้อจำกัดในการทำงานที่ถูกตีกรอบมากเกินไปตามแนวทางที่ทุนวิจัยให้มา ซึ่งหากเรามาลงพื้นที่จริง ก็อาจจะไม่เป็นอย่างสิ่งที่เราคิดไว้ตั้งแต่แรกก็ได้ รวมทั้งการทำงานของรัฐบาลและมหาวิทยาลัย ซึ่งมีระบบที่ต้องทำตามกฎระเบียบไว้ชัดเจน มันอาจจะช้าเกินไปไม่ทันกับสถานการณ์ และถ้ายังทำงานในกรอบของอาจารย์มหาวิทยาลัยก็อาจจะไม่ได้ลงมือทำกับชุมชนจริงๆ”  

| การลงพื้นที่ คือวิธีการเข้าใจสังคมมากขึ้น

เบื้องหลังงานวิจัยต้องอาศัย ‘ข้อมูลและสถิติ’ เป็นตัวช่วยตัดสินใจและต่อยอดความคิดได้ดีกว่าลงมือทำหน้างาน ซึ่งอาจารย์ปั้นเล่าให้ฟังว่าข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญมากในการทำงานด้านชุมชนและเมือง เพราะจะทำให้เห็นภาพกว้างถึงการเชื่อมโยงของปัญหาต่างๆ ซึ่งการศึกษาเมืองจะมองแค่มุมเดียวไม่ได้ แต่ต้องมองหลายมุมให้ครอบคลุมทั้งสังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ทุกอย่างมีความสัมพันธ์กันหมด ดังนั้นข้อมูลจึงเป็นสิ่งยืนยันถึงสภาพการเป็นอยู่จริงของชุมชนว่าเป็นอย่างไรบ้าง

“ข้อมูลเป็นเครื่องมือสื่อสาร
ที่สร้างความเข้าใจกับคนอื่นได้ง่าย”

นอกจากนี้เขายังเล่าอีกมุมหนึ่งของข้อมูลที่แม้จะเป็นสิ่งที่ดีก็จริง แต่สิ่งที่ต้องคำนึงต่อไปคือ การจัดเก็บข้อมูลให้เป็นระบบ เพราะมันสามารถนำมาใช้ซ้ำในการทำงานต่อได้สะดวก และข้อมูลบางส่วนในไทยยังไม่ได้เปิดเป็นสาธารณะหรือเข้าถึงง่าย ถึงแม้ว่าจะมีข้อมูลเรื่องประชากร รายได้หัวต่อครัวเรือน รวมถึงสถิติสัดส่วนเด็กและผู้สูงอายุ ทั้งหมดก็ยังดูเป็นภาพใหญ่ ซึ่งยังไม่ละเอียดมากพอในการวิจัยให้แม่นยำและตอบโจทย์การใช้งานจริง จึงทำให้ต้องลงพื้นที่สำรวจมาช่วย

“อย่างการสัมภาษณ์และการสังเกตด้วยตัวเอง เพื่อที่จะได้ข้อมูลที่มาจากความต้องการที่แท้จริงของคนในเมือง เช่น ชีวิตความเป็นอยู่ รายรับรายจ่าย และสิทธิประโยชน์ที่เขาได้รับ เพราะเมื่อลงในพื้นที่จริงก็พบว่าทุกคนไม่ได้เข้าถึงสิทธิ์การรักษาเท่าเทียมกัน บางคนได้สามสิบบาท แต่บางคนไม่มีเลย ซึ่งเขาอาจจะไม่ได้อยู่ในการเก็บข้อมูล ก็กลายเป็นแรงงานข้ามชาติหรือจำนวนประชากรแฝงแทน”

| ‘สวนนางเลิ้งร่วมใจ’ แล็บวิจัยที่มี ‘ชีวิต’

ระหว่างทำวิจัยก็ทำให้เห็นปัญหาของการเก็บข้อมูลบวกกับต้องใช้เวลานาน ซึ่งอาจจะไม่ตอบรับกับบริบทของเมืองที่เปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา อาจารย์ปั้นจึงได้ไอเดียเกี่ยวกับแนวคิด ‘Urban Living Lab Model’ จากแถบประเทศยุโรปมาลองใช้จริงกับกรุงเทพฯ ในการวิจัยเมือง

“ไอเดียนี้เมื่อก่อนการทดลองมักจะอยู่แต่ในห้องแล็บ แต่ลองออกมาใช้กับพื้นที่ในเมืองจริงๆ มันได้ศึกษา พัฒนา และทำงานร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งแต่ละฝ่ายก็จะมีความถนัดเฉพาะด้านนำมาใช้งานไม่เหมือนกัน เพื่อสามารถนำมาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้จริง”

