เอ้ สุชัชวีร์ กับการอาสามาเป็นผู้ว่าฯ กทม. - Urban Creature

ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ถ้าถามคนกรุงเทพฯ หลายๆ คนว่า เวลาก้าวเท้าออกนอกบ้านแล้วเห็นหน้าใครบ่อยที่สุด หนึ่งในคำตอบที่ได้รับ คงไม่พ้นใบหน้าของ เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ แคนดิเดตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจากพรรคประชาธิปัตย์บนป้ายประกาศ ที่มาพร้อมกับสโลแกนปลุกใจชาวกรุง ‘เปลี่ยนกรุงเทพฯ เราทำได้’ 

จากที่ปกติได้เห็นหน้าค่าตาของเขาบนป้ายตามจุดต่างๆ ของกรุงเทพฯ และได้ยินชื่อเขาผ่านกระแสไวรัลบนหน้าสื่อ อย่างกรณีทายาทสายตรงไอน์สไตน์ หรือบทบาทอธิการบดีแนวใหม่ที่ไม่ซ้ำแบบใครในอดีต

ไม่ว่าคุณจะรู้จักเขาในมุมไหน แต่สุชัชวีร์ย้ำกับเราหลายต่อหลายครั้งว่า ถึงเวลาอันสมควรแล้วที่เขาจะเป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ

วันนี้ เรานัดหมายพูดคุยกับสุชัชวีร์ที่บ้านของเขาในย่านลาดกระบัง

ใช่แล้ว บ้านหลังใหญ่หลังนั้นล่ะที่หลายคนได้เห็นคนแชร์จำนวนมากบนโลกออนไลน์ซึ่งเอาเข้าจริงการเปิดบ้านครั้งนั้นก็ทำให้ชื่อของเขากลายเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้นไปอีก 

เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ บ้าน

เมื่อเข้าไปในบ้าน สุชัชวีร์ต้อนรับขับสู้เราเป็นอย่างดี เขาอยู่ในชุดสบายๆ เหมาะกับการอยู่บ้านในวันหยุดสุดสัปดาห์ เจ้าบ้านเล่าให้เราฟังว่า กิจวัตรประจำวันของเขามักเริ่มต้นด้วยการออกกำลังกาย เพราะเชื่อว่าร่างกายที่แข็งแรง สมองที่แจ่มใส คือบ่อเกิดของความคิดที่ดี

ที่ผ่านมา สุชัชวีร์หรือ ‘พี่เอ้’ ของเหล่านักศึกษาทำงานด้านวิศวกรรมและงานการศึกษามาตลอด 

ตัวอย่างผลงานที่คนส่วนใหญ่รู้จักคือ การเข้าไปดำรงอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในช่วงเวลาที่ประสบวิกฤติการเงิน เพราะเงิน 1,600 ล้านบาทสูญหายไปจากบัญชี ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานให้ร่วมสมัยโดยใช้ระบบเดียวกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ทั้งยังเป็นผู้บุกเบิกก่อตั้งโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร และถือกำเนิดคณะวิชาใหม่ๆ ให้เท่าทันต่อบริบทสังคม

แต่เหตุผลใดที่ทำให้สุชัชวีร์ ผู้ขับเคลื่อนการทำงานด้วยความรัก ตัดสินใจออกจากการงานฝั่งบริหารการศึกษามาลงสนามการเมืองหรืองานบริหารระดับเมือง เขามองเห็นความเป็นไปได้และอนาคตอะไรของกรุงเทพฯ จนต้องอาสาขอมาแก้ปัญหาให้เมืองหลวงที่เต็มไปด้วยปัญหาหลากหลายมิติแห่งนี้

เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ บ้าน

ทำไมคุณตัดสินใจลงชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ

ผมอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง เพราะมั่นใจว่าที่จริงแล้วคนไทยมีความรู้และความสามารถไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่ทำไมเราถึงยังตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ มันทำให้ผมอยากเปลี่ยนเมืองนี้

