เริ่มต้นวันเสียงนาฬิกาปลุก เราลุกขึ้นจากที่นอนด้วยความขี้เกียจจะใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ไปอีกวัน หยิบโทรศัพท์เข้าทวิตเตอร์เป็นอย่างแรกเพื่ออ่านเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวันนี้เหมือนกับอ่านหนังสือพิมพ์ตอนเช้า และเป็นอีกวันที่เราเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ และตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เพิ่มขึ้นอีกแล้ว เพิ่มขึ้นทุกวันๆ ทวีตขอความช่วยเหลือทั้งหาเตียงให้ผู้ป่วยโควิด ข่าวการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่ได้รับการช่วยเหลือไม่ทันเวลา โพสต์ขายของที่เห็นได้ทั่วไปบนทวิตเตอร์ที่ตั้งแต่เริ่มต้นวิกฤตโรคระบาดนี้มาก็เริ่มแยะขึ้นทุกวัน จนเราเกิดคำถามว่า
เราอยู่กับโควิดกันมานานแค่ไหนแล้วนะ?
คำตอบคือ 1 ปี 6 เดือน 30 วัน และที่น่าเศร้ายิ่งกว่าคือสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยดูจะไม่ดีขึ้นในเร็วๆ นี้ บ้านที่ตอนนี้เป็นทั้งที่กิน ที่นอน ที่เรียน ที่เล่น ที่ทำงานก็คงจะมีสถานะเช่นนี้ไปอีกนาน มองออกไปนอกหน้าต่างก็เห็นเพียงถนนว่างเปล่า จากถนนที่มักจะคึกคักด้วยรถราในช่วงสายไปจนถึงเย็นของวัน ออกจากบ้านแต่ละครั้งเราไปได้ไกลสุดแค่ซูเปอร์มาร์เก็ตใกล้บ้าน ไม่รู้ว่าคุณป้าที่ขายผักที่ตลาดแล้วสนิทกับคุณยายเราจะเป็นอย่างไรบ้าง คุณพี่รถไอติมที่มักเข้ามาขายช่วงบ่ายของวันก็ไม่เจอเป็นเดือนแล้ว หรือคุณลุงขายผลไม้ที่กินประจำตอนไปเรียนที่คณะจะยังสบายดีอยู่ไหม
ทุกคนได้รับผลกระทบและสูญเสียสิ่งสำคัญในชีวิตไปกับวิกฤตโรคระบาดในรูปแบบที่ต่างกัน
คนกลุ่มหนึ่งที่เรานึกถึงอยู่เสมอคือผู้คนวัยเดียวกับเรา ตั้งแต่การระบาดในระลอกแรกพวกเราถูกจำกัดพื้นที่ในการใช้ชีวิตมานาน ไม่มีโอกาสได้ไปโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย สูญเสียโอกาสใช้ชีวิตให้เต็มที่สมวัย ถูกพรากความฝันและตัวตนไปไม่ต่างกับผู้คนวัยอื่นๆ
วันที่ 12 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันที่องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ประกาศให้เป็น ‘วันเยาวชนสากล (International Youth Day)’ เพื่อให้ทั่วโลกตระหนักถึงเสียงและการมีส่วนร่วมของเยาวชนในเรื่องต่างๆ ของเยาวชน เราในฐานะนิสิตที่เรียนออนไลน์มานาน กำลังจะเรียนจบ และเป็นผู้ร่วมชะตากรรมคนหนึ่ง จึงอยากชวนทุกคนมาฟังเสียงของเด็กไทยว่าพวกเขาสูญเสียอะไรไปบ้างเพราะวิกฤตโควิด-19
| เสียโอกาสทางการศึกษา
