ทุนนิยม ความงาม และชายเป็นใหญ่ใน THE SUBSTANCE - Urban Creature

เทศกาลหนังเมืองคานส์ (Cannes Film Festival) ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่เรียกความสนใจจากคอหนังมาต่อเนื่องทุกปี

บรรดาภาพยนตร์ที่ปรากฏชื่อในเทศกาลนี้ล้วนแล้วแต่ได้รับการพูดถึงไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง ยิ่งภาพยนตร์เรื่องไหนได้รับรางวัลจากเทศกาลนี้ จะกลายเป็นเครื่องการันตีคุณภาพของหนังระดับแปะ A must ว่าพลาดไม่ได้เด็ดขาด ซึ่งคานส์ขึ้นชื่อในเรื่องความเป็นศิลปะเป็นอย่างมาก พูดง่ายๆ ว่าหลายคนอาจบอกว่าหนังคานส์เป็น ‘หนังอาร์ต ดูยาก ดูไม่รู้เรื่อง’

ยกตัวอย่าง ภาพยนตร์ฝีมือคนไทยอย่าง Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives (2010) หรือ ลุงบุญมีระลึกชาติ ของ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล แต่หลายครั้งก็เป็นหนังที่ทุกคนชื่นชมไปในทางเดียวกันอย่าง Parasite (2019) ของ บงจุนโฮ ซึ่งในปีนี้แม้ผู้ชนะรางวัลใหญ่ของงาน Palme d’Or จะเป็นภาพยนตร์เรื่อง Anora (2024) (ซึ่งชาวไทยจะได้ชมกันในเร็วๆ นี้) ของ Sean Baker เจ้าของผลงาน The Florida Project (2017) แต่หนึ่งในภาพยนตร์ที่ได้รับเสียงลือลั่นฮือฮาบอกต่อกันมาถึงความแปลก ความแหวก ความเฮี้ยนกว่าบรรดาขนบหนังรางวัล ซึ่งได้รับรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม นั่นคือ ‘The Substance’ ของผู้กำกับหญิงชาวฝรั่งเศส คอราลี ฟาร์กีต์ (Coralie Fargeat)

แม้ไม่กี่ปีที่ผ่านมาจะมีหนังเฮี้ยนสร้างความขวัญผวาได้รางวัลใหญ่จากเวทีนี้ไปอย่าง Titane (2021) แล้ว แต่ The Substance ก็ยังเป็นหนังแนว Body Horror ที่สร้างปรากฏการณ์เดียวกันได้ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ และถือเป็นการกลับมาของนักแสดง ‘Demi Moore’ ที่ผู้คนต่างกล่าวกันว่า เป็นบทบาทที่ทำให้เธอมีโอกาสเข้าใกล้กับรางวัลออสการ์มากที่สุด (หากทางออสการ์จะหันมาชายตามองและให้โอกาสบรรดาหนังแนว Horror บ้าง)

THE SUBSTANCE หนัง ภาพยนตร์ body horror ทุนนิยม บิวตี้แสตนดาร์ด สยองขวัญ ชายเป็นใหญ่

รวมถึงยังเป็นงานที่นักแสดงรุ่นใหม่ ‘Margaret Qualley’ ได้มีโอกาสเฉิดฉาย ซึ่งต้องบอกเลยว่าแม้ทั้งคู่จะต่างรุ่นต่างประสบการณ์ทางการแสดงกันพอสมควร แต่ทั้งสองต่างมอบคำว่า ‘แซ่บกินกันไม่ลง’ ให้บทบาทของพวกเธอในหนังได้อย่างยอดเยี่ยม ซึ่งนำเสนอเรื่องราวที่ผู้หญิงต้องพบเจอไม่แพ้หนังที่มีประเด็นเดียวกันอย่าง Barbie (2023) เมื่อปีก่อน เพียงแต่หาก Barbie เป็นภาพลักษณ์ดั่งสวรรค์ยูโทเปีย The Substance ก็เป็นขั้วตรงข้ามที่มีภาพลักษณ์ดั่งนรกอันเลวร้าย ถือเป็นอีกรสชาติที่สอดแทรกความเป็น Feminist ได้อย่างรุนแรงพิสดารแบบที่พบไม่บ่อยนัก

