ไม่ใช่ทุกคนที่อยากโตเป็นผู้ใหญ่ เพราะภาระที่ล้นตัว ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่อยากเติบโต

“เป็นผู้ใหญ่ ทำไมยากจัง” นี่เป็นหนึ่งในสิ่งที่ผู้เขียนในฐานะนักจิตบำบัดได้ยินคนไข้บ่นให้ฟังบ่อยๆ ในชั่วโมงบำบัด ไม่ว่าจะด้วยความซับซ้อนที่มากขึ้นของความสัมพันธ์ การบริหารการเงิน กระทั่งการผ่านพ้นดราม่าในครอบครัว และในวันนี้ เรื่องที่ผู้เขียนอยากชวนคุยเป็นพิเศษคือ ความยากในการเติบโตด้านอาชีพการงาน ถ้ามาพิจารณาดูมุมมองที่คนแต่ละรุ่นให้ความหมายและคุณค่าแก่การทำงาน ก็ต้องบอกว่า จากบทความของ PubMed Central ได้พูดถึงชาว Gen Z หรือกลุ่มคนที่เกิดในช่วงกลางยุค 90 ไปจนถึงต้นยุค 2010 ไว้อย่างน่าสนใจ คุณลักษณะเด่นของคนกลุ่มนี้คือ มีความมั่นใจในตัวเองและมุ่งมั่นกับงานที่ทำสูง ต้องการจะพุ่งไปถึงงานในฝันให้ได้ และโหยหาโอกาสที่จะเพิ่มทักษะในสายงานที่ตัวเองรัก ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาให้ความสำคัญกับการทำงานที่มีความยืดหยุ่น ไม่เคร่งเครียดจนเกินไป สุขภาพจิตพวกเขาต้องไหว เพราะชีวิตนอกเหนือจากสถานที่ทำงานก็สำคัญมากสำหรับพวกเขาเช่นเดียวกัน ถ้าคนกลุ่มนี้รู้ตัวว่าไม่ชอบสิ่งที่ทำอยู่เมื่อไหร่ พวกเขาจะเปลี่ยนงานทันที สรุปโดยรวมคือ เป็นกลุ่มคนที่ทุ่มเทให้อาชีพในฝันสุดๆ แต่ก็ชัดเจนในจุดยืนมากเหมือนกันว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่ใช่ทางหรือไม่ใช่ที่ของตนแล้ว ก็พร้อมจะเดินจากไปเพื่อตามหาเส้นทางใหม่ที่คู่ควร แต่ในยุคก่อนหน้าชาว Gen Z ที่เป็นคนวัยผู้เขียน หลายคนมักรู้สึกว่า พวกเราคือรุ่นคาบเกี่ยว คือใจหนึ่งก็อยากวิ่งตามฝัน สร้างคุณค่าในงานที่อยากแสดงออกมาให้ทุกคนเห็น แต่อีกใจหนึ่งก็เป็นเดอะแบกซะเหลือเกิน บางคนแบกภาระของครอบครัวในฐานะคนดูแลหลัก ส่วนบางคนแบก ‘ความหวังหรือความกดดัน’ ที่ครอบครัวโยนมาให้เราโดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว หรือกระทั่งเรานั่นแหละที่โยนให้ตัวเอง จะเห็นว่าผู้คนรุ่นพวกเรามากมายที่ตั้งใจทำงานจนในที่สุดก็เหมือนจะเดินมาสู่ทางแยก ระหว่างเดินต่อไปให้สุด […]

‘ไม่ยาก ถ้าไม่อยากเป็นคน Toxic’ ขอโทษให้เป็น เยียวยาใจ และเตือนตัวเองให้อย่าเผลอไปทำร้ายใจใครอีก

