ไซเบอร์บูลี่ หมอเอิ้น พิยะดา หาชัยภูมิ - Urban Creature

ผ่านปีใหม่มาได้ไม่นาน หลายคนคงมีปณิธานที่ตั้งใจจะทำให้สำเร็จ ไม่เพียงได้ย้อนมองตัวเองในปีที่ผ่านมา ยังหมายมั่นว่าปีหน้าต้องดีกว่าเดิม 

แต่สิ่งหนึ่งที่เราสังเกตก็คือ เราได้เห็นความสำเร็จของคนอื่นผ่านสเตตัสเฟซบุ๊ก ที่บางครั้งก็อดเปรียบเทียบกับตัวเองไม่ได้ ในชีวิตที่มีปัจจัยภายนอกมาบีบคั้นให้เราต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ เราเคยถามตัวเองไหมว่า “สิ่งที่เราต้องการจริงๆ คืออะไร ?”

“ปีที่ผ่านมาอะไรที่ตึงไป หย่อนลงมาหน่อยดีไหม ?”

เราหาโอกาสมาคุยกับจิตแพทย์ ‘หมอเอิ้น – พิยะดา หาชัยภูมิ’ ซึ่งนอกจากจะเป็นจิตแพทย์ ที่มีช่องยูทูบเป็นของตัวเอง ‘หมอเอิ้น พิยะดา Unlocking Happiness’ ไว้ให้ความรู้ทางด้านจิตวิทยา และส่งต่อแรงบันดาลใจในการอยู่กับความทุกข์อย่างมีความสุข และการสร้างความสุขง่ายๆ ด้วยตัวเอง หมอเอิ้นยังเป็นนักแต่งเพลงที่ดีต่อใจ หากใครได้ยินผลงานก็ต้องคุ้นหู ไม่เชื่อก็ลองหยิบมาเปิดฟังสัก 2-3 เพลง ‘ทำไมต้องรักเธอ – BUDDHA BLESS Feat. คริส หอวัง’ ‘คำถาม – Toffy’ และ ‘ยังอยากรู้ – Scrubb’ รับรองฟังแล้วต้องอารมณ์ดีทุกครั้ง

เรื่องที่เราคุยกับหมอเอิ้นก็คือ ‘ความสุข’ ท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เราได้รับข้อมูลข่าวสารล้นหลามผ่านโซเชียลมีเดีย การตระหนักรู้ในตัวเอง การควบคุมอารมณ์ ความคิด การยอมรับที่จะอยู่กับความเครียด รวมถึงการสื่อสารกับตัวเองและคนอื่นอย่างลึกซึ้ง จึงกลายเป็นทักษะสำคัญของชีวิต

ไม่ผิดที่บางวันจะรู้สึกว่าชีวิตบีบคั้นเราเกินไป หรือมีบ้างที่ต้องทุกข์ใจวันละหลายหน สูดหายใจเข้าลึกๆ ฮึบดูอีกสักครั้ง หากวันไหนความสุขหายไปไม่ต้องออกตามหา แค่ลองมองที่ใจตัวเอง

เทคโนโลยีกับโลกที่เปลี่ยนไปทุกวัน

หมอเอิ้น : ปัจจุบันนี้คนเรามีปัจจัยที่ทำให้ทุกข์เยอะขึ้น ธรรมชาติของมนุษย์เราเกิดมาเพื่อมีความสุข และเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่กลัวการเปลี่ยนแปลง แต่เราตื่นขึ้นมาพร้อมความเปลี่ยนแปลงในทุกวัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เป็นปัจจัยทำให้เราเจอการเปลี่ยนแปลงได้เร็วและง่ายขึ้น

“เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่กลัวการเปลี่ยนแปลง
แต่โลกทุกวันนี้มันเปลี่ยนทุกวัน”

