Teach for Thailand เด็กหลังห้อง - Urban Creature

ในทุกปีเด็กไทยจำนวนกว่า 430,000 คน หลุดอยู่นอกระบบการศึกษาภาคบังคับ ด้วยบริบททางฐานะ สังคม ความเชื่อด้านการศึกษา รวมไปถึงปัญหาเชิงระบบอย่างการบริหารและนโยบายการศึกษา ทำให้เด็กและครอบครัวเดินหันหลังให้กับเส้นทางการเรียน

ย้อนไปสมัยวัยเรียน ‘เด็กหน้าห้อง’ เป็นนิยามของเด็กเก่ง ตั้งใจเรียน ในทางกลับกัน ‘เด็กหลังห้อง’ มักถูกตัดสินว่าเป็นเด็กเกเร ไม่เอาไหน และถูกละเลย 

แค่ภายใน 1 ห้องเรียน เรายังเห็นการแบ่งแยกที่ให้เด็กได้รับโอกาสทางการศึกษาไม่เท่าเทียมกัน หากถอยออกมามองภาพใหญ่ จะเห็นว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เกิดขึ้นตั้งแต่ระดับห้องเรียน โรงเรียน ไปจนถึงระดับประเทศ มุมหลังห้องจึงเปรียบเสมือนภาพสะท้อนปัญหาการศึกษาไทยที่ทิ้งเด็กเหล่านี้ไว้ข้างหลัง

ตามเราไปเปิดห้องเรียนกับ นิทรรศการภาพถ่าย ‘มุมหลังห้อง’ ที่พาไปสำรวจเด็กไทยในโรงเรียนที่มีบริบทท้าทาย โดยจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 9 – 26 มกราคม 2563 ที่สยามดิสคัฟเวอรี ชั้น 5 จากความตั้งใจของ Teach For Thailand เพื่อบอกเล่าอีกมุมของเด็กหลังห้อง ที่เชื่อว่าเด็กทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงได้

ภาพถ่ายจากกล้องฟิล์มของนักเรียนและครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงในโครงการตลอด 1 ปีที่ผ่านมา รวมถึงผลงานของช่างภาพและศิลปิน นท The Star, ADD CANDID, คุณเอก พิชัย, และ JAD JADSADA ที่เดินทางไป 5 โรงเรียนที่มีบริบทท้าทายใน 5 จังหวัดของประเทศไทย ถูกรวบรวมไว้ในนิทรรศการนี้เพื่อเป็นกระบอกเสียงสู่สังคม

“เด็กทุกคนมีศักยภาพในตัวเอง แต่พวกเขาต้องการคนที่
พร้อมจะเชื่อมั่นและทุ่มเท เพื่อเข้าไปปลดล็อกศักยภาพนั้น”

นิทรรศการนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าขาดคนต้นคิด ‘ปัน’ ปาณศานต์ พัฒนกุลชัย ปัจจุบันเป็นกราฟิกดีไซเนอร์และช่างภาพที่ Teach For Thailand เล่าถึงที่มาที่ไปของนิทรรศการภาพถ่าย ‘มุมหลังห้อง’

ปัน : เริ่มแรกเราอยากเห็นเบื้องลึกของเด็กว่าเขาคิดอะไร เห็นสภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร ปีก่อนเราเลยส่งกล้องฟิล์มไปให้เด็กๆ บันทึกเหตุการณ์ สิ่งที่ได้เรียนรู้ หรือความรู้สึกในแต่ละวัน หลังจากนั้นเราก็อยากเห็นมุมมองของครูในโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง ของ Teach For Thailand เราก็ได้เห็นมุมมองอะไรที่แตกต่างไป เลยเกิดไอเดียว่า ถ้าลองเอาคนนอกที่เป็นช่างภาพสตรีทมาถ่ายทอดมุมมองการศึกษา เราอาจได้มุมมองใหม่ๆ โดยให้โจทย์ไปใช้เวลากับเด็กๆ 1 วัน จนเป็นที่มาของนิทรรศการ 