หนึ่งสิ่งที่ทำให้ The Substance พิเศษกว่าบรรดาหนังประเภทนั้นที่เคยมีมาก่อนคือ การเล่าเรื่องด้วยภาพเป็นภาษาทางภาพยนตร์ การนำเสนอผ่านวัตถุและวิชวลที่ใช้แทนสัญญะของสิ่งต่างๆ ให้ผู้ชมตีความได้ทันที ไม่ต้องพึ่งพาบทพูดเป็นคำบรรยายเพื่ออธิบายแต่อย่างใด

ยกตัวอย่าง ภาพไข่ดิบที่ถูกฉีดสารทดลองบางอย่างเข้าไปจนแบ่งตัวออกมาเป็นไข่สองฟอง หรือฉากเปิดภาพชื่อของ ‘Elisabeth Sparkle’ (รับบทโดย Demi Moore) ตัวละครหลักที่ถูกจารึกลงบนคอนกรีตถนน Hollywood Walk of Fame ซึ่งค่อยๆ ผ่านกาลเวลาไปเรื่อยๆ นับเป็นการเล่าเรื่องที่ชาญฉลาด ทำให้คนเข้าใจได้อย่างง่ายดาย ยังไม่นับเรื่องงานออกแบบแบรนดิ้งและแพ็กเกจจิ้งของเครื่องมือในการใช้สาร The Substance ที่ทำออกมาได้บ่งบอกถึงการใช้งานอย่างเห็นภาพ แค่ดูก็รู้เลยว่าใช้เพื่ออะไร ให้ผลลัพธ์แบบไหน ส่งผลให้หนังเรื่องนี้เป็นหนังรางวัลอีกเรื่องที่ดูง่าย ไม่ต้องปีนกระไดดู

ถึงอย่างนั้น The Substance ก็เป็นภาพยนตร์ที่สอดแทรกอะไรอีกมากมายผ่านสัญญะต่างๆ ที่แฝงไว้ รอให้ผู้ชมมาแหวกเรือนร่างและส่องหาความหมายภายในกัน

THE SUBSTANCE หนัง ภาพยนตร์ body horror ทุนนิยม บิวตี้แสตนดาร์ด สยองขวัญ ชายเป็นใหญ่

เมื่อคิดให้ดีโลกนี้ประหลาด
ทุนนิยมและบิวตี้สแตนดาร์ดบีบให้ผู้หญิงต้องสวยตลอดเวลา

ความโดดเด่นของ The Substance เริ่มจากการนำเสนอโลกในหนังอย่างวิปริตวิตถาร ผ่านภาพที่มีมิติบิดเบี้ยว สีสันฉูดฉาดแสบตาแบบ Hyperrealistic อย่างสุดโต่ง ราวกับถูกแต่งเติมฉีดสีด้วยฟิลเตอร์แอปฯ แต่งภาพ หรือถูกศัลยกรรมจนเห็นได้ถึงความไม่เป็นธรรมชาติอย่างที่โลกควรจะเป็น เกิดเป็นเอกลักษณ์ติดตาน่าจดจำ

แต่ขณะเดียวกัน หนังก็ยังคงความเป็นจริงของโลกเอาไว้ไม่ลดหายไป เรียกได้ว่ามัน ‘เหนือจริงซะยิ่งกว่าจริง’ จนแยกไม่ออกว่าสิ่งใดจริง-ไม่จริง ซึ่งหากใครเคยสัมผัสประสบการณ์จากหนังของผู้กำกับ David Lynch อย่าง Twin Peaks (1990) หรือ Mulholland Drive (2001) หรืองานของ David Cronenberg ที่มีอิทธิพลต่อเรื่องนี้อย่าง Videodrome (1983) หรือผลงานสั่นประสาท Requiem for a Dream (2000) ของ Darren Aronofsky กระทั่งหนังที่ใกล้เคียงกันในหลายๆ แง่มุมแบบ Titane (2021) เจ้าของรางวัลใหญ่ Palme d’Or จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ ปี 2021 ของ Julia Ducournau ที่เป็นผู้กำกับหญิงชาวฝรั่งเศสรุ่นใหม่เหมือนกัน ก็อาจพูดได้ว่า The Substance เป็นหนังลูกหลานพี่น้องเครือญาติของบรรดารายชื่อที่กล่าวมาก็ว่าได้

