รู้หรือไม่ รายได้ของรัฐบาลในหลายประเทศมาจากการเก็บภาษีประชาชน โดยในปี พ.ศ. 2562 กรมสรรพากรเก็บภาษีได้มากถึง 2.01 ล้านล้านบาท มาจากภาษีมูลค่าเพิ่มถึง 8 แสนล้านบาท รองลงมาเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคล 6.94 แสนล้านบาท ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 3.36 แสนล้านบาท ตามลำดับ
เราจึงจะพาทุกคนไปดูว่า แต่ละประเทศประชาชนเขาเสียภาษีเงินได้อยู่กันที่เท่าไหร่ และรัฐบาลนำเงินส่วนนี้ไปพัฒนาประเทศอย่างไร เพราะเราในฐานะประชาชนที่เสียภาษีไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมต่างก็หวังจะได้รับสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานดีๆ คุ้มค่ากับที่เราจ่ายเงินไป
01 | กรุงเทพมหานคร, ไทย (Thailand)
Numbeo เว็บไซต์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับค่าครองชีพทั่วโลก ได้เปิดเผยดัชนีค่าครองชีพทั่วโลก ปี ค.ศ. 2020 โดยคำนวณจากค่าสินค้าอุปโภคบริโภค ค่าอาหารในร้านอาหาร ค่าที่พักอาศัย และกำลังซื้อของประชากรในเมือง พบว่า ‘กรุงเทพ’ เป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงเป็นอันดับที่ 264 จาก 514 เมืองทั่วโลก โดยดัชนีค่าครองชีพอยู่ที่ 55.85 ประชาชนมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 25,000 บาท/เดือน
ในขณะที่ประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 5% – 35% โดยเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าตามฐานเงินเดือน รวมถึงมีภาษีทางอ้อมอย่างภาษีมูลค่าเพิ่มที่เราจะจ่ายอยู่ที่ 7%
เมื่อปี ค.ศ. 2019 กรมสรรพากรเก็บภาษีได้มากถึง 2 ล้านล้านบาท โดยมาจากภาษีมูลค่าเพิ่มมากถึง 8 แสนล้านบาท รองลงมา เป็นภาษีเงินได้นิติบุคคล 6.94 แสนล้านบาท และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 3.36 แสนล้านบาท เป็นต้น
ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ได้กำหนดงบประมาณของรัฐบาลไว้ที่ 3.2 ล้านล้านบาท สำหรับหน่วยรับงบประมาณที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด 5 อันดับแรก
- งบกลางได้ไป 5.18 แสนล้านบาท
- กระทรวงศึกษาธิการ 3.68 แสนล้านบาท
- กระทรวงมหาดไทย 3.53 แสนล้านบาท
- กระทรวงการคลัง 2.49 แสนล้านบาท
- และกระทรวงกลาโหม 2.33 แสนล้านบาท
สิ่งที่ได้จากการเสียภาษี
จริงๆ ในแต่ละรัฐบาลก็จะมีแผนการพัฒนาประเทศที่แตกต่างกันออกไป เช่น ในรัฐบาลสมัยนายชวน หลีกภัย ก็ได้เริ่มดำเนินการนโยบายเบี้ยยังชีพอย่างถ้วนหน้าแก่ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ก็มีโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ เพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพ สามารถเข้ารับบริการรักษาโรค โดยจ่ายเพียง 30 บาท
– พลังงานและเศรษฐกิจ
ส่วนรัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมุ่งเน้นการพัฒนาด้านพลังงาน มี ‘โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ’ การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจโดย ‘โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก’ (EEC) เส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา)
– การเดินทางและความมั่นคง
หรือจะเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับผู้ใช้บริการ ขสมก. ด้วยการซื้อ ‘รถเมล์ NGV’ หรือโดยสารปรับอากาศที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ รวมถึงการเสริมสร้างความมั่นคงด้วยการจัดซื้อจัดซื้อ ‘เรือดำน้ำ’ ที่รัฐบาลอ้างว่าเพื่อดูแลผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ความมั่นคงทางทะเล และการรักษาเส้นทางคมนาคมของประเทศทางทะเลนั่นเอง
02 | ไทเป, ไต้หวัน (Taiwan)
‘ไต้หวัน’ เคยได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งความยากจน จนเมื่อช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เศรษฐกิจไต้หวันเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้ไต้หวันกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งได้ชื่อว่าเป็น 1 ใน 4 เสือแห่งเอเชีย (Four Asian Tigers) เพราะมีอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า รวมถึงมีระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอีกด้วย
ในปี ค.ศ. 2019 จากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้บอกว่า ‘ไต้หวัน’ มีขนาดเศรษฐกิจ (GDP) ใหญ่เป็นอันดับที่ 21 ของโลก มูลค่า 18.3 ล้านล้านบาท ในขณะที่ ‘ไทเป’ เป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงเป็นอันดับที่ 216 จาก 514 เมืองทั่วโลก โดยดัชนีค่าครองชีพอยู่ที่ 64.12
คนไต้หวันมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 70,000 บาท/เดือน โดยเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ที่ 5% – 40% และเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 5%
ในปี ค.ศ. 2019 รัฐบาลไต้หวันประกาศว่าเก็บภาษีได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ สิ่งที่น่าสนใจคือนอกจากการเก็บภาษีตามปกติแล้ว ไต้หวันยังทำ ‘ล็อตเตอรีจากเลขใบเสร็จ’ คือการเอาเลขที่ใบเสร็จ VAT มาออกเป็นหวยรัฐบาลทุกๆ 2 เดือน โดยมีทั้งหมด 6 รางวัล + รางวัลพิเศษ 2 รางวัล การทำแบบนี้นอกจากแก้ปัญหาหวยใต้ดินแล้ว ยังเป็นการดึงร้านค้าต่างๆ เข้าสู่ระบบภาษี บันทึกรายได้เข้าระบบเพื่อป้องกันเลี่ยงภาษีนั่นเอง
สิ่งที่ได้จากการเสียภาษี
– สาธารณสุข
เพราะไต้หวันไม่ได้เป็นสมาชิกขององค์การอนามัยโลก (WHO) ทำให้ไต้หวันต้องพึ่งพาตนเองด้วยการทุ่มงบประมาณพัฒนาให้ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติของตนเองเข้มแข็ง ประชาชนกว่า 99% สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างเท่าเทียม จนได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในระบบประกันสุขภาพที่ดีที่สุดในโลก เมื่อเกิดการระบาดของเชื้อไวรัส COVID – 19 ไต้หวันจึงรับมือได้อย่างทันท่วงที
– พื้นที่สีเขียว
ไต้หวันยังให้ความสำคัญกับทัศนียภาพของเมืองและความปลอดภัยของประชาชน ด้วยการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินเกือบ 100% สอดคล้องกับแผนการพัฒนาเมืองที่ต้องการให้ไต้หวันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หมายความว่าในเมืองใหญ่จะไม่ยอมเสียสละต้นไม้ให้เสาไฟฟ้า และทุกพื้นที่ว่างจะถูกเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนได้มาใช้ประโยชน์
– พลังงาน
นอกจากนี้รัฐบาลยังวางแผนการพัฒนาเมืองที่ต้องการให้ไต้หวันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้วยการคิดค้นพลังงานรูปแบบใหม่ อย่าง ‘แบตเตอรี่ลิเธียม’ เพื่อเตรียมรับมือกับแผนการเปลี่ยนผ่านให้ทั้งประเทศใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า โดยจะเริ่มจากมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าก่อน ภายในปี ค.ศ. 2030
