The Bangkok 2040 Summer Olympics - Urban Creature

นอกจาก ‘กีฬา’ จะเป็นยาวิเศษแล้ว กีฬายังเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างชาติอีกด้วย

ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมกีฬาโอลิมปิกมาแล้วทั้งหมด 2 ครั้ง ทั้งการเสนอเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก ปี 2008 และยูธโอลิมปิก ปี 2010 แต่ก็ต้องคว้าน้ำเหลว เนื่องด้วยความไม่พร้อมในด้านต่างๆ

แต่ความหวังยังไม่หมดไป หลายครั้งเราจึงเห็นคนบนโลกออนไลน์ออกมาถกเถียงกันในประเด็นนี้อยู่บ่อยๆ ว่า แล้วเราต้องทำอย่างไร ประเทศไทยถึงจะเป็นเจ้าภาพจัดงานกีฬาของมวลมนุษยชาติกับเขาสักครั้ง

เช่นเดียวกับ ‘จอม-ปภัสสร นพไพบูลย์รัตน์’ นิสิตจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มองว่าการจัดมหกรรมกีฬาระดับโลกเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการพัฒนาเมือง ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาและกระตุ้นการพลิกฟื้นของเมืองได้ จนเกิดเป็น ‘The Bangkok 2040 Summer Olympics’ ธีสิสออกแบบวางผังและจัดทำแผนพัฒนาเมืองสู่การเสนอตัวมหกรรมกีฬากรุงเทพฯ โอลิมปิกในปี 2040

กีฬาสร้างคน คนสร้างชาติ

จอมเล่าว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้ตนตัดสินใจทำธีสิสในหัวข้อเกี่ยวกับโอลิมปิกเกิดขึ้นเพราะสไลด์วิชาเรียนเกี่ยวกับการออกแบบเมืองในช่วงชั้นปีที่ 4 เพียงสไลด์เดียวที่พูดถึง ‘คน กิจกรรม และเมือง’

“ผมคิดว่าโอลิมปิกเป็นคำตอบสำหรับการพัฒนาเมืองที่เป็นไปได้และอิมแพกต์มากที่สุด เพราะการจัดมหกรรมกีฬาระดับโลกเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาเมืองที่ช่วยแก้ไขปัญหา กระตุ้นการพลิกฟื้นของเมือง และขับเคลื่อนเมืองได้”

เมื่อได้หัวข้ออย่างเป็นทางการ และหาข้อมูลไปได้ประมาณหนึ่ง จอมก็พบว่าความจริงแล้ว ประเทศไทยเคยยื่นเป็นเจ้าภาพในการจัดแข่งขันไปแล้วทั้งหมด 2 ครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะมีความไม่พร้อมในหลายๆ ด้าน

ในความไม่พร้อมนั้นแบ่งปัญหาหลักออกมาได้ 3 ด้าน คือ 1) ความไม่พร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน 2) ขาดการสนับสนุนและผลักดันจากภาครัฐ 3) โครงสร้างพื้นฐานทางการกีฬาที่มีอยู่ไม่เพียงพอ

“ผมคิดว่าไทยในตอนนี้มีความพร้อมขึ้นแล้วในระดับหนึ่ง ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม รวมถึงการที่คนในเมืองให้ความสำคัญเรื่องผังเมืองมากขึ้น เลยทำให้เราเห็นภาพความเป็นไปได้มากขึ้น แต่ถ้าได้เป็นเจ้าภาพจริงๆ ก็คงต้องพัฒนากันอีกพอสมควรเลย” จอมเล่าถึงที่มาที่ไปที่ทำให้ตนตัดสินใจเลือกทำธีสิสออกแบบวางผังและจัดทำแผนพัฒนาเมืองสู่การเสนอตัวมหกรรมกีฬากรุงเทพฯ โอลิมปิกในปี 2040 ในชื่อ ‘The Bangkok 2040 Summer Olympics’

ส่วนเหตุผลที่ว่าทำไมถึงเลือกจัดโอลิมปิกในปี 2040 นั้น จอมบอกกับเราว่า เพราะตัวธีสิสอ้างอิงจากกฎของทางโอลิมปิก ที่หากจะยื่นจัดงานต้องใช้ระยะเวลาเตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพ 12 ปี