“มุมหลังห้อง อาจสื่อความถึงเด็กที่ไม่ตั้งใจเรียน
แต่ในอีกมุมคือเด็กบางโรงเรียนที่การศึกษาเข้าไม่ถึง”

เซ็ทภาพขาวดำคือผลงานของปัน ถ่ายที่โรงเรียนในจังหวัดลพบุรี ภาพที่ปันชอบที่สุดเป็นภาพเด็กกำลังปล่อยมือจากบาร์โหน ปันตีความหมายว่า ดูรูปนี้แล้วอาจคิดว่าเด็กตั้งใจปล่อยมือลงมาเอง สื่อถึงเด็กอยากจะออกจากโรงเรียนเอง หรือเด็กตกลงมาโดยไม่ตั้งใจ สื่อถึงการศึกษาและสภาพแวดล้อมปล่อยเขาให้หลุดออกจากระบบ

อีกหนึ่งผู้ที่อยู่เบื้องหลังนิทรรศการ ‘พี่แบงค์’ ณัฐพล จิตต์สุกใส ตำแหน่ง Senior Communication Associate ของ Teach For Thailand ขยายความถึง ‘มุมหลังห้อง’ และความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้กระจ่างชัดยิ่งขึ้น

พี่แบงค์ : เราอยากจะแทนโรงเรียนทั้งหมดเป็นเหมือนหนึ่งห้องเรียน โรงเรียนที่เราเลือกไปก็เหมือนมุมหลังห้อง แต่ละโรงเรียนมีความท้าทาย โดยเฉพาะปัญหาที่เด็กต้องเจอนอกห้องเรียน ปัญหาการศึกษามันเกี่ยวพันกันซับซ้อน ทั้งเรื่องของเศรษฐานะของนักเรียน ที่บ้าน ปัญหาทางสังคม ปัญหาทางนโยบายของสถานศึกษา หรือแม้แต่ปัญหาเชิงการปฏิบัติงานในโรงเรียน ทุกอย่างเป็นองค์ประกอบรวมกัน ซึ่งคงบอกไม่ได้ว่าใครเป็นคนผิด แต่มันคือปัญหาที่ทุกคนมีส่วนรับผิดชอบร่วมกันได้ Teach For Thailand อยากจะสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้กับเด็กไทยทุกคน 

“เพราะเราเชื่อว่าเด็กทุกคนควรจะเข้าถึงการศึกษา
ที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม”

ภาพถ่ายวิวที่ผ่านทุกวันระหว่างทางไปโรงเรียนของ ‘น้องตะวัน’ ตะวัน ศรีชัย นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนแม่วินสามัคคี จ.เชียงใหม่ ที่ได้แชร์ประสบการณ์ ‘เด็กหลังห้อง’ จนเราต้องเปลี่ยนความคิด จากเด็กเกเรที่มีปัญหาทางบ้านเพราะไม่ถูกกับพ่อเลี้ยง ติดเกม โดดเรียน แม้กระทั่งเคยหลงผิดไปริลองยาเสพติด แต่หลังจากได้คำแนะนำจากพี่ก็ได้แรงบันดาลใจอยากเข้าเรียนมหาวิทยาลัย และจากความตั้งใจนี้จึงได้โอกาสจากญาติส่งไปเรียนมัธยม

น้องตะวัน : อยากให้ทุกคนลองมองย้อนกลับไปดูนะครับว่า เด็กคนหนึ่งที่เสเพล ใช้ชีวิตไปวันๆ เหมือนจะไม่มีอนาคตแล้ว แต่สามารถมายืนในจุดๆ นี้ได้

“เด็กทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ แค่ได้รับโอกาสและคำแนะนำที่ดี
สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือกำลังใจ”

ภาพถ่ายจากสายตาครูที่มองนักเรียนเล่นกันอย่างสนุกสนาน ผลงานของ ‘ครูซอ’ สัณห์สิรี จงภู่ ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 5 โรงเรียนบ้านเกาะรัง จ.ลพบุรี ภาพประทับใจของครูซอเป็นช่วงเวลาที่เด็กๆ เลิกเรียน และกระโดดยางเล่นกัน ครูซอเล่าว่าภาพนี้จับจังหวะได้ตอนที่เด็กกำลังกระโดด แล้วจึงคิดเรื่องราวต่อจากนั้นว่า หากเราไม่กระโดดเราก็จะไม่ก้าวผ่านความกลัวที่เราสร้างขึ้นมาเอง หรือที่ใครสร้างขึ้นให้เรา