การศึกษาเปลี่ยนชีวิตของคนคนหนึ่งได้ เพราะนำมาซึ่งโอกาสอื่นๆ ในชีวิต แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้โอกาสในการศึกษาของเด็กไทยติดขัด หยุดชะงัก และอาจมีเด็กไทยหลุดไปจากระบบการศึกษากว่า 65,000 คน เมื่อสิ้นปีการศึกษา 2564 หลายคนเคยได้เรียนหนังสือแต่ต้องหยุดลงเพราะไม่มีอุปกรณ์เรียนออนไลน์ เช่น คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ตโฟน ไม่มีเงินพอจ่ายค่าอินเทอร์เน็ต หรือไม่มีแม้เงินจ่ายค่าเทอมอีกต่อไปเพราะผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ครอบครัวต้องเผชิญ
ถึงแม้ว่าบางคณะจะปรับหลักสูตรให้เรียนออนไลน์ได้ แต่หลายคณะ ‘ทำไม่ได้’ ทำให้การเรียนการสอนในสภาวะนี้ไม่มีประสิทธิภาพ ‘แป้ง’ นักศึกษาแพทย์ปี 4 เป็นอีกหนึ่งคนที่เรียนในคณะที่ได้รับผลกระทบด้านการศึกษา เพราะนักศึกษาแพทย์ปี 4 ต้องเรียนรู้จากผู้ป่วยโดยตรงที่โรงพยาบาล
เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศย่ำแย่ คนไข้ที่เข้ามาต้องตรวจเชื้อโควิด 1 ครั้งก่อนเข้าวอร์ด ทำให้นักศึกษาแพทย์ไม่สามารถเข้าถึงตัวคนไข้ทันที พลาดโอกาสในการฝึกงาน ฝึกทักษะการซักประวัติ และตรวจร่างกายคนไข้เบื้องต้นได้เต็มที่
แป้งบอกว่า ตั้งแต่เกิดการระบาดของเชื้อโควิด-19 การเรียนจำต้องเปลี่ยนรูปแบบเป็นออนไลน์จึงพลาดกิจกรรมภาคปฏิบัติหลายอย่าง เช่น การเจาะตรวจหาน้ำตาลจากปลายนิ้ว การฝึกเจาะเลือดคนไข้ ที่ทำได้แค่ดูอาจารย์สาธิตผ่านหน้าจอ หรือแม้กระทั่งกับอาจารย์ใหญ่ ก็ต้องเรียนรู้วิธีการผ่าตัดจากหน้าจอเท่านั้น
เมื่อถึงเวลาขึ้นเรียนตามวอร์ดในโรงพยาบาล เคสคนไข้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปศึกษาก็น้อยลง โดยเฉพาะวอร์ดศัลยกรรม เพราะสถานการณ์ทำให้ห้องผ่าตัดเปิดใช้เฉพาะเคสที่จำเป็นจริงๆ โอกาสศึกษาจากเคสจริงก็น้อยลงไปอีก
‘ถ้าคนไข้ที่เข้ามาตรวจโควิดครั้งที่สองแล้วผลเป็นบวก บุคลากรทั้งวอร์ดก็ต้องกักตัว นักศึกษาแพทย์ก็ต้องกักตัวเหมือนกัน
แล้วแต่ละวอร์ดจะมีเวลาเรียน 9 สัปดาห์ หยุดไป 2 สัปดาห์ก็ถือว่าพลาดโอกาสตรงนั้นไป
เพราะเวลา 2 สัปดาห์นั้นเรามีโอกาสเรียนรู้จากสถานการณ์จริงได้เยอะมาก’
เพราะการศึกษาไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน แต่รวมไปถึงการศึกษาผ่านการลงมือทำจริง เมื่อระบบการศึกษาเปลี่ยนมาอยู่บนหน้าจอเสียหมด แล้วเด็กไทยจะแสวงหาคุณภาพการศึกษาที่ดีได้จากที่ไหนในสถานการณ์นี้
