คุนกับ ‘แต๊บ ธนพล’ คนเบื้องหลัง “THE RAPPER” - Urban Creature

ช่วงนี้เราคงได้ยินดนตรีบีทหนักๆ เสียงสแครชแผ่น และการปล่อยเนื้อเพลงที่สัมผัสคล้องจองกันด้วยสปีดเร็วกว่าการร้องทั่วไป นั่นคือเพลงฮิปฮอปที่กำลังเป็นกระแสมาแรงในไทย จนมีรายการแข่งขันเฟ้นหาแร็ปเปอร์หน้าใหม่เกิดขึ้นมา หลายต่อหลายคนที่เราไม่เคยรู้จักกลายเป็นที่รู้จัก หลายคนที่เงียบหายก็กลับมาเคาะสนิมในกระแสครั้งนี้ และหลายคนที่ไม่รู้จักเพลงฮิปฮอปก็เริ่มเปิดใจให้กับมัน

ถ้าคนที่ฟังเพลงฮิปฮอปบ่อยๆ คงสังเกตเห็นจังหวะจะโคนและสัมผัสที่มีเสน่ห์ คอยดึงดูดให้เราตั้งใจฟังว่า สิ่งที่แร็ปเปอร์ปล่อยออกมาคือคำว่าอะไรบ้าง บางคนรู้สึกว่ามันโคตรเท่ โคตรคูลจนอยากลองเป็นแร็ปเปอร์ฝึกหัด อินจัดจนอยากเขียนเนื้อเพลงแร็ปเองสักบาร์สองบาร์ แล้วถ้าอยากเริ่มแต่งแบบจริงจังล่ะ มันจะใช้เทคนิคเหมือนการแต่งกลอนในสมัยประถมไหมนะ ? เพราะมันก็มีสัมผัสอักษรและสระคล้ายกัน

เราเลยพาไปคุยกับ “แต๊บ-ธนพล มหธร” หนึ่งใน Music Director ทีมงานเบื้องหลังแห่ง “The Rapper” รายการค้นหาแร็ปเปอร์หน้าใหม่ที่กำลังฮอตฮิตอยู่ตอนนี้ ด้วยประเด็นที่ว่า “แต่งแร็ปเหมือนแต่งกลอนไหม ?”

ประตูบ้านเลื่อนเปิดออกแบบอัตโนมัติ พร้อมรอยยิ้มต้อนรับจากชายหนุ่มในเสื้อยืดตัวโคร่ง กางเกงยีน และหมวก Snapback ฮิปๆ, โย่ว ! ‘พี่แต๊บ’ มาพาเราเข้าสตูดิโอส่วนตัวที่อยู่ในรั้วบ้านหลังสีขาว ได้เวลาอินไซท์กับการแต่งแร็ปและความฮิปฮอปกันแล้ว…It’s The Rapper !

| พี่แต๊บเริ่มฟังเพลงฮิปฮอปตอนไหน

เราเปิดบทสนทนาแบบแร็ปโย่วด้วยคำถามเบสิก อุ่นเครื่องก่อนไปลงลึกกับการแต่งแร็ป ซึ่งคำตอบที่ได้ ก็ทำให้เราเข้าใจแล้วว่า ทำไมผู้ชายคนนี้ ถึงกลายเป็นโปรดิวส์เซอร์ที่หน้าจับตามองที่สุดคนหนึ่ง ณ ขณะนี้

“เราเริ่มฟังเพลงฮิปฮอปมาตั้งแต่ 7 ขวบ คือมันเหมือนเป็นความบังเอิญนะ เพราะยุคนั้นเป็นยุคที่ไม่มีเด็กคนไหนรู้จักการฟังแร็ปหรอก ทุกคนก็แค่ตื่นมาดูการ์ตูนตอนเช้า ชีวิตก็แบบไม่ได้มีอะไร แต่อย่างบ้านเราจะมีพี่น้องหลายคน พวกญาติๆ หลายคนได้ไปเรียนที่ออสเตรเลีย ได้ไปต่างประเทศ เขาก็กลับมาพร้อมกับวัฒนธรรมบางอย่าง เช่น เปิดเพลงฮิปฮอปบนรถตอนไปโรงเรียน หรือการใส่เสื้อแบรนด์แฟชั่นฮิปฮอป FUBU พวกกางเกงตัวใหญ่ๆ เขาก็ซื้อกลับมาฝาก เราก็รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่เราซึมซับไปเรื่อยๆ”

