ยินดีต้อนรับเข้าสู่ช่วงเทศกาลตรุษจีน (Lunar New Year) วันขึ้นปีใหม่จีนตามปฏิทินจันทรคติ หนึ่งในเทศกาลสำคัญของพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวจีนจากทั่วทุกมุมโลกออกมาร่วมกันเฉลิมฉลอง
ถ้าไม่นับรวมเพลง ‘หมวยนี่คะ’ จาก China Dolls ศิลปินดูโอชาวไทย ที่มีเนื้อร้องติดหูจนคนต้องเผลอร้องตาม มั่นใจเลยว่าเพลงจีนที่หลายคนได้ยินในช่วงนี้คงหนีไม่พ้นเพลง ‘The Moon Represents My Heart’ หรือ ‘พระจันทร์แทนใจฉัน’
เพลงนี้เป็นบทเพลงอมตะในตำนานของ ‘เติ้ง ลี่จวิน’ (邓丽筠) บุคคลผู้ได้รับสมญานามว่า ‘ราชินีแห่งเพลงเอเชีย’ นักร้องชาวไต้หวันที่มักมาพร้อมกับแนวเพลงป็อปแมนดาริน (Mandopop) ด้วยเทคนิคการใช้เสียงร้องที่แผ่วเบาแต่หวานปานน้ำผึ้ง
เติ้ง ลี่จวิน ถือเป็นหนึ่งในศิลปินเอเชียที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากช่วงปี 1970 – 1990 และเป็นตำนานมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะกับประเทศแถบเอเชีย จนบางเพลงของเธอถูกนำไปถ่ายทอดด้วยภาษาต่างประเทศถึง 7 ภาษา ไม่ว่าจะเป็นไต้หวัน แมนดาริน กวางตุ้ง ญี่ปุ่น อิตาลี อินโดนีเซีย หรืออังกฤษ และแม้ว่าบางบทเพลงจะไม่มีคำร้องภาษาไทย แต่เสียงของเธอก็เป็นที่ชื่นชอบของชาวไทยไม่ต่างกัน
ขนาดผ่านมาเกือบ 30 ปี แต่บทเพลงของเธอก็คงถูกบรรเลงที่ไหนสักแห่งอยู่เสมอ เหมือนกับดวงจันทร์ที่ไม่เคยหายไปไหน
บทที่ 1 พระจันทร์แทนการเปลี่ยนแปลง
แม้จะเป็นเพลงความยาวเพียง 3 นาทีกว่า แต่ The Moon Represents My Heart ก็เป็นเพลงที่ผ่านเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมและการปกครองมาอย่างโชกโชน
เช่นเดียวกับชีวิตของเติ้ง ลี่จวิน ที่เติบโตมาในครอบครัวทหารที่อพยพจากจีนแผ่นดินใหญ่มาตั้งต้นชีวิตใหม่บนเกาะ Formosa ในสาธารณรัฐจีนในตอนนั้น (ปัจจุบันคือไต้หวัน) ในช่วงที่จีนเปลี่ยนการปกครอง
ชีวิตของเธอเติบโตขึ้นในเส้นทางของการเป็นดาวอย่างแท้จริง ด้วยความที่มีต้นทุนเสียงที่ดี ทำให้เติ้ง ลี่จวิน ชนะการประกวดร้องเพลงรายการต่างๆ ตั้งแต่ยังเด็ก จนก้าวขึ้นสู่การเป็นศิลปินเต็มตัวจากการร้องเพลงพื้นเมือง ก่อนชีวิตจะพลิกผันเข้าสู่วงการเพลงป็อปแมนดาริน (Mandopop) ในช่วงวัยรุ่น ได้ทัวร์คอนเสิร์ตที่สิงคโปร์และฮ่องกง ไปจนถึงได้เซ็นสัญญากับค่ายเพลงญี่ปุ่น กลายเป็น Teresa Teng ที่คนทั้งโลกรู้จักด้วยน้ำเสียงหวานกระซิบ
