เปลี่ยนศาลาว่าการ กทม. เป็นพิพิธภัณฑ์ต่างๆ - Urban Creature

สืบเนื่องจากนโยบายของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มีแผนย้ายศาลาว่าการ กทม. จากเสาชิงช้าไปย่านดินแดง และเปลี่ยนอาคารหลังเก่านี้ให้เป็นพิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพฯ พื้นที่สาธารณะและพื้นที่สร้างสรรค์แห่งใหม่ของเมืองในอนาคต ด้วยพื้นที่อาคารขนาดใหญ่ประมาณ 7 ไร่ และลานคนเมืองประมาณ 6.5 ไร่ ตีเลขกลมๆ ทั้งหมดเกือบ 14 ไร่ หรือเทียบเท่าพื้นที่ 3 สนามฟุตบอลเลยทีเดียว

คอลัมน์ Urban Sketch จึงขออาสาเปิดพื้นที่รวบรวมไอเดียว่า ศาลาว่าการ กทม. ควรเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์แบบใดจึงจะตอบโจทย์คนเมืองอย่างแท้จริง ผ่านการสัมภาษณ์ตัวแทนในแวดวงต่างๆ เช่น คนรักพิพิธภัณฑ์จากกลุ่ม ‘ไปพิพิธภัณฑ์แล้วหัวใจเบิกบาน’, คนชื่นชอบศิลปะดิจิทัลจากเพจ ‘NFT Thailand’, ตัวแทนกระบอกเสียงคนพิการจากเพจ ‘ThisAble.me’ และเยาวชนที่สนใจเรื่องเมืองจาก ‘เยาวชนริทัศน์บางกอก (ReThink Urban Spaces – RTUS)’ ที่มาช่วยกันดีไซน์พิพิธภัณฑ์ในแต่ละมุมมองที่น่าสนใจ

ถ้าพร้อมแล้ว เราขอพาทุกคนไปทัวร์พิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพฯ ในฝันพร้อมกันตอนนี้เลย!

Bangkok Time Machine Museum
พิพิธภัณฑ์ท่องประวัติศาสตร์ ย้อนเหตุการณ์กรุงเทพฯ

Bangkok Time Machine Museum
พิพิธภัณฑ์ท่องประวัติศาสตร์ ย้อนเหตุการณ์กรุงเทพฯ

พิพิธภัณฑ์กรุงเทพฯ ควรเล่าเนื้อหาประวัติศาสตร์ที่ครอบคลุมทั้งเมืองและเข้าถึงคนทุกกลุ่ม อย่างการย้อนเหตุการณ์สำคัญๆ ในเมืองกรุงที่คนทุกยุคต้องเคยได้ยินหรือประสบพบเจอ เช่น เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2485 และปี 2554 หรือจะเป็นช่วงเหตุการณ์ประท้วงทางการเมืองและเรียกร้องสิทธิต่างๆ ถ่ายทอดให้เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตทั้งด้านดีและไม่ดี มีเรื่องราวและบทเรียนต่อคนปัจจุบันอย่างไร

‘ดร.นันทมนต์ กู้ตลาด’ จากกลุ่มไปพิพิธภัณฑ์แล้วหัวใจเบิกบาน และอาจารย์สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าถึงแนวคิดดังกล่าวว่า พิพิธภัณฑ์ของกรุงเทพฯ ควรเป็นแหล่งสำคัญที่เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ และควรสร้างบรรยากาศที่ทำให้ผู้เข้าชมทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ด้วย

การหยิบยกเหตุการณ์ที่น่าสนใจในประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ หรือแม้แต่เหตุการณ์ที่เป็นเทรนด์ในเวลานี้ของกรุงเทพฯ เป็นสิ่งที่คนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่กรุงเทพฯ ตั้งแต่กำเนิด คนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในเมือง รวมถึงคนรายได้น้อย ปานกลางถึงมากอาจจะเคยสัมผัส รู้จักผ่านตา หรือเคยได้ยินร่วมกันมาก่อน ประเด็นเหล่านี้จะทำให้คนดูรู้สึกมีอารมณ์ร่วมและผูกพันไปกับงานมากขึ้น