“อย่างโปรเจกต์สวนนางเลิ้งร่วมใจที่เป็นการร่วมมือของโครงการ 5 กลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มนักวิชาการทาง Urban Studies Lab และมหาวิทยาลัยที่ช่วยในด้านความรู้เข้ามาออกแบบ ภาคเอกชนช่วยเรื่องทุนและการบริจาค ส่วนภาครัฐก็เป็นคนให้ขอบเขตการพัฒนาให้เป็นไปตามข้อกฎหมาย รวมทั้งองค์กรและมูลนิธิรักษ์อาหารเป็นคนช่วยเหลือด้านความรู้และการจัดการในพื้นที่”

“แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้เลย
คือ ความต้องการของชุมชน”

“สวนนางเลิ้งร่วมใจได้รับการออกแบบจาก INDA คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์หลักสูตรนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับโจทย์ออกแบบพื้นที่สาธารณะให้กับชุมชน ซึ่งนิสิตทุกคนต้องลงพื้นที่ไปพบปะชุมชนจริงๆ

จนค้นพบว่าปัญหาต่างๆ ที่เจอมาไม่ได้ต่างจากหลายเมืองเลย มันคือสิ่งพื้นฐานอย่างพื้นที่สาธารณะที่มีประสิทธิภาพที่ใครๆ ก็อยากได้ หลังจากการสำรวจคราวนั้นจึงได้พูดคุยกับทางเขตและชุมชนขอสร้างพื้นที่สาธารณะ ซึ่งสวนนางเลิ้งเป็นพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยความเป็นจริงมันใช้งานได้ยาก แต่สุดท้ายก็ได้ออกแบบพื้นที่สวนนางเลิ้งร่วมใจในที่สุด

ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างใช้ความถนัดของตนเองที่อยู่ในมือมาช่วยกันสร้างสวนให้เกิดขึ้น อย่างทาง INDA ก็จะดีไซน์เฟอร์นิเจอร์ให้ตอบโจทย์กับการใช้งานของชุมชน ที่มีทั้งเด็กและผู้สูงอายุอยู่จำนวนมาก ดังนั้นการออกแบบก็ต้องเน้นการออกกำลังกายท่าง่ายๆ อย่างเดิน ลุก และนั่ง เพื่อให้ทุกคนใช้ได้สบาย และมูลนิธิรักษ์อาหารที่นำอาหารที่เหลือทิ้งแล้วไปทำเป็นปุ๋ย ให้ต้นไม้เติบโต”

| ‘COVID Relief Bangkok’ ถุงยังชีพสู้ไวรัสระบาด

อีกโปรเจกต์หนึ่งของ Urban Studies Lab ที่เกิดขึ้นตอนช่วงไวรัส COVID-19 ระบาดหนัก ทำให้มีหลายคนได้รับผลกระทบทั้งเศรษฐกิจ การป้องกันโรค และการใช้ชีวิตตอนอยู่บ้าน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ทั้งการติดต่อไวรัสได้ง่ายและใช้ชีวิตลำบากมากกว่าวัยอื่นๆ จึงเกิดโครงการ ‘COVID Relief Bangkok’ ขึ้นมาโดยเป็นความร่วมมือกับ ‘FREC Bangkok’ จาก Ford Company มูลนิธิ SATI และมูลนิธิรักษ์อาหาร เพื่อช่วยเหลือชุมชนผู้สูงอายุในกรุงเทพฯ และคนที่เข้าถึงการช่วยเหลือยากหรือที่เรียกว่า ‘ชุมชนเปราะบาง’

“หลักเกณฑ์เลือก ‘ชุมชนเปราะบาง’ เราเริ่มนับจากผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป และใช้ข้อมูลสถิติผู้สูงอายุแบบครัวเรือนรายได้ต่ำระดับแขวง และสัดส่วนของครัวเรือนปี พ.ศ. 2559 ดูสัดส่วนความไม่เท่าเทียมกันของแต่ละพื้นที่ แล้วนำมาวิเคราะห์เขียนลงในแผนที่ เพื่อให้เห็นภาพรวมว่าในพื้นที่ไหนมีปริมาณกลุ่มเป้าหมายเยอะบ้าง จากนั้นก็มาเทียบกับความหนาแน่นของคนในแต่ละท้องที่จนออกมาเป็น 2 เขตที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือ บางขุนเทียนและเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย”

“โดยเฟสแรกคือการแจกถุงยังชีพ ประกอบด้วย ข้าวสาร 5 กิโลกรัม อาหารแห้ง ผลไม้กระป๋อง ปลากระป๋อง นมถั่วเหลืองกับเรื่องสุขอนามัยด้านความสะอาด เช่น หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ สบู่ ซึ่งปัจจุบันนอกจากแจกให้กับผู้สูงอายุเเล้ว ยังขยายไปถึงครอบครัวที่ต้องการความช่วยเหลือด้วย ซึ่งมาจากความร่วมมือกับศูนย์บริการสาธารณสุขและเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ในพื้นที่ร่วมมือกัน ทำให้ตอนนี้เราแจกถุงยังชีพไปแล้วเกือบ 3000 กว่าชุด รวมถึงเริ่มฝึกสอนการดูเเลสภาพจิตใจไปแล้ว 7 ชุมชน

