ช่วงเวลาพระอาทิตย์ตกดิน คือความสวยงามทางธรรมชาติที่ผู้คนทั้งโลกสามารถเข้าใจและซาบซึ้งไปพร้อมๆ กัน โดยไม่มีกำแพงของภาษาหรือต้องการคำอธิบายอะไรเพิ่มเติม เราจึงได้เห็นฉากในหนังรักโรแมนติกหลายเรื่องที่พระเอกนางเอกเดินทอดน่องคุยกันได้นานๆ ไปเดตกันในสวน และมองวิวพระอาทิตย์ตกด้วยกันในที่สาธารณะ เป็นโมเมนต์โรแมนติกที่แสนจะธรรมดา แต่กลับเป็นสิ่งที่สัมผัสได้ยากมากในกรุงเทพฯ
เพราะกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ไม่โรแมนติก และผังเมืองไม่ได้ออกแบบมาสอดรับกับปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก ไม่มีพื้นที่สาธารณะที่ใช้เป็นจุดพักผ่อนหรือเป็นจุดชมวิว เราจึงไม่มีโอกาสได้นั่งชิลๆ ชมวิวพระอาทิตย์ตกแบบเต็มตาสักครั้งในพื้นที่สาธารณะใจกลางเมืองแห่งนี้
มายด์-มาธวี ติลกเรืองชัย บัณฑิตจากสาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอีกหนึ่งคนที่ตั้งคำถามกับความโรแมนติกของกรุงเทพฯ เชื่อว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีศักยภาพในการพัฒนา และมีพื้นที่ดีๆ ที่สามารถปรับปรุงพื้นที่สาธารณะให้รองรับวิวพระอาทิตย์ตก เธอจึงนำคำถามที่ตัวเองอยากรู้มาทำธีสิส ‘The Rattanakosin Henge โครงการรักษาวิวพระอาทิตย์ตกดิน’ (โครงการฟื้นฟูบูรณะพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อมุมมองอัสดงสาธารณะ) และพาไปดูว่า ถ้าเราเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้โรแมนติกมากกว่านี้ได้ จะออกมาหน้าตาอย่างไรบ้าง
วิวพระอาทิตย์ตกไม่ได้เกิดจากความบังเอิญ แต่เกิดจากผังเมืองที่คิดมาแล้ว
ในช่วงแรกที่เริ่มหาหัวข้อทำธีสิส มายด์พยายามมองหาเรื่องที่เป็นตัวเองและอยู่ใกล้ตัวมากที่สุด เธอสนใจเรื่องสุนทรียศาสตร์ของเมือง จึงพยายามจะตีโจทย์เรื่อง ‘Romantic City’ แต่ยิ่งรีเสิร์ชยิ่งพบว่าคำกว้างไป และอธิบายยาก จึงสโคปประเด็นลงมา และพบว่าความโรแมนติกคือการได้ดื่มด่ำกับช่วงเวลาดีๆ ที่เกิดขึ้นในเมือง จึงสรุปออกมาได้ว่า ความโรแมนติกของเธอคือช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ตก
จากโจทย์เรื่องความโรแมนติกของเมืองและช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ตกดิน ทำให้มายด์ได้พบว่าทั้งสองสิ่งนี้เกี่ยวข้องกันโดยตรงและมีให้พบอยู่ทั่วโลก โดยปรากฏการณ์นี้เรียกว่า “เฮนจ์” (Henge) มายด์จึงเลือกโฟกัสไปที่ Henge ในกรุงเทพฯ
คำว่า “เฮนจ์” (Henge) มาจากคำว่า สโตนเฮนจ์ (Stonehenge) ซึ่งเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ด้านสถาปัตยกรรมของโลก ที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการเดินทางของดวงอาทิตย์ ในอดีตสโตนเฮนจ์เคยถูกใช้เป็นเครื่องคำนวณปฏิทินดาราศาสตร์ แต่ปัจจุบัน Henge เป็นการสร้างความจดจำของพื้นที่เชิงวัน เวลา และสถานที่ อีกทั้งยังเป็นจุดหมายด้านการท่องเที่ยวที่แต่ละเมืองใช้เป็นจุดขายอีกด้วย เราจะเห็นได้จากภาพถ่ายวิวพระอาทิตย์ตกสวยๆ ในต่างประเทศที่เป็นมุม Iconic และอยู่ตามแลนด์มาร์กต่างๆ ของเมือง
