ยานณกาล ปั้นเซรามิกเป็นงานอาร์ต - Urban Creature

ท่ามกลางความเร่งรีบ เสียงจอแจ และรถยนต์อันแสนพลุกพล่านของย่านนางลิ้นจี่ ฉันได้ยืนหยุดอยู่ตรงหน้าประตูไม้บานใหญ่ ซึ่งเป็นทางเข้าสตูดิโอเซรามิก ‘ยานณกาล’ (Yarnnakarn) และทันทีที่ก้าวเท้าเข้าร้าน กลับต้องแปลกใจในความเงียบสงบที่ยึดครองพื้นที่ชั้น 1 ซึ่งห่างจากถนนไม่ถึง 5 เมตร เป็นความตั้งใจของ ‘กรินทร์ พิศลยบุตร’ และ ‘นก-พชรพรรณ ตั้งมติธรรม’ ที่อยากให้สเปซของยานณกาลเป็นหลุมหลบภัย เพื่อปลีกตัวออกจากความวุ่นวาย 

สเปซแต่ละมุมถูกประดับประดาไปด้วยเครื่องปั้นเซรามิก ทั้งของใช้ ของกระจุกกระจิก หรือของแต่งบ้านให้เราเลือกสรรตามชอบ ซึ่งฉันกลับไม่รู้สึกว่าเรากำลังเลือกซื้อสินค้าในร้านขายของ แต่เหมือนเดินชมงานเซรามิกในอาร์ตแกลเลอรีเล็กๆ ที่หากถูกใจชิ้นไหนก็จ่ายเงินแล้วหิ้วกลับบ้านไปได้เลย

ยานณกาล = พาหนะที่พาเราเดินทางผ่านกาลเวลา

กว่ายานณกาลจะเป็นรูปเป็นร่างได้ทุกวันนี้ กรินทร์เล่าให้ฟังว่าหลังจากที่เขาเรียนจบเอกหัตถศิลป์ จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาไม่ได้ตั้งใจทำสตูดิโอเซรามิกในตอนแรก แต่มีความคิดว่าอยากหาอาชีพที่สามารถดูแลได้ด้วยตนเอง ตั้งแต่กระบวนการทำ ไปจนถึงการลงมือขาย ซึ่งช่วงหนึ่งเขาได้พับความคิดตรงนั้นเอาไว้ แล้วไปทำงานอย่างอื่นแทน

“ช่วงหนึ่งเราไปทำงานที่โรงงานเซรามิก แล้วเราทำ Mass Production คือทำปริมาณเยอะๆ พันชิ้น หมื่นชิ้น แล้วพอมาถึงจุดหนึ่งเรารู้สึกว่าความรู้ที่มีจากการทำงานในโรงงานบวกกับความถนัดของเรา มันน่าจะพอทำเองได้นะ เลยออกมาทำ ซึ่งความตั้งใจแรกคิดว่าอยากทำ Home Studio มีเซตเตาเผาเล็กๆ ทำเองคนเดียว แต่พอดีน้องที่เคยทำงานด้วยกัน เขาพอมีความรู้ด้านเซรามิกเลยชวนมาทำด้วยกันสองสามคน จากนั้นก็ทำมาเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้ (หัวเราะ)”

หากเราลองค้นหาคำว่า ‘ยานณกาล’ ในพจนานุกรมเล่มหนาเตอะจะไม่พบความหมายของมัน เพราะชื่อนี้เกิดจากการประดิษฐ์คำขึ้นมาระหว่าง ‘ยาน’ แปลว่าพาหนะที่พาไปสู่จุดหมาย ‘ณ’ แปลว่า สถานที่ และ ‘กาล’ แปลว่าเวลา เมื่อนำมารวมกันสื่อความหมายคล้ายกับไทม์แมชชีนที่พาเราเดินทางผ่านกาลเวลา ซึ่งพี่สาวของเขาเป็นคนตั้งให้ โดยกรินทร์มีโจทย์ว่าอยากได้ชื่อเกี่ยวกับเวลา และที่สำคัญต้องเป็นคำภาษาไทย

