คุยเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมกับ ‘เป๋า iLaw’ - Urban Creature

Welcome to Thailand ยินดีต้อนรับเข้าสู่ประเทศไทย ประเทศสุดมหัศจรรย์ ดินแดนแห่งการทำความผิด แต่ไม่ต้องรับผลกรรมใดใด มิหนำซ้ำยังถนัดกลับตาลปัตรจากเรื่องขาวให้เป็นดำ และกลับดำให้เป็นขาวได้อย่างมืออาชีพ

เมื่อ ‘ระบบตุลาการ’ ของประเทศ กำลังเอื้อให้คนกลุ่มหนึ่งได้รับสิทธิพิเศษจากกฎหมาย ทำให้หลักผดุงยุติธรรมอันเท่าเทียมของคนในสังคมหล่นหาย กลายเป็นเครื่องมือเลือกปฏิบัติ ปราบปราม และกดขี่ เหล่าชนชั้นปกครองกระหยิ่มยิ้มย่องและลอยนวล ซ้ำยังถืออำนาจ ‘บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ’ อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

โดยเฉพาะ ‘การนิรโทษกรรม’ กระบวนการล้างมลทินของรัฐเผด็จการในตอนนี้ ที่ทำต่อเนื่องมายาวนานกว่า 7 ปีแล้ว เห๊อะ…ถ้าจะให้ลิสต์วีรกรรมหมกเม็ดทางกฎหมายทั้งหมดน่ะเหรอ เสียเวลา คงต้องใช้หลายบรรทัดเหมือนกัน

ในช่วงนี้ ‘นิรโทษกรรม’ เป็นประเด็นที่ถูกหยิบมาพูดถึงอีกครั้ง นั่นเพราะรัฐบาลประยุทธ์และพรรคพวกเป็น ‘บิดาแห่งการยกเว้น’ แบบไร้ที่ติ

เมื่อเดือนสิงหาคม 64 หัวข้อนี้กลับมาอยู่บนหน้าข่าวและความสนใจของประชาชนจำนวนมาก เพราะคณะรัฐมนตรีจะเสนอแก้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ด้วยการเพิ่มสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ต้องการตีเนียนละเว้นความผิดให้เจ้าหน้าที่ และนิรโทษกรรมคนตัดสินใจเรื่องการจัดการวัคซีน ซึ่งการเสนอกฎหมายเพื่อเว้นความผิดเป็นสิ่งที่ประยุทธ์และคณะทำอย่างสุดความสามารถมาตั้งแต่สมัยรัฐประหาร ปี 2557 

ว่าไหม การใช้กฎหมายข่มขืนประชาชนของรัฐนี้ ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ แต่มันไม่ควรเป็นเรื่องปกติในสังคม ถ้า ‘ความยุติธรรม’ เป็นแค่คำนามที่นิยามมั่วตามอำเภอใจ สิทธิของคนไทยอาจเป็นแค่ของเล่นของผู้ปกครอง ด้วยสาเหตุนี้ เราเลยใช้เวลาสั้นๆ ในบ่ายแก่วันหนึ่งช่วงต้นกันยาฯ เพื่อพูดคุยกับ ‘เป๋า-ยิ่งชีพ อัชฌานนท์’ ผู้จัดการ iLaw (โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน) องค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนที่สื่อสารข้อมูลเชิงกฎหมายย่อยง่ายเพื่อความเสมอภาคและความยุติธรรม ก่อนที่เป๋าจะโดดขึ้นเวทีปราศรัยในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า และนี่คือเรื่องที่จำเป็นต้องพูดถึง เขาจึงเต็มใจสละเวลามาคุยกับเรา 

เพื่อตอกย้ำว่าต้องออกมาส่งเสียง ก่อนที่กระบวนการยุติธรรมไทยจะบิดเบี้ยว แหลกสลาย และสูญสิ้นซึ่งความศักดิ์สิทธิ์อย่างไม่มีชิ้นดี


ลบล้างมลทินมัวหมองด้วย ‘นิรโทษกรรม’