เพลง The Moon Represents My Heart จากเติ้ง ลี่จวิน ถูกปล่อยออกมาในปี 1977 และด้วยแก้วเสียงใสของเธอบวกกับเนื้อเพลงสุดกินใจ ก็ทำให้เพลงนี้ได้รับความสนใจในหมู่คนที่ฟังเพลงจีนทั่วโลก จนถ้าพูดถึงเพลง The Moon Represents My Heart หลายคนคงนึกถึงหน้าเธอเป็นอันดับแรก และคิดว่าเธอคือต้นฉบับที่แท้จริง
ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว เพลงนี้ถูกปล่อยออกมาครั้งแรกในปี 1973 โดยมีต้นฉบับเสียงร้องคือ ‘เฉิน เฟินหลัน’ (陳芬蘭) ส่วนในเวอร์ชันของเติ้ง ลี่จวิน นั้นถือเป็นเพียงการหยิบเอาเพลงเก่ามาปัดฝุ่นร้องใหม่ในชื่อเดียวกันเท่านั้น
“ช่วงเวลากลางคืนเป็นช่วงเวลาที่ความรักทำงาน ส่วนดวงจันทร์เปรียบเสมือนตัวแทนของความรัก เพราะไม่ว่าฟ้ายามค่ำคืนจะเป็นเช่นไร ดวงจันทร์ก็ยังคงอยู่ตรงนั้นเสมอไม่จากไปไหน” Thought Circus สื่อต่างประเทศ ได้วิเคราะห์เพลง The Moon Represents My Heart เอาไว้
และถึงแม้ว่าเพลงนี้ของเธอจะได้รับความนิยมจากทั่วโลก แต่ก็มีหนึ่งพื้นที่ที่เสียงของเธอเป็น ‘สิ่งต้องห้าม’ นั่นก็คือ ‘จีนแผ่นดินใหญ่’ เนื่องด้วยนโยบาย ‘การปฏิวัติวัฒนธรรม’ ของเหมา เจ๋อตุง ทำให้ในช่วงปี 1966 – 1976 เพลงของเติ้ง ลี่จวิน และเพลงรักอื่นๆ นอกประเทศถูกสั่งห้าม เนื่องจากรัฐจีนมองว่าเพลงเหล่านี้พูดถึงความเป็นปัจเจกมากเกินไป ซึ่งขัดต่อแนวคิดคอมมิวนิสต์
จนกระทั่งมาถึงยุคการขึ้นนำประเทศของเติ้ง เสี่ยวผิง ที่มีนโยบาย ‘เปิดประตู’ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีน ทำให้เพลงของเติ้ง ลี่จวิน ถูกปลดปล่อยและกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น ก่อนจะกลับมาถูกแบนอีกครั้งด้วยเหตุผลว่าเพลงของเติ้ง ลี่จวินเป็น ‘มลภาวะทางจิตวิญญาณ’ เมื่อรัฐบาลไต้หวันนำเพลงของเธอมาเป็นหนึ่งในการโจมตีกับจีนแผ่นดินใหญ่ในช่วงสงครามเย็นปี 1980
อย่างไรก็ตาม แฟนเพลงของเธอในแผ่นดินใหญ่ก็ยังลักลอบซื้อ-ขายเทปเถื่อนจากฮ่องกง เพื่อแอบฟังเพลงเธออย่างลับๆ จนมีคำกล่าวที่สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมของเติ้ง ลี่จวิน ในยุคนั้นว่า ‘พี่เติ้งใหญ่ (เติ้ง เสี่ยวผิง) ปกครองจีนในเวลากลางวัน ส่วนน้องเติ้ง (เติ้ง ลี่จวิน) ปกครองจีนในเวลากลางคืน’ ก่อนที่ภายหลังความตึงเครียดจะค่อยๆ จางไป เพลงของเธอจึงกลับมาเฉิดฉายที่จีนอีกครั้ง
บทที่ 2 พระจันทร์แทนความทรงจำ
‘หากมีคนจีนอยู่ที่ใด เพลงของเติ้ง ลี่จวิน ย่อมอยู่ที่นั่น’
คำกล่าวนี้ล้วนไม่เกินจริง เพราะหากลองแวะไปเยาวราชสักครั้ง นอกจากจะสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายวัฒนธรรมจีนที่ติดตัวมากับชาวจีนโพ้นทะเลแล้ว ก็มีเพลงเติ้ง ลี่จวิน นี่แหละที่เรามักได้ยินแว่วตามลมมาเนืองๆ