| เทปฮิปฮอปม้วนแรกของพี่แต๊บ

“โห เทปฮิปฮอปอัลบั้มแรกที่ได้ฟังค่อนข้างเก่ามาก ประมาณ 20 ปีได้ ของ Puff Daddy ทุกวันนี้เขาก็ยังดังอยู่นะ แต่ว่าเขาไม่ได้ค่อยได้แร็ปละ เขาเป็นแบบแร็ปเปอร์ที่รวยที่สุดในโลกคนนึง รวยในระดับเดียวกับ Jay-Z เลย คือฟังเพลงเขาครั้งแรกก็รู้สึกว่าชอบ”

มากกว่าฟังครั้งแรกแล้วรู้สึกว่ามันใช่เลย พี่แต๊บยังรู้สึกว่า ฮิปฮอปคือความต่างแต่ก็เป็นตัวเองแบบสุดๆ

“เพลงที่เราฟังมันแตกต่างจากที่เพื่อนๆ เราฟัง ขณะที่เพื่อนฟังเพลงการ์ตูน แต่เราได้ฟังเพลงพวกนี้ มีญาติ เพื่อน รุ่นพี่ที่เขาชอบฟังเพลงแนวนี้ก็มาแบ่ง Snoop Dogg ให้ฟัง คือบรรยากาศมันเหมือนมีคนยื่นสิ่งเหล่านี้มาให้เราฟังตั้งแต่เด็ก ชอบฟัง ชอบดู MTV , Channal-V พวกรายการต่างๆ หรือ MTV Jams ที่จะเปิดแต่เพลงฮิปฮอปทั้งชั่วโมง ดูเอ็มวีรถเด้งได้ ดูแล้วก็ชอบและก็ใช้ชีวิตแบบนี้มาตลอด”

| เริ่มเขียนเพลง เริ่มแต่งไรม์ตั้งแต่เมื่อไหร่

“คนที่ชอบเพลงแนวนี้ พอได้ฟังปุ๊ปก็อยากจะร้องได้แบบเขา อยากรู้ว่าวิธีคิดเขาคืออะไร ก็ลองมาแต่งๆ ดู ซึ่งก็แต่งเล่น แต่งไปเรื่อยเปื่อย อย่างอยู่ในโรงเรียนมันก็มีเรื่องให้แต่ง แต่งถึงเพื่อน แต่งด่าเพื่อน (หัวเราะ) อะไรแบบนี้ มันก็เป็นเรื่องสนุกๆ ที่ทำกันในชีวิตประจำวัน ซึ่งเราเองก็จำไม่ได้ว่าเขียนอะไรลงไปบ้าง มันเป็นอะไรที่แบบผ่านมาเรื่อยๆ แต่พอเริ่มโตก็เริ่มมีเรื่องความรัก เรื่องผู้หญิง แต่งให้ผู้หญิงฟังบ้าง มันก็เริ่มมีการพัฒนา เหมือนกับว่าชีวิตเราไปอยู่ตรงไหน แร็ปมันก็เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเรามาเสมอ”

| ถ้าจะเริ่มต้นเขียนแร็ป พี่แต๊บมองว่าต้องเริ่มที่อะไร

บางคนมองว่า จะเขียนเนื้อเพลงฮิปฮอปทั้งที คงต้องเริ่มจากการคลั่งแร็ปเปอร์สักคน หรือต้องไปเรียนแบบจริงจัง แต่พี่แต๊บกลับตอบเราด้วยจุดเริ่มง่ายๆ อย่าง ‘การเริ่มที่ตัวเราเอง’

