‘เกาหลีใต้’ คือหนึ่งในประเทศที่ตลาดเพลงเติบโตเร็วที่สุดในโลก ส่วนสำคัญเกิดจากอุตสาหกรรม ‘เคป็อป (K-POP)’ ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศมากถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 327,000 ล้านบาท) สื่อบันเทิงประเภทนี้กำลังสร้างปรากฏการณ์และได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก จึงไม่แปลกใจที่เคป็อปจะกลายเป็นหนึ่งใน Soft Power ส่งออกวัฒนธรรมเกาหลีใต้ได้อย่างทรงพลัง
เคป็อปก้าวเข้าสู่เวทีระดับโลกจากแนวดนตรีที่มีเมโลดีฟังง่าย สนุกสนาน ฟังครั้งแรกก็ติดหู พร้อมกับการเต้นที่แข็งแรง พร้อมเพรียง และเป๊ะแบบสุดๆ ไม่เพียงเท่านั้น ‘ศิลปินเคป็อป’ หรือ ‘ไอดอลเคป็อป’ ยังมีภาพลักษณ์ที่โดดเด่น น่าหลงใหล และมีเสน่ห์เฉพาะตัว
แต่เบื้องหลังของวงการที่หลายคนมองว่าสมบูรณ์แบบนั้นอาจไม่ได้น่าชื่นชมเหมือนภาพลักษณ์ที่ถูกนำเสนอ คอลัมน์ Report ประจำเดือนนี้ขอพาไปสำรวจหลากหลายด้านมืดของวงการเคป็อป ไม่ว่าจะเป็นสัญญาทาสที่เอาเปรียบศิลปิน การล่วงละเมิดทางเพศ และการทำให้ผู้เยาว์เป็นวัตถุทางเพศ ซึ่งล้วนเป็นพิษและอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อทั้งศิลปินและแฟนคลับทั่วโลก
Promise You
สัญญาทาสที่เอาเปรียบศิลปิน
ช่วงเวลาก่อนไอดอลเคป็อปไม่ว่าเดี่ยวหรือกลุ่มจะเปิดตัวในฐานะศิลปินสู่สาธารณชนอย่างเป็นทางการ หรือที่เรียกว่า ‘เดบิวต์’ พวกเขาต้องผ่านการเข้าร่วมโปรแกรมเทรนนิงในฐานะ ‘เด็กฝึก’ หรือ ‘เทรนนี’ ของค่ายเพลง เพื่อพัฒนาและฝึกฝนทักษะต่างๆ อย่างหนักหน่วง ทั้งการเต้น การร้องเพลง การแสดง ฯลฯ ภายใต้ตารางกิจวัตรประจำวันและกฎที่เข้มงวด เช่น ห้ามมีแฟนหรือห้ามออกเดต รวมถึงห้ามใช้โทรศัพท์
การปั้นเด็กฝึกหนึ่งคน ค่ายเพลงอาจต้องใช้เงินสูงถึง 50,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 1.6 ล้านบาท) แต่ในบางกรณี กระบวนการทั้งหมดตั้งแต่การเป็นเด็กฝึกจนได้ออกอัลบั้มเดบิวต์ อาจมีค่าใช้จ่ายมากถึง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 32 ล้านบาท) ขณะเดียวกัน เด็กฝึกอาจต้องใช้เวลาหลายปีในโปรแกรมเทรนนิง และไม่มีการการันตีว่าสุดท้ายแล้วพวกเขาจะได้เดบิวต์หรือไม่
และหากได้เป็นศิลปินเต็มตัว ไอดอลเคป็อปยังต้องชดใช้หรือจ่ายเงินที่บริษัทลงทุนไประหว่างช่วงฝึก โดยหักจากกำไรหรือรายได้หลังเดบิวต์แล้ว ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของแต่ละค่าย ซึ่งหลายๆ ครั้งกระบวนการส่วนนี้ก็ก่อให้เกิดสัญญาที่ไม่เป็นธรรมต่อตัวศิลปินหรือที่เรียกว่า ‘สัญญาทาส’
ภายใต้สัญญาประเภทนี้ รายได้มักถูกแบ่งอย่างไม่สมส่วนและไม่เท่าเทียม บางกรณีค่ายเพลงอาจได้ส่วนแบ่งมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของกำไรทั้งหมดจากยอดขายอัลบั้มและคอนเสิร์ต ขณะที่ศิลปินได้เงินส่วนนี้แค่ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และที่แย่ไปกว่านั้น วงเคป็อปส่วนใหญ่ยังต้องแบ่งเงิน 10 เปอร์เซ็นต์นี้กันเองด้วย มิหนำซ้ำเงินที่แบ่งแล้วส่วนใหญ่จะต้องใช้ไปกับการชำระหนี้ช่วงฝึกฝนของพวกเขา จนแทบไม่เหลือเงินเก็บ