เพราะก่อนที่ญี่ปุ่นหรือเกาหลีจะฟีเวอร์ ในช่วงปี 1980 – 1990 เราต่างเติบโตขึ้นมาจากสื่อบันเทิงของจีน ฮ่องกง และไต้หวัน ทั้งในรูปแบบภาพยนตร์ ละคร หรือเพลงทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ คนไทยยุค 80 จึงนิยมบริโภคผลงานจากศิลปินจีนเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นหลิว เต๋อหัว, เลสลี จาง, หมีเซียะ, เฉินหลง หรือตัวเติ้ง ลี่จวิน เอง
อีกทั้งในช่วงเวลาเดียวกัน วงการเพลงของไทยก็มีการปรับเปลี่ยนให้แนวเพลงมีความป็อปมากขึ้น โดยนิยมนำเพลงต้นฉบับของเพลงต่างประเทศมาเรียบเรียงใหม่ด้วยคำร้องภาษาไทย ให้มีถ้อยคำที่เข้าใจง่ายและสละสลวย
ทำให้ในช่วงปี 2000 The Moon Represents My Heart หรือ พระจันทร์แทนใจฉัน ถูกนำมาทำเป็นภาษาไทยในชื่อ ‘หากเธออยากถาม’ ขับร้องโดย ‘อรวี สัจจานนท์’ นักร้องหญิงคุณภาพฉายา ‘นักร้องเสียงระฆังแก้ว’ ซึ่งชื่อเพลงก็ได้มาจากท่อนแรกของเพลงแปลนั่นเอง
…หากเธออยากถามว่าใจดวงนี้
จะมีความรักเท่าไร
ฉันคงตอบไม่ถูกว่ารักเธอเพียงไร
มันมากมายเกินเอ่ยถ้อยคำ…
จากปรากฏการณ์นี้เอง ส่งผลให้ในช่วงนั้นความโด่งดังของเติ้ง ลี่จวิน ในเมืองไทยเพิ่มสูงขึ้นมาก สวนทางกับความเป็นศิลปินที่มาถึงจุดอิ่มตัว ด้วยความที่เธอเองเป็นนักร้องมานาน ประกอบกับอาการป่วยโรคหอบหืดเรื้อรังที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็ก ทำให้ในที่สุดเธอก็ตัดสินใจออกจากวงการมาพักฟื้นฟูร่างกายและจิตใจเงียบๆ ที่ประเทศไทย พร้อมความรักครั้งสุดท้ายกับแฟนหนุ่มชาวฝรั่งเศส
ส่วนหนึ่งอาจเพราะด้วยภูมิประเทศของภาคเหนือที่คล้ายคลึงกับไต้หวันบ้านเกิด ทำให้เธอตัดสินใจใช้ชีวิตในบั้นปลายที่โรงแรมอิมพีเรียลแม่ปิง จังหวัดเชียงใหม่ จนมีเรื่องเล่าถึงความน่ารักของเธอจากปากผู้คนรอบตัว
“คุณเติ้ง ลี่จวิน เป็นคนอัธยาศัยดี เธอใจดีกับทุกคน ถ้ามีอะไรที่เธอช่วยได้ เธอก็พร้อมจะช่วย” ‘ประพันธ์ บุญสุข’ หัวหน้าผู้ดูแลห้องวีไอพีที่เติ้ง ลี่จวิน พักบอกเล่า
แต่เหมือนโชคชะตาเล่นตลก เพราะหลังจากที่เธอพักผ่อนในเชียงใหม่ได้ไม่นาน นักร้องเสียงหวานก็ต้องจากโลกนี้ไปด้วยอาการหอบหืดกำเริบในวันที่ 8 พฤษภาคม ปี 1995 ทำเอาเหล่าแฟนเพลงของเธอต่างโศกเศร้า และพากันเดินทางมายังโรงแรมอิมพีเรียลแม่ปิงเพื่อส่งดวงจันทร์ที่พวกเขารักสุดหัวใจกลับสู่ฟากฟ้า
บทที่ 3 พระจันทร์แทนกาลเวลา
