ศูนย์พักคอยตันปันที่ป่วยโควิดอยู่แล้วไม่เครียด - Urban Creature

01 ปัดฝุ่นตึกเก่าอายุ 30 ปี ให้เป็นพื้นที่ช่วยคน

เตียงผู้ป่วย
เตียงกระดาษ

30 กว่าปีที่แล้ว อาคารสูง 8 ชั้น ประดับด้วยเสา และฟอร์มสไตล์โรมันตั้งเด่นอยู่ทางเข้าย่านสถานบันเทิง RCA เคยเป็นสตูดิโอถ่ายรูปแต่งงาน ที่หนุ่มสาวแถวนั้นแวะเวียนมาใช้บริการเมื่อถึงวันสำคัญ และตึกนี้ยังเป็นตึกแรกในชีวิตที่ ตัน ภาสกรนที ซื้อมาทำธุรกิจส่วนตัว

“ตึกนี้ติดถนนใหญ่ ชั้นละสี่ร้อยตารางเมตร มีดาดฟ้า และ Penthouse เล็กๆ ข้างบน ผมใช้สอยพื้นที่เป็นร้านถ่ายรูปแต่งงานได้สบาย โดยกลุ่มลูกค้าเราก็คือคนที่มาเที่ยว RCA ที่วันหนึ่งแต่งงานก็จะนึกถึงเรา แต่พอเวลาผ่านไป ผมพบว่าจริงๆ ตึกนี้ไม่ใช่สไตล์ผมเลย ขัดกับตัวเองสุดๆ ก็เลยปล่อยเช่าไปยาวๆ”

นักธุรกิจอย่างเขา ปล่อยเช่าให้คนอื่นทำธุรกิจแทนจนแทบไม่ได้ไปเหยียบตึกเก่าที่เคยซื้อไว้ในอดีต กระทั่งได้ยิน สรยุทธ สุทัศนะจินดา พูดถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในรายการ เรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์

ซึ่งตัวเลขคนตายไม่ได้มีแค่ที่โรงพยาบาล แต่ตายที่บ้านก็มี ตายข้างถนนก็มี 

“สถานการณ์ในประเทศหดหู่มาก ประชาชนพบปัญหาเดียวกันคือไม่มีเตียง เพื่อนผมเองก็โทรมาถามว่า คุณตันรู้จักใครไหม ช่วยหาเตียงหน่อย ซึ่งเราก็หาให้เขาไม่ได้ ผมก็คิดว่า ถ้าเป็นผมที่ติด จะไปหาเตียงที่ไหน แล้วถ้าครอบครัวกับลูกน้องติดล่ะ จะทำยังไง เลยตัดสินใจว่างั้นสร้างศูนย์พักคอยขึ้นมาเลยละกัน ตอนนั้นคิดแค่ว่าวันใดวันหนึ่ง เราก็คงต้องการความช่วยเหลือจากคนอื่นเหมือนกัน งั้นก็ช่วยเขาก่อนสิ เพราะการช่วยเหลือคนอื่น ก็เท่ากับช่วยตัวเองไปด้วย”

และสิ่งที่เซอร์ไพรส์คุณตันมากที่สุดคงเป็นภาพในหัวที่คิดว่าจะใช้ตึกไหนทำเป็นศูนย์พักคอยดี แล้วตึกสไตล์โรมันที่เขาเคยส่ายหน้าหนี กลับกลายเป็นภาพแรกที่เขานึกถึง เพราะที่นี่กว้างพอสำหรับความพร้อมในการ ‘ใช้ชีวิต’ ของผู้ป่วย ซึ่งคุณตันคิดว่าทำทั้งที คนอยู่ต้องผ่อนคลาย สบายใจ และจะให้นอนนิ่งๆ ในห้องอย่างเดียว ไม่ใช่แนวเขาแน่นอน

02 ชื่อศูนย์พักคอยตันปัน แต่เป็นโรงพยาบาลสนาม

ประชุม

“ความรู้เป็นศูนย์” คุณตันยอมรับอย่างเถรตรง แต่นั่นไม่ได้ทำให้เขาหยุดความพยายาม จึงรีบต่อสายรวมทีมกับ ได๋-ไดอาน่า จงจินตนาการ ผู้ก่อตั้ง เพจเราต้องรอด และ หมอแล็บแพนด้า ซึ่งลงพื้นที่หาเตียง ช่วยเหลือผู้ป่วยติดโควิด-19 มาหลายเคส และชวนหมอแล็บแพนด้า มาเป็นที่ปรึกษาอีกคน เพราะเป้าหมายคือ สร้างเสร็จใน 18 วัน

