วงเวียน การจราจรบนท้องถนนที่ปลอดภัยที่สุด - Urban Creature

หากลองนึกภาพท้องถนนเมืองไทย เราอาจพบเห็นสัญลักษณ์ที่ใช้ในการจราจรหลายรูปแบบ คอลัมน์ Urban Tales ครั้งนี้ เลยพาไปทำความรู้จัก ‘วงเวียน’ ซึ่งในอดีตใช้สำหรับเปลี่ยนเส้นทางการสัญจร แต่ปัจจุบันถูกปรับมาเป็นสี่แยกที่เห็นกันอย่างแพร่หลาย

ย้อนกลับไปช่วงทศวรรษที่ 1790 นั่นคือยุคแรกที่แนวคิดการสัญจรรถเป็นวงกลมถือกำเนิด โดย ‘Pierre L’Enfant’ สถาปนิกพ่วงตำแหน่งวิศวกร เขาเริ่มจากการสร้างต้นแบบในวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา จนในปี 1905 ก็ได้ฟื้นฟูรูปแบบและพัฒนาจนกลายเป็นสี่แยกวงกลมแห่งแรกของสหรัฐอเมริกาที่ชื่อว่า ‘Columbus Circle’ ซึ่งตั้งโดดเด่นเป็นสง่า ณ มหานครนิวยอร์ก ก่อนจะถูกเรียกว่า ‘วงเวียน’ เต็มรูปแบบอย่างทุกวันนี้

หลักการพื้นฐานของวงเวียนคือการช่วยให้การจราจรที่อยู่ภายในหมุนเวียนได้อย่างลื่นไหล โดยไม่ต้องใช้สัญญาณไฟจราจร ซึ่งในวงเวียนอาจมีเลนภายในด้วย ยกตัวอย่างการใช้งานที่ประเทศอังกฤษ จะเห็นว่าระบบการจราจรที่นั่นส่วนใหญ่ แม้แต่จุดเปลี่ยนเส้นทางเล็กๆ ในเมือง มักจะใช้วงเวียนมากกว่าการใช้สัญญาณไฟจราจร หรือประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างจีน ก็มีสถานที่ชื่อดังอย่าง ‘วงเวียนหมิงจู่ (Mingzhu)’ ซึ่งกลายเป็นแลนด์มาร์กของเมืองเซี่ยงไฮ้ที่ครบวงจรมากกว่าการให้รถยนต์สัญจรไปมา แต่ยังสามารถเดินบนสกายวอร์กเชื่อมไปยังศูนย์การค้าหรือตึกต่างๆ ของย่านการค้าใจกลางเมืองโดยไม่ต้องข้ามถนน

ข้อมูลทางสถิติจากการประเมินเปรียบเทียบประสิทธิภาพความปลอดภัยของวงเวียนและการควบคุมทางแยกแบบดั้งเดิม โดยสถาบันวิศวกรการขนส่งสหรัฐอเมริกาบอกว่า วงเวียนที่ถูกออกแบบมาอย่างสมบูรณ์จะปลอดภัยสำหรับผู้ขับขี่และคนเดินถนนมากกว่าสัญลักษณ์ในการจราจรรูปแบบอื่นๆ เพราะอัตราการเร่งรถจะลดลงเหลือ 25 – 40 กม. เท่านั้น ส่งผลให้ตัวเลขการชนกันของรถน้อยลง 39 เปอร์เซ็นต์ บาดเจ็บน้อยลง 76 เปอร์เซ็นต์ และบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตน้อยลงถึง 90 เปอร์เซ็นต์

หากลองเปรียบเทียบการเกิดอุบัติเหตุบริเวณทางแยก มีป้ายหยุด หรือสัญญาณไฟจราจร มักเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง เพราะยานพาหนะเคลื่อนที่เร็วและชนกันในมุมที่มีการกระแทกสูง เช่น การชนบริเวณจุดสำคัญของร่างกาย หรือการกระแทกอย่างรุนแรงที่ศีรษะ ทำให้อันตรายเหล่านั้นคร่าชีวิตผู้คนไปจำนวนไม่น้อย ซึ่งนอกจากวงเวียนจะช่วยลดความเร็วของรถแล้ว ยังลดการปะทะอย่างรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุอีกด้วย

เมื่อเวลาเปลี่ยนไปการปรับระบบจราจร ‘วงเวียน’ ถูกแทนที่ด้วยไฟจราจร การสร้างสะพาน ยันขุดอุโมงค์ และอื่นๆ อีกมากมาย แต่การจราจรแบบนี้กลับเป็นที่นิยมในต่างประเทศมากกว่าประเทศไทย เพราะบ้านเรามีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด และมีปริมาณรถในแต่ละวันมากกว่าปกติ ทำให้ระบายรถครั้งละมากๆ ไม่ได้ ไม่เพียงเท่านั้น ผู้คนส่วนใหญ่ในบ้านเราประสบปัญหาที่ไม่รู้ว่าต้องขับอย่างไร จึงเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้บ้านเรามีปริมาณการใช้วงเวียนน้อยกว่าที่อื่นๆ


Sources :
Amerisurv.com | https://bit.ly/3dzg3SR
Science.howstuffworks.com | https://bit.ly/2OPbFVp

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.