ระเบิดฟอร์มที่ท่าเรือคลองเตย

หลังจากได้หัวข้อธีสิสอย่างเป็นทางการ ก็ถึงเวลาหาสถานที่เหมาะๆ สำหรับจัดมหกรรมระดับโลกนี้สักที

“จริงๆ ต้องบอกว่าความตั้งใจแรกคืออยากออกแบบการจัดโอลิมปิกในหลายๆ พื้นที่ หลายๆ จังหวัด” จอมเล่าถึงไอเดียตั้งต้น

หลังจากลองหาข้อมูลสถานที่ในประเทศไทย ทำให้จอมพบว่ามี 6 จังหวัดที่มีศักยภาพและความเป็นไปได้ในการจัดโอลิมปิก ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี เชียงใหม่ สงขลา นครราชสีมา และขอนแก่น แต่เมื่อนำแต่ละจังหวัดข้างต้นมาเปรียบเทียบกันก็พบว่า ‘กรุงเทพฯ’ มีความพร้อมมากที่สุด

“สุดท้ายที่เลือกหยิบกรุงเทพฯ มาออกแบบ เพราะกรุงเทพฯ มีความเหมาะสมในหลากหลายด้าน ทั้งพื้นที่ โครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ สภาพสังคม ความปลอดภัย และการเดินทาง รวมถึงในกรุงเทพฯ เองก็มีสนามกีฬาเดิมที่สามารถใช้งานได้ประมาณสิบห้าสนาม และมีสนามที่รองรับการแข่งขันนานาชาติได้ถึงสี่สนาม”

และถึงแม้จอมจะบอกว่า ธีสิสนี้หยิบเอากรุงเทพฯ มาออกแบบ แต่ความเป็นจริงแล้ว เมื่อเจาะลงไปคือการออกแบบพื้นที่ ‘ท่าเรือคลองเตย’ โดยหยิบเอาโมเดลการออกแบบพื้นที่เพื่อรองรับโอลิมปิกของโตเกียว บาร์เซโลนา และลอนดอนมาปรับใช้

ส่วนเหตุผลที่เลือกท่าเรือคลองเตยก็เพราะท่าเรือแห่งนี้เป็นที่ดินผืนใหญ่ที่อยู่ภายใต้การดูแลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายเดียว นั่นคือ ‘การท่าเรือแห่งประเทศไทย’ ที่แม้ปัจจุบันจะจัดการได้ยาก เนื่องจากเป็นที่ตั้งของชุมชนแออัดและติดถนนเพียงด้านเดียว นั่นคือ ถนนพระราม 4 แต่ในขณะเดียวกัน พื้นที่นี้ก็มีศักยภาพสูงจากหลายๆ องค์ประกอบ ทั้งจากการพัฒนาที่ดินด้วยโครงการ Mixed-use ในแนวถนน และตำแหน่งพื้นที่ที่เชื่อมพื้นที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสีลม สาทร และสุขุมวิท

ด้วยเหตุนี้ จอมจึงเลือกพื้นที่ท่าเรือคลองเตยมาเป็นโจทย์ โดยคำนึงถึงเทรนด์ในอนาคตว่า พื้นที่แห่งนี้จะกลายเป็นพื้นที่มูลค่าสูง และเป็นหนึ่งในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ที่ปัจจุบันซุกปัญหาเมืองที่รอการแก้ไขจำนวนมาก

เตรียมพร้อมสู้ศึกเป็นเจ้าภาพ

ขึ้นชื่อว่าโครงการออกแบบวางผังและจัดทำแผนพัฒนาเมืองสู่การเสนอตัวมหกรรมกีฬากรุงเทพฯ โอลิมปิกในปี 2040 ธีสิสนี้จึงไม่ได้โฟกัสอยู่แค่พื้นที่การจัดงาน แต่เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมพื้นที่สำหรับจัดงาน ในระหว่างการจัดงาน และการจัดการพื้นที่หลังจบงาน

