เพจรองขาโต๊ะ ถ้ารัฐใส่ใจ ประชาชนจะเข้าถึงหนังสือ - Urban Creature

สมุดบันทึกรักการอ่าน คือจุดเริ่มต้นของการเปิดหน้าหนังสือเพื่อกวาดตามองดูตัวอักษรที่ร้อยเรียงเป็นเรื่องราวของใครบางคน แต่สำหรับอีกหลายคน แทบไม่มีหนังสือให้พวกเขาได้สัมผัสเลย คำถามที่ตามมาคงเป็นความสงสัยว่า ความเหลื่อมล้ำที่มีเกิดขึ้นจากอะไร ? 

ชวนค้นหาคำตอบกับแอดมิน รองขาโต๊ะ เพจรีวิวหนังสือที่เกิดจากความขี้เล่นแกมเสียดสีของชายผู้มีหนังสือเป็นสมการสำหรับแก้ปัญหาที่สงสัย มากไปกว่านั้นสารบัญชีวิตของเขายังมีประเด็นสังคมต่างๆ ที่เกิดจาก ‘การอ่านหนังสือ’ ให้ขบคิด

.

บทนำ: ขอยืมไปรองขาโต๊ะหน่อย

ซื้อหนังสือมาแล้วผิดหวัง เนื้อหาที่อ่านพาให้รู้สึกเสียดายเงินที่จ่าย จนตั้งสเตตัสบ่นเช้าบ่นเย็น คือจุดเริ่มต้นของการเปิดเพจรีวิวหนังสือที่เขาเล่าให้เราฟัง 

“ผมซื้อหนังสือเล่มหนึ่ง แล้วราคาไม่ไปด้วยกันกับเนื้อหาที่อ่าน เพราะรู้สึกว่าอ่านแล้วไม่ได้อะไรกลับมา เลยพิมพ์บ่นลงหน้าเฟซบุ๊กตัวเองทุกวัน ตื่นเช้ามาก็โพสต์เลยครับ (หัวเราะ) จนเพื่อนมาคอมเมนต์แซวว่า ‘ขอยืมไปรองขาตู้หน่อย’ แต่จำผิดเป็นยืมไปรองขาโต๊ะ เลยเอาไปเปิดเพจครับ ซึ่งว่ากันตามจริง เพจเริ่มมาจากความโกรธนะ (หัวเราะ)”

ความน่านำไปรองขาโต๊ะจึงกลายเป็นกิมมิกการรีวิวหนังสือในแบบฉบับของเขา คะแนนสูงสุดอยู่ที่ 5 ซึ่งกับคนอื่นอาจดีใจว่าได้คะแนนเยอะ แต่สำหรับรองขาโต๊ะ ยิ่งคะแนนสูงยิ่งแปลว่าไม่ผ่าน กลับกันหากตัวเลขที่ปรากฎมีเครื่องหมายลบนำหน้ายิ่งแปลว่าน่าอ่าน

“ยอมรับว่าการให้คะแนนเป็นมุมมองส่วนตัวล้วนๆ เลยครับ บางเล่มเคยทะลุขึ้นไปเก้าแสนคะแนน (หัวเราะ) คือผมเป็นคนค่อนข้างกวนนิดหน่อย ซึ่งคนที่ติดตามจะพอรู้แล้วก็จะขำกันไป แต่ไม่ได้แปลว่าเอาหนังสือเล่มนั้นไปรองขาโต๊ะจริงๆ นะ แล้วก็ไม่ได้หมายความว่า หนังสือเล่มนี้จะแย่ ยกเว้นว่าถ้าเป็นหนังสือวิชาการ แล้วให้ข้อมูลที่ผิด พยายามยัดเยียดเนื้อหาที่แย่เข้ามา อันนี้ผมมองว่าไม่มีจรรยาบรรณ”

หนังสือทุกเล่มมีคุณค่ากับคนบางคนซึ่งแปรผันตามช่วงอายุ เหตุการณ์ และประสบการณ์ส่วนตัว หนังสือบางเล่มผมอ่านแล้วอาจไม่รู้สึกอะไรเลย แต่กลับกันบางคนมาอ่านก็อาจช่วยให้เขามีความสุขขึ้นได้ 