โควิด-19 ไม่ได้กระทบแค่การศึกษาในประเทศเท่านั้น เมื่อทั้งโลกหยุดชะงักเพราะมัน แผนการศึกษาต่อที่หลายคนวางไว้ก็เดินต่อไปไม่ได้ ‘วิน’ เป็นนิสิตปี 4 คณะอักษรศาสตร์ เอกภาษาจีนที่ได้โอกาสไปเรียนภาษาที่มหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่งด้วยทุนการศึกษาปริญญาตรีเต็มจำนวนจากรัฐบาลจีน เป็นเวลา 1 ปี แต่เมื่อเกิดโรคระบาด แต่ละประเทศก็มีมาตรการเปิดรับชาวต่างชาติเข้าพื้นที่ต่างกัน ตอนนี้ประเทศจีนไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวหรือนักศึกษาจากชาติใดเลย ยกเว้นประเทศที่มีสิทธิพิเศษทางการทูตอย่างประเทศเกาหลี
สำหรับวินการแลกเปลี่ยนถือเป็นโอกาสดีของชีวิตและวินรอคอยทุนนี้มาตลอดเพื่อให้ถึงเวลาที่เหมาะสม หากต้องรอให้สถานการณ์ดีขึ้นอีก 1 ปีเพื่อไปเรียนต่อตามทุนการศึกษาที่ได้มา จะทำให้จบปริญญาตรีช้าขึ้นไปอีก ซึ่งกระทบกับแผนการเรียนต่อปริญญาโทเพื่อปูทางความฝันการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยของวิน เพราะเวลานี้เป็นช่วงปริญญาตรีปีสุดท้ายแล้ว
‘ถ้าขอยกเลิกทุน ก็ไม่รู้ว่าจะโดนแบล็กลิสต์ไหม ถ้าเลื่อนไปปีหน้าแล้วเรายังไปอยู่ ก็ไม่มีปัญหา
แต่ถ้าปฏิเสธทุนนี้แล้วอาจจะไม่มีสิทธิ์ต่อโท’
และหากสถานการณ์โควิด-19 ไม่ดีขึ้นจนเดินทางออกนอกประเทศได้ภายใน 1 ปีนี้ โอกาสการเรียนต่อต่างประเทศของวินก็อาจได้รับผลกระทบในระยะยาว เพราะอาจไม่ได้ไปเรียนต่อต่างประเทศอีกเลย ตอนนี้วินจึงตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่รู้ว่าควรรอต่อไปหรือหยุดแค่นี้ เพราะไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็กระทบอนาคตทางการศึกษาของวินทั้งสิ้น
ไม่ใช่แค่คนที่ได้โอกาสไปเรียนต่อต่างประเทศอย่างวินและนักศึกษาสายสุขภาพที่ต้องลงมือปฏิบัติอย่างแป้งเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบด้านการศึกษา แต่นิสิตอย่างเราที่เรียนออนไลน์มาแล้วกว่า 3 เทอมและกำลังจะเข้าเทอมที่ 4 ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เราต้องใช้สมาธิและพลังงานในการเรียนมากกว่าเดิม เพราะประสิทธิภาพในการสื่อสารกับอาจารย์และเพื่อนร่วมห้องลดลง อีกทั้งไม่ใช่ทุกบ้านจะมีสภาพแวดล้อมเหมาะสมกับการนั่งเรียนหน้าจอเป็นเวลานานๆ วิน แป้ง เราและเด็กไทยอีกจำนวนมากสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้ในห้องเรียนนานเกินไป ทำให้ได้ความรู้ในวิชาที่ตัวเองสนใจได้อย่างไม่เต็มที่
| เสียโอกาสหาประสบการณ์
การได้ออกจากบ้านไปใช้ชีวิต ได้ลองผิดลองถูก และเรียนรู้จากความผิดพลาดช่วยให้ทุกคนเติบโตและพัฒนาไปได้ แต่น่าเสียดายที่เยาวชนในยุคโควิด-19 ไม่มีโอกาสนั้น เพราะพื้นที่ในการเรียนรู้ถูกจำกัดอยู่แค่ในบ้าน และหาประสบการณ์ใหม่ๆ ได้แค่ผ่านหน้าจอ