ครูซอ : อยากให้ทุกคนหันมาทำความเข้าใจกับปัญหาในโรงเรียน หรือบริบทการศึกษาที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย คนทั่วไปจะมองว่าครูไม่ดี เด็กไม่มีคุณภาพ ระบบการศึกษาล้มเหลว ลองมองย้อนกลับไปที่ตัวเองว่า วันนี้เราทำอะไรได้บ้างเพื่อให้การศึกษาไทยดีขึ้น แค่เราเข้าใจและเปลี่ยนมุมมองความคิด 

“ไม่มีใครอยากเป็นต้นเหตุของปัญหา หรือเป็นปัญหาของสังคม”

หลังจากเดินชมนิทรรศการก็มีเสวนาในหัวข้อ: ‘ปัจจุบัน และ อนาคต ที่เป็นได้มากกว่า’ ที่เราได้ฟังความคิดเห็นดีๆ จาก ‘พี่ภูมิ’ ภูมิ เพ็ญตระกูล ศิษย์เก่า Teach For Thailand รุ่นที่ 4 ที่ก้าวมาเป็นนักวิเคราะห์และบริหารโครงการวิจัยด้านการผลิตและพัฒนาครู กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กับคำถามที่ว่า

การเปลี่ยนโฉมการศึกษาไทย เป็นไปได้ไหม ?

พี่ภูมิ : มันเป็นปัญหาที่ใหญ่ ผมเดินเข้าโรงเรียนวันแรกโดยไม่มีความคาดหวังอะไรทั้งสิ้น การศึกษาไทยที่ผมได้เห็นจากข่าวคือภาพเลวร้ายที่สุดสำหรับผมในตอนนั้น แต่พอได้มาทำงานจริงๆ ผมได้เห็นความหวัง ได้เจอผู้คนมากมาย ได้เห็นคนรุ่นใหม่ และคนรุ่นเก่าหลายคนที่พร้อมจะก้าวไปกับเรา ผมได้เจอครูที่ทำให้เราค้นพบว่า ครูทุกคนอยากเห็นนักเรียนได้ดี แค่มีวิธีการไม่เหมือนกัน แต่อย่างน้อยผมก็ได้รู้ว่าความตั้งใจมันมาแล้ว 

“ในสังคมยังมีคนที่หวังดี และมีแรงผลักดัน
ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน”

ภารกิจสำคัญของ Teach For Thailand คือการขับเคลื่อนเครือข่ายผู้นำ เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้เด็กไทย ผ่านการเป็นครูในโรงเรียนที่มีบริบทท้าทายกับโครงการ ‘ผู้นำการเปลี่ยนแปลง’ ซึ่งเปิดรับสมัครทุกปีเพื่อส่งครูไปทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับโรงเรียนและชุมชน เป็นระยะเวลา 2 ปี

สิ่งที่ยั่งยืนต่อจากนั้น คือการปลูกฝังทัศนคติ และทักษะต่างๆ ที่เด็กจะสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง เพื่อเป็นผู้นำต่ออนาคตของตัวเองและคนรอบข้าง รวมถึงครูที่จบจากโครงการ ซึ่งถือเป็นศิษย์เก่าของ Teach For Thailand สามารถนำประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ ไปต่อยอดการทำงานในภาคส่วนต่างๆ โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือทำให้เด็กมีชีวิตที่ดีขึ้น

เมื่อถามถึงการทำงานของ Teach For Thailand ผู้ที่จะตอบคำถามนี้ได้ดีคือ ‘พี่เมย์’ นิภัทรา วิลเคส ตำแหน่ง Alumni Network Manager ที่ดูแลศิษย์เก่าในโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง

พี่เมย์ : การคัดสรรครูของเราเข้มข้นมาก ไม่ใช่แค่สอนได้และเข้าใจเด็ก แต่ต้องรู้จักการทำงานกับผู้ใหญ่ เพราะเราเข้าไปทำงานกับ ผอ. หรือครูที่อยู่ในระบบมาเป็น 10-20 ปี อยู่ดีๆ เราจะเข้าไปเปลี่ยนเลยมันไม่ได้ มันจะต้องมีทางกลางๆ ที่ทำอย่างไรให้การเปลี่ยนแปลงนี้ราบรื่นที่สุด ลดการเสียดทานระหว่างกัน บางคนไฟแรงมากแต่พอเข้าไปแล้วเราต้องลดทอนอัตตาของเราลง เช่น ทำไมนักเรียนต้องผมสั้น ทำไมต้องบังคับใส่ถุงเท้าสีขาว เก็บแรงที่จะต่อสู้เรื่องพวกนี้ ไว้ในสนามที่มันใหญ่กว่าอย่างการสอน การทำให้นักเรียนเข้าใจ หรือการนำไปใช้ในชีวิตจริง ปัญหาการศึกษาไทยมันมีหลายชั้นมากๆ แล้วอะไรสำคัญที่สุด เพราะเราไม่สามารถแก้ทุกอย่างได้ในเวลาเดียวกัน

“ไม่ใช่ว่าเราจะเป็นคลื่นที่กลืนทุกอย่าง แต่ทำอย่างไรที่จะเป็นน้ำค่อยๆ ซึมเข้าไป จนสามารถกลืนกันได้หมด โดยไม่กัดเซาะทรายตามฝั่ง”

เป้าหมายสูงสุดของ Teach For Thailand คืออะไร ?

พี่เมย์ : เราไม่ได้หวังให้สุดท้ายทุกคนจะต้องเป็นครู แต่เขาสามารถไปทำอย่างอื่นที่จะเปลี่ยนแปลงการศึกษาได้จริงๆ สิ่งหนึ่งที่คนใน Teach For Thailand มีร่วมกันคือ แพชชั่น และวิสัยทัศน์ ที่ต้องการเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้น แม้จะเป็นจุดเล็กๆ แต่มันสร้างแรงขับเคลื่อนได้ไกล ถึงโจทย์มันจะยากและต้องใช้เวลานานกว่าจะไปถึงจุดนั้น แต่ถามว่าต้องเริ่มไหมก็ต้องเริ่ม

พี่แบงค์ : โครงการนี้ให้อะไรมากกว่าการช่วยเด็ก แต่มันช่วยให้คนที่เข้ามาเป็นครูได้เห็นว่า เขาคิดอย่างไรกับปัญหาที่เขามอง เขาเข้าใจมันได้ลึกขนาดไหน หรือแค่ตัดสินไปเลยว่าสิ่งนี้คือปัญหา โดยที่ยังไม่ได้สัมผัสมันจริงๆ เพราะความเข้าใจเชิงลึกมันเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด ถ้าเรารู้ถึงสาเหตุที่เด็กขาดเรียน ผลการเรียนต่ำ ว่ามันเป็นเพราะปัญหานอกห้องเรียนด้วย แล้วเราจะแก้ปัญหาส่วนนี้อย่างไร มันไม่ใช่แค่เรื่องของกระทรวงการศึกษาหรือโรงเรียน แต่กระทรวงอื่นๆ หน่วยงาน หรือบริษัทที่เกี่ยวข้องก็มีส่วนร่วม ถามว่าการศึกษาเป็นเรื่องของใคร มันเป็นเรื่องของทุกคน อยู่ที่ว่าจะมีส่วนร่วมได้มากน้อยแค่ไหน

ไม่ใช่แค่กระทรวงศึกษาและโรงเรียนที่ควรเป็นคนผลักดันการเปลี่ยนแปลง แต่ทุกคนล้วนเป็นได้มากกว่าที่คิด เราสามารถเป็นผู้ริเริ่มการเปลี่ยนแปลงได้จากการลงมือทำ

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.