นอกจากงานภาพแล้ว ทุกอย่างยิ่งเร้าความรู้สึกขึ้นไปอีกด้วยดนตรีประกอบโดย Raffertie ที่เฟียสราวกับกำลังอยู่บนรันเวย์ตลอดเวลา ด้วยดนตรีอิเล็กทรอนิกเทคโนบีตจังหวะเร้าอารมณ์ให้สูบฉีดอะดรีนาลิน เร่งระดับการเต้นของหัวใจ ชวนให้นึกถึงดนตรีประกอบของหนังเมื่อต้นปีอย่าง Challengers (2024) โดย Trent Reznor และ Atticus Ross ที่เป็นดนตรีสไตล์เบอร์ลินเทคโนเช่นกัน หรือจะเป็นอัลบั้มแห่งปี BRAT ของ Charli xcx ด้วยแนวดนตรีแบบ Club ที่สุดจะ Hyperpop

สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงจริตจะก้านของยุคสมัยที่ทุกอย่างต้องรวดเร็ว ฉาบฉวย เป็นกระแสอย่างไม่หยุดนิ่ง พร้อมเปลี่ยนแปลงความสดใหม่ทุกวินาที จนผู้คนต่างพากันรู้สึกว่า นี่โลกมันรวดเร็วจนเราตามไม่ทันหรือเปล่า เหมือนที่ Elisabeth ต้องขยับร่างกาย ฟิตแอนด์เฟิร์มในรายการออกกำลังกายของเธอตลอดเวลา เพื่อรักษาสถานะว่าเธอยังคงอยู่ในวงการเป็นดาวค้างฟ้า แม้ร่างกายจะค่อยๆ โรยราลง ไม่เป็นที่นิยมดั่งเคยอีกต่อไปก็ตาม

THE SUBSTANCE หนัง ภาพยนตร์ body horror ทุนนิยม บิวตี้แสตนดาร์ด สยองขวัญ ชายเป็นใหญ่

ทั้งนี้ ภาพที่ปรากฏออกมาคือโลกของนายทุน ผ่านมุมมองของตัวละครที่ต้องกระเสือกกระสนเอาชีวิตให้ได้ สะท้อนแนวคิดแบบบริโภคนิยมที่ทุกอย่างต้องเยอะ ต้องเต็มไปด้วยความฉาบฉวย ต้องดูเกินจริง จนทำให้รู้สึกว่าโลกใน The Substance ที่ Elisabeth อาศัยอยู่เซอร์เรียล เต็มไปด้วยความบิดเบี้ยวผิดเพี้ยน ราวกับเป็นห้องทดลองที่เธอนั้นเป็นหนูทดลองยา หรือเป็นจอแก้วที่กักขังให้เธอต้องเต้นกินรำกิน

ถึงอย่างนั้นโลกในหนังก็ยังคงคล้ายคลึงโลกความจริงที่เราอาศัยอยู่ เห็นได้จากความกระวนกระวายหวาดระแวงถึงการสูญเสียความโด่งดังและเรือนร่างอันเต่งตึงที่ค่อยๆ คืบคลานมาสู่ Elisabeth อย่างไม่ลดละ

แต่แล้วเธอก็เริ่มเห็นแสงสว่าง หลังจากได้รู้จักกับสาร The Substance ที่กลายเป็นหนทางสู่ความเยาว์วัยของเธออีกครั้ง ซึ่งมาในรูปแบบของอีกร่างที่เธอตั้งชื่อขึ้นใหม่ว่า ‘Sue’ (รับบทโดย Margaret Qualley) ผู้นำมาซึ่งชีวิตที่รุ่งโรจน์และความโด่งดัง ทำให้เธอกลายเป็นดาวเจิดจรัสอีกครั้งหนึ่ง

ทว่าก็เหมือนทำสัญญากับปีศาจ ทุกคนต่างรู้ดีว่าสิ่งดีๆ เช่นนี้ย่อมไม่ได้มาอย่างง่ายดาย มันมาพร้อมเงื่อนไขและพิษสงของผลข้างเคียง ไม่ต่างจากผลิตภัณฑ์อันเลิศหรูในโลกของทุนนิยมที่เมื่อใช้แล้วต้องใช้ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง มิฉะนั้นอาจเกิดผลที่ไม่คาดฝัน เหมือนที่ Elisabeth และ Sue ได้พานพบระหว่างการใช้สาร The Substance ที่เต็มไปด้วยเงื่อนไขมากมาย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของบันไดขั้นแรกที่จะนำพาความน่ากลัวที่คุกคามผู้ชมตลอดช่วงเวลาของหนัง ว่าเราจะตกเป็นเหยื่อของโลกอันวิปริตพิสดารของนายทุนอย่าง Elisabeth เมื่อใด

