‘ส่องสัตว์’ ในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่จุฬาฯ - Urban Creature

นับวันคนกับสัตว์ยิ่งมีความสัมพันธ์กันน้อยลง การจะได้เห็นสัตว์อยู่ตามธรรมชาติโดยเฉพาะในเมืองใหญ่คงเป็นเรื่องยาก หากอยากเรียนรู้เรื่องสัตว์ก็ต้องไปสวนสัตว์หรืออควาเรียม แต่ไม่ได้มีเพียงเท่านั้นเพราะยังมีห้องสมุดธรรมชาติที่รวบรวมตัวอย่างสัตว์นานาชนิด ซ่อนตัวอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ อย่าง ‘พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’

ห้อง 230 บนชั้น 2 ตึกชีววิทยา 1 คณะวิทยาศาสตร์ อัดแน่นไปด้วยโครงกระดูกและสัตว์สตัฟฟ์ ที่น่าสนใจคือบรรดาสัตว์หายากและสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ บางตัวอย่างหาไม่ได้แล้วในประเทศไทย ถูกจัดหมวดหมู่ไว้ในตู้กระจกไม้แสนคลาสสิก หรือจัดท่าทางเหมือนครั้งยังมีชีวิตโชว์ไว้อย่างสง่างาม ซึ่งตัวอย่างเหล่านี้มาจากสัตว์ที่เสียชีวิตแล้วหรือสัตว์ทดลอง มีทั้งของสะสมที่ได้รับบริจาคมา ตัวอย่างจากอาจารย์ที่ศึกษาวิจัยเฉพาะด้าน และอีกส่วนหนึ่งมาจากผลงานของนิสิตต้องทำส่งในวิชาเรียน

พิพิธภัณฑ์ที่ดูขลังแห่งนี้เปิดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2530 แรกเริ่มที่นี่ใช้ในการเรียนการสอนของนิสิตภาควิชาชีววิทยา ซึ่งอาจารย์ต้องมีตัวอย่างที่เก็บไว้ตั้งแต่สมัยก่อน พอตัวอย่างมีมากขึ้นก็เปลี่ยนหน้าที่มาเป็นพิพิธภัณฑ์ให้นิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไปเข้ามาศึกษาเรียนรู้ ซึ่งมีตั้งแต่เด็กอนุบาลไปจนถึงนักวิชาการระดับนานาชาติที่ต้องมาศึกษาเปรียบเทียบ

โครงกระโหลกวาฬบรูด้า ที่ชาวบ้านขุดพบใน จ.สมุทรปราการ

นักสำรวจสัตว์

เราได้พบกับ ‘คุณนราธิป จันทรสวัสดิ์’ เจ้าหน้าที่บริการวิทยาศาสตร์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่อาสาเป็นไกด์นำชมทุกซอกทุกมุมของพิพิธภัณฑ์ และให้ความรู้อย่างไม่หมกเม็ด ตั้งแต่ขั้นตอนการต่อโครงกระดูกและการสตัฟฟ์ ฟังเรื่องราวของสัตว์ที่มีชีวิตน่าค้นหา ไปจนถึงปัจจัยที่ทำให้สัตว์บางชนิดเริ่มสูญพันธุ์ 

ก่อนจะใช้เวลาชั่วโมงกว่าในการเดิมชม เราถามคุณนราธิปถึงความสำคัญของการศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ โดยนักวิทยาศาสตร์ต้องเข้าไปสำรวจพื้นที่ว่าเจอสิ่งมีชีวิตชนิดใดบ้าง หากเป็นไปได้ว่าเป็นสัตว์ที่มีเฉพาะพื้นถิ่นก็ควรจะอนุรักษ์ไว้ หรือหากค้นพบสัตว์ชนิดใหม่ก็ต้องมีการศึกษาวิจัย

โครงกระดูกโลมา

จิ๊กซอว์ต่อ ‘กระดูก’

ก้าวเข้ามาในห้องพิพิธภัณฑ์หลักจะพบกับโครงกระดูกชิ้นใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น จระเข้ ตะโขง โลมา และวาฬบรูด้าที่แค่ขนาดกระโหลกของมันก็ใหญ่แทบจะเต็มตู้ ขั้นตอนการต่อโครงกระดูก เริ่มจากทำให้สัตว์ที่ตายแล้วเหลือแต่โครงกระดูก จะด้วยวิธีเลาะ ต้ม หรือให้แมลงกินซากอย่างด้วงบางชนิด ล้างทำความสะอาดซึ่งเดี๋ยวนี้มีสารเคมีที่ทำให้กระดูกดูขาว แล้วนำมาขึ้นโครงเป็นท่ายืน เดิน นั่ง หรือกางปีก

