Tiffany’s Show เพชรแห่งพัทยา - Urban Creature

Urban Creature x UN Women

นึกถึงพัทยา คุณนึกถึงอะไร

ต้นมะพร้าว ตลาดน้ำ หาดจอมเทียน หรือชีวิตกลางคืน

พัทยาในความคิดของทุกคนอาจแตกต่างกันออกไป แต่ถ้าถามฉัน ในฐานะคนที่นับตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน LGBTQ+ และได้ยินชื่อสถานที่แห่งนี้มานาน-ฉันนึกถึง Tiffany’s Show

นับตั้งแต่เปิดการแสดงครั้งแรกในปี พ.ศ.2517 Tiffany’s Show กลายเป็นหมุดหมายสำคัญที่คนมาเยือนพัทยาต้องนึกถึง แต่มากกว่าสาวสวย รวยความสามารถ และการแสดงอันน่าตื่นตาตื่นใจซึ่งเป็นภาพจำของใครหลายคน ที่นี่ยังถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของเมือง มากกว่านั้นคือสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน รวมถึงชาว LGBTQ+ ที่เดินทางจากทั่วประเทศหลายร้อยชีวิต

สิ่งที่บางคนอาจไม่รู้คือโรงละคร Tiffany’s Show, เวทีประกวด Miss Tiffany’s Universe และ Miss International Queen นั้นควบคุมงานโดย จ๋า-อลิสา พันธุศักดิ์ ทายาทรุ่นสอง และผู้บริหารหญิงที่ยกระดับให้โชว์แห่งนี้โด่งดังไกล ผลักดันให้ LGBTQ+ ไทยมีชื่อเสียงไปทั่วโลก

คอลัมน์ประจำจังหวัดคราวนี้ ฉันจึงอาสาพาทุกคนมาหาลมทะเลพัทยา ก้าวเข้าไปในโถงโอ่อ่าของ Tiffany’s Show เพื่อพูดคุยกับอลิสาถึงประวัติศาสตร์ของโรงละครตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง มุมมองของเธอต่อชาว LGBTQ+ ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจด้านความบันเทิง ไปจนถึงแนวคิดเบื้องหลังการทำโชว์ที่นักแสดงกับคนดูรักมาตลอด 40 ปี

(หมายเหตุ : มุมมองของอลิสาที่มีต่อชาว LGBTQ+ ในบทสัมภาษณ์นี้เป็นเพียงมุมมองส่วนบุคคล ไม่ได้เป็นภาพแทนของทุกคนในชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ)

ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น Tiffany’s Show ตั้งอยู่ที่แหลมบาลีฮาย ในบ้านหลังเล็กซึ่งเซตขึ้นเป็นโรงละครเฉพาะกิจ รับคนได้ราว 200 คน โดยชื่อของโรงละครมาจากดาราฮอลลีวูดชื่อดังคนหนึ่งในสมัยนั้น

ถึงจะเป็นแค่โชว์ขนาดย่อม ทว่า Tiffany’s Show ก็ประสบความสำเร็จในวงกว้าง ได้ยินไปถึงหูคุณสุธรรม พันธุศักดิ์ พ่อของอลิสาผู้กำลังสนใจลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยว ประจวบเหมาะกับเวลานั้น แหลมบาลีฮายจำกัดไม่ให้รถบัสเข้า ทำให้ Tiffany’s Show เสียรายได้จากนักท่องเที่ยวไปมากโข คุณสุธรรมจึงเสนอต่อผู้ก่อตั้งอย่าง คุณวิชัย เลิศฤทธิ์เรืองสิน ว่าจะสร้างอาคารโชว์หลังใหม่ให้เช่า

ในยุคแรกของ Tiffany’s Show มีหลายหนที่ต้องพวกเขาพบกับอุปสรรคจนเกือบจะล้มเลิก ทั้งไม่สามารถจูงใจคนให้มาซื้อตั๋วดูได้เพราะโชว์ของหญิงข้ามเพศยังเป็นเรื่องใหม่ หรือการที่คุณสุธรรม ผู้เป็นหัวเรือใหญ่โดนเหยียดหยามจากคนในวงการท่องเที่ยวเมื่อไปเสนอขายแพ็กเกจ

“แต่พ่อก็ไม่เคยคิดล้มเลิก เพราะเขาเห็นความสำเร็จอยู่ข้างหน้า เขาเชื่อในโปรดักต์ของเขา จึงคิดว่าไม่มีอะไรที่น่าอาย เมื่อก่อนแรงผลักดันที่ทำให้เขาทำธุรกิจคือเงิน แต่หลังๆ เขารู้สึกเฉยๆ กับเงินแล้ว เขารู้สึกว่ามันเป็นความภาคภูมิใจที่ได้สู้กับอคติคน”