กรณีตัวอย่าง เช่น Cao Lu สมาชิกวง FIESTAR เคยให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2017 ว่า หลังจากทำงานในวงการเคป็อปมา 5 ปี เธอมีรายได้เดือนละประมาณ 450 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น (ราว 14,700 บาท) ด้าน Henry Prince Mak อดีตสมาชิกวง JJCC เปิดเผยว่า ค่ายของเขาเก็บเงิน 80 เปอร์เซ็นต์จากรายได้ของกลุ่ม ขณะที่ไอดอลจะได้รับเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ โดยเงินส่วนนี้ต้องแบ่งกันระหว่างสมาชิกทั้ง 7 คน ซึ่งล้วนแล้วแต่หมดไปกับการชำระหนี้ แถมเงินที่ติดค้างบริษัทยังพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ จนดูเหมือนว่าจะไม่มีวันชำระหมดได้เลย โดย Henry Prince Mak ยังสรุปอีกว่า ในปี 2020 เขามีรายได้เพียง 1 – 2 ดอลลาร์สหรัฐต่อวันเท่านั้น (ราว 32 – 64 บาท)
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายๆ กรณีที่ค่ายเพลงปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อไอดอล เช่น วง OMEGA X ที่เคยถูกอดีตซีอีโอของต้นสังกัดล่วงละเมิดทางเพศและทำร้ายร่างกายเป็นประจำ, Chuu อดีตสมาชิกวง LOONA ฟ้องร้องบริษัทเนื่องจากสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและการบังคับให้ทำงานหนักมากเกินไป รวมถึงกรณีของสามอดีตสมาชิกวง TVXQ ที่ยื่นฟ้องต้นสังกัดอย่าง SM Entertainment เพราะการแบ่งรายได้ที่ไม่เป็นธรรมและสัญญาทาสที่กินเวลายาวนานกว่า 13 ปี
Perfect Love
วงการที่บูชาความสมบูรณ์แบบ
นอกจากประเด็นเรื่องการปฏิบัติต่อไอดอลอย่างไม่เป็นธรรมแล้ว อุตสาหกรรมเคป็อปยังมีปัญหาในแง่ของการนำเสนอตัวศิลปิน เพราะใครก็ตามที่ขึ้นชื่อว่าเป็นไอดอลแล้ว พวกเขาต้องมาพร้อมภาพลักษณ์อัน ‘สมบูรณ์แบบ’
คำว่าสมบูรณ์แบบในที่นี้ควบรวมทั้งเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกและพฤติกรรมของศิลปิน เห็นได้จากการที่ค่ายเพลงมักขอหรือส่งเสริมให้เด็กฝึกทำศัลยกรรมเพื่อให้มีใบหน้าหล่อสวยตามค่านิยมของสังคม เนื่องจากในอุตสาหกรรมนี้ หน้าตามีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าพรสวรรค์ หรือบางทีอาจมากกว่าด้วยซ้ำ
ไม่เพียงเท่านั้น เหล่าไอดอลยังต้องควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างหนักเพื่อรักษารูปร่าง ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิต ยกตัวอย่าง ครั้งหนึ่ง Momo สมาชิกวง TWICE เคยถูกบังคับให้ลดน้ำหนัก 7 กิโลกรัมภายในหนึ่งสัปดาห์ เธอจึงต้องกินเฉพาะน้ำแข็ง ทั้งๆ ที่ต้องออกกำลังกายและฝึกซ้อมอย่างหนักควบคู่ไปด้วย
