Supergoods วงดนตรีที่แต่งเพลงด้วยเสียงสะพานพุทธ - Urban Creature

เมื่องานสถาปัตยกรรมในเมือง กำลังส่งเสียงให้เราฟัง ถ้าเราบอกประโยคนี้ไปแล้วขอให้ลองนึกเสียงของเหล่าตึกรามบ้านช่อง ทุกคนพอนึกออกบ้างไหม ? ลองนึกถึงเสียงบ้านที่อยู่ เสียงวัดวาอาราม หรือเสียงคาเฟ่โปรดสักร้าน ถ้าใครกำลังนึกตาม เราอยากให้ลองนึกถึง…

“ลองนึกถึงเสียงของ ‘สะพานพุทธ’ ด้วย”

สะพานเหล็กสีเขียวฝั่งพระนครซึ่งทอดตัวยาวพาดผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ที่วันนี้ความดิบ ความแข็งทื่อของมันกลับกลายเป็นเสียงดนตรีผ่านฝีมือของ Supergoods วงดนตรีสายโซล อาร์แอนด์บี เจ้าของเพลงฮิตอย่าง Temporary (ชั่วคราว) 

อาม (กลอง), มาย (ร้องนำ) และ เอิม (กีตาร์)

โดยครั้งนี้ Supergoods ร่วมงานกับโปรเจกต์ Musicity จากลอนดอน ที่ชอบออกไปค้นหาเสียงต่างๆ ในเมืองมาสร้างบทเพลง และแน่นอนว่าพวกเขามาเยือนกรุงเทพฯ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งทำงานร่วมกับ Wonderfruit เวทีไลฟ์สไตล์เฟสติวัลสุดฮิป และ Erased Tapes ค่ายเพลงจากอังกฤษ เพื่อสร้างประสบการณ์การฟังเพลงใหม่ ด้วยการเชื่อมโยงดนตรีกับสถาปัตยกรรม เมือง วิถีชีวิต ความทรงจำ และจินตนาการเข้าด้วยกัน

ยามบ่ายวันหนึ่งที่ร้านคาเฟ่แถวสะพานพุทธ เรานัดคุยกับวง Supergoods 

มาย—สรัญธร ทวีรัตน์ (ร้องนำ) 
อาม—ธนพล อนันตกฤตยาธร (กลอง)
เอิม—ธนพัฒน์ อนันตกฤตยาธร (กีตาร์)
ลามะ—ธนวัฏ พุ่มจันทร์ (กีตาร์)
งา—ธนานนท์ สุนทองห้าว (คีย์บอร์ด, ซินธิไซเซอร์)
เบล—ธวัชชัย รุ่งโรจน์สุนทร (เบส)

ที่ถึงแม้จะมาแค่ ‘มาย’ ‘อาม’ และ ‘เอิม’ แต่ความเข้มข้นและความสนุกในการพูดคุยครั้งนี้มีอย่างครบรสเลยทีเดียว

อามเริ่มเล่าให้เราฟังว่า เข้ามาทำโปรเจกต์นี้ได้ด้วยการชักชวนของ ‘เจ – มณฑล จิรา’ หนึ่งในผู้ก่อตั้งเทศกาลดนตรี Wonderfruit และคนที่เคยเป็นทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังของวงการดนตรี ซึ่งกำลังมองหาวงดนตรีไปทำโปรเจกต์ Musicity x Bangkok แล้วพอรู้ก็ตอบตกลงทันที เพราะการได้ทำงานร่วมกับ Wonderfruite คือเรื่องสุดเจ๋ง

มาย : แวบแรกที่รู้เราตื่นเต้นมาก เพราะตอนแรกถึงแม้เราไม่ได้รู้จัก Musicity มาก่อน แต่เรารู้จัก Wonderfriut พอเริ่มทำงานจริงๆ เราก็ไปฟังเพลงของคนอื่น ดูเรื่องราวของโปรดิวเซอร์คนอื่นแล้วก็ช็อก (หัวเราะ) คือบางคนไม่ใช่นักดนตรีจ๋า บางคนทำงานเกี่ยวกับหนัง แต่พอเราลองฟังเพลงเขาแล้วช็อกเลย งานดีทุกคน

| เคาะ ฟัง อัด

หลังจากนั้น Supergoods ก็ได้โจทย์ให้เริ่มทำงาน ซึ่งสถานที่ในกรุงเทพฯ มีสะพานพุทธ และอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยให้เลือก แน่นอนว่าพวกเขาตัดสินใจเลือกฟังเสียงสะพานพุทธ

อาม : พวกเราเลือกสะพานพุทธ เพราะมันใกล้บ้าน ต้องผ่านกันเป็นประจำ แล้วโครงสร้างมันเป็นเหล็ก รู้สึกว่าน่าจะเก็บเสียงได้ง่าย แล้วเราก็ใช้ zoom ที่เป็น handy recorder ไปเก็บเสียงที่สะพานพุทธ เสียงรถ เสียงลม แล้วก็มีเสียงเรือขนทราย

