บัตรคนจน ช่วยคนจนหรือสร้างความเหลื่อมล้ำ? - Urban Creature

เมื่อไม่นานนี้เพิ่งมีการเปิดรับลงทะเบียน ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ หรือ ‘บัตรคนจน’ รอบใหม่ในปี 2565 โดยครั้งนี้คณะรัฐมนตรีวางเป้าหมายคนลงทะเบียนบัตรประเภทนี้ไว้ 20 ล้านคน เพื่อเยียวยาและลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับคนที่มีรายได้น้อย เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้คนตกงานมากมาย และคนหันไปทำงานอิสระมากกว่าเคย จึงคาดการณ์ว่าจะมีคนจนมากกว่าแต่ก่อน รวมถึงคาดว่าจะมีคนรับสิทธิ์จริงประมาณ 17 ล้านคน ซึ่งตั้งงบประมาณเอาไว้ 5,337 ล้านบาท

บัตรคนจน

ว่าด้วยตัวเลข 20 ล้านคนที่คณะรัฐมนตรีตีกรอบเอาไว้สำหรับคนที่ลงทะเบียนบัตรคนจนปี 2565 เมื่อย้อนดูสถิติจำนวนคนถือบัตรคนจนตั้งแต่ปี 2560 – 2564 จากการรวบรวมข้อมูลข่าวสารต่างๆ มีรายละเอียดดังนี้

ปี 2560 มีคนถือบัตรคนจนประมาณ 14 ล้านคน
ปี 2561 มีคนถือบัตรคนจนประมาณ 11 ล้านคน
ปี 2562 มีคนถือบัตรคนจนประมาณ 15 ล้านคน
ปี 2563 มีคนถือบัตรคนจนประมาณ 14 ล้านคน
ปี 2564 มีคนถือบัตรคนจนประมาณ 13 ล้านคน
ปี 2565 ครม.ตั้งเป้าไว้ 20 ล้านคน (คาดว่ารับจริง 17 ล้านคน)

สิ่งที่น่าสังเกต หากนับจำนวนคนยากจนจากผู้ถือบัตรคนจน มีจำนวนเฉลี่ย 13 ล้านคน/ปี เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 ที่ ครม.ตั้งเป้าหมายไว้ 20 ล้านคน หมายความว่าจำนวนคนจนอาจจะเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ  4 – 7 ล้านคน รวมถึงตัวเลขในปีก่อนๆ จะพบว่า ผู้ถือบัตรคนจนมีจำนวนขึ้นลงใกล้ๆ กัน แต่ก็ยังไม่เห็นแนวโน้มที่จะลดลงมากกว่าเคย

ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนถึงคนที่มีรายได้น้อยยังต้องพึ่งพาบัตรคนจนอยู่เรื่อยๆ (และเหมือนจะมากขึ้น) ซึ่งตลอดระยะเวลา 5 ปีของการทำโครงการบัตรคนจนเพื่อแก้ปัญหาความยากจน รัฐบาลทุ่มงบประมาณทั้งหมดมากกว่า 2 แสนล้านบาท จากข้อมูลดังกล่าวก็น่าตั้งคำถามกับโครงการที่เกิดขึ้นว่า มันตอบโจทย์การช่วยเหลือคนจนและแก้ปัญหาความยากจนในระยะยาวได้จริงหรือ

ช่วยคนจน (จริงๆ) หรือสร้างความเหลื่อมล้ำ?

หากดูชุดข้อมูล ‘คนยากจนที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน’ ในประเทศไทย คือกลุ่มคนที่ได้รับการสำรวจว่ามีฐานะยากจน จากข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ที่ถูกคัดเลือกจากคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานอยู่ในระดับต่ำ โดยมีตัวชี้วัดประเมินผล เช่น สุขภาพ สภาพแวดล้อม การศึกษา รายได้ และการดูแลจากครอบครัว

จากการสำรวจของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย รวบรวมโดย TPMAP หรือระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform) พบรายละเอียดในปี 2560 – 2562 ดังนี้

ปี 2560 มีคนจนที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน 5.5 ล้านคน ถือบัตรคนจน 1.7 ล้านคน
ปี 2561 มีคนจนที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน 3.1 ล้านคน ถือบัตรคนจน 9.4 แสนคน
ปี 2562 มีคนจนที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน 2.3 ล้านคน ถือบัตรคนจน 7 แสนคน

สิ่งที่น่าสนใจพบว่า ปี 2560 – 2562 จำนวน ‘คนจนที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน’ มีจำนวนน้อยกว่า ‘คนที่ถือบัตรคนจน’ หลายเท่าตัว หรือพูดง่ายๆ ว่าคนจนส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ไม่ได้เข้าร่วมบัตรคนจน

ยกตัวอย่างข้อมูลปี 2560 ที่มีจำนวนคนถือบัตรคนจนประมาณ 14 ล้านคน โดยอ้างอิงผลสำรวจของ TPMAP ที่ระบุว่ามีคนจนที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนประมาณ 5.5 ล้านคน แต่มีเพียง 1.7 ล้านคนเท่านั้นที่ลงทะเบียนบัตรคนจน นั่นหมายความว่าคนจนที่เหลืออีกราว 3.8 ล้านคนไม่สามารถเข้าถึงบัตรนี้ได้ และโครงการบัตรคนจนอาจจะช่วยคนจนไม่จริงมากกว่า