แพลนแรกของคุณตัน คือการเปิดศูนย์พักคอยสีเขียว เขาเรียกทีมออกแบบ วิศวกร มาประชุมหาทางลง และติดต่อสำนักงานเขตห้วยขวาง เพื่อให้ได้รับความเห็นชอบ พร้อมทั้งติดต่อกรุงเทพมหานคร เนื่องจากต้องมีโรงพยาบาลไทยดูแลอีกที

“ผมประชุมกับทีมทุกวัน ตอนแรกตั้งใจจะกั้นห้องเพิ่ม ซ่อมแอร์ ทำห้องน้ำ และห้องอาบน้ำใหม่ แค่นี้พอ แต่ทำไปทำมา แล้วรู้สึกว่า ถ้าเกิดขามาเขาเป็นผู้ป่วยสีเขียว แล้วอยู่ไปอาการหนักขึ้นเป็นผู้ป่วยสีเหลือง จะทำยังไง ในเมื่อส่งไปโรงพยาบาลไม่ได้ ซึ่งพวกเราที่เห็นการสูญเสียทุกๆ วัน ก็ควรคิดตรงนี้เผื่อด้วย จึงตัดสินใจเพิ่มอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อประคองลมหายใจของคนให้มากที่สุด”

ได๋-ไดอานา ตัน ภาสกรนที หมอแล็บแพนด้า
ได๋-ไดอาน่า จงจินตนาการ, ตัน ภาสกรนที และหมอแล็บแพนด้า

ศูนย์พักคอยซึ่งมีแต่ห้องพักอย่างเดียว ขยับขยายตัวเองด้วยการเพิ่มห้องควบคุมแรงดันปลอดเชื้อ ห้องสำหรับล้างไต มีช่องทิ้งขยะที่ส่งลงไปที่ห้องฆ่าเชื้อโดยเฉพาะ และมีห้อง Oxygen High Flow ที่เปรียบเสมือน ICU ของโรงพยาบาล ซึ่งมีเครื่องควบคุมการให้ออกซิเจนอัตราการไหลสูง และมีเครื่องมือ Suction ไว้ดูดเสมหะออกจากปอด แล้วเก็บในถุงสำหรับเก็บเสมหะโดยเฉพาะ ซึ่งได้รับคำแนะนำส่วนหนึ่งจากโรงพยาบาลราชวิถี

คติสร้างทั้งที ต้องปัง จึงพาศูนย์พักคอยตันปันยกระดับจากกรุงเทพมหานครไปเป็นโรงพยาบาลสนามแทน

03 อำนวยความสะดวกเหมือนคนในบ้าน

จอคอม

จากบ้านมารักษาตัวตั้ง 14 วัน เผลอๆ มากกว่าไปทริปเที่ยวสักทริปอีกนะ การเยือนศูนย์พักคอยตันปันครั้งหนึ่ง คุณตันเลยไม่ลืมดูแลผู้ป่วยให้ดีดุจญาติมิตร อย่างว่าพ่อ แม่ หรือลูกของใคร ใครก็รัก ครอบครัวต้องสบายใจเมื่อมาอยู่ที่นี่

แน่นอน มันต้องไม่ได้มีแค่เตียงเรียงกันแล้วจบ แต่แอร์ทุกห้องต้องพร้อม Wi-Fi ต้องมีให้เล่นโซเชียลคุยกับเพื่อน ที่สำคัญ ‘ห้องน้ำ’ ในอาคารต้องดี ไม่ลื่น พื้นไม่เปียก สะอาดหมดจด และไม่ต้องให้ผู้ป่วยเดินไปเข้าที่ไกลๆ

“เวลาจะทำอะไรสักอย่าง อย่าคิดแค่ว่าทำๆ ไปเถอะ แต่ควรทำเสมือนว่าเราใช้เอง ซึ่งผมเป็นคนที่ชอบห้องน้ำไม่ลื่น เพราะเราอายุมากขึ้นทุกวัน หกล้มไปอาจจะพิการ หรือตาย ผู้ป่วยก็เหมือนกันถ้าเขาเป็นอะไรไป คือความผิดเราล้วนๆ ผมจึงถอยประตูเข้าไปในห้องน้ำประมาณสิบเซนติเมตรในแต่ละห้องพร้อมที่กั้น เพื่อให้น้ำที่อาบไม่กระเด็นออกมาด้านนอกส่วนกลาง และใช้กระเบื้องที่ไม่ลื่นช่วยเนื่องจากหากพื้นลื่น แล้วข้างนอกเต็มไปด้วยน้ำ คนแก่มีโอกาสล้มสูง