“เราว่ามันเป็นเรื่องของการที่เราอยากจะพูดเรื่องนู้นเรื่องนี้ ที่เป็นไอเดียของเรา คือถ้าสมมุติ เราไม่มีไอเดีย แค่อยากแต่งสนุกๆ มันก็แต่งได้ คือมันก็แร็ปออกมาเลย เพราะเนื้อหามันเป็นเรื่องของแต่ละคนแล้วว่าจะเล่าเรื่องอะไร คุณมีคำเยอะพอที่มันจะดูน่าสนใจหรือเปล่า คือเอาจริงๆ เรามองว่าใครก็แต่งแร็ปได้นะ แต่จะแต่งให้มันดูดี ดูน่าสนใจ ดูเจ๋งได้ยังไงนั่นสำคัญมากกว่า”

| ฟังคำตอบแบบนี้ ทำเราสงสัยไปถึงแพทเทิร์นของการเขียนเนื้อแร็ปเลย ว่ามันมีอยู่หรือเปล่า

“คือจริงๆ อะ มันไม่มีแพทเทิร์นเลย อย่างแร็ปเปอร์ของฝรั่ง ทุกคนจะคิดว่า เฮ้ย คนผิวดำแร็ปเหมือนๆ กันทุกคน แต่จริงๆ แล้วต่างกันหมดนะ ทุกคนมีวิธีเล่าเรื่องในแบบของตัวเอง มีวิธีแร็ปในแบบของตัวเอง มีเนื้อเสียงคนละแบบ มันมีวิธีหลากหลายมาก บางคนแร็ปเป็นแบบเขบ็ตเร็วๆ บางคนแร็ปแบบช้าๆ แต่ว่ามีสัดส่วนที่มันแตกต่าง มันค่อนข้างฟรีสไตล์ ไม่มีแพทเทิร์นตายตัวหรอก มันแค่แบบแร็ปเปอร์คนนั้นเขาอยากนำเสนอสัดส่วนแบบไหน ยิ่งวิธีการแร็ปแตกต่าง เนื้อเสียงแตกต่าง การเล่าเรื่องแตกต่าง ก็ได้รับการยอมรับมาก แร็ปมันเลยสามารถอยู่ตรงนู้น ตรงนี้ ตรงนั้นได้หมด อยู่กับเพลงแจ๊สได้ อยู่กับเพลงร็อก อยู่กับอีดีเอ็ม อยู่กับเพลงได้ทุกแบบเลย”

| การแต่งแร็ปเหมือนการแต่งกลอนสมัยประถมไหม

ก่อนหน้านี้ที่คุยถึงเรื่องแพทเทิร์นของการเขียนเนื้อเพลง ที่ต้องมีสัมผัส เล่นสระ เล่นอักษร ทำให้เราสงสัยว่า มันคล้ายกับการแต่งกลอนหรือเปล่า เพราะถ้านับกันจริงๆ การอ่านทำนองเสนาะก็คล้ายการแร็ปในเพลงฮิปฮอปอยู่เหมือนกัน

“ถ้าอธิบายให้มันง่ายที่สุด แต่งแร็ปก็คล้ายแต่งกลอนนะ เพราะเอาจริงๆ การเขียนแร็ปของคนผิวดำ มันก็เหมือนการเขียนกลอนของบ้านเขา รู้ว่าต้องสัมผัสตรงนี้ เหมือนเรียนกันมาตั้งแต่เด็ก ได้เห็น ได้ยินสิ่งนี้กันมา เขาเลยรู้ว่า ต้องสัมผัสกับอันนี้นะ หรือต้องมีสัดส่วนแบบนี้แบบนั้น”

“เรามีสุนทรภู่ที่อาจจะเป็นแร็ปเปอร์ที่เก่งที่สุด ถ้าสมมติเขาอยู่วันนี้ เกิดปี 35 โตขึ้นมาก็คงแร็ปกระจาย”

“มันก็เหมือนกับที่เราเข้าใจโครงสร้างโคลงสี่สุภาพหรือกลอนแปดที่เราเรียนกันสมัยประถม มีการสัมผัส การเล่นคำ เล่นตัวอักษร เช่น พี่กอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่ เขาเป็นคนชอบเขียนกลอน พอเขามีพื้นฐานตรงนั้น บวกกับการชอบอ่านหนังสือ ทั้งวรรณคดี การ์ตูน หนังสือรามเกียรติ์ เขาก็เลยจะมีชุดคำที่แตกต่างจากคนอื่น มีคำยากๆ ที่มันโคตรเจ๋ง”

