ฟังความในใจของเด็กในวันที่ต้องกลับมาเรียนออนไลน์ - Urban Creature

โจทย์การบ้านวันนี้ : ให้นักเรียนเขียนถึงความรู้สึกของการเรียนออนไลน์ในครึ่งเทอมนี้ มีอะไรอยากระบาย อยากบอกเล่าให้ครูฟัง พิมพ์มาได้เต็มที่เลย

นี่เป็นโจทย์การบ้านจริงของเด็กมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 ที่คุณครูโรงเรียนแห่งหนึ่งมอบให้พวกเขาได้รับบทผู้พูด ระบายความในใจจากการเรียนออนไลน์เต็มระบบมาตลอดระยะเวลาหนึ่งเทอม ตั้งแต่มีการระบาดของ COVID-19 เด็กไทยจำนวนมากกำลังถูกพรากช่วงชีวิตในวัยเรียนและความทรงจำที่มีค่าไป เด็กไทยต้องปรับตัวเรียนออนไลน์ทั้งๆ ที่ไม่พร้อม ทั้งสภาพแวดล้อมและอุปกรณ์การเรียน และที่น่าเสียดายคือพวกเขาไม่ได้ไปโรงเรียน ไม่ได้เจอเพื่อน ไม่ได้เจอคุณครู ไม่มีโอกาสเรียนรู้และสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และนักเรียนบางคนที่ย้ายโรงเรียนหรือขึ้นระดับชั้นใหม่ อาจจะไม่มีโอกาสได้รู้จักเพื่อนร่วมห้องตัวเป็นๆ ด้วยซ้ำ
นี่คือคำตอบของเด็กที่มีตัวตนจริงๆ ซึ่งล้วนระบายความรู้สึกออกมาจากใจ จนทำให้เราคิดถึงวัยเด็กอีกครั้ง ถ้าฟังเสียงของพวกเขาจบแล้ว เราอยากชวนให้ทุกคนกลับมาฟังเสียงของลูกหลานในบ้าน และหันกลับไปถามความรู้สึกของพวกเขากันว่าวันนี้ “หนูเหนื่อยไหม?”

หนูเรียนออนไลน์จนตาจะพังแล้ว


เราล้วนโตมากับคำเตือนของผู้ใหญ่ว่า อย่าจ้องหน้าจอคอมและโทรศัพท์เป็นระยะเวลานาน เพราะจะทำให้สายตาเสีย หรือแม้แต่กระทรวงสาธารณสุขเองก็ออกมาเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการใช้คอมพิวเตอร์นานเกิน 2 ชั่วโมง 

ทว่าเป็นที่น่าเป็นห่วง เพราะปัจจุบันเด็กต้องอยู่หน้าจอคอมเพื่อเรียนออนไลน์ไม่ต่ำกว่าวันละ 6 ชั่วโมง ​ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะตาล้า (Digital eye strain) ปวดตา ตาแห้ง แสบตา หรือบางคนอาจจะถึงขั้นปวดศีรษะร่วมด้วย และคำว่าเรียนออนไลน์อาจจะไม่เหมาะสำหรับทุกคน เพราะนั่นหมายถึงการมีอุปกรณ์การเรียนที่มากกว่าสมุดและปากกา คือคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต โต๊ะ และเก้าอี้ในการเรียนของเด็ก บ้านที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ เด็กก็ต้องใช้โทรศัพท์มือถือ ซึ่งไม่เอื้ออำนวยเอาเสียเลย และในท้ายที่สุดโรคออฟฟิศซินโดรมอาจจะกลายเป็นโรคที่เด็กรุ่นนี้ได้เผชิญไวกว่ากำหนด จากการนั่งหลังขดหลังแข็งเรียนออนไลน์

หนูอยากไปโรงเรียน เจอคนที่ชอบ อยากใช้ชีวิตวัย 15 ปี


คำว่า ‘การใช้ชีวิต’ อาจดูเป็นคำยิ่งใหญ่ที่พวกเราอาจจะไม่เคยคิดถึงมันมาก่อนเมื่อวัยมัธยมฯ แต่คำตอบของตังค์ชวนให้เราฉุกคิดและย้อนความทรงจำ ความรู้สึก กลับไปสมัยมัธยมฯ ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่เราเริ่มรู้จักโลกและรู้จักตัวเอง เริ่มมีเพื่อนสนิทกลุ่มแรก เริ่มรู้จักสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่าความรัก ยังจำความรู้สึกตื่นเต้น หน้าแดง กระวนกระวายเหมือนผีเสื้อบินวนในท้องเวลาเดินผ่านคนที่ชอบได้อยู่ไหม?