หนึ่งคำพูดอันทรงพลังเกี่ยวกับสุขภาพจิตที่เราเคยได้ยินคือ “Hurt people, hurt people.” อธิบายคือ คนที่เคยผ่านเหตุการณ์ที่ทำให้เขาเจ็บปวดมา หากเขากอดความปวดร้าวนั้นไว้แน่นกับตัว ไม่ช้าก็เร็ว เขาต้องส่งความเจ็บปวดนี้ให้คนอื่นอีก และประโยคที่ตามมาจากประโยคแรกคือ “Healed people, heal people.” ใครก็ตาม ไม่ว่าจะเจ็บปวดมาแค่ไหน หากเขาคนนั้นเลือกที่จะเดินเข้าสู่หนทางแห่งการเยียวยาจิตใจ ไม่ช้าก็เร็ว แรงกระเพื่อมของการอยากมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นจะส่งผลต่อคนรอบข้างให้อยากมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นตามได้แน่นอน แต่ถ้า Hurt People (คนที่เจ็บปวด) ไม่ได้เจ็บปวดจากการที่คนอื่นทำตัวเองเจ็บ แต่เจ็บปวดจากการทำให้คนอื่นเจ็บแล้วรู้สึกแย่มากๆ หลังจากนั้นแทนล่ะ ความรู้สึกที่เหมือนตัวเองเป็นตัวร้ายนี้จะ Heal (เยียวยา) อย่างไรดี หาต้นตอที่ทำให้เราเจ็บปวด เพื่อรีบออกจากวงจรการเผลอเป็นคน Toxic แทบทุกคนที่เคยทำตัวไม่น่ารักใส่ใคร มักเคยมีคนมาทำให้เจ็บก่อน ไม่ว่าคนคนนั้นจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่นี่ก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่อนุญาตให้เราสมควรส่งต่อความเจ็บนี้กระจายสู่คนอื่นไปเรื่อยได้ มีช่วงหนึ่งที่ผู้เขียนเคยมีเรื่องผิดใจกับแม่ รู้สึกเจ็บใจที่ไม่น่าเล่าเรื่องส่วนตัวให้เขาฟัง ปนกับความน้อยใจที่คาดหวังไปเองว่าแม่น่าจะเข้าใจฉันมากกว่านี้ ทำให้ผู้เขียนรู้สึกหงุดหงิดและรำคาญแม่อยู่เสมอ ซึ่งก็มาจากก้อนความเศร้าที่ต่างคนต่างผิดหวังในกันและกันจากความเชื่อในการใช้ชีวิตบางอย่างที่ไม่ตรงกัน จึงเกิดเป็นถ้อยคำทำร้ายจิตใจกัน แต่ก็เป็นตัวผู้เขียนเองที่ไม่ยอมสลัดความเจ็บนี้ออกจากใจ เลือกที่จะแบกไว้ เพราะหวังเองอยู่ลึกๆ ว่าแม่ต้องเข้าใจความเจ็บปวดนี้บ้าง ซึ่งวิธีจัดการความเจ็บในใจโดยการปักธงอยากจะลงโทษทางอารมณ์คนที่ทำให้เจ็บนั้น ก็เป็นวิธีที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าไหร่นัก เพราะทุกครั้งที่เราโฟกัสกับความเจ็บที่เรารู้สึกจากเขา และพยายามจะส่งก้อนความเจ็บนี้กลับไปให้เขา กลายเป็นเราเองนั่นแหละที่เจ็บในใจกว่าเหลือเกิน สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นคือ เราหงุดหงิดและรำคาญแม่แทบทุกเรื่องที่เขาทำ […]

Adamant Hospital โรงพยาบาลจิตเวชลอยน้ำในปารีส ที่สร้างบรรยากาศให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่โดดเดี่ยวในเมืองใหญ่