“เนื่องจากห้องน้ำมีเชื้อโรค ต้องตั้งห่างไกลชุมชนที่สุด แต่ผมคิดว่าคนที่เขาป่วยอยู่จำเป็นต้องเดินไปไกลขนาดนั้นเหรอ เลยสร้างห้องน้ำที่ตั้งอยู่ในตึกได้ ซึ่งห้องน้ำต้องมีหลายห้องโดยไม่ต้องแย่งกันใช้ และทำให้ชุมชนมั่นใจด้วยระบบบำบัดน้ำเสียที่ผ่านขั้นตอนมากกว่าบำบัดน้ำเสียทั่วไป ต้องเติมนู่นเติมนี่ ให้เข้มข้นกว่าบำบัดตามบ้าน หรือร้านอาหาร ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่มาสุ่มตรวจ วัดค่าอยู่ตลอดเวลาว่ามันไม่มีเชื้อโรค และน้ำใสออกสู่ชุมชนนะ”

04 แพลนกิจกรรมคลายเครียด ที่หาไม่ได้จากที่อื่น

ดาดฟ้า

แค่ลองจินตนาการถึงผู้ป่วยโควิด-19 ที่หันซ้าย-ขวาเป็นเตียง หันหน้า-หลัง เป็นกำแพง จากที่เครียดอยู่แล้ว ใจคงห่อเหี่ยวลงไปอีกเป็นแน่ แต่ศูนย์พักคอยตันปันทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกแบบนั้น เพราะที่นี่มีสวนบนดาดฟ้าไว้ให้ทำกิจกรรม มีห้องละหมาดให้คนมุสลิม และห้องพระสำหรับชาวพุทธ

“ผมได้รับคำแนะนำจากหมอว่า คนป่วยจะมีจิตใจอ่อนแออยู่แล้วเพราะเขาไม่สบายใจ แต่ถ้าหากเขาสบายใจ เขาจะมีโอกาสหายเร็วขึ้น กลับกันผู้ป่วยบางรายที่เครียด จากเป็นน้อยจะยิ่งเป็นหนัก เพราะมีอาการอื่นแทรกซ้อนเข้ามา การให้เขาได้มีที่พึ่งทางใจ หรือกิจกรรมบางอย่างน่าจะช่วยเขาได้มากขึ้น

“ผมเลยเปลี่ยน Penthouse เป็นห้องพระ สร้างห้องละหมาด และทำดาดฟ้าให้เป็นพื้นที่สีเขียว วางต้นไม้ให้เขาสดชื่น มีโต๊ะ เก้าอี้ให้นั่งพักผ่อน มีซุ้มถ่ายรูป ซึ่งเปิดให้ทุกคนได้ขึ้นไปคุยสารทุกข์สุกดิบเหมือนได้เพื่อนใหม่เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ อย่างตอนวันเกิดผู้ป่วยก็ชวนกันมาเป่าเค้ก บ้างก็ทำแซนด์วิชปิกนิกบนดาดฟ้า หรือชวนเด็กๆ ปลูกต้นไม้ และคอยชวนเขามาดูพัฒนาการของต้นไม้ในสิบสี่วันที่ปลูก ซึ่งโปรแกรมกิจกรรมทั้งหมดเป็นพลังของจิตอาสาคนรุ่นใหม่ ที่ได๋ ไดอาน่า และหมอแล็บแพนด้า เป็นคนรับเข้ามา หรือบางคนก็สมัครเข้ามาเอง โดยทุกคนผ่านการอบรมมาเพื่อให้เป็นแม่ชั่วคราวให้กับเด็กๆ”