‘ภู’ นิสิตปี 4 คณะอักษรศาสตร์ เอกวิชาศิลปการละคร เลือกฝึกงานกับบริษัทเอเจนซีโฆษณา เพราะอยากได้ประสบการณ์ทำงานในกองถ่าย แต่กลับไม่ได้ออกกองถ่ายหรือได้ลองทำงานอย่างเต็มรูปแบบเลยสักครั้ง เพราะสถานการณ์โควิด-19 ทำให้งานที่เขาสนใจมีข้อจำกัดหลายอย่าง
‘สิ่งที่ได้ทำจริงๆ คือไปออกกองถ่ายโฆษณาแค่ครั้งเดียว หลายงานโดนเลื่อน โดนยกเลิก งานที่ได้ทำในช่วงนั้นเลยเป็นงานเล็กๆ ยิบย่อย ไม่จบกระบวนการสักงาน ทั้งที่ปกติจะมีโปรเจกต์ให้เด็กฝึกงานได้ทำด้วยกันจนจบฝึกงาน แต่เพราะเราต้องเปิดเทอมแล้วจึงไม่ได้ทำ’
ภูคาดหวังว่าจะได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ที่นำไปใช้ประโยชน์หรือประกอบอาชีพต่อไปได้ หรืออย่างน้อยได้รู้จักคนที่ทำงานในสายงานที่สนใจ หรือเพื่อนฝึกงานวัยเดียวกันที่อาจช่วยเหลือกันได้ในอนาคต แต่กลายเป็นว่าต้องทำงานผ่านออนไลน์ ติดต่อคุยงานผ่านอีเมล ประชุมงานผ่าน Zoom แทนที่จะได้ไปปฏิบัติงานในสถานที่จริง สิ่งที่ได้ทำจึงไม่คุ้มกับเวลาที่เสียไป
ทั้งยังขาดปฏิสัมพันธ์ในสถานที่ทำงาน เพราะการเรียนรู้เกิดขึ้นได้จากหลายทาง การฟัง การสังเกต การเห็นบริบทและสิ่งแวดล้อม รู้จักวัฒนธรรมการทำงานของออฟฟิศนั้นๆ แต่โชคร้ายที่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะต้องฝึกงานกันผ่านหน้าจอ
เราเชื่อว่าปัญหาที่ตามมาคือนักศึกษาฝึกงานไม่มีโอกาสได้สัมผัสและเรียนรู้อาชีพนั้นอย่างลึกซึ้ง ทั้งๆ ที่มีโอกาสฝึกงานแล้ว เพราะประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ไม่ได้เรียนรู้และเข้าใจอาชีพนั้นๆ อย่างเต็มที่ จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่สายอาชีพหนึ่งอาจเสียคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพในการทำงานไป และเป็นโชคร้ายสำหรับตัวนักศึกษาฝึกงานเองที่ไม่มีโอกาสได้ค้นหาอาชีพที่ตัวเองสนใจอย่างจริงจัง
‘เซฟ’ ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ขาดโอกาสหาประสบการณ์ก่อนลงสนามจริง ในฐานะนักเรียน ม.6 ที่เรียนสายวิทย์-คณิต แต่มีความฝันอยากเข้าคณะสายศิลป์ ทำให้ต้องทุ่มเทมากขึ้นทั้งการเรียนในห้องเรียนและนอกห้องเรียน
แต่เพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่ไม่เอื้อให้โรงเรียนจัดกิจกรรมให้นักเรียนเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในด้านต่างๆ เช่น งานกีฬาสี เทศกาลโรงเรียน การทัศนศึกษา หรือเข้าค่ายบำเพ็ญประโยชน์ หรือมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่สามารถจัดกิจกรรมแนะแนวนักเรียนมัธยมฯ หรือ Open House เพื่อให้นักเรียนมัธยมฯ เข้ามารู้จักหลักสูตร และคณะต่างๆ มากขึ้นได้ ภาระการค้นหาตัวเองเหล่านั้นเลยตกมาอยู่ที่นักเรียน ม.6 อย่างเซฟที่ต้องพยายามศึกษาด้วยตัวเองมากขึ้น