สตูดิโอเซรามิกที่จำลองเป็นบ้านวัยเด็กในอุดมคติ

ก่อนหน้าที่ยานณกาลจะย้ายมาอยู่ใจกลางเมืองย่านนางลิ้นจี่ได้ 2 ปี สตูดิโอเซรามิกเคยตั้งอยู่ย่านจตุจักรมานานกว่า 8 ปี แต่ข้อจำกัดด้านพื้นที่ที่กรินทร์อยากเล่าเรื่องเซรามิกผ่านสเปซ ทำให้ต้องตัดสินใจย้ายออกมา

“ต้องบอกว่าจริงๆ เราชอบร้านเก่ามากเป็นร้านอุดมคติตามที่เราต้องการ ถึงแม้จะอยู่ในจตุจักรแต่คนไม่แออัดมาก มีสเปซรอบๆ แล้วรอบข้างเป็นเฟอร์นิเจอร์เก่า ซึ่งเข้ากับสิ่งที่เราอยากให้เป็น แต่ข้อจำกัดด้านพื้นที่ เราไม่สามารถจัดวางสินค้าให้เป็นตามที่เราต้องการได้ เพราะของค่อนข้างเยอะ (หัวเราะ) พอมันมีพื้นที่มันเลยมีสเปซให้เล่าเรื่องแบบอื่นด้วย ไม่ใช่แค่เป็นช็อปขายของอย่างเดียว บวกกับความสะดวกและการจัดการเลยตัดสินใจมาทำกับเพื่อนที่ตึกนี้

“เผอิญว่าเพื่อนอยากทำร้านกาแฟ เราเลยคุยกันว่าอยากให้ที่นี่เป็นที่พิเศษ เพราะโลเคชันอยู่ใจกลางเมืองเราต้องการให้คนเข้ามามีสเปซเป็นของตัวเอง นั่งดื่มกาแฟ นั่งทำงานชิลๆ อยากให้คนเข้ามาแล้วไม่ได้รู้สึกว่ามาร้านขายของอย่างเดียว ซึ่งความรู้สึกแบบนั้นอาจทำให้การมองของในร้านเปลี่ยนไปจริงๆ เขาอาจจะไม่ได้ตั้งใจมาดูของ แต่มาอยู่ใน Mood ที่โอเคก็อาจเจออะไรสักอย่างที่เราอยากให้คนเห็น”

นอกจากนี้ กรินทร์ยังเสริมว่าคอนเซปต์ที่เขาวางไว้ คือ Hole & Corner เป็นที่หลบความวุ่นวายจากภายนอก และเขาได้จำลองบรรยากาศของบ้านวัยเด็กในอุดมคติ ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังอยู่ใต้ถุนหรือใต้หลังคา หากย้อนกลับไปสมัยที่พวกเรายังเป็นเด็ก เรามักจะเล่นสนุกกับพื้นที่ในบ้าน โดยที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ห้องนั่งเล่น บางครั้งเราอาจจะแอบอยู่ใต้โต๊ะ หรือใช้พื้นที่ใต้บันไดให้เป็นฐานทัพหรืออะไรสักอย่างตามจินตนาการ

อยู่บ้านก็เปลี่ยนบรรยากาศได้ด้วย ‘เซรามิก’

สิ่งหนึ่งที่กรินทร์และนกตั้งใจ คืออยากให้เซรามิกไม่ได้เป็นแค่ของแต่งบ้าน แต่เป็นของที่เปลี่ยนสเปซนั้นๆ ได้ หรือเล่าเรื่องด้วยตัวมันเองได้ ซึ่งทั้งสองมองว่า ‘เซรามิก = Art Pieces’