“ทางทฤษฎีคำว่า ‘นิรโทษกรรม’ แปลว่าทำให้ความผิดลบล้างหมดไป หมายความว่ามีการทำความผิดตามกฎหมายเกิดขึ้นแล้ว และเมื่อนิรโทษกรรมก็ล้มไป อาจรวมถึงกรณีที่มีการดำเนินคดีอยู่ ก็จะทำให้คดีหมดลงไปทันที ถ้าใครติดคุกก็จะได้ออกทันที หรือใครที่ติดคุกแล้ว ก็จะถือว่าไม่มีความผิด เป็นการล้างมลทินตัวเขาทั้งหมด

“การนิรโทษกรรมโดยหลักการ มันผิด ถ้ามีการทำความผิดเกิดขึ้น ตามกฎหมายก็ต้องบอกว่าคุณทำผิด แต่อยู่ดีๆ กลับออกกฎหมายมาบอกว่าที่มันผิดนั้นไม่ได้ผิด มันแปลกนะ เพราะมันควรจะใช้การนิรโทษกรรมให้น้อยลงที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในกรณีที่ไม่มีทางเลือกจริงๆ

“เมื่อผ่านความขัดแย้งทางการเมือง หรือการเปลี่ยนผ่านทางสังคมบางอย่างมาแล้ว ก็จะมีคดีความที่ค้างคามาจากยุคก่อน ซึ่งความผิดบางประการในวันหนึ่งเป็นความผิดอยู่ดีๆ แต่เมื่อสังคมการเมืองเปลี่ยนไปแล้ว ไม่มีเหตุต้องเอาผิดอีก การดำเนินคดีก็มีแต่จะทำให้เดือดร้อนยุ่งเหยิงกันทุกฝ่าย ก็เลยต้องหาทางลง และหาทางออกว่าทำยังไงให้เรื่องมันจบๆ ไป การนิรโทษกรรมก็มาเอื้อหนุนตรงนี้”


‘นิรโทษกรรม’ กฎหมายสีเทาของคณะรัฐประหาร

“ผมคิดว่า ‘นิรโทษกรรม’ เป็นกฎหมายสีเทาเข้ม ก็ถ้ากฎหมายบอกว่ามันผิดก็คือผิด แล้วคนทำผิดต้องได้รับผลนั้นๆ แม้ว่ากฎหมายจะบกพร่องไม่เป็นธรรมอย่างไรก็ตาม แต่ว่าถ้ามันมีเหตุผลทางการเมือง มีความจำเป็นทางการเมืองหรือเรื่องอื่นๆ มันถึงจะเอามาใช้เป็นข้อยกเว้น แต่ว่าต้องเป็นข้อยกเว้นที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ 

“ยกตัวอย่างเช่น หลังเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก็มีการนิรโทษกรรมครั้งใหญ่ ซึ่งนิรโทษกรรมทั้งฝั่งของคนยิง หรือใช้ความรุนแรงกับนักศึกษา และนิรโทษกรรมฝั่งนักศึกษาด้วย ซึ่งตอนนั้น สมมตินะ เมื่อมีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและรัฐ จะต้องมีการนำคนมาลงโทษทั้งสองฝ่าย เพราะทั้งคู่มีส่วนในความรุนแรง แต่เมื่อมีคู่กรณีเป็นร้อยเป็นพันเรื่อง ก็อาจเปลืองเวลาในกระบวนการยุติธรรม การจะหาคนทำผิดที่มีการปะทะหลักร้อยถึงพันมันยาก งั้นถ้ากูก็ยอม มึงก็ยอม จบกันแค่นี้นะ เลยมีการนิรโทษกรรมคนทั้งสองฝ่าย ซึ่งเหตุการณ์พฤษภา’ 2535 ก็มีนิรโทษกรรมหลังความขัดแย้งให้กับทหารที่ยิงประชาชนด้วยเหมือนกัน 

“ในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ เราออกกฎหมายนิรโทษกรรมมาแล้วยี่สิบสามครั้ง แต่เป็นการนิรโทษกรรมให้คณะรัฐประหารถึงสิบเอ็ดครั้ง ครั้งที่ดูสมเหตุสมผลก็มี เช่น การยกเลิกคดีความผิดฐานเป็นคอมมิวนิสต์ และยกเลิกความผิดของคนต่อต้านญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