ส่วนเรื่องของพฤติกรรม ไอดอลมักถูกคาดหวังให้ใช้ชีวิตและมีภาพลักษณ์ที่ไร้จุดด่างพร้อย ไม่ข้องเกี่ยวกับอบายมุขใดๆ รวมถึงต้องอุทิศตัวให้กับแฟนคลับของพวกเขาโดยห้ามออกเดตหรือมีแฟน ซึ่งเป็นรูปแบบการใช้ชีวิตในอุดมคติที่ยากเกินกว่ามนุษย์ทั่วไปจะทำได้
การคัดไอดอลจากรูปร่าง หน้าตา บวกกับการขายความไร้เดียงสา คือสารตั้งต้นที่ทำให้อุตสาหกรรมเคป็อปมีปัญหาในตัวเอง และนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ในหมู่ศิลปินและเหล่าแฟนคลับบางราย ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการกินอาหารที่ผิดปกติ โรคซึมเศร้า ความชอบในเชิงลัทธิบูชาตัวบุคคลมากกว่าผลงาน รวมถึงการไม่พึงพอใจในรูปลักษณ์ทางร่างกายของตัวเอง เพราะไม่สามารถมีหน้าตาหรือรูปร่างในอุดมคติที่วงการเคป็อปกำหนดไว้ได้
To My Youth
การทำให้ผู้เยาว์เป็นวัตถุทางเพศ
อีกประเด็นที่ถูกถกเถียงบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงปีที่ผ่านมาคือ การผลิตศิลปินตั้งแต่อายุน้อยๆ รวมถึง ‘การทำให้ผู้เยาว์เหล่านี้กลายเป็นวัตถุทางเพศ (Sexualization of Minors)’
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กรณีของวง NewJeans เกิร์ลกรุ๊ปน้องใหม่ภายใต้การดูแลของ ADOR ค่ายเพลงในเครือ Hybe Corporation ประกอบไปด้วยสมาชิก 5 คนที่มาพร้อมภาพลักษณ์เด็กสาวสดใส และแนวเพลงที่มีเอกลักษณ์ชัดเจน อัลบั้ม EP.แรกของพวกเธอทำลายสถิติยอดขายหลายรายการไม่กี่วันหลังจากปล่อยออกมา แถมแต่ละเพลงยังติดหูแฟนเพลงเคป็อปทั่วโลก และได้รับความนิยมบนโซเชียลมีเดียอย่างล้นหลาม
แต่ความสำเร็จแบบชั่วข้ามคืนก็มาพร้อมกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทันที เนื่องจากการแต่งตัวที่ล่อแหลม รวมถึงเนื้อเพลงในอัลบั้มอย่างเพลง Cookie ที่สามารถตีความไปในทางเพศได้ ทำให้แฟนคลับหลายคนกังวลว่าการแต่งตัวที่โชว์เรือนร่างมากเกินไป และเพลงที่มีความหมายสองแง่สองง่าม อาจไม่เหมาะสมกับวงไอดอลที่สมาชิกมีอายุเฉลี่ย 14 – 18 ปี ซึ่งถือว่ายังเป็นผู้เยาว์ เพราะเกาหลีใต้กำหนดให้ผู้บรรลุนิติภาวะต้องมีอายุ 19 ปีขึ้นไป
จากกระแสสังคมนี้ทำให้หลายคนโยงไปถึง ‘มินฮีจิน (Min Heejin)’ โปรดิวเซอร์และหัวหน้าฝ่ายครีเอทีฟไดเรกเตอร์ผู้อยู่เบื้องหลังวงน้องใหม่ NewJeans เพราะผู้ใช้โซเชียลมีเดียหลายคนกังวลว่าเธออาจเป็นโรคคลั่งเด็กหรือมีความใคร่เด็ก (Pedophilia) หลังจากเห็นว่ากำแพงสตูดิโอและอินสตาแกรมส่วนตัวของเธอเต็มไปด้วยภาพเด็กสาวเปลือยกาย
ขณะเดียวกัน ในอดีตเมื่อตอนที่เธอเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ที่บริษัท SM Entertainment มินฮีจินก็เคยเจอกระแสวิพากษ์วิจารณ์ลักษณะนี้มาแล้ว เพราะเธอเคยอยู่เบื้องหลังไอดอลหลายกลุ่ม เช่น Girls’ Generation, SHINee, EXO, f(x) และ Red Velvet ซึ่งมาพร้อมคอนเซปต์และเนื้อเพลงล่อแหลมเช่นกัน
นอกจากการทำให้เด็กกลายเป็นวัตถุทางเพศ กลุ่มแฟนคลับยังกังวลถึงประเด็นการเดบิวต์เด็กเป็นศิลปินตั้งแต่อายุยังน้อย เนื่องจากไอดอลส่วนใหญ่เริ่มเป็นเด็กฝึกตั้งแต่อยู่ระดับมัธยมฯ หรือบางคนก็เป็นตั้งแต่ระดับประถมฯ ด้วยซ้ำ จนดูเหมือนเรื่องปกติในวงการนี้ไปเสียแล้ว
