กะพริบตาไม่กี่ครั้ง เวลาก็ผ่านมาจะหมดเดือนธันวาคมของปีแล้ว ทุกๆ ปี ผู้เขียนกับเพื่อนๆ จะมีกิจกรรมโรแมนติกของเราคือการเขียนข้อตั้งใจหรือความหวังที่อยากให้เป็นจริงในปีใหม่ที่กำลังจะถึงนี้ หรือเรียกสั้นๆ แต่ก็ยาวอยู่ดีว่า ‘New Year’s Resolution’
แต่ได้โปรดอย่าลืมว่าชีวิตประจำวันก็กดดันพอแล้ว อย่ากดดันกับการคาดหวังถึงอนาคตเกินไปเลย
หากเราไม่ชอบตัวเองในปีนี้ อยากก่นด่า อยากทำโทษตัวเอง แล้วฝากใจไว้ปีหน้าว่าต้องดีกว่าตอนนี้ให้ได้ จนนำความโกรธแค้น ความไม่ได้ดั่งใจของปีนี้ไปนำทาง ก็ยากที่จะไปถึงความรู้สึกดีๆ ที่ฝันไว้ได้ เพราะตัวเราเองแทบไม่คุ้นชินกับความรู้สึกดีๆ ไหนเลย
หลายครั้งที่ข้อตั้งใจของเราไม่สำเร็จดังวาดไว้ เพราะระบบในร่างกายเราต้องใช้เวลาปรับตัวเข้ากับ ‘สิ่งใหม่’ นั้น ช่วงแรกๆ แน่นอนว่ายังมีพลังจะทำตามข้อตั้งใจ แต่เมื่อถึงช่วงหมดโปรโมชัน เกิดความท้อ ความกลัว ความเหนื่อย ความขี้เกียจเข้ามาแทรก มันก็ง่ายที่เราจะกลับไปอยู่ในจุดเดิมที่ตัวเองชินมานาน
อยู่ในอารมณ์ไหนบ่อย จิตใจเราก็จะชิน
เมื่อเราฝากความหวังไว้กับปีหน้า ตั้งตาต้อนรับสิ่งที่ฝันไว้ แต่ไม่เคยซ้อมหรือกระทั่งเตรียมใจปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงดีๆ นี้เลย ก็เป็นการยากที่จะมีสะพานเชื่อมความฝันกับความจริงให้มาเจอกัน เช่น ปีหน้าอยากรวยขึ้นเดือนละหมื่นบาท แต่ปีนี้ไม่ได้วางแผนการเงินเพิ่ม ฝึกตัวเองให้ขยันขึ้น หรืออย่างน้อยรู้สึกเชื่ออย่างสุดใจว่าเราคู่ควรกับเงินที่เพิ่มขึ้น ก็ไม่แปลกที่มันจะไม่เกิดขึ้นจริง
อีกอย่าง เมื่อเราคุ้นเคยกับสิ่งไหน เราก็มักดึงตัวเองกลับไปสู่สิ่งนั้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เราคิดว่าดีหรือแย่ เพราะความคุ้นเคยที่ทำบ่อยๆ ได้กลายเป็นสิ่งที่เรารู้สึกปลอดภัยกับมันไปแล้ว รวมไปถึงนิสัยและอารมณ์ด้วย
ตัวอย่างง่ายๆ หากปีหน้าคุณตั้งใจไว้ว่าอยากเปิดใจมีความรักอีกครั้ง แต่ถ้าใครเคยโดนแฟนนอกใจมา มันง่ายอยู่แล้วที่ ‘ความกลัว’ จะเป็นอารมณ์แรกที่พุ่งขึ้นมาเมื่อคุณเจอความผิดปกติบางอย่างในความสัมพันธ์ครั้งใหม่
ด้วยเหตุนี้ ‘ความกล้าที่จะเปิดใจ’ คือสิ่งที่คุณต้องการ และเป็นทักษะแห่งความรู้สึกที่ต้องคอยฝึกให้ระบบในร่างกายเริ่มคุ้นชินกับความปลอดภัยใหม่ที่คุณสามารถสร้างให้ตัวเองได้ ให้มันคุ้นชินว่า ‘ความรัก’ ตามมาพร้อม ‘ความปลอดภัย’ ได้
และขณะเดียวกัน การเอาแต่ตั้งความหวังไว้กับปีหน้าอย่างเดียว ยิ่งเป็นการย้ำให้รู้สึกว่าเรายังไม่มีอะไรบ้างในตอนนี้
จากประโยคข้างต้นทำให้ตระหนักว่า กว่าจะถึงปีหน้า คงเป็นการดีถ้าก่อนจบปีนี้ คุณได้ให้เวลาตัวเองขอบคุณทุกประสบการณ์ร้ายและดีที่ผ่านมา ที่ทำให้คิดได้ถึงสิ่งที่ต้องการจริงๆ จนก่อร่างสร้าง ‘ความกล้า’ ที่จะเปิดใจให้ใครหรือทำอะไรใหม่อีกสักครั้ง
ไม่ว่าที่ผ่านมาจะเจอเรื่องหนักขนาดไหน แต่การที่เราผ่านมันมาได้ เราควรใช้เวลาเพื่อขอบคุณตัวเอง ขอบคุณว่าที่ผ่านมาก็มีเรื่องดีที่น่าจดจำอยู่ ขอบคุณให้ตัวเองคุ้นชินกับ ‘ความรู้สึกดีๆ’ เพื่อที่ปีหน้าเราจะได้เปิดรับอีกหลายความรู้สึกดีๆ ง่ายขึ้น
ขอบคุณตัวเอง เพื่อเตือนว่า ‘ชีวิตตอนนี้ก็มีข้อดีของมันอยู่’