บทที่ 1: ชอบเถียงเลยชอบอ่าน

แม้จะเริ่มอ่านหนังสือตั้งแต่เด็กเพราะคุณแม่ชอบซื้อหนังสือเข้าบ้าน แต่เมื่อถึงวัยมัธยมปลายจนถึงมหาวิทยาลัยช่วงต้น เขากลับเบื่อหน่ายการกวาดสายตาไปตามตัวอักษร แต่สิ่งที่ทำให้หันมาอ่านหนังสืออีกครั้งคือ “ความอยากเอาชนะเพื่อน”

“ผมเป็นคนค่อนข้างจะนิสัยเสียนิดหน่อย (หัวเราะ) อยากเอาชนะเพื่อนแล้วรู้สึกว่าทำไมตัวเองเถียงแพ้ตลอด เลยคิดว่าเราขาดอะไรไป ซึ่งมันคือองค์ความรู้บางอย่างที่จะมาตอบคำถามนั้นๆ ได้ เลยกลับมาอ่านหนังสือครับ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกอย่างที่อ่านมามันถูกหมดนะ ผมก็ล้มลุกคลุกคลานไป บางทีเอาข้อมูลในหนังสือไปเถียงกับเพื่อน เขาก็โต้แย้งกลับมาได้ ซึ่งยิ่งเราค่อยๆ โตขึ้น สุดท้ายแล้วข้อมูลที่เราได้รับมาจากการอ่าน ก็ต้องนำมาประมวลผลอีกที ไม่ใช่อ่านแล้วเชื่อทุกอย่างเลย”

เมื่อเล่ามาถึงการอ่านอย่างไม่เชื่อทุกอย่าง เขาเลยพูดถึงการอ่านหนังสือที่ดีให้ฟังว่า สำหรับตัวเขา การอ่านที่ดีคืออ่านแบบวิพากษ์ อ่านแล้วเกิดการตั้งคำถาม ว่าสิ่งที่อ่านมาเมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้รู้นั้นถูกต้องหรือเปล่า 

“หนังสือ ‘ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย – A History of Thailand’ เป็นประวัติศาสตร์ไทยอีกชุดหนึ่งที่ไม่เคยเจอในห้องเรียน เมื่ออ่านแล้วทำให้ผมตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์ที่เรียนมาก่อนหน้านี้ คืออ่านแล้วอาจไม่ได้เชื่อเต็มร้อยนะครับ แต่อ่านเพื่อวิพากษ์ เพื่อตรวจสอบว่าข้อมูลนี้มันจริงหรือเปล่า ซึ่งทำให้ผมพยายามหาประเด็นนี้ต่อไป”

แล้วหนังสือที่ดีควรเป็นแบบไหน ? เราถามเขาต่อ ก่อนได้รับคำตอบกลับมาพร้อมรอยยิ้มเล็กๆ

“คือหนังสือที่อ่านแล้วชอบ (หัวเราะ) เพราะสุดท้ายแล้วถ้าเราบอกว่าหนังสือที่ดี ก็ต้องมานั่งนิยามคำว่าดีกันอีกครับ แต่ผมคิดว่าไม่ว่าหนังสือจะเป็นแบบไหน มันควรวิจารณ์ได้ ถ้าเราวิจารณ์อย่างสุจริต เพราะสุดท้ายแล้วคำวิจารณ์เป็นแค่ความคิดเห็นครับ คือถ้าคุณบอกว่าผมโจมตีนักเขียน คุณก็วิจารณ์ผมกลับมาก็ได้ ถ้ามันอยู่ในเหตุและผล”

.

บทที่ 2: โลกใบใหม่

ในโลกของรองขาโต๊ะ เขาบอกกับเราว่าได้ค้นพบโลกใบใหม่ผ่านการอ่านหนังสือ บางโลกเมื่อเปิดหน้าปกเข้าไปแล้วเจอเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจ ซึ่งนั่นเป็นสารกระตุ้นให้เขาอยากค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมต่อ และยังมีโลกหนังสืออีกหลายใบที่เมื่อเพียงพลิกหน้ากระดาษ ก็สร้างความประหลาดใจกับเนื้อหาได้เสมอ