เอิม : เราชอบเสียงข้างในเหล็กนะครับ ที่เป็นช่องๆ ยิ่งจังหวะเคาะรัวๆ คิดว่ามันเพราะที่สุดแล้ว 

| ตัด แปะ สะพานพุทธ

เมื่อได้เสียงสะพานพุทธ ก็ถึงเวลามิกซ์เข้ากับตัวตนของ Supergoods ซึ่งเริ่มจากเอาเสียงเหล็กมาเป็นโครง เลือกพาร์ทที่ชอบมาเรียงเป็นจังหวะใหม่ แล้วใส่ความเป็นแบนด์เข้าไปให้ครบ ไม่ว่าจะกีตาร์ เบส เสียงร้อง พร้อมด้วยกลิ่นอายความครึ่งไทยครึ่งจีน เพราะอามบอกเราว่า สะพานพุทธ เป็นจุดเชื่อมฝั่งพระนครกับฝั่งเมืองอยู่แล้ว

“เราอยากให้เพลงของเรามีความเป็นไทยติดจีน เพราะแถวสะพานพุทธจะเห็นลูกครึ่งไทยจีนเยอะ เขาใช้ชีวิตแบบครึ่งชีวิตในเมืองและครึ่งวัฒนธรรม อย่างบางคนยังไม่ค่อยใส่เสื้อเดิน ยังเข็นของขาย เราอยากให้มีความรู้สึกอย่างนั้นด้วยในเพลง มีทั้งความเมืองแล้วก็ความบ้าน”

แต่แน่นอนว่าทุกอย่างไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ อามบอกกับเราว่า ความอยากของการทำเพลงครั้งนี้คือ ‘ความอิสระ’ 

อาม : การทำเพลงด้วยเสียงจากสะพานพุทธไม่มีกรอบอะไรมากำหนดเลยครับ ทุกอย่างมันอิสระมาก ซึ่งอันนี้ผมว่าเป็นสิ่งที่ยากที่สุด เพราะเหมือนเรามีวัตถุดิบเยอะแยะให้เลือก แต่เราไม่รู้จะเลือกอะไรดี (หัวเราะ) คือมันยากมาก เราต้องพัฒนาความคิดตลอดเวลา เวลาได้ยินเสียงอะไรก็ลองจำลองในหัวเล่นๆ ว่าเราสามารถทำอันนี้ได้ไหม

เอิม : แต่มันก็ยังมีเรื่องสนุกครับ จะมีโมเมนต์ไปเคาะเหล็ก แล้วเอา zoom เข้าไปอยู่ข้างในเหล็ก เสียงที่ได้มันกังวาลมาก แล้วก็คิดว่าไม่น่าเอามาทำเพลงได้เลย แต่สุดท้ายก็ได้ครับ

| คน เพลง เมือง

คน คือสิ่งที่มายได้สัมผัสมากขึ้นจากการทำโปรเจกต์ Musicity ที่สะพานพุทธครั้งนี้ และยังทำให้มุมมองที่มีต่อละแวกนี้เปลี่ยนไป ได้เห็นอะไรที่กว้างขึ้น ได้มองสิ่งต่างๆ ในมุมใหม่ที่เผลอปล่อยไว้นอกสายตา 

มาย : เราจะมาแถวนี้เพราะปากคลองตลาด มาซื้อดอกไม้ถ้าเพื่อนรับปริญญาก็แค่นั้น ตอนแรกก็ไม่ได้ใส่ใจกับมันจริงๆ แต่พอได้มาทำโปรเจกต์นี้ ได้มาเดินอัดเสียงไปทั่วๆ ถึงได้สังเกตเห็นว่า เขาใช้ชีวิตยังไง มีคนนอนตรงนั้น ตรงนี้มีโฮมเลสนอนหลับ คนฝั่งตรงข้ามนั่งคุยโทรศัพท์ร้องไห้ เขาทำมาหากิน มีชิวิตสุขปนเศร้า

เพลง คือสิ่งที่ Supergoods ยืนยันกับเราว่า การฟังเสียงสะพานพุทธครั้งนี้ ทำให้พวกเขาตั้งใจฟังเสียงต่างๆ ในเมืองมากยิ่งขึ้น เพื่อหาวัตถุดิบชิ้นใหม่ในการสร้างสรรค์เพลง

อาม : หลังจบโปรเจกต์ Musicity มีช่วงหนึ่งที่เราสนใจวิธีการเก็บเสียงรอบๆ ตัว เคยออกไปเก็บแถวพุทธมณฑล เก็บเสียงนก เสียงใบไม้ เสียงลม เพื่อนำมาทำเพลงสักเพลงต่อ ซึ่งตอนนี้จะยังไม่ได้ทำครับ แพลนการทำเพลงต่อไปของ Supergoods ยังพักไว้ก่อน เพราะอยากเก็บข้อมูลให้มากขึ้น อยากทำให้มันออกมาดีที่สุด

“แต่การทำงานกับสะพานพุทธทำให้เราได้ข้อคิดว่า เราสามารถหยิบจับทุกเสียงมาทำเพลงได้เสมอ”