โลกที่เกินจริงแห่งนี้จึงกลายเป็นภาพสะท้อนอันดูจริงเกินกว่าจะยอมรับของโลกความจริงที่เราอาศัยกันอยู่ในที่สุด

THE SUBSTANCE หนัง ภาพยนตร์ body horror ทุนนิยม บิวตี้แสตนดาร์ด สยองขวัญ ชายเป็นใหญ่

ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะใคร
เธอ สังคม หรือใครที่กำหนดความงามของตัวเอง

ในยุคสมัยปัจจุบัน เรื่องของความงามคงเป็นที่ถกเถียงกันมาก ดั่งวลีที่ว่า ‘Beauty is in the eye of the beholder.’ หรือ ‘ความงามอยู่ที่คนมอง’ ซึ่งแท้จริงแล้ว แบบไหนกันเรียกว่าสวย แบบไหนกันเรียกว่างาม

ในอดีต เพลโต นักปรัชญาชาวกรีกโบราณนำเสนอปรัชญา ‘Theory of Forms’ หรือ ‘แนวคิดโลกของแบบ’ ว่าความงามนั้นมีเพียงหนึ่งเดียวแท้จริง อธิบายถึงโลกแห่งมโนภาพอันมีสัจจะแท้จริง ซึ่งเปลี่ยนความจริงที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงเป็นโลกอันสมบูรณ์แบบเป็นนิรันดร์ ซึ่งเพลโตเชื่อว่า ความงามบนโลกใบนี้เป็นเพียงเงาสะท้อนหรือของลอกแบบมาจากมโนภาพโลกของแบบ

ความงามจึงเปลี่ยนแปลงไปตามทัศนคติของแต่ละบุคคล โดยมีต้นแบบมาจากความงามอันแท้จริงในโลกของแบบ คนเราจึงไม่มีวันที่จะเข้าถึงความงามอันสมบูรณ์แบบได้อย่างแท้จริง หรือในหนังสือ The Evolution of Beauty ของ Richard Prum นักชีววิทยาได้นำเสนอไอเดียว่า สิ่งมีชีวิตทั้งหลายอาจวิวัฒนาการและออกแบบรูปลักษณ์ตามรสนิยมด้านความงามล้วนๆ มากกว่าเพื่อประโยชน์ในด้านอื่น ซึ่งถูกโต้แย้งเพราะนักวิทยาศาสตร์ส่วนมากยังเชื่อว่า สัตว์ไม่น่าจะมีสำนึกด้านความงามได้แบบเดียวกับมนุษย์ แต่ Prum ทิ้งท้ายไว้ว่า ‘Birds are beautiful because they are beautiful to themselves.’ หรือ ‘นกนั้นสวยงามเพราะพวกมันสวยงามในสายตาของพวกมันเอง’

THE SUBSTANCE หนัง ภาพยนตร์ body horror ทุนนิยม บิวตี้แสตนดาร์ด สยองขวัญ ชายเป็นใหญ่

มุมมองเหล่านี้ถูกนำเสนอมาอย่างยาวนาน จนนำมาสู่แนวคิด Beauty Standard ในปัจจุบัน เมื่อผู้คนตระหนักตื่นรู้ว่าความงามนั้นเป็นเพียงอุดมคติที่สังคมใดสังคมหนึ่งกำหนดขึ้นเป็นค่านิยมเพียงเท่านั้น 