‘สงครามที่ไม่มีวันชนะ: ประวัติศาสตร์การต่อสู้ระหว่างมนุษย์และเชื้อโรค’ ของหมอเอ้ว – นพ.ชัชพล เกียรติขจรธาดา คือหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของการแพทย์และเชื้อโรคตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันด้วยภาษาที่สนุก มันทำให้ผมเจอโลกของเชื้อโรคและอาการต่างๆ ฟังแล้วอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่โต แต่ผมกลับได้รู้ว่า ทุกครั้งที่เจ็บคอ ไม่ได้แปลว่ากินยาปฏิชีวนะแล้วจะหาย” 

รงค์ วงษ์สวรรค์ คือนักเขียนที่เปิดโลกอีกใบให้หนุ่มนักอ่านคนนี้ เพราะเขาบอกว่าทั้งชีวิตที่อ่านหนังสือมา ไม่เคยมีนักเขียนคนไหนถูกยกให้อยู่ในดวงใจเลย แต่เมื่อได้อ่านหนังสือ ‘ดอกไม้ในถังขยะ’ ของอารงค์ (ตามที่เขาเรียก) สารบัญชีวิตก็มีชื่อนักเขียนท่านนี้ให้คอยติดตาม

“ผมไม่เคยรู้จัก และไม่เคยอ่านงานของอารงค์มาก่อน แต่หลังจากได้ลองซื้อมาอ่านแล้วชอบมาก เพราะงานของอารงค์มีสำนวนในการเขียนที่ค่อนข้างจะมีอารมณ์ขัน ในขณะเดียวกันก็เสียดสีปัญหาบางอย่างที่อยู่ในสังคมไปด้วย 

“อย่างเล่ม ‘ดอกไม้ในถังขยะ’ ที่เขียนเล่าชีวิตคนในกรุงเทพฯ เมื่อ 20-30 ปีก่อน เป็นการเล่าเรื่อยเปื่อยนะครับ แต่ในความเรื่อยเปื่อย มันสะท้อนปัญหาที่เกิดในตอนนั้นกลับมาจนถึงปัจจุบัน เช่น ปัญหารถติด ซึ่งถ้าเรามองว่าเป็นปัญหา มันควรจะแก้ได้ไปแล้ว หรือเรื่องแดดร้อน ที่วิธีแก้คือการปลูกต้นไม้ให้ร่มเงา แต่ก็ยังแก้ไขกันไม่ได้ ผมอ่านแล้วนั่งขำ แต่ในความขำมันคือปัญหานะครับ”

เขาบอกกับเราต่อว่า ไม่ได้นับว่าเจอโลกใบใหม่ไปแล้วกี่ใบจากการอ่าน เพราะทุกวันนี้ไม่เคยนับว่าอ่านหนังสือไปแล้วกี่เล่ม แต่พูดได้ว่าเกินร้อยเล่มแน่นอน ซึ่งเนื้อหาจากหนังสือนับไม่ถ้วนที่ได้จดจ่อ ทำให้เขาเป็นเขาที่มีเหตุผลมากขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ

“ตั้งแต่อ่านหนังสือมา ผมรู้สึกได้เลยว่า ตัวเองใช้อารมณ์น้อยลง เมื่อก่อนผมเป็นคนอารมณ์ร้อน มีอะไรก็โมโหอย่างเดียว แต่พอมาอ่านหนังสือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกปรัชญา มันช่วยขัดเกลาให้ผมเป็นคนใช้เหตุผลมากขึ้น แล้วอารมณ์ก็ลดลงเองโดยอัตโนมัติ คือมันไม่มีหนังสือเล่มไหนเขียนบอกหรอกว่าการอ่านหนังสือช่วยได้ยังไง แต่เมื่อเราใช้เหตุผลเยอะขึ้น อารมณ์ก็จะลดลงไปโดยปริยาย นี่คือสิ่งที่ผมรู้สึกว่า ผมเปลี่ยนไปในทางที่ดีเพราะการอ่าน

“ซึ่งผมมีนักปรัชญาท่านหนึ่งที่ชอบคือ ‘คาร์ล มาร์กซ์’ (Karl Marx) ครับ เป็นนักปรัชญาที่วิเคราะห์ด้านสังคม เพราะตอนนี้ผมกำลังสนใจปัญหาสังคมอยู่ อย่างเรื่องยาเสพติด หรืออาชญากรรมต่างๆ เลยคิดว่าปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ก็เริ่มไปศึกษาจนเจอคำว่า ‘ปัญหาเชิงโครงสร้าง’ ครับ ซึ่งทฤษฎีของมาร์กซ์มีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า ‘การโดนขูดรีดจากชนชั้นนายทุน’ ที่เอามาปรับเข้ากับสังคมบ้านเราได้ 