คงไม่เกินจริงนักถ้าจะบอกว่าอลิสาเติบโตขึ้นพร้อมกับโรงละครทิฟฟานี่ เพราะเธอได้ติดห้อยสอยตามคุณพ่อมาดูโชว์ทุกครั้งตั้งแต่อายุ 5 ขวบ แม้เป็นเวลากลางคืนที่ปกติพ่อจะไม่อนุญาตให้ออกจากบ้านก็ตาม

“เพราะเขาเห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องไม่ดี ทุกครั้งที่ไปโรงละคร จ๋าจะไปอยู่ตรงจุดฉายไฟให้เวที พ่อบอกให้ไปยืนตรงนั้นเพราะข้างล่างคนกินเหล้า ตอนที่จ๋าอยู่บนนั้น เรารู้สึกเอนเตอร์เทน ตื่นเต้นกับคนสวย สำหรับเราคนที่อยู่บนเวทีคือซูเปอร์สตาร์ เพราะท่วงท่า จังหวะหมุนเขาเป๊ะมาก จ๋าชอบมาก กลับบ้านมาก็เต้นตาม ร้องเพลงได้หมดทุกเพลงกับพี่สาว”

ดอนนา ซัมเมอร์, ไลซา มินเนลลี, ฟรานซิส ยิป คือรายชื่อของไอคอนดังที่อลิสารู้จักเพราะ Tiffany’s Show “เขาเข้าใจการเลือกเพลงมาใช้ให้น่าติดตาม มันทำให้เราดูซ้ำๆ แล้วยังมีความสุขอยู่ตลอด”

ถึงอย่างนั้น อลิสาในวัยเด็กก็ไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งจะได้มารันธุรกิจของ Tiffany’s Show เลย แต่หลังจากเรียนจบปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ (MBA) ที่อเมริกา เธอค้นพบว่าตัวเองชอบงานที่ต้องเข้าสังคมและครีเอทีฟ อลิสาจึงบินกลับมาคุมงานโรงแรมในเครือวู้ดแลนด์ของพ่อ ต่อจากนั้นก็ได้มาช่วยดูแล Tiffany’s Show ในที่สุด

สิ่งแรกที่อลิสาลงมือทำกับ Tiffany’s Show คือการวางกลยุทธ์เพื่อโปรโมตการประกวด Miss Tiffany’s Universe ในปี 2542 ซึ่งตอนนั้นยังเป็นการประกวดในวงแคบๆ แต่เธอผลักดันให้ได้ถ่ายทอดสดผ่านทางช่อง ITV ได้สำเร็จ ซึ่ง ณ ตอนนั้นยังไม่เคยมีเวทีของผู้หญิงข้ามเพศเวทีไหนทำได้

Tiffany’s Show จึงสลัดภาพโชว์เฉพาะกลุ่มเข้าสู่ความแมสเต็มกำลัง สเต็ปต่อไปอลิสาถึงบูรณะเวที ที่นั่ง รูปแบบการโชว์ ไปจนถึงระบบออกตั๋ว 

เรื่องที่ฉันได้ยินแล้วแทบไม่เชื่อหู คืออลิสาใช้เวลารื้อโรงละครเก่าแล้วสร้างใหม่ภายในไม่กี่วัน

“จ๋าไม่ได้นอนเลยสามวันสามคืน มันโกลาหลมาก เพราะเราหยุดการแสดงไม่ได้เลยสักวัน ตอนก่อสร้างก็ทำให้ฝุ่นมันฟุ้งไปอยู่ทุกที่ ถ้าวันนั้นมีโซเชียลนะ ทำไม่ได้ เพราะทุกคนจะต้องถ่ายแล้วด่าเราทุกวัน” เธอเล่าย้อนกลับไปด้วยความขำปนขื่น 

แต่สุดท้าย เมื่อแลกมากับโรงละครสองชั้นที่ถูกขยายเป็นพันที่นั่ง มีเวทีกว้างที่สามารถเก็บฉาก และมีการแบ่งส่วนของแบ็กสเตจให้นักแสดงอยู่ได้อย่างลงตัว ผลลัพธ์ก็ทำให้เธอกับทีมงานชื่นใจ

ตั้งแต่ยุคที่ความเท่าเทียมทางเพศยังไม่เป็นที่สนใจ Tiffany’s Show คือสถานที่ที่มองเห็นคุณค่าของทุกคนเท่ากัน 