เราจึงเห็นว่า ภาพของ Beauty Standard ที่เกิดขึ้นในท้องเรื่อง The Substance จะยึดโยงอุดมคติความงามอยู่ที่ตัวละครผู้บริหารสถานีอย่าง ‘Harvey’ (รับบทโดย Dennis Quaid) ที่ต้องการให้รายการของเขานำเสนอความสาว ความสวย ความใส ความเต่งตึงของร่างกายอันไร้ที่ติ กลายเป็น Beauty Standard ที่กรอบขึ้นมาผูกติดการร่วงโรยทางอาชีพการงานและเรือนร่างของ Elisabeth และยิ่งทวีความรุนแรงเมื่อมาถึงการปลดฟ้าผ่าในวันเกิดครบรอบ 50 ปีของเธอ กลายเป็นสิ่งที่สั่นคลอนจิตใจจนยากจะหาหนทางกลับมาเป็นคนเดิมได้ ทำให้เห็นถึงความคิดที่ว่า โลกนี้ไม่ต้องการตัวเธออีกต่อไป เธอหมดแล้วซึ่งความงดงามในโลกใบนี้ทั้งสิ้น

ในโลกที่เต็มไปด้วยการตัดสินภาพลักษณ์ความงาม มีเพียงฉากห้องน้ำที่มีตัว Elisabeth เพียงผู้เดียว เปรียบได้ดั่งแนวคิดโลกของแบบ ณ ที่แห่งนั้นเป็นที่แห่งเดียวที่เธอหลุดออกจากความงามในโลกมายาคติทั้งปวง จนกระทั่งมีกระจกหนึ่งบานส่องให้เธอค่อยๆ เห็นความงามตามค่านิยมที่กรอบขึ้นมา ทำให้ห้องน้ำแห่งนี้กลายเป็นสถานคุมขังเธอทันที

และยิ่งเมื่อมีร่างใหม่อย่าง Sue ขึ้นมาจากการใช้สาร The Substance เป็นตัวเปรียบเทียบ ทำให้เห็นว่าแท้จริงแล้ว ความรู้สึกไม่สวยไม่งามนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากตัว Elisabeth แต่อย่างใด แต่เกิดขึ้นจากคนอื่นทั้งสิ้น ชวนให้นึกถึงคำว่า ‘นรกคือคนอื่น’ ที่กล่าวไว้โดย Jean-Paul Sartre นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสสายอัตถิภาวนิยม (Existentialism) จากบทละครเรื่อง No Exit

THE SUBSTANCE หนัง ภาพยนตร์ body horror ทุนนิยม บิวตี้แสตนดาร์ด สยองขวัญ ชายเป็นใหญ่

วลีทองนี้อธิบายถึง ‘การเอาความสุขและความทุกข์ไปพึ่งพาอยู่กับผู้อื่น การนำสิ่งที่ผู้อื่นคิดมาตัดสินตัวเรา’ นอกจากบรรดาผู้คนภายนอกหรือผู้จัดการรายการที่เป็นนรกของ Elisabeth แล้ว ภาพความเยาว์วัยของ Sue ก็เป็นดั่งนรกในใจเธอเช่นกัน กลับกัน การต้องกลับมาอยู่ในร่างของ Elisabeth ทุกๆ 7 วันตามเงื่อนไขก็กลายเป็นดั่งนรกสุมอยู่ในใจของ Sue ด้วย

ณ จุดหนึ่งเมื่อทั้งสองคนไม่สามารถหาทางลงรอยกันได้ ย่อมต้องนำพาไปสู่ความพินาศวายป่วงของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งห้ำหั่นกันจะเป็นจะตายโดยลืมนึกไปถึงข้อเท็จจริงว่า พวกเธอคือหนึ่งเดียวกัน ตัวตนที่แสดงความรู้สึกเกลียดชังในเรือนร่างของตนเองและทำร้ายเราได้มากที่สุดแท้จริงก็คือความคิดของตัวเราเอง สะท้อนออกมาเป็นคนที่ทำร้ายตัวเองเพื่อให้ได้มาซึ่งความพึงพอใจทางสังคม

