ตามล่าหา ‘ต้นไม้ใหญ่’ ในเมืองกรุง - Urban Creature

อะไรที่เรียกว่า ‘สมบัติล้ำค่า’ บางคนอาจหมายถึงโบราณสถาน โบราณวัตถุ อย่าง ศิลาจารึก คัมภีร์ ตำรา เครื่องเงินเครื่องทอง หรือประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามต่างๆ แต่รู้หรือไม่ ‘ต้นไม้ใหญ่’ ที่เราเห็นอยู่ข้างบ้าน เดินผ่านอยู่ทุกวัน ทุกต้นนั้นก็มีคุณค่าไม่แพ้สิ่งไหน เพราะมันสามารถบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาและประวัติศาสตร์ชาติไทยได้เช่นกัน

เราจึงจะพาทุกคนออกไปผจญภัยในสถานที่ต่างๆ เพื่อตามหา ‘ต้นไม้ใหญ่’ สิ่งมีชีวิตที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างเมือง เป็นสมุดคอยจดบันทึกเรื่องราวต่างๆ รวมถึงเป็นสมบัติล้ำค่าที่เราทุกคนต้องช่วยกันดูแลรักษาให้คงอยู่ต่อไป

01 วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร | ต้นมะขาม

บนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจะเห็นพระปรางค์สีขาว สถาปัตยกรรมแสนงดงามตั้งเด่นอวดสายตาผู้ผ่านไปผ่านมา สถานที่แห่งนั้นคือ ‘วัดอรุณราชวราราม’ หรือที่นิยมเรียกกันว่า ‘วัดแจ้ง’ เป็นวัดโบราณที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมมีชื่อว่า ‘วัดมะกอก’ แต่เมื่อครั้งสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีพระราชประสงค์ย้ายเมืองหลวงมาตั้งที่กรุงธนบุรี โดยยกทัพมาทางชลมารค และมาถึงหน้าวัดมะกอกเป็นเวลาย่ำรุ่งพอดี จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘วัดแจ้ง’

จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 1 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ได้เสด็จมาประทับที่พระราชวังเดิม และได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดแจ้งใหม่ทั้งวัดแต่ยังไม่ทันสำเร็จก็สิ้นรัชกาลที่ 1 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 2 พระองค์ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดแจ้งต่อมา และพระราชทานนามใหม่ว่า ‘วัดอรุณราชธาราม’ จวบจนถึงปัจจุบัน

ภายในวัดเต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมสวยงามและโบราณสถานเก่าแก่มากมาย ซึ่งนอกจากพระปรางค์ใหญ่ พระวิหาร และโบสถ์ต่างๆ ที่ซุ้มประตูทางเข้าพระอุโบสถจะมีมาสคอตชื่อดัง อย่างเจ้ายักษ์วัดแจ้ง 2 ตนยืนเฝ้าอยู่ ซึ่งหากสังเกตดีๆ จะเห็นว่า ด้านข้างของยักษ์ทั้ง 2 นั้นมี ‘ต้นมะขามคู่’ ขนาดสูงใหญ่ตัดแต่งทรงสวยงามแปลกตายืนต้นอยู่

แต่รู้หรือไม่ ‘ต้นมะขามคู่’ นี้มีอายุยืนยาวราวๆ 160 ปี เห็นได้จากภาพวาดในหนังสือ ‘การเดินทางในไทยกัมพูชาและลาว 1858 – 1860’ โดย ‘อ็องรี มูโอต์’ นักสำรวจและนักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศส ประกอบกับภาพถ่ายเก่าบริเวณเดียวกันที่ระบุว่าถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2410 แสดงให้เห็นว่า ต้นมะขามฝั่งยักษ์กายสีเขียว (ทศกัณฐ์) มีมาก่อน พ.ศ. 2401 สำหรับต้นมะขามฝั่งยักษ์กายสีขาว (สหัสเดชะ) สันนิษฐานว่า อาจจะถูกปลูกขึ้นในภายหลัง ดังปรากฏในภาพโปสต์การ์ดสมัยรัชกาลที่ 7 พ.ศ. 2468 – 2477 ซึ่งต้นมะขามทั้ง 2 ต้นนี้ถือเป็นสมบัติล้ำค่าไม่แพ้สิ่งก่อสร้างใดๆ ภายในวัดอรุณฯ เลย