นับจากยุคแรกจนถึงปัจจุบัน ที่นี่ให้โอกาสในการทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังกับคนข้ามเพศ และชาว LGBTQ+ มาหลายสิบรุ่น หลายร้อยคน

“จ๋ามองว่าผู้หญิงข้ามเพศคือผู้หญิงคนหนึ่ง ถ้าเขาไม่ได้ทำสิ่งที่ไม่มีกาลเทศะ เขาก็สามารถทำได้ทุกอย่างที่เขาอยากทำ จ๋าดูโชว์มาตลอดชีวิต และก็เข้าใจว่าคนที่รักการแสดง เขาจะมีชีวิตจิตใจตอนที่ได้อยู่บนเวที

“ตั้งแต่รุ่นพ่อ ที่นี่มีคนให้โอกาสและคนได้รับโอกาสอยู่เสมอ อย่างช่วงที่เจ้าของเก่าจะเลิกทำ พ่อก็ไปเสนอตัวว่าจะทำต่อ การให้โอกาสคนคือคุณค่าที่ทำให้เรายึดถือมาตลอด เพราะเราเชื่อว่าพอเราให้โอกาสเขา เขาจะแสดงความสามารถของเขาได้อย่างเต็มศักยภาพ”

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า Tiffany’s Show เป็นโชว์ที่จำกัดให้บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศมาทำงานเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง ทีมงานของที่นี่มีทุกเพศทุกวัย ช่วงก่อนโควิดก็มีนักร้องที่เป็นเพศหญิงโดยกำเนิดมาร่วมโชว์ด้วยเช่นกัน

ถึงอย่างนั้น การได้อยู่ท่ามกลางคนที่มีความหลากหลายทางเพศก็มีข้อดีไม่น้อย

“มันสอนจ๋าว่าคนไม่เหมือนกันเลย แม้กระทั่งชาว LGBTQ+ เองก็ไม่เหมือนกันเลยทุกคน เขาไม่ได้มีนิสัยที่เป็น stereotype ที่เราจะกำหนดได้ว่าเพราะเขาเป็นกะเทย เขาถึงเป็นแบบนี้”

ในสายตาของอลิสา Tiffany’s Show ยุคก่อนกับตอนนี้แตกต่างกันตรงที่ในอดีต โชว์ของพวกเขาถูกมองว่าเป็นความสวยงามหาดูยาก ลูกค้าเข้ามาดูด้วยความอยากรู้อยากเห็น แต่ปัจจุบัน Tiffany’s Show คือความครีเอทีฟ คนดูเดินเข้ามาในโรงละครเพราะพวกเขาต้องการดูโชว์ของนักแสดงที่มีความสามารถ เป็นมือโปร

“สิ่งที่ทำให้จ๋าอยากอยู่กับทิฟฟานี่ต่อไปเรื่อยๆ คือมันมีอะไรที่ทำให้เราไม่ได้หยุดคิดเลย ที่นี่เป็นที่ทำงานที่ทำให้เราอยากผลักดันให้มันยิ่งใหญ่ ให้มีศักดิ์ศรี เพราะตอนแรกๆ ที่เข้ามา จ๋าก็พยายามไปขายแพ็กเกจของทิฟฟานี่ให้กับเอเจนต์การท่องเที่ยว บางคนเขาก็จะมองเราเหมือนคนทำงานกลางคืน หรือคนรู้จักเราบางคนถึงกับพูดว่า ‘เนี่ย เป็นบ้าอะไร อยู่ดีๆ ไปทำงานกับกะเทย’ เราก็รู้สึกว่าเฮ้ย พูดไม่ดีเลย แต่ในทางกลับกัน จ๋าก็มองเห็นเสียงสะท้อนว่าคนภายนอกมองทิฟฟานี่ว่าเป็นยังไง

“หลังจากนั้นจ๋าก็เปลี่ยนวิธีคิดมาทำการตลาดแบบใหม่เลย ตั้งใจว่าจะไม่ง้อคน ไม่ง้อเงิน และจะเน้นแบรนด์ดิ้ง ทุกคนที่เข้ามาดู Tiffany’s Show ต้อง willing to pay สมัครใจที่จะจ่ายตามเรตราคาที่เราตั้งไว้ แต่ก่อนจะทำให้ลูกค้าคิดแบบนั้นได้ เราต้องมั่นใจว่าของเราดีก่อน จ๋ายึดแนวคิดนี้มาตลอดคือถ้าของคุณดี คุณลงทุนกับมัน คุณจะขายได้” อลิสาย้ำ