“คือบ้านเราเอื้อนายทุนสุดโต่ง แต่ในขณะเดียวกันก็ปล่อยคนกลุ่มหนึ่งทิ้งไว้ข้างหลัง แล้วพอกลุ่มนั้นมีปัญหาเราก็แค่จับเขาติดคุก แต่ไม่เคยมองและลงไปแก้ปัญหาที่โครงสร้างเลย ดังนั้นผมคิดว่า ถ้ายังไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ยังไงก็ไม่มีความสุข แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า แนวทางของมาร์กซ์คือคำตอบที่ดีที่สุดนะครับ”

.

บทที่ 3: เด็กไทยอ่านหนังสือน้อย

วาทกรรมคนไทยอ่านหนังสือปีละ 7 บรรทัดที่ได้ยินกันมา หลายภาคส่วนมองว่านี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นจากปัจเจกบุคคล จนกลายเป็นอีกหนึ่งวาระระดับชาติที่พยายามเพิ่มจำนวนบรรทัดให้มากขึ้น แต่สำหรับนักอ่านอย่างเพจรองขาโต๊ะเอง เขากลับคิดว่า “การไม่อ่านไม่ใช่ปัญหา”

“ผมมองว่าเด็กจะเลือกไม่อ่านหนังสือก็ได้ เพราะปัจจุบันโลกไปไกลเกินกว่านั้น การอ่านหนังสือไม่ใช่วิธีเดียวที่จะทำให้เด็กเก่งขึ้นแล้ว เพราะตอนนี้มีหลายช่องทางให้ค้นหาความรู้ครับ ไม่ว่าจะเป็นการดู การฟัง หรือการลงมือทำจริง สุดท้ายมีทางเลือกเยอะๆ ให้กับเด็กเป็นเรื่องดีที่สุดครับ ถ้าไม่อ่านก็ให้เขาฟัง ให้เขาดู ถ้าเด็กเข้าใจ ผลลัพธ์ที่ออกมาก็ดีได้เหมือนกัน” 

เมื่อโลกเปลี่ยนต้องมานั่งตั้งโจทย์กันใหม่ว่าเป้าหมายคืออะไร ถ้าคือความต้องการให้เด็กมีความรู้ ให้เด็กคิดเป็นก็ค่อยมาหาว่า เครื่องมือแบบไหนเหมาะกับเด็กคนไหนมากที่สุด โดยให้เขาเป็นคนเลือกเองครับ

ถ้าตัวเลือกการได้มาซึ่งความรู้เยอะขึ้น เราจึงอยากรู้ว่าในฐานะคนชอบอ่าน คิดว่าจะมีวันที่หนังสือหายไปหรือเปล่า

“มันไม่น่าจะไปถึงวันที่วงการหนังสือล่มสลายได้ครับ เพราะสุดท้ายแล้วก็จะมีคนที่ยังต้องการหนังสืออยู่ คือคนซื้อหนังสือมีหลายประเภทนะครับ บางคนซื้อเพราะอ่าน บางคนมองว่าหนังสือเป็นวัตถุที่ตอบสนองความรู้สึกชั่วขณะหนึ่งได้ หรือบางคนอาจมองว่าหนังสือเป็นแฟชั่น ซื้อมาแล้วรู้สึกว่า การมีหนังสือมันเท่จัง เพราะฉะนั้นผมคิดว่าปัจจุบัน ถ้าหนังสือยังตอบโจทย์กับคนซื้อในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งก็จะยังไม่หายไปครับ”

.