03 | สิงคโปร์ (Singapore)
‘สิงคโปร์’ ถูกกล่าวขานว่าเป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนทั้งความสะอาดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและคุณภาพชีวิตที่ดีอื่นๆสำหรับทุกคนในเมือง
ประชาชนชาวสิงคโปร์มีรายได้ต่อหัวสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของโลกโดย‘สิงคโปร์’ เป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงเป็นอันดับที่ 40 จาก 514 เมืองทั่วโลก โดยดัชนีค่าครองชีพอยู่ที่ 81.13 ประชาชนมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 110,000 บาท/เดือน เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ที่ 0% – 22% และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เท่ากับไทย โดยคาดการณ์ว่าจะมีการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 9% ระหว่างปี ค.ศ. 2021 – 2025
รายได้จากภาษีคิดเป็น 91% ของรายได้รัฐบาลสิงคโปร์ ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีที่ดิน และภาษีมูลค่าเพิ่ม
สิ่งที่ได้จากการเสียภาษี
– การศึกษา
สิงคโปร์ มีความเชื่อว่าประชากรของตนคือทรัพยากรที่มีค่าที่สุดในประเทศ ในปี ค.ศ. 2012 รัฐบาลสิงคโปร์จึงทุ่มงบกว่า 2.58 แสนล้านบาทให้กับกระทรวงศึกษาธิการ เพราะรัฐบาลสิงคโปร์ต้องการที่จะให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางด้านการศึกษา รวมทั้งเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมของเอเชีย
– พื้นที่สีเขียว
สิงคโปร์ ยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีความหนาแน่นของพื้นที่สีเขียวมากที่สุดในโลก จัดอันดับจาก World Economic Forum ซึ่งความสำเร็จนี้เริ่มต้นมาจากวิสัยทัศน์ของ ‘ลี กวนยู’ นายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์ ที่ประกาศนโยบาย ‘Garden City’ หมายถึงการพัฒนาเมืองที่ควบคู่ไปกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ซึ่งนอกจากประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นแล้ว ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสิงคโปร์ในอนาคตด้วย
– เศรษฐกิจ
นอกจากเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษา และการพาณิชย์สำคัญของโลกแล้วสิงคโปร์ยังต้องการให้ตัวเองเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการคมนาคมทางอากาศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านท่าอากาศยานสิงคโปร์ชางงี หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ‘สนามบินชางงี’ เป็นสนามบินนานาชาติหลักของประเทศที่ได้รางวัลสนามบินที่ดีสุดในโลก 7 ปีซ้อน โดยภายในก็คับคั่งไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย มีตั้งแต่ร้านค้า ร้านอาหาร โรงหนัง ไปจนถึงสวนและน้ำตกอินดอร์ที่สูงที่สุดในโลกไว้ในสนามบินอีกด้วย
04 | โซล, เกาหลีใต้ (South Korea)
ปัจจุบัน ‘เกาหลีใต้’ กลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 12 ของโลก มีขนาด GDP กว่า 51.35 ล้านล้านบาท โดยเมืองหลวงอย่าง ‘โซล’ ถือเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงเป็นอันดับที่ 36 จาก 514 เมืองทั่วโลก โดยดัชนีค่าครองชีพอยู่ที่ 81.59