ภาพดวงอาทิตย์ดวงใหญ่สีสดเหมือนไข่แดงที่อยู่ระหว่างตึกสูงในแมนฮัตตัน มหานครนิวยอร์ก เรียกว่า Manhattanhenge เป็นอีกหนึ่งวิวพระอาทิตย์ตกที่โด่งดังมากๆ เหตุผลที่เกิดภาพแบบนี้ได้เป็นเพราะผังเมืองของนิวยอร์กเป็นแบบกริด (Grid plan) ซึ่งเป็นสัณฐานเมืองที่มีโอกาสเกิด Henge ได้มากที่สุด เพราะองศาของถนนจะต้องตรงกับองศาการตกของดวงอาทิตย์พอดี ประกอบกับการมี องค์ประกอบของเมือง (Urban Scape) ที่เอื้อต่อการมองเห็นด้วย
ส่วน Paris Henge เป็นการเพิ่มคุณค่าของพื้นที่โดยการใช้ตัวแลนด์มาร์กที่สำคัญของเมือง เช่น พีระมิดลูฟวร์ (Louvre Pyramid), ประตูชัย (Arc de Triomphe) เป็นสิ่งสร้างความสัมพันธ์ระหว่างการตกของดวงอาทิตย์กับเมือง เพื่อสร้างความจดจำเชิงพื้นที่ และสร้างมุมมองที่แตกต่างในการท่องเที่ยว เป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ด้วยวิวพระอาทิตย์ตกได้เป็นอย่างดี
ที่สุดท้ายอยู่ในประเทศไทย คือ Panomrung Henge ที่ปราสาทหินพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ สถาปัตยกรรมอันเก่าแก่ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ แต่เพราะมีแนวคิดการออกแบบช่องเปิดที่สัมพันธ์กับธรรมชาติ โดยคำนึงถึงการเดินทางของดวงอาทิตย์ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 เป็นไปได้ว่าวัดเก่าหลายแห่งในประเทศไทยอาจมีโอกาสเกิด Henge สูงมาก
แม้ว่าอยู่ตรงไหนในกรุงเทพฯ ก็มองเห็นพระอาทิตย์ตกได้เหมือนกัน แต่การเกิด Henge ไม่ใช่แค่วิวพระอาทิตย์ตกธรรมดา ถ้าอยากให้ได้มุมที่สวยที่สุดต้องเป็นพื้นที่มีอัตลักษณ์ที่สำคัญกับเมืองด้วย โครงการนี้จึงเลือกโฟกัสเฉพาะในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และสร้างอิมแพกต์จากปรากฏการณ์นี้ได้
จากตัวอย่างรูปแบบการเกิด Henge ในเมืองต่างๆ สามารถแบ่งประเภทของ Henge ได้ 3 แบบ คือ
1. Phenomenon Henge หรือ มุมมองอัสดงสาธารณะแบบปรากฏการณ์ เป็นการค้นหาทิศทางการตกของดวงอาทิตย์จากสัณฐานและองค์ประกอบเมือง เช่น Manhattanhenge
2. Landmark Henge หรือ มุมมองอัสดงสาธารณะแบบภูมิสัญลักษณ์ เป็นการเพิ่มความสำคัญและสร้างความจดจำระหว่างสถานที่กับการตกของดวงอาทิตย์ เช่น Paris Henge
3. Framing Henge หรือ มุมมองอัสดงสาธารณะแบบกรอบภาพ เป็นการเสาะหาสิ่งปลูกสร้างหรือองค์ประกอบของเมือง ที่ทำให้เกิดกรอบภาพ ซึ่งส่วนมากเป็นช่องเปิดของโบราณสถาน เช่น ปราสาทหินพนมรุ้ง
Henge ประจำฤดูกาล
โจทย์ของ The Rattanakosin Henge คือการค้นหาพื้นที่ที่มีพระอาทิตย์ตก (Henge) ต่อยอดมรดกวัฒนธรรมในแต่ละย่าน และฟื้นฟูบูรณะพื้นที่ย่านและปรับปรุงภูมิทัศน์เมืองเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้าไปชมวิวและใช้พื้นที่สาธารณะได้
หลังจากทราบประเภทของ Henge แล้ว วิธีการที่จะรู้ได้ว่าสถานที่ไหนในเกาะรัตนโกสินทร์เกิด Henge ได้บ้าง มายด์เริ่มต้นจากการหาทิศทางของแสงอาทิตย์ในเว็บไซต์ sun-direction.com ทำให้รู้ว่าสถานที่ใดบ้างที่เกิด Henge ได้ ซึ่งแต่ละที่ก็เกิดในช่วงเวลาและฤดูกาลที่ต่างกัน
- Phenomenon Henge หรือแบบปรากฏการณ์ จะมีทั้งหมด 2 จุดในเกาะรัตนโกสินทร์ ได้แก่ ถนนหน้าพระลาน-ท่าเรือท่าช้าง และถนนท้ายวัง-ท่าเรือท่าเตียน