| แล้วสามารถบอกได้ไหมว่า แบบไหนดี แบบไหนไม่ดี

“อันนี้เราว่าแล้วแต่คนชอบ เพราะฉะนั้นจะแร็ปเก่งไม่เก่งมันขึ้นอยู่กับถูกจริตหรือเปล่า แต่ส่วนใหญ่ที่จะมองว่า คนนี้เก่งว่ะ คนนี้ไม่เก่งว่ะ คือเนื้อหากับวิธีการแร็ปที่มันดูน่าสนใจ อย่างใน The Rapper เราจะเห็นนักร้องแร็ปที่คาแรกเตอร์แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง บางคนแร็ปเรื่องโคตรจริงจัง แร็ปแล้วอยากจะร้องไห้ตาม บางคนก็แบบตลกโปกฮา คนที่ทำให้มันมีมิติในเนื้อเพลงได้มากขนาดนี้ คือแสดงว่าเขาต้องเป็นคนมีไหวพริบในการเล่าเรื่อง ที่เล่าเรื่องจริงออกมาได้แบบรู้สึกจริงๆ หรือแบบบางคน เนื้อหาอาจจะไม่เท่าไหร่ แต่วิธีการจี๊ดจ๊าดมากเลย มีวิธีการเล่นคำ มีความเร็วตรงนี้ เดี๋ยวไปช้าตรงนั้น มันเลยบอกยากว่าแบบไหนดี แต่เราว่า การทำให้เพลงมันมีมิติ มีมูฟเมนท์ มีไอเดียใหม่อยู่เสมอ จะทำให้เราเก่งขึ้น และเพลงมันก็จะออกมาดีเอง”

คุยกันถึงเรื่องราวของเพลงฮิปฮอป และการแร็ปไปกันแล้ว เราขอต่อด้วยการทำงานของพี่แต๊บ ที่ถ้าจำกันได้ดี เราจะเห็นพี่แต๊บโลดแล่นอยู่ในวงการดนตรีมานานพอสมควร เริ่มตั้งแต่การประกวดร้องเพลง สู่การเป็นศิลปิน และล่าสุดกับการเป็นโปรดิวส์เซอร์ และ Music Director ของรายการ “The Rapper”

| จากคนเบื้องหน้ามาเป็นคนเบื้องหลัง มีอะไรเปลี่ยนไปบ้างหรือเปล่า

“ก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง คืออยู่ในวงการร้องเพลงมาเป็น 10 ปี เราก็ไปเจอหลายๆ จุดที่เรารู้สึกว่า บางทีมันมีปัญหาที่ควบคุมไม่ได้ อย่างเวลาไปเล่นตามร้าน บางทีซาวด์มันไม่ได้ บางทีร้องไม่ได้ยินเสียงตัวเอง แล้วแก้ไขมันไม่ได้ ถ้าเกิดเราอยู่ในวงการ เราจะรู้ว่าศิลปินบ่นเรื่องพวกนี้กันมาตลอด แล้วพอวันนี้มาเป็นเบื้องหลัง ปัญหาตรงนั้นก็เจอน้อยลง แต่เราต้องขยันมากๆ มันใช้เวลาเดินทางพอสมควรเลย เพราะเป็นคนที่ไม่เคยเรียนดนตรีมาก่อนเลย เล่นแค่เอาฮาๆ หลังห้องแค่นั้น ไม่เข้าใจทฤษฎี ไม่รู้ว่าอะไรคืออะไร แต่เพราะเราชอบ ก็ดูที่เขาสอนใน Youtube ดูนู่นดูนี่ไปเรื่อยๆ แล้วเราก็มีเพื่อนที่ชอบคล้ายกัน เลยมาช่วยกันเรียนรู้วิธีการ วิธีคิด สั่งสมประสบการณ์ให้ได้เยอะที่สุด และทำออกมาให้มันเป็นตัวเรา ให้มันแตกต่างจากคนอื่น”