นอกจากนี้ ในมุมการใช้งาน บัตรคนจนมักจะมีโควตาให้วงเงินซื้อสินค้าคนละ 200 – 300 บาทต่อเดือน ส่วนใหญ่เป็นร้านธงฟ้าหรือร้านค้าประชารัฐของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ซึ่งตั้งอยู่เฉพาะแหล่งและมีสาขาจำกัด สำหรับคนจนที่อาศัยในแถบชนบทหรือภูเขา การเดินทางมาร้านธงฟ้าเพื่อซื้อของในราคา 300 บาทนั้นเรียกได้ว่า ลำบากในการเดินทางมากทีเดียว ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับคนที่ไม่มีสมาร์ตโฟนหรือความรู้ในการลงทะเบียนก็ทำให้ตัดขาดการเข้าถึงสิทธิ์ที่ควรจะได้ไปโดยปริยาย

สำหรับด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อคนที่มีบัตรคนจนต้องไปซื้อสินค้าที่ร้านธงฟ้าโดยตรง ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจากผู้ประกอบการรายใหญ่ เท่ากับว่าเป็นการผูกขาดการค้าจากฝั่งนายทุนมากกว่าอุดหนุนร้านค้าของพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ยิ่งไปกว่านั้น บางความคิดเห็นมองว่า การที่คนต้องแย่งชิงลงทะเบียนบัตรคนจนเป็นการลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่ทำให้รู้สึกว่าต้องดิ้นรนและไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ มิหนำซ้ำยังเกิดความเหลื่อมล้ำทั้งคุณภาพชีวิตและรายได้ตามมาหนักกว่าเดิม

จะช่วยเหลือคนจน ต้องแก้ที่เกณฑ์คัดเลือก

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง TDRI ให้คำแนะนำว่า บัตรคนจนควรจะช่วยคนจนจริงๆ โดยการให้เงินเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์พวกเขามากที่สุดว่าต้องการอะไร เพื่อที่เขาจะสามารถจับจ่ายใช้สอยใกล้ตัวสะดวกสบาย บางคนอาจจะกลัวว่าคนจนจะใช้เงินผิดประเภทหรือไม่ ส่วนใหญ่มีเพียงแค่ 1 – 2 เปอร์เซ็นต์ที่ซื้อของอบายมุข ถือว่าน้อยมาก ซึ่งเกณฑ์การคัดเลือกคนจนควรจะใช้ข้อมูลที่บ่งบอกสถานภาพทางรายได้ชัดเจน เช่น ในทางทฤษฎีสามารถดูข้อมูลการใช้จ่ายต่างๆ เช่น เขามีพฤติกรรมการใช้เงินอย่างไร มีหนี้และทรัพย์สินเท่าไหร่

อีกคำแนะนำหนึ่งจาก ดร.สมชัย ที่จะช่วยระบุว่าประชาชนคนไหนจนจริง และหาทางช่วยเหลือพวกเขาให้มากขึ้นก็คือ การขอข้อมูลจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งเป็นชาวบ้านในท้องถิ่นที่รู้จักและเข้าใจพื้นที่มากที่สุด โดย อสม. 1 คนจะดูแลประมาณ 15 บ้าน เพราะฉะนั้นเขาต้องรู้จักคนในพื้นที่เป็นอย่างดีว่า ใครชื่ออะไร ทำงานอะไร หรือมีครอบครัวหรือไม่ รวมทั้ง อสม. ยังเป็นส่วนหนึ่งของราชการที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุข จึงสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ต่อยอดได้ทันที

ทั้งนี้ โครงการบัตรคนจนจะมีประสิทธิภาพ เมื่อมันสามารถช่วยเหลือคนจนได้ตรงจุด แต่ข้อมูลตลอดหลายปีที่ผ่านมากลับชี้ให้เห็นว่า การช่วยเหลือคนจนทุกวันนี้ยังมีช่องโหว่มากมาย ทั้งคนจนจริงๆ ไม่สามารถเข้าถึงบัตรคนจนได้ทั้งหมด การใช้งานที่ไม่ได้เอื้ออำนวยความสะดวก และการวางแผนรัฐสวัสดิการที่ไม่ได้รองรับคนทุกกลุ่ม ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการใช้ชีวิตและรายได้ตามมาในปัจจุบัน พร้อมทั้งเสียงบประมาณไปมหาศาลกับผลลัพธ์ที่ไม่เกิดผลจริง

Sources :
TDRI | shorturl.asia/7mi8l
TPMAP | shorturl.asia/1F65H
Workpoint Today| shorturl.asia/M1riC
กรุงเทพธุรกิจ | shorturl.asia/Bkb2M, shorturl.asia/8WfND
ฐานเศรษฐกิจ | shorturl.asia/D6yFK
ไทยรัฐ | shorturl.asia/YXKjV, shorturl.asia/P35VE

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.