เริ่มจาก ‘Pre-Game Mode’ ที่จะแบ่งระยะเวลาในการเตรียมการทั้งหมดออกเป็น 3 ช่วง คือ 1 – 2 ปีแรกจะเป็นช่วงของการสร้าง ‘New Infrastructure’ วางโครงสร้างพื้นฐานใหม่ภายในพื้นที่ ตั้งแต่การวางโครงระบบถนนใหม่ด้วยการจัดตั้งกองทุน IFF วางตำแหน่งพื้นที่สีเขียว ปรับแนวรถไฟฟ้าเข้ามายังพื้นที่โดยใช้โครงสร้างทางด่วนเดิม และเปลี่ยนทางด่วนจากบนดินเป็นใต้ดิน

“การเชื่อมรถไฟฟ้าสายใหม่เข้ามาในพื้นที่ ผมใช้โมเดลเดียวกับของลอนดอน โดยใช้โครงสร้างเดิมของทางด่วน เชื่อมต่อการเดินทางจากดอนเมืองหรือสุวรรณภูมิเข้ามาปลั๊กอินที่ท่าเรือคลองเตยได้โดยตรง รวมถึงเชื่อมต่อไปยังหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นสาทร มักกะสัน หรือธนบุรี” จอมอธิบายเสริม

ถัดมาจะเข้าสู่เฟสของการย้ายชุมชนเดิม ด้วยการสร้าง ‘New Social Housing’ ในลักษณะชุมชนแนวตั้ง 2 ตึกที่สามารถรองรับประชากรได้ประมาณ 18,800 คน เพื่อแก้ปัญหาชุมชนแออัดและความจนเมือง รวมถึงสร้าง ‘Public Facilities’ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนคลองเตยใหม่ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสร้างสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ที่ดีในชุมชน ซึ่งจะใช้ระยะเวลา 3 – 6 ปีโดยประมาณ

จากนั้นถึงจะเข้าสู่เฟสของการเตรียมพื้นที่ไซต์เพื่อจัดการแข่งขันโอลิมปิกประมาณ 8 – 10 ปี เริ่มจากการสร้าง ‘Olympic Stadium’ ที่รองรับความจุ 72,000 คน โดยใช้วิธี ‘Land Concessions’ หรือการเปิดสัมปทานพื้นที่ในบางส่วน เพื่อนำเงินหมุนเวียนมาพัฒนา เตรียมความพร้อมสำหรับจัดงาน

เริ่มการดวลอย่างเป็นทางการ

“ถ้าเปรียบเทียบ ผมก็เหมือน ‘เซียร์’ (Seer) ในบอร์ดเกมแวร์วูล์ฟ ที่ต้องคาดเดาว่าเทรนด์ในปี 2040 จะเป็นยังไง ซึ่งผมมองว่ากรุงเทพฯ ในตอนนั้นน่าจะเป็นเมืองที่เปิดรับความหลากหลายของวัฒนธรรม นำไปสู่การเป็น Entertainment Hub ใหม่ในระดับโลกได้ คอนเซปต์โอลิมปิกที่ตั้งไว้จึงเป็น ‘Infinite possibilities, one destination’” จอมอธิบายถึงไอเดียหลักของคอนเซปต์ที่ตนตั้งไว้

หรือพูดอีกนัยก็คือ พื้นที่นี้จะเป็นพื้นที่เปิดรับโอกาสที่หลากหลายได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้พื้นที่ท่าเรือคลองเตยเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่พื้นที่ศูนย์กลางใหม่ของกรุงเทพมหานคร

แต่ลำพังการออกแบบเพื่อรองรับการจัดโอลิมปิกเพียงอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบหลังการจัดงาน อาจไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก เพราะการออกแบบเมืองแต่ละครั้งต้องคำนึงถึงการใช้งานระยะยาวและสถานการณ์หลังจากนั้นด้วย

“การจัดงานใหญ่สักครั้ง จะเกิด Urban Legacy หรือมรดกจากการจัดงานที่คงเหลือไว้ให้กับเมืองตามมา ซึ่งถ้าไม่มีการจัดการส่วนนี้ สิ่งที่เราก่อขึ้นอาจส่งผลกระทบในทางลบได้เหมือนกัน การวางแผนที่ดีว่าจะใช้งานยังไงต่อไปจึงมีความสำคัญไม่แพ้กัน”