นักสังคมศาสตร์ได้ศึกษาเรื่อง Gratitude (ความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณ) มานานตั้งแต่ช่วงปี 1930 ซึ่งย้ำให้เห็นว่า การแสดงออกหรือการมีประสบการณ์อยู่ในความรู้สึกขอบคุณ ช่วยทำให้จิตใจสงบ สร้างความพึงพอใจต่อความสัมพันธ์ส่วนตัวและสุขภาพจิตองค์รวม และยิ่งทำให้เราอยากทำดี มีเมตตาต่อคนอื่นไปเรื่อยๆ เพราะสัมผัสได้ถึงประสบการณ์ความรู้สึกดีข้างในจริงๆ
คำว่า Gratitude แปลให้เห็นภาพได้หลายความหมาย แต่เราชอบคำแปลจากตอนที่ 33 ของหนังสือ Positive Psychology in Practice ที่บอกว่า มันคือความรู้สึกในช่วงเวลาที่กำลังได้รับของขวัญหรือประสบการณ์ดีๆ จากอีกคนหนึ่ง และยังหมายถึงมุมมองชีวิตที่ว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรานั้นคือของขวัญ
ทั้งนี้ Gratitude เกิดขึ้นได้จากหลากหลายเหตุผล ได้แก่
1) ความสุขใจที่ชีวิตนี้มีทุกอย่างที่ต้องการ เติมเต็มด้วยตัวเองได้เลย ไม่ขาดเหลืออะไรแล้ว (Abundance)
2) ความรู้สึกชื่นชมต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น (Appreciation)
3) การให้อภัย (Forgiveness) หรือการทิ้งเรื่องที่ไม่พอใจ โกรธ เกลียด หรือเจ็บปวดไว้ข้างหลัง โดยหมั่นสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อใจเติมเข้าไปในชีวิตเรา จนแทบไม่เหลือพื้นที่ให้หมกมุ่นอยู่กับเรื่องเจ็บปวด ยึดหลักการเลือกใช้ชีวิตของเราให้มีความสุข แทนการแก้แค้นเพื่อปล่อยพลังงานลบออกไป
ผลการศึกษาเมื่อปี 2021 จากมหาวิทยาลัย Muhammadiyah ประเทศอินโดนีเซียพบว่า การให้อภัยคือตัวแปรที่สำคัญมากของความสุขและคุณภาพชีวิตในวัยรุ่น โดยมีเหตุผลสนับสนุนว่า คนที่ให้อภัยเป็น แปลว่าเขาจัดการกับความรู้สึกแง่ลบของตัวเองได้ดี
‘จัดการกับอารมณ์ลบ’ ไม่ใช่ ‘กดอารมณ์ลบ’
ไม่กี่ปีที่แล้ว คำว่า ‘Toxic Positivity’ หรือความคิดบวกที่เป็นพิษ ถูกพูดถึงบ่อยมาก ซึ่งคำนี้หมายถึงการที่เราหลีกเลี่ยงการจัดการกับอารมณ์หรือประสบการณ์ลบที่อยู่ตรงหน้า ด้วยการโหยหาอะไรดีๆ มายึดเอาไว้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ อารมณ์ลบนั้นๆ ไม่ได้รับการมองเห็นหรือใส่ใจ มันจะหลบเราอยู่อย่างนั้นเพื่อรอวันระเบิด
เรามองว่า ไม่มีอารมณ์ไหนที่ไม่คู่ควรกับการถูกมองเห็น แต่ประเด็นคือ การมองโลกในแง่ดีนั้นสามารถเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเผชิญเหตุการณ์ร้ายได้ ไม่จำเป็นต้องรู้สึกดีไปเสียหมด
ความแตกต่างของความคิดบวกที่เป็นพิษ และความคิดบวกที่ดีต่อสุขภาพใจคือ ‘ความรู้สึกฝืน’ เพราะหากเราฝืนที่จะมีความสุข นั่นแปลว่าเรากำลังไม่จริงใจต่อตัวเองอยู่ แต่หากตัวเองรับรู้และมองเห็นความเศร้านั้น อยู่กับมันจนเข้าใจและยอมรับได้แล้ว ก็ไม่ผิดอะไรเลยที่เราจะเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เข้าถึงความรู้สึกดีๆ อื่นบ้าง
เพราะทุกคนคู่ควรกับความสุข และความรู้สึกซาบซึ้งก็พร้อมจะปลอบประโลมจิตใจเราให้ไม่ลืมว่าชีวิตยังมีอะไรดีๆ อีกมากมายแค่ไหน
อย่าลืมขอบคุณตัวเองที่ผ่านปีนี้มาได้เป็นอย่างดีนะ
Sources :
Positive Psychology in Practice | tinyurl.com/yvzctz9c
The Effect of Gratefulness and Forgiveness on Quality of Life | tinyurl.com/ywj36mvg