เพื่อให้การไปโรงพยาบาลจิตเวชสำหรับชาวปารีสไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่คิด สตูดิโอออกแบบ ‘Seine Design’ ที่เชี่ยวชาญการออกแบบสิ่งปลูกสร้างลอยน้ำจึงรับหน้าที่ออกแบบโรงพยาบาลจิตเวช ‘Adamant Hospital’ ตั้งอยู่ใกล้กับสะพาน ‘Pont Charles-de-Gaulle’ บริเวณใจกลางกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส Adamant Hospital เป็นโรงพยาบาลลอยน้ำในลักษณะสมมาตรที่แยกตัวออกมาจากโรงพยาบาลหลักอย่าง ‘Esquirol Hospital’ เพื่อดูแลผู้ป่วยจิตเวชและผู้มีปัญหาด้านจิตใจโดยเฉพาะ ผ่านการออกแบบที่ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นสตูดิโอส่วนตัวของศิลปินมากกว่าโรงพยาบาลในขนาดเพียง 600 ตารางเมตร Seine Design อธิบายการออกแบบ Adamant Hospital ไว้ว่า เป็นแนวคิดการออกแบบอาคารที่เปลี่ยนสิ่งธรรมดาให้น่าตื่นเต้น โดยให้ความหมายกับเหตุการณ์และสภาพอากาศทั่วไปในชีวิตประจำวันให้มากขึ้น ไม่ว่าจะฝนตกหรือแดดออก ผ่านการใช้ไม้แบบโมดูลาร์และมีบานประตูหน้าต่างแบบเคลื่อนย้ายได้ เพื่อให้ตัวอาคารเชื่อมต่อกับบรรยากาศธรรมชาติและเป็นมิตรกับผู้ป่วยมากขึ้น โดยภายในของ Adamant Hospital ประกอบไปด้วยห้องทำงานของทีมแพทย์ และพื้นที่สำหรับรับรองผู้ป่วยที่เน้นไปที่การออกแบบกิจกรรม ‘Therapy Workshops’ ในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่การทำเครื่องปั้นดินเผา เล่นดนตรี หรือการวาดภาพ เพื่อช่วยฟื้นฟูให้ผู้ป่วยสามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีความสุข และไม่รู้สึกโดดเดี่ยวในเมืองใหญ่อีกต่อไป Sources : ArchDaily | t.ly/gJuQSeine Design | www.ronzatti.com/adamant.html

ฮาวทูชาร์จแบตฯ กายใจในเมืองใหญ่ที่ดูดพลังเราทุกวัน คุยกับนักละครบำบัด ‘กิ๊ฟท์ ปรีห์กมล’

ในฐานะคนที่จากบ้านเกิดมาอยู่เมืองใหญ่หลายปี สิ่งที่ทำใจให้ชินไม่ได้สักทีคือความรู้สึกไม่มีพลังในการควบคุมสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ฉันไม่อาจเรียกตัวเองว่าเพื่อนสนิทกับขนส่งสาธารณะ ไม่ชอบความแออัด กะเวลาไม่ได้ ถ้าจะเดินทางครั้งหนึ่งก็ต้องเผื่อเวลาอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมง ไหนจะฝุ่นควันในอากาศและสถานการณ์บ้านเมืองที่ทำให้หัวร้อนได้ทุกวัน  ‘เมืองนี้สูบพลัง’ คือความคิดตั้งแต่วันแรกที่มาอยู่ที่นี่จนถึงปัจจุบัน ความรู้สึกต่อมาที่หลายคนน่าจะมีเหมือนกันคือ ‘ฉันอยากออกไปจากที่นี่ แต่ยังไปไหนไม่ได้’ ด้วยเหตุผลนับร้อยพันที่แต่ละคนมีไม่เหมือนกันคอยฉุดรั้งไว้ นั่นคือเหตุผลที่ฉันมาพบกับ ‘กิ๊ฟท์-ปรีห์กมล จันทรนิจกร’ หญิงสาวผู้ที่หลายคนอาจรู้จักในฐานะผู้ก่อตั้ง Ma.D Club for Better Society กิจการเพื่อสังคมที่ซัปพอร์ตกลุ่มคนผู้อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีในสังคมเมื่อหลายปีก่อน ประสบการณ์เกี่ยวกับสุขภาพจิตจากตัวเธอเองและคนรอบข้างในช่วงเวลานั้น ทำให้ปรีห์กมลสนใจด้านจิตใจและการบำบัดมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะละครบำบัดที่ทำงานกับเธอได้ดีเป็นพิเศษ หลังจาก Ma.D ปิดตัวลงในปลายปี 2018 เธอจึงเดินทางไปเรียนต่อ MA Drama and Movement Therapy ที่ The Royal Central School of Speech and Drama ประเทศอังกฤษ และกลับมาทำงานที่นี่ในฐานะนักละครบำบัด และในฐานะคนทำงานเกี่ยวข้องกับร่างกายและจิตใจอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ปรีห์กมลคือคนที่เราอยากขอคำปรึกษาเรื่องการกลับมาดูแลกายใจในเมืองสูบพลังที่เรา (จำเป็น) ต้องใช้ชีวิตอยู่ เล่าให้ฟังหน่อยสิว่าหลักของละครบำบัดที่คุณทำอยู่คืออะไร และมันต่างจากการบำบัดแบบอื่นอย่างไร สำหรับเรา […]

