ใครๆ ก็บอกว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งคอนเสิร์ต ไม่ว่าศิลปินจะมาจากไหน เมื่อเจอแฟนคลับชาวไทยที่ร้องตามทุกคำ แอดลิปได้ทุกโน้ตเข้าไป ก็ติดใจวนกลับมาเล่นคอนเสิร์ตที่ไทยเกือบทุกปี ยิ่งหลังจากปิดประเทศไป 2 ปี คอนเสิร์ตทั้งไทยและเทศต่างพากันจ่อคิวยาวล้นไปถึงต้นปีหน้า เราจึงไม่แปลกใจที่กรุงเทพฯ จะมีอีกฉายาว่า ‘กรุงเทพฯ เมืองคอนเสิร์ต’
แต่พอมาขบคิดดูดีๆ แล้วเมืองกรุงเทพฯ เหมาะสำหรับจัดคอนเสิร์ตจริงหรือ เพราะเมื่อมองย้อนกลับไปดูการจัดคอนเสิร์ตแต่ละครั้ง เราต่างพบหลากหลายปัญหาที่มักถูกพูดถึง แต่ไม่ได้รับการแก้ไขหรือสนับสนุนอย่างถูกวิธี ไม่ว่าจะเป็นสถานที่จัดคอนเสิร์ตที่เดินทางลำบาก ค่าบัตรที่ค่อนข้างสูง ไหนจะระบบการศึกษาที่ไม่ค่อยเอื้อให้คนที่อยากทำงานในอุตสาหกรรมดนตรีสักเท่าไหร่
จะดีกว่าไหมถ้าเมืองนี้จะไม่ใช่แค่สถานที่จัดคอนเสิร์ต แต่สนับสนุนและส่งเสริมระบบนิเวศทางดนตรีให้ยั่งยืน
01 | Concert Live in Bangkok (แค่ในนาม)
สถานที่จัดไกล การเดินทางไม่ครอบคลุม
ปัจจุบันมีหลายคอนเสิร์ตที่จัดในประเทศไทยแล้วใช้ชื่อต่อท้ายว่า ‘Live in Bangkok’ ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นแค่กรุงเทพฯ เฉพาะในนาม เพราะไม่ว่าจะเป็นอิมแพ็ค อารีน่า และ ธันเดอร์โดม ที่เมืองทองธานี, แจ้งวัฒนะ ฮอลล์ ที่เซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ หรือเอ็มซีซี ฮอลล์ ที่เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน ต่างตั้งอยู่ที่จังหวัด ‘นนทบุรี’ ด้วยกันทั้งนั้น
ถึงขนาดเคยมีคนในโซเชียลมีเดียแซวกันว่า การที่ศิลปินต่างประเทศมาแสดงคอนเสิร์ตที่ประเทศไทย อาจไม่ได้เหยียบกรุงเทพฯ จริงๆ ก็ได้ เพราะสนามบินสุวรรณภูมิตั้งอยู่ที่สมุทรปราการ ส่วนสถานที่จัดงานอยู่ที่นนทบุรี
หรือถ้าจะกระเถิบเข้ามาจัดแสดงคอนเสิร์ตในกรุงเทพฯ จริงๆ ก็มีสถานที่จัดคอนเสิร์ตอยู่ไม่กี่ที่ แถมกระจุกตัวอยู่ในเขตปทุมวันไปเสียแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ รอยัล พารากอน ฮอลล์, จีเอ็มเอ็มไลฟ์เฮาส์ และสามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ก่อนถัดออกมาเป็นยูเนี่ยน ฮอลล์ ที่เขตจตุจักร, โชว์ ดีซี ฮอลล์ ที่เขตห้วยขวาง, เอ็มซีซีฮอลล์ เดอะมอลล์ บางกะปิ ที่เขตบางกะปิ และไบเทค บางนา ที่เขตบางนา ตามลำดับ
โดยสถานที่ที่กล่าวมานี้สามารถจุคนได้เพียง 2,000 – 9,000 คนเท่านั้น ทำให้เมื่อมีคอนเสิร์ตใหญ่ ผู้จัดจำเป็นต้องประยุกต์เอาสนามกีฬา อย่างสนามราชมังคลากีฬาสถาน อาคารอินดอร์สเตเดียม หัวหมาก หรือสนามศุภชลาศัย มาใช้จัดคอนเสิร์ตแทน
นอกจากนี้ เกือบทุกสถานที่จัดคอนเสิร์ตก็ล้วนแล้วแต่เดินทางยากลำบาก เพราะไม่ได้ตั้งอยู่ใกล้กับขนส่งสาธารณะ ทำให้ผู้ชมจำเป็นต้องเดินทางหลายต่อ ยกตัวอย่าง อิมแพ็ค อารีน่า และธันเดอร์โดม เมืองทองธานี ที่จำเป็นต้องนั่ง BTS ไปลงสถานีหมอชิตหรืออนุสาวรีย์ฯ เพื่อต่อรถตู้ไปยังจุดหมาย เอ็มซีซีฮอลล์ เดอะมอลล์ บางกะปิ ที่รถไฟฟ้าสายสีเหลืองยังสร้างไม่เสร็จ ทำให้บริเวณดังกล่าวรถติด เดินทางลำบาก หรือสนามราชมังคลากีฬาสถาน ที่จำเป็นต้องนั่ง MRT ต่อ Airport Link เพื่อไปลงที่สถานีรามคำแหง และนั่งวินฯ หรือรถแท็กซี่เข้าไปยังสถานที่จัดงาน