‘พอไม่มีงาน Open House เราก็ไม่ได้เข้าไปเห็นคณะจริงๆ ทำได้แค่อ่านข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต
บางคนมีรุ่นพี่ที่รู้จักพอจะช่วยแนะนำได้ แต่เราไม่มี ตอนนี้ก็ยังไม่แน่ใจว่าทางที่เลือกมันถูกต้องแล้วใช่ไหม’
การตัดสินใจเลือกเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยก็เป็นบันไดอีกหนึ่งขั้นสำคัญของชีวิต นักเรียนควรมีข้อมูลในคณะที่ตัวเองสนใจให้ได้มากที่สุดก่อนตัดสินใจ แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันนักเรียนมัธยมปลายหลายคน ไม่ใช่แค่เซฟคนเดียว ถูกทิ้งให้เคว้งอยู่ท่ามกลางคำถาม และต้องขวนขวายเองทุกอย่างทั้งๆ ที่ระบบการศึกษาควรจะยื่นมือเข้ามาช่วยพวกเขามากกว่านี้
| เสียสุขภาพจิต
วิกฤตโควิด-19 ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป เด็กไทยต้องปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวันตามสถานการณ์ ทั้งการเรียน การเล่น หาทางเยียวยาจิตใจตัวเองผ่านกิจกรรมต่างๆ แต่ไม่ได้แปลว่าเริ่มปรับตัวตามสถานการณ์จนเริ่มชิน เพราะสถานการณ์เริ่มหนักขึ้นทำให้รู้สึกชินต่อไปไม่ไหวแล้วต่างหาก
‘เจอาร์’ นักศึกษาปี 4 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ที่ปกติชอบพบปะผู้คน ชอบใช้พลังงานไปกับกิจกรรมต่างๆ แต่เมื่อต้องใช้เวลาอยู่คนเดียวที่บ้านมากขึ้น โดยเฉพาะการระบาดระลอกล่าสุดที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นสูงและไม่มีทีท่าว่าจะลดลงในเร็วๆ นี้ ทำให้แทบไม่ได้ออกไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนเป็นครั้งคราวได้เหมือนเมื่อก่อน จึงส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจไม่น้อย
‘ตัวเราเองจะแบ่งพื้นที่บ้านกับที่ทำงานชัดเจน เวลาออกไปข้างนอกเราก็ออกไปใช้ชีวิต
พอกลับบ้านมาก็พักผ่อนตามประสา แต่ระลอกล่าสุดเราต้องอยู่บ้านมากขึ้น
จนเราเกิด Anxiety Attack คิดว่าเราจะติดโควิดไหมบ้าง กลัวการโดน Attack จากคนบ้าง’
Anxiety Attack หรือโรควิตกกังวลที่ทำให้เจอาร์ต้องเข้าพบแพทย์ เพื่อหาทางรับมือกับความวิตกกังวลที่เกิดขึ้น ผ่านการปรับพฤติกรรมบางอย่าง เช่นแบ่งพื้นที่ในบ้านระหว่างส่วนทำงานและส่วนพักผ่อนให้ชัดเจน หรือปรับมุมมองของตัวเอง มองหาความสุขจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในทุกๆ วัน แต่สำหรับเจอาร์แล้ว การพยายามหาความสุขจากสิ่งเล็กน้อยไม่ช่วยแก้ปัญหาใหญ่ที่ก่อให้เกิดความกังวลได้ในตอนนี้ เพราะสิ่งที่เขาอยากได้คือความมั่นใจในการแก้ไขปัญหาของรัฐ
