ถนนคนเดิน กลายเป็นของรถยนต์ตั้งแต่เมื่อไหร่? - Urban Creature

 ทำไมคนเราถึงต้องเดินบนฟุตพาท?
แล้วทำไมรถถึงต้องวิ่งบนถนน?

นับว่าเป็นประวัติศาสตร์มากว่า 100 ปี ที่การใช้ชีวิตของเราบนท้องถนนเปลี่ยนไป เพราะเมื่อก่อน ‘ถนน’ เปรียบเสมือนพื้นที่สาธารณะสำหรับผู้คน ทั้งการตั้งหาบเร่ค้าขาย หรือการเดินเตร็ดเตร่ รวมถึงรถลากที่ผ่านไปมา ทั้งหมดนี้ล้วนแต่ใช้ประโยชน์บนถนนเส้นหลัก จนเรียกได้ว่า ‘คน’ เป็นเจ้าของถนนมากกว่าปัจจุบัน

ซึ่งเมื่อก่อน ‘ยานพาหนะต้องระวังคน ไม่ใช่คนต้องระวังยานพาหนะ’ แต่สมัยนี้แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะไม่หันซ้าย-ขวาเพื่อมองรถ และยังต้องข้ามถนนในที่ทางที่วางไว้

แล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ ‘รถ’ กับ ‘คน’ ต้องแยกทางกันอย่างชัดเจน?

| อะไรคือ ‘Jaywalking’

คำว่า ‘Jaywalking’ เป็นคำที่มีต้นกำเนิดปี 1920 ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมาจากโฆษณาชวนเชื่อที่ทำขึ้นโดยอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อใช้เรียกการข้ามถนนซี้ซั้ว ไม่ว่าจะเป็นการข้ามตรงบริเวณห้ามข้าม หรือการข้ามไม่รอสัญญาณไฟ

โดยคำว่า ‘Jay’ เป็นคำเก่าแก่สื่อถึงคำว่า บ้านนอก ไม่รู้เรื่อง ส่วนคำว่า ‘Walk’ คือ การเดิน ซึ่งพอเอามารวมกันจะให้หมายความว่า การเดินข้ามถนนอย่างไม่ระมัดระวัง หรือข้ามถนนอย่างผิดกฎหมาย ที่ใช้คำว่า Jaywalking เป็นการเปรียบเทียบว่าเหมือนคนบ้านนอกที่ไม่รู้ว่าจะต้องเดินในเมืองอย่างไรให้ปลอดภัย ถ้าเปรียบเป็นคำไทยก็คล้ายๆ กับคำว่า ‘บ้านนอกเข้ากรุง’ แถมยังเป็นคำที่รุนแรงในสมัยนั้นมากๆ

Photo Credit : New York History Walks

| รถยนต์ = ซาตาน

เมื่อ ‘ปีเตอร์ นอร์ตัน’ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย ผู้เขียนหนังสือ ‘The Dawn Of the Motor Age in the American City’ ระบุว่าช่วง ค.ศ. 1920 ก่อนที่จะมีการถือกำเนิดรถยนต์ขึ้นมา ถนนเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับคนเดินเท้า พ่อค้ารถเข็น รถลาก หรือแม้แต่เป็นสนามวิ่งเล่นของเด็ก

Photo Credit : Courtesy of the Barron Collier Company, via Peter Norton

แต่หลังจาก ‘รถยนต์’ เริ่มเข้ามามีบทบาทมากเท่าไหร่ ตัวเลขผู้เสียชีวิตก็พุ่งสูงมากเท่านั้น จนทำให้สาธารณชนส่วนใหญ่ไม่พอใจ และมองว่าเครื่องจักรเคลื่อนที่เปรียบเสมือน ‘ผู้บุกรุก’ ถนนสาธารณะมากกว่า และก่อนที่จะมีกฎจราจรบัญญัติไว้อย่างจริงจัง ผู้พิพากษามักตัดสินให้ ‘ผู้ขับขี่ยานพาหนะ’ ถูกตั้งข้อหา ‘ฆาตกรรม’ ทันที โดยไม่ได้คำนึงถึงบริบทและสถานการณ์ที่เกิดเหตุเท่าที่ควร

| สู้มา สู้กลับ

หลังจากยอดเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างไม่ปรานี ทำให้นักเคลื่อนไหวที่ต่อต้านรถยนต์ ต้องการให้เกิดมาตรการบังคับ ‘กำหนดความเร็ว’ ของรถยนต์ทุกคัน โดยในปีเดียวกันนั้น หนังสือ ‘Illustrated World’ เขียนเอาไว้ว่า 

‘รถยนต์ทุกคันควรติดตั้งอุปกรณ์รักษาความเร็ว โดยความเร็วที่ใช้ได้ขึ้นอยู่กับเมืองที่เจ้าของรถอาศัยอยู่’