ช่วงเวลานั้นความสุขเล็กๆ ในแต่ละวันอาจเป็นเพียงการเดินผ่านห้องเรียนของคนที่เราแอบชอบ เพื่อเหลือบมองเขา เพียงเท่านี้ก็มอบความอิ่มเอมใจ และสร้างกำลังใจให้ใครหลายคนอยากไปโรงเรียนในทุกๆ วัน ทั้งหมดเป็นการเรียนรู้นอกตำราแบบหนึ่ง แต่การเรียนออนไลน์กำลังพรากเหตุการณ์ที่เล่ามาทั้งหมดไป กำลังพรากรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ความทรงจำระหว่างเพื่อนสนิท พรากโอกาสที่จะตกหลุมรัก และกำลังพรากการใช้ชีวิตวัยรุ่นของพวกเขา

หนูเหนื่อยทั้งกายและใจเมื่อที่บ้านไม่เข้าใจการเรียนออนไลน์ 


การเรียนออนไลน์ของเด็ก นอกจากเด็กต้องปรับตัวแล้ว อีกหนึ่งคนที่ควรจะปรับตัวและเรียนรู้คนต่อมาก็คือ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ร่วมบ้านที่ต้องคอยให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนเด็ก เพราะเด็กคงต้องเหนื่อยเป็น 2 เท่าหากเรียนออนไลน์แล้วที่บ้านไม่เข้าใจ น้องมายด์เขียนระบายความในใจที่เด็กหลายคนต้องเผชิญ อย่างการที่พ่อแม่ไม่เข้าใจรูปแบบการเรียนออนไลน์ 

ผู้ใหญ่หลายคนมักคิดว่าทุกครั้งที่ลูกหลานเปิดคอมพิวเตอร์และนั่งอยู่หน้าจอนานๆ เท่ากับการเล่นเกมหรือแชตกับเพื่อน ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วนอกจากจะต้องเรียนออนไลน์ ทำการบ้าน หรือการหาข้อมูลต่างๆ ก็ล้วนต้องทำออนไลน์เช่นกัน ทำให้เด็กต้องอยู่หน้าจอตลอดทั้งวัน

เราเชื่อว่า สถานการณ์ตอนนี้เด็กไทยยังต้องเรียนออนไลน์กันอีกยาวๆ ก่อนที่ผู้ปกครองจะว่ากล่าว ลองเปลี่ยนเป็นถามก่อนไหมว่า ตอนนี้เรียนวิชาอะไรอยู่ หรือมีการบ้านกี่วิชา จะได้รู้ว่าทำไมเขาต้องอยู่หน้าคอมทั้งวัน คำถามที่ไร้ซึ่งความเห็นใจจากผู้ใหญ่ อาจทำให้เด็กคนหนึ่งเครียด อึดอัด และลำบากใจ จนทำให้บ้านไม่ใช่ Comfort zone ที่พวกเขาสบายใจ และมีระยะห่างกับคนในครอบครัว

การบ้านหนูต้องไม่ขาด งานบ้านหนูต้องไม่พร่อง


และเด็กๆ คงจะยิ่งเหนื่อยเป็น 2 เท่าถ้าต้องทำทั้งการบ้านออนไลน์และงานบ้านไปพร้อมๆ กัน เมื่อผู้ใหญ่ยังคงไม่เข้าใจการเรียนออนไลน์ เด็กหลายคนเจอปัญหา ‘อยู่บ้าน = ว่าง’ พ่อแม่ใช้กวาดบ้าน ถูบ้าน หยิบข้าวหยิบของระหว่างการเรียนหนังสือตลอด จนพ่อแม่กลายเป็นอุปสรรคที่รบกวนการเรียนมากกว่าเพื่อนที่เคยนั่งข้างๆ กันไปเสียแล้ว 

ผู้ใหญ่ทุกคนล้วนเคยผ่านช่วงเวลาการเป็นเด็ก และเชื่อว่ายังคงจำความรู้สึกเหนื่อยล้าจากการเรียนวันละ 6 – 8 ชั่วโมงได้ว่ามันเหนื่อยแค่ไหน (และบางครั้งเรายังแอบหลับหลังห้องได้) แต่เมื่อเด็กต้องเปลี่ยนมาเรียนออนไลน์ ทำให้จากเดิมที่เนื้อหาเข้าใจยากอยู่แล้ว จึงยิ่งต้องใช้สมาธิในการโฟกัสมากขึ้นอีก 

