เชื่อหรือไม่ว่าบนโลกใบนี้มีการผลิตเนื้อสัตว์สูงถึง 6 เท่า เมื่อเทียบกับ 50 ปีก่อน แต่พื้นที่บนโลกนั้นเท่าเดิม หากเล่าให้เห็นภาพมากขึ้น คือการเกษตรบนโลกนี้เกิน 80% ยอมสละพื้นที่เพื่อการผลิตสัตว์มาให้เรากินกัน
คำถามคืออาหารที่สัตว์กินนั้นมาจากไหน ? คำตอบคือการออกแรงถางป่าเพื่อปลูกพืชธัญญาหารมาเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ ก่อนที่สัตว์เหล่านั้นจะส่งต่อเป็นอาหารของมนุษย์ กลายเป็นภัยเงียบต่อโลกที่ใครหลายคนมักมองข้ามผลกระทบนี้ ดังนั้นการที่มนุษย์ตัวเล็กๆ ปรับเปลี่ยนอาหารในชีวิตประจำวัน ก็สามารถช่วยให้โลกนั้นเย็นขึ้นได้แล้ว
อย่างการปรับมากิน ‘อาหารแพลนต์เบสต์’ (Plant based) ซึ่งเน้นกินพืชมากกว่าเนื้อสัตว์ ถือเป็นตัวเลือกที่ช่วยได้เป็นอย่างดี และ ‘คุณหนูดี – วนิษา เรซ’ สาวเก่งผู้สร้างแรงบันดาลใจ ทั้งยังเป็นผู้บริหารโรงเรียนวนิษา เจ้าของแฟนเพจเฟซบุ๊กอัจฉริยะสร้างได้ ก็เป็นหนึ่งคนที่หันมาทานอาหารแพลนต์เบสอย่างเต็มตัวมากว่า 2 ปี และเราเองก็มีโอกาสดีได้นั่งพูดคุยกับคุณหนูดีแบบสบายๆ ที่ริมสระน้ำของโรงเรียนวนิษาในช่วงสายวันหนึ่ง
เหตุและผลที่หันมากินพืชมากขึ้น
เห็นคุณหนูดีเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสมองแต่กลับมีไอดอลเป็น ‘คุณสืบ นาคะเสถียร’ ซึ่งคุณหนูดีเล่าอย่างประทับใจว่า เพราะได้อ่านหนังสือของคุณสืบ ทำให้รู้สึกห่วงแหนเรื่องป่าไม้ และรู้ดีว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของการทำลายป่า จึงมีแรงจูงใจผลักตัวเองออกไปศึกษาเรื่องการกินอาหารอย่างจริงจัง จึงทำให้คุณหนูดีรู้มาว่า
“เวลากิน เนื้อสัตว์ ไข่ไก่ นมวัว ชีส โยเกิร์ตที่มาจากนมวัว ทั้งหมดคือการทำลายป่าทั้งหมด เราไม่สามารถที่จะกินอาหารจากสัตว์ โดยไม่มีการปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งมาจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ได้”
เมื่อต้องใช้พื้นที่มากขึ้น อุตสาหกรรมปศุสัตว์ยังต้องใช้น้ำจำนวนมหาศาลเพื่อขุนสัตว์แต่ละตัวให้โต นั่นหมายถึงว่าแหล่งน้ำก็ย่อมเสียหายตามไปด้วยถ้าเราหยิบน้ำนั้นมาให้มนุษย์ดื่ม หรือเกษตรกรหันมาปลูกธัญพืชให้คนกินจะสามารถประหยัดทรัพยากรได้เป็นอย่างมาก คุณหนูดีจึงมองว่า นี่คือเรื่องเร่งด่วน ทุกคนควรจะบาลานซ์อาหารการกินในแต่ละมื้อ โดยจัดสัดส่วนให้มีพืชเป็นเมนูหลักในชีวิตประจำวันมากขึ้นกว่า 90% และหันมาลดเนื้อสัตว์ลง
เริ่มต้นง่ายๆ กินแพลนต์เบสต์ แบบคนเมือง
