ถ้าคนที่มีความหลากหลายทางเพศยังไม่ได้รับสิทธิอันเท่าเทียมกัน ก็เป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าประเทศไทยคือสรวงสวรรค์ของ LGBTQ+
.
โดยเฉพาะประเด็นความเท่าเทียมด้านการใช้ชีวิตคู่โดยมีกฎหมายมารองรับ ซึ่งปัจจุบันยังคงจำกัดสิทธิไว้สำหรับคู่รักชายหญิงเท่านั้น
.
กลางปี 2563 #สมรสเท่าเทียม เป็นที่พูดถึงกันในวงกว้างเพราะ ส.ส.พรรคก้าวไกล เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ร่างแก้ไข ป.พ.พ.) ต่อสภาผู้แทนราษฎร เนื้อหาที่เสนอแก้ ป.พ.พ.ว่าด้วยการสมรส เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดที่กำหนดให้การสมรสมีเฉพาะชาย-หญิง เปลี่ยนเป็นการสมรสระหว่างบุคคลสองฝ่าย โดยให้ทุกๆ คนใช้กฎหมายสมรสฉบับเดียวกันได้อย่างไม่แบ่งแยก
.
ปลายปี 63 ร่างแก้ไข ป.พ.พ. ที่ก้าวไกลเสนอ ยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในวาระที่หนึ่ง จึงถือเป็นหนึ่งในร่างกฎหมายที่คั่งค้างมายาวนาน
.
และเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2564 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า ศาลวินิจฉัยโดยมีมติ “เอกฉันท์” ว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ไม่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ สมควรดำเนินการ “ตรากฎหมาย” รับรองสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศต่อไป
.
ในปัจจุบันกฎหมายยังไม่ถูกแก้ จึงยังไม่มีสิทธิการตั้งครอบครัวสำหรับเพศหลากหลาย ดังนั้น ‘ภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม’ จึงร่วมมือเสนอร่างแก้ไข ป.พ.พ. อีกหนึ่งฉบับ โดยอาศัยกลไกตาม พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564 รวบรวมรายชื่ออย่างน้อย 10,000 รายชื่อ (ซึ่งน่าชื่นใจที่ตอนนี้ตัวเลขใกล้แตะ 200,000 รายชื่อแล้ว) เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้สภาผู้แทนฯ พิจารณาต่อว่า ป.พ.พ. ที่ยังรับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิงนั้น ควรถูกแก้ไข แล้วเพิ่มพื้นที่การรับรองสิทธิของเพศหลากหลายหรือไม่
.
หากร่างแก้ไขสำเร็จจะนำไปสู่สิทธิจดทะเบียนสมรส แต่งงาน และสร้างครอบครัวกันได้โดยชอบทางกฎหมาย โดยมีการรับรองสิทธิต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียมคู่รักชายหญิง ซึ่งสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมตรงนี้ได้ที่ https://cutt.ly/fT3Z0pU
.
การเข้าชื่อเสนอ #สมรสเท่าเทียม ภาคประชาชน เริ่มวันแรกใน #ม็อบสมรสเท่าเทียม วันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งทุกคนสามารถลงชื่อออนไลน์ร่วมกันได้ที่เว็บไซต์ www.support1448.org
.
อย่าลืมแชร์หรือบอกต่อเพื่อแสดงพลังให้เห็นว่า ไม่ว่าเราเป็นเพศไหนก็มีสิทธิ์รักกันได้และควรได้รับการคุ้มครองไม่ต่างกัน
Source :
https://www.ilaw.or.th/node/6032