เป็นที่มาของการที่เด็กยุคนี้กำลังตั้งคำถามว่า พวกเขาควรไปต่อหรือพอแค่นี้ดีกว่า? ดร็อปเรียนก่อน ไว้รอสถานการณ์ดีขึ้นแล้วค่อยกลับไปเรียนในห้องเรียนดีไหม จบช้าแต่ได้ความรู้อาจจะไม่เป็นไร เพราะเรียนทั้งๆ ที่ไม่เข้าใจก็ไม่ได้อะไรเลยเหมือนกันถ้าไม่อยากเห็นเด็กเครียดหรืออยากดร็อปเรียน ผู้ปกครองอาจจะต้องเห็นใจและเข้าใจเด็กที่กำลังเจอปัญหาแบบน้องแสตมป์หน่อยนะ 

หนูเหนื่อยกับการจัดการของรัฐ ที่ทำให้ไปโรงเรียนไม่ได้สักที


ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่ที่โหยหาชีวิตปกติ เด็กมัธยมฯ เองก็เหมือนกัน พวกเขาตระหนักรู้ถึงปัญหาความล่าช้าในการจัดการของภาครัฐไม่น้อยไปกว่าคนที่ (เคลมว่า) อาบน้ำร้อนมาก่อนถึงแม้ว่ารัฐจะเคยออกนโยบายเพื่อเอื้ออำนวยให้เด็กๆ กลับมาเรียนในระบบได้ใกล้เคียงแบบเดิมมากที่สุด เช่นการสลับชั้นมาเรียนวันคู่วันคี่ที่โรงเรียน ซึ่งเคยเป็นความหวังเล็กๆ แต่ทั้งหมดก็ต้องพังทลายเมื่อการระบาดของโควิด-19 กลับมาอีกครั้ง และมียอดผู้ติดเชื้อสูงถึงหลักหมื่นคนต่อวัน ทำให้ทุกโรงเรียนต้องกลับไปเรียนออนไลน์เต็มระบบ และงดกิจกรรมทุกรูปแบบ

ท่ามกลางข่าวดีของทั่วโลก ที่นานาประเทศเริ่มกลับมาใช้ชีวิตกันปกติ คลายล็อกดาวน์ ประชาชนในประเทศอิสราเอล สวีเดน สหรัฐอเมริกา ถอดหน้ากากใช้ชีวิตในที่สาธารณะได้แล้ว หรือแม้กระทั่งจัดคอนเสิร์ตจุคนเป็นพันโดยไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม แต่เด็กไทยต้องมาพบสถานการณ์บ้านเมืองที่ไม่ไปไหน ยังคงถกเถียงกันเรื่องจะให้เด็กนักเรียนทั่วประเทศหยุดเรียน 1 ปีดีไหม เหตุเพราะการเรียนออนไลน์ไร้ประสิทธิภาพ 

รวมถึงการจัดการเยียวยาที่ยากลำบาก เช่น มาตรการเงินเยียวยา 2,000 บาทให้เด็กนักเรียน ใช้จ่ายค่าธรรมเนียมการเรียน ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าไฟฟ้า แต่ขั้นตอนกลับยุ่งยาก ต้องใช้ทั้งบัตรประชาชนนักเรียนและผู้ปกครอง หน้าสมุดบัญชีธนาคาร จนกลายเป็นเรื่องที่หลายคนตั้งคำถามต่อภาครัฐว่า ทำงานเร็วกว่านี้ได้มั้ย?

หนูอยากเรียน แต่การเรียนออนไลน์ทำให้หนูหมดไฟ


ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่กำลังหมดไฟในการทำงานที่บ้าน เด็กเองก็กำลังหมดแพสชันในการเรียนออนไลน์เช่นกัน สำหรับเรา คำตอบของน้องลูกหยีที่ดูเหมือนการระบายสิ่งที่อยู่ในใจและให้กำลังใจตัวเองไปพร้อมกัน เป็นประโยคที่ทั้งน่าเศร้าและน่าเห็นใจ

ข้อความนี้ทำให้เราเห็นว่า การเรียนออนไลน์ไม่ได้เหมาะกับทุกคน เพราะไม่มีทางที่ผู้สอนทุกคนจะสอนออนไลน์ได้สนุกหรือน่าสนใจได้เท่าในห้องเรียน ทำให้เด็กที่เคยเต็มไปด้วยความกระตือรือร้นในการเรียนค่อยๆ หมดไฟ ด้วยอุปสรรคของการเรียนออนไลน์ ที่บางครั้งทำให้เด็กหลายคนตามไม่ทันเนื้อหา แต่ไม่กล้าแม้แต่จะเปิดไมค์เพื่อสอบถาม และปัญหาสำคัญคือสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย เพราะบ้านอาจไม่ใช่สถานที่ที่เหมาะกับการเรียนหนังสือของเด็กแต่ละคน 