รู้หรือไม่ :
ตามตำราพรหมชาติฉบับหลวง ถือว่ามะขามเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งที่ควรปลูกไว้เพื่อป้องกันสิ่งไม่ดี อีกทั้งต้นมะขามยังเป็นต้นไม้ที่มีชื่อเป็นมงคลนาม ถือกันเป็นเคล็ดว่าจะทำให้มีแต่คนเกรงขาม ศัตรูเกิดความยำเกรงไม่กล้าเข้ามาทำอันตราย 
.
ชื่อ : ต้นมะขาม
อายุ : มากกว่า 160 ปี
สถานที่ : วัดอรุณราชวราราม


02 มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) | ต้นกร่าง

นั่งเรือข้ามฟากมายังฝั่งพระนคร กางแผนที่ดูจุดต่อไปแล้วออกเดินเท้าเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ไกลก็จะพบกับมหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) ที่ถึงแม้มีพื้นที่ไม่ใหญ่มาก เพราะในอดีตเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ก่อนเปลี่ยนมาเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตวังท่าพระในปัจจุบัน โดยภายในเป็นที่ตั้งของคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะมัณฑนศิลป์ และ คณะโบราณคดี

เพื่อหาสมบัติชิ้นต่อไป เราจึงเดินเข้าไปที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ประตูฝั่งถนนหน้าพระลาน ผ่านหอสมุดฯ หอศิลป์ฯ ก่อนเลี้ยวเข้าเส้นทางข้างตึกโรงอาหาร ในที่สุดก็ได้พบกับ ‘ปู่กร่าง’ หรือ ‘ต้นกร่าง’ ยืนเด่นค้ำอยู่ตรงกลางระหว่างสองตึกใหญ่

ต้นกร่าง’ ที่อยู่ตรงหน้ามีความสูงประมาณตึก 5 – 6 ชั้น ลำต้นขนาดใหญ่ 8 คนโอบ สันนิษฐานว่า น่าจะมีอายุมากกว่า 100 ปี ตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และคาดว่าอยู่คู่กับวังท่าพระก่อนที่จะมาเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร ดูจากหลักฐานภาพถ่ายเก่าสมัยรัชกาลที่ 4 ปัจจุบันสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือเนื่องจากต้นกร่างถูกเบียดด้วยตึกใหญ่ ไม่สามารถแผ่ขยายกิ่งก้านสาขาได้เต็มที่ อีกทั้งบริเวณโคนต้นยังถูกเทปูนโดยรอบ เพื่อทำเป็นพื้นทางเดินอีกด้วย

รู้หรือไม่ :
ต้นกร่าง มีชื่อภาษาบาลีว่า ‘ต้นนิโครธ’ จัดเป็นไม้มงคลตามพุทธประวัติ กล่าวว่า หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้แล้ว ได้ประทับอยู่ ณ ภายใต้ร่มโพธิ์ต่อไปอีก 7 วัน จึงได้ทรงย้ายไปประทับต่อที่ใต้ร่มนิโครธอีก 7 วัน ดังนั้นต่อมาผู้คนจึงนิยมปลูกต้นกร่างไว้ตามศาสนสถานหรือตามวัดวาอารามทั่วไป เพื่อเป็นไม้ให้ร่มเงาและเพิ่มความร่มเย็น แต่จะไม่นิยมปลูกไว้ในบ้านเนื่องจากมีขนาดใหญ่เกินไป
.
ชื่อ : ต้นกร่าง
อายุ : มากกว่า 100 ปี
สถานที่ : มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ)