หากมองเห็นเด่นชัดที่สุด มันคือการแซะเสียดสีโจมตีวงการศัลยกรรมหัตถการว่าเป็นการทำร้ายร่างกายให้ผิดเพี้ยนไปจากที่เป็นอยู่จากธรรมชาติ แต่เมื่อมองให้ลึกกว่านั้น หนังเหมือนกำลังแซะแนวคิดบริโภคนิยมในโลกทุนนิยมอย่างน่าสะอิดสะเอียน ซึ่งสะท้อนผ่านตัวของ Harvey ผู้บริหารสถานีที่มีคุณลักษณะเป็นชายหื่นกระหาย และมีท่าทางการสวาปามที่ตะกละตะกลามตั้งแต่เปิดเรื่องเป็นเอกลักษณ์ (ซึ่งชวนให้นึกถึง Harvey Weinstein อยู่เนืองๆ) เสมือนโลกทุนนิยมที่สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ขึ้นมาเย้ายวนชวนใจให้ผู้คนเข้าไปติดหลุมพรางและสูบเลือดสูบเนื้ออย่างไม่รู้ตัว ใช่แล้ว มันคือโลกที่ถูกควบคุมโดยอำนาจปิตาธิปไตยที่เหล่าชายทั้งหลายเป็นคนเลือกนำเสนอ

THE SUBSTANCE หนัง ภาพยนตร์ body horror ทุนนิยม บิวตี้แสตนดาร์ด สยองขวัญ ชายเป็นใหญ่

ผู้คนจึงถูกบีบด้วยภาพความงามในอุดมคติของพวกเขา ส่งผลต่อความคิดและการกระทำของ Elisabeth ที่ต้องดิ้นรนหาทางทำให้ตัวเองสวยสาวอยู่เสมออย่างสุดโต่ง ไม่ต่างจากภาพผู้คนในชีวิตจริงที่ถูกมายาคติรอบด้านจากทั้งสื่อและค่านิยมต่างๆ ให้รู้สึกต้องมี ต้องเป็น ต้องได้ ต้องใช้ ต้องการทุกสิ่งที่ถูกผลิตออกมาหลอกล่อยั่วยวน

อาหารฟาสต์ฟู้ดที่ไม่มีประโยชน์แต่ทำให้เกิดความอยากบริโภคปริมาณมากๆ สื่อที่ทำให้คนเสพติดคอนเทนต์ในแต่ละวัน สิ่งของที่ถูกผลิตออกมามากมายไม่หยุดหย่อนให้เกิดความอยากได้อยากมี ภาพร่างกายในอุดมคติอันสมบูรณ์แบบที่ทำให้ผู้คนต้องพยายามทุกอย่างเพื่อให้ได้มา กลายเป็นว่าชีวิตประจำวันของผู้คนต่างถูกอุดมคติจากโลกทุนนิยมหล่อหลอมให้เกิดการบริโภคและเสพติดสิ่งต่างๆ ที่ถูกผลิตออกมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ไม่ต่างจากชะตากรรมของ Elisabeth ในเรื่องที่เสพติดความต้องการเยาว์วัยอย่างรุนแรง ซึ่งแท้จริงนั้นไม่ได้เกิดจากความต้องการของเธอเป็นตัวกำหนด แต่เป็นเพราะอุดมคติค่านิยมของสังคมที่ห้อมล้อมเธออยู่เป็นตัวบงการ กรอกความคิดของพวกเขาใส่หัวเธออย่างแนบเนียนจนไม่สามารถรู้ตัวได้

THE SUBSTANCE หนัง ภาพยนตร์ body horror ทุนนิยม บิวตี้แสตนดาร์ด สยองขวัญ ชายเป็นใหญ่

ใดๆ ในโลกล้วนตั้งอยู่ ดับไป
ความสวยไม่จีรัง แต่ความจริงที่ไม่มีใครหรืออะไรอยู่ค้ำฟ้านั้นยั่งยืน

สารสำคัญที่ปรากฏใน The Substance คือเรื่องความงาม

ความไม่เที่ยงของร่างกายชวนให้นึกถึงคำว่า ‘อสุภกรรมฐาน’ หรือ ‘การปลงอสุภ’ อันเป็นแนวคิดทางพุทธศาสนาที่เป็นการพิจารณาร่างกายผ่านซากศพที่ค่อยๆ เน่าเปื่อยเสื่อมสลายในระยะต่างๆ เพื่อยับยั้งอารมณ์และตระหนักว่าสังขารนั้นไม่เที่ยง