คนเกาหลีใต้มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 90,000 บาท/เดือน เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตั้งแต่ 6% – 42% และต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อซื้อสินค้าและบริการถึง 10%
สิ่งที่ได้จากการเสียภาษี
– การท่องเที่ยว
เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมบันเทิงที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อนในขณะที่เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ เกาหลีใต้ไม่ได้มีทรัพยากรธรรมชาติมากพอที่จะทำรายได้ให้ประเทศ ดังนั้นเกาหลีใต้จึงนำเอา ‘วัฒนธรรมประจำชาติ’ ของตนเองมาสร้างมูลค่า ต่อมาจึงมีการประกาศนโยบายเสริมสร้างปัจจัยพื้นฐานทางวัฒนธรรมนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 นอกจากนี้ยังทุ่มเงินกว่า 1.3 พันล้านบาท เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจวัฒนธรรมครอบคลุมธุรกิจสาขาต่างๆ เพื่อส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก
จากการส่งออกวัฒนธรรมประจำชาติ ผ่านเพลง ซีรีส์ ภาพยนตร์ เกม การ์ตูน หรือแอนิเมชัน ทำให้เกิดกระแสเกาหลี (Korean Wave) หรือ Hallyu ซึ่งส่งผลให้ผู้คนหลั่งไหลเดินทางมาตามรอยซีรีส์หรือไอดอลเกาหลีมากมาย จากที่เคยมีนักท่องเที่ยวเพียง 4.75 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2003 ก็เพิ่มขึ้นอีกเป็น 15.3 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2018 และหากนับมูลค่าของการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นในประเทศปี ค.ศ. 2015 มีมูลค่าอยู่ที่ 4.76 ล้านล้านบาท เลยทีเดียว
– เทคโนโลยี
ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของเกาหลี หรือ ‘กลุ่มแชโบล’ ซึ่งนำโดยบริษัทสัญชาติเกาหลีที่มีกิจการอยู่ทั่วโลกอย่าง Samsung, Hyundai และ LG ยังให้ความสำคัญการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยได้ลงทุนไปกับการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปี ค.ศ.1990 งบประมาณ 1.44 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.87 ของ GDP จนมาปี ค.ศ. 2017 งบประมาณ 2.25 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.30 ของ GDP ซึ่งเป็นสัดส่วนต่อ GDP ที่สูงที่สุดในโลก ปัจจุบันเกาหลีใต้กลายเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมหมือนกับสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่นไปแล้ว
– การเดินทาง
แม้เกาหลีจะเป็นประเทศหนึ่งที่ได้ชื่อว่าจ่ายภาษีมหาโหด แต่ต้องยอมรับว่าคุณภาพชีวิตของประชาชนภายในประเทศต่างก็ได้รับสวัสดิการที่สมน้ำสมเนื้อไม่แพ้กัน เช่น ‘การปรับภูมิทัศน์คลองชองกเยชอน’ จนเป็นต้นแบบให้หลายประเทศนำไปพัฒนา
นอกจากนี้เกาหลีใต้ยังพยายามทำให้เมืองต่างๆ ปลอดภัยและเป็นมิตรกับทุกคน เริ่มจากสร้างเลนส์สำหรับปั่นจักรยานโดยเฉพาะ ทยอยติดไฟตรงทางม้าลายสำหรับใช้ในตอนกลางคืน เพื่อลดอุบัติเหตุจากการชนคนข้ามถนน หรือในช่วงหน้าร้อนตามป้ายรถเมล์ก็มีการติดพัดลม ม่านอากาศ ไว้ให้ประชาชนที่มารอขึ้นรถได้ใช้ฟรีอีกด้วย รวมถึงภายในปี ค.ศ 2022 รัฐบาลเกาหลีใต้ตั้งเป้าไว้จะติดตั้งไวไฟฟรีให้ครบ 41,000 แห่ง ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน หรือเกิดเหตุฉุกเฉิดอะไร คนเกาหลีก็สามารถรู้เท่าทันโลกได้ตลอดเวลา
05 | โตเกียว, ญี่ปุ่น (Japan)