‘เรายังไม่ได้คำตอบจากคนที่รับผิดชอบในการแก้ปัญหานี้
เราจะได้ใช้ชีวิตปกติกันเมื่อไหร่ จะให้เรากล้าใช้ชีวิตข้างนอกอย่างไร’
เจอาร์มองว่า สิ่งสำคัญที่สูญเสียไปคือ ‘อิสระในการใช้ชีวิต’ แต่ก่อนจะเกิดการระบาดเมื่อเกิดความเครียดเรายังสามารถไปพูดคุยกับเพื่อน หรือหากิจกรรมเพื่อระบายความเครียดได้ แต่เมื่อสถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้น ข่าวเกี่ยวกับการติดเชื้อโควิด-19 ในแต่ละวันทำให้เกิดความเครียดและวิตกกังวลเกินกว่าที่การพบปะกับผู้คนผ่านออนไลน์หรือการพูดคุยกับคนในครอบครัวจะช่วยเยียวยาได้อีกต่อไปแล้ว
สิ่งที่ทำให้เขายังมีจิตใจเข้มแข็งและอดทนอยู่ได้คือ ‘ความหวัง’ แต่ดูจากสถานการณ์ในปัจจุบันแล้วเรายังมองไม่เห็นว่าต้องทำเป็นเข้มแข็งไปอีกเมื่อไหร่ จึงไม่น่าแปลกใจที่คนรุ่นใหม่จะเริ่มอดทนต่อไปไม่ไหวแล้ว
| เสียตัวตน
ช่วงเวลา 1 ปี 6 เดือน ที่ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในบ้าน ความเบื่อหน่ายและพลังชีวิตที่หายไป ทำให้หลายคนพบว่าตัวเองมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น การผัดวันประกันพรุ่งจนเสียนิสัย หักโหมเรียนออนไลน์และทำการบ้านอย่างหนักจนไม่รู้ว่าเวลาผ่านไปเท่าไหร่แล้ว หรือเผชิญกับภาวะที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเอง เช่น ความรู้สึกหมดไฟที่แม้กระทั่งตื่นขึ้นมาเรียนหรือทำงานก็รู้สึกว่าไม่ไหว หรือบางครั้งก็ต้องเลือกระหว่างว่าจะโฟกัสกับภาระที่ต้องทำหรือใส่ใจสุขภาพจิตที่กำลังทรุดโทรม และอีกหลายความรู้สึกด้านลบที่ก่อตัวขึ้นขณะที่ขาดการเชื่อมต่อกับสังคม
แต่ละวันมีกิจวัตรและขั้นตอนที่เราทำไปโดยไม่รู้ตัว เมื่อกิจวัตรต้องเปลี่ยนไปเพราะสถานการณ์โควิด-19 เราจึงได้เห็นว่าการไม่ได้ออกไปพบปะผู้คนและโลกภายนอกจนกลายเป็นเรื่องปกติ ส่งผลต่อตัวเราอย่างไรบ้าง
‘อยู่บ้านนานๆ ทักษะเข้าสังคมเราก็หายไปเหมือนกัน
พอออกไปเจอคน ก็ไม่รู้จะคุยอะไรกับเขา การลืมว่าคุยกับคนอย่างไรไม่เคยเกิดกับเรามาก่อน’
นอกจากการลืมทักษะการเข้าสังคมของ ‘ภู’ นิสิตปี 4 คณะอักษรศาสตร์ เอกศิลปการละคร ที่ปกติแล้วเป็นคนช่างพูดช่างจา แล้วตัวเขาเองก็เกิดปัญหาทางสุขภาพที่เกิดจากกิจวัตรที่เปลี่ยนไปอย่างไม่รู้ตัวเช่นกัน ปกติแล้วบ้านเป็นสถานที่พักผ่อนสำหรับใครหลายๆ คน แต่เมื่อต้องเปลี่ยนบ้านเป็นที่ Work from Home หรือเรียนออนไลน์นั้น ทำให้เกิดอาการกังวล เครียดจนนอนไม่หลับ เพราะร่างกายไม่สามารถแยกได้ว่านี่คือสถานที่พักผ่อนหรือทำงานกันแน่
‘การเดินทางจากมหาวิทยาลัยกลับบ้านทำให้เราได้ปลดปล่อยตัวเอง เป็นช่วงเชื่อมต่อระหว่างที่เรียนและที่พัก