จากวันนั้นจนวันนี้ผ่านมาแล้ว 29 ปี กับการจากไปของเติ้ง ลี่จวิน แม้เธอไม่ได้อยู่ขับกล่อมบทเพลงอมตะด้วยตัวเองแล้ว แต่ตัวเพลงยังคงทำงานขับกล่อมโลกนี้ต่อไป
เรียกได้ว่าถ้าวันคริสต์มาสมีเพลง ‘All I Want for Christmas Is You’ ของ ‘Mariah Carey’ เป็นตัวแทน เทศกาลต่างๆ ที่มาพร้อมกับความเป็นจีนในไทยก็ต้องมี The Moon Represents My Heart ของเติ้ง ลี่จวิน แน่นอน
ยกตัวอย่างช่วงตรุษจีนเมื่อปีสองปีที่ผ่านมา เพลงนี้ถูกนำมาใช้ร่วมนำแคมเปญของแบรนด์ห้างร้านต่างๆ และถูกขับร้องโดยนักร้องที่มีชื่อเสียงอย่าง ‘พีพี-กฤษฏ์ อำนวยเดชกร’ สาวๆ เกิร์ลกรุ๊ปจากวง ‘4EVE’ และอื่นๆ อีกมากมาย
ไม่เว้นแม้กระทั่งในซีรีส์เรื่อง ‘พระจันทร์มันไก่ (Moonlight Chicken)’ จากค่าย GMMTV ในช่วงต้นปี 2023 ก็มีการใช้เพลง The Moon Represents My Heart ประกอบซีรีส์เพื่อสื่อถึงเรื่องราวความรักของตัวละครภายในเรื่องได้อย่างลึกซึ้ง
อีกทั้งในช่วงท้ายปีที่ผ่านมา เพลงนี้ก็กลับมาได้รับการพูดถึงในหมู่คนไทยอีกครั้งจากการนำมาร้องโดย ‘หน้ากากทิวลิป’ หรือ ‘อิ้งค์-วรันธร เปานิล’ ด้วยน้ำเสียงหวานบาดลึก ที่ถ่ายทอดความรู้สึกของเพลงออกมาอย่างไพเราะ ในรายการ ‘MASK SINGER 12’ จนถือเป็นอีกหนึ่งเวอร์ชันที่แฟนๆ ของเติ้ง ลี่จวิน ไม่ควรพลาด
หรือแม้แต่ในปีนี้ก็มีผู้เข้าแข่งขันรายการ ‘Chuang Asia’ อย่าง ‘Tegan’ สาวน้อยจากฮาวายที่นำเพลง The Moon Represents My Heart มาร้องในรอบ ‘คัดเกรด’ ทำเอาแฟนรายการต่างแห่คอมเมนต์ชื่นชมในลูกเล่นและความสามารถอย่างล้นหลาม
สำหรับเรา เพลง The Moon Represents My Heart เปรียบเสมือนตัวแทนของเติ้ง ลี่จวิน ทั้งการใช้ชีวิต ความรัก และความรู้สึกของเธอที่มอบให้แฟนเพลง แม้เวลาจะผ่านไป แต่เพลงนี้ยังคงปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ทำให้เพลงของเติ้ง ลี่จวิน เป็นอมตะและอยู่เหนือกาลเวลามาจนถึงทุกวันนี้
ส่วนใครที่อ่านมาถึงตรงนี้ เราก็หวังว่าเพลง The Moon Represents My Heart จะทำให้ตรุษจีนในปีนี้กลายเป็นช่วงเวลาที่แสนวิเศษของคุณและคนที่คุณรัก ‘Goodbye My Love’
Sources :
CNN Travel | shorturl.asia/4UKZB
Fein Violins | shorturl.asia/vY2Sd
Formosa Files | shorturl.asia/46SJx
Los Angeles Times | shorturl.asia/3eHiG
Piano and Math Tutorials | shorturl.asia/JeQdG
Thought Circus | shorturl.asia/rhngJ
YouTube : FAROSE podcast | shorturl.asia/pzxRD
YouTube : Thai PBS | shorturl.asia/6j13K
ไทยรัฐออนไลน์ | shorturl.asia/tI7iB