“‘การนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร’ จะมีทุกครั้งที่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นในไทย การรัฐประหารยังไงก็ผิดตามมาตรา 21 การที่คณะรัฐประหารจะไม่ผิดก็ต้องมีอะไรมารองรับทางกฎหมาย พูดง่ายๆ คือกฎหมายที่ช่วยล้างมลทินให้ผู้กระทำผิดนั่นแหละ”


นิรโทษกรรม : เรื่องผิดปกติ ที่ทำบ่อยจนเคยชิน

“ทำบ่อยๆ ก็สร้างวัฒนธรรมให้คนรู้สึกว่าทำผิดแบบนี้ได้ พูดรวมๆ ทุกอย่างนะ ในมุมมองการรัฐประหาร สิ่งที่ชนชั้นนำและประชาชนมีปฏิกิริยากับกฎหมายนี้ เมื่อรัฐทำจนเป็นเรื่องปกติ ก็จะทำให้ประชาชนรู้สึกว่าก็ทำๆ ไปก่อน เดี๋ยวอนาคต มีโอกาสค่อยลงโทษกันอีกที มันก็ไม่ถูกต้อง

“เมื่อมีการทำความผิด ก็ดำเนินคดีไปตามกระบวนการปกติ ถ้าเกิดทั้งสังคมเห็นว่าวิธีดำเนินคดีแบบนี้ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นประโยชน์ ก็ต้องมารณรงค์ให้กฎหมายเปลี่ยนแปลง ก็ตรงไปตรงมามากกว่าการไปใช้กฎหมายแบบนั้น กฎหมายไหนไม่ดีก็เปลี่ยนและแก้ไขซะ

“ผมไม่ได้คิดว่าคนยอมรับนิรโทษกรรม คนไม่ยอมรับเลยต่างหาก แต่ยอมเอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับการรัฐประหารและอำนาจพิเศษบางอย่างได้

“ตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามา สมมติว่าในสถานการณ์ทางการเมืองมีคนถูกนิรโทษกรรม ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา แบบนี้โดนด่าตายห่าเลย เพราะว่าคนไม่ยอมรับนิรโทษกรรม แต่สิ่งที่รัฐทำ คือออกประกาศคำสั่ง-คสช. ยกเว้นผิดให้เจ้าหน้าที่ กรณีที่คณะรัฐประหารยกเว้นความผิดให้ตัวเอง คนกลับไม่นับและไม่รู้สึกว่าเป็นการนิรโทษกรรม เพราะไม่ได้เขียนคำว่านิรโทษกรรม แต่เขียนแค่ว่าเป็นคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประกาศว่าเป็นการทำภายใต้ประกาศนี้ ไม่ต้องรับผิด คนก็เลยไม่รู้สึกอะไร 

“อย่างการรัฐประหารที่มีการนิรโทษกรรมตัวเองนี่ พอมันเกิดขึ้นซ้ำๆ ตลอดหลายสิบครั้ง ก็เคยชิน คนรู้สึกว่าเออมันก็เป็นแบบนี้แหละ เกิดขึ้นได้ตลอด ไม่รู้ว่าจะไปต่อต้านทำไม 

“ที่รู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องผิด อาจเป็นไปได้ว่าวิธีการแบบนี้ไปซัปพอร์ตอุดมการณ์ของคนด้วย เพราะบางคนอาจชอบประยุทธ์และการรัฐประหาร หรือบางคนอาจไม่ได้ชอบแต่ไม่รู้จะพูดยังไง กูจะไปด่าคณะรัฐประหาร หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่ามึงเหี้ยมาก ก็อาจคิดว่าจะไปด่าทำไม ไม่มีทางชนะหรอก รู้ว่าไม่ถูก แต่เงียบๆ ไว้ดีกว่าเหนื่อย เจ็บตัวเปล่า แต่ถ้าด่าทักษิณว่า มึงนิรโทษกรรมแบบนี้ไม่ถูกต้อง มันมีโอกาสชนะรัฐบาลได้ มันเท่อะ ทำให้คนด่าดูดี และมีหลักฐานให้ด่ามากกว่าด้วย ผมคิดว่าสังคมเรามีบรรยากาศแบบนี้มากพอสมควรเลย” 