อีกอย่าง เรามีโอกาสไปศึกษาและเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งจะเห็นได้เลยว่าประเทศอื่นเขาทำได้ ทำไมประเทศเรา โดยเฉพาะกรุงเทพฯ จะทำไม่ได้ ผนวกกับตอนอายุ 20 นิดๆ เรียนชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่ลาดกระบัง เราทำโปรเจกต์เรื่องวิธีการออกแบบอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน ทั้งที่สมัยนั้นยังไม่มีรถไฟฟ้า และคนไม่เชื่อว่าประเทศไทยจะก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินได้ เพราะมีความเชื่อว่าดินอ่อน แต่วันนั้นก็ทำจนสำเร็จ และนำไปเสนอให้ผู้ว่าฯ กทม.ในสมัยนั้น (กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา) ผมประทับใจมากที่ได้เจอผู้ว่าฯ กทม. ท่านยังช่วยเขียนจดหมายแนะนำตัวผมให้ไปเรียนต่อเมืองนอกจนถึงปริญญาเอก โดยไปเรียนในสาขาที่เกี่ยวข้องกับกรุงเทพฯ เลย นั่นคือ วิศวกรรมธรณีเทคนิค ที่เกี่ยวกับเรื่องดิน น้ำ และการก่อสร้างใต้ดิน 

ผมคิดมาเสมอว่าวันหนึ่งอยากมาทำหน้าที่นี้ แต่ก็เก็บไว้คนเดียว ซึ่งในระหว่างระยะทาง 30 ปีนี้ เราพยายามพัฒนาตัวเองให้เหมาะสมกับหน้าที่ผู้ว่าฯ กทม.

เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
รูป: ทีมงานสุชัชวีร์

นิยาม ‘ผู้ว่าฯ กทม.’ ในความหมายคุณเป็นแบบไหน

เรามองว่าหน้าที่ผู้ว่าฯ กทม.ต้องมีทักษะเฉพาะ ต้องเป็นทั้งพ่อบ้านและหัวหน้าช่าง ซึ่งเป็นงานละเอียดอ่อน

สำหรับพาร์ตหัวหน้าช่าง จะเห็นว่ากรุงเทพฯ มีปัญหาตั้งแต่น้ำท่วม ฝนตก รถติด ฝุ่นพิษ PM 2.5 ถนนยุบ ป้ายพัง โรงงานระเบิด ฟุตพาท ทางเท้าซ่อมแล้วซ่อมอีก ปัญหาการก่อสร้างผิดกฎหมาย ปัญหาการจราจร รวมถึงปัญหาพื้นที่สาธารณะ นี่คืองานช่างล้วนๆ ซึ่งตลอดชีวิต 30 ปี ตั้งแต่พบผู้ว่าฯ กทม.มา เราเดินเส้นทางสายวิศวกร และทำเรื่องนี้มาตลอด เรารับหน้าที่เป็นวิศวกรอาสา เวลาน้ำท่วม แผ่นดินไหว ตึกถล่ม คานล้ม โรงงานระเบิด ก็ช่วยทั้งในพื้นที่ของ กทม.และต่างจังหวัด ถือว่าพอมีความรู้และประสบการณ์โดยตรงที่จะรับมือเป็นหัวหน้าช่างใน กทม. ซ่อมให้ถูกที่ สร้างให้ถูกจุด

ส่วนอีกข้างคือความรู้ ประสบการณ์ในการเป็นพ่อบ้านแม่บ้าน เพราะสำหรับผู้ว่าฯ กทม. นอกจากการเป็นหัวหน้าช่างแล้ว ต้องดูแลครอบครัวด้วย ผมเองมีลูกเล็ก ต้องดูแลเรื่องอาหาร การศึกษา ความเป็นอยู่ ขณะเดียวกันคุณพ่อคุณแม่ผมอายุ 85 แล้ว เราก็ต้องดูแลเรื่องเจ็บไข้ได้ป่วย จะหาหมอใกล้บ้านก็ไม่ได้ เพราะไม่มีหมอ ต้องพาไปใจกลางเมือง ที่สำคัญ เรายังต้องดูแลเศรษฐกิจของครอบครัว ทำยังไงให้มีรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายครัวเรือน นี่แหละงานผู้ว่าฯ กทม. 

เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
รูป: ทีมงานสุชัชวีร์

กรุงเทพฯ เต็มไปด้วยปัญหาที่ไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมในทุกมิติ ถ้าเช่นนั้น คุณจะให้ความสำคัญกับประชากรคนกรุงเทพฯ และประชากรแฝงจำนวนมากในเมืองนี้อย่างไร

ผู้ว่าฯ กทม.ไม่ได้ดูแลคนที่มีทะเบียนบ้านใน กทม.เท่านั้น ต้องรวมถึงคนที่มาเรียนหรือมาทำงานที่นี่ด้วย เท่านั้นไม่พอยังมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอีก แสดงว่าผู้ว่าฯ กทม.ต้องทำหน้าที่เป็นพ่อบ้านที่ไม่ได้ดูแลแค่คนในครอบครัว แต่รวมถึงคนที่มาอยู่บ้าน และมาเยี่ยมบ้านเราด้วย

ผมมองว่าหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม.ต้องมีความละเอียดอ่อน และเข้าใจความหลากหลาย เพราะจำนวนคนที่มาอยู่ และนักท่องเที่ยวใน กทม. มีจำนวนมากกว่าคนที่มีทะเบียนบ้านใน กทม.ซะอีก เราต้องคิดเสมอว่า ผู้ว่าฯ กทม.ไม่ได้ทำหน้าที่รับใช้คนที่เลือกตั้งตัวเองเข้ามา แต่ต้องทำหน้าที่รับใช้คนที่เข้ามาใน กทม. และคนไทยทุกคนด้วย ต้องคิดว่า เราเป็นพ่อบ้านของเมืองหลวง ต้องดูแลทุกคน ไม่ใช่แค่คนที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง 

เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
รูป: ทีมงานสุชัชวีร์

ได้รู้มาว่า คุณชอบ Iron Man มาก สมมุติว่า ได้เป็น Iron Man และ ผู้ว่าฯ กทม. 1 วัน คุณจะทำอะไร

Iron Man เป็นตัวละครที่ผมชอบมาก เพราะตัวละครอื่นเก่งเพราะการถูกฉีดยาหรือเป็นเทพ แต่ Iron Man เป็นคนธรรมดาแบบเราๆ ไม่ได้มีอะไรพิเศษกว่าตัวเราเลย แต่เขาเรียนหนังสือเก่ง เป็นนักคิดและนักประดิษฐ์สิ่งของออกมาช่วยโลก 

ถ้าผมเป็น Iron Man และได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.ด้วย ผมจะเอาเตาปฏิกรณ์ที่มีพลังงานเยอะสุดๆ ตรงหน้าอกมาจ่ายให้กรุงเทพฯ เพื่อที่คนกรุงเทพฯ จะได้ใช้พลังงานสะอาดฟรีทุกคน พลังงานจากความคิด มันสมอง และสติปัญญาของ Iron Man จะเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้สว่างไสว ทำให้เด็กได้เรียนหนังสือ เข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เห็นภาพครูมาสอนตรงหน้าแบบจาร์วิสเลย 

นอกจากนี้ เมืองก็จะมีไฟฟ้าสว่างและปลอดภัย ใครทำอะไรไม่ดีก็ตรวจจับง่าย เท่านั้นไม่พอ เราจะใช้พลังนี้ช่วยเหลือผู้สูงอายุและคนพิการให้มีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะอย่าลืมว่า Iron Man ช่วยให้เพื่อนของเขาที่ตกเครื่องบินกระดูกสันหลังหักกลายเป็น War Machine ผมจะใช้เครื่องจักรพวกนี้ทำให้ผู้สูงอายุและคนพิการใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น 

เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ บ้าน iron man

ถ้าคุณได้รับเลือกตั้งตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. สิ่งแรกที่จะเริ่มทำคืออะไร 