แต่พอทุกอย่างมาอยู่ในที่เดียวกัน เลยมีปัญหากับการพักผ่อน พอพักก็รู้สึกผิด เกิดอาการนอนไม่หลับบ้าง’
อีกทั้งภาควิชาศิลปการละครที่เน้นเรียนผ่านการปฏิบัติ เมื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบมาเรียนผ่านหน้าจอก็ทำให้ไม่ได้เรียนอย่างเต็มประสิทธิภาพ ภูจึงเกิดคำถามกับตัวเองว่า ควรลงทะเบียนเรียนวิชาที่สนใจจริงๆ หรือเลือกเรียนในสิ่งที่เรียนออนไลน์แล้ว ‘ทรมาน’ ตัวเองน้อยกว่า เพราะเนื้อหาบางวิชาของภาควิชาศิลปการละครค่อนข้างยากต่อการเรียนออนไลน์ เขาควรจะได้เรียนในโรงละครที่ถือว่าเป็นห้องเรียนหลักของนิสิตภาควิชานี้มากกว่า
‘ถ้าได้เรียนที่โรงละครก็จะได้ค้นพบว่าชอบอะไรจริงๆ เพราะได้เห็น ได้ลอง และได้เรียนเต็มหลักสูตร
เมื่อต้องมาเรียนออนไลน์ก็ไม่รู้ว่าชอบวิชานี้จริงไหม หรือเราจะทำงานในชีวิตจริงได้ไหม’
เราเชื่อว่าในขณะนี้นักศึกษาหลายคนก็คงรู้สึกเหนื่อยล้าจากการเรียนออนไลน์ไม่ต่างกัน อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถหาคำตอบว่าตัวเองต้องการอะไร แล้วจะทำอย่างไรต่อไปกับชีวิตหลังจากนี้ จากเดิมที่เคยมีความฝัน เคยมีความมุ่งมั่นกลับเป็นคนที่หมดไฟ ไม่อยากทำอะไร และใช้ชีวิตไปวันๆ ไม่สามารถวางแผนระยะยาวในอนาคต เพราะแม้กระทั่งตัวตนของตัวเองในตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าอยู่ในจุดไหนแล้ว
วิกฤตการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นทำให้ทุกคนเสียโอกาสแตกต่างกันไป แต่สิ่งที่ทุกคนไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่เสียไม่ต่างกันคือ ‘เวลา’ สิ่งที่มีค่าเกินกว่าจะตีเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ และไม่มีวันเอากลับคืนมาได้
ในขณะที่ประเทศไทยยังคงมีผู้ติดเชื้อมากถึง 20,000 คนต่อวัน จำนวนคนฉีดวัคซีนยังไม่ถึง 10% ของจำนวนประชากร และประชาชนยังเข้าไม่ถึงวัคซีนที่มีคุณภาพ ประชากรในต่างประเทศกลับทยอยออกมาใช้ชีวิตตามปกติ กิจการการบินกลับมามีหวังอีกครั้ง การท่องเที่ยวกลับคึกคักมากขึ้น และเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว
เราจึงได้แต่นึกสงสัยว่า
หากโควิด-19 อยู่กับเราน้อยกว่า 1 ปี 6 เดือน ชีวิตเราจะเป็นอย่างไรบ้างตอนนี้
หากเรากลับไปเรียนที่โรงเรียน กลับไปมหา’ลัย เราจะสนุกกับชีวิตการเรียนมากแค่ไหน
หากปัญหาการตรวจโควิด การเข้าถึงการรักษา และการเข้าถึงวัคซีน ได้รับการแก้ไขอย่างแข็งขันกว่านี้
หากครอบครัวของทุกคนได้รับการเยียวยาที่รวดเร็วและเหมาะสมกว่านี้
เรา เยาวชนไทย และทุกคนในฐานะพลเมืองของประเทศนี้จะสูญเสียกันไปมากขนาดนี้ไหมนะ?