- Landmark Henge แบบภูมิสัญลักษณ์ มี 4 จุด ได้แก่ ภูเขาทอง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เสาชิงช้า วัดอรุณฯ
- Framing Henge หรือแบบกรอบภาพ มี 7 จุด ได้แก่ วัดพระแก้ว วัดโพธิ์ วัดประดิษฐ์ วัดราชบพิธฯ วัดสุทัศน์ โลหะปราสาท วัดเทพธิดารามฯ
ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งของการเกิด Henge คือเรื่องของ ‘เวลา’ แต่ละจุดจะมีเวลาตกของดวงอาทิตย์ต่างกัน Henge จะไม่เกิดทุกวัน เพราะตามหลักธรรมชาติแล้วโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ ทำให้เวลาและสถานที่ที่จะเกิด Henge เคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ โครงการนี้จึงแบ่งการพัฒนาเป็น 3 ย่าน และมีธีมให้แต่ละย่านตามเอกลักษณ์ของพื้นที่ ได้แก่ ย่านท่าพระจันทร์-ท่าเตียน (ธีมมรดกเมืองน้ำ), ย่านบำรุงเมือง (ธีมกินดื่มวิถีไทย-จีน), และย่านราชดำเนิน-ภูเขาทอง (ธีมประตูเมืองสู่โลกวัฒนธรรมร่วมสมัย)
เมื่อเรามีพื้นที่ที่เกิด Henge แล้ว ก็ต้องปรับปรุงพื้นที่สาธารณะให้รองรับคนที่มาดู Henge และทำให้มีฟังก์ชันที่สอดคล้องกับเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมในแต่ละย่าน แต่การปรับปรุงพื้นที่แค่จุดเดียวอาจจะไม่สามารถดึงดูดคนให้ใช้เวลาที่นี่ได้นาน มายด์จึงออกแบบประสบการณ์ใน 3 ช่วงเวลา คือก่อนเกิด Henge ระหว่างดู Henge และหลังเกิด Henge เพื่อให้เห็นว่า หากมีพื้นที่สาธารณะและมีกิจกรรมรองรับก็ทำให้คนมาใช้พื้นที่นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ย่านท่าพระจันทร์-ท่าเตียน
บริเวณย่านท่าพระจันทร์-ท่าเตียน เป็นย่านริมน้ำที่จะมี Henge เกิดขึ้นช่วงฤดูหนาว (เดือนธันวาคม-มีนาคม) จึงออกแบบให้เป็นธีม ‘มรดกเมืองน้ำ’ บริเวณนี้จะเกิด Henge ทั้งหมด 3 รูปแบบ แต่การออกแบบและปรับปรุงภูมิทัศน์จะเลือกโฟกัสไปที่การเกิด Henge บริเวณถนนหน้าพระลาน-ท่าเรือท่าช้าง เป็น Henge แบบปรากฏการณ์ จึงต้องสร้างองค์ประกอบของเมือง (Urban Scape) ให้พระอาทิตย์ตกได้ตรงกลางเฟรมพอดี เพื่อให้เห็น Henge ชัดเจนขึ้น แต่เดิมบริเวณท่าเรือท่าเตียนมีตึกอยู่ฝั่งเดียว และองศาของถนนไม่ตรงกับ Direction ของการตกของดวงอาทิตย์ จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการสร้างอาคารอีกฝั่งหนึ่งเพื่อให้เป็นกรอบขึ้นมา และปรับองศาของถนนให้ Perspective เห็นพระอาทิตย์ตกได้อย่างชัดเจน
ประสบการณ์ที่จะได้รับจากย่านนี้
- ช่วงกลางวันก่อนเกิด Henge : เดินทางด้วย MRT, แวะทานอาหารที่ท่าพระจันทร์, แวะสักการบูชาและชมสถาปัตยกรรมที่วัดพระแก้ว วัดโพธิ์ และวัดอรุณฯ
- ช่วงเวลาที่เกิด Henge : นั่งทานอาหารเย็นรอชมวิวพระอาทิตย์ตกดินที่ท่าพระอาทิตย์, ออกมาเดินชมวิวพระอาทิตย์ตกริมแม่น้ำ หรือเดินเล่นริมน้ำชมบรรยากาศยามค่ำคืนได้
- หลังจากช่วงเวลาเกิด Henge : เดินชมวิว ดูไฟระหว่างวัดอรุณฯ-ท่าเตียน หรือจะแวะกินดื่มสังสรรค์ที่ร้านริมแม่น้ำ และพัก Hostel ในย่านท่าเตียนก็ได้
ย่านบำรุงเมือง