นอกเหนือจากนั้นก็เก็บข้อมูลเพื่อไปต่อยอดการช่วยเหลือต่อไป เช่น เขามีปัญหาหนี้สินไหม มีสกิลด้านไหนบ้าง หรือมีอินเทอร์เน็ตหรือไม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะนำมาปรับแผนในเฟสต่อๆ ไปให้ตอบโจทย์เขามากที่สุด เรามีความตั้งใจจะทำโครงการนี้ไปในระยาวยาวเพื่อสู้กับปัญหา COVID-19 และเฟสต่อไปอาจจะให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับช่วยหางาน หรืออัปสกิลให้กับชุมชนเพื่อเท่าทันยุคดิจิตอล”

| ข้อมูลในไทยต้องอัปเดตและใช้ง่าย

ว่าด้วยเรื่องข้อมูลแค่ทำไว้ครั้งเดียวคงไม่เพียงพอ คงต้องอัปเดตให้เท่าทันต่อยุคสมัยที่เปลี่ยนไปรวดเร็ว หลังจากยุคไวรัสระบาด ทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงมาก “กรุงเทพฯ เองเป็นเมืองที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่างประชากรในเมืองลงทะเบียน 6 ล้านคน ถ้าตามวิธีที่สะดวกเราก็จะวางแผนเมืองเพื่อคน 6 ล้านคน แต่จริงๆ จำนวนคนมันสามารถขึ้นไปได้ถึง 10 ล้านคน

เพราะมันมีคนเข้าออกมาทำงานและเคลื่อนย้ายถิ่นฐานอยู่ตลอด ซึ่งผมรู้สึกว่าตอนนี้เรายังจัดเก็บข้อมูลได้ยังไม่เท่าทันพอ เพราะสำมโนประชากรเราทำประมาณ 10 ปี/ครั้ง รวมทั้งการพัฒนาแผนและนโยบายพัฒนาเมืองต่างๆ ใช้เวลา 5 ปี ซึ่งทุกวันนี้โลกเราเปลี่ยนไปเร็วมากๆ”

“กว่าแผนจะออกมาใช้จริง
ก็ไม่ได้อัปเดตตามปัจจุบันแล้ว”

Credit : https://www.nparks.gov.sg/trees

อย่างในต่างประเทศเมือง Census ของประเทศสหรัฐอเมริกา เขาลงรายละเอียดเป็นตารางในแผนที่ มีชั้นข้อมูลเป็น 20 ชั้น (https://www.census.gov/programs-surveys/geography/data/interactive-maps.html) หรือในประเทศสิงคโปร์เองที่มีแผนที่ตำแหน่งต้นไม้ทั้งเมือง แบ่งประเภทต่างๆ อย่างละเอียด ที่ให้คนสามารถนำข้อมูลไปใช้ได้อย่างแพร่หลาย (https://www.nparks.gov.sg/trees) แต่ในเมืองไทยยังไม่ครอบคลุมเรื่องข้อมูลทั้งหมด ตอนนี้ก็มีการผลักดันแต่ยังขาดเรื่องการนำไปใช้ได้ง่าย

“อีกอย่างที่สำคัญเลย นอกจากการมีข้อมูลคือการเก็บข้อมูลและนำไปใช้งานให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องเกิดจากการทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย เมื่อมองในองค์กรไทยยังแบ่งหน้าที่ในส่วนของตัวเองอยู่ แต่ยังไม่เชื่อมกับส่วนอื่นๆ ซึ่งหลายประเทศอย่างจีนและญี่ปุ่น เขาจะมีส่วนร่วมการทำงานด้วยกัน อย่างหน่วยงานเรื่องที่ดินจะบวกกับด้านการขนส่งรวมเป็นกระทรวงเดียวกัน เพราะเขามีเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่ไปด้วยกันได้”

“การทำงานร่วมกัน คือ
การทำให้เราได้เรียนรู้ไปร่วมกัน”

“ยิ่งต่อไปหลังเกิดโรคระบาดทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปแน่นอน การปฎิสัมพันธ์กับชุมชนก็เปลี่ยนไป การทำงานร่วมกับชุมชนก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย ผมมองว่าปัญหาของเมืองมันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น และเราจะพึ่งพาองค์กรใดองค์กรหนึ่งหรือแค่ภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้แล้ว มันต้องอาศัยการทำงานของทุกฝ่ายรวมตัวกันช่วยแก้ปัญหา ถึงจะไปต่อได้”

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.