03 วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร | ต้นตะเคียนทอง

ห่างจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ขับรถออกมาไม่ไกลบริเวณด้านหลังวัดราชบพิธฯ จะเห็นคลองเส้นหนึ่งทอดยาวตลอดแนว คลองนี้ชื่อว่า ‘คลองหลอด’ ย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่ 1 พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นและให้สร้างพระนครขึ้นชั่วคราว พร้อมสั่งให้ไพร่พลเกณฑ์ชาวเขมรกว่าหมื่นคนมาขุดคูรอบพระนคร ก่อนจะโปรดเกล้าฯ ให้ขุด ‘คลองหลอด’ ขึ้น เพื่อเชื่อมคลองคูเมืองเดิมและคลองรอบกรุงที่ขุดใหม่แห่งนี้เชื่อมเข้าหากัน

เล่าขานกันว่า รัชกาลที่ 1 ยังโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกต้นตะเคียนไว้ตามแนวคลองคูเมืองดังกล่าว ระหว่างสะพานปีกุนและสะพานหกในปัจจุบัน เพื่อนำมาต่อเรือสำหรับใช้ในราชการสงคราม ไม่มีบันทึกไว้แน่ชัดว่าปลูกไปมากน้อยแค่ไหน แต่ที่ปรากฏคือมีทั้งหมด 7 ต้นที่เรียงรายอยู่ริมคลอง ก่อนจะลดลงเหลือ 5 ต้น และไม่นานมานี้ ต้นตะเคียนยักษ์ถูกฟ้าผ่าตายไปอีก 1 ต้น จึงเหลืออยู่เพียง 4 ต้นเท่านั้นที่รอดชีวิต คอยยืนอวดรูปโฉมและทำหน้าที่บันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์มาตลอด 200 กว่าปี 

รู้หรือไม่ :
ตะเคียน เป็นไม้เนื้อแข็งและมีคุณสมบัติในการลอยน้ำได้ดี คนจึงนิยมนำมาสร้างบ้านหรือใช้ต่อเรือ เพราะนอกจากทนทานคนไทยยังเชื่อว่าต้นตะเคียนเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์มักมีเทวดาหรือภูตผีสิงสถิตอยู่ การนำไปต่อเรือ ก็จะได้ ‘แม่ย่านาง’ หรือที่เรียกกันว่า ‘เจ้าแม่ตะเคียน’ มาสิงสถิตคอยปกปักรักษาเวลาเดินทางไปไหนมาไหนอีกด้วย
.
ชื่อ : ต้นตะเคียนทอง
อายุ : มากกว่า 200 ปี
สถานที่ : ริมคลองหลอด หลังวัดราชบพิธฯ
จุดเด่น : โปรดเกล้าฯ ให้ปลูกโดยรัชกาลที่ 1


04 วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร | ต้นโพธิ์

ในย่านบางลำพู มีวัดหนึ่งที่ประชาชนทั้งไทยและต่างประเทศนิยมไปสักการบูชาเมื่อต้องการมีชัยชนะต่ออุปสรรคทั้งปวง นั่นคือ ‘วัดชนะสงคราม’

วัดชนะสงคราม เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ ‘วัดกลางนา’ ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ 1 ได้ทรงสถาปนาใหม่ขึ้นทั้งพระอาราม ต่อมาเมื่อทรงทำสงครามชนะอริราชศัตรูในสงคราม 9 ทัพ รัชกาลที่ 1 จึงทรงเปลี่ยนชื่อวัดเป็น ‘วัดชนะสงคราม’ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่สมเด็จพระอนุชาธิราช และเป็นมงคลแก่แผ่นดิน