หากมุมมองของต่างชาติมักปรากฏออกมาเป็น Genre ภาพยนตร์ Body Horror อย่าง The Fly (1986) หนังที่ใครๆ นึกถึงเป็นอันดับแรกๆ ของ David Cronenberg เจ้าพ่อหนังประเภทนี้ หรือหนังญี่ปุ่น Tetsuo : The Iron Man (1989) ที่ให้ผู้ชมได้เห็นระยะต่างๆ ของร่างกายที่เปลี่ยนไปอย่างสยดสยอง อวัยวะที่เปลี่ยนแปลงผิดรูปผิดร่างอย่างปั่นป่วนจิตใจ ซึ่งเป็นชะตากรรมที่ Elisabeth และ Sue ต่างพานพบไม่ต่างกัน

ในขณะที่ Elisabeth เผชิญกับความเหี่ยวย่น ไขข้อที่ทรุดโทรมเสื่อมถอย ร่างกายที่ค่อยๆ บิดเบี้ยวจากการแก่ชราอย่างฉับพลัน ในฝั่งของ Sue ก็ค่อยๆ เผชิญกับร่างกายที่เสื่อมสลายผุพังทลายลงเรื่อยๆ เหมือนกัน จากการฝ่าฝืนเงื่อนไขของการใช้สาร The Substance จนเกิดผลข้างเคียง จนร่างกายที่เคยสวยสดงดงาม ไม่ว่าจะเป็น Elisabeth หรือ Sue ต่างก็ต้องพานพบ ทั้งหมดนั้นเป็นการย้ำเตือนว่าทุกสิ่งไม่ว่าเคยงดงามมากเพียงใด ย่อมต้องแปรเปลี่ยนเป็นความไม่สวย ไม่งาม มีแค่ความสกปรกโสโครกน่าเกลียด หากตัว Elisabeth หรือ Sue ได้มีโอกาสตระหนักถึงข้อเท็จจริงเหล่านี้สักนิด เหตุการณ์ต่างๆ คงไม่วายป่วงเลยเถิดมาถึงระดับที่ไม่สามารถหวนกลับได้

THE SUBSTANCE หนัง ภาพยนตร์ body horror ทุนนิยม บิวตี้แสตนดาร์ด สยองขวัญ ชายเป็นใหญ่

ยิ่งเมื่อผู้ชมได้เห็นถึงร่างขั้นสุดท้ายที่มีนามว่า ‘Monstro Elisasue’ ร่างหลอมรวมของ Elisabeth และ Sue ที่กลายสภาพเป็นก้อนเนื้ออันบิดเบี้ยวผิดเพี้ยน จนน่าจะสร้างความไม่สบายใจแก่ผู้ชมอย่างถึงที่สุด แต่ในร่างนี้กลับมีความรู้สึกนึกคิดที่ยอมรับในความงดงามในร่างกายมากกว่าที่ตัวของ Elisabeth และ Sue เคยพึงพอใจกับร่างกายของตัวเอง เห็นได้จากความกล้ายอมรับที่จะส่องกระจก แต่งองค์ทรงเครื่อง และก้าวออกสู่โลกภายนอกเพื่อเปิดเผยความงามที่ตนเองมีแก่ทุกผู้ทุกคนอย่างไร้ซึ่งความกังวล แต่ท้ายที่สุด ความงามของตัว Monstro Elisasue กลับไม่ได้ถูกกำหนดขึ้นด้วยตัวของเธอเอง

เมื่อภาพลักษณ์ของเธอปรากฏแก่ผู้คน ความงามที่ตัวเองเข้าใจมาตลอดจึงถูกทำลายลง กลายเป็นความอัปลักษณ์น่ารังเกียจดั่งอสุรกายปีศาจที่ควรจะต้องถูกกำจัดทิ้งโดยไม่ต้องคำนึงถึงศีลธรรมหรือความมีมนุษยธรรมแต่อย่างใด ช่วงเวลาที่เธอได้เฉิดฉายบนเวทีในเทศกาลคริสต์มาสอันควรจะเป็นความสุขดั่งสรวงสวรรค์ จึงแปรเปลี่ยนเป็นนรกฉับพลัน