นิรโทษกรรมผิด แต่ฟ้องกลับไม่ได้

“เคสฟ้องร้องมีไม่เยอะ สาเหตุหลักเพราะว่าคนรู้อยู่แล้วว่ากฎหมายเขียนไว้แบบนี้ ก็เลยไม่ฟ้อง มีไม่กี่คดีหรอกฟ้องร้องกัน แต่สุดท้ายพอไปถึงศาลก็ไม่พิจารณาเอาผิดเนื่องจากมีการนิรโทษกรรมไว้แล้ว อย่างตอนที่ทนายความจะตั้งเรื่องฟ้องเนี่ย เขาได้อ่านกฎหมาย แล้วเห็นว่ามันนิรโทษกรรมไว้ กูจะฟ้องทำไม 

“ตัวที่ชัดเจนคือการออกคำสั่งของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 14 ฉบับที่ 3/59 3 และ 4 / 59 ตัวเลขไม่แม่นประมาณนี้แหละ เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ตอนนั้นเขาออกคำสั่งเพื่อให้ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองในกิจการบางประเภท คือให้สร้างโรงงานได้โดยไม่ต้องทำรายงาน การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ( Environmental Impact Assessment ย่อว่า EIA) ข้ามหัวทั้ง EIA และการผังเมือง เพื่อให้โครงการทำได้เลย โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการทั้งหลาย 

“เมื่อคำสั่งออกมาก็เลยไปฟ้องศาลปกครองกัน มีการฟ้องว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ตัวนี้ ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ที่น่าแปลกใจมากคือศาลใช้เวลาหกถึงเจ็ดเดือนกว่าจะผ่าน โดยปกติ ถ้าเป็นคดีที่มาตรฐาน การฟ้องรัฐทั่วๆ ไป เขาจะสั่งรับคดี หรือรับฟ้องวันนั้นเลย บางคดีถ้าเป็นเรื่องใหญ่หน่อย ก็อาจพิจารณาสักสองถึงสามสัปดาห์ ว่าจะรับฟ้องหรือไม่ แต่คดีนี้หายไปนานถึงจะสั่งว่าไม่รับฟ้อง มันแปลกมากเพราะเขาไม่รับฟ้องไว้พิจารณาเลย 

“เราไม่รู้เลยว่าสุดท้ายตัดสินให้แพ้หรือชนะ แสดงว่าคดีนี้ไม่เคยถูกตรวจสอบเลย และศาลก็อ้างเหตุผลว่าประกาศและคำสั่ง คสช. ถูกห้ามตรวจสอบอยู่ตามรัฐธรรมนูญมาตราสุดท้าย เลยไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้คลาสสิกเพราะว่าเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง และมันก็ชัดเจนว่า เฮ้ย มึงเอาง่ายๆ แบบนี้เลยเหรอ มันหน้าด้านเกินไป ถือเป็นคดีที่ฝ่ายประชาชนหยิบขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาว่าถ้าไปฟ้องเรื่องอื่นก็คงชนะยาก เมื่อฟ้องแล้วเราก็แพ้อยู่ดี 

“และจะมีอีกเคสยื่นฟ้องประยุทธ์ว่าผิดฐานกบฏ ศาลชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์ และฎีกาก็ไม่รับฟ้อง ส่วนที่เหลือไม่ได้เป็นคดีถึงศาลนะ อย่างที่บอกคือเมื่อดูข้อกฎหมายแล้วมันไปต่อไม่ได้ คนเลยเลือกไม่ฟ้อง 