บริเวณย่านบำรุงเมือง จะเกิด Henge ในฤดูร้อน (เดือนมีนาคม-กรกฎาคม) มาในธีมกินดื่มวิถีไทย-จีน เพราะเป็นย่านที่อุดมสมบูรณ์ด้วยร้านอาหารทั้งสองสัญชาติ เหมาะสำหรับการกินดื่มเที่ยวและชมเมือง เพราะสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมอยู่ร่วมกัน ย่านนี้จะเกิด Henge ทั้งหมด 4 จุด คือเสาชิงช้า วัดสุทัศน์ วัดราชบพิธฯ วัดราชประดิษฐ์ จุดที่เลือกมาปรับปรุงคือ การปรับปรุงภูมิทัศน์และอาคารบริเวณบำรุงเมือง เพื่อให้เห็น Henge ที่เสาชิงช้าได้อย่างชัดเจน บริเวณนี้มีปัญหาอยู่ที่มีตึกแถวที่ไม่มีคนใช้งาน และไม่มีทางเท้าให้คนเดิน จึงต้องเอาพื้นที่สาธารณะมาทำพื้นที่กึ่งสาธารณะ เช่น เพิ่มพื้นที่ Arcade หรือทางเดินใต้อาคาร เพิ่มระเบียงชั้น 2 เพื่อให้มีพื้นที่สาธารณะ และเพิ่มพื้นที่ชั้นดาดฟ้าให้เป็นพื้นที่สาธารณะภายในตึก เพื่อเป็นจุดรองรับการรับชม Henge พอหลังจบ Henge ก็ดึงดูดคนให้ใช้งานในพื้นที่นี้ต่อด้วย Lighting ให้คนเดินดูไฟในเมืองได้เพลินๆ
ประสบการณ์ที่จะได้รับจากย่านนี้
- ช่วงกลางวันก่อนเกิด Henge : เดินทางด้วยขนส่งมวลชน MRT, แวะทานอาหารร้านดังย่านเสาชิงช้า และเดินเล่นในสวนรมณีนาถ
- ช่วงเวลาที่เกิด Henge : นั่งรออาหารเย็นรอพระอาทิตย์ตกบนถนนบำรุงเมือง, ออกมาเดินเล่น และถ่ายภาพวิวพระอาทิตย์ตกที่เสาชิงช้าบนถนนบำรุงเมือง
- หลังจากช่วงเวลาเกิด Henge : เดินต่อไปทางเดินริมน้ำคลองรอบกรุง หรือแวะดื่มบาร์แจ๊สในละแวกนี้
ย่านราชดำเนินกลาง-ภูเขาทอง
บริเวณย่านบำรุงเมือง จะเกิด Henge ในฤดูฝน (เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม) ถูกออกแบบให้เป็นธีมประตูเมืองสู่โลกวัฒนธรรมร่วมสมัย จุดที่น่าสนใจคือ Henge ที่เกิดขึ้นบริเวณยอดภูเขาทองพอดี โดยปกติถ้าอยากได้ภาพมุมนี้จะต้องขึ้นไปถ่ายจากชั้น 7 ของโรงแรมแห่งหนึ่งในเกาะรัตนโกสินทร์ แต่หากเราพัฒนาพื้นที่สาธารณะให้รองรับการเกิด Henge จะทำให้ทุกคนเข้าถึงวิวนี้ได้อย่างทั่วถึง และเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
จุดที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติมคือตึกตรงถนนจักรพรรดิพงษ์ แต่เดิมมีอยู่ 4 ชั้น มีศักยภาพที่จะพัฒนาเพื่อเพิ่มความสูงขึ้นไปอีก 16 เมตรให้เป็นจุดชมวิว Henge ได้
ทั้งสามย่านทำให้เห็น Henge ในรูปแบบที่ต่างกันออกไป และเห็นความเป็นไปได้ว่ากรุงเทพฯ จะมีโอกาสเป็นเมืองที่โรแมนติกมากขึ้นได้ ถ้าเรามีพื้นที่สาธารณะที่เข้าถึงง่ายและมีกิจกรรมให้คนเมืองได้ทำกันมากขึ้น ที่สำคัญเราเชื่อว่าถ้ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีจุดให้เราชื่นชมความสวยงามของธรรมชาติได้ จะทำให้คนเมืองรักและหวงแหนเมืองนี้มากขึ้นเป็นพิเศษ
แม้จะเป็นโครงการในฝันที่ไม่รู้จะเป็นจริงได้มากแค่ไหน จากการศึกษาหากนำแผนทั้งสามโครงการนี้ไปใช้พัฒนาหรือต่อยอดจะสามารถเพิ่มพื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯ จากเดิมที่มีเพียง 7.8 เปอร์เซ็นต์ เป็น 31.6 เปอร์เซ็นต์ นอกจากพื้นที่สาธารณะและภูมิทัศน์ที่สวยงามแล้ว Henge จะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีทั้ง Active Income และ Passive Income จากการท่องเที่ยวและเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้คนออกมาใช้จ่ายและทำกิจกรรมในแต่ละย่านกันมากขึ้น