ปัจจุบัน Tiffany’s Show ตั้งใจไว้ว่าจะครีเอตโชว์ใหม่ทุกปี ขณะเดียวกันก็จัดเวทีประกวด Miss Tiffany’s Universe และ Miss International Queen ปีละสองครั้งเพื่อให้คนดูทั่วโลกได้มองเห็นความหลากหลายและสร้างความเข้าใจเรื่องชุมชนของผู้มีความหลากหลายทางเพศให้สังคม

ในขณะเดียวกัน มุมมองของสังคมที่มีต่อ Tiffany’s Show ก็ดีขึ้นเยอะมาก พวกเขาได้รับการสนับสนุนจากคนดูและหน่วยงานอื่นๆ แบบเกินความคาดหวัง ตรงนี้อลิสาขอยกเครดิตให้กับลูกทีมที่ตั้งใจทำงานเพื่อลบภาพจำไม่ดีในสังคม “การเข้ามาอยู่ทิฟฟานี่ได้เหมือนเขาถูกเลือกมาแล้วว่าเขาต้องอดทน และต้องอดทนได้ทุกสถานการณ์” แม้กระทั่งโควิด-19 ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเจอมาก่อน อลิสาก็พยายามแจกจ่ายงานเพื่อซัปพอร์ตลูกทีมในช่วงโรงละครปิด ทั้งการเทรนด์ให้ขายของออนไลน์ หรือให้ไปช่วยงานที่โรงแรมและร้านอาหารในเครือ “ความอดทนทำให้เขาไปต่อได้ และทำให้เขาได้รู้ว่าแต่ละงานที่ได้รับมีคุณค่า ไม่ใช่แค่การเต้นเท่านั้น”

มองย้อนกลับไป อลิสาบอกว่าตัวเองรู้สึกโชคดีที่ได้มารับช่วงต่อโรงละครแห่งนี้จากพ่อ มากกว่านั้นคือโชคดีที่เชื่อว่าคนทุกคน งานทุกงานมีเกียรติและศักดิ์ศรีเท่ากันมาตั้งแต่แรก 

“ทำให้เราสนุก มันเป็นอาชีพที่ได้ทำงานกับคนหลากหลาย แม้บางครั้งจะทำให้เรากังวลหรือเครียดบ้าง สุขสลับกับทุกข์ แต่มันเป็นอาชีพที่น่าอิจฉามาก

“การทำงานที่นี่ทำให้จ๋ารู้สึกว่าเราได้ทำอะไรที่มากกว่าการหาเงิน เรารู้สึกดีใจมากเลยที่เกิดมาแล้วได้ทำ”

UN Women ร่วมกับ Urban Creature นำเสนอธุรกิจประจำจังหวัดที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้หญิง และความเสมอภาคทางเพศในภาคธุรกิจและเศรษฐกิจ

ทิฟฟานี่โชว์ คือธุรกิจอายุ 40 ปี ที่ทำให้คนได้เห็นศักดิ์ศรีของคนชายขอบที่ถูกสังคมผลักออก ที่นำเสนอกลุ่มที่สังคมเรียกว่า ‘กะเทย’ ให้ทุกคนได้รับรู้ว่า พวกเขามีมิติที่มากกว่าความแตกต่างทางเพศ เหนือสิ่งอื่นใด เพื่อให้สังคมรับรู้ว่า‘ทิฟฟานี่โชว์’
ไม่ได้เป็นเพียงแค่ ‘กะเทยโชว์’ ไม่ได้ขายความเป็นเพศ แต่เป็นความสามารถและเป็นความภาคภูมิใจในอาชีพโดยแท้จริง

WeEmpowerAsia คือโครงการที่องค์การเพื่อความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (European Union) ให้ร่วมหาโอกาสเพื่อให้ผู้หญิงในประเทศจีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำและมีส่วนร่วมในภาคธุรกิจมากยิ่งขึ้น โครงการนี้มุ่งเน้นกระตุ้นให้ภาคธุรกิจตระหนักถึงคนทุกเพศ (gender-responsive) โดยเริ่มจากการปฏิบัติตามหลักการเสริมสร้างศักยภาพสตรี (Women’s Empowerment Principles/WEPs) รวมทั้งกระชับสายสัมพันธ์ระหว่างตลาดในภูมิภาคเอเชียและยุโรปผ่านการค้า และห่วงโซ่อุปทาน (supply chains) ที่สามารถตอบสนองผู้บริโภคได้ทุกเพศ 

Writer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.