ก่อนหน้านี้ ไอดอลมีอายุต่ำสุดอยู่ที่ 13 – 14 ปี แต่เกณฑ์ดังกล่าวดูเหมือนจะลดต่ำลงเรื่อยๆ เพราะเมื่อปีที่แล้ว ค่ายเพลง Retune Music ได้เดบิวต์ไอดอลหลายกลุ่ม เช่น Re:Kids Glory, Re:Kids Angel, Re:Kids Bloom, Re:Kids Treasure ฯลฯ โดยสมาชิกวงมีอายุเฉลี่ย 7 – 13 ปีเท่านั้น
ทั้งหมดนี้นำมาสู่การตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นการหากำไรจากเด็กและการใช้แรงงานเด็ก ซึ่งอาจโยงกลับมาที่ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก และทำให้ผู้เยาว์กลายเป็นสินค้าและวัตถุทางเพศ มากไปกว่านั้น เด็กเหล่านี้ยังไม่มีโอกาสใช้ชีวิตหรือเติบโตเหมือนวัยรุ่นทั่วๆ ไป และท้ายที่สุดไอดอลอาจมีปัญหาสุขภาพจิตในอนาคต
Gangnam Style
วัฒนธรรมที่มุ่งเน้นวัตถุนิยม และการบริโภคสินค้ามากเกินจำเป็น
กระแสนิยมของเคป็อปเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจนถูกจับจ้องจากคนทั่วโลก ถ้าพูดในเชิงเศรษฐกิจและการตลาด ปรากฏการณ์ Korean Wave คือโอกาสของสินค้าและแบรนด์ต่างๆ ในการสื่อสารกับแฟนคลับจำนวนมาก รวมถึงเจาะตลาดใหม่ๆ ทั้งในเอเชียและภูมิภาคอื่นทั่วโลก
นอกจากแบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภคที่เห็นศักยภาพของการโฆษณาผ่านเหล่าไอดอล ด้านอุตสาหกรรมแฟชั่นแบรนด์เนมก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับวงการนี้มากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เห็นได้จากแบรนด์หรูหราต่างๆ ทยอยเปิดตัวศิลปินและนักร้องเกาหลีในฐานะ ‘แบรนด์แอมบาสเดอร์ (Brand Ambassador)’ และ ‘โกลบอลแอมบาสเดอร์ (Global Ambassador)’
ในปี 2016 G-Dragon จากวง BIGBANG คือไอดอลเกาหลีคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ระดับโลกของ CHANEL หลังจากนั้น ไอดอลเคป็อปหลายคนก็ทยอยขึ้นแท่นเป็นตัวแทนของแบรนด์หรูหรามากมาย ล่าสุดในปี 2023 ศิลปินหลายคนก็ได้ร่วมงานกับสินค้าแบรนด์เนมไปแล้ว ได้แก่ ฮเยอิน (Hyein) วง NewJeans กับ LOUIS VUITTON, จีมิน (Jimin) วง BTS กับ DIOR, แทยัง (Taeyang) วง BIGBANG กับ GIVENCHY และแจฮยอน (Jaehyun) วง NCT ที่แม้ไม่ได้เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ระดับโลก แต่ก็เป็นศิลปินเกาหลีคนแรกที่ PRADA ดึงตัวร่วม Global Main Campaign Model
ศิลปินเกาหลีและแฟชั่นแบรนด์เนมจึงกลายเป็นของคู่กันที่แทบแยกออกจากกันไม่ได้แล้ว กลยุทธ์นี้ทำให้ไอดอลมีอิทธิพลและบทบาทในการกำหนดเทรนด์ความงามและการแต่งตัว ซึ่งนำไปสู่การกระตุ้นยอดขายมูลค่ามหาศาลให้กับแบรนด์นั้นๆ เนื่องจากวิธีนี้ตอบโจทย์ค่านิยมและความต้องการเชิงลึกของชาวเกาหลีใต้ที่หลงใหลในความงามและรูปลักษณ์ภายนอก เพราะคนเกาหลีจำนวนไม่น้อยมองว่าการทำให้ตัวเองมีรูปร่างหน้าตาดี หรือแม้แต่แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าและสินค้าราคาแพง เปรียบเสมือนการลงทุนให้กับอนาคต เพราะมันอาจทำให้พวกเขามีสถานะทางสังคมและมีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตมากขึ้น