โครงกระดูกงูที่เรียงตัวกันสวยงาม

งานที่ท้าทายนิสิตต้องยกให้ ‘โครงกระดูกงู’ ที่ภายนอกดูเหมือนจะง่าย แต่จริงๆ ซี่โครงแต่ละซี่มันเท่ากันหมด จึงต้องทำป้ายกำกับไว้เลยว่านำออกมาจากซี่ที่เท่าไหร่

พะยูนได้รับการประกาศให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

‘สตัฟฟ์’ ให้เหมือนมีชีวิต

เราหันมาเจอสัตว์สตัฟฟ์อย่าง ‘พะยูน’ ที่เก่าแก่พอๆ กับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ สังเกตได้จากรอยเย็บที่ไม่เรียบเนียนเท่าปัจจุบัน ซึ่งจะใช้เส้นเอ็นเล็กกว่าและมีวิธีการเก็บที่เนียนขึ้น คุณนราธิปบอกว่าการสตัฟฟ์สัตว์จะต้องทำให้เหมือนกลับมามีชีวิต เริ่มจากเลาะส่วนหนังออกทำให้แห้งและสะอาด ใช้สารเคมีเคลือบให้เรียบร้อย แล้วนำมาห่อโครงที่ทำขึ้นใหม่โดยอาจจะใช้ขดลวดดัด

รอยเย็บของพะยูนสตัฟฟ์

หากสังเกตดีๆ ตัวอย่างจากการวิจัยจะมีป้ายแท็กที่สามารถบอกข้อมูลได้เหมือนห้องสมุด ทางพิพิธภัณฑ์จะมีฐานข้อมูล ที่บ่งบอกชื่อสายพันธุ์ พื้นที่ที่พบ ระบุวัน และผู้ค้นพบ ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาศึกษาต่อ เช่น ทำแผนที่บอกพื้นที่การแพร่กระจาย อนาคตอาจจะพัฒนาเป็นแอปฯ ที่สามารถสแกน QR code แสดงข้อมูลได้เลย แต่ตัวอย่างเก่าๆ ที่ไม่สามารถบอกประวัติได้ก็จะไม่มีข้อมูล

สมัน กวางชนิดหนึ่งที่เขาสวยงามที่สุด

ล่าสมัน = สูญพันธุ์

ที่อยู่ติดกันนั้นเป็น ‘สมัน’ ที่สูญพันธุ์ไปแล้วจากประเทศไทย สมันเป็นกวางชนิดหนึ่งที่มีเขาสวยงาม ซึ่งนำมาซึ่งความต้องการของมนุษย์ สมัยก่อนสมันจึงโดนล่าอย่างหนัก อีกอย่างเขาของมันมีแง่งเยอะอยู่ในป่าไม่ได้จะติดกิ่งไม้ ต้องอาศัยในที่ราบภาคกลางซึ่งเป็นที่ราบทุ่งนาหรือทุ่งหญ้าโล่งๆ มันจึงถูกเห็นและโดนล่าได้ง่าย

“มนุษย์นี่แหละเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้สัตว์หลายตัวใกล้สูญพันธุ์”

ด้านในมีโซนเปลือกหอยหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นหอยเต้าปูนลวดลายแตกต่างกัน หรือหอยแปลกๆ อย่างหอยแต่งตัว และหอยมือเสือขนาดยักษ์ นอกจากนี้ ยังมีสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก เช่น กระทั่งน้ำ หรือซาลาเมนเดอร์ ส่วนสัตว์ที่ลักษณะคล้ายกันแต่มีเกล็ด จะเป็นพวกสัตว์เลื้อยคลานอย่างตัวเงินตัวทอง ตะกวด และงู นอกจากนี้ ยังมีห้องย่อยไล่เรียงจาก เต่าและตะพาบ แมลง และหอยทาก

กระดองและโครงกระดูกเต่าที่แยกออกเป็นชิ้น

ผลุบโผล่จากกระดอง

โครงกระดูกสัตว์อีกหนึ่งชนิดที่นับเป็นงานยากคือเต่า เมื่อเราเดินวนมาถึงห้องถัดมาที่เป็น ‘พิพิธภัณฑ์เต่าและตะพาบ’ คุณนราธิปก็รีบอธิบายถึงกระบวนการต่อโครงกระดูกเต่า เริ่มจากการเปิดกระดองเพื่อทำความสะอาดให้หมดจด ซึ่งเต่าเมื่อเสียชีวิตแล้วกระดองจะแยกออกเป็นแผ่นๆ เนื่องจากเส้นเอ็นจะสลายไป จึงต้องนำกลับมาต่อใหม่เหมือนจิ๊กซอว์ แล้วจึงเอาเกล็ดแปะเข้าไปถึงจะเป็นตัวที่สมบูรณ์