เราจะเข้าไปสวัสดีและพูดคุยกับบุคลากร กทม.ทุกคน เพราะช่วงที่หาเสียง เราอาจพาดพิงงาน กทม.บางส่วน จะไปบอกพวกเขาว่า ไม่ว่าพี่จะเคยสนับสนุนใคร วันนี้เราคือครอบครัวเดียวกัน ผมมาทำงานตรงนี้มีวาระแค่ 4 ปีเท่านั้น มันเร็วมากๆ เรามาช่วยกันทำงานนะ เพราะผมอยากให้เจ้าหน้าที่ กทม.เป็นฮีโร่เหมือน Iron Man ที่ได้ช่วยคนจริงๆ เพราะฉะนั้นวันแรกที่ศาลาว่าการ กทม. ตรงดินแดง เราจะเดินตั้งแต่ชั้นบนลงมาชั้นล่างสุด ยกมือไหว้ทุกคนไม่ว่าจะระดับชั้นไหน เข้าไปทักทายโอบกอด เพื่อให้เขาเห็นว่าเราไม่ใช่ผู้ว่าฯ ที่อยู่บนหอคอย 

วันต่อๆ ไป เราจะไปตามส่วนต่างๆ ของ กทม. เช่น กรุงเทพฯ ตะวันออก กรุงเทพฯ ตะวันตก และใจกลางเมือง แล้วเชิญผู้อำนวยการของแต่ละเขตมาเพื่อยกมือไหว้ บอกเขาว่า เรามาทำงานด้วยกันนะ ทำให้เขาเห็นความตั้งใจจริงของเรา มิฉะนั้นแล้ว ต่อให้เราเก่งแค่ไหนขยันแค่ไหน มันถูกต่อต้านได้ 

เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ บ้าน

ดังนั้น สัปดาห์แรกสำคัญที่สุด ต้องทำให้หัวใจเขาแง้มออกมาสักหน่อย ซึ่งผมทำแบบนี้กับทุกที่ที่เคยทำงานมา เพราะคิดว่าหัวใจสำคัญในการทำงานคือคน มีโอกาสก็ไปทักทายคนทำงานใน กทม.ตามพื้นที่ต่างๆ เขาจะได้ไปบอกคนอื่นๆ ว่า ผู้ว่าฯ กทม.คนนี้มาแนะนำตัวกับเขา ไม่ใช่เขามาแนะนำตัวกับเรา ผมมั่นใจถ้าทำแบบนี้ สัปดาห์ต่อๆ ไป เราจะทำงานและดูแลประชาชนง่ายขึ้น 

หลังจากนั้นเรารู้เลยว่า ถ้าเลือกตั้งปลายเดือนพฤษภาคม เดือนมิถุนายนฝนมาแล้ว เราต้องลงพื้นที่ดูว่าจะแก้ปัญหาน้ำท่วมแต่ละจุดยังไง ดูว่าจุดสำคัญไหนที่น้ำจะเข้ามา ตรวจสอบปั๊มน้ำกับประตูระบายน้ำที่มีปัญหา อะไรเปลี่ยนเป็นระบบอัตโนมัติได้บ้าง ก็ทำเลย พร้อมกับสังคายนาทางเท้ากับทางข้าม ต้องทำให้คน กทม.รู้ว่าเรากำลังปรับปรุงแก้ไข เขาจะได้มีความหวังที่ใกล้ตัวขึ้น 

คุณคิดว่าตัวเองมีจุดเด่นอะไรที่ผู้ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.คนอื่นๆ ไม่มี

จุดเด่นข้อแรกคือความมุ่งมั่นอันยาวนานกว่า 30 ปีของเรา แรงบันดาลใจและแพสชันตลอด 30 ปี เมื่อครั้งไปเสนอแก้ปัญหาจราจรด้วยการสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินให้ผู้ว่าฯ กฤษฎา เพราะฉะนั้น 30 ปีนี้ เป็น 30 ปีที่มีเป้าหมายชัดเจน เราได้สั่งสมประสบการณ์ และพิสูจน์ว่าทำอะไรมาแล้วบ้าง ไม่ว่าจะการศึกษาตั้งแต่อนุบาลถึงมหาวิทยาลัย ทำเรื่องสาธารณสุขการแพทย์ตั้งแต่เครื่องมือ คณะแพทยศาสตร์ และโรงพยาบาล ส่วนงานวิศวะ เราทำมาทุกอย่าง บวกกับจบการศึกษาด้านวิศวะที่เกี่ยวข้องกับ กทม.โดยตรง ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นจุดแข็งสำคัญ เพราะต่อให้มีความมุ่งมั่นแค่ไหน แต่ไม่ได้มีประสบการณ์ทำงานที่พิสูจน์ได้จริงมันก็ยากนะ 