“พิพิธภัณฑ์กรุงเทพฯ ไม่เพียงเล่าพื้นฐานประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ เช่น ความเป็นอยู่ อาหาร หรือการคมนาคม แต่ควรนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ทั้งดีและไม่ดีให้รู้ด้วยว่าเคยเกิดอะไรขึ้นกับกรุงเทพฯ บ้าง เช่น เหตุการณ์อัคคีภัยสมัยก่อน เวลาไฟไหม้ที เขาจัดการกันอย่างไร คนในพื้นที่นั้นเขาเอาตัวรอดอย่างไร หรือพิธีโล้ชิงช้าในสมัยก่อนเป็นอย่างไร เราว่าพิพิธภัณฑ์ควรเล่าหลายด้าน เพื่อสร้างความหลากหลายในการรับรู้มุมมองต่างๆ มากยิ่งขึ้น เพื่อให้คนเข้าใจกรุงเทพฯ ในหลายมิติ”

Empower Youth Museum
พิพิธภัณฑ์สร้างฝันค้นหาตัวตน

Empower Youth Museum
พิพิธภัณฑ์สร้างฝันค้นหาตัวตน

พิพิธภัณฑ์กรุงเทพฯ ในมุมคนรุ่นใหม่ควรเป็นพื้นที่ที่ปลุกพลังให้กับเยาวชน แหล่งที่ให้เด็กค้นหาตัวตนในสิ่งที่ชอบ และได้แสดงความสามารถเพื่อเป็นแรงบันดาลใจต่อยอดให้กับคนอื่น พิพิธภัณฑ์อาจไม่ได้จำกัดเพียงแค่การให้ความรู้ที่ยึดติดแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่มันควรนำเสนอความหลากหลายของคนทุกกลุ่ม เช่น ความชอบ ความสนใจ ความสามารถ หรือวิถีชีวิตในยุคนี้ ซึ่งมันก็เป็นการนำเสนอชีวิตของคนกรุงเทพฯ ในอีกรูปแบบหนึ่งเช่นเดียวกัน

นี่คือไอเดียของ ‘ปกรณ์วิศว์ เวียงศรีพนาวัลย์’ จากเยาวชนริทัศน์บางกอก RTUS ที่มองว่าพื้นที่สาธารณะที่เกิดขึ้นควรส่งเสริมวัยเด็กให้มีพื้นที่เรียนรู้และเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ เพราะในเมืองไม่ค่อยมีสถานที่ส่งเสริมเยาวชนอย่างจริงจัง “ปัจจุบันกรุงเทพฯ ขาดพื้นที่สำหรับเยาวชน และไม่มีทุนส่งเสริมในการค้นหาตัวตน หรือเวทีโชว์ผลงานให้เด็กได้คิดออกมา พิพิธภัณฑ์อาจจัดกิจกรรมชั่วคราวประเภทต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้พวกเขาได้โชว์ของ เช่น นิทรรศการเต้น COVER เกาหลี ในห้องสามารถถ่ายทอดเรื่องราววัฒนธรรมเกาหลีที่เข้ามามีอิทธิพลในไทย เครื่องแต่งกาย หรือความคิดของเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรม รวมถึงสามารถใช้พื้นที่ลานสาธารณะเป็นพื้นที่การแสดงให้พวกเขาได้ด้วย

“ผมมองว่า พิพิธภัณฑ์ควรมีการจัดกิจกรรมหรือบอกเล่าเรื่องราวที่ลื่นไหล หมุนเปลี่ยนอยู่เสมอ เพราะความสนใจของคนสมัยนี้หลากหลายมากๆ และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มันอาจจะนำเสนอในรูปแบบเรียบง่ายและเข้าถึงชีวิตคนได้ เช่น นิทรรศการสุนัขและแมวในกรุงเทพฯ เพราะคนรักสัตว์มากขึ้น

