การท่องเที่ยวของคนยุคนี้ไม่ได้นึกถึงแค่ความสนุกและความสวยงามของจุดหมายปลายทางเหมือนแต่ก่อนแล้ว เพราะการพักผ่อนหย่อนใจที่ได้มาต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและดีต่อโลกของเราด้วย
ข้อมูลจาก World Travel & Tourism Council ปี 2023 เปิดเผยว่า 69 เปอร์เซ็นต์ของนักท่องเที่ยวทั่วโลกอยากท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ช่วยยืนยันว่า ‘การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน’ (Sustainable Tourism) ได้กลายเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ
การรณรงค์การท่องเที่ยวที่แคร์สิ่งแวดล้อมจึงถือเป็นความท้าทายที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เพื่อพาประเทศไทยก้าวสู่การเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอันดับต้นๆ ของโลกให้ได้
นี่คือเหตุผลที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กำหนดเป้าหมายที่จะยกระดับและสร้างมาตรฐานการท่องเที่ยวไทยสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ‘Sustainable Tourism Goals: STGs’ และจัดทำโครงการ ‘STGs เที่ยว 4 ดี ดีต่อโลก ดีต่อเรา’ ขึ้นมา แคมเปญนี้จะช่วยสร้างการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างไร คอลัมน์ Green Insight ชวนไปหาคำตอบพร้อมกัน
เปลี่ยนการท่องเที่ยวให้ยั่งยืนด้วยแนวคิด STGs
การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษให้กับโลกของเราไม่น้อย เพราะมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint) ราว 8 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากทั่วโลก โดยปริมาณหลักๆ มาจากการเดินทาง การบริโภคสินค้าและบริการ ซึ่งรวมถึงอาหารและที่พัก
เพื่อทำให้ประเทศไทยพร้อมเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ททท. จึงกำหนด ‘แนวทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน’ หรือ ‘Sustainable Tourism Goals : STGs’ รวม 17 เป้าหมาย ที่สะท้อนความยั่งยืนใน 4 มิติหลักๆ ได้แก่ การบริหารจัดการสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม โดยพัฒนาตามแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ
ชวนเที่ยวไทยแบบ STGs เที่ยว 4 ดี
เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่อง STGs ในวงกว้าง ททท. จึงได้จัดโครงการ ‘STGs เที่ยว 4 ดี ดีต่อโลก ดีต่อเรา’ ซึ่งจะช่วยสร้างเอกลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยว สินค้า และบริการเชิงประสบการณ์ รวมถึงใช้นวัตกรรมผลักดันให้มิติต่างๆ ของระบบนิเวศด้านการท่องเที่ยวมุ่งหน้าสู่ความยั่งยืน
ททท. ยังได้จัดทำภาพยนตร์โฆษณาชุด ‘STGs เที่ยว 4 ดี ดีต่อโลก ดีต่อเรา’ นำแสดงโดย ‘เจมส์-จิรายุ ตั้งศรีสุข’ ตัวแทนของนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ที่จะมาชวนคนไทยทุกคนออกไปเที่ยวเมืองไทยแบบ 4 ดี เป็นการท่องเที่ยวที่ ‘ดี’ ในทุกมิติ ได้แก่
1) สิ่งแวดล้อมดี ท่องเที่ยวแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแบบ Low Carbon ลดการสร้างขยะ และทำกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ผู้ประกอบการชุมชนใช้วัสดุจากธรรมชาติที่ย่อยสลายง่าย เพื่อลดขยะให้เป็นศูนย์ (Zero Waste)
2) วัฒนธรรมดี เคารพวิถีชุมชน ร่วมงานประเพณีท้องถิ่น นำเสนออัตลักษณ์และวัฒนธรรมของชุมชนให้คงอยู่ต่อไป ผู้ประกอบการชุมชนนำอัตลักษณ์ท้องถิ่นมาต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มได้
3) เศรษฐกิจดี สนับสนุนสินค้าและบริการในท้องถิ่น เที่ยวเมืองรองเพื่อกระจายรายได้ไปยังชุมชนต่างๆ อย่างทั่วถึง ผู้ประกอบการชุมชนนำของดีท้องถิ่นมาใช้เป็นจุดขาย และทำให้เกิดการกระจายรายได้ที่ไม่กระจุก
4) ชีวิตดี ท่องเที่ยวอย่างเข้าใจชุมชนและใส่ใจสิ่งแวดล้อม ช่วยเติมเต็มความสุขและยังช่วยดูแลโลกใบนี้ให้สวยงามต่อไป ผู้ประกอบการดูแลบริการต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างดี เต็มไปด้วยรอยยิ้ม
รับชมภาพยนตร์โฆษณาชุด ‘STGs เที่ยว 4 ดี ดีต่อโลก ดีต่อเรา’ ได้ที่ bit.ly/3sqGh3G
กำหนดมาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
มากไปกว่านั้น เป้าหมายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน STGs ยังได้ถูกนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดมาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ผ่านโครงการ ‘Sustainable Tourism Acceleration Rating’ (STAR)
‘ดาวแห่งความยั่งยืน’ ที่ ททท. ได้มอบให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางเข้าสู่เป้าหมายการท่องเที่ยวยั่งยืนไปด้วยกัน โดยผู้ประกอบการต้องบรรลุ 3 เป้าหมายสำคัญ จาก 17 เป้าหมายของ STGs ได้แก่ การลดก๊าซเรือนกระจกจากการท่องเที่ยว (STG 13 – Climate Action), การคำนึงถึงความปลอดภัยของคนทุกกลุ่ม (STG 16 – Safety for All) และการร่วมมือกับหลายภาคส่วน (STG 17 – Partnership for STGs)
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ได้รับเครื่องหมาย STAR แล้วทั้งหมด 322 แห่ง แบ่งเป็นประเภท 5 ดาว 241 แห่ง, 4 ดาว 30 แห่ง และ 3 ดาว 51 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2566) โดย ททท. คาดการณ์ว่าภายในปี 2568 จะมีผู้ประกอบการได้รับเครื่องหมาย STAR ไม่ต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์
ร่วมกันสร้างการท่องเที่ยวไทยที่มีคุณค่าและยั่งยืน
เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมคือวิกฤตที่รอไม่ได้ การกำหนดเป้าหมายท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน STGs และโครงการ STAR จึงเป็นหนึ่งในมูฟเมนต์ที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่โลกของเราผ่านการท่องเที่ยวที่มีคุณค่าและยั่งยืน
เท่านั้นไม่พอ โครงการจาก ททท. ยังช่วยยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถของการแข่งขันให้กับการท่องเที่ยวไทย และขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น Sustainable Destination ให้ได้ในอนาคต
โครงการ STAR เปิดรับผู้ประกอบการไม่ว่ารายเล็กหรือรายใหญ่ในห่วงโซ่อุปทานของการท่องเที่ยว เพื่อรับประเมินจากเกณฑ์และตัวชี้วัดด้านความยั่งยืนได้ทั้งสิ้น ใครสนใจเข้าไปสมัครและติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ TATstar.org หรือ facebook.com/tatstar.green
Sources :
Sustainable Travel International | bit.ly/403MkYq
TATStar | TATstar.org
World Travel & Tourism Council | bit.ly/3rQsL9y