บ้านบางคนอาจเต็มไปด้วยสิ่งเร้าที่รบกวนการเรียน จนเรียนได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ทำให้เด็กที่เคยเรียนดี กระตือรือร้นในการเรียน เปลี่ยนมาตั้งเป้าเพียงแค่สอบผ่านก็พอ เพราะแค่เอาชีวิตและสุขภาพจิตให้รอดก็เหนื่อยมากแล้วสำหรับเด็กยุคนี้

หนูโดนขโมยเวลาและความสุข


การเรียนออนไลน์นอกจากสร้างความเหนื่อยล้าสะสม ยังทำให้เด็กเบื่อหน่าย ขาดจินตนาการ และขาดโอกาสในการทำกิจกรรมอื่นๆ เพราะชีวิต 50% คือการเรียนออนไลน์ และอีก 50% ที่เหลือคือการทำการบ้าน ทำให้แทบไม่มีเวลาพักผ่อนหรือแบ่งให้กิจกรรมอื่นๆ ที่สร้างความสุขในชีวิตได้เลย เพราะตื่นมาก็ต้องอยู่หน้าคอมและอยู่อย่างนั้นทั้งวัน แทบจะไม่ได้เปลี่ยนบรรยากาศ

ต่างจากการไปโรงเรียน ที่ที่เรายังมีโอกาสได้พักสายตา ได้เตรียมตัวก่อนเข้าห้อง แวะซื้อขนมก่อนเข้าเรียน ช่วงเบรกยังมีสนามหญ้าให้วิ่งเล่นออกกำลังกายกับเพื่อนๆ มีห้องสมุดไว้ขลุกตัวอ่านหนังสือ มีห้องซ้อมดนตรีที่เคยเต็มไปด้วยเสียงเพลง และมีห้องชมรมต่างๆ ให้พวกเขาได้ค้นหาตัวเองจากสิ่งที่สนใจในช่วงวัยรุ่น

ตอนนี้พื้นที่กิจกรรมเหล่านั้นถูกแทนที่ด้วยการเรียนออนไลน์ งานอดิเรก ความชอบ และเวลาของพวกเขาถูกแทนที่ด้วยการบ้านมหาศาล ที่ใช้เป็นคะแนนเก็บและวัดระดับความเข้าใจในห้องเรียนออนไลน์รูปแบบใหม่ ซึ่งครูหลายคนไม่เคยคิดเผื่อเลยว่ามันจะเยอะเกินไปสำหรับพวกเขาหรือเปล่า?

ที่เราหยิบยกมาเป็นเพียงเสียงของเด็กส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีเด็กไทยอีกมากที่กำลังเหนื่อยล้าเพราะการเรียนออนไลน์ โดยที่ไม่มีใครเงี่ยหูรับฟังเสียงเล็กๆ ของพวกเขา 

หากคุณเป็นคุณครูหรือทำงานเกี่ยวข้องกับการศึกษา เราอยากให้ลองหันมาถามความเห็นจากเด็กๆ ดูว่า การเรียนออนไลน์ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง? เข้าใจเนื้อหาที่เรียนไหม? การบ้านที่ให้ไปเหมาะสมหรือเปล่า? ที่สำคัญ พ่อแม่เองก็ต้องช่วยสนับสนุนเด็กๆ ได้ด้วยการดูแลสภาพชีวิตและจิตใจอย่างเข้าใจ ลองใช้คำถามง่ายๆ อย่าง ‘หนูเหนื่อยไหม? มีอะไรอยากให้ช่วยหรือเปล่า?’ เพื่อให้บ้านคือที่พึ่งอย่างแท้จริง ไม่ให้รู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้งให้ต้องต่อสู้กับสถานการณ์นี้โดยลำพัง 

เพราะ “เด็กคืออนาคตของชาติ” ไม่ใช่แค่ประโยคสวยหรูฉลองวันเด็ก แล้วหมดวันหมดหน้าที่ แต่เป็น ‘ข้อเท็จจริง’ ที่ผู้ใหญ่ในวันนี้ควรต้องตระหนักให้มาก ก็โลกที่ ‘คุณ’ และ ‘เรา’ จะมีชีวิตอยู่ จะอยู่ในมือของพวกเขาในวันหนึ่งนี่นา…

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.