เขื่อน VS ตะพาบม่านลาย

ตัวที่ถือเป็นไฮไลต์ของห้องนี้เลยคือ ‘ตะพาบม่านลาย’ เป็นตะพาบที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีชื่อว่าม่านลายเพราะมีลวดลายที่กระดอง เป็นสัตว์ประจำถิ่นที่พบเฉพาะบริเวณลุ่มแม่น้ำแม่กลองตอนบน จ.กาญจนบุรี หรือแม่น้ำแควใหญ่ แควน้อย

สาเหตุที่ทำให้มันใกล้สูญพันธุ์นอกจากคนล่า คือผลกระทบจากการสร้างเขื่อน เต่าและตะพาบต้องวางไข่บนบกอาศัยเนินทรายริมน้ำ หรือสันดอนทรายที่น้ำท่วมไม่ถึง แต่พอมีเขื่อนสัตว์ไม่สามารถรับรู้ว่าเขื่อนจะปล่อยน้ำตอนไหน หากน้ำท่วมรัง ไข่ก็เสียหมด การสร้างเขื่อนเป็นส่วนหนึ่งที่มีผลต่อการใกล้สูญพันธุ์ ไม่ใช่แค่ตะพาบแต่รวมไปถึงปลาหลายสายพันธุ์ที่ต้องกลับไปวางไข่ แม้จะทำบันไดปลาโจนก็ไม่ใช่ปลาทุกชนิดที่จะสามารถกระโจนขึ้นไปบนสันเขื่อนได้

ผีเสื้อกระท้อน เป็นผีเสื้อพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

สีสันแห่งพงไพร

อีกห้องที่ไม่ควรพลาดคือ ‘พิพิธภัณฑ์แมลง’ ที่เน้นด้วงและผีเสื้อที่มีความหลากหลาย วงจรชีวิตของแมลงอย่างหนอนไหม รังมด รังปลวก ไปจนถึงแมลงที่นำมาใช้ประโยชน์ เช่น แมลงกินได้ และผลิตภัณฑ์จากผึ้ง แมลงเป็นสัตว์ที่มีโครงสร้างแข็ง ไม่มีกระดูก และตัวเล็ก จึงใช้วิธีอบแห้งแล้วจัดท่าทางตามหลักวิชาการ เช่น ด้วงก็จัดขาให้สวยงาม ผีเสื้อ แมลงปอ ก็กางปีกให้เห็นส่วนต่างๆ ชัดเจน

เวลาเราไปเดินป่าเจอผีเสื้อสวยๆ ช่วยให้เกิดสุนทรียะราวกับแต้มสีสันในธรรมชาติ แต่ประโยชน์แท้จริงของลวดลายบนปีกผีเสื้อนั้น ช่วยดึงดูดเพศตรงข้ามในการเลือกคู่สืบพันธุ์ สีสันสดใสบ่งบอกถึงยีนที่แข็งแรง

ผีเสื้อบางชนิดวิวัฒนาการเลียนแบบลวดลายของผีเสื้อมีพิษเพื่อที่นกจะได้ไม่มากิน หรือผีเสื้อกลางคืนอย่าง ‘ผีเสื้อกระท้อน’ เป็นผีเสื้อพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีสีน้ำตาลเพื่อพลางตัว เพราะมันชอบไปเกาะเปลือกไม้หรือใบไม้แห้ง ซึ่งการสืบพันธุ์ของมันจะใช้วิธีส่งฟีโรโมนหรือกลิ่นแทน

ตัวอย่างแมลงกินได้

แมลง’ แหล่งโปรตีน 

หลายคนคุ้นเคยกับแมลงทอดที่มีขายตามรถเข็นในกรุงเทพฯ แต่ที่จริงแล้วคนไทยกินแมลงเป็นอาหารในหลายท้องถิ่น คุณนราธิปเล่าอย่างออกรสว่า ถ้าไปตลาดทางเหนือ ชาวบ้านจะมีกรรมวิธีเยอะมาก ทั้งหมก ยำ อย่างน้ำพริกแมงดา หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นแมงดาทะเล แต่จริงๆ เป็น ‘แมงดานา’ ทางภาคอีสานจะกิน ‘แมงแคง’ ศัตรูพืชที่ชอบกินดอกลำไย ชาวบ้านชอบเอามาทำน้ำพริก ส่วนทางใต้จะกิน ‘หนอนด้วงสาคู’ หรือ ‘ด้วงงวงมะพร้าว’