โดยทั่วไปร่างกายคนเราต้องการวิตามิน โปรตีน แคลเซียม และแร่ธาตุมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่มักคิดว่า สิ่งเหล่านั้นอยู่ในเนื้อสัตว์ หรือนม แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างที่คิดทั้งหมด เช่น แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่อยู่ในดิน เพียงแค่ย้ายมาอยู่ที่ผักกับหญ้า จากนั้นวัวกินเข้าไปจึงย้ายไปอยู่ที่ตัววัว เสมือนวัวเป็นเพียงพ่อค้าคนกลาง ทำให้เห็นได้ชัดว่า การที่ร่างกายเราจะได้รับสารอาหารให้ครบ อาจไม่ต้องพึ่งวัวเลยก็ได้ถ้า กินผักใบเขียว รวมถึงธัญพืชต่างๆ อย่างพอดี
“Plant Based คือเน้นกินพืชให้มากขึ้น”
มาถึงตรงนี้น่าจะชัดเจนมากๆ แล้วว่า การกินเนื้อสัตว์ของมนุษย์ส่งผลให้อุณหภูมิโลกนั้นเปลี่ยนแปลง แต่พอจะเข้าวงการแพลนต์เบสต์ทั้งที แน่นอนละว่าแรกๆ สำหรับคนที่ไม่ค่อยทานผัก ผลไม้ถือว่าเป็นเรื่องยาก รวมถึงอาจจะสับสนนิดหน่อยว่าควรทานอย่างไร คุณหนูดีบอกว่าสิ่งนี้ถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเธอก็ผ่านจุดนั้นมาเหมือนกัน
ดังนั้นการเริ่มต้นทานแพลนต์เบสต์แต่ละมื้อ ยังไม่ต้องสมบูรณ์แบบก็ได้ เพราะอาจจะทำให้ตัวเองเครียดเกินไป แต่เป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ ปรับ ยิ่งเป็นคนเมืองที่แทบจะไม่มีเวลาเข้าครัวเลย คุณหนูดีเลยแนะนำวิธีกินแพลนต์เบสต์แบบง่ายๆ มาฝากกัน
1. เปลี่ยนข้าวขาวเป็นข้าวกล้อง
ข้าวกล้องมีวิตามิน B12 และเส้นใยอาหาร จะช่วยทำให้น้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดช้าลง จนร่างกายทำงานได้อย่างเสถียร ดังนั้นคิดอะไรไม่ออกให้คิดถึงข้าวกล้องเอาไว้
2. เปลี่ยนเนื้อสัตว์ เป็นเต้าหู้ หรือเห็ด
เวลาไปที่ร้านอาหารให้ถามที่ร้านเลยว่ามีเห็ดหรือเต้าหู้หรือไม่ พื้นฐานง่ายๆ คือเมนูทั่วไปแค่ลองเอาเนื้อสัตว์ออกไปก่อนบ้าง หากเป็นร้านอาหารตามสั่งยิ่งง่ายไปใหญ่เลย ไม่ว่าจะเป็นกะเพราเห็ด กะเพราเต้าหู้ แกงจืดเต้าหู้ หากเป็นผัดไทยก็ลองใส่ผักและเต้าหู้ให้เยอะขึ้น
3. หาซื้อของแพลนต์เบสต์ ได้ตามร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน
ห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อมักจะมีสินค้าที่หลากหลาย ให้เลือกซื้อแบบพร้อมทานได้เลย ทั้งข้าวโพดหวาน มันหวาน ซาลาเปาผัก หรือนมพืช แค่นี้ก็ได้แล้วแพลนต์เบสต์หนึ่งมื้อ
4. ซื้อถั่วเข้าบ้านบ้าง
ถั่วเป็นพืชที่สำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นถั่วชิคพี ถั่วขาว ถั่วแดง และถั่วดำ แต่ต้องนำมาแช่น้ำเกิน 6 ชั่วโมง ต้มจนนิ่มให้บีบด้วยมือแล้วเละ เพราะถั่วมีสารที่ทำให้เกิดแก๊สในท้อง หรือปรับเป็นถั่วกระป๋องก็จะง่ายหน่อยแต่ต้องดูแบรนด์ที่โซเดียมต่ำ รวมถึงสิ่งที่ขาดไม่ได้ของคนไทย คือมันหวาน ฟักทอง เหล่านี้ควรมีติดตู้เย็นไว้ที่บ้าน เพราะเป็นพืชที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงแต่ไขมันต่ำ ซึ่งจะปล่อยพลังงานทีละนิด ทั้งยังทำให้อิ่มท้อง และมาพร้อมโปรตีน ไฟเบอร์ และไฟโตรนิวเทรียนท์ซึ่งช่วยต้านการอักเสบ แถมมีน้ำมัน ไขมัน ในสัดส่วนที่สมบูรณ์อยู่แล้ว ถึงเราไม่ใช้น้ำมันพืชในการปรุงอาหารแต่เราก็ได้รับไขมันที่เพียงพอ