อีกหนึ่งวัตถุดิบที่อามบอกว่าสำคัญที่สุด และขาดไม่ได้คือ แรงบันดาลใจ และ ความคิดสร้างสรรค์ เพราะเรื่องเล่นดนตรีมันฝึกกันได้ แต่ความครีเอทีฟมันสอนกันลำบาก

“การทำดนตรีต้องมีแรงบันดาลใจกับความคิดสร้างสรรค์ ผมว่ามีสองอย่างนี้ก็รอดแล้วครับ เพราะเดี๋ยวนี้ทุกคนเป็นศิลปินได้ เผลอๆ เป็นศิลปินเดี่ยวที่ทำเพลงอยู่บ้าน คือสกิลการเล่นอาจจะไม่ขนาดนั้น แต่ผมว่าสกิลด้านความคิดสร้างสรรค์มันมีเยอะ ผมว่าถ้ามีสองสิ่งนี้แบบแข็งๆ ยังไงแม่งก็เจ๋ง”

เมือง ที่สุดท้ายแล้วจะกว้างใหญ่แค่ไหน และเต็มไปด้วยผู้คนมากเท่าไหร่ แต่ Supergoods ก็ยืนยันว่า เพลงยังเป็นฉากสำคัญที่เชื่อมคนและเมืองเข้าด้วยกัน

ทุกคนชอบฟังเพลงกันไหมคะ ? มายย้อนถามเรา ซึ่งแน่นอนว่าคำตอบคือชอบอย่างไม่ต้องสงสัย และเราเชื่อว่าหลายคนก็ต้องตอบว่าชอบเหมือนกัน

มาย : มายคิดว่า เพลง คน เมืองมีความสัมพันธ์กัน เพราะว่าทุกคนจะได้ยินเสียงอะไรสักอย่างเสมอ ขนาดนั่งคุยกันตรงนี้ ยังมีเพลงเปิดเลย และเราจะเป็นคนเลือกเองว่าจะเปิดเพลงไหนเมื่อไหร่ หรือกับสถานที่ไหน อย่างบ้านเราอยู่พัทยา ต้องนั่งรถกลับมากรุงเทพฯ ระหว่างนั้นจะต้องฟัง The Carpenters ตลอด เพราะที่บ้านเปิด เราก็จะมีภาพจำกับตรงนั้น ว่าวิวนี้ สะพานบางปะกงนี้ ต้องเพลงนี้ เราจะมีความรู้สึกนี้กับเพลงที่เปิดฟัง

เอิม : ถ้าพูดถึงดนตรีกับสถาปัตยกรรมนี่เกิดขึ้นกับผมเอง เวลาผมไปเที่ยววัดเก่าบ้าง ธรรมชาติบ้าง แล้วผมลองเปิดเพลงฟัง อย่างเปิดเพลงแบบพวกดิสโก้อยู่ในหูฟังแล้วก็เดิน (หัวเราะ) มันทำให้ความรู้สึกการเห็นสถาปัตยกรรมเปลี่ยนไปนะ วัดมันดูสนุกขึ้น หรือเรามองธรรมชาติตรงนั้นมีสีสันมากขึ้น เลยรู้สึกว่าเพลงเชื่อมอารมณ์คนกับงานสถาปัตยกรรม และเมืองได้ด้วย

อาม : เพลงยังมีส่วนในการสร้างคอมมูนิตี้ให้คนแบบเดียวกันหรือเทสต์เพลงใกล้กันมาเจอกันด้วยนะครับ เราไปเจอกันแล้วก็ได้แลกเปลี่ยนความคิด บางทีเอาไปต่อยอดบ้างก็มี 

“บางทีเราอาจจะเจอคนที่ชอบฟังเสียงจากตึก จากเมือง จากบริบทรอบข้างเพิ่มก็ได้ สุดท้ายแล้วไม่ว่าคน สถาปัตยกรรม หรือเมืองจะเป็นแบบไหน เพลงทุกเพลงก็สามารถซับพอร์ตมันได้” 

หลังจากพูดคุยจบ เราขอให้ มาย อาม เอิม จาก Supergoods เป็นไกด์พาเราเดินฟังเสียงสะพานพุทธ และปากคลองตลาด เราได้ยินเสียงรถ เสียงน้ำที่แม่ค้าฉีดให้ดอกไม้ เสียงคนขายผลไม้ในตลาด เสียงลม เสียงคลื่นในแม่น้ำ เหล่านั้นเหมือนหนึ่งบทเพลงใหม่ที่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิต และการขับเคลื่อนของเมือง

ใครอยากออกไปฟังเสียงสะพานพุทธ จากวง Supergoods รวมถึงเพลงอื่นๆ ในโปรเจกต์ Musicity x Bangkok ขอบอกว่าต้องเดินทางไปฟังให้ถึงที่ เพราะคุณจะกดเล่นเพลงได้ต่อเมื่ออยู่ใกล้สถานที่ต่างๆ เท่านั้น

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.musicityglobal.com/cities/bangkok/ 

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.