Tempelhof สวนสาธารณะเบอร์ลิน สนามบิน - Urban Creature

พื้นที่สาธารณะในเบอร์ลิน เมืองหลวงของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี นั้นมีมากมาย ทั้งสวนสาธารณะ ทางจักรยาน ไปจนถึงสเปซคนเดิน เพื่อรองรับประชากรเกือบ 4 ล้านคนให้มีที่พักผ่อนหย่อนใจ โดยหนึ่งในพื้นที่ซึ่งนำมาเปลี่ยนเป็นพื้นที่สาธารณะใจกลางเมืองคือ สถานที่รกร้าง

เราเลยชวนทุกคนมาสำรวจพื้นที่สาธารณะในเมืองเบอร์ลิน ที่ถือกำเนิดขึ้นจากการคืนชีวิตให้พื้นที่รกร้างมีลมหายใจอีกครั้ง เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ชาวเบอร์ลิน

Tempelhof สวนบนสนามบินร้าง

เท็มเพลโฮฟ (Tempelhof) คือชื่อของสนามบินที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งอยู่ในเขตเท็มเพิลโฮฟ-เชอเนอแบร์ค ทางใต้กลางของกรุงเบอร์ลิน ซึ่งในอดีตนั้นยิ่งใหญ่ในฐานะสนามบินหลักของเมืองเบอร์ลิน มีอาคารผู้โดยสารที่เคยใหญ่ที่สุดในยุโรป รวมถึงเป็นสนามบินแรกของเยอรมนีซึ่งใช้เป็นพื้นที่สำหรับปล่อยเครื่องบินขึ้นไปถ่ายภาพทางอากาศ และปล่อยบอลลูนที่เป็นส่วนหนึ่งของการค้นพบชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ (Stratosphere)

ไม่เพียงเท่านั้น ความที่สุดของสนามบินเท็มเพลโฮฟคือสองพี่น้องตระกูลไรต์ซึ่งเป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องบินลำแรกของโลก เคยมา Take Off เครื่องบินที่นี่และทำสถิติใหม่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับวงการการบินในเยอรมนี มากไปจนถึงเคยเป็นส่วนหนึ่งของการรบในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกด้วย

แต่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา สนามบินเท็มเพลโฮฟปิดตัวลงเมื่อ ค.ศ. 2008 และได้รับการปรับปรุงให้เป็นสวนสาธารณะ เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นสวนสาธารณะที่ไม่เหมือนที่ไหน เพราะมีทางทอดยาว และกลายเป็นหนึ่งในพื้นที่เปิดที่มีขนาดใหญ่มากของโลก

ซึ่งชาวเบอร์ลินถูกใจกับสิ่งนี้ไม่น้อย และมักออกไปทำกิจกรรมต่างๆ ที่สวนสาธารณะเท็มเพลโฮฟ ไม่ว่าจะเป็นเล่นสเก็ต เล่นว่าว ขี่จักรยาน และยังมีสวนกว้างใหญ่สองข้างทางให้ชาวเมืองได้มานั่งปิกนิกรับแดด และบางครั้งก็มีการจัดกิจกรรมแหวกแนว (สำหรับสวนสาธารณะ) อย่างการแข่งขันรถฟอร์มูลาวัน

รวมทั้งยังจัดพื้นที่สำหรับทำสวนในเมือง (Urban Gardening) ซึ่งเป็นพื้นที่เล็กๆ ให้ชาวเมืองที่บ้านไม่มีพื้นที่หรือระเบียงเช่าทำสวนและปลูกพืชผักกินเอง ซึ่งตอนนี้การทำสวนในเมืองเป็นเทรนด์ใหม่ในเยอรมนีเช่นกัน

Gleisdreieck สวนใจกลางสามเหลี่ยมทางรถไฟ

ออกจากสวนสาธารณะเท็มเพลโฮฟ พาไปต่อกันที่ สวนสาธารณะไกรส์ไตรเอ็ก (Gleisdreieck) ที่ได้รับรางวัลด้านการออกแบบที่ดีและการก่อสร้างที่มีคุณภาพ

โดยชื่อ ไกรส์ไตรเอ็ก นั้นแปลว่าสามเหลี่ยมทางรถไฟ เพราะสวนนี้อยู่ตรงกลางเส้นทางรถไฟที่ตัดกันเป็นสามเหลี่ยมพอดี โดยเมื่อก่อนเคยเป็นพื้นที่รกร้างซึ่งมีวัชพืชขึ้นมากมายหลายชนิด แต่ตอนนี้ถูกเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะให้ชาวเบอร์ลินมาพักใจ

ความพิเศษของสวนสาธารณะไกรส์ไตรเอ็ก คือพื้นที่สำหรับเล่นสเก็ตบอร์ดโดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังเป็นจุดชมรถไฟยอดฮิต เพราะสวนสาธารณะไกรส์ไตรเอ็กล้อมรอบด้วยทางรถไฟ จึงมีคนมานั่งดูรถไฟวิ่งไปมา

มีทั้งทางรถไฟความเร็วสูงวิ่งข้ามเมือง (สีขาวแดง) และทางรถไฟในเมือง (สีเหลือง) เรียกได้ว่าสำหรับใครที่คลั่งไคล้รถไฟ ก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่น่าสนใจทีเดียว

นอกจากการเปลี่ยนพื้นที่รกร้างสู่สวนสาธารณะแล้ว เบอร์ลินยังเป็นเมืองแรกของประเทศเยอรมนีที่สร้างทางจักรยานชั่วคราวสาธารณะ (Pop-up Bike Lanes) ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักในปีที่ผ่านมา เพราะรถสาธารณะกลายเป็นพื้นที่สุ่มเสี่ยงต่อการติดโรค และมีผู้คนจำนวนหนึ่งไม่สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลเนื่องด้วยข้อจำกัดด้านอายุ

ซึ่งการสร้างครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างฉับไวที่ไม่ได้ทำเพียงทาสีเหลืองบอกทางบนถนน แต่มีการกั้นไม่ให้รถยนต์ข้าม เพื่อเพิ่มความปลอดภัยสำหรับนักปั่นจักรยาน

เมื่อแดดจ้า สวนสาธารณะจะคึกคัก

ยามแดดออกในไทย ผู้คนต่างหลบหลีกแดดแรงๆ แต่สำหรับชาวเบอร์ลิน วันที่แดดออกคือวันที่อากาศดีซึ่งมีจำนวนน้อยมากต่อปี จึงไม่แปลกเลยที่เมื่อแดดส่องฟ้า จะเห็นผู้คนออกมารับแดดในสวนสาธารณะ หรือหากเป็นวันที่แดดไม่สดใสแต่อากาศอบอุ่น ก็มีผู้คนมากหน้าหลายตาออกมาหย่อนใจในสวนสาธารณะแล้วล่ะ

แม้ครั้งนี้เราจะหยิบยกเพียงเรื่องของพื้นที่สาธารณะในเบอร์ลินมาเล่าสู่กันฟัง แต่ในความจริง เบอร์ลินยังพัฒนาแง่มุมต่างๆ อีกมากมายตามแนวทางของสหประชาชาติ เช่น การใช้พลังงานสะอาด การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน การยกระดับคุณภาพการศึกษา ไปจนถึงการลดปริมาณขยะ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คน และพัฒนาเมืองให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อมอบประโยชน์สูงสุดให้ชาวเบอร์ลินทุกคน


Sources :
Insider
Jedelsky
Slow travel berlin
The culture trip
Visitberlin

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.