บทที่ 4: รัฐ ทุน (ยังไม่) เปิดกว้าง 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ราคาหนังสือที่แพงขึ้น คืออีกปัจจัยที่ทำให้การเข้าถึงหนังสือเป็นไปอย่างไม่ถ้วนทั่ว แต่อีกมุมหนึ่งถ้ามีการสนับสนุนที่ดี เขามองว่าอย่างไรทุกคนก็จะเข้าถึงหนังสือได้

“ประเด็นที่ใหญ่กว่าราคาหนังสือแพง คือภาครัฐบ้านเราลงทุนกับการอ่านน้อยไปครับ ส่วนตัวผมคิดว่ารัฐบาลยังไม่มองว่าการอ่านช่วยพัฒนาศักยภาพของคนในประเทศได้ มันเลยต่อเนื่องไปถึงการไม่มีห้องสมุดประชาชนที่เปิดให้คนเข้าถึงมากพอ ซึ่งผมว่าเราควรจะซีเรียสเรื่องการให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนตรงนี้มากกว่า ถึงแม้หนังสือจะแพง แต่ถ้ามีห้องสมุดและหนังสือฟรีกระจายอยู่ทั่วเมืองของทุกจังหวัด และมีการซื้อหนังสือที่ดีเข้าไปเติมเรื่อยๆ ทุกคนก็จะเข้าถึงองค์ความรู้ได้ครับ”

ถ้าอย่างนั้นเป็นไปได้ไหมที่ห้องสมุดประชาชนจะกระจายอยู่ทั่วเมืองในทุกจังหวัด เราถามกลับไปเมื่อได้ฟังคำตอบ

“ได้ครับ แต่สุดท้ายแล้วต้องย้อนกลับไปถามรัฐบาลว่า อยากพัฒนาประเทศยังไง อยากให้เป็นไปในทางไหน และควรจะลงทุนกับอะไร เพราะถ้าเขาคิดว่าประชาชนคือสิ่งสำคัญในการพัฒนาประเทศ เขาจะลงทุนกับเรามากกว่านี้ครับ

“รวมไปถึงการสนับสนุนหนังสือในพื้นที่ห่างไกล สุดท้ายแล้วผมก็มองว่ารัฐคือกลไกสำคัญครับ เพราะถ้ารัฐยังไม่สนับสนุนมากพอ แม้เราจะบริจาคหนังสือให้เด็กอ่านเยอะเท่าไหร่ แต่ก็ไม่สามารถมั่นใจได้ว่าคนที่จัดการห้องสมุดจะดูแลดีไหม หรือจะมีใครมาแนะนำหนังสือให้เด็กๆ หรือเปล่า”

เมื่อได้ฟังคำตอบแล้วย้อนกลับไปถึงคำว่า หนังสือแพง เขาบอกเราต่อว่า หากลดราคาหนังสือไม่ได้ ด้วยเรื่องของต้นทุนที่สำนักพิมพ์ต้องใช้ วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ การทำให้ประชาชนมีเงินมากขึ้น เพราะนั่นจะหมายถึงการมีกำลังจับจ่ายใช้สอยสิ่งต่างๆ ในชีวิต รวมไปถึงการซื้อหนังสือสักเล่มได้ไม่ว่าจะราคาเท่าไหร่ก็ตาม 

รัฐ คือกลไกอันดับหนึ่งในการส่งเสริมให้คนอ่านหนังสือ ถ้าเขาให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน การปลูกฝังเป็นภาพใหญ่จะทำให้ประชาชนอยากอ่านหนังสือมากขึ้น

บทส่งท้าย: หนังสือสำคัญไฉน

หน้าสารบัญของ เพจรองขาโต๊ะ ถูกเปิดมาจนถึงบทส่งท้าย การพูดคุยสบายๆ ที่แฝงไปด้วยความเข้มข้นกับเขาชวนให้เราในฐานะของนักเขียนและนักอ่านได้ฉุกคิดตลอดเวลา ก่อนจุดสิ้นสุดของบทสนทนาเรื่องหนังสือจะมาจบที่ว่า ความสำคัญของหนังสือในมุมมองของเพจรองขาโต๊ะคืออะไร

“สำหรับผม หนังสือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการแสวงหาความรู้ และความสุขครับ มันทำให้ได้คิด ได้ทบทวนกับสิ่งที่เชื่อ ได้ค้นหาคำตอบเมื่อไม่รู้ และยังทำให้เรามีเรื่องไปพูดคุยกับคนอื่นได้”

หนังสือกลายเป็นอาวุธหนึ่งทางความรู้ที่นำไปต่อสู้กับเรื่องรอบตัวได้ เพราะมันเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลที่สุดท้ายแล้วเมื่อคุณอ่าน จะได้บางสิ่งติดตัวตลอดไป

#แด่ความต้องการให้ทุกคนเข้าถึงหนังสืออย่างเท่าเทียม

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.