มาถึงประเทศสุดท้ายที่เราเลือกมา นั่นก็คือ ‘ญี่ปุ่น’ ประเทศที่เป็นผู้นำทางเศรษฐกิจโลก โดยมีขนาด GDP สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นรองเพียงสหรัฐอเมริกาและจีน ญี่ปุ่นยังเป็นผู้ส่งออกและนำเข้ารายใหญ่สุดอันดับ 4 ของโลก โดยมีมูลค่า GDP ประมาณ 170 ล้านล้านบาท เพราะมีกำลังการผลิตที่สูงและถือว่าเป็นประเทศที่เป็นต้นกำเนิดของผู้ผลิตชั้นนำ ที่ก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมต่างๆ
ในขณะที่ ‘โตเกียว’ เมืองหลวงของญี่ปุ่นที่มีค่าครองชีพสูงเป็นอันดับที่ 17 จาก 514 เมืองทั่วโลก โดยดัชนีค่าครองชีพอยู่ที่ 89.69
การจัดเก็บภาษีในญี่ปุ่นแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ภาษีประเทศซึ่งจะจัดเก็บโดยรัฐบาลกลาง และภาษีท้องถิ่นหรือเงินภาษีที่ชำระให้กับจังหวัดหรือเทศบาล
โดยภาษีอย่างหลังเราเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘รุซาโต๊ะ’ (Furusato Nozei) คือระบบการจ่ายภาษีให้กับบ้านเกิด โดยเราสามารถจ่ายภาษีที่เมืองไหนก็ได้ โดยพื้นที่เหล่านั้นก็จะให้ส่วนลดบริการ หรือให้ผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่นนั้นๆ เช่น จ่ายให้จังหวัดยามานาชิก็จะได้ ‘องุ่นพันธุ์มัสคัส’ / จ่ายให้จังหวัดชิบะ ก็จะได้ ‘ไข่อูนิ’ / จ่ายให้จังหวัดยามานาชิ ก็จะได้เป็น ‘ลูกพีช’ / หรือจ่ายให้จังหวัดทตโตริ ก็จะได้ ‘ปูยักษ์มัตสึบะ’ ตอบแทน
โดยโครงสร้างรายได้จากภาษีทั้งหมดของญี่ปุ่นปี ค.ศ. 2018 คือ ภาษีสินทรัพย์ 14.1% ภาษีเงินได้นิติบุคคล 21.5% ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 31.5% ภาษีบริโภค 32.9% และในปีงบประมาณ ค.ศ. 2019 รัฐบาลญี่ปุ่นได้แบ่งเงินไว้ใช้จ่ายประมาณ 23 ล้านล้านบาท
สิ่งที่ได้จากการเสียภาษี
– เทคโนโลยี
ใครๆ ต่างก็รู้ว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ที่พัฒนาก้าวล้ำที่สุดอีกแห่งหนึ่งของโลก จนทำให้ญี่ปุ่นมีจำนวนการขอสิทธิบัตรสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก ซึ่งสิ่งที่ขอจดสิทธิบัตร ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ หุ่นยนต์ เครื่องจักรกล วิศวกรรมการออกแบบ และเทคโนโลยีด้านการผลิตพลังงาน
– สาธารณสุข
ปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นชาติที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก คิดเป็น 28.4% ของประชากรทั้งหมด ดังนั้นรัฐจึงต้องจัดสวัสดิการสังคมครอบคลุม ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้เงินมหาศาล ในปี ค.ศ. 1970 ญี่ปุ่นจึงจัดงบประมาณ 6% ของรายได้รัฐเพื่อสวัสดิการสังคม ต่อมาในปี ค.ศ. 1992 เพิ่มขึ้นเป็น 18% และคาดว่าใน ปี ค.ศ. 2025 รัฐอาจจะต้องใช้เงินเพื่อสวัสดิการสังคม สูงถึง 27% ของรายได้รัฐ ซึ่งเงินเหล่านี้ล้วนเป็นเงินภาษีที่จัดเก็บมาจากกลุ่มคนในวัยทำงาน
– คมนาคม
รัฐบาลญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับการสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ต้องได้มาตรฐาน ผู้คนหลากหลายกลุ่มสามารถใช้งานได้ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ เช่น ‘ฟุตพาท’ ที่ออกแบบมาเนียนเรียบ พื้นสะอาด ไม่มีสิ่งกีดขวาง และมีความกว้างมากจนสามารถแบ่งช่องให้คนเดินเท้า คนปั่นจักรยาน ช่องสำหรับผู้ใช้รถเข็น ทั้งยังมีทางเดินเส้นสีเหลืองสำหรับผู้พิการทางสายตาอีกด้วย