“มันเลยแตกต่างกันมากระหว่างคนข้างหน้ากับคนข้างหลัง มันคือคนละเกม เป็นคนข้างหลังต้องมานั่งคิดทุกอย่าง สมมติศิลปินที่ดังที่สุดโทรมาว่า เขาอยากได้เพลงฮิต เราก็จะมานั่งคุยกับศิลปินว่าเขาอยากจะพูดเรื่องอะไรดี ดนตรีแบบไหน เพราะเราเป็นศิลปินมาก่อน เรารู้ว่าการทำเพลงโดยที่ไม่คุยกับศิลปินเลย มาถึงแล้วเรียกเราไปร้อง แล้วเราก็ไม่เคยชอบมัน มันเป็นยังไง เราเลยต้องคุยกับศิลปินเยอะๆ”

“เราเชื่อว่า เวลาที่ทำเพลงให้ศิลปินสักคนหนึ่ง เราอยากให้ศิลปินทุกคนชอบ และภูมิใจในเพลงตัวเอง”

| พูดถึง The Rapper กันสักหน่อย

“จุดเริ่มต้นทีทำรายการนี้ คือเราอยากให้ทุกคนเข้าใจสักทีว่า เพลงฮิปฮอปมันคืออะไร เพราะเอาจริงๆ เด็กสมัยนี้ เขาโตมากับเพลงฮิปฮอปทั้งนั้น อย่างเกาหลีใต้ตอนนี้เป็นประเทศแร็ปแล้ว ทุกคนแร็ปและเข้าใจกันหมด แต่เราไม่ได้บอกว่า ประเทศไทยจะต้องเป็นประเทศแร็ปนะ แต่ The Rapper ต้องการที่จะนำเสนอว่า ‘เฮ้ย ! วันนี้โลกมันมีสิ่งนี้แล้ว’ และคนไทยก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าใคร เรามีวิธีของเราเอง เราอยู่กับกาพย์กลอนมาตลอด เราก็อยากทำให้มันเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป ให้คนได้เห็นว่า คนไทยเราก็เก่งนะ”

“เราเลยพยายามที่จะนำเสนอทุกอย่าง อย่างในเพจ The Rapper เนี่ย พยายามเสนอความหมายคำว่า โฟลว (Flow) คืออะไร พยายาม inform คนให้รู้ เพราะเรื่องนี้มันไม่ใช่เรื่องของเราคนเดียว ถ้าเราพูดแค่ภาษาของเรา ทุกคนก็จะแบบ ‘มึงพูดอะไรกันวะ ! แบบโฟลวนี้ บีทนั้น ไรม์อันนี้’ คือเราต้องอธิบายให้คนดูรู้และเข้าใจ เนี่ยคือสิ่งที่เราอยากบอกพวกเขา สุดท้ายจบออกมา เราอยากเห็นแร็ปเปอร์หลากหลายคนเก่งๆ และคนก็เริ่มเข้าใจในสิ่งที่พวกเราเป็น”

“ซึ่งเราว่าตอนนี้ มีคนเริ่มเข้าใจมันเยอะแล้วล่ะ เราเคยเจอคนขายล็อตเตอรี่หน้าเซเว่นเปิดดู The Rapper เสียงดังมาก หรือไปกินส้มตำ แม่ค้าก็ดูรายการในมือถือ นี่แหละ มันคือเรื่องที่เราต้องการ แล้วมันเกิดขึ้นแล้วอะวันนี้ คนแก่ ยาม พ่อแม่พี่น้องนั่งดู (เสียงภูมิใจ) มันเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มากนะ ถ้าเราเดินไปเจอเด็กแต่งตัวแร็ปๆ ดูเราก็โอเค เข้าใจได้ แต่ถ้าเราเดินไปเจอคุณป้าดูรายการ มันคงแบบโอ้โห ! เนี่ยคือจุดที่เราอยากให้ไป”

| มากกว่าความเข้าใจ คืออยากสร้างวงการแร็ปเปอร์ให้แข็งแกร่ง

The Rapper ไม่ได้เพียงสร้างความตระหนักรู้เรื่องเพลงฮิปฮอปให้กับผู้คนเท่านั้น แต่ทีมงานยังหวังว่า รายการและเนื้อหาที่ภูมิใจนำเสนอจะเป็นอีกหนึ่งกำลังที่สร้างความมั่นคงให้การวงการฮิปฮอปและแร็ปเปอร์ที่มีฝันในบ้านเรา