‘ลองเอาตัวเองมาก่อนคนอื่นบ้าง’ รู้จักสร้างขอบเขตความสบายใจและปลอดภัยด้วยตัวของเรา

ผู้เขียนชอบล้อเล่นกับเพื่อนบ่อยๆ ว่า ‘My favorite B’ หรือ คำโปรดของฉันที่ขึ้นต้นด้วยตัวบี ไม่ใช่ เบสต์เฟรนด์ (Best Friend) หรือ เบบี้ (Baby) ที่รักอะไรหรอก แต่คือคำว่า ‘Boundary’ ต่างหาก หลายคนคงเคยได้ยินคำนี้มาบ้างแล้ว อาจจะบ่อยหน่อยในช่วงหลังๆ ที่มีการพูดถึงเรื่องสุขภาพจิตใจกันมากขึ้น คำแปลจากพจนานุกรมของเคมบริดจ์ (Cambridge) อธิบายความหมายของคำศัพท์นี้ไว้ได้เห็นภาพ นั่นคือ ‘a real or imagined line that marks the edge or limit of something.’ (การมีเส้นแบ่งเขตที่มีอยู่จริงหรือคิดขึ้นมาก็ได้ ที่กำหนดขอบเขตของบางอย่าง) ก็คล้ายๆ กับการอธิบายที่ผู้เขียนชอบใช้เวลาพูดถึง Boundary ในแง่สุขภาพจิตใจ ว่ามันคือ ‘ขอบเขตความสบายใจและความปลอดภัยของตัวเอง’ ซึ่งเราเป็นคนกำหนด และเมื่อไหร่ก็ตามที่มีใครเข้ามารุกราน Boundary ของเราตอนที่ยังไม่พร้อม เราจะรู้สึกอึดอัดและลำบากใจทันที ดูชัดเจนและเห็นภาพง่ายดีใช่ไหมล่ะ ก็ถ้าไม่ได้อยากยุ่งกับใคร หรือช่วยเหลือใครตอนนี้ เราก็บอกเขาไปว่าไม่พร้อมแค่นั้นเอง […]

เอาชีวิตรอดยังไงให้ไม่เบิร์นเอาต์จนกลายเป็นซอมบี้ l Soundcheck

เสียเวลาเดินทางวันละ 3 ชั่วโมงการแข่งขันในที่ทำงานแบบเดือดๆความซ้ำซากจำเจที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน อะไรบ้างที่เป็นสาเหตุให้คุณหมดแรงจูงใจในการใช้ชีวิต จนกลายเป็นซอมบี้ที่ลุกจากเตียงออกไปเรียนและทำงานไปวันๆ ไร้ซึ่งวิญญาณ Soundcheck พาทุกคนไปสำรวจความคิดเห็นของชาวเมือง และทำหน้าที่รับฝากข้อสงสัยทางใจ เพื่อนำไปปรึกษานักจิตบำบัดให้ เผื่อคำแนะนำเหล่านี้จะช่วยเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีปฏิบัติให้คุณไม่กลายเป็น ‘ซอมบี้’ ในเมืองใหญ่ Bangkok Zombie Town คือซีรีส์คอนเทนต์ประจำเดือนตุลาคม 2565 จาก Urban Creature ที่ต้องการให้คนเมืองเห็นปัญหาเมืองผ่านข้อมูล ผู้คน และแง่มุมใหม่ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้อยู่อาศัย เพื่อทำความเข้าใจ เรียกร้องการเปลี่ยนแปลง และไม่โทษว่าเป็นความผิดพลาดของตัวเองเพียงอย่างเดียว

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.