คุณค่าทางโภชนาการของแมลงนั้นมีโปรตีนสูงและไขมันต่ำ คุณนราธิปเล่าถึงงานวิจัยของอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำความรู้เกี่ยวกับแมลงกินได้ไปสอนที่เอธิโอเปีย เพราะที่นั่นขาดแคลนสารอาหาร ถือเป็นการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปต่อยอดหรือส่งต่อ นอกจากในบ้านเราแล้วยังช่วยเหลือประเทศอื่นได้อีกด้วย

ตัวอย่างผีเสื้อวงศ์ต่างๆ

ถ้าแมลงไม่มี ‘บ้าน’

เรายังจำตอนเด็กได้ว่า เคยเก็บแมลงทับปีกสีเขียวแวววับมาเลี้ยงในกล่อง แต่เดี๋ยวนี้แทบไม่เจอแล้ว เพราะพื้นที่ที่เคยเป็นป่าถูกทดแทนด้วยที่อยู่อาศัยของมนุษย์ และพื้นที่เกษตรที่ใช้สารเคมี แมลงบางชนิดการฉีดยาฆ่าแมลงทีเดียวแทบจะล้างสายพันธุ์ไปเลย เช่นเดียวกับการตัดไม้ทำลายป่า ต้นไม้ต้นเดียวอาจมีสิ่งมีชีวิตเป็นร้อยชนิดอาศัยอยู่ ทั้งอยู่กับราก ใบ ลำต้น

ถ้าเราดึงแมลงออกจากวงจรธรรมชาติ
อาจทำให้เกิดโดมิโนและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง”

สิ่งมีชีวิตเกือบทุกชนิดมีบทบาทหน้าที่ของมันในธรรมชาติ ถ้าผึ้งหายไปจากโลก ในไม่กี่สัปดาห์ผลไม้บางอย่างจะสูญพันธุ์เพราะไม่มีผึ้งช่วยผสมเกสร นี่คือความเฉพาะเจาะจงของธรรมชาติ เมื่อผลไม้บางอย่างหายไปก็เป็นไปได้ว่าในอนาคตมนุษย์จะขาดแคลนอาหาร หรือพวกมด ปลวก ตัวเล็กๆ ก็เป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ให้สัตว์อื่นๆ ดำรงชีวิตอยู่ได้

คุณนราธิป จันทรสวัสดิ์ เจ้าหน้าที่บริการวิทยาศาสตร์ ภาควิชาชีววิทยา
คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โลกร้อน…สัตว์สูญพันธุ์ ?

โลกร้อนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในระยะยาว สัตว์จะพยายามปรับตัวตามสภาพอากาศ แต่ถ้าเราไปเร่งปัจจัยอย่างน้ำแข็งขั้วโลกที่ละลายเร็วๆ ก็มีผลกับสัตว์ที่อาศัยในพื้นที่นั้นอย่างหมีขาว

ถ้าน้ำแข็งละลายช้าหน่อย หมีขาวก็อาจปรับตัวอาศัยในพื้นที่อื่นได้
แต่ถ้าปรับตัวไม่ทัน มันก็อาจสูญพันธ์ุ” 

ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นมาแล้วหลายรอบ เราเป็นเพียงจุดเล็กๆ ในโลกปัจจุบัน ยุคที่ไดโนเสาร์ครองโลกแล้วมันสูญพันธุ์ สัตว์ก็ไม่ได้หายไปหมดโลก แมลงบางชนิดอยู่ก่อนไดโนเสาร์ด้วยซ้ำ แต่ก่อนออกซิเจนในโลกเยอะทำให้สัตว์มีขนาดใหญ่ พอออกซิเจนเหลือเท่าปัจจุบันสัตว์ก็วิวัฒนาการให้ขนาดตัวเล็กลง เป็นไปได้ว่าถ้าโลกร้อนเป็นไปตามวัฏจักรธรรมชาติ ไม่ใช่เอามนุษย์ใส่ลงไปในสมการ สิ่งมีชีวิตก็อาจจะปรับตัวได้ บางตัวอาจสูญพันธุ์ไปแต่บางตัวก็จะอยู่รอด

พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตึกชีววิทยา 1 ห้อง 230 ชั้น 2 ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
เปิดวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 16.00 น. (ปิดวันหยุดนักขัตฤกษ์)
โทร. 02-218-5266
ไม่เสียค่าเข้าชม

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.