ด้วยเหตุนี้ ธีสิสของจอมจึงวางแผนยาวไปถึงหลังการแข่งขันโอลิมปิกจบ ทำให้ Game & Post Game Mode มีการวางการพัฒนาเชิงกลยุทธ์ไว้ทั้งหมด 6 ข้อ ดังนี้

1) เชื่อมต่อโครงข่ายการเดินทางสาธารณะระดับเมืองทั้งภายในและภายนอกพื้นที่
2) สร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานสีฟ้าและสีเขียว กระจายความเชื่อมโยงสู่เมือง
3) สนามกีฬาที่รองรับการใช้งานอย่างยืดหยุ่น และมีพื้นที่เปิดโล่งที่รองรับการใช้งานอย่างหมุนเวียน
4) พื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจหลักและการพาณิชย์ใหม่ของเมืองที่เปลี่ยนแกนพัฒนาของย่านโดยรอบ
5) ย่านที่อยู่อาศัยที่ส่งเสริมความหลากหลายของกลุ่มคนและการใช้ชีวิต
6) ศูนย์รวมความบันเทิงและย่านหลากหลายวัฒนธรรมที่จะสร้างประสบการณ์และโอกาสพิเศษให้กับทุกคน

หากทำได้ตามนี้ ท่าเรือคลองเตยหลังการจัดโอลิมปิกจะกลายเป็นพื้นที่โอกาสแห่งใหม่ของเมือง และทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองตัวแรกที่สร้างประโยชน์จากการพัฒนาเมืองเพื่อการแข่งขันโอลิมปิก

เมืองผงาดหลังโอลิมปิกจบ

“ถ้าทำตามโมเดลของผมได้จริง ผมคิดว่าอย่างแรก ท่าเรือคลองเตยจะได้รับการยกระดับ คนในเมืองมีที่อยู่อาศัยใหม่ใกล้ที่ทำงาน รวมถึงคนที่อยู่ในพื้นที่อาศัยเดิมก็จะได้รับการยกระดับคุณภาพชีวิตขึ้นด้วย”

เพราะนอกจากจะได้ที่อยู่อาศัยใหม่ใกล้เมืองแล้ว การสร้างย่านธุรกิจและการพาณิชย์ใหม่ในช่วงการแข่งขันยังเป็นการสร้างแหล่งงานใหม่ให้กับคนในชุมชน ที่จะเปลี่ยนแกนพัฒนาของเมืองและย่านโดยรอบ ช่วยยกระดับเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย

แถมการเปิดพื้นที่ท่าเรือคลองเตยในครั้งนี้ จอมบอกกับเราว่า อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่เราจะได้รับคือการที่กรุงเทพฯ จะได้พื้นที่สาธารณะสีเขียวกลับมาเป็นจำนวนมาก

“ตอนนี้กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวค่อนข้างน้อยและเข้าถึงได้ยาก การเปิดพื้นที่ตรงนี้จะทำให้เราได้ป่าในเมืองเพิ่ม ทั้งในส่วนของการเปิดพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่สีเขียวที่มีขนาดใหญ่เทียบเท่าหรือมากกว่าสวนเบญจกิติ เกิดเป็นระบบนิเวศใหม่ขึ้น” เจ้าของธีสิสวางภาพอนาคตในแบบที่ตนอยากจะเห็น

“เราเชื่อว่า ถ้าเมืองมีการจัดการที่ดี ยังไงก็สามารถยกระดับเมืองได้อยู่แล้ว” จอมทิ้งท้าย


‘Paris Olympics 2024’ คือมินิซีรีส์คอนเทนต์จาก Urban Creature ที่จะพาไปเตรียมตัวกับการแข่งขันมหกรรมกีฬาระดับโลก ผ่านการเล่าถึงเรื่องราวเบื้องหลัง ไอเดีย และโปรเจกต์สนุกๆ ที่เกี่ยวข้องกับมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.