อย่างที่สอง เราจะมีโอกาสเติบโตตามพัฒนาการของเราจริงๆ น้อยลง อย่างเด็กๆ ยุคพี่ไม่มีอินเตอร์เน็ต สื่อที่เด็กยุคก่อนได้รับจะเป็นไปตามวัย เป็นสื่อที่พ่อแม่ควบคุมได้ ไม่อยากให้ดูก็ปิดทีวี แต่เด็กสมัยนี้ข้อมูลเขาเยอะกว่าเราอีกนะ แต่เขาจะจัดการข้อมูลยาก ลำดับความสำคัญยาก ไม่รู้ว่าอะไรจริงไม่จริง อะไรควรไม่ควร

ที่สำคัญไปกว่านั้น เด็กพัฒนาการทางใจไม่พร้อม หรือประสบการณ์ชีวิตเขายังไม่มากพอที่จะก้าวข้ามปัญหา แต่ต้องมาเจอกับมรสุมมากมายในชีวิต ยกตัวอย่างง่ายๆ ‘ไซเบอร์บูลลี่’ หรือการกลั่นแกล้งกันในโลกโซเชียล มันเป็นปัญหาที่เกินการควบคุม พ่อแม่เลยต้องทำงานหนัก ต้องเป็นโค้ชที่ดีให้กับลูก และต้องเป็นเพื่อนกับลูกให้ได้ เพราะประสบการณ์ของเราจะช่วยเขา

ข้อต่อมาคือ โอกาสที่เราจะรู้จักคนอื่นมากกว่าตัวเองมันมากขึ้น เพราะเรามีข้อมูลของคนอื่นเยอะมากเลย แต่เวลาที่เราจะอยู่กับตัวเองน้อยลง สังเกตว่าแต่ก่อนไม่มีมือถือ แต่เดี๋ยวนี้มือถืออยู่กับเราตั้งแต่ตื่นจนถึงหลับ บางคนนอนไปพร้อมกอดมือถือ ตื่นขึ้นมาสิ่งแรกที่เราทำคือส่องว่ามีอะไรขึ้นมาในฟีดเฟซบุ๊ก 

“เรามีเวลาอยู่กับตัวเองน้อยลง ถามตัวเองน้อยลง
ว่าฉันกำลังคิดอะไร ฉันรู้สึกอย่างไร ฉันชอบหรือไม่ชอบอะไร” 

อีกอย่างหนึ่ง ปกติเราทุกคนมีการเปรียบเทียบอยู่แล้วจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เกิดมามีพี่น้องหรือเด็กข้างบ้าน พ่อแม่ก็เปรียบเทียบแล้ว แต่ตอนนี้คือเปรียบเทียบกับคนทั้งโลก ดังนั้นเราจะอยู่กับความอยากที่จะเป็นแบบนั้น อยากที่จะเป็นแบบนี้มากขึ้น

คุยกับใจ…ทำไมจึงสำคัญ

“ในเมื่อโลกภายนอกหมุนเร็ว โลกภายในต้องมั่นคง”

หมอเอิ้น : มันเหมือนสภาวะอากาศที่แปรปรวน อาจจะเกิดอุทกภัย หรือแผ่นดินไหวเมื่อไหร่ก็ได้ สิ่งที่สำคัญคือเสาเข็มของบ้านต้องมั่นคงก่อน ยังไงก็ไม่ถล่มยกเว้นว่าจะเจอแผ่นดินไหว 8.7 ริกเตอร์ (หัวเราะ) ผู้ใหญ่สมัยก่อนอาจจะผ่านประสบการณ์ อย่างการเริ่มต้นชีวิตคู่ คนที่อายุ 30 ขึ้น พ่อแม่ก็ต้องบอกว่ารักนวลสงวนตัวนะลูก เข้ามหาลัยก่อนค่อยมีแฟน เรียนจบก่อนค่อยแต่งงาน กว่าเราจะรู้จักตัวเองต้องเข้ามหาลัยถึงจะได้ออกจากบ้าน 