แค่ขาไปยังลำบากขนาดนี้ การเดินทางหลังคอนเสิร์ตจบยิ่งไม่ต้องพูดถึง เรียกว่ายากลำบากกว่าเดิมอีกหลายเท่า เนื่องจากเวลาคอนเสิร์ตเลิกมักเป็นช่วง 23.00 – 00.00 น. ขนส่งสาธารณะเกือบทุกประเภทได้หยุดให้บริการแล้ว ทำให้ฝูงชนจำนวนมากจำเป็นต้องเลือกระหว่างใช้บริการแท็กซี่แบบเหมาในราคาแสนแพงบริเวณหน้างาน หรือยอมเดินออกไปให้ไกลจากบริเวณคอนเสิร์ตเท่าที่จะทำได้ เพื่อตามหารถแท็กซี่แบบกดมิเตอร์สักคัน
02 | ค่าบัตรแพง ต้นทุนสูง ผู้จัดสู้ไม่ไหว
หลังจากประเทศไทยเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ คอนเสิร์ตและงานเทศกาลดนตรีทั้งไทยและเทศต่างก็จ่อคิวรอแสดงกันเต็มไปหมด แถมระยะเวลาการเปิดขายบัตรก็ช่างกระชั้นชิด ไม่มีเวลาให้ผู้ชมเตรียมตัววางแผนเก็บเงินกันเลย
สำหรับใครที่เป็นสายคอนเสิร์ต คงรู้สึกได้ว่าราคาบัตรคอนเสิร์ตช่วงนี้ล้วนเพิ่มสูงจนน่าตกใจ จากข้อมูลการสำรวจราคาบัตรคอนเสิร์ตเริ่มต้นจาก The Matter พบว่าราคาบัตรที่ถูกที่สุดในช่วงครึ่งปีหลังนี้อยู่ที่ 1,500 บาท ซึ่งเป็นคอนเสิร์ตรวมศิลปินจากค่ายกามิกาเซ่ใน ‘Kamikaze Party 2022’ ส่วนคอนเสิร์ตเดี่ยวของศิลปินต่างประเทศเริ่มต้นที่ 2,040 บาทขึ้นไป
และหลังจากไปสำรวจมาหลายๆ คอนเสิร์ตในปีนี้ เราพบว่าค่าเฉลี่ยของราคาบัตรคอนเสิร์ตเริ่มต้นที่ 2,500 ถึง 8,500 บาท โดยในบางครั้งผู้จัดอาจมีการขายบัตรในราคาที่สูงเป็นพิเศษ เพื่อแลกกับสิทธิประโยชน์ที่ผู้ชมจะได้รับมากกว่าเดิม ยกตัวอย่าง ราคาบัตรคอนเสิร์ต Queen + Adam Lambert On Tour in Bangkok ปี 2559 ที่ทุบสถิติราคาสูงที่สุดในประเทศไทยไป 40,000 บาท แลกกับที่นั่งสุดพิเศษในการชมการแสดงบนเวทีแบบใกล้ชิด รวมถึงสิทธิ์ทัวร์หลังเวทีก่อนการแสดง พร้อมรับของที่ระลึกสำหรับลูกค้าวีไอพี ไม่ว่าจะเป็นผ้าขนหนู หมวก ถุงผ้า พวงกุญแจแบบพิเศษ ป้ายวีไอพีและสายคล้องคอที่ระลึก
สาเหตุที่ราคาบัตรแพงหรือมีการทำสิทธิพิเศษมาจูงใจผู้บริโภค เป็นเพราะต้นทุนที่สูงขึ้น ตั้งแต่ค่าตัวศิลปิน ค่าเช่าสถานที่ ค่าแรงคนทำงาน ค่าอุปกรณ์ภายในคอนเสิร์ต และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ภายในงาน
อีกทั้งเมื่อธุรกิจการจัดคอนเสิร์ตจำเป็นต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ทำให้มีผู้จัดรายใหญ่ที่สามารถสู้ราคาตลาดได้ไม่มากนัก ส่งผลให้ตลาดการจัดคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ถูกจำกัดไว้ที่ผู้จัดเพียงไม่กี่ราย เช่น Live Nation Tero, BEC-TERO Entertainment, 411 Entertainment หรือ 4NOLOGUE เป็นต้น ทั้งยังเป็นการผลักให้ผู้จัดรายเล็กจำเป็นต้องลงไปเล่นในตลาดของคอนเสิร์ตที่เล็กลง หรือจัดเป็นเทศกาลดนตรีที่ใช้วิธีการคละศิลปินเบอร์ใหญ่และเล็กไว้ด้วยกัน
03 | ความฝันที่ต้องจ่าย สถานที่เรียนน้อย ค่าเทอมสูง อุปกรณ์แพง