การโปรโมตแฟชั่นแบรนด์เนมผ่านความสมบูรณ์แบบของไอดอลเคป็อป จึงอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้คนเกาหลีหลายคนกลายเป็นพวกวัตถุนิยมและใช้ชีวิตฟุ่มเฟือยมากกว่าเดิม สอดคล้องกับรายงานของ Morgan Stanley ที่เปิดเผยว่า เกาหลีใต้คือประเทศที่ผู้คนใช้จ่ายซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยเฉลี่ยต่อคนมากที่สุดในโลก
ปี 2022 แดนกิมจิมีการใช้จ่ายในหมวดหมู่สินค้าหรูทั้งหมดเพิ่มขึ้น 24 เปอร์เซ็นต์ เป็นจำนวนเงิน 1.68 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.6 แสนล้านบาท) หรือคิดเป็น 325 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน (ราว 10,000 บาท) ซึ่งเป็นมูลค่าที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับสัดส่วนเดียวกันของสหรัฐอเมริกาที่คิดเป็น 280 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน และจีนที่คิดเป็น 55 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน
นี่ยังไม่รวมถึงอิทธิพลของเหล่าไอดอลต่อแฟนคลับในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ที่มีแนวโน้มจะซื้อสินค้าและแบรนด์เนมมากขึ้น จากการติดตามโซเชียลมีเดียและการแต่งตัวของศิลปิน ไม่ว่าจะเป็นบนเวทีหรือแม้แต่แฟชั่นสนามบินก็ตาม พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนอาจทำให้บรรดาแฟนคลับเคป็อปจำนวนไม่น้อยเข้าใกล้วัฒนธรรมวัตถุนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากเคป็อปที่อาจมีส่วนทำให้ผู้คนยึดติดกับสิ่งของและรูปลักษณ์ภายนอก อุตสาหกรรมนี้ยังก่อให้เกิด ‘การบริโภคมากเกินความจำเป็น (Overconsumption)’ จากการที่ค่ายเพลงต่างๆ สร้างคัลเจอร์ทุนนิยมที่ส่งเสริมให้บรรดาแฟนคลับซื้อ ‘อัลบั้มแบบจับต้องได้ (Physical Album)’ จำนวนมาก จนก่อให้เกิดขยะพลาสติกปริมาณมหาศาลที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และต้องใช้ระยะเวลาหลายร้อยปีในการย่อยสลาย
Sources :
allkpop | bit.ly/3HM7McN
AsiaFundManagers | bit.ly/3XRp9Pl
BBC | bit.ly/40h9z0R
Best of SNO | bit.ly/3JsyqZJ
Bloomberg | bit.ly/3l0HTNK
BuzzFeed News | bit.ly/3XPHUT4
CNBC | bit.ly/3JwxVhi
DW | bit.ly/3HrDURR
Girlstyle Singapore | bit.ly/3HN73bC
KBIZoom | bit.ly/3x4lbHn
Koreaboo | bit.ly/3YdtRXb
Korea JoongAng Daily | bit.ly/3wIt05h
KpopStarz | bit.ly/3YduEaB
Medium | bit.ly/3HM7oel
The Diplomat | bit.ly/3Rr037w
The Emory Wheel | bit.ly/3Hnkttd
The Korea Herald | bit.ly/3RjFnhH
The Korea Times | bit.ly/3l3HABu
Unlockmen | bit.ly/3jiO13e