“ในช่วงสองถึงสามเดือนนี้ ก็มีคดีฟ้องตำรวจสลายการชุมนุมโดยไม่ชอบทีนี้ แต่ช่วงปีกว่านี้เราอยู่ภายใต้ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ซึ่งมีมาตรา 17 ที่จำกัดการรับผิดเอาไว้อยู่ อาจไม่ได้นิรโทษกรรมร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่นิรโทษกรรมกรณีที่ใช้กำลัง ให้เป็นการใช้อำนาจโดยสุจริตไม่เกินสมควรแก่เหตุ มันยากที่ต้องพิสูจน์ว่าเขาไม่สุจริตและเกินสมควรแก่เหตุยังไง เราก็ยังไม่เห็นคำพิพากษาออกมา ไม่รู้ว่าศาลจะตัดสินออกมายังไง” 


แก้แค่นิรโทษกรรมไม่พอ ต้องแก้กฎหมายทั้งหมดให้โปร่งใส

“ถ้าถามว่าแก้กฎหมายนิรโทษกรรมแล้วจะแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ไหม จะบอกว่าแก้อะไรไม่ได้หรอก (หัวเราะ) เพราะไม่ได้มีบทเดียวหรอกที่เป็นปัญหา ไม่ใช่ว่าแก้ไขอันนี้ปุ๊บแล้วจะดีขึ้นเลย การนิรโทษกรรมตัวเอง เฉพาะของคุณประยุทธ์นั้น มีอยู่ในกฎหมายหลายฉบับมาก ถ้ายกเลิกมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ ซึ่งมาตราหลักก็ยังมีรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 48 อีก เลยจำเป็นต้องไปยกเลิกทั้งคู่พร้อมกัน ซึ่งก็ยังมีประกาศ คสช. ที่ยกเว้นความผิดอีกหลายฉบับ ดังนั้นคงไม่ได้มีแค่เปราะใดเปราะหนึ่งที่ต้องแก้ไข ไม่ใช่ว่าแก้กฎหมายด้วยการมาเขียนขึ้นใหม่กัน แล้วจะป้องกันสถานการณ์แบบนี้ได้ตลอดไป

“เวลาแก้ไขมันต้องแก้ด้วยวัฒนธรรม แก้ไขที่ความคิดและความเชื่อ อย่างเช่น การบอกว่าที่ตำรวจเอากระสุนยางยิงจ่อๆ มอเตอร์ไซค์ที่วิ่งผ่านเป็นเรื่องถูกต้องแล้ว เพราะเขาได้คุ้มครองตามมาตรา 17 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ถ้าเราคิดว่า โอเคมึงได้รับการคุ้มครองอยู่แล้ว ก็ปล่อยๆ ไป กูยอมแพ้ หรือคนโดนยิงคิดว่าเราเอาผิดไม่ได้หรอก ไม่รู้ว่าจะฟ้องทำไม เพราะเหนื่อย หรือว่าประชาชนคนอื่นๆ ดูข่าวแล้วก็คิดว่าตำรวจก็เลวอย่างนี้เป็นปกตินั่นแหละ ก็ช่างมันเหอะ ไม่รู้จะพูดไปทำไม ก็จะแพ้ไปตลอด 

“มันมาถึงจุดที่สังคมรับไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องสู้ ต้องลุกขึ้นมาด้วยการเปลี่ยนวัฒนธรรม ต้องยืนยันว่าจะเอาผิดให้ได้ทั้งในทางศาลและทางสังคม เฮ้ย ไม่ได้ กูเจ็บ มึงทำไม่ถูก ยังไงเสียมึงต้องรับผิด ก็ต้องสู้กันในทางสังคม ประชาชนเห็นคลิปตำรวจยิงกระสุนยาง ก็ต้องช่วยกันพูดว่านี่มันไม่ถูก สุดท้ายจะนำไปสู่การลงโทษได้แค่ไหน ขึ้นอยู่กับบรรยากาศในสังคมว่าไปด้วยกันหรือเปล่า” 


กฎหมายนิรโทษกรรม กระจกสะท้อนอำนาจนิยม

“นิรโทษกรรมสะท้อนวัฒนธรรมอำนาจนิยมหลายอย่าง ใครมีอำนาจจะทำอะไรก็ได้ สะท้อนความผิดปกติของระบบกฎหมาย การออกกฎหมายผูกติดกับอำนาจ ถ้ากฎหมายก็ดี ระบอบนิติรัฐก็จะดี เพราะจะถูกออกแบบมาจำกัดอำนาจของผู้ปกครอง ไม่ให้ใช้อำนาจมากเกินไป และต้องออกโดยองค์กรอื่นที่ไม่ใช่ผู้ใช้อำนาจออกเอง แต่ประเทศไทยระบบของ คสช.นึกจะออกอะไรก็ได้ เพราะมีมาตรา 44 ในมือ สภาที่ออกกฎหมาย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็เป็นของเขา 