หากมีโอกาสเข้าไปกราบไหว้พระวัดชนะสงคราม เราอยากแนะนำทุกคนลองเดินลัดไปทางด้านหลังพระอุโบสถ ผ่านรอยพระพุทธบาท ไม่ไกลจะได้พบกับ ‘ต้นโพธิ์ศักดิ์สิทธิ์’ ที่แอบอยู่ข้างหลังวัด ยืนต้นสูงเสียดฟ้าจนแทบจะมองไม่เห็นยอด ต้นโพธิ์ต้นใหญ่ถูกล้อมรอบด้วยรั้วเหล็กขนาดเล็ก พันด้วยผ้า 7 สี ชาวบ้านแถวนั้นเล่ากันว่า ต้นโพธิ์ต้นนี้อยู่คู่วัดมาเป็นเวลานานแล้ว โดยปัจจุบันมีการคาดการณ์อายุต้นโพธิ์ศักดิ์สิทธิ์ต้นนี้ว่ามีอายุมากกว่า 200 ปี

รู้หรือไม่ :
สำหรับชาวพุทธ พราหมณ์ และฮินดู จะถือกันว่าต้นโพธิ์เป็นต้นไม้ที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะมีความเกี่ยวข้องทางศาสนา ฉะนั้นจึงไม่มีใครนำมาปลูกไว้ตามบ้านเรือน อีกทั้งรากของต้นโพธิ์อาจทำให้บ้านหรือตัวอาคารเกิดความเสียหายได้ 
.
ชื่อ : ต้นโพธิ์
อายุ : มากกว่า 200 ปี
สถานที่ : วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร


05 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย | ต้นจามจุรี

หมุดหมายสุดท้ายของภารกิจ คือเราจะพาทุกคนไปดูต้นไม้ใหญ่ สัญลักษณ์และสมบัติล้ำค่าของชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อย่าง ‘ต้นจามจุรี’

ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2505 รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนิน ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในครั้งนั้นพระองค์ได้นำต้นจามจุรี จำนวน 5 ต้น จากพระราชวังไกลกังวล มาพระราชทานให้มหาวิทยาลัย พร้อมยังทรงปลูกด้วยพระองค์เองบริเวณด้านหน้าหอประชุมจุฬาฯ ฝั่งด้านสนามฟุตบอล ทางด้านขวา จำนวน 3 ต้น ด้านซ้าย จำนวน 2 ต้น

‘จามจุรี’ เป็นไม้ที่มีกิ่งเปราะ ยามเกิดลมฟ้าอากาศที่รุนแรงก็โค่นล้มง่าย อย่างเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาหลังเกิดฝนตกหนักตลอดคืนส่งผลให้ต้นจามจุรี 1 ใน 5 ต้นดังกล่าวล้มลงมา ทั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยตระหนักว่า อาจจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกจึงได้สำรวจความสมบูรณ์ของต้นจามจุรีที่เหลือ พบว่าบางต้นเริ่มมีปัญหาเรื่องความแข็งแรง จึงวางแผนหาแนวทางฟื้นฟู ไม่ว่าจะฟื้นฟูสภาพปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ ออกแบบการค้ำยันต้น ไปจนถึงเตรียมการเพาะพันธุ์ต้นลูกต้นหลานจากต้นที่ทรงปลูกไว้ ปัจจุบันจามจุรีทั้ง 4 ต้น มีลำต้นสูงใหญ่แผ่กิ่งก้านใบให้ร่มเงาแก่ทุกคนมากว่า 60 ปี

รู้หรือไม่ :
ต้นจามจุรีมีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ เข้าใจว่าถูกนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยครั้งแรกที่ทำการป่าไม้เขตเชียงใหม่ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2443 โดยมิสเตอร์ เอช เสลด ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมป่าไม้คนแรกของไทย
.
ชื่อ : จามจุรี
อายุ : 57 ปี
จุดเด่น : รัชกาลที่ 9 ทรงปลูกด้วยพระองค์เอง

Writer

Graphic Designer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.