“พิพิธภัณฑ์ไม่ควรจำกัดอยู่แค่ในตัวอาคาร แต่มันสามารถเชื่อมต่อกับลานพื้นที่สาธารณะให้แนบเนียนกับชีวิตคนได้มากกว่าเคย เช่น พิพิธภัณฑ์ในประเทศลิทัวเนียที่เล่าข้อมูลประวัติศาสตร์ของพื้นที่ในสวนสาธารณะ ผ่านทางเดิน เก้าอี้ หรือป้ายต่างๆ ทำให้คนสนใจและใกล้ชิดเรื่องราวต่างๆ มากขึ้น” 

Humans of Bangkok Museum
พิพิธภัณฑ์ห้องสมุดมนุษย์กรุงเทพฯ

Humans of Bangkok Museum
พิพิธภัณฑ์ห้องสมุดมนุษย์กรุงเทพฯ

กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่รวมความหลากหลายของคนมากมาย เช่น แรงงานต่างด้าว คนพิการ หรือชุมชนในพื้นที่ต่างๆ เหล่านี้มีมิติน่าสนใจที่ทำให้คนได้เรียนรู้ว่า เราเคยมีใครอยู่ในพื้นที่ไหนบ้าง มันมีวิวัฒนาการเปลี่ยนผ่านของคนเหล่านี้อย่างไร ซึ่งทุกคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของเมืองทั้งหมด

‘นลัทพร ไกรฤกษ์’ จากเพจ ThisAble.me สื่อออนไลน์เกี่ยวกับผู้พิการ อธิบายความคิดเห็นของเธอว่า คนในกรุงเทพฯ มีความหลากหลายที่ควรจะเก็บเป็นพิพิธภัณฑ์ห้องสมุดมนุษย์ เพื่อศึกษาเรียนรู้คนทุกกลุ่มให้เข้าใจซึ่งกันและกัน

“เราอยากให้พิพิธภัณฑ์เล่าถึงชีวิตคนที่อยู่ในหลายๆ พื้นที่ของกรุงเทพฯ เพราะเราเห็นว่ามีคนที่อาศัยอยู่ในย่านเก่าแก่มาตั้งนาน บางพื้นที่ไม่ได้สร้างใหม่หรือปรับปรุงเลย อยากรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงโดยรอบส่งผลต่อพวกเขาอย่างไรบ้าง เช่น บางชุมชนมีแต่คนหูหนวกอยู่ หรือคนที่อยู่ในย่านเซียงกงหลังจุฬาฯ สมัยก่อนขายเหล็กเป็นอย่างไรก่อนโดนไล่ที่ โดยมีกิจกรรมพูดคุยกับคนที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ว่าเขาใช้ชีวิตอย่างไร หรือผ่านอะไรมาบ้าง”

อีกอย่างที่สำคัญสำหรับพิพิธภัณฑ์กรุงเทพฯ คือการออกแบบพื้นที่การรับรู้ให้เข้าถึงคนทุกกลุ่ม “ปกติพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่มีแค่ตัวหนังสือ ภาพ หรือใช้ตัวอักษรเบรลล์อธิบายแค่บางส่วน คนพิการจึงเข้าไม่ถึงผลงานทั้งหมด ทั้งที่พวกเขาก็อยากเดินชมพิพิธภัณฑ์เหมือนกับทุกคน ซึ่งจริงๆ แล้วมันสามารถนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ได้หลายรูปแบบ เช่น เสียง ภาพสามมิติ กลิ่น หรือบางที่สามารถสแกน QR Code เพื่อดาวน์โหลดข้อมูลมาฟังได้ การใช้ตัวอักษรเบรลล์เหมาะสำหรับทำป้ายบอกทางต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์เป็นหลักมากกว่า

“นอกจากนี้ ตัวศาลาว่าการ กทม. อาจจะต้องปรับปรุงทางขึ้นอาคารให้รองรับผู้พิการด้วย เพราะทางข้างหน้าอาคารไม่มีทางลาดขึ้นไป คนที่นั่งวีลแชร์เลยต้องเดินเข้าข้างหลังอาคารด้านในสุด ถ้าพิพิธภัณฑ์ทำให้ผู้พิการสามารถเข้าอาคารจากทางเข้าด้านหน้าได้เหมือนคนอื่น มันก็จะรู้สึกดีขึ้นในฐานะคนไปเที่ยว เพราะเราไปกับเพื่อนที่เดินได้ปกติ ก็มักจะรู้สึกทำตัวไม่ถูกว่าเพื่อนต้องยกเราขึ้นบันไดไหม หรือเพื่อนต้องเสียเวลาเดินอ้อมไปข้างหลังสุดด้วยกัน หากพูดถึงพื้นที่สาธารณะ มันควรออกแบบรองรับคนหลากหลายกลุ่มให้เข้าถึงได้และมีความเท่าเทียมในการใช้งาน”