“สมมติวินมอเตอร์ไซด์มีเพื่อนเป็นเจ้าของร้านเหล้าที่ตลาดนัดรถไฟ ก็ไปพูดให้ฟังว่า เออไปจ้างดิ ไอ้เคนน้อยอะ โคตรเจ๋งเลย มันก็จะเกิดวัฐจักรของการทำงาน มีชีวิต มีสิ่งที่จะวนต่อไปเรื่อยๆ ให้วงการนี้ได้ นี่คือสิ่งที่ The Rapper ต้องการ และสัญญาจะทำให้ดีขึ้นทุกอีพี ซึ่งตอนนี้ทุกอีพีที่ออนแอร์ไป เรายังมานั่งเรียงกันอยู่เลยว่า อีพีต่อไปจะเป็นยังไงต่อดี เพื่อให้บรรยากาศในรายการมันดีขึ้น คือขนาดถ่ายเสร็จแล้ว ตัดเสร็จแล้ว ยังต้องมานั่งจับกระแสกันอยู่เลยว่าจะทำยังไงให้ดีขึ้น มันถึงจะดี”

“ฮิปฮอปมันสามารถเป็นของทุกคนได้ ฮิปฮอปมันก็เหมือนน้ำ เหมือนอากาศ เหมือนออกซิเจน ที่ทุกคนเป็นเจ้าของกันได้”

“ทุกวันนี้ก็ไม่ได้คิดว่าทุกคนต้องฟังฮิปฮอป แต่อยากให้เป็นกำลังใจให้กับวงการนี้ สนับสนุนวงการนี้ แม้เราจะไม่ได้เจ๋งถึงขนาดไปเล่นเวทีใหญ่ๆ งานใหญ่ๆ ระดับโลกได้ แต่คือวันนี้มีเด็กหลายๆ คน หลายๆ หน่วยงาน อย่างรายการ The Rapper รายการ Rap is now หรือ รายการ Show me the money ทุกคนได้ช่วยกันบอก message ว่า คนไทยก็เก่งเรื่องนี้นะ ถ้าคุณชอบก็เป็นกำลังใจให้กัน ติเพื่อก่อได้ แต่ไม่มีประโยชน์ที่จะมาขัดขวางกัน มาช่วยเป็นกำลังใจให้กับวงการเพลงบ้านเรากัน ทุกคนตั้งใจทำเพลงกันจริงๆ และเราก็หวังว่า วงการเพลงฮิปฮอปบ้านเราจะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง”

เราขอปิดท้ายการพูดคุยครั้งนี้ตามสไตล์ Urban Creature กันสักหน่อย ด้วยคำถามที่ว่า

| ถ้าให้พี่แต๊บโปรดิวซ์เพลงให้กับกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ฯ

“ถ้าให้โปรดิวซ์เพลงให้กรุงเทพฯ มันต้องเพลงหนักๆ เพราะกรุงเทพฯ มันเป็นเมืองที่แบบ เราคิดว่ามันเป็นยิ่งกว่านิวยอร์กอีก คือมันประหลาดมาก มันไม่เหมือนโตเกียว ลอนดอน หรือนิวยอร์ก เพราะเมืองหลวงเหล่านั้น มันเป็นเมืองหลวงที่คนทั้งประเทศไม่ได้อยากเข้าไปอยู่ แบบคนเมกาก็ไม่ได้อยากไปอยู่นิวยอร์ก อยู่แอลเอก็โอเคแล้ว อยู่ชิคาโกก็ดีแล้ว นิวยอร์กเข้าไปทำไมวุ่นวาย มีแต่นักธุรกิจ”

“แต่กรุงเทพฯ คือทุกคนอยากเข้ามาอยู่ที่นี่ มันมีความหลากหมาย มีความแตกต่าง คนเข้ามาทำงาน หาเงิน อย่างเด็กๆ ที่ครอบครัวส่งเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ เขาหวังอย่างเดียวคือลูกได้ไปจากชีวิตที่เขาได้เป็น มันมีทุกอย่าง มีห้างฯ เยอะที่สุด มีโรงหนังดี มีอาหารทุกแบบ ไม่ต้องไปไหนไกลเลย แค่กรุงเทพฯ ก็มีครบทุกอย่างแล้ว”

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.