แต่เด็กสมัยนี้มันไม่ได้แล้วโลกมันตีกลับ ถ้าจะให้เขามีความสุขและประสบความสำเร็จในโลกใบนี้ ต้องให้เขารู้จักตัวเองตั้งแต่เด็กๆ ต้องให้โอกาสเขาได้เห็นโลก อนุญาตให้เขาโตแล้วก็โตไปด้วยกัน เขาต้องมีความยืดหยุ่นกับจิตใจมากขึ้น เพราะความเครียดมันเข้ามาหาง่าย เราเครียดได้โดยไม่จำเป็นจะต้องปฏิเสธ แต่เราเลิกเครียดตอนไหน อันนั้นคือตัววัด ถ้าเรามีความยืดหยุ่นทางใจมากพอ เราก็จะแค่ได้เรียนรู้ว่า เราเครียดเพราะอะไร พอเราโอเคกับเรื่องนี้ได้ ต่อไปก็จะเก่งแล้ว

ความสุขคือทักษะที่ต้องฝึกฝน

หมอเอิ้น : เวลาเราเครียดสิ่งที่เกิดขึ้นคือโครตฟุ้งซ่าน เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่ควรทำคืออย่าไปเชื่อความคิดตัวเอง โดยเฉพาะความคิดด้านลบ ส่วนใหญ่เกิดจากการต่อยอดของเราทั้งนั้น อดีตก็ผ่านไปแล้ว อนาคตก็ยังมาไม่ถึง มีจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ความทรงจำกับความคิดนี่แหละที่ทำร้ายเรา วิธีการเริ่มต้นเลยคือหาที่ที่เราจะสงบ แล้วอย่าเชื่อความคิดเราเวลาเครียด

ความสุขมันเป็นทักษะนะ เราไม่ได้เกิดมาพร้อมความสุข และเกิดมาพร้อมกับการ ‘อยาก’ มีความสุข แต่สิ่งที่ธรรมชาติให้มาคือ คุณมีความสามารถในการมีความสุข ความสุขไม่ได้เกิดจากการตามหา ความสุขเกิดจากการเรียนรู้ที่จะสัมผัสความสุขในตัวเราเอง เมื่อไรที่เราจะต้องหาความสุข แสดงว่าเราไม่มีความสุข

“ความสุขไม่ได้เกิดจากการตามหา
แต่เกิดจากการเรียนรู้ที่จะสัมผัสความสุขในตัวเราเอง”

ทุกข์เกิดจากความคิดเราล้วนๆ เลยไหมก็อาจจะไม่ใช่ ความคิดมันเป็นส่วนหนึ่ง เพราะคนเรามีทั้งความคิด อารมณ์ และสัญชาตญาณ ความสุขคือการที่เราบาลานซ์สิ่งเหล่านี้ให้ได้ ถ้าไม่มีสัญชาตญาณก็จะไม่มีแรงจูงใจ เราก็จะไม่อยากออกไปทำนู่นทำนี่ การไม่มีความอยากเลย ไม่ได้แปลว่าดี แต่การมีความอยากมากจนเกินไปก็ไม่ดี

สิ่งเหล่านี้เราฝึกได้จากปัญหา ถ้าเรามองชีวิตเป็นการเรียนรู้จะไม่กลัวปัญหาเลย ถ้าปัญหายากขึ้นแสดงว่าเราเก่งขึ้น ธรรมชาติจะทดสอบเราแบบนี้ สำคัญเลยต้องไม่กลัว พูดง่ายทำยาก แต่เมื่อไรที่เรารู้ว่ากลัวไปก็แค่นั้น มันไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา ยังไงมันก็ต้องเกิด แล้วเราจะกลัวอะไร

เช็ก 4 เสาหลักเพื่อดูแลใจตัวเอง

หมอเอิ้น : เมื่อไรที่ไม่มีความสุขให้เราเช็ก 4 เสาของเรา

1. บ้านของใจ : พื้นที่ที่เรารู้สึกสงบ ปลอดภัย อุ่นใจแม้ไม่ต้องอยู่กับใคร เป็นที่ที่เราทิ้งตัวยังไงก็ได้ อาจจะไม่ใช่บ้านเป็นหลังๆ แต่มันเป็นความรู้สึกว่าเรามีสถานที่ที่หนึ่งไหม ที่เรารู้สึกว่า ถ้าเราเหนื่อย เราท้อ เราอยากอยู่ตรงนี้

2. ความสัมพันธ์ : การที่เราเครียดเป็นเพราะความสัมพันธ์เรามีปัญหาหรือเปล่า ? แล้วความสัมพันธ์นั้นอยู่เลเวลไหนของชีวิต เป็นเลเวลที่หย่าขาดกันไม่ได้ เป็นพ่อแม่พี่น้อง แบบนี้ใครเย็นก่อนมีความสุขก่อน หรือความสัมพันธ์ที่หย่าขาดได้ แล้วเราจะหย่าไหม หรือเราเรียนรู้อะไรจากมันได้บ้าง 

3. สภาวะโฟลว : การที่ในแต่ละวันเรามีอะไรบางอย่างที่เราทำแล้วโฟกัสกับมัน โดยไม่มีสิ่งอื่นมาฉุดเราออกไปจากตรงนั้น มันทำให้เราทำอะไรเสร็จสักอย่าง แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ดีกว่าเราทำอันนั้นที อันนู้นที โดยไม่เสร็จสักขั้นตอน มันอาจจะเป็นชิ้นใหญ่ที่ต้องมีขั้นตอนย่อยในแต่ละวัน ไม่เช่นนั้นมันจะกลายเป็นการเก็บสะสม ดินพอกหางหมูก็เป็นการสะสมความเครียดได้เหมือนกัน 

4. การสื่อสาร : ทักษะการเล่าเรื่อง ไม่ใช่เฉพาะกับคนอื่นเท่านั้น แต่หมายถึงการสื่อสารกับตัวเองด้วย เราบอกรักตัวเองได้ไหม เราปลอบใจตัวเองได้ไหม เราให้กำลังใจตัวเองได้ไหม เวลาเราเครียดเราคุยกับตัวเองได้ไหม ถ้าเราไว้ใจใครไม่ได้เลย เราเขียนจดหมายถึงตัวเองได้ไหม การที่เราเอาคำพูดหรือความเครียดของเราออกมาเรียงร้อย มันทำให้เราได้จัดระเบียบความคิด เราจะเห็นทางออก เพราะเวลาเราทุกข์ ส่วนใหญ่เราจะไม่เห็นทางออก

ยุคนี้ใครๆ ก็พบจิตแพทย์ได้

หมอเอิ้น : ทัศนคติของคนสมัยก่อนจะมองว่ามาเจอจิตแพทย์คือคนบ้าสิ แต่ในยุคนี้ไม่ใช่แล้ว ทัศนคติเริ่มเปิดกว้าง เริ่มเข้าใจว่าการที่ฉันเครียด หรืออารมณ์ผิดปกติ ก็มาหาจิตแพทย์ได้นะ วันนี้พี่ตรวจทั้งวันยังไม่ได้จ่ายยาสักเม็ด หลายครั้งการนัดไม่ใช่การรักษาแต่คือการพัฒนาตัวเอง

คนสมัยนี้เริ่มรู้ว่าการที่จิตใจไม่เข้มแข็งมันยากลำบากในการใช้ชีวิตยุคนี้ ความเครียดที่คาดการณ์ไม่ได้มันเกิดขึ้นได้เสมอ วันหนึ่งเราอาจจะเป็นข่าวในโซเชียลมีเดียโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ เมื่อทัศนคติของคนเปิดกว้างขึ้น จำนวนก็มากขึ้นเช่นกัน