ดาดฟ้า

เมื่อมีเด็ก และคนชรา ร่วมอาศัย อากาศบริสุทธิ์บนดาดฟ้านั้นสำคัญ ศูนย์พักคอยตันปันจึงร่วมมือกับทีมงานผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งผ่านการฟอกอากาศให้โรงพยาบาลสนามมาหลายแห่ง ติดตั้งเครื่องกรอง HEPA (High Efficiency Particulate Air) ที่มีประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่นอนุภาคเล็กอย่าง PM 2.5 เชื้อรา ไวรัส และแบคทีเรียได้ โดยอัดอากาศเข้าสู่ภายในอาคารเป็นประจุบวก และดันอากาศที่มีเชื้อประจุลบออกด้วยตัวกรองฆ่าเชื้อเพื่อให้ได้อากาศบริสุทธิ์ ชุมชนด้านนอกไม่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ ยังติดตั้งเครื่องฟอกอากาศทุกห้องพักผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย

05 ตันปันไม่ทิ้งใคร

ของเล่นเด็ก

ปัจจุบันศูนย์พักคอยสำหรับเด็กยังมีน้อย และกรุงเทพมหานครมี Hospitel เพียง 4 แห่งที่รองรับ คุณตันเป็นหนึ่งคนที่รู้ปัญหา และนำเอาความกังวลว่าเด็กจะอยู่อย่างไรเมื่อขาดพื้นที่ ไปปรึกษากุมารแพทย์ หรือหมอเด็ก เพื่อสร้างห้องสำหรับเด็กโดยเฉพาะ

“หลายที่อาจจะไม่รับเด็กเพราะเด็กดูแลยาก เวลารวมตัวกันเยอะๆ จะเสียงดัง แต่ผมมองว่ามันมีทางแก้ไขปัญหาอยู่เสมอ ก็ติดฝ้า และผนังซับเสียงไปเลยสิ จะได้ไม่รบกวนห้องพักอื่น และเพื่อป้องกันว่าเด็กจะไม่ซน ปีนป่ายจนเกิดอุบัติเหตุ คุณหมอก็แนะว่า ควรมีกิจกรรมให้เขา พวกเราเลยเตรียมของเล่น สไลเดอร์ หนังสือเด็กให้อ่าน มีทีวีให้ดูการ์ตูน วางตู้ทำป็อปคอร์นให้ทำกินเอง และมีขนมเพียบ เพราะเด็กก็เป็นคนสำคัญ ไม่ควรถูกละเลย”

เช่นเดียวกับผู้ป่วยติดเตียง และผู้พิการที่ไม่ควรถูกทิ้งไว้กับโควิด-19 คุณตันจัดเตรียมห้องพิเศษซึ่งเป็นห้อง Clean Room สำหรับผู้ที่อ่อนไหวต่อการติดเชื้อ โดยมีเตียงไฟฟ้าระบบเดียวกับโรงพยาบาล มีปุ่มฉุกเฉินที่หัวเตียง รถเข็น ห้องน้ำในห้อง เพราะผู้ป่วยไม่สามารถเข้าห้องน้ำรวมกับคนอื่น มีผ้าม่านกั้นให้ผู้ดูแลเปลี่ยนเสื้อผ้าให้ผู้ป่วยได้ และมีคุณหมอ พยาบาล หรือจิตอาสาที่เป็นผู้ป่วยสีเขียวซึ่งผ่านการอบรมดูแลผู้ป่วยติดเตียง และเข้าใจการใส่ชุด PPE เข้ามาดูแล

ทั้งยังเปิดโอกาสให้คนในครอบครัวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เช่น สมมติผู้ป่วยติดเตียงมีญาติคนหนึ่งที่ป่วยเป็นโควิด-19 เป็นคนดูแล คุณตันก็จะเพิ่มเตียงให้ผู้ดูแล 1 เตียงในห้อง 

ศูนย์พักคอยตันปัน

คุณตันวันนี้สวมหมวกกัปตันในฐานะ ‘ประชาชน’ สร้างศูนย์พักคอยตันปันที่มีเป้าหมายแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งเขาไม่เคยนับเลยว่าช่วยไปแล้วกี่คน เพราะไม่ว่าจะมาก จะน้อย ก็คุ้มค่าการใช้ชีวิตของเขาแล้ว

“สิบแปดวันที่ผมสร้างศูนย์พักคอยทั้งตึกได้คงเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วครับ ว่าทุกอย่างมันไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ ถ้าคนทำงานตั้งใจจะทำจริงๆ” คุณตันกล่าว

นั่นสิ ถ้า ‘ตั้งใจ’ ซะอย่าง การแก้ไขปัญหาช่วงวิกฤตแบบนี้ต้องเกิดขึ้นได้แน่…

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.