ข้อที่สองคือ เรามีความกล้า ผมไม่กลัวเจ็บ ทุกท่านคงเห็นว่าเมื่อ 2 เดือนที่แล้วผมมีครอบครัวเล็กๆ ที่อบอุ่น มีหน้าที่การงานที่มีเกียรติ แต่ในช่วง 2 เดือนนี้ผมโดนบุลลี่ทุกรูปแบบ ถ้าท่านคิดว่าผมออกมาเพื่อตัวเอง ผมจะออกมาทำไม เพราะผมก็มีชีวิตที่ดีในครอบครัวเล็กๆ มีหน้าที่การงานที่ภูมิใจ เหตุผลหลักที่ผมออกมาเพราะอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง เราคิดว่าเราทำหน้าที่นี้ได้

สุดท้ายคือ ช่วงอายุของผมที่กำลังดี เพราะผู้ว่าฯ กทม. เป็นงานใช้ร่างกาย ใช้สมอง และใช้หัวใจมาก เป็นงานที่ต้องเดินหนัก ใช้พลังกาย ต้องพูด และสมองต้องคิดอยู่ตลอดเวลา อายุมากกว่านี้จะทำงานผู้ว่าฯ กทม.ลำบาก เพราะเหนื่อยแน่นอน 

เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
รูป: ทีมงานสุชัชวีร์

แล้วเวลามีดราม่าหรือปัญหา คุณจัดการตัวเองยังไง

โชคดีที่ชีวิตเราไม่ได้โรยด้วยกุหลาบ ฝันอยากเข้าโรงเรียนที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ ก็ผิดหวัง มาเรียนปริญญาตรีก็เกือบถูกรีไทร์ เราใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ โหนรถเมล์ไปที่ต่างๆ ลุยมาทุกอย่างแล้ว ไปอยู่เมืองนอกก็เจออุปสรรค กลับมาไทยก็เจออุปสรรค อยู่ในองค์กรก็เจออุปสรรค ต้องมาพลิกฟื้นองค์กร อยู่กับคนมากมายที่หลากหลายความคิด มันผ่านการทดสอบมาครั้งแล้วครั้งเล่า 

ชีวิตผมผ่านความผิดหวังความเสียใจมาทุกรูปแบบ ทั้งเรื่องส่วนตัวและการงาน เราเลยพอมีวัคซีนมีภูมิต้านทานพอสมควร และที่สำคัญคือ เรามีครอบครัวที่คิดบวก มีพ่อแม่ที่ให้กำลังใจ รวมถึงงานอดิเรกอย่างการสะสมฟิกเกอร์ ดูหนัง ฟังเพลง มันช่วยทำให้เราทำงานได้อย่างไม่มีมลพิษ หรือมีมลพิษน้อยที่สุด

เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
รูป: ทีมงานสุชัชวีร์

คำถามสุดท้าย ในฐานะที่บริหารสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังมา 6 ปี คุณจะนำบทเรียนที่ได้ไปประยุกต์กับการบริหารกรุงเทพฯ ยังไงบ้าง

ผมมองว่า วิธีการด้านการจัดการบริหารสำคัญที่สุด ที่ลาดกระบังฟื้นขึ้นมาได้จากที่เคยอยู่ในภาวะวิกฤติที่สุด มันเกิดจากพลังของการคิดบวก เรามีคติว่า I Love KMITL (ชื่อย่อภาษาอังกฤษของสถาบันฯ) ผมเชื่อในความรัก 

วันแรกที่เข้าไปลาดกระบัง ผมคิดว่านี่คือครอบครัว เราต้องรักลาดกระบัง ถ้าไม่มีความรักแล้วเราทำอะไรไม่ได้ เพราะความรักคือพลังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในจักรวาล ถ้าผมเป็นผู้ว่าฯ กทม. จะสื่อสารกับคน กทม.ทุกคนว่า ที่นี่คือบ้าน คน กทม.ต้องเริ่มต้นดูแลเมืองด้วยความรัก 