แต่จุดเปลี่ยนกลับเกิดขึ้นในปี 1923 เมื่อชาวเมืองซินซินนาติ (Cincinnati) จำนวน 42,000 คน ตัดสินใจลงนามคำร้อง เพื่อต้องการจำกัดความเร็วรถยนต์ทุกคันอยู่ที่ 25 ไมล์/ชั่วโมง (40 กิโลเมตร/ชั่วโมง) ซึ่งตัวแทนจำหน่ายรถต่างตื่นกลัวกับคำร้องนี้ จึงส่งจดหมายไปหาเจ้าของรถทุกคันในเมืองให้ร่วมด้วยช่วยกัน ‘โหวต No’ เพื่อต่อต้านมาตรการดังกล่าว

Photo Credit : Cincinnati Post

เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจยานยนต์คือ ถ้ามีการจำกัดความเร็วขึ้นจริง ย่อมทำให้การขายรถยนต์ได้ยากกว่าเดิมเป็นแน่ และยังมีกลุ่มขายรถยนต์จากเมืองดีทรอยต์ (Detroit) มารวมตัวช่วยกันต่อต้านกฎของซินซินนาติด้วย นอกจากนี้ พวกเขายังเรียกร้องให้มีการปรับเปลี่ยนกฎหมาย โดยให้ใช้กฎจราจรแทนการใช้กฎหมายจารีตประเพณี (Common law) แถมยังให้แนวคิด ‘Jaywalking’ ถูกยัดลงไปในกฎเหล่านี้ด้วย

เรียกว่ากฎหมายจราจรถูกออกแบบมาให้ความสำคัญกับรถยนต์มากกว่า กลายเป็นไม่ได้มาสร้างความสมานฉันท์ แต่เหมือนเป็นการทะเลาะ ‘สู้มา สู้กลับ’ มากกว่า เพราะถึงแม้คำร้องเรื่อง ‘กำหนดความเร็ว’ จะล้มเหลว แต่อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ตื่นตูมก็หันมาตำหนิคนเดินเท้ามากกว่า

| แก้ปัญหา Jaywalking?

ความจริงแล้วเรื่องกฎหมายจราจรที่ออกมาเพื่อให้คนเดินถนนไม่เดินซี้ซั้วสะเปะสะปะ ถูกเสนอมาตั้งแต่ปี 1912 โดยแคนซัสซิตี้ (Kansas City) เป็นเมืองแรกที่ผ่านข้อกฎหมายให้คนข้ามถนนตรงทางม้าลาย ซึ่ง ‘เฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์’ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ในขณะนั้น พยายามผลักดันกฎหมายโดยใช้กรณีศึกษาจากกฎหมายควบคุมการจราจรในเมืองลอสแอนเจลิส (Los Angeles) จนกลายเป็น ‘Model Municipal Traffic Ordinance (รูปแบบคำสั่งการจราจรเทศบาล)’ ถึงแม้จะมีการผ่านกฎหมายจราจร แต่ท้ายที่สุด อุตสาหกรรมยานยนต์ต่างต้องประสบปัญหาเพราะไม่มีใครทำตามกฎสักเท่าไหร่

รวมไปถึงการรณรงค์ในรูปแบบต่างๆ ที่ให้คนข้ามถนนอย่างถูกที่และถูกต้อง อย่าง AAA ที่ตั้งใจทำแคมเปญออกมา แต่สิ่งที่ตลกร้ายก็คือ โปสเตอร์ที่ปล่อยออกมานั้น บางส่วนสื่อให้เห็นว่ามีการเยาะเย้ยเด็กที่ไม่ปฏิบัติตามกฎ และหลายคนมองว่าถ้าอยากให้ปฏิบัติตามกฎหมายจราจร มันมีหลายวิธีที่ดีกว่าการประชดประชันความเป็นพลเมืองของคน 

Photo Credit : National Safety Council/ Library of Congress

ถึงแม้คำว่า ‘Jaywalking’ จะมีความหมายเชิงลบและน่ารังเกียจในช่วงแรก แต่มันก็กลายเป็นคำเดียวที่องค์กรด้านความปลอดภัย และตำรวจเริ่มใช้อย่างเป็นทางการ สุดท้ายคำว่า Jaywalking และแนวคิดที่ว่า ‘เจ้าของถนนคือรถยนต์ ไม่ใช่คน’ ก็กลายเป็นสิ่งที่ประสบความสำเร็จ เพราะมันเปลี่ยนความหมายของ ‘ถนน’ จากอดีตมาจนถึงปัจจุบันต่างไปอย่างสิ้นเชิง

ปัจจุบัน ในหลายๆ เมือง จากหลายๆ ประเทศ มีการบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเข้มข้น สั่งปรับคนที่ข้ามถนนอย่างผิดกฎหมายประมาณ 190 – 250 ดอลลาร์สหรัฐ (ราวๆ 6,000 – 8,000 บาท) เลยทีเดียว


Sources :
BBC
Citylab
Merriam – Webster
Vox

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.