“เราไม่ได้ตั้งใจให้เซรามิกเป็นแค่ของแต่งบ้าน อย่างแจกันไม่ใช่แค่แจกัน แต่เป็นของที่มีคุณค่าทางจิตใจ ไม่ได้เชิงฟังก์ชันอย่างเดียว เราเลยทำให้มันเป็นงานศิลปะด้วย ซึ่งเราชอบทำของที่คนเห็นแล้วเข้าใจได้ทันทีว่าคืออะไร เป็นของวางอยู่นิ่งๆ แต่เมื่ออยู่รวมกันมันมีการเคลื่อนไหวอะไรบางอย่าง ทำให้พื้นที่นั้นเหมือนมีสิ่งมีชีวิตอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่เซรามิกในร้านจะเป็นรูปสัตว์ หรือธรรมชาติ ทั้งสองอย่างเป็นสิ่งที่เราชอบและสนใจ อย่างสัตว์ใครๆ ก็ชอบ หรือธรรมชาติใครๆ ก็อยากเอามาไว้ใกล้ตัว แต่จะทำอย่างไรให้รูปปั้นที่ดูแข็งทื่อ มันมีชีวิตชีวามากกว่านั้น” 

เชื่อว่าใครที่ได้เข้ามาในพื้นที่ของยานณกาล แล้วเห็นงานเซรามิกที่วางเรียงรายอยู่ จะเข้าใจถึงสิ่งที่กรินทร์และนกอยากให้เป็น อย่างตัวหนอนเซรามิกในตู้โชว์ทางเข้าร้าน มีใบไม้เซรามิกที่เป็นรอยกัดแหว่ง ทำให้เรารู้สึกได้ถึงธรรมชาติของหนอน หรือมวลผีเสื้อในตู้ลิ้นชัก ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังบินทะลักออกมา และถ้าหากมองเซรามิกทุกชิ้นอย่างถี่ถ้วนจะเห็นความไม่เหมือนกัน ซึ่งเป็นเสน่ห์ของงานเซรามิกที่หาจากไหนไม่ได้

Yarnnakarn + AGO

หลังจากนั่งคุยกันเสร็จสรรพกรินทร์และนก พาฉันเดินทัวร์ตึก ‘Yarnnakarn + AGO’ ซึ่งเป็นหมุดหมายที่พวกเขาและเพื่อนได้เนรมิตให้ตึกออฟฟิศเก่าเป็นหลุมหลบภัยใจกลางเมือง ซึ่งชั้นแรกเป็นพื้นที่ของร้านยานณกาลให้เดินชมหรือช้อปงานเซรามิกได้ตามชอบ ต่อมาชั้นที่สอง คือ ‘Experience Floor & Contemporary Arts’ พื้นที่จัดแสดงงานศิลปะแบบหมุนเวียน ส่วนชั้นสุดท้ายคือสวนบนดาดฟ้า คาเฟ่ และห้องเวิร์กช็อปสำหรับสอนทำเซรามิก ซึ่งทั้งตึกเต็มไปด้วยบรรยากาศสบายๆ ใช้เป็นที่พักผ่อน หรือนัดประชุมก็ได้ โดยเฉพาะมุมสวนชั้นดาดฟ้ามีพื้นที่สีเขียวที่สบายตา และรู้สึกเหมือนได้รีเฟรชตัวเองอีกครั้ง

แม้ช่วงนี้หลายคนอาจจะกังวลเรื่องการออกนอกบ้าน แต่ยังมองหาเซรามิกมาตกแต่งบ้านในช่วง Work from Home ทางร้านก็มีอัปเดตงานเซรามิกผ่านช่องทางออนไลน์ เผื่ออยากช้อปชิ้นไหนก็ทดเอาไว้ในใจแล้วค่อยพุ่งตัว Walk-in มาซื้อที่ร้านก็ได้

Where : ซอยนางลิ้นจี่ 4 ถนนนางลิ้นจี่ | https://maps.app.goo.gl/XAyhe 
When : เปิดทุกวันอังคาร-วันอาทิตย์ | 11.00 – 18.00 น. (สำหรับช่วงโควิด-19)
Facebook : Yarnnakarn
Instagram : Yarnnakarnร่วมแจมโปรเจกต์ Urban Guide : Survive Together เพียงส่งเรื่องราวร้านเด็ด
แบรนด์ดีมาหาเราได้ที่ : http://m.me/UrbanCreatureTH

Writer

Photographer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.