“คนจะกินแพลนต์เบสต์ ต้องเข้าใจก่อนว่ากินพืชอะไรแล้วอิ่ม และเป็นพลังงานที่ดี”
ดังนั้นในแต่ละมื้อนอกจะกินพืชแล้ว เราก็ต้องเพิ่มผักใบเขียว และผลไม้หลากสีลงไปด้วย เสริมด้วยถั่วเปลือกแข็ง อย่างวอนัท ถั่วลิสง งา หรือเมล็ดเจีย เพื่อเพิ่มน้ำมันและโอเมกา
“ถ้ากินพวกนี้เป็นหลักมันจะทำให้เราอิ่มก่อนที่เราจะอ้วน ”
เมนูจากพืชง่ายๆ ฉบับคุณหนูดี
ส่วนอาหารง่ายๆ อย่างที่คุณหนูดีบอก คือให้เริ่มเอาเนื้อสัตว์ออกก่อน และทุกมื้อคุณหนูดีมักจะเตรียมอาหารเอง พร้อมใส่ปิ่นโตหรือกล่องข้าวติดตัวไปด้วยเสมอ อย่างมื้อนี้เป็นบะหมี่ผัก คู่กับน้ำซุปสารพัดเห็ด เคียงด้วยผักลวกและถั่วต้ม ส่วนผลไม้เป็นแอปเปิลสดสองลูก จบด้วยอาหารว่างอย่างน้ำผักผลไม้นั่นเอง
อีกทั้งคุณหนูดีบอกว่า ส่วนตัวชอบกินอาหารอีสานมาก จึงชอบทำแกงอ่อมเห็ด หรืออาหารแซ่บๆ อยู่เสมอ แต่เปลี่ยนเป็นปลาร้าเจ หรือซอสเครื่องปรุงที่ทำจากถั่วเหลืองแทน นั่นแปลว่าการกินอาหารแพลนต์เบสต์ก็ไม่ได้มีแค่รสจืดชืดอย่างที่หลายคนเข้าใจ
คำถามคือ จะกลายเป็นคนกินยากไหม ไปกับเพื่อนจะกินอาหารแนวไหนได้บ้าง ?
คุณหนูดีบอกว่า ถ้าอยู่ที่บ้านเราจะเป็นเราเต็มตัว และลงมือทำอาหารอย่างเต็มที่ แต่หากไปกินข้าวนอกบ้านกับเพื่อนก็เลือกเมนูที่เหมาะสม อาจจะมีเนื้อสัตว์บ้าง แต่ยังเป็นพืชผักที่เปอร์เซ็นต์เยอะกว่าแน่นอน ดังนั้นไม่เคยลำบากใจเลยเวลาไปกินข้าวนอกบ้านหรือสังสรรค์กับเพื่อนๆ แค่ปรับให้เหมาะกับตัวเองเท่านั้น
อีกนานแค่ไหนคนถึงจะสนใจการกินแพลนต์เบสต์มากขึ้น ?
“การที่จะทำให้หลายคนหันมากินพืชมากกว่าเนื้อสัตว์ หลักการสำคัญคือต้องทำอาหารจากพืชให้อร่อยเสียก่อน ”
สิ่งที่คุณหนูดีพูดค่อนข้างจะจริง และน่าเห็นด้วย มองภาพง่ายๆ อาหารหรือเครื่องดื่มที่ไม่ดีต่อสุขภาพ อย่างชานมไข่มุก เรายังดื่มเพราะมันอร่อย อาหารแพลนต์เบสต์ก็เช่นกัน หากทำให้อร่อยได้ คนก็จะแห่ไปนิยมกิน และคุณหนูดีเชื่อว่าคนไทยเองมีนิสัยอยากเรียนรู้ และปรับตัวได้ไว
เช่นเดียวกันกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อย่างที่เห็นว่า ตอนนี้คนเริ่มใช้ถุงผ้า หรือไม่ใช้แก้วพลาสติก ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่า คนเริ่มหวงแหนผืนป่า อาจไม่ได้ 100% แต่ก็เริ่มรับไม่ได้ถ้าป่าถูกบุกรุกแล้ว ซึ่งก่อนจากการคุณหนูดีฝากประโยคหนึ่งไว้ให้คิดว่า
“วิธีที่ยิ่งใหญ่และได้ผลที่สุดในการช่วยโลก อาจจะอยู่ใต้จมูกเราหรือตรงหน้าของเรา หากเริ่มได้ทันทีวันนี้ เพียงแค่เปลี่ยนอาหารในจานเราให้มีพืชมากขึ้น ง่ายๆ เท่านี้เอง ”