ดั่งที่กล่าวไปก่อนหน้าว่า นี่แหละคือ ‘สวรรค์อยู่ในอกและนรกคือคนอื่น’ และนรกก็เกิดขึ้นทันที กลายเป็นภาพแทนขึ้นมาจริงดั่งคำกล่าวที่ว่า ‘ความงามอยู่ที่คนมอง’ เมื่อผู้คนมองเห็นนรกด้วยกันทั้งหมดทั้งปวง พวกเขาจึงได้ภาพของนรกบนดินอย่างสาแก่ใจ กลายเป็นความบ้าคลั่งอย่างระห่ำเถิดเทิงแก่ผู้ชมที่อาจทำให้เกิดความรู้สึกขึ้นสองทางคือ ทำถึงจนสาแก่ใจแบบอัดฉีดความบันเทิงเต็มสูบสุดกราฟ หรือไม่ก็รู้สึกวายป่วงเกินเหตุไปไกลกว่าที่หนังเป็นในช่วงต้นระดับกู่ไม่กลับ

THE SUBSTANCE หนัง ภาพยนตร์ body horror ทุนนิยม บิวตี้แสตนดาร์ด สยองขวัญ ชายเป็นใหญ่

ในท้ายที่สุด อสุรกาย Monstro Elisasue ที่แหวกร่างปรากฏกายออกมาในช่วงสุดท้าย ก็เปรียบเสมือนการสะท้อนว่า แท้จริงตัวตนภายในของมนุษย์ทุกหมู่เหล่าล้วนเป็นเพียงก้อนเนื้อมีชีวิตที่รอวันผุพังกันทั้งหมดทั้งสิ้น และแม้จะพยายามฉุดยื้อชีวิตอย่างถึงที่สุด อย่างไรร่างสุดท้ายที่เกิดขึ้นนี้ก็ต้องแหลกสลาย

ดั่งชื่อของ Elisabeth ที่ถูกจารึกลงบน Hollywood Walk of Fame ที่ค่อยๆ ผ่านกาลเวลา จากที่มีคนแห่มาให้ความสนใจก็ค่อยๆ ซาลงจนไร้ผู้คนจะนึกถึง ตัวแผ่นกระเบื้องค่อยๆ เกิดรอยร้าวผุพังไปตามกาลเวลา โดนคนเหยียบย่ำ โดนอะไรต่อมิอะไรตกใส่แปดเปื้อน ไม่ต่างจากภาพการเสื่อมสลายของร่างกายตามการพิจารณาอสุภกรรมฐาน ที่ทำให้เห็นว่าทุกสิ่งล้วนไม่เที่ยง จนละทิ้งปล่อยวางร่างกายและไม่มีอยู่อีกต่อไป ดั่งชะตากรรมที่ Elisabeth Sparkle ได้พบเจอ

ทั้งหมดทั้งปวงแล้ว The Substance เป็นภาพยนตร์รางวัลแบบที่สามารถเรียกเสียงฮือฮา บอกกล่าวถึงความบ้าคลั่งปั่นป่วนจิตใจผู้ชมจากทุกอย่างที่ไปสุดทุกทางในระดับสุดโต่ง เสมือนว่าข้อห้ามใดๆ ที่ถูกตั้งขึ้นมาสำหรับหนังเมนสตรีมที่ต้องการจะฉายโรงแก่คนทุกเพศทุกวัย The Substance นั้นจงใจที่จะแหกข้อห้ามเหล่านั้นทิ้งอย่างหมดสิ้น

ถือว่าต้องชื่นชมผู้ที่นำเข้ามาฉายในไทยอย่าง Out of the box by GDH ที่ปกติเราจะเห็นแต่หนังแนวอารมณ์ดีมีความสุขมาตลอด จนไม่คิดว่าจะฉีกตัวเองนำเรื่องนี้มาฉาย ซึ่งนอกจากจะเต็มไปด้วยประเด็นมากมายให้ได้พูดคุยกันแล้ว ที่สำคัญคือยังบันเทิงแบบเถิดเทิง โหด มัน ฮา แบบที่ไม่คาดคิด เพราะจริงๆ หนังสอดแทรกความตลกร้ายเอาไว้ เพียงแต่ความหฤโหดของหนังกลบความฮาเหล่านั้นจนขำกันไม่ออก ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าความบันเทิงของแต่ละคนจะเหมือนกันหรือเปล่า

THE SUBSTANCE หนัง ภาพยนตร์ body horror ทุนนิยม บิวตี้แสตนดาร์ด สยองขวัญ ชายเป็นใหญ่

Sources :
becommon | t.ly/Ovl9Q
New Scientist | t.ly/z_QTU
The MemoLife | t.ly/DxX_-

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.