หลังจากนั้น เราต้องปรับโครงสร้างการทำงาน ซึ่งสิ่งนี้มีผลมากต่อการทำงานที่ลาดกระบัง เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ใช้ระบบ 3 อธิการ อย่างผมทำหน้าที่ด้านนโยบาย ส่วนอีกสองคน มีคนหนึ่งดูแลด้านวิชาการ การวิจัย และนักศึกษา อีกคนดูเรื่องสิ่งแวดล้อม และการก่อสร้าง ดังนั้น เราต้องปรับการทำงานของ กทม.เช่นกัน ถ้าไม่เปลี่ยนวิธีการทุกอย่างก็เหมือนเดิม หน่วยงานไหนที่ทำงานทับซ้อนกัน เราต้องไปดูว่าจะทำยังไงให้ไม่ทับซ้อนกันได้บ้าง จากนั้นใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย

เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
รูป: ทีมงานสุชัชวีร์

ตอนที่เป็นอธิการบดี เราจัดการเรื่องอินเทอร์เน็ตใหม่เลย เมื่อ 6 ปีที่แล้ว อินเทอร์เน็ตที่ลาดกระบังเร็วที่สุดในประเทศไทย ครอบคลุม 1,500 จุด กทม.ก็เหมือนกัน ต้องมี WiFi 150,000 จุด เพื่อทำให้คนเข้าถึงการบริการที่ทันสมัย รวมถึง กทม.เองต้องมีอะไรใหม่เกิดขึ้น อย่างลาดกระบังไม่เคยมีหอพักมา 40 ปี ตอนนี้หอพักกำลังก่อสร้าง มีสนามกีฬาให้ชาวบ้านมาออกกำลัง จากห้องอนามัยที่จ่ายยาพาราฯ เดี๋ยวนี้ผ่าตัดและฉีดวัคซีนได้ มีคณะใหม่ๆ อย่างแพทย์ ทันตแพทย์ และศิลปศาสตร์เกิดขึ้น 

สุดท้ายผู้นำต้องมีความละเอียดมาก ที่ลาดกระบัง ตรงไหนที่ผมไปเดินจะเนี้ยบหมด และที่สำคัญคือผมคลุกคลีกับน้องๆ นักศึกษา กลางวันไม่กินข้าวที่ห้อง ไปทานข้าวตามโรงอาหารคณะต่างๆ เด็กๆ เรียกพี่เอ้หมด เพราะพอเป็นพี่ คนก็กล้ามาพูดคุย เราต้องสร้างความใกล้ชิด และให้อะไรกับคนของเราอย่างเต็มที่ 

ไม่ว่าจะผลงานที่ทำช่วงเป็นคณบดีที่ลาดกระบัง ความสำเร็จที่พิสูจน์ได้ การสื่อสาร ความใกล้ชิด การให้สิ่งที่ดีที่สุด ความเป็นกันเอง ความคิดสร้างสรรค์ในการทำสิ่งใหม่ๆ ความละเอียด ความเนี้ยบในการทำงาน รวมถึงการไม่กลัวเจ็บโดยยึดเป้าหมายการทำงานเป็นหลัก ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่คน กทม.จะได้รับ ถ้าผม เอ้ สุชัชวีร์ พอจะมีโอกาสมารับใช้ท่านครับ

เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
รูป: ทีมงานสุชัชวีร์

บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งในซีรีส์ Bangkok Hope จาก Urban Creature ที่จะชวนทุกคนมองหา ‘ความหวัง’ จากการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่กำลังจะเกิดขึ้น เราเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยคือการมีส่วนร่วมของพลังประชาชนที่จะช่วยกำหนดทิศทางการพัฒนาเมือง ดังนั้นความหวังสู่การเปลี่ยนแปลงนี้จึงควรมีทุกคนเป็นเจ้าของ เพื่อร่วมสร้างสรรค์ ขีดเขียน และเปลี่ยนแปลงทุกย่างก้าวไปพร้อมๆ กัน

Writer

Photographer

Photographer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.