แม้ตลาดของการจัดคอนเสิร์ตทั้งตัวศิลปินไทยและเทศจะเติบโตขึ้นมาก แต่เมื่อมองย้อนกลับไปยังการศึกษาในประเทศไทย กลับพบว่ากระบวนการผลิตคนเข้าสู่อุตสาหกรรมดนตรียังมีค่อนข้างน้อย
ทำให้ปัจจุบันคนที่มีความฝันที่ต้องการเข้าไปอยู่ในสายอาชีพเบื้องหลังการจัดคอนเสิร์ตไม่ว่าจะเป็นภาพ แสง สี เสียง และองค์ประกอบอื่นๆ ที่สำคัญ จำเป็นต้องขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตัวเอง ผ่านการจัดกิจกรรมภายในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย หรือหากมีความสนใจที่จะเรียนต่อด้านธุรกิจดนตรีโดยเฉพาะ มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนอยู่ก็มีจำนวนไม่มาก ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับการเรียนในหลายๆ คณะ
- มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะดุริยางคศาสตร์ วิชาเอกธุรกิจดนตรีและบันเทิง หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอุตสาหกรรมบันเทิง
– ค่าเรียนเทอมแรก 57,350 บาท หรือ 435,350 บาท สำหรับหลักสูตร 4 ปี
- วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะดุริยางคศิลป์ วิชาเอกธุรกิจดนตรี ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาดนตรี
– ค่าเรียน 107,900 – 209,700 บาทต่อปี หรือ 626,100 – 646,100 บาท สำหรับหลักสูตร 4 ปี
- มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาการผลิตอีเว้นท์ และการจัดการนิทรรศการและการประชุม
– ค่าเรียนเทอมแรก 25,980 บาท หรือ 359,280 บาท สำหรับหลักสูตร 4 ปี
นี่ยังไม่รวมถึงค่าอุปกรณ์ทางเทคนิคต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในสายงานเมื่อเข้าสู่สนามของการทำงานจริง ยิ่งใครมีความฝันที่ต้องการเป็นเจ้าของกิจการ หรือดูแลควบคุมในส่วนงานที่ใหญ่ขึ้น ก็จำเป็นต้องมีเงินก้อนเพียงพอในการซื้ออุปกรณ์ที่ได้คุณภาพและจ่ายค่าแรงให้คนทำงานอย่างเหมาะสม
ดังนั้น กว่ากรุงเทพฯ จะสามารถเป็นเมืองคอนเสิร์ตที่เอื้อต่อทั้งผู้ชม ผู้จัด คนทำงาน และศิลปินได้ คงต้องให้รัฐเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนกลุ่มอาชีพคนทำคอนเสิร์ตเหล่านี้ตั้งแต่ในสถานศึกษา เพื่อให้อุตสาหกรรมดนตรีของไทยแข็งแรงขึ้น รวมไปถึง
การเข้ามาตรวจสอบดูแลราคาบัตรคอนเสิร์ตให้อยู่ในราคาที่เหมาะสมกับค่าครองชีพของประชาชน เพื่อให้การไปดูคอนเสิร์ตเป็นความบันเทิงราคาถูกที่ผู้คนในเมืองจับต้องได้มากขึ้น
Sources :
Jeab | t.ly/yv-H
Spacebar | t.ly/Gsbv
Thai Ticket Major | t.ly/9_tbz
Bangkokbiznews | t.ly/MT2P
The Matter | t.ly/_wyM
Thethaiger | t.ly/z0Xg
คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร | t.ly/JZhk
เปิดบ้าน | t.ly/YtGT
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ | t.ly/hnwP
The Town of Music คือซีรีส์คอนเทนต์ประจำเดือนพฤศจิกายน 2565 จาก Urban Creature ที่คาดหวังและอยากเห็นเมืองของเรากับความเป็นไปได้ในการเป็นเมืองดนตรีที่โอบรับศิลปิน คนทำงาน และผู้ชมอย่างแท้จริง ผ่านการนำเสนอในรูปแบบข้อมูล กราฟิก บทสัมภาษณ์ และกรณีศึกษาจากทั่วโลก