Digital Art Museum
พิพิธภัณฑ์ศิลปะดิจิทัล

Digital Art Museum
พิพิธภัณฑ์ศิลปะดิจิทัล

เพราะทุกวันนี้คนสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้ไม่สิ้นสุดในโลกออนไลน์ อย่างศิลปะดิจิทัลในรูปแบบ NFT สินทรัพย์ดิจิทัลที่มีชิ้นเดียวในโลก โดยนำผลงานหรือของสะสมของศิลปินมาทำในรูปแบบ NFT ไม่สามารถทำซ้ำหรือลอกเลียนแบบ และมีมูลค่าในตัวมันเอง ซึ่งมันเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้นักสร้างสรรค์สามารถโชว์ไอเดียของตนเองได้อย่างเต็มที่ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นสร้างผลงานสร้างสรรค์มากกว่าเดิม

พิพิธภัณฑ์กรุงเทพฯ ในความคิดของ ‘อภิชาติ แซ่ถัง’ จากเพจ NFT Thailand มองว่าน่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะดิจิทัล ที่เอื้อให้ผู้คนแสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์ได้มากยิ่งขึ้น เดิมทีพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ เวลาโชว์ผลงานมักมีข้อจำกัดเรื่องการเคลื่อนย้ายสิ่งของ หรือการแสดงผลงานของศิลปินเฉพาะกลุ่ม แต่หากเปลี่ยนเป็นรูปแบบออนไลน์ จะช่วยเปิดโอกาสให้กับนักสร้างสรรค์แสดงฝีมือและความสามารถได้หลากหลายรูปแบบ เช่น ดนตรี ภาพเคลื่อนไหว หรือโชว์ภาพสมัยก่อนที่หายาก ที่สำคัญ ผู้เข้าชมยังเข้าถึงงานศิลปะได้มากกว่าเดิมด้วย

“NFT เป็นผลงานรูปแบบดิจิทัลและแสดงผลงานผ่านจอ มันมีลูกเล่นหลากหลายให้ศิลปินทุกคนสามารถเผยแพร่ผลงานมากขึ้น เช่น เราทำมาสคอตเป็นร่างอวตารโชว์ในงาน และคอลเลกชันชุดมาสคอตเหล่านั้นก็มีขายใน NFT ได้ด้วย หรือสมมติเราเดินไปเจอผลงานชิ้นไหนน่าสนใจ เราสามารถซื้อได้โดยการสแกน QR Code ที่อยู่บนหน้าจอ จากนั้นก็จะโชว์ข้อมูลหรือราคาได้เลย”

แม้ว่าผลงานต่างๆ จะอยู่ในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งอาจชมออนไลน์จากที่บ้านก็ได้ ไม่ต้องเดินทางไปถึงพิพิธภัณฑ์ให้เหนื่อย แต่อภิชาติอธิบายว่า มันให้ความรู้สึกต่างกัน “การทำเป็นพิพิธภัณฑ์จูงใจให้คนสนใจได้มากกว่า ไม่เพียงแค่เป็นเวทีโชว์ความสามารถของศิลปิน แต่ยังเป็นการสร้างคอมมูนิตี้ศิลปะที่กระตุ้นให้คนทำผลงานสร้างสรรค์อย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น เช่น ทำไมถึงมีคนดูภาพโมนาลิซาที่ไม่ใช่ของจริง เพราะเขาสนใจไง หากเรามีจอที่มีความละเอียดสูง โชว์ภาพโมนาลิซาที่ชัดใกล้เคียงกับของจริงมากๆ เราว่าคนน่าจะอยากไปดูภาพนี้ในพิพิธภัณฑ์ และสนใจในศิลปะนั้นๆ มากยิ่งขึ้น”


Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.