“กฎหมายกับอำนาจมันผูกพันกัน ใครมีอำนาจก็ออกกฎหมายได้ ใครไม่มีก็ถูกบังคับใช้อยู่ฝ่ายเดียว ไม่มีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย นี่เป็นระบบของ คสช. แต่ถ้าโดยปกติ องค์กรนิติบัญญัติที่ทำหน้าที่ออกกฎหมาย ต้องมีหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหาร ถ้าฝ่ายบริหารเสนอว่าจะนิรโทษกรรมตัวเอง ฝ่ายนิติบัญญัติต้องไม่ออกกฎหมายให้ หรือสร้างกลไกอื่นมาจำกัดอำนาจเขา แต่นี่ก็เป็นทฤษฎีที่เราฝันไปอย่างนั้นแหละ เป็นฝันสมัยเรียน พอมาทำงานก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย” 


ทนายอกหักจากความล่มสลายของนิติศาสตร์ 

“สาเหตุที่ผมยืนอยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลปัจจุบัน ส่วนตัวผมไม่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมากนัก ผมไม่ได้โกรธแค้นที่รัฐบาลบริหารเศรษฐกิจล้มเหลวหรือว่าเกลียดประยุทธ์ที่ดูโง่ๆ เพราะพูดจากร่างด่าประชาชนไปทั่ว คือจริงๆ ทนไม่ได้หรอก แต่ส่วนที่รู้สึกเยอะที่สุด คือ รับไม่ได้ที่เขาทำลายระบบกฎหมาย

“ที่ผมทำงานมา ผมรับไม่ได้ และโกรธแค้นมากๆ ที่ระบบกฎหมายถูกทำลาย เขาทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องปกติ ทุกคนต้องทำตาม ทั้งๆ ที่มึงเป็นคณะรัฐประหาร แล้วมึงจะมาออกคำสั่งกับใครก็ได้ เดี๋ยวก็ย้ายข้าราชการจากหน่วยงานนี้ไปหน่วยงานนั้น แล้วก็ตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาตามใจชอบ พอถืออำนาจแล้วอยากแก้ไขกฎหมายอะไรก็ทำได้เลยทั้งที่กว่าคนอื่นๆ จะผลักดันกฎหมายได้ฉบับหนึ่งอาจต้องใช้ทั้งชีวิตต่อสู้ เมื่อการออกกฎหมายผูกพันกับอำนาจ ไม่ได้ผูกพันกับเหตุผล สังคมก็จะตกอยู่ในอันตรายที่เกิดจากการกระทำของรัฐมากเป็นอย่างยิ่ง

“อยากจะนิรโทษกรรมตัวเองเมื่อไหร่ก็ไปออกคำสั่ง เอ่อออ…ทำเหมือนไม่มีฝ่ายนิติบัญญัติ มันเป็นเผด็จการ และอยู่นานจนทุกอย่างเป็นเรื่องปกติ อยู่นานกว่ารัฐประหารอื่นๆ ก่อนหน้านี้ และมีเจตนาชัดเจนว่า เข้ามาเพื่อพังระบบการตรวจสอบ และระบบนิติศาสตร์ทั้งหมด ผมพยายามจะบอกทุกๆ คนเลยว่าสาเหตุที่ปัจจุบันนี้ ผมต้องยืนอยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลชุดนี้ เพราะต้องการเอาระบบที่เป็นปกติกลับคืนมาให้ได้”


อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับกฎหมายนิรโทษกรรมจาก iLaw ได้ที่นี่ : ย้อนดูกฎหมายนิรโทษกรรมของไทย 23 ฉบับ เว้นโทษให้คณะรัฐประหารไปแล้วถึง 11 ครั้ง

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.