กองทุนเพื่อผู้ป่วยจิตเวชยากไร้

หมอเอิ้น : จุดเริ่มต้นของ ‘กองทุนเพื่อผู้ป่วยจิตเวชยากไร้ โรงพยาบาลจิตเวชเลย’ ตอนนั้นตัดสินใจไปเป็นหมอที่จังหวัดเลย ซึ่งก่อนหน้านี้พี่อยู่ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เราเลยได้เห็นความแตกต่างระหว่างความเป็นอยู่ของคนไข้ต่างจังหวัดกับคนไข้ในเมือง คนเมืองจะให้ความสำคัญกับความคิด อารมณ์ ถึงไม่ได้ป่วยมากก็มาหาจิตแพทย์ได้ แต่ผู้ป่วยในต่างจังหวัดต้องรุนแรงจริงๆ ถึงจะมาหาหมอ เพราะส่วนใหญ่ยังมีแนวคิดเหมือนคนสมัยก่อน

ดังนั้นคนเหล่านี้นอกจากจะเป็นคนยากไร้แล้ว ยังถูกทอดทิ้งด้วย อยู่บ้านเป็นภาระก็จะเอามาทิ้งไว้ที่โรงพยาบาล ดังนั้นความเป็นอยู่ก็แย่ ในอดีตงบประมาณด้านการดูแลสุขภาพจิตยังไม่มากเท่าตอนนี้ แค่อุปกรณ์การแพทย์ เช่น เครื่องวัดความดันเสีย พรุ่งนี้ต้องใช้แต่ต้องรอปีงบประมาณเพื่อที่จะเบิก ทีนี้เจ้าหน้าที่ก็ต้องช่วยกัน 

พี่เลยรู้สึกว่าต้องเริ่มต้นจากตัวเอง เรามีเพื่อนที่ดี น้องๆ ศิลปินที่น่ารัก เขาอยากจะทำบุญ เราก็ชวนมาทำคอนเสิร์ต เป็นที่มาของเงินในกองทุนมาตลอด 7-8 ปี ที่ได้สนับสนุนอุปกรณ์การแพทย์ไปประมาณ 5-6 ล้านบาท จนคนไข้จิตเวชมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากอุปกรณ์การแพทย์ที่ครบครัน และมีเงินมาทำกิจกรรมฟื้นฟู คุณภาพชีวิตในโรงพยาบาลก็ดีขึ้น รวมถึงคุณภาพชีวิตข้างนอกเราก็ไปสร้างอาชีพ ทำร้านค้าในโรงพยาบาลให้เขามีพื้นที่ขายของ สอนให้เขาใช้ชีวิตได้ สามารถกลับไปอยู่ในครอบครัวเป็นสมาชิกคนหนึ่งที่ไม่เป็นภาระได้

การช่วยเหลือสังคม คือคุณค่าของชีวิต

“การที่เราแบ่งปันในสิ่งที่เราแบ่งปันได้ โดยที่เราไม่เดือดร้อน”

หมอเอิ้น : การช่วยเหลือสังคมในนิยามของพี่ คือการที่เราแบ่งปันในสิ่งที่เราแบ่งปันได้โดยที่เราไม่เดือดร้อน โดยเฉพาะศักยภาพที่เรามี แล้วต้องไม่แคร์สายตาใคร อันนี้คือสิ่งที่สำคัญ การที่เราให้อะไรหรือทำอะไรเพื่อคนอื่น เราอย่าไปคาดหวังว่าเขาจะขอบคุณเรา แต่เรารู้สึกขอบคุณตัวเองได้ไหม ที่สามารถให้โดยไม่มีเงื่อนไข อันนี้คือการให้ที่แท้จริง

ถ้าถามว่าคนเราเกิดมาเพื่ออะไร พี่คิดว่าคำถามนี้มันมีคำตอบในแบบฉบับของแต่ละคนที่แตกต่างกัน สำหรับพี่ความหมายของการมีชีวิตอยู่คือ การทำตัวเองให้เป็นประโยชน์กับตัวเอง กับคนอื่น และกับสังคม ขาดอันใดอันหนึ่งไม่ได้

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.