วัยรุ่นอังกฤษ ทักษะการทำงานหายไปเพราะล็อกดาวน์ - Urban Creature

หลังจากล็อกดาวน์กันมาอย่างยาวนาน พนักงานบริษัทวัยหนุ่มสาวในอังกฤษกลับพบว่า ทักษะในการสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานไม่เหมือนเดิม พวกเขามีปัญหากับการพรีเซนต์ในที่ประชุม หรือการพูดคุยกับลูกค้า และเป็นกังวลว่าจะส่งผลต่อความก้าวหน้าในอาชีพและเงินเดือน 

ผลสำรวจจาก LinkedIn โซเชียลมีเดียสำหรับธุรกิจและการจัดหางานเผยว่า 84 เปอร์เซ็นต์ ของพนักงานชาวอังกฤษที่อายุไม่ถึง 34 ปี รู้สึกไม่คุ้นเคยและทำตัวไม่ถูกเมื่อกลับมาใช้ชีวิตในออฟฟิศ โดย First Jobber หรือผู้ที่เริ่มงานระหว่างการแพร่ระบาดของโควิดคือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะพลาดโอกาสในการสร้างเครือข่าย และไม่ได้เรียนรู้จากเพื่อนร่วมงาน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายมากสำหรับคนวัยนี้

“การหายไปของการพูดคุยถามไถ่ประจำวัน หรือจับกลุ่มสนทนากันในออฟฟิศอาจจะดูเหมือนไม่มีนัยสำคัญในตอนแรก แต่จะส่งผลเสียต่อการทำงานในระยะยาว” Anjula Mutanda นักจิตวิทยาในลอนดอนบอกว่าหลายคนที่เริ่มงานในช่วงล็อกดาวน์โดยไม่เคยพบปะกันในชีวิตจริง จะไม่สามารถพูดคุยเรื่องส่วนตัวกับเพื่อนร่วมงานได้ ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติของพนักงานออฟฟิศ

อย่างไรก็ตามคนรุ่นใหม่อย่าพึ่งหมดหวัง เพราะยังมีข่าวดีอยู่บ้างเมื่อ LinkedIn พบว่า 90 เปอร์เซ็นต์ จากการสัมภาษณ์ผู้บริหาร 250 คน เข้าใจดีว่าพัฒนาการทางอาชีพพนักงานกำลังหยุดชะงัก ทำให้ผู้บริหารกว่าครึ่งวางแผนจะเพิ่มงบประมาณสำหรับกิจการทางสังคมเพื่อชดเชยเวลาที่เสียไปของคนหนุ่มสาวและกระชับความสัมพันธ์ของทุกคนเข้าด้วยกันอีกครั้ง เพราะมองว่าความสนิทสนมจะนำมาซึ่งทักษะที่ดีขึ้นในที่ทำงาน ซึ่งจะนำไปสู่การเลื่อนตำแหน่งหรือขึ้นค่าแรงในที่สุด 

ต่อไปนี้บริษัทต้องมีลูกล่อลูกชนมากขึ้น McKinsey & Co ที่ปรึกษาด้านการจัดการจากอังกฤษมองว่าองค์กรต้องทำให้ออฟฟิศเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยมนตร์ขลังที่จะดึงดูดพนักงานให้กลับมาและมีความสนิทสนมกันอีกครั้ง โดยยกตัวอย่างนโยบายของ PwC บริษัทตรวจสอบบัญชีที่เสนอโบนัสเป็นเงินสดให้กับพนักงานสำหรับเสื้อผ้าชุดใหม่ในการใส่มาทำงาน หรือถอยจักรยานสักคันเพื่